‘ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ’ ชี้!! เศรษฐกิจไทยแข็งแกร่ง เตือน!! “ตลาดจะลงโทษนโยบายที่โง่ๆ”

(27 ธ.ค. 65) ดูเหมือนว่าภาพรวมของเศรษฐกิจโลกยังคงดูตึงเครียดหนัก หลังจากที่ IMF ออกมาเตือนว่า สิ่งที่เลวร้ายที่สุดยังไม่มาถึงเลย พร้อมหั่นการคาดการณ์ GDP ในปีหน้าจนเหี้ยน ทำให้ต้องเริ่มกังวลแล้วว่า เศรษฐกิจโลกจะไปในทิศทางไหน แล้วสำหรับประเทศไทยจะเอาอย่างไร? จะไปต่อได้ไหวหรือไม่? จะแข็งแกร่งแค่ไหนกัน?

จากช่องยูทูบ ‘Property Expert Live’ โดยคุณคิม ชัชวาลย์ วัฒนะโชติ ได้อธิบายเรื่องนี้ไว้อย่างน่าสนใจ ว่า… 

IMF กองทุนการเงินระหว่างประเทศ ได้คาดการณ์เศรษฐกิจปี 2023 โดยระบุว่าสิ่งที่เลวร้ายที่สุดยังไม่มาถึง และมากกว่า 1 ใน 3 ขอเศรษฐกิจโลก จะเข้าสู่สภาวะ Recession พร้อมจะพบเห็น GDP ติดลบ 2 ไตรมาสติด ๆ ขณะที่ GDP ของประเทศยักษ์ใหญ่ เช่น สหรัฐอเมริกา, ยุโรป และจีน จะยังคงชะลอตัวต่อไป

โดยปัจจัยหลัก ๆ ที่ทำให้เศรษฐกิจย่ำแย่ในปี 2023 มีอยู่ 3 สาเหตุหลัก ๆ ได้แก่... 

1. สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ที่ยังคงเกิดขึ้นต่อไปไม่มีวี่แว่วว่าจะหยุด 
2. ค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพยังคงสูงขึ้น 
3. เศรษฐกิจของประเทศจีนยังคงชะลอตัวอยู่

ทั้ง 3 สาเหตุนี้เป็นปัจจัยหลักให้เศรษฐกิจทั่วโลกต่างเกิดการผันผวนในปี 2023 และปัญหาเงินเฟ้อในปีหน้าก็ยังคงสูงอยู่เช่นเดิม

โดยคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อในปีหน้ายังคงสูงกว่า 6.5% ซึ่งหากมองคร่าว ๆ ก็ยังคงสูงอยู่ แต่ก็อาจะค่อย ๆ ชะลอตัวลงลดเหลือ 4.1% ในปี 2024 หรืออีก 2 ปีข้างหน้า จุดนี้จึงปฏิเสธไม่ได้ที่จะยังคงเป็นแรงกดดันมหาศาลของทั้งโลกอยู่

คุณคิม ยังกล่าวอีกว่า ในฟากของฝั่งไทยนั้น การที่ IMF ออกมาหั่นการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2023 ให้เหลือการขยายตัวเพียงแค่ 3.6% นั้น (จะบอกว่า ‘เพียงแค่’ ก็ไม่ถูกนัก เพราะก่อนหน้านี้คาดการณ์ไว้ถึง 4%) จะพิจารณาได้จากปัจจัยหลักสำคัญอย่างเศรษฐกิจของจีน, ยุโรป หรือสหรัฐอมริกา ที่เข้าสู่สภาวะเศรษฐกิจ ไม่ค่อยจะฟื้นตัว บ้างชะลอตัว บ้างถึงขั้นถดถอยด้วย ซึ่งทำให้การบริโภคเริ่มลดลง บวกกับไทยเราเป็นประเทศผู่ส่งออก จึงได้รับผลกระทบตรงนี้ไปด้วย

อย่างไรก็ตามในฝั่งของ ‘ปัจจัยบวก’ ก็มีด้วยเช่นกัน นั่นก็คือ การท่องเที่ยวไทยฟื้นตัวดีเกินคาด ทำให้มีเม็ดเงินจำนวนมากไหลเข้ามาในประเทศและส่งผลให้ลดดุลทางการค้าได้นั่นเอง และนี่จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้เงินบาทของไทยค่อนข้างแข็งขึ้นมาในช่วงนี้ (อยู่ที่ประมาณ 34.84 บาทต่อ 1 ดอลลาร์ฯ)

ทั้งนี้เชื่อได้ว่า หลายคนน่าจะมีคำถามที่แสดงถึงความกังวลว่า การที่ GDP เติบโตประมาณ 3.6% นั้นเป็นผลดีหรือไม่อย่างไร? ซึ่งเรื่องนี้ ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือแบงก์ชาติ ได้ออกมาบอกว่า จริง ๆ แล้วเศรษฐกิจไทยค่อนข้างทนทานและเข้มแข็งอย่างมาก แม้จะมีการปรับลด GDP ลงไป แต่เหตุผลมันก็มาจากปัจจัยภายนอก (ต่างชาติปรับเพิ่มดอกเบี้ย) แต่ในตัวเศรษฐกิจไทยแข็งแกร่งอยู่

แต่สิ่งที่ต้องระวังอย่างยิ่ง คือ การออกนโยบายหาเสียงในช่วงการเลือกตั้ง ซึ่งอาจจะกระทบระบบการเงินได้ หรือเข้าสุภาษิตที่ว่า ‘ตลาดจะลงโทษนโยบายที่โง่ๆ’ (Market will punish stupid policy) นั่นเอง

นอกจากนี้ ตัวเลขเงินเฟ้อของไทยอยู่ในจุดที่ไม่ค่อยน่าห่วงเท่าไหร่ ถึงแม้จะยังไม่ต่ำมาก แต่ก็ต่ำกว่าที่คาดไว้ ล่าสุดอยู่ที่ 5.55% จากที่คาดการณ์ไว้ที่ 5.85% โดยไทยขึ้นดอกเบี้ยค่อนข้างน้อย (0.25%) หากเทียบกับประเทศยักษ์ใหญ่ จึงทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตสวนทางกับเศรษฐกิจโลก และมีการบริโภคภายในเข้ามาเสริมด้วยนั่นเอง

คราวนี้มาดูการเติบโตของเศรษฐกิจโลกบ้างดีกว่าว่าออกมาหน้าตาอย่างไร?

โดย IMF ออกมาบอกว่าหลายประเทศทั่วโลกมี GDP ในปี 2023 เฉลี่ยอยู่ที่ 2.7% ส่วนสหรัฐฯ เติบโตอยู่ที่ 1.0 % หลายประเทศในยุโยปเฉลี่ยอยู่ที่ 0.5% โดยสหราชอาณาจักรเติบโตเพียงแค่ 0.3% เท่านั้น และมีประเทศที่เติบโตติดลบด้วย อย่างเช่น เยอรมัน -0.3% อิตาลี -0.2% 

ดังนั้นเมื่อเทียบกับประเทศไทยแล้ว ถือว่าไทยเราเติมโตมากกว่าหลาย ๆ ประเทศเลยทีเดียว

โดยสรุปแล้ว ภาพรวมเศรษฐกิจของไทยยังคงเข้มแข็งและค่อย ๆ ฟื้นตัวขึ้นมาและดีกว่าหลาย ๆ ประเทศยักษ์ใหญ่ อีกทั้งยังมีการเก็บดอกเบี้ยที่ต่ำและควบคุมเงินเฟ้อได้ รวมไปถึงค่าเงินบาทไทยก็ค่อนข้างแข็งแกร่ง แต่ก็อย่าละเลยนโยบายหาเสียงที่ไว้ดูดคะแนนจากประชาชน เพราะอาจกลายเป็นดาบสองคมมาทำร้ายระบบเศรษฐกิจของไทย


ที่มา: https://www.youtube.com/watch?v=btY85Z8EdQQ