เปิดตัว 5 ผู้นำใหม่ใน APEC 2022 ครั้งแรกบนเวทีที่ทั่วโลกเฝ้าจับตา

Highlight สำคัญของการประชุม APEC ในปี 2022 ไม่ได้ถูกจำกัดอยู่เพียงแค่การประชุมสุดยอดผู้นำของทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจเพียงเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการประชุมตลอดทั้งปีของหลากหลายคณะทำงานเพื่อสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อันจะส่งผลดีต่อประชากรมากกว่า 2 พันล้านคน ที่เกิดขึ้นตลอดทั้งปี รวมทั้งการประชุมของภาคเอกชนที่จะเสนอแนะข้อเสนอต่อผู้นำในรูปแบบของ Track 2 และการสร้างความร่วมมือเพื่อเปิดโอกาสทางการค้าและการลงทุนด้วยกันเองระหว่างภาคเอกชน ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ทั่วโลกให้ความสนใจไม่แพ้กันด้วย

อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกมิติที่ถือเป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายจับตามองการประชุม APEC ซึ่งจะเกิดขึ้นในช่วง APEC Week เดือนพฤศจิกายน 2022 ในประเทศไทย นั่นก็คือ ‘การเปิดตัวผู้นำใหม่ของโลกหลายๆ คน ที่จะเดินทางมาประชุมสุดยอดผู้นำ APEC เป็นครั้งแรก’ 

โดยท่าทีของผู้นำใหม่เหล่านี้ในเวทีการประชุมหลัก การประชุมย่อย และการประชุมร่วมกับผู้บริหารระดับสูงภาคเอกชน จะเป็นอีกมิติที่ทั่วโลกจับตา โดยผู้นำใหม่เหล่านี้ได้แก่…

1. Anthony Albanese นายกรัฐมนตรีของประเทศออสเตรเลีย ซึ่งพึ่งจะเข้ารับตำแหน่งเมื่อ 23 พฤษภาคมที่ผ่านมา เขาเป็นนักการเมืองสังกัดพรรคแรงงาน และเคยดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีในสมัยของ อดีตนายกรัฐมนตรี Kevin Rudd ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ออสเตรเลียนำพาประเทศออกจากความร่วมมือ Quadrilateral Security Dialogue (QSD) หรือ The Quad ซึ่งมีสหรัฐเป็นแกนนำ และเขายังต้องเข้ามาสะสางปัญหาความไม่พอใจของประเทศเพื่อนบ้านอย่าง อินโดนีเซีย ที่ไม่พอใจอย่างยิ่งเมื่อ อดีตนายกรัฐมนตรีของออสเตรเลีย Scott Morrison นำพาประเทศไปสู่การติดอาวุธนิวเคลียร์ภายใต้ความร่วมมือ AUKUS นโยบายต่างประเทศ โดยเฉพาะในมิติเศรษฐกิจ ที่เลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องสัมพันธ์กับความมั่นคง จึงเป็นสิ่งที่หลายฝ่ายจับตา


2. Gabriel Boric ประธานาธิบดีของประเทศชิลี ที่เข้ารับตำแหน่งในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยเป็นประธานาธิบดีจากกลุ่มแนวคิดซ้ายจัดรายแรกและรายใหม่ของประเทศ ภายหลังจากที่ประเทศชิลีมีอดีตประธานาธิบดี 2 ท่าน คือ Michelle Bachelet (ปนวคิดกลาง-ซ้าย) และ Sebastián Piñera (แนวคิดอนุรักษ์นิยม) ที่หมุนเวียนผลัดกันขึ้นมาผูกขาดตำแหน่งประธานาธิบดีมาตั้งแต่ปี 2006-2022 จนนำไปสู่การประท้วงทางการเมืองที่ใหญ่โตรุนแรงต่อเนื่องตลอดปี 2019-2022 เพื่อขับไล่ ปธน. Sebastián Piñera โดยคาดการณ์ว่าในการประท้วงต่อเนื่องนี้ มีผู้ออกมาร่วมชุมนุมมากกว่า 3.7 ล้านคน มีผู้เสียชีวิต 36 ราย บาดเจ็บเรือนหมื่น และถูกคุมขังกว่า 28,000 คน ชิลี คือตลาดที่มีความน่าสนใจอย่างยิ่ง เพราะเป็นประเทศสมาชิกกลุ่ม OECD ที่มีรายได้เฉลี่ยต่อคนต่อปี แบบปรับค่าเสมอภาคของค่าเงิน (Per Capita GDP (PPP)) ที่สูงที่สุดในภูมิภาคอเมริกาใต้ เป็นหนึ่งในประเทศพัฒนาแล้วที่มีอัตราการเจริญเติบโตสูง 

3. John Lee หัวหน้าคณะผู้บริหารเขตบริหารพิเศษฮ่องกง แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน เขาขึ้นมาดำรงตำแหน่งแทนที่ Carrie Lam เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2022 แน่นอนว่า เขาคือผู้นำสูงสุดของฮ่องกงที่ขึ้นดำรงตำแหน่งหลังเหตุการณ์เคลื่อนไหวทางการเมืองที่รุนแรงต่อเนื่อง และเป็นผู้นำคนแรกภายหลังจากที่ฮ่องกงมีการบังคับใช้กฎหมายความมั่นคง รวมทั้งในการเลือกตั้งที่ชนะเลิศและได้รับการดำรงตำแหน่งจากคณะผู้มีสิทธิเลือกตั้งก็ยังมีเครื่องหมายคำถามมากมาย เพราะเขาคือตัวเลือกเพียงตัวเลือกเดียว เนื่องจากผู้สมัครรับเลือกตั้งทั้งหมดต้องผ่านการตรวจสอบประวัติและได้รับการรับรองจากรัฐบาลกลางที่กรุงปักกิ่งว่าเป็นผู้รักชาติ ดังนั้นชะตากรรมของพื้นที่ที่เคยเป็นศูนย์กลางทางการเงินที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกคือสิ่งที่ทุกคนจับตาดูจากการดำเนินนโยบายของเขา

4. Yoon Suk-yeol ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) ซึ่งพึ่งจะเข้าดำรงตำแหน่งในวันที่ 10 พฤษภาคม 2022 ท่ามกลางเสียงครหาที่ว่า การเลือกตั้งในเดือนมีนาคม 2022 คือการเลือกตั้งเพื่อเลือกตัวแทนที่ย่ำแย่น้อยที่สุด ทั้งนี้เนื่องจากตัวแทนดั้งเดิมที่เป็นที่คาดหมายและวางตัวของแต่ละพรรคการเมืองใหญ่ของเกาหลีในเวลานั้นต่างก็เผชิญหน้ากับวิบากต่างๆ จนไม่สามารถลงสมัครเข้ารับการเลือกตั้งด้วยกันทั้งสิ้น และผลการเลือกตั้งที่ออกมาก็ยังทำให้มีเครื่องหมายคำถามเช่นกัน เนื่องจาก Yoon Suk-yeol เอาชนะ Lee Jae-myung ด้วยสัดส่วนคะแนนเพียง 0.73% ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ออกมาใช้สิทธิกัน 77.1% รวมทั้งคำถามอีกมากมายที่คนเกาหลีถามถึงในมิติภาวะผู้นำ ทั้งที่ในสถานการณ์ปัจจุบันที่ความไม่สงบในคาบสมุทรเกาหลี และความขัดแย้งระหว่างจีน และสหรัฐ เป็นประเด็นสำคัญที่คนเกาหลีห่วงกังวล

5. Ferdinand ‘Bongbong’ Marcos Jr. ประธานาธิบดีแห่งประเทศฟิลิปปินส์ ที่กลับมาแก้ไขประวัติศาสตร์บาดแผลของครอบครัว Marcos ซึ่งหลายๆ คนยังไม่ลืมว่า ในวันที่เกิดการขับไล่ผู้นำผู้ฉ้อฉลและมีปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงในปี 1986 ประธานาธิบดี Ferdinand Marcos ผู้พ่อเองก็ทำงานอยู่ใกล้ชิดด้วยกันกับ Bongbong ซึ่งในวันนั้นในปี 1986 เขาก็ดำรงผู้นำทางการเมืองระดับสูงอยู่เช่นเดียวกัน แน่นอนว่าตั้งแต่การเข้ารับตำแหน่งของ Bongbong ในวันที่ 30 มิถุนายน 2022 ที่ผ่านมา ผลงานหลายเรื่องของเขาจะเป็นที่เข้าตาประชาชนฟิลิปปินส์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่เขาเองลงมาควบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการเกษตร (Secretary of Agriculture) เพื่อดูแลปัญหาความมั่นคงทางอาหารของประเทศ แต่เชื่อว่าทั่วโลกก็ยังจับตา และคำถามจำนวนมากต่อผู้นำท่านนี้

นอกจาก 5 ผู้นำใหม่ที่เราต้องจับตามอง เพราะนี่คือการประชุมสุดยอดผู้นำ APEC ของพวกเขาแล้ว แขกพิเศษของรัฐบาลที่ตอบรับคำเชิญเข้ามาเยือนประเทศไทยในช่วงเวลาเดียวกัน ก็น่าสนใจมิใช่น้อย เพราะยังมีทั้ง Emmanuel Macron ประธานาธิบดีประเทศฝรั่งเศส และ มกุฎราชกุมาร Mohammed bin Salman Al Saud นายกรัฐมนตรีแห่งซาอุดีอาระเบีย ซึ่งต่างก็เป็นผู้มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในเวทีโลก และทั้ง 2 ประเทศเองต่างก็มีแนวโน้มที่จะดำเนินนโยบายในรูปแบบที่ลดการพึ่งพาสหรัฐอเมริกา และกลับมาสร้างความสัมพันธ์กับภูมิภาคเอเชียมากยิ่งขึ้น 

ฉะนั้นผู้นำเหล่านี้คืออีก 1 highlight ที่เราต้องสนใจตลอดการประชุม APEC ในเดือนพฤศจิกายน