เปิดข้อบ่งชี้สำคัญ!! เหตุใดหลังโควิด GDP ไทยเพิ่มไม่สูงเหมือนเพื่อนบ้าน ตอบ : ฝ่ายค้านในสมัยนั้นอาจจะเป็นตัวถ่วงความเจริญตัวสำคัญ

(26 มี.ค.67) ผู้ใช้เฟซบุ๊ก 'LVanicha Liz' ได้โพสต์ข้อความ ระบุว่า...

พฤติกรรมพร่ำบ่นคำว่าทศวรรษที่สูญหาย (the lost decade) กรอกหูประชาชนในทำนองที่น่าจะเป็นการดิสเครดิตการบริหารสองสมัยสองระบบของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อาจเกิดจากการไม่มีความรู้เทคนิคการประเมินผล (รวบยอดประเมิน vs แยกประเมิน) หรืออาจเกิดจากความจงใจใช้ผลกระทบเสียหายจากวิกฤติโควิด (รวมทั้งการเข้ามามีบทบาทของฝ่ายค้าน) มาบิดเบือนหลอกลวงประชาชนให้เข้าใจผิดในผลงานของ พล.อ.ประยุทธ์ เพื่อให้พรรคฝ่ายค้านชนะเลือกตั้ง ฯลฯ

สำหรับนายเศรษฐา ทวีสิน นอกจากจะวิจารณ์ ‘8-9 ปีที่ผ่านมา’ อย่างเผ็ดร้อนแล้ว ก็ยังได้แสดงอาการวิตกห่วงใยอย่างมาก ว่าอัตราการเพิ่ม GDP ของไทยไม่สูงเหมือนเพื่อนบ้าน แล้วเลยทำท่าคล้ายจะพาลพาโลว่าเศรษฐกิจวิกฤตจนต้องสร้างหนี้เพิ่มให้ประเทศถึงห้าแสนล้านบาท เอามาให้คนกินๆใช้ๆ โดยหวังว่าจะทำให้ตัวเลข GDP กระโดดขึ้นสู่เป้าหมาย 5% จนบุคลากรระดับสูงด้านเศรษฐกิจการเงินของชาติจำนวนมากต้องออกโรงคัดค้านกันจ้าละหวั่น 

ในความเป็นจริง เพียงดูตัวเลข GDP growth บนแกนเวลา ก็พบข้อบ่งชี้สำคัญสำหรับประเด็น #เหตุใดหลังวิกฤติโควิด GDP ไทยเพิ่มไม่สูงเหมือนเพื่อนบ้าน (อ้างอิงภาพ ‘ข้อบ่งชี้สำคัญ !! …’ และภาพขยาย)
https://www.macrotrends.net/global-metrics/countries/THA/thailand/gdp-per-capita 
หมายเหตุ : GDP ในโพสต์นี้ ใช้ตัวเลข per capita (ต่อจำนวนประชากร) เพื่อตัดผลกระทบจากอัตรา

การเพิ่มจำนวนประชากรที่แต่ละประเทศมีไม่เท่ากัน (อ้างอิงภาพอัตราการเติบโตของประชากร)        

ข้อบ่งชี้สำคัญที่แสดงในกราฟของ macrotrends.net แสดงว่า อัตราการเติบโตของ GDP ไทย 8-9 ปีหรือทศวรรษที่ผ่านมา แบ่งออกได้เป็นสองช่วง คือช่วงรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ (คสช.) และช่วงรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ (เลือกตั้ง) โดยมีการบริหารประเทศคนละระบบ มีปัจจัยที่เป็นผลกระทบต่างกัน และมีผลการดำเนินงานแตกต่างกันอย่างชัดเจน ตามหลักการจึงควรต้องแยกประเมิน

ช่วงรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ (คสช.) เป็นระบบที่บริหารโดยคณะรัฐประหาร ไม่มีฝ่ายค้าน การเติบโตของ GDP สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง (contrast กับผลงานรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์-พรรคเพื่อไทย ที่การเติบโตลดลงอย่างต่อเนื่องมาจนติดลบ)

ส่วนช่วงรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ (เลือกตั้ง) เป็นระบบที่บริหารโดยมีฝ่ายค้านเข้ามามีบทบาททั้งในและนอกสภาฯ (หลักๆ ประกอบด้วยพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล) การเติบโตของ GDP ก็ตกต่ำลงอย่างชัดเจน (อ้างอิงส่วนขยายของภาพ ‘ข้อบ่งชี้สำคัญ !! …’) จะเห็นได้ว่าการเปลี่ยนแปลงการเติบโตของ GDP จากสูงขึ้นกลายเป็นต่ำลงนั้น เกิดพร้อมกับการเข้ามามีบทบาทของฝ่ายค้าน และคงความตกต่ำอยู่ตลอดช่วงการคงอยู่ของฝ่ายค้าน

เมื่อพิจารณาลักษณะการเปลี่ยนปลง GDP ของไทยเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน (ยกตัวอย่าง อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม) จากกราฟเปรียบเทียบ (อ้างอิงภาพ GDP per capita ของ ID, PH, TH, VN) สังเกตได้ว่า

1. วิกฤติโควิดทำให้ GDP ของทั้งสี่ประเทศตกลงในปี 2020 เหมือนกันหมด

2. ช่วงก่อนโควิด ซึ่งเป็นช่วงการบริหารของ พล.อ.ประยุทธ์ (คสช.) นอกจากไทยจะมี GDP per capita สูงที่สุดใน 4 ประเทศแล้ว ตัวเลขของไทยยังไต่สูงขึ้นโดยมีความชันมากกว่าทั้งสามประเทศอีกด้วย แสดงถึง #ศักยภาพในการบริหารที่สูงกว่าเพื่อนบ้านอย่างชัดเจน

3. หลังจาก GDP ตกต่ำลงในปี 2020 ประเทศเพื่อนบ้านสามารถฟื้นฟูยอด GDP กลับขึ้นสู่ระดับก่อนโควิดได้ทั้ง 3 ประเทศ แต่ประเทศไทยไม่สามารถกลับสู่ระดับก่อนโควิดที่ คสช. ทำไว้ได้ ข้อแตกต่างของการดำเนินงานจากช่วงก่อนหน้าโควิด หลักๆคือการเปลี่ยนระบบการบริหารประเทศไปเป็นแบบเลือกตั้ง ทำให้ฝ่ายค้านเข้ามามีบทบาททั้งในและนอกสภาฯ

การมีฝ่ายค้าน มีจุดประสงค์เพื่อตรวจสอบถ่วงดุลฝ่ายบริหาร เห็นชอบ/ไม่เห็นชอบงบประมาณ ฯลฯ แต่หากฝ่ายค้านใช้อำนาจหน้าที่ไม่เป็นไปตามจุดประสงค์ (เช่น แทนที่จะสนับสนุนระบอบการปกครอง กลับมาตั้งหน้าตั้งตาล้มระบอบการปกครอง แทนที่จะเปิดเผยความจริงต่อประชาชน กลับบิดเบือนหลอกหลวงประชาชน ฯลฯ) หรือศักยภาพไม่เพียงพอ (ดังที่ปรากฏภายหลังเลือกตั้งครั้งล่าสุด ว่ามีพรรคฝ่ายค้านที่กำหนดนโยบายหาเสียงแล้วต้องยอมรับหรือถูกตรวจพบในทันทีหรือไม่นานหลังจากได้รับเลือกตั้ง ว่าทำไม่ได้) ฝ่ายค้านก็จะกลายเป็นตัวถ่วงความเจริญขนาดใหญ่ ทำให้ประเทศเจริญก้าวหน้าไม่ได้เท่าที่ควรแม้ฝ่ายบริหารจะมีศักยภาพก็ตาม

สรุปว่า macrotrends.net ได้ช่วยแสดงข้อบ่งชี้สำคัญสำหรับประเด็น #เหตุใดหลังวิกฤติโควิด GDP ไทยเพิ่มไม่สูงเหมือนเพื่อนบ้าน ในสมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ (เลือกตั้ง) โดยชี้ให้เห็นได้ว่า ... ฝ่ายค้านในสมัยนั้นอาจจะเป็นตัวถ่วงความเจริญตัวสำคัญ

ณ เวลานี้ ฝ่ายค้านดังกล่าว 1 พรรค (เพื่อไทย) ได้เข้ามาจัดตั้งรัฐบาลตั้งแต่ปี 2023 เราจึงจะได้เห็นต่อไป ว่าอัตราการเพิ่ม GDP ของรัฐบาลใหม่นี้ แม้เพียงทำให้ได้เท่าที่ คสช. เคยทำไว้ จะทำได้หรือไม่ และเมื่อใด

อย่าให้สรุปได้ว่าทศวรรษที่สูญหายเริ่มต้นปี 2023 ก็แล้วกัน