‘นักเศรษฐศาสตร์’ เปรียบ ‘เศรษฐกิจไทย’ เป็น ‘นักกีฬาสูงวัย’ ต้องมีโค้ชมือฉมังมาช่วย ก่อนถูกเพื่อนบ้านแซงหน้าไม่เห็นฝุ่น

(8 พ.ค. 66) นายสันติธาร เสถียรไทย นักเศรษฐศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่าเศรษฐกิจไทยเปรียบเสมือน ‘นักกีฬาสูงวัย’ ที่ต้องการ ‘โค้ช’ เก่ง ๆ มาช่วย

นักกีฬาคนนี้สมัยก่อนเคยโดดเด่น 

ช่วงเปลี่ยนเข้ายุคอุตสาหกรรม เขาเกือบเป็นเสือตัวที่ 5 ของเอเชีย เศรษฐกิจโตเฉลี่ยกว่า 7% หากเปรียบกับกีฬาบาสเกตบอล NBA ก็เกือบได้รับคัดเลือกเป็นนักบาสระดับออลสตาร์

แม้จะเคยเล่นผาดโผนผิดพลาดจนบาดเจ็บหนักเกือบจบชีวิตนักกีฬาช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง แต่สุดท้ายก็ยังหวนคืนสู่สนามกลับมาเก่งอีกครั้งได้

หลังจากนั้นแนวการเล่นจะเปลี่ยนไปบ้างจากเดิม มีการท่องเที่ยวมากลายเป็นส่วนสำคัญของเศรษฐกิจ แต่ก็ยังโดดเด่น ยังเป็นที่ต้องการตัว นักลงทุนยังให้ความสนใจ 

หลังจากนั้นเศรษฐกิจไทยก็มีปัญหาเรื่องโค้ช/ทีมผู้จัดการบ่อย ๆ มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองหลายครั้งอย่างที่ทราบกันดี 

แต่ดูเผิน ๆ เศรษฐกิจก็เหมือนจะผ่านมาได้โอเค จนนักลงทุนต่างประเทศเคยให้สมญานามว่า เศรษฐกิจเทฟลอน (Teflon economy) คือ แม้จะมีปัญหาเหมือนจะถูกกดให้จมน้ำหลายครั้ง ทั้งการเมือง ทั้งภัยพิบัติ แต่ก็สามารถกลับขึ้นมาลอยใหม่ได้ 

จนหลายคนทั้งในไทยและต่างประเทศบอกว่ารัฐบาลเปลี่ยนแปลงไม่เป็นไรหรอกเพราะเศรษฐกิจไทยเอกชนนำไปต่อได้ เสมือนบอกว่าโค้ชไม่สำคัญขนาดนั้นเพราะนักกีฬาคนนี้เล่นเก่งอยู่แล้ว ปล่อย Auto-pilot ไปได้เดี๋ยวเขาก็จัดการเอง

ซึ่งในมุมหนึ่งก็จริงว่าเศรษฐกิจไทยเป็นนักกีฬาที่มีพรสวรรค์ มีบุญเก่าอยู่มาก มีทรัพยากร มีเสน่ห์ดึงดูดการท่องเที่ยว อยู่ในจุดภูมิศาสตร์ที่ดี และคนไทยก็มีความสามารถหลายด้าน ฯลฯ

แต่ทุก ๆ วันที่ผ่านไปที่เราเหมือนจะ ‘ลอยตัว’ นั้นความสูงวัยเริ่มกัดกร่อนนักกีฬาคนนี้ไปเรื่อย ๆ ไม่เพียงอายุเฉลี่ยของประชากรที่เริ่มเข้าสูงวัยแต่อาการทางเศรษฐกิจก็ไปในทางเดียวกัน

วิ่งช้าลง กระโดดเริ่มไม่สูง เล่นได้ไม่นานก็เหนื่อย ร่างกายไม่บาลานซ์ ซึ่งในทางเศรษฐกิจคือ ‘โตช้า เหลื่อมล้ำ ไม่ยั่งยืน’

การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่เฉลี่ยเหลืออยู่แค่ปีละ 3% กว่ากลายเป็นนิวนอร์มอล 

ความเหลื่อมล้ำที่สูงโดยเฉพาะความไม่เท่าเทียมด้านโอกาส (เช่นคนที่รายได้ระดับ 20% ล่างของประเทศเข้าถึงการศึกษามหาวิทยาลัยแค่ 4% เท่านั้น ทำให้จำกัดโอกาสได้งานดีๆ) 

และปัญหาด้านความยั่งยืนโดยเฉพาะสิ่งแวดล้อมที่เริ่มพังจนเห็นได้ชัด (เช่น ฝุ่น PM 2.5, overtourism ในการท่องเที่ยว)

ยังดีที่ว่าเพราะเคยเจ็บตัวหนักมาตอนวิกฤตการเงินจึงเล่นกีฬาอย่างระมัดระวัง มีระบบการเงินที่มีเสถียรภาพ ไม่ได้เสี่ยงที่จะล้มเจ็บหนักระดับวิกฤตแบบศรีลังกา อาร์เจนตินา ฯลฯ

ความเสี่ยงที่น่ากลัวกว่าในตอนนี้ คือ เศรษฐกิจไทยจะเป็น ‘นักกีฬาที่ถูกลืม’ ค่อย ๆ ถูกเพื่อนแทรงหน้าไปเรื่อย ๆ ถูกมองข้ามในเวทีโลกและภูมิภาค โอกาสที่ได้ลงเล่นก็น้อยลง ๆ 

เราอาจจะมองว่าแต่เพื่อนบ้าน เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย ก็ปัญหาเยอะเหมือนกันนะ กฎกติกาทำธุรกิจก็ยาก โครงสร้างพื้นฐานก็ยังไม่ดี คนก็ยังเข้าไม่ค่อยถึงเงินทุน แย่กว่าไทยด้วยซ้ำ ทำไมเขาจะมาแซงเราได้?

คำตอบหนึ่งคือ เขาคือนักกีฬาที่ยังเป็น ‘วัยรุ่น’ อยู่ 

อายุเฉลี่ยเวียดนามและอินโดนีเซียคือประมาณ 30 ปี ในขณะที่ของไทยอยู่ที่ 40 กว่า ประชากรเขาโตอัตราเร็วกว่าเรา 3-4 เท่า แปลว่าตลาดของเขายังมีโอกาสเติบโตอีกมากและเศรษฐกิจยังสามารถเติบโตจากการเพิ่มแรงงานเข้าไปได้ (ต่างจากไทยที่เข้าสู่สังคมสูงวัย) ยิ่งเสริมการลงทุนจากรัฐและเอกชนเข้าไปด้วยก็สามารถสร้าง GDP ให้โตเฉลี่ย 5-6% ได้ไม่ยากนัก

เหมือนนักกีฬาวัยหนุ่มสาวที่แม้ทานอาหารไม่ระวังบ้าง ไม่ดูแลตัวบ้าง ไม่เกลาบางเทคนิค ใช้แค่สมรรถนะร่างกายเข้าสู้ก็พอไปได้ แม้สมมติว่าโค้ชและผู้จัดการทีมไม่เก่ง (แต่ในความเป็นจริงโค้ชของเขาก็ค่อนข้างเก่งด้วย) ก็ยังไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตายเพราะยังพึ่งพรสวรรค์ได้  

ต่างกับเราวันนี้ที่หากไม่เน้นคุณภาพให้สู้ด้วยปริมาณไม่ไหวอีกต่อไป

แต่การเป็นนักกีฬาสูงวัยไม่ได้แปลว่าเราจะหมดความหมาย ไม่ได้แปลว่าเราจะแพ้ ไม่ได้แปลว่าเราเล่นไม่ได้แล้ว 

นักกีฬาบาสเกตบอล NBA ที่เก่งที่สุดในโลกคนหนึ่งในปัจจุบันคือ เลบรอน เจมส์ ที่อายุ 38 ปีแล้วเทียบกับอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 26 ปี และยังมีนักกีฬาอีกจำนวนไม่น้อยที่แม้เข้าสู่ช่วงสูงวัยแล้วก็ยังเก่งมาก

นอกจากนี้เรายังอยู่ในยุคที่นักลงทุนและนักธุรกิจทั่วโลกสนใจตลาดอาเซียนโดยรวมมากขึ้นจึงเป็นโอกาส แค่เราต้องเปลี่ยนวิธีเล่น เปลี่ยนวิธีดูแลตนเอง และเปลี่ยน Mindset 

โดยหลักที่สำคัญที่สุดของนักกีฬาที่มีสมรรถนะทางร่างกายน้อยลงคือ 

“ใช้น้อยลงให้ได้มากขึ้น” 

เสมือนนักกีฬาที่ต้องเล่นให้สมาร์ตขึ้น เศรษฐกิจไทยก็เช่นกัน

ใช้คนน้อยลงแต่ให้ได้ผลผลิตมากขึ้น (เพิ่ม Productivity เช่น รีสกิลเพิ่มทักษะให้แรงงานใช้เทคโนโลยีได้มากขึ้น)

ใช้ทรัพยากรธรรมชาติแบบล้างผลาญน้อยลง แต่ให้ได้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจมากขึ้น (เพิ่ม Sustainability - เช่น เน้นท่องเที่ยวเชิงคุณภาพมากกว่าปริมาณ)

ใช้งบประมาณประเทศแบบฟุ่มเฟือยน้อยลง แต่ช่วยคนตัวเล็ก-MSME-สตาร์ตอัปได้มากขึ้น (เพิ่ม Inclusivity เช่น ใช้งบประมาณช่วยคนให้ตรงกลุ่มเป้าหมายและตรงความต้องการของเขา)

การจะเปลี่ยนตัวเองเป็น ‘นักกีฬาสูงวัยแต่ไม่แพ้ใคร’ นั้นไม่ง่าย 

เพราะอาจต้องมีทั้งการผ่าตัด (ปฏิรูปกฎกติกา) การเสริมสมรรถนะ (ลงทุนด้านพัฒนาคนและโครงสร้างพื้นฐาน) การพัฒนาเทคนิคการเล่นใหม่ ๆ (ใช้เทคโนโลยี) และการเดินไปหาแมวมอง/เสก๊าท์ทั่วโลกเอง (เชื่อมโยงกับต่างประเทศ)

ที่สำคัญต้องระวังอย่าเผลอไปชินกับการใช้ยาโด๊ป (นโยบายประชานิยม) ที่อาจเหมือนทำให้เรารู้สึกกลับมาหนุ่มสาวได้ชั่วคราวแต่สุดท้ายแล้วทำลายร่างกายกว่าเดิมระยะยาว

และที่แน่ที่สุดคือทั้งหมดนี้ต้องใช้ทีมผู้จัดการและโค้ชที่เก่งมาก ๆ มาช่วยบริหาร เพราะนักกีฬาวัยนี้ไม่สามารถ Auto-pilot ได้อีกต่อไป 

นี่ยังไม่นับว่าโลกเองก็กำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วทั้งด้านเทคโนโลยี สิ่งแวดล้อมและภูมิรัฐศาสตร์ที่ท้าทายแม้แต่นักกีฬาที่ยังอยู่ช่วงไพรม์

อีกไม่กี่วันประเทศไทยจะได้มีโอกาสเลือกโค้ชและทีมผู้จัดการเข้ามาบริหาร และทีมนี้จะเป็นตัวกำหนดว่าประเทศไทยจะเป็นนักกีฬาแบบไหน 

จะเป็นนักกีฬาที่ถูกลืม หรือ จะเป็นนักกีฬาที่แม้สูงวัยก็ไม่แพ้ใคร 

คงขึ้นอยู่กับเราทุกคนละครับ


ที่มา: https://www.thaipost.net/economy-news/373940/