‘พงษ์ภาณุ’ หวั่น ไทยหลุดโผลงทุนจาก ‘สหรัฐฯ - ยุโรป’ หลังตะวันตก เริ่มแง้มกันท่าชาติไม่เป็นประชาธิปไตย

‘พงษ์ภาณุ’ หวั่น ไทย หลุดเรดาร์ลงทุน หลังสหรัฐฯ - ตะวันตก อ้าง ‘ความมั่นคง’ จัดระเบียบ Supply Chains ใหม่ ปักหมุดฐานการผลิตประเทศที่ไว้วางใจ กีดกันชาติไม่เป็นประชาธิปไตย

(7 พ.ค. 66) นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์ฮิโรชิมะ ประเทศญี่ปุ่น อดีตปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และอดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง ได้ให้มุมมองต่อเศรษฐกิจของโลก ผ่านรายการ ‘NAVY TIME เรื่องดี ๆ ประเทศไทยยามเช้า’ ออกอากาศช่วงเช้า เวลา 07.00-08.00 น. ทางสถานีวิทยุเสียงจากทหารเรือวังนันทอุทยาน (ส.ทร.วังนันทอุทยาน) FM93 เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 66 โดยระบุว่า สืบเนื่องจากความขัดแย้งระหว่างสหรัฐ อเมริกา กับจีน ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดสงครามทางการค้ามาอย่างต่อเนื่อง จากผลพวงที่เกิดขึ้นทำให้สินค้าหลายแบรนด์ได้ย้ายฐานการผลิตออกจากจีน อาจกล่าวได้ว่า โลกกำลังจัดระเบียบ Global Supply Chains ใหม่จากเดิมที่เน้นประสิทธิภาพและต้นทุนต่ำ มาเน้นเรื่องความมั่นคงมากขึ้น

ย้อนกลับไปในอดีตหลายสิบปี ก่อนที่จะเกิดความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ในอุตสาหกรรมการผลิตและ Supply Chains ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ไปยังพื้นที่เขตเศรษฐกิจ หรือประเทศที่มีประสิทธิภาพสูงสุดด้านการผลิตทั่วโลก บริษัทฯ ใหญ่ ๆ ประสบความสำเร็จจากการใช้ระบบนี้ ยกตัวอย่าง แอปเปิล และไนกี้ ที่มีการกระจายการผลิตชินส่วนไปในหลาย ๆ ประเทศ ไม่ว่าจะเป็น จีน เวียดนาม ไทย เป็นต้น ซึ่งประเทศเหล่านี้นับว่ามีประสิทธิภาพในการผลิตสูงและต้นทุนต่ำ

แต่ภายหลังเกิดความขัดแย้ง เริ่มเกิดความไม่ไว้วางใจระหว่างกันอย่างชัดเจน เดิมที่ยึดผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจเป็นหลัก แต่ปัจจุบันความมั่นคงปลอดภัยด้าน Supply Chains ถูกยกขึ้นมาให้ความสำคัญมากกว่า และแทนที่ประสิทธิภาพไปแล้ว

นายพงษ์ภาณุ ได้ยกตัวอย่างความมั่นคงทางด้าน Supply Chains ว่า บริษัทยักษ์ใหญ่จากชาติตะวันตกได้บทเรียนจากการระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งจีนปิดประเทศไป 3 ปี และสงครามระหว่างรัสเซีย - ยูเครน ที่ทำให้เกิดการหยุดชะงักด้าน Supply Chains ในหลาย ๆ จุด ทำให้บริษัทแม่ไม่สามารถผลิตสินค้าออกสู่ตลาดได้ ซึ่งทั้ง 2 เหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้ชาติตะวันตกนำมาใช้อ้าง เพื่อย้ายฐานการผลิต

แน่นอนว่า เมื่อเกิดการย้ายฐานการผลิต ย่อมมีประเทศที่ได้รับประโยชน์ โดยประเทศที่ได้รับอานิสงส์ในส่วนนี้มี 2 ประเทศในอาเซียน นั่นก็คือ อินโดนีเซีย และเวียดนาม ที่มีปัจจัยสนับสนุนทั้งปัจจัยทางการเมืองและปัจจัยด้านเศรษฐกิจที่เอื้อต่อการดึงดูด Supply Chains เข้ามาเลือกเป็นฐานการผลิตแห่งใหม่

นายพงษ์ภาณุ กล่าวว่า ประเด็นที่น่ากังวลต่อเศรษฐกิจของประเทศไทย จากการย้ายฐานการผลิตที่ผ่านมาสหรัฐฯ และชาติตะวันตกมองว่าไทยไม่มั่นคงและจัดอยู่ในกลุ่มเผด็จการ (Autocracy) ส่วนประสิทธิภาพและต้นทุนก็สู้คนอื่นไม่ได้ Global Supply Chains จึงย้ายไปที่อื่นหมด ขณะเดียวกันเป็นที่น่าสังเกตว่า ในขณะที่ เวียดนามและอินโดนีเซีย ขยับเข้าใกล้สหรัฐฯ มากขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน ประเทศไทยกลับดูเหมือนเดินห่างจากสหรัฐฯ มากขึ้นเช่นกัน

ทั้งนี้ เห็นได้จาก กรณีที่ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ของสหรัฐฯ ได้จัดเวทีการประชุมสุดยอดฝ่ายประชาธิปไตย ที่ใช้ชื่อว่า Summit for Democracy ครั้งที่ 2 เมื่อไม่นานมานี้ ซึ่งถือเป็นความพยายามของสหรัฐฯ ที่จะแบ่งประเทศในโลกออกเป็น 2 กลุ่ม คือประชาธิปไตย และเผด็จการ โดยในครั้งนี้มีการเชิญผู้นำกว่า 120 ประเทศเข้า ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย หรือมีแนวโน้มดัชนีชี้วัดความเป็นประชาธิปไตยอยู่ในเกณฑ์ที่เป็นบวกในสายตารัฐบาลสหรัฐฯ และน่าสังเกตว่า เวียดนาม ได้เข้าร่วม ทั้งที่ปกครองด้วยระบบคอมมิวนิสต์ แต่ประเทศไทยกลับไม่ได้รับเชิญทั้ง 2 ครั้ง

“ถ้าหากว่าประเทศไทย ต้องการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากชาติตะวันตก จำเป็นจะต้องเข้าร่วมเป็นพันธมิตรอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งเป็นมิติทางด้านการเมืองระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นข้ออ้างของสหรัฐฯ และชาติตะวันตกที่จะนำมาพิจารณากระจาย Supply Chains โดยให้ความสำคัญในประเด็นความมั่นคงทางการเมือง มากกว่าประสิทธิภาพเหมือนเช่นในอดีต ในส่วนนี้ไทยเองจะต้องแสดงให้เห็นว่า ยังคงเป็นประเทศที่ยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตย เพื่อให้อยู่ในเรดาร์ของประเทศมหาอำนาจภายหลังจากนี้”

นอกจากนี้ นายพงษ์ภาณุ มองว่า เรื่องต้นทุนพลังงานของประเทศไทยที่สูงขึ้น จะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่จะมีผลต่อการตัดสินใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทยได้เช่นกัน เพราะต้นทุนด้านพลังงานไฟฟ้า ซึ่งเป็นต้นทุนหลักสำคัญของอุตสาหกรรมการผลิตในขณะนี้ ถือว่าสูงกว่าประเทศคู่แข่งอย่างเวียดนาม และอินโดนีเซีย อยู่พอสมควร 

แต่อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า ราคาไฟฟ้าที่สูงขึ้นนั้นมาจากหลายปัจจัย ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือวัตถุดิบที่นำมาผลิตไฟฟ้า ประเทศไทยใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นหลักในการผลิต ราคาต้นทุนจึงค่อนข้างสูง ในขณะที่เวียดนามและอินโดนีเซีย ใช้ถ่านหินในการผลิต ซึ่งมีราคาถูกกว่า แต่ส่งผลเสียด้านมลพิษ และในอนาคตไม่ช้าก็เร็วประเทศเหล่านี้จะต้องเปลี่ยนไปใช้วัตถุดิบที่มีผลกระทบน้อยลง เมื่อถูกสังคมกดดัน 

เพราะฉะนั้น มองว่า ต้นทุนราคาพลังงานอาจมีผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันในระยะสั้น หากจะต้องปรับราคา ตามราคาวัตถุดิบที่สูงขึ้น ก็ต้องปรับตามกลไกลตลาด เชื่อว่าภาคอุตสาหกรรมสามารถปรับตัวได้อยู่แล้ว แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงมากกว่า คือ การบิดเบือนโครงสร้างราคาพลังงานด้วยการใช้นโยบายภาษี หรือใช้งบประมาณอุดหนุน รวมไปถึงการใช้นโยบายการกำหนดราคา ซึ่งนโยบายเหล่านี้ ล้วนเป็นปัญหาและจะสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจในระยะยาว

“ส่วนตัวไม่เห็นด้วยที่ผู้ประกอบการ จะเรียกร้องให้รัฐบาลนำเงินภาษีมาอุดหนุนราคาไฟฟ้า เพราะจะเป็นการทำร้ายเศรษฐกิจของประเทศ เพราะฉะนั้นผู้ประกอบการต้องปรับตัว หันมาใช้เทคโนโลยีทางด้านพลังงานใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นพลังงานลม พลังงานน้ำ พลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งเป็นทางออกในการลดต้นทุน รวมไปถึงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในส่วนอื่น ๆ เพื่อชดเชยต้นทุนพลังงานที่สูงขึ้นก็ได้เช่นเดียวกัน” นายพงษ์ภาณุ กล่าว