Monday, 29 April 2024
GDP

กกร.ปรับกรอบ GDP ใหม่โต 0-1% ลุ้นพบ ‘บิ๊กตู่’ ชงมาตรการขับเคลื่อนเพิ่ม

‘กกร.’ ปรับ GDP ปีนี้ใหม่ไม่ติดลบ วางกรอบโต 0-1% แต่คงเป้าส่งออก เงินเฟ้อ หลังเริ่มผ่อนคลายกิจกรรม ศก.มากขึ้น รวมถึงมาตรการคนละครึ่ง เที่ยวด้วยกันเฟส 3 หนุน จ่อร่อนหนังสือถึงนายกฯ ขอเข้าพบสัปดาห์นี้ เล็งเสนอมาตรการกระตุ้นท่องเที่ยวและ ศก.อื่นๆ เพิ่มเติม แนะอัดเงินคนละครึ่งเป็น 6 พันบาท ใช้ช้อปดีมีคืน

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะทำหน้าที่ประธานที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) วันที่ 11 ต.ค. ว่า กกร.ได้ปรับประมาณการการเติบโตผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ปี 2564 ดีขึ้นจาก ณ ก.ย. 64 ที่คาดการณ์ไว้ GDP จะโตในกรอบ -0.5-1% เป็น 0.0-1% ส่งออกยังคงเดิมที่ 12-14% และเงินเฟ้อทั่วไปคงกรอบเดิมที่ 1-1.2% 

ทั้งนี้เนื่องจากมีปัจจัยบวกเพิ่มขึ้น แต่ทั้งนี้เห็นว่ารัฐบาลควรจะต้องมีมาตรการเสริมอื่นๆ เข้ามาเพิ่มเติมเพื่อสร้างความเชื่อมั่นในปีนี้และระยะต่อไป โดยเฉพาะการท่องเที่ยวจากต่างประเทศ ดังนั้น กกร.จึงกำลังรวบรวมประเด็นข้อเสนอที่เกี่ยวข้องกับมาตรการการเงิน การคลัง และภาษีเพื่อส่งหนังสือที่จะขอเข้าพบนายกรัฐมนตรีเสนอแนวทางขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในสัปดาห์นี้

“เราเชื่อว่า GDP ปีนี้จะไม่ติดลบ เพราะเศรษฐกิจไทยเรามีปัจจัยบวกจากสถานการณ์ติดเชื้อโควิด-19 ที่ลดลงจากแผนกระจายการฉีดวัคซีนที่เพิ่มขึ้น และรัฐเริ่มผ่อนคลายกฎเกณฑ์ต่างๆ ให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทยอยเปิดดำเนินการได้อย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยต้องจับตามองมาตรการผ่อนคลายที่จะออกมากลางเดือน ต.ค.ถึงต้นเดือน พ.ย.ต่อไป ขณะเดียวกัน รัฐได้มีมาตรการในการกระตุ้นเศรษฐกิจปลายปีทั้งโครงการคนละครึ่งเฟส 3 โครงการเที่ยวด้วยกันเฟส 3 ซึ่งรัฐบาลควรมีมาตรการเสริม ทั้งช้อปดีมีคืนที่เห็นว่าควรต้องเร่ง พ.ย.-ม.ค. 65 นี้ และอยากให้เติมเงินคนละครึ่งเป็น 6,000 บาทเพื่อให้หมุนเวียนดีขึ้น และแผนเปิดประเทศต้องการให้ชัดเจนเพื่อที่นักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเข้ามาวางแผนได้ล่วงหน้า” นายสนั่นกล่าว

เงินสำรองฯ ไทย มากเป็นอันดับ 12 ของโลก ตลาดการเงินไทยยังแข็งแกร่ง - มีเสถียรภาพ 

เมื่อวันที่ 18 ก.ย. นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า มูลค่าเงินสำรองระหว่างประเทศของประเทศปรับลดลง เป็นผลมาจากการแข็งค่าอย่างต่อเนื่องของเงินดอลลาร์ ไม่พบสัญญาณการเคลื่อนย้ายเงินทุนที่ผิดปกติ และระดับเงินสำรองฯ เมื่อเทียบต่อ GDP ยังสูงกว่าหลายประเทศ

นายอนุชา กล่าวว่า จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พบว่า มูลค่าเงินสำรองระหว่างประเทศที่ปรับลดลงจาก 2.78 แสนล้านดอลลาร์ในช่วงต้นปี มาอยู่ที่ระดับ 2.4 แสนล้านดอลลาร์ เป็นผลมาจากการตีมูลค่าเงินสำรองฯ ที่อยู่ในสินทรัพย์หลายสกุลเงินให้เป็นสกุลดอลลาร์ โดยเงินสกุลดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้น ทำให้สินทรัพย์สกุลอื่น ๆ เมื่อตีมูลค่าเป็นรูปดอลลาร์มีมูลค่าลดลง ซึ่งในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดการเงินผันผวนสูงขึ้นจากตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐฯ ที่อยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง และเป็นเหตุการณ์ปกติในช่วงที่ค่าเงินดอลลาร์เคลื่อนไหวผันผวนสูง มูลค่าเงินสำรองฯ ก็จะผันผวนสูงขึ้นตามไปด้วย

‘ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ’ ชี้!! เศรษฐกิจไทยแข็งแกร่ง เตือน!! “ตลาดจะลงโทษนโยบายที่โง่ๆ”

(27 ธ.ค. 65) ดูเหมือนว่าภาพรวมของเศรษฐกิจโลกยังคงดูตึงเครียดหนัก หลังจากที่ IMF ออกมาเตือนว่า สิ่งที่เลวร้ายที่สุดยังไม่มาถึงเลย พร้อมหั่นการคาดการณ์ GDP ในปีหน้าจนเหี้ยน ทำให้ต้องเริ่มกังวลแล้วว่า เศรษฐกิจโลกจะไปในทิศทางไหน แล้วสำหรับประเทศไทยจะเอาอย่างไร? จะไปต่อได้ไหวหรือไม่? จะแข็งแกร่งแค่ไหนกัน?

จากช่องยูทูบ ‘Property Expert Live’ โดยคุณคิม ชัชวาลย์ วัฒนะโชติ ได้อธิบายเรื่องนี้ไว้อย่างน่าสนใจ ว่า… 

IMF กองทุนการเงินระหว่างประเทศ ได้คาดการณ์เศรษฐกิจปี 2023 โดยระบุว่าสิ่งที่เลวร้ายที่สุดยังไม่มาถึง และมากกว่า 1 ใน 3 ขอเศรษฐกิจโลก จะเข้าสู่สภาวะ Recession พร้อมจะพบเห็น GDP ติดลบ 2 ไตรมาสติด ๆ ขณะที่ GDP ของประเทศยักษ์ใหญ่ เช่น สหรัฐอเมริกา, ยุโรป และจีน จะยังคงชะลอตัวต่อไป

โดยปัจจัยหลัก ๆ ที่ทำให้เศรษฐกิจย่ำแย่ในปี 2023 มีอยู่ 3 สาเหตุหลัก ๆ ได้แก่... 

1. สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ที่ยังคงเกิดขึ้นต่อไปไม่มีวี่แว่วว่าจะหยุด 
2. ค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพยังคงสูงขึ้น 
3. เศรษฐกิจของประเทศจีนยังคงชะลอตัวอยู่

ทั้ง 3 สาเหตุนี้เป็นปัจจัยหลักให้เศรษฐกิจทั่วโลกต่างเกิดการผันผวนในปี 2023 และปัญหาเงินเฟ้อในปีหน้าก็ยังคงสูงอยู่เช่นเดิม

โดยคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อในปีหน้ายังคงสูงกว่า 6.5% ซึ่งหากมองคร่าว ๆ ก็ยังคงสูงอยู่ แต่ก็อาจะค่อย ๆ ชะลอตัวลงลดเหลือ 4.1% ในปี 2024 หรืออีก 2 ปีข้างหน้า จุดนี้จึงปฏิเสธไม่ได้ที่จะยังคงเป็นแรงกดดันมหาศาลของทั้งโลกอยู่

คุณคิม ยังกล่าวอีกว่า ในฟากของฝั่งไทยนั้น การที่ IMF ออกมาหั่นการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2023 ให้เหลือการขยายตัวเพียงแค่ 3.6% นั้น (จะบอกว่า ‘เพียงแค่’ ก็ไม่ถูกนัก เพราะก่อนหน้านี้คาดการณ์ไว้ถึง 4%) จะพิจารณาได้จากปัจจัยหลักสำคัญอย่างเศรษฐกิจของจีน, ยุโรป หรือสหรัฐอมริกา ที่เข้าสู่สภาวะเศรษฐกิจ ไม่ค่อยจะฟื้นตัว บ้างชะลอตัว บ้างถึงขั้นถดถอยด้วย ซึ่งทำให้การบริโภคเริ่มลดลง บวกกับไทยเราเป็นประเทศผู่ส่งออก จึงได้รับผลกระทบตรงนี้ไปด้วย

อย่างไรก็ตามในฝั่งของ ‘ปัจจัยบวก’ ก็มีด้วยเช่นกัน นั่นก็คือ การท่องเที่ยวไทยฟื้นตัวดีเกินคาด ทำให้มีเม็ดเงินจำนวนมากไหลเข้ามาในประเทศและส่งผลให้ลดดุลทางการค้าได้นั่นเอง และนี่จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้เงินบาทของไทยค่อนข้างแข็งขึ้นมาในช่วงนี้ (อยู่ที่ประมาณ 34.84 บาทต่อ 1 ดอลลาร์ฯ)

ทั้งนี้เชื่อได้ว่า หลายคนน่าจะมีคำถามที่แสดงถึงความกังวลว่า การที่ GDP เติบโตประมาณ 3.6% นั้นเป็นผลดีหรือไม่อย่างไร? ซึ่งเรื่องนี้ ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือแบงก์ชาติ ได้ออกมาบอกว่า จริง ๆ แล้วเศรษฐกิจไทยค่อนข้างทนทานและเข้มแข็งอย่างมาก แม้จะมีการปรับลด GDP ลงไป แต่เหตุผลมันก็มาจากปัจจัยภายนอก (ต่างชาติปรับเพิ่มดอกเบี้ย) แต่ในตัวเศรษฐกิจไทยแข็งแกร่งอยู่

‘บิ๊กตู่’ ปลื้ม!! ไทยติดอันดับ 10 ประเทศก้าวหน้าที่สุดในเอเชีย เดินหน้าพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เสริมศักยภาพการแข่งขัน-ลงทุน

(20 ก.พ. 66) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยินดีที่ ’ไทย’ ได้อันดับ 10 ประเทศที่มีความก้าวหน้ามากที่สุดในภูมิภาคเอเชีย (Most Advanced Countries in Asia) จากการจัดอันดับ ของ Yahoo Finance

โดยประเทศไทยตั้งอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) และเป็นประเทศที่มีภาคบริการที่โดดเด่นเติบโตสูง คิดเป็นร้อยละ 58.3 ของ GDP ของประเทศในปี 2563 ส่วนผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในปี 2564 เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.31 จากปีก่อนหน้า สร้างรายได้รวมกว่า 1.37 แสนล้านดอลลาร์

โดยระบุว่า คะแนนการพัฒนามนุษย์ในช่วงปี 2564-2565 นั้นสูงมากที่ 0.800 คะแนน และประเทศไทยเป็นประเทศที่มีการลงทุนอย่างมากในด้านการวิจัยและพัฒนา R&D ในปี 2563 โดยมีการใช้จ่ายคิดเป็นร้อยละ 1.14 ของ GDP เมื่อพิจารณาคะแนนดัชนีการพัฒนามนุษย์ Human Development Index ที่ใช้ในการวัดผลพบว่า คนไทยมีอายุขัยเฉลี่ยที่ 78.7 ปี ระยะเวลาการศึกษา 15.9 ปี และมีรายได้ต่อหัวอยู่ที่ 619,000 ต่อปี

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การจัดอันดับประเทศที่มีความก้าวหน้ามากที่สุดในภูมิภาคเอเชียของ Yahoo Finance พิจารณาจาก ดัชนีการพัฒนามนุษย์ จาก Human Development Index หรือ HDI ของปี 2021-2022 ซึ่ง HDI มีการวัดจาก 3 ปัจจัยด้วยกันคืออายุคาดเฉลี่ย ระดับการศึกษา และรายได้ต่อหัว (GDP Per capita), สัดส่วนของงบประมาณในการวิจัยและพัฒนา (R&D) ต่อ GDP ที่เป็นข้อมูลจากธนาคารโลก และการประเมินยังคำนึงถึง และการมีบริษัทขนาดใหญ่ในประเทศนั้น ๆ

‘ธนาคารโลก’ เชื่อ!! ศก.ไทยฟื้นตัว ดันจีดีพีปี 66 โต 3.6% ชี้!! ท่องเที่ยวยังเด่น ลุ้นโกย 27 ล้าน นทท.เข้าประเทศ

‘เวิลด์แบงก์’ เคาะจีดีพีไทยปีนี้โต 3.6% อานิสงส์บริโภคภายในประเทศ-ท่องเที่ยวหนุนเต็มสูบ ลุ้นต่างชาติทะยาน 27 ล้านคน ส่งออกโคม่าติดลบ 1.8% ซมพิษเศรษฐกิจโลก หนุนปฏิรูปเศรษฐกิจ ช่วยดันเติบโตระยะยาว

(2 เม.ย. 66) นายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ประจำประเทศไทย ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) กล่าวว่า เวิลด์แบงก์คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ในปี 2566 ยังคงขยายตัวได้ที่ระดับ 3.6% เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ 2.6% โดยต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจไทยมีการฟื้นตัวช้ากว่าหลายประเทศในภูมิภาค ที่ส่วนใหญ่เศรษฐกิจมีการฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด-19 ได้เร็วกว่าไทย โดยปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปีนี้เติบโตดีขึ้นต่อเนื่อง มาจากภาคการท่องเที่ยว ที่ได้รับอานิสงส์จากการที่จีนเปิดประเทศ โดยคาดว่าปีนี้ยอดนักท่องเที่ยวต่างชาติ จะเพิ่มขึ้นเป็น 27 ล้านคน คิดเป็น 68% ของช่วงก่อนเกิดโควิด-19 และการบริโภคภายในประเทศ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากนโยบายการคลัง โดยเฉพาะการตรึงราคาพลังงาน ที่ช่วยพยุงให้การบริโภคภายในประเทศฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง

ขณะเดียวกันเสถียรภาพทางการคลังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี จากสัดส่วนหนี้สาธารณะที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง โดยปัจจุบันอยู่ที่ราว 60% ต่อจีดีพี และคาดว่าจะลดลงเหลือราว 59% ต่อจีดีพี เนื่องจากอัตราการใช้จ่ายของภาครัฐที่ลดลง แต่ก็ยังสูงกว่าที่คาดการณ์ ซึ่งเป็นผลมาจากการตรึงราคาพลังงานเป็นหลัก ขณะที่การส่งออกไทยในรูปเงินดอลล่าร์สหรัฐ ปีนี้คาดว่าจะหดตัวที่ 1.8% โดยได้รับผลกระทบชัดเจนจากการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลกตั้งแต่ช่วงไตรมาส 4/2565 ส่วนอัตราเงินเฟ้อ อยู่ที่ 3.2%

ทั้งนี้ มองไปข้างหน้า เศรษฐกิจไทยยังขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2567 คาดว่าจีดีพีจะขยายตัวที่ 3.7% และปี 2568 ที่ระดับ 3.5% โดยประเด็นที่น่าเป็นห่วงคือการเติบโตของเศรษฐกิจไทยไม่ได้สูงมากนัก นั่นเพราะในช่วง 15 ปีที่ผ่านมาการปฏิรูปเศรษฐกิจไทยค่อนข้างช้า แต่มองว่ายังมีโอกาสที่ไทยจะเร่งปฏิรูปเศรษฐกิจให้ดีขึ้นในหลาย ๆ ด้าน เนื่องจากยังมีศักยภาพและเสถียรภาพด้านการเงิน และการคลัง ที่จะสามารถนำสิ่งนี้มาใช้ในการปฏิรูปเศรษฐกิจได้อย่างจริงจัง

“ประเด็นสำคัญในการเร่งปฏิรูปเศรษฐกิจของไทย เพื่อเพิ่มรายได้จากภาษี โดยเฉพาะภาคบริการ เพราะเป็นอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูง รายได้ดี และใช้แรงงานที่มีทักษะสูง แต่ที่ผ่านมาประเทศไทยมีกฎเกณฑ์ กติกาในภาคบริการที่ค่อนข้างเยอะ ถือเป็นอันดับ 2 รองจากอินโดนีเซีย ทำให้การลงทุนในส่วนนี้ยังมีข้อจำกัด ส่วนภาคการท่องเที่ยว ก็ต้องมีการเพิ่มมูลค่า เพิ่มการลงทุนด้านการท่องเที่ยวไม่ใช่เฉพาะในเมืองหลัก อย่างกรุงเทพฯ เชียงใหม่ หรือภูเก็ต เท่านั้น รวมทั้งต้องยกระดับมาตรการการให้บริการด้านการท่องเที่ยว เราคิดว่าภาคการท่องเที่ยวอาจจะยังไม่ใช่เครื่องมือหลักที่จะทำให้ไทยเป็นประเทศที่มีรายได้สูงขึ้น แต่ก็ยังเป็นเครื่องมือที่มีความสำคัญรวมถึงต้องเร่งปฏิรูปการลงทุนของภาครัฐ ที่ต้องเน้นคำนึงถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมให้มากขึ้น ตลอดจนประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ดังนั้น ต้องมีการปฏิรูปเรื่องสวัสดิการที่พุ่งเป้า เจาะจงกลุ่มเป้าหมาย โดยเฉพาะผู้สูงอายุ และคนจนให้มากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันเรื่องระบบการศึกษาก็เป็นสิ่งสำคัญ ที่ต้องมีการปฏิรูปในวงกว้าง เพื่อเสริมทักษะให้กับเยาวชน หรือคนที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงาน เรื่องนี้ที่ผ่านมาไทยไม่ได้มีการดำเนินการอย่างจริงจัง” นายเกียรติพงศ์ กล่าว

ไขข้อสงสัย!! ใครทำ 'GDP ไทย' สู้เพื่อนบ้านไม่ได้ สวนกระแสข่าวจอมปลอม จ้องโจมตี 'รัฐบาลลุงตู่'

(16 เม.ย.66) ผู้ใช้งานเฟซบุ๊ก 'LVanicha Liz' ได้โพสต์เฟซบุ๊กเกี่ยวกับ GDP ของไทย โดยระบุว่า...

ดูชัดๆ #ใครทำให้GDPไทยสู้เพื่อนบ้านไม่ได้  

เมื่อปี่พาทย์บรรเลงเริ่มฤดูกาลเลือกตั้ง บางกลุ่มการเมืองก็จะต้องลงทุนลงแรงแข่งขันกันจนหน้ามืดตาลาย เพราะ “stake มัน very high” คล้ายกับว่าถ้าอดอยากปากแห้งต่ออีก ๔ ปี อาจถึงขั้นล้มละลายหายไปจากวงการแน่ๆ จึงมีการออกมาเผยแพร่ (สาด/พ่น?) ข้อมูลผิดบ้างถูกบ้างบิดเบือนหลอกลวงบ้างออกสู่สาธารณะ

ประชาชนผู้มีอำนาจแค่ ๑ วันต่อ ๔ ปี จึงต้องวิเคราะห์ก่อนรับข้อมูลข่าวสารให้ดี มิฉะนั้นหากเลือกพรรคการเมืองผิด อาจจะต้องคิดจนประเทศพัง

หนึ่งในประโยคฮิตที่มีการนำออกมากระจายสู่โซเชียลคือ “อยู่มา ๘ ปี ทำ GDP โตได้แค่ ๒% ยังจะอยู่ต่ออีกหรือ”

ซึ่งจากการวิเคราะห์ตลอดมา พบว่าน่าจะคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงไปมาก จึงสืบค้นดูว่าข้อมูลมีที่มาที่ไปอย่างไร พบในเฟซบุ๊กพรรคเพื่อไทย ส.ส. ผู้หนึ่งกล่าวไว้ดังนี้  

“GDP ตกต่ำตลอด ๘ ปี: ตั้งแต่พลเอกประยุทธ์แต่งตั้งตัวเองเข้ามาเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ตลอด ๘ ปีที่ผ่านมาผลคือ... กราฟร่วง แนวโน้มเศรษฐกิจไทยติดลบ หนึ่งจุดห้า ถึง ศูนย์ ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจไทย ตลอด ๘ ปีที่ผ่านมาเติบโตเฉลี่ยเพียงแค่ประมาณ ๒ เปอร์เซ็นต์ต่อปี ขณะที่ประเทศอื่นในภูมิภาคเดียวกัน อาทิ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย หรือเวียดนาม ซึ่งมีโครงสร้างทางเศรษฐกิจไม่แตกต่างจากไทย กลับสามารถคงระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ในระดับ ๕%-๘% ต่อปี แปลว่า วันที่เรายังไม่เผชิญหน้ากับวิกฤตโรคระบาด เศรษฐกิจไทยก็ย่ำแย่อยู่แล้ว เมื่อเจอกับวิกฤตโรคระบาดและผู้นำที่ไม่มีความรู้ในการบริหารเศรษฐกิจ กราฟก็ยิ่งดิ่งเหวเข้าไปใหญ่”

https://m.facebook.com/pheuthaiparty/photos/a.153985257967754/4657213287644906/

ผู้เขียนสืบค้นจาก Google ด้วยคำว่า Thailand GDP ก็ได้กราฟเปรียบเทียบมาให้เลย ๓ ประเทศ โดยไทยมี GDP สูงสุดในกราฟ และมีการเติบโตทิ้งห่างจากเพื่อนบ้านอีกสองประเทศเป็นช่วงกว้างขึ้นทุกที การทิ้งห่างมากขึ้นหมายถึงเศรษฐกิจโดยรวมเติบโตมากกว่า ซึ่งการทิ้งห่างจะสังเกตได้โดยเส้นกราฟของประเทศที่เศรษฐกิจเติบโตกว่า จะไต่ขึ้นชันกว่า 

เพื่อตรวจสอบข้อความในเฟซบุ๊กพรรคเพื่อไทย ที่ระบุว่า “วันที่เรายังไม่เผชิญหน้ากับวิกฤตโรคระบาด เศรษฐกิจไทยก็ย่ำแย่อยู่แล้ว” เป็นจริงหรือไม่ ผู้เขียนนำช่วงเติบโตดีที่สุดของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ (พรรคเพื่อไทย) กับช่วงเติบโตดีที่สุดของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ก่อนวิกฤตโควิดมาเปรียบเทียบกับเวียดนาม (ซึ่งฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลชอบนำมาใช้เป็นตัวอย่างความเติบโต) พบว่ากราฟ GDP ช่วงรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ไต่ขึ้นชันกว่าช่วงรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ และอัตราส่วนของการเพิ่มขนาดเศรษฐกิจช่วงรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ สูงกว่าเวียดนาม ขณะช่วงรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ต่ำกว่าเวียดนามเกือบครึ่ง

ตกลง “วันที่เรายังไม่เผชิญหน้ากับวิกฤตโรคระบาด เศรษฐกิจไทยก็ย่ำแย่อยู่แล้ว” ก็คงย่ำแย่ตอนพรรคเพื่อไทยบริหารนี่เอง เพราะอัตราการเติบโตต่ำกว่าเวียดนาม   

สรุปว่าข้อกล่าวอ้างที่ว่า GDP ตกต่ำตลอด ๘ ปีนั้น ในช่วงก่อนวิกฤตโควิด หลักฐานแสดงไปในทางตรงกันข้าม

ส่วนในช่วงหลังจากวิกฤต ตัวเลข post-crisis GDP จะไม่ใช่สิ่งสะท้อนความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจที่ถูกต้อง เพราะการฟื้นฟูความเสียหายต่างๆ ในช่วงวิกฤตเข้ามาทำให้เกิดส่วนเพิ่มของ GDP อ้างอิงบทความ “Does high GDP mean economic prosperity?” ของ Investopedia
https://www.investopedia.com/articles/economics/08/genuine-progress-indicator-gpi.asp

การที่ประเทศต่างๆ จะมีอัตราการเพิ่ม GDP ในช่วง post-crisis ที่แตกต่างกัน มันแล้วแต่กลไกการฟื้นฟูในแต่ละประเทศ ว่าจะทำอะไรช่วงไหน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การใช้งบประมาณของประเทศไทยตั้งแต่ช่วงวิกฤตโควิดซึ่งรัฐบาลเปลี่ยนมาอยู่ภายใต้ระบอบเลือกตั้ง ถูกฝ่ายค้านกดดันตัดทอนอย่างเข้มข้นจนไม่อาจเป็นไปตามที่วางแผนมากนัก ทำให้มีผลเหนี่ยวรั้ง GDP ของไทยด้วย การนำมาเป็นตัวชี้วัดความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจร่วมกับตัวเลขก่อนวิกฤต เหมารวม ๘ ปีจึงทำให้เกิดภาพที่บิดเบี้ยวไม่สะท้อนความเป็นจริง

เมื่อตรวจสอบในมิติที่ละเอียดขึ้น ให้ครอบคลุมการเปรียบเทียบกับประเทศต่างๆ ที่เฟซบุ๊กพรรคเพื่อไทยระบุไว้ พบว่าประเทศที่ GDP สูงและเติบโตดีมากที่สุดในกลุ่มคืออินโดนีเซีย ตามมาด้วยไทย ส่วนประเทศที่เหลือนั้น GDP โตอยู่ข้างใต้เส้นกราฟของไทย ลักษณะกราฟการเติบโตของประเทศที่มีแนวโน้มดี (อินโดนีเซียและเวียดนาม) คือช่วงปลายโค้งขึ้นและตลอดเส้นไม่ค่อยสะดุด (อ้างอิงภาพของ Our World in Data)
https://ourworldindata.org/grapher/gross-domestic-product?tab=chart&country=IDN~BRN~KHM~LAO~MYS~PHL~THA~VNM~SGP

ตรงนี้เองที่มีข้อสังเกตว่า เส้น GDP ของไทยเริ่มชันตีคู่ขึ้นมาขนานอินโดนีเซียในสมัย พล.อ.เปรม โดยมีแรงส่งไปยังรัฐบาลต่อๆ ไปชัดเจน จากนั้นเกิดการสะดุดครั้งใหญ่ในวิกฤตต้มยำกุ้ง ซึ่งเป็นช่วงที่นายทักษิณ (บิดาแคนดิเดตนายกฯ พรรคเพื่อไทย) เข้ามาเป็นรองนายกฯ จากนั้นเมื่อนายทักษิณเข้ามาเป็นนายกฯ เอง เส้น GDP ไทยเริ่มทิ้งตัวห่างลงมาจากอินโดนีเซีย หลังสมัยนายทักษิณ เส้น GDP สะดุดเรื่อยๆและทิ้งตัวห่างลงมาจากอินโดนีเซียมากขึ้นๆ จนเข้ามาสู่สมัย พล.อ.ประยุทธ์ (คสช.) เส้น GDP จึงเริ่มโค้งขึ้นอีกครั้ง จากนั้นทุกประเทศก็เข้าสู่วิกฤตโควิด และประสบสภาวะ GDP สะดุดเหมือนๆ กัน มากบ้างน้อยบ้างแล้วแต่เงื่อนไขและสถานการณ์ของแต่ละประเทศ

ณ จุดนี้ น่าจะเข้าใกล้คำตอบแล้วว่า #ใครทำให้GDPไทยสู้เพื่อนบ้านไม่ได้

ข้อพิสูจน์ที่น่าจะเป็นหลักฐานสำคัญที่ชี้ว่าเหตุใด GDP ไทยเริ่มจะสู้เพื่อนบ้านไม่ได้ตั้งแต่สมัยนายทักษิณก็คือ ในยุคของนายทักษิณ มีการดำเนินการที่ทำให้เสถียรภาพทางการเมืองซึ่งมีผลต่อความมั่นคงของชาติตกต่ำดิ่งเหวลงไปจน Political Stability index อยู่ใต้ระดับ ๐ (percentile rank ต่ำกว่า ๕๐%) เป็นครั้งแรก ซึ่งมีผลเสียหายลากยาวถึงปัจจุบัน อันเนื่องมาจากยังคงมีภัยความมั่นคงของชาติเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพิ่งมาแก้ไขได้บางส่วนและดีขึ้นเรื่อยๆในสมัย พล.อ.ประยุทธ์ (อ้างอิงกราฟ Political Stability ของ Trading Economics) ซึ่งสอดคล้องกับเส้น GDP ที่เริ่มโค้งขึ้นก่อนวิกฤตโควิด
.
เสถียรภาพทางการเมืองและความมั่นคงของชาติมีความสัมพันธ์อย่างแนบแน่นกับการเติบโตทางเศรษฐกิจของชาติ ตามคำอธิบายที่ว่า “หากไร้ซึ่งสภาพแวดล้อมทางการเมืองและสังคมที่มั่นคงและปลอดภัยแล้ว ก็ยากที่จะมีการเติบโตทางเศรษฐกิจใดๆ ความมั่นคงของชาติเป็นเงื่อนไขเบื้องต้นในการพัฒนาเศรษฐกิจ ...”
https://www.fso.gov.hk/eng/blog/blog20210418.htm
.
ยกตัวอย่างการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ซึ่งเป็นปัจจัยส่วนหนึ่งของการพัฒนาเศรษฐกิจ ก็อยู่บนหลักที่ว่าประเทศที่มีเสถียรภาพทางการเมืองโดยทั่วไปจะดึงดูดนักลงทุนต่างประเทศได้ดีกว่า
https://www.investmentmonitor.ai/features/fdi-drivers-and-political-stability

กราฟ FDI ของ Trading Economics แสดงชัดว่า FDI ของไทยเริ่มตกหลังจากเสถียรภาพทางการเมืองของไทยลดลงต่ำกว่า ๐ ในสมัยที่นายทักษิณบริหาร และเริ่มจะกลับมาดีขึ้นในสมัย พล.อ.ประยุทธ์

สำหรับสาเหตุที่ว่าทำไม Political Stability index ของไทยลดลงต่ำกว่า ๐ (percentile rank ต่ำกว่า ๕๐%) ในสมัยนายทักษิณนั้น กราฟ “ผลกระทบจากการลดงบประมาณทางการทหารยุคทักษิณ” ให้คำตอบที่ชัดเจน
-------------------------------------------------------------------

‘รัฐบาล’ ชี้ การบริโภค-ท่องเที่ยว ช่วย ศก.ไทยฟื้นตัว เผย ภาพรวมเศรษฐกิจไทย ปี 66 เติบโตต่อเนื่อง

(10 พ.ค. 66) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงสถานการณ์เศรษฐกิจของแต่ละภูมิภาค เดือนมีนาคม 2566 เติบโตทั่วประเทศ โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคภาคเอกชน ด้านธนาคารแห่งประเทศไทย คาดการณ์แนวโน้มภาวะเศรษฐกิจไทย GDP ในครึ่งปีหลังจะขยายตัวได้มากกว่าครึ่งปีแรกที่มากกว่า 4% และทั้งปี 2566 GDP ไทยจะขยายตัวร้อยละ 3.6

นายอนุชา กล่าวว่า สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยรายงานสถานการณ์เศรษฐกิจของแต่ละภูมิภาค เดือนมีนาคม 2566 โดยเศรษฐกิจภูมิภาคส่วนใหญ่ ล้วนได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคภาคเอกชน และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเพิ่มขึ้นทุกภาค รวมถึงเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ของภาคเหนือขยายตัวร้อยละ 8.5 ต่อปี ภาคใต้ขยายตัวร้อยละ 23.7 ต่อปี

ด้าน กทม.และปริมณฑลขยายตัวร้อยละ 4.7 ต่อปี ภาคตะวันตกขยายตัวร้อยละ 20.0 ต่อปี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือขยายตัวร้อยละ 2.9 ต่อปี ส่วนภาคกลาง และภาคตะวันออก ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทน รวมถึงรายได้เกษตรกรมีการขยายตัว

นายอนุชา กล่าวว่า สำหรับแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจไทยปี 2566 จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พบว่า เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวดีขึ้น จากปัจจัยด้านการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว และการส่งออกไทยจะดีขึ้นในครึ่งหลังของปี 2566 โดยการส่งออกผ่านจุดต่ำสุดแล้ว เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าคาดว่าจะทยอยปรับตัวดีขึ้นในช่วงปลายปีนี้ ทำให้การส่งออกขยายตัวดีขึ้น รวมทั้ง GDP ในครึ่งปีหลังจะขยายตัวได้มากกว่าครึ่งปีแรก ซึ่งครึ่งปีแรกจะขยายตัวร้อยละ 2.9-3 และในครึ่งปีหลังจะขยายตัวได้มากกว่าร้อยละ 4 ส่งผลให้ปี 2566 GDP ของไทยจะขยายตัวร้อยละ 3.6 สำหรับสถานการณ์เงินเฟ้อ ในช่วงครึ่งปีแรกยังสูงที่ร้อยละ 3.3 แต่ในช่วงครึ่งหลังเงินเฟ้อทั่วไปจะต่ำกว่ากรอบอยู่ที่ร้อยละ 2.5 โดยยังต้องติดตามภาวะเศรษฐกิจโลกในเวลานี้ที่ยังมีความไม่แน่นอน

“เศรษฐกิจไทยในปี 2566 ในภาพรวมยังเป็นไปในเชิงบวก ซึ่งการบริโภคและการท่องเที่ยว จะเป็นปัจจัยหลักที่ทำเศรษฐกิจไทยขยายตัวต่อเนื่อง รัฐบาลยังคงติดตามสภาวะเศรษฐกิจโลกอย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมรับมือและดำเนินนโยบายให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลง รวมทั้งเพิ่มศักยภาพเพื่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะยาวอย่างยั่งยืน” นายอนุชา กล่าว

World Bank’ คาดเศรษฐกิจโลกปี 66 โตเพิ่มอีก 2.1% เตือน!! นโยบายธนาคารทั่วโลกอาจทำจีดีพีปีหน้าชะลอตัว

ธนาคารโลก (World Bank) ปรับขึ้นคาดการณ์เศรษฐกิจโลกในปีนี้ หลังจากทิศทางเศรษฐกิจอเมริกาและประเทศเศรษฐกิจสำคัญทั่วโลกฟื้นตัวดีกว่าคาด แต่ได้เตือนว่าอัตราดอกเบี้ยที่ปรับเพิ่มขึ้นอาจทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวได้ในปีหน้า

รายงานทิศทางเศรษฐกิจโลกของ World Bank ที่เปิดเผยในวันอังคาร ปรับเพิ่มตัวเลขคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกมาที่ 2.1% ในปีนี้ เพิ่มจากระดับ 1.7% ในการประมาณการณ์เมื่อเดือนมกราคม แต่ยังถือว่าต่ำกว่าอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปี 2022 ที่ขยายตัว 3.1%

อย่างไรก็ตาม ธนาคารโลก หั่นคาดการณ์จีดีพีโลกในปีหน้าลงมาที่ 2.4% จากระดับ 2.7% ในเดือนมกราคม โดยอ้างถึงผลกระทบจากนโยบายการเงินของธนาคารกลางทั่วโลก ซึ่งกระทบต่อการลงทุนในภาคธุรกิจ ก่อนที่เศรษฐกิจโลกคาดว่าจะกลับมาเติบโตในระดับ 3.0% ในปี 2025

เมื่อมองเป็นรายประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ World Bank ปรับคาดการณ์ว่าจีดีพีสหรัฐฯ จะขยายตัว 1.1% ในปีนี้ เพิ่มจาก 0.5% ในเดือนมกราคม และเศรษฐกิจจีนจะโต 5.6% จากระดับ 4.3% ในเดือนมกราคม แต่สำหรับในปีหน้านั้น ธนาคารโลก คาดว่าเศรษฐกิจอเมริกันจะโตเพียง 0.8% และหั่นเป้าเศรษฐกิจจีนว่าจะขยายตัวที่ 4.6%
 

‘อ.พงษ์ภาณุ’ ฟันธง!! ไทยควรถึงเวลาปฏิรูปภาษี ขยายฐานภาษีเงินได้นิติบุคคล-เก็บภาษีปล่อยคาร์บอน

(16 ก.ค. 66) ทีมข่าว THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ที่พูดคุยในรายการ ‘Easy Econ’ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ในประเด็นการปฏิรูปการคลัง (Fiscal Reform) ของไทยในปัจจุบันเป็นอย่างไร

โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า นโยบายการคลัง คือนโยบายที่ว่าด้วยการใช้จ่ายเงินภาครัฐที่มาจากการเก็บภาษีอากร และการก่อหนี้สาธารณะหากเก็บรายได้ได้ไม่เพียงพอ นโยบายการคลังอยู่ในอำนาจของฝ่ายการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง เพราะเชื่อว่าความต้องการของประชาชนได้รับการสะท้อนผ่านการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย

จึงไม่น่าแปลกใจว่าภาวะการคลังของเกือบทุกประเทศทั่วโลกอยู่ในฐานะขาดดุล เพราะฝ่ายการเมืองชอบที่จะใช้จ่ายมากกว่าหารายได้ โดยเฉพาะหลังจากสถานการณ์โควิด 19 ทุกประเทศรวมทั้งไทย ที่มีฐานะการคลังที่อ่อนแอลงอย่างมาก รัฐบาลไทยขาดดุลการคลังปีละ 5-6% ของ GDP และมีหนี้สาธารณะที่ระดับ 62% ของ GDP ซึ่งเป็นระดับที่สูงสุดในประวัติศาสตร์การคลังไทย

ในสถานการณ์ปกติ ฐานะการคลังดังกล่าวถือว่าบริหารจัดการได้ แต่ในภาวะที่ดอกเบี้ยอยู่ระดับสูง สังคมสูงอายุ ความจำเป็นที่จะต้องใช้จ่ายด้านการทหารและลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อรองรับมาตรการลดภาวะโลกร้อน ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยความเสี่ยงทางการคลังที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงเป็นจังหวะเหมาะสมที่จะทำการปฏิรูปการคลังอย่างจริงจัง

ในด้านรายได้ ถึงเวลาที่จะต้องทำการปฏิรูปภาษีอากรครั้งใหญ่ หลังจากที่ทำครั้งสุดท้ายเมื่อกว่า 30 ปีที่แล้ว รายได้ภาษีอากรมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องมาอยู่ที่ระดับเพียง 13% ของ GDP เพราะฐานภาษีสึกกร่อนจากการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจและการเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิตอล (Digitalization) แนวโน้มดังกล่าวยังความจำเป็นต้องเพิ่มรายได้จากภาษีมูลค่าเพิ่ม (โดยปรับอัตรา) ขยายฐานภาษีเงินได้นิติบุคคล ยกเลิกการยกเว้นลดหย่อนภาษี เพื่อส่งเสริมการลงทุน และเก็บภาษีจากการปล่อยคาร์บอน

ในด้านรายจ่าย มีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องปรับโครงสร้างการใช้จ่ายเพื่อดูแลสังคมสูงอายุทั้งในด้านความเพียงพอ ตรงเป้า และยั่งยืน การลงทุนภาครัฐ ซึ่งมีความล่าช้าและการรั่วไหลในการดำเนินการและการเบิกจ่ายเงินงบประมาณ ก็จะต้องมีการรื้อกฎระเบียบเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ รวมทั้งการสนับสนุนให้มีการร่วมลงทุนในลักษณะ PPP (Public Private. Partnership) มากขึ้น

โดยสรุปแล้ว นโยบายการคลังด้านภาษีมีความสำคัญในการปรับโครงสร้าง เพื่อให้ภาครัฐมีรายได้สอดคล้องกับนโยบายในการบริหารประเทศที่ต้องนำไปพัฒนาในด้านต่างๆ ต่อไป 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top