Wednesday, 15 May 2024
GDP

‘บก.ลายจุด’ โชว์กึ๋นเศรษฐศาสตร์ ชำแหละ ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ ชี้!! หากแหล่งที่มาคือการสร้างหนี้ จะเกิดเงินเฟ้อ-ข้าวของแพงขึ้น

(27 ส.ค. 66) นายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ ‘บก.ลายจุด’ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ‘สมบัติ บุญงามอนงค์’ ระบุว่า…

เศรษฐศาสตร์ดิจิทัลลวอลเล็ต

- GDP ไทย 2022 อยู่ที่ 19.8 ล้านล้านบาท

- ดิจิทัลวอลเล็ต 540,000 ล้านบาท

- เพื่อไทยบอกว่าที่มาของเงินมาจากการบริหารงบประมาณ ตัดงบส่วนที่ไม่จำเป็นเพื่อมาทำโครงการ ในข้อเท็จจริง การใช้จ่ายภาครัฐเป็นเครื่องยนต์เศรษฐกิจหนึ่งที่สำคัญและมีผลต่อ GDP การชักเอาเงินออกจากการใช้จ่ายภาครัฐมาเป็นค่าใช้จ่ายของครัวเรือนผ่านดิจิทัลวอลเล็ต จึงยังสงสัยว่า กำลังซื้อภาครัฐที่หายไปจะส่งผลกระทบต่อ GDP อย่างไร และเมื่อเทียบกับการให้การใช้เงินอยู่ในมือประชาชนจะส่งผลดีกว่าการใช้จ่ายภาครัฐอยู่ที่เท่าใด และเมื่อคำนวณ GDP ก็ต้องไปตัดลดส่วนของค่าใช้จ่ายภาครัฐลงแล้วบวกด้วยค่าใช้จ่ายภาคครัวเรือน

- การใช้จ่ายภาคครัวเรือนที่ได้รับการอัดฉีดผ่านดิจิทัลวอลเล็ต เมื่อถึงที่สุดแล้วจะส่งผลต่อปัจจัยการนำเข้ามากน้อยเพียงใด เมื่อห่วงโซ่การผลิตและสินค้าจากต่างประเทศโดยเฉพาะจีนกลายเป็นสภาพแวดล้อมสำคัญในการบริโภคในไทย ทั้งนี้รวมถึงการบริโภคพลังงานที่เกิดขึ้นในช่วงเศรษฐกิจตีฟู ที่ต้องกล่าวถึงปัจจัยการนำเข้าเพราะจะมีผลต่อการคำนวณ GDP

- การพัฒนาเศรษฐกิจแบบยั่งยืนควรต้องพิจารณาถึงการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจหรือการปรับเปลี่ยนและพัฒนากระบวนการผลิตให้เพิ่มประสิทธิภาพและแข่งขันได้ คำถามคือ โครงการดิจิทัลวอลเล็ตที่ใช้งบประมาณรัฐสูงขนาดนี้มีผลต่อการปรับเปลี่ยนโครงสร้างและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอย่างไร อันจะเป็นการชี้วัดการพัฒนาเศรษฐกิจที่แท้จริง

- การแจกเงินหมื่นให้ประชาชน หากตกอยู่ในมือประชาชนผู้มีรายได้น้อยพวกเขาย่อมใช้จ่ายเงินนั้นอย่างเต็มที่ในการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจจะส่งผลอย่างเห็นได้ชัด แต่หากตกอยู่ในมือผู้มีรายได้ระดับหนึ่งที่ไม่มีความเดือดร้อน โอกาสที่ประชาชนเหล่านั้นจะใช้เงินหมื่นนี้ในการลดค่าใช้จ่ายประจำของตนเอง โดยเก็บเงินในบัญชีตนเองไว้แล้วใช้เงินในวอลเล็ตแทน เม็ดเงินดังกล่าวก็จะไม่ก่อประโยชน์ในทางเศรษฐกิจและกลายเป็นเงินเก็บในบัญชีของคนกลุ่มนี้ อย่างไรก็ตามอาจโต้แย้งได้ว่าจำนวนคนที่มีกำลังทางเศรษฐกิจอยู่แล้วมีไม่มากนักเมื่อเทียบคนจนในประเทศ

- สภาวะทางเศรษฐกิจช่วงที่โครงการดิจิทัลวอลเล็ตดำเนินอยู่จะเป็นช่วงกระทิง ผู้คนจับจ่ายใช้สอยกันคึกคัก แต่หลังโครงการจบทุกอย่างก็จะกลับเข้าสู่้ภาวะใกล้เคียงก่อนหน้านั้น จมูกที่พ้นน้ำก็ต้องกลับมาอยู่ในระดับเดิม และอะไรคือการแก้ปัญหาเศรษฐกิจระยะต่อจากนั้นเพราะนี่คือพลังบริโภคเทียม

- เราต้องไม่ลืมว่าไม่มีอะไรฟรี หากแหล่งที่มาของโครงการดิจิทัลวอลเล็ตได้มาจากการสร้างหนี้ นี่คือการใช้เงินของคนไทยในอนาคต และการลงทุนนั้นมีหลักอยู่ว่าสิ่งที่ลงทุนไปควรได้รับประโยชน์กลับคืนมากกว่าหรือไม่น้อยกว่าที่ลงทุนไป ต่อให้ผู้ชำระเงินเป็นคนไทยในอนาคตก็ตามที และยังมีปัญหาเงินเฟ้อข้าวของแพงขึ้นแล้วจะไม่ลดลงโดยง่ายหลังสินค้าขึ้นราคา

ปล.คุณสามารถตำหนิผมได้ โดยการอธิบายและโต้แย้งหักล้างสิ่งที่ผมอธิบาย

‘ดร.วิรไท’ แนะ 4 แกนหลัก พลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืน ชี้!! ปรับปรุงโครงสร้าง-แก้กม.ให้สอดรับโลกยุคใหม่คือคำตอบ

เมื่อวันที่ 7 พ.ย. 66 ภาพรวมเศรษฐกิจไทย มีพัฒนาการที่ดีและสามารถขยายตัวได้ต่อเนื่อง แต่อัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นช้าลง สะท้อนได้จากตัวเลขอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ (จีดีพี) ในช่วง 20 ปีย้อนหลัง พบว่าช่วงปี 2543-2552 จีดีพีขยายตัวเฉลี่ยที่ 4.3% ขณะที่ช่วงปี 2553-2562 จีดีพีขยายตัวชะลอลงมาเฉลี่ยที่ 3.6%

วิกฤตโควิด-19 กระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลกเช่นเดียวกับเศรษฐกิจไทย ในปี 2563 จีดีพีหดตัว 6.1% อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยกลับมาฟื้นตัวได้ต่อ จีดีพีขยายตัวที่ 1.5% และ 2.6% ในปี 2564 และ 2565 ตามลำดับ สำหรับปี 2566 คาดการณ์จีดีพี โดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดขยายตัว 2.8% ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดขยายตัว 2.8% ด้านกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดขยายตัว 2.7% ขณะที่ธนาคารโลก คาดขยายตัว 3.4% จะเห็นได้ว่าจีดีพีไทยเติบโตช้าลง ซึ่งเหตุผลไม่ใช่เพียงภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวเท่านั้น แต่ไทยยังเผชิญปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจ ดังนั้น จึงต้องแก้ปัญหาให้ถูกจุด

โดย ดร.วิรไท สันติประภพ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ให้ความเห็นว่า การจะผลักดันให้เศรษฐกิจไทยให้เติบโตได้ในระดับที่ดีต่อเนื่องและโตได้อย่างยั่งยืน เพื่อให้คนไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เท่าทันกับบริบทของโลกที่เปลี่ยนแปลงไปและเท่าทันกับความท้าทายใหม่

แก้ปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจซึ่งทำผ่าน 4 แกนหลัก เรื่องสำคัญที่สุด คือ
1.) การเพิ่มผลิตภาพ (Productivity) ทั้งเรื่องคุณภาพการศึกษาเพื่อให้คนไทยเก่งขึ้น สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้มากขึ้นเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ ทั้งนี้ต้องเพิ่มผลิตภาพในภาคเกษตร พัฒนาพันธุ์พืชใหม่และเพิ่มผลผลิตต่อไป ด้านภาคบริการ สามารถเพิ่มผลิตภาพโดยการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ ภาคบริการในอนาคตต้องตั้งอยู่บนฐานเทคโนโลยี และควรเพิ่มผลิตภาพในด้านบริการภาครัฐ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนให้แก่ประชาชนและภาคธุรกิจได้

2.) การกระจายผลประโยชน์อย่างทั่วถึง (Inclusivity) ซึ่งจะสะท้อนถึงการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของไทย ที่ผ่านมาภาครัฐพยายามแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านทรัพย์สิน ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ เช่น การเก็บภาษีทรัพย์สินรูปแบบใหม่ ๆ การทำระบบสวัสดิการที่จะดูแลประชาชนที่อยู่ระดับฐานล่างของสังคม และปัจจุบันต้องแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านโอกาส ทั้งโอกาสการในการเข้าถึงการศึกษาที่ดีและโอกาสในการเข้าถึงเทคโนโลยี ซึ่งจะจำเป็นมากสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจในอนาคต

3.) การสร้างภูมิคุ้มกัน (Immunity) เศรษฐกิจไทยสามารถรับแรงปะทะและความผันผวนได้ค่อนข้างดี เช่น วิกฤตโควิด เราสามารถทำมาตรการต่าง ๆ ออกมารองรับได้ เพราะภาคการคลัง หนี้สาธารณะของไทยไม่ได้สูงมากนักเมื่อเทียบกับประเทศที่อยู่ในระดับการพัฒนาใกล้เคียง แต่ยังมีความท้าทายจากการที่เราเป็นสังคมสูงอายุ รายจ่ายด้านสวัสดิการจะทำให้ภาครัฐมีภาระการคลังมากขึ้นในอนาคต ส่วนภาคการเงิน เสถียรภาพด้านต่างประเทศค่อนข้างดี ทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูง ด้านหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง น่าเป็นห่วงต้องเร่งแก้เพื่อให้คนสามารถออกจากกับดักหนี้ได้อย่างยั่งยืน ดังนั้น เราควรสร้างและรักษาภูมิคุ้มกันในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับประเทศลงไปถึงระดับครัวเรือน

เพราะความท้าทายที่จะเกิดขึ้นในอนาคตยังมีอีกมาก ถ้าเราทำนโยบายอะไรก็ตามที่ทำลายภูมิคุ้มกันของตัวเอง เราจะไม่สามารถรับแรงปะทะที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตได้และจะถูกกระแทกแรงมาก

4.) ความสามารถในการปรับตัวรองรับการเปลี่ยนแปลง (Adaptability) เพราะโลกในอนาคตจะเปลี่ยนแปลงเร็ว ซึ่งจะเป็นทั้งโอกาสและความท้าทาย ทั้งพัฒนาการของเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทมากขึ้น รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศที่อาจจะได้รับผลกระทบรุนแรง เพราะว่าประชาชนจำนวนมากอยู่ในภาคเกษตรและพึ่งดินฟ้าอากาศ การเปลี่ยนแปลงและความแปรปรวนจะส่งผลต่อระบบชลประทาน การขาดแคลนน้ำสะอาด มีปัญหาน้ำกร่อย น้ำเค็ม เป็นต้น ต้องปรับตัวรองรับให้ทัน เพราะเรื่องนี้กระทบกับวิถีชีวิตของพวกเราทุกคนและกระทบกับวิธีการทำธุรกิจของทุกธุรกิจ

ดร.วิรไท กล่าวว่า การจะทำเรื่องทั้ง 4 แกนหลัก แก้ปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจ ต้องใช้เวลาและใช้ทรัพยากรจำนวนมาก เป็นเรื่องที่ไม่มี Quick Win ไม่ใช่เรื่องที่จะหวังผลในระยะสั้น ๆ ได้ ดังนั้น เรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ คือ ต้องปฏิรูปโครงสร้างภาครัฐที่มีลักษณะเป็นไซโล ให้สามารถทำงานสอดประสานกันได้ รวมถึงเร่งปรับปรุงและแก้กฎหมาย (Regulatory Guillotine) โดยเฉพาะกฎหมายที่ไม่เอื้อกับโลกอนาคต การแก้ปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจต้องทำให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย เพราะแต่ละกลุ่มก็จะมีปัญหา อุปสรรค ข้อจำกัดที่แตกต่างกันออกไป และต้องมีการจัดระบบแรงจูงใจให้ถูกต้อง และระมัดระวังการทำนโยบายแบบเหวี่ยงแห ที่มักจะทำให้เกิดแรงจูงใจที่ผิด ตัวอย่าง คือ นโยบายจำนำข้าว ที่ทำให้เกิดแรงจูงใจว่าคนต้องมาเร่งผลิตข้าวให้เร็วที่สุด เน้นเรื่องปริมาณแทนการเน้นผลิตภาพ เป็นการทำลายพันธุ์ข้าวดี ส่งผลต่อการยกระดับผลิตภาพในระยะยาวได้

“เศรษฐกิจไทยปัจจุบันเปรียบเหมือน ภูเขาน้ำแข็ง หรือ ‘Iceberg’ เราจะมองเห็นและให้ความสำคัญเฉพาะภูเขาน้ำแข็งที่ลอยอยู่เหนือน้ำหรือในด้านของ อัตราการเติบโตเศรษฐกิจ แต่สิ่งที่สำคัญมากกว่าคือสิ่งที่อยู่ใต้น้ำ สิ่งที่มองไม่เห็นซึ่งอาจจะทำให้เกิดภัยพิบัติขึ้นได้ นั่นก็คือเรื่องของโครงสร้างเศรษฐกิจ มองว่าเศรษฐกิจไทยไม่ได้อยู่ในสภาวะวิกฤต แต่อาจจะอยู่ในสภาวะที่เทคออฟได้ช้ากว่าเศรษฐกิจอื่น เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยจะสามารถก้าวต่อไปได้อย่างเข้มแข็งหากเราสามารถตั้งเข็มทิศได้ถูกต้อง ผมจึงให้น้ำหนักเรื่องระยะยาวเพราะความจำเป็นในการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นของเราไม่รุนแรง

เหมือนกับความจำเป็นในการที่ต้องเร่งปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทย ให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อสร้างบุญใหม่ให้กับเศรษฐกิจ ถ้าเรายังคงอยู่กับโครงสร้างแบบเดิม ทำแบบเดิม ไม่สามารถที่จะปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว ก็หนีไม่พ้นที่จะกินบุญเก่า ซึ่งบุญเก่าก็จะหมดลงเรื่อย ๆ” ดร.วิรไท กล่าว

เศรษฐกิจไทยยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก หากเราสามารถเพิ่มผลิตภาพโดยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีที่ปัจจุบันพัฒนาไปไกลมากและสามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น และใช้เทคโนโลยีสนับสนุนให้การทำธุรกิจสะดวกมากขึ้น ต้นทุนถูกลง สามารถแข่งขันได้ เอื้อกับการทำธุรกิจที่มีผลิตภาพสูง เชื่อว่าจะมีผู้ประกอบการธุรกิจอีกจำนวนมากที่จะเข้ามาลงทุนต่อยอดกับสิ่งที่เรามี เช่น ภาคเกษตร ภาคการท่องเที่ยว บริการทางการแพทย์ เศรษฐกิจที่อิงกับความคิดสร้างสรรค์ที่เป็น ซอฟต์พาวเวอร์ไทย ตลอดจนธุรกิจใหม่ ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับความยั่งยืนซึ่งเป็นเทรนด์ของโลก

นอกจากการให้ความสำคัญเรื่องโครงสร้างเศรษฐกิจแล้ว โจทย์ใหญ่อีกเรื่องที่ต้องเร่งแก้ปัญหาคือ เรื่องคอร์รัปชัน เพราะคอร์รัปชันเป็นตัวทำลายผลิตภาพ ทำลายการแข่งขันที่เป็นธรรม

การแข่งขันจะไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าใครเก่งกว่าใคร แต่การแข่งขันจะขึ้นอยู่กับว่าใครรู้จักใคร ใครยินดีที่จะจ่ายใต้โต๊ะมากกว่า ใครมีช่องทางในการเข้าถึงอำนาจรัฐและใช้อำนาจรัฐได้มากกว่า

ทั้งนี้ คอร์รัปชันทำให้ต้นทุนของทุกคนสูงขึ้น ต้นทุนการใช้ชีวิต ต้นทุนการทำธุรกิจ และยังเป็นปัจจัยทำลายความไว้วางใจ เวลาที่เราพูดถึงเศรษฐกิจไทย สังคมไทย ที่จะต้องปรับโครงสร้างให้เท่าทันกับโลกใหม่ ๆ ในอนาคต แปลว่า เราจะต้องมีความไว้วางใจกันในการที่จะเริ่มทำเรื่องใหม่ ๆ แต่หากเราอยู่ในสังคมที่มีคอร์รัปชันเป็นบรรทัดฐาน การเริ่มทำเรื่องใหม่จะทำได้ช้ามาก เพราะเกิดการตั้งข้อสังเกตว่าใครหวังอะไร ใครกำลังจะได้อะไร ใครจ่ายใต้โต๊ะ นโยบายที่กำลังจะทำเอื้อต่อใคร ซึ่งการจะเริ่มทำเรื่องใหม่ในประเทศไทยทำได้ช้า ขณะที่ประเทศอื่นสามารถที่จะก้าวไปได้เร็วกว่าเรา

ดังนั้น หากสถานการณ์คอร์รัปชันของเรายังไม่ดีขึ้น จะเป็นความเสี่ยงฉุดเศรษฐกิจไทยเข้าสู่หลุมดำได้

รู้หรือไม่? ‘หนี้สาธารณะ’ ต่อ GDP ถือตัวชี้วัดอย่างหนึ่งที่ใช้วัดความยั่งยืนทางการคลังของแต่ละประเทศ

รู้หรือไม่? ‘หนี้สาธารณะ’ ต่อ GDP ถือตัวชี้วัดอย่างหนึ่งที่ใช้วัดความยั่งยืนทางการคลังของแต่ละประเทศ 🌏 แล้วประเทศไหนมี ‘หนี้สาธารณะ’ สูงที่สุดในโลกประจำปี 2566 ไปดูกันเลย!! 🪙📈

'เครดิตบูโร' ชี้!! หนี้ครัวเรือนไทยพุ่งแตะ 91% ต่อ GDP หวั่น!! ครัวเรือนผ่อนบ้านรถไม่ไหว เสี่ยงถูกยึด

เมื่อไม่นานมานี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยได้มีการประกาศสถิติหนี้ครัวเรือนออกมาด้วยตัวเลขที่น่าตกใจ โดยเมื่อวันที่ 19 ก.พ. ได้มีการรายงานหนี้ครัวเรือนในไตรมาสที่สามของปี 2566 โดยผลออกมาว่า มีหนี้ครัวเรือนอยู่ที่ 90.9% นับว่ายังอยู่ช่วงอันตรายมาตลอดตั้งไตรมาสแรกที่ +90.7 และเพิ่มขึ้นมาสู่ +90.8% ในไตรมาสที่ 2 

(22 ก.พ. 67) นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ เครดิตบูโร ได้กล่าวบน Facebook ว่าหนี้ครัวเรือนไทยตอนนี้อยู่ในระบบอยู่ที่ 16.2 ล้านล้านบาท หรือ ราว +91% ต่อ GDP ซึ่งเมื่อเทียบกับนานาประเทศ ถ้าเกิน 80% ถือว่าเป็นระดับที่อันตรายแล้ว

หากมองย้อนหลังลงไป หนี้ครัวเรือนไทยเข้าสู่โซนอันตรายหรือมากกว่า +80% ตั้งแต่ปี 2556 และพุ่งสูงขึ้นมาตลอดจนแตะ +85.9% ในปี 2558 จากวิกฤตน้ำท่วมที่ส่งต่อภาระไปแก่ครัวเรือน แม้หลังปี 2558 หนี้จะหมดและทยอยลดลง แต่ในปี 2019 - 2020 หนี้ได้ก่อตัวขึ้นจนดีดขึ้นสูงถึง +94.7% อีกทั้งนโยบายพักหนี้นั้นทำให้หนี้ยังคงค้างอยู่ในระบบ แม้จะหนี้จะลดลงมาในปีต่อมา แต่ก็ยังคงทรงตัวอยู่ในระดับอันตราย

นายสุรพล เสริมว่า จากข้อมูลเครดิตบูโร มีสินเชื่อรวมที่ 13.7 ล้านล้านบาท ซึ่งมี 3 ก้อนที่น่าเป็นห่วง คือ...

- หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ 
- สินเชื่อค้างชำระ แต่ไม่เกิน 90 วัน (SM) 
- สินเชื่อที่อยู่ระหว่างการปรับโครงสร้าง (TDR) ที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง 

นายสุรพล ยังย้ำว่า หนี้เสียกลับมาทะลุ 1.05 ล้านล้านบาท ณ สิ้นปี 2566 ที่ 28% สินเชื่อรถ และสินเชื่อบ้านน่าเป็นห่วง ลูกหนี้หลายรายผ่อนรถไม่ไหว ปล่อยให้รถถูกยึด ทำให้มีรถเข้าสู่ตลาดประมูลถึง 2 แสนคัน ซึ่งถือว่าไม่น้อยเลย สินเชื่อบ้านก็เช่นกัน ที่มีพอร์ตหนี้เสียถึง 1.8 แสนล้านบาท เติบโตถึง 7% เท่ากับมีบ้านที่กำลังจะถูกยึดถึง 1.8 แสนหลังหากไม่สามารถแก้ปัญหาในการชำระหนี้ได้

ด้านธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวถึงแนวโน้มสถานการณ์หนี้ครัวเรือนว่า ในไตรมาส 3 ปี 2566 สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ทรงตัวจากไตรมาสก่อน แต่คาดว่าในไตรมาส 4 ปี 2566 นี้น่าจะอยู่ราว 91% โดยกลุ่มครัวเรือนที่ยังมีฐานะการเงินเปราะบางจากรายได้ที่ฟื้นตัวช้า ซึ่งอาจส่งผลให้ NPL ทยอยปรับเพิ่มขึ้น (ในกลุ่มเปราะบาง) แต่ยังอยู่ในระดับที่จัดการได้ ทำให้ SMEs ขนาดเล็กและครัวเรือนกลุ่มเปราะต้องจับตาดูไว้

เปิดข้อบ่งชี้สำคัญ!! เหตุใดหลังโควิด GDP ไทยเพิ่มไม่สูงเหมือนเพื่อนบ้าน ตอบ : ฝ่ายค้านในสมัยนั้นอาจจะเป็นตัวถ่วงความเจริญตัวสำคัญ

(26 มี.ค.67) ผู้ใช้เฟซบุ๊ก 'LVanicha Liz' ได้โพสต์ข้อความ ระบุว่า...

พฤติกรรมพร่ำบ่นคำว่าทศวรรษที่สูญหาย (the lost decade) กรอกหูประชาชนในทำนองที่น่าจะเป็นการดิสเครดิตการบริหารสองสมัยสองระบบของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อาจเกิดจากการไม่มีความรู้เทคนิคการประเมินผล (รวบยอดประเมิน vs แยกประเมิน) หรืออาจเกิดจากความจงใจใช้ผลกระทบเสียหายจากวิกฤติโควิด (รวมทั้งการเข้ามามีบทบาทของฝ่ายค้าน) มาบิดเบือนหลอกลวงประชาชนให้เข้าใจผิดในผลงานของ พล.อ.ประยุทธ์ เพื่อให้พรรคฝ่ายค้านชนะเลือกตั้ง ฯลฯ

สำหรับนายเศรษฐา ทวีสิน นอกจากจะวิจารณ์ ‘8-9 ปีที่ผ่านมา’ อย่างเผ็ดร้อนแล้ว ก็ยังได้แสดงอาการวิตกห่วงใยอย่างมาก ว่าอัตราการเพิ่ม GDP ของไทยไม่สูงเหมือนเพื่อนบ้าน แล้วเลยทำท่าคล้ายจะพาลพาโลว่าเศรษฐกิจวิกฤตจนต้องสร้างหนี้เพิ่มให้ประเทศถึงห้าแสนล้านบาท เอามาให้คนกินๆใช้ๆ โดยหวังว่าจะทำให้ตัวเลข GDP กระโดดขึ้นสู่เป้าหมาย 5% จนบุคลากรระดับสูงด้านเศรษฐกิจการเงินของชาติจำนวนมากต้องออกโรงคัดค้านกันจ้าละหวั่น 

ในความเป็นจริง เพียงดูตัวเลข GDP growth บนแกนเวลา ก็พบข้อบ่งชี้สำคัญสำหรับประเด็น #เหตุใดหลังวิกฤติโควิด GDP ไทยเพิ่มไม่สูงเหมือนเพื่อนบ้าน (อ้างอิงภาพ ‘ข้อบ่งชี้สำคัญ !! …’ และภาพขยาย)
https://www.macrotrends.net/global-metrics/countries/THA/thailand/gdp-per-capita 
หมายเหตุ : GDP ในโพสต์นี้ ใช้ตัวเลข per capita (ต่อจำนวนประชากร) เพื่อตัดผลกระทบจากอัตรา

การเพิ่มจำนวนประชากรที่แต่ละประเทศมีไม่เท่ากัน (อ้างอิงภาพอัตราการเติบโตของประชากร)        

ข้อบ่งชี้สำคัญที่แสดงในกราฟของ macrotrends.net แสดงว่า อัตราการเติบโตของ GDP ไทย 8-9 ปีหรือทศวรรษที่ผ่านมา แบ่งออกได้เป็นสองช่วง คือช่วงรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ (คสช.) และช่วงรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ (เลือกตั้ง) โดยมีการบริหารประเทศคนละระบบ มีปัจจัยที่เป็นผลกระทบต่างกัน และมีผลการดำเนินงานแตกต่างกันอย่างชัดเจน ตามหลักการจึงควรต้องแยกประเมิน

ช่วงรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ (คสช.) เป็นระบบที่บริหารโดยคณะรัฐประหาร ไม่มีฝ่ายค้าน การเติบโตของ GDP สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง (contrast กับผลงานรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์-พรรคเพื่อไทย ที่การเติบโตลดลงอย่างต่อเนื่องมาจนติดลบ)

ส่วนช่วงรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ (เลือกตั้ง) เป็นระบบที่บริหารโดยมีฝ่ายค้านเข้ามามีบทบาททั้งในและนอกสภาฯ (หลักๆ ประกอบด้วยพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล) การเติบโตของ GDP ก็ตกต่ำลงอย่างชัดเจน (อ้างอิงส่วนขยายของภาพ ‘ข้อบ่งชี้สำคัญ !! …’) จะเห็นได้ว่าการเปลี่ยนแปลงการเติบโตของ GDP จากสูงขึ้นกลายเป็นต่ำลงนั้น เกิดพร้อมกับการเข้ามามีบทบาทของฝ่ายค้าน และคงความตกต่ำอยู่ตลอดช่วงการคงอยู่ของฝ่ายค้าน

เมื่อพิจารณาลักษณะการเปลี่ยนปลง GDP ของไทยเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน (ยกตัวอย่าง อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม) จากกราฟเปรียบเทียบ (อ้างอิงภาพ GDP per capita ของ ID, PH, TH, VN) สังเกตได้ว่า

1. วิกฤติโควิดทำให้ GDP ของทั้งสี่ประเทศตกลงในปี 2020 เหมือนกันหมด

2. ช่วงก่อนโควิด ซึ่งเป็นช่วงการบริหารของ พล.อ.ประยุทธ์ (คสช.) นอกจากไทยจะมี GDP per capita สูงที่สุดใน 4 ประเทศแล้ว ตัวเลขของไทยยังไต่สูงขึ้นโดยมีความชันมากกว่าทั้งสามประเทศอีกด้วย แสดงถึง #ศักยภาพในการบริหารที่สูงกว่าเพื่อนบ้านอย่างชัดเจน

3. หลังจาก GDP ตกต่ำลงในปี 2020 ประเทศเพื่อนบ้านสามารถฟื้นฟูยอด GDP กลับขึ้นสู่ระดับก่อนโควิดได้ทั้ง 3 ประเทศ แต่ประเทศไทยไม่สามารถกลับสู่ระดับก่อนโควิดที่ คสช. ทำไว้ได้ ข้อแตกต่างของการดำเนินงานจากช่วงก่อนหน้าโควิด หลักๆคือการเปลี่ยนระบบการบริหารประเทศไปเป็นแบบเลือกตั้ง ทำให้ฝ่ายค้านเข้ามามีบทบาททั้งในและนอกสภาฯ

การมีฝ่ายค้าน มีจุดประสงค์เพื่อตรวจสอบถ่วงดุลฝ่ายบริหาร เห็นชอบ/ไม่เห็นชอบงบประมาณ ฯลฯ แต่หากฝ่ายค้านใช้อำนาจหน้าที่ไม่เป็นไปตามจุดประสงค์ (เช่น แทนที่จะสนับสนุนระบอบการปกครอง กลับมาตั้งหน้าตั้งตาล้มระบอบการปกครอง แทนที่จะเปิดเผยความจริงต่อประชาชน กลับบิดเบือนหลอกหลวงประชาชน ฯลฯ) หรือศักยภาพไม่เพียงพอ (ดังที่ปรากฏภายหลังเลือกตั้งครั้งล่าสุด ว่ามีพรรคฝ่ายค้านที่กำหนดนโยบายหาเสียงแล้วต้องยอมรับหรือถูกตรวจพบในทันทีหรือไม่นานหลังจากได้รับเลือกตั้ง ว่าทำไม่ได้) ฝ่ายค้านก็จะกลายเป็นตัวถ่วงความเจริญขนาดใหญ่ ทำให้ประเทศเจริญก้าวหน้าไม่ได้เท่าที่ควรแม้ฝ่ายบริหารจะมีศักยภาพก็ตาม

สรุปว่า macrotrends.net ได้ช่วยแสดงข้อบ่งชี้สำคัญสำหรับประเด็น #เหตุใดหลังวิกฤติโควิด GDP ไทยเพิ่มไม่สูงเหมือนเพื่อนบ้าน ในสมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ (เลือกตั้ง) โดยชี้ให้เห็นได้ว่า ... ฝ่ายค้านในสมัยนั้นอาจจะเป็นตัวถ่วงความเจริญตัวสำคัญ

ณ เวลานี้ ฝ่ายค้านดังกล่าว 1 พรรค (เพื่อไทย) ได้เข้ามาจัดตั้งรัฐบาลตั้งแต่ปี 2023 เราจึงจะได้เห็นต่อไป ว่าอัตราการเพิ่ม GDP ของรัฐบาลใหม่นี้ แม้เพียงทำให้ได้เท่าที่ คสช. เคยทำไว้ จะทำได้หรือไม่ และเมื่อใด

อย่าให้สรุปได้ว่าทศวรรษที่สูญหายเริ่มต้นปี 2023 ก็แล้วกัน       


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top