ไขข้อสงสัย!! ใครทำ 'GDP ไทย' สู้เพื่อนบ้านไม่ได้ สวนกระแสข่าวจอมปลอม จ้องโจมตี 'รัฐบาลลุงตู่'

(16 เม.ย.66) ผู้ใช้งานเฟซบุ๊ก 'LVanicha Liz' ได้โพสต์เฟซบุ๊กเกี่ยวกับ GDP ของไทย โดยระบุว่า...

ดูชัดๆ #ใครทำให้GDPไทยสู้เพื่อนบ้านไม่ได้  

เมื่อปี่พาทย์บรรเลงเริ่มฤดูกาลเลือกตั้ง บางกลุ่มการเมืองก็จะต้องลงทุนลงแรงแข่งขันกันจนหน้ามืดตาลาย เพราะ “stake มัน very high” คล้ายกับว่าถ้าอดอยากปากแห้งต่ออีก ๔ ปี อาจถึงขั้นล้มละลายหายไปจากวงการแน่ๆ จึงมีการออกมาเผยแพร่ (สาด/พ่น?) ข้อมูลผิดบ้างถูกบ้างบิดเบือนหลอกลวงบ้างออกสู่สาธารณะ

ประชาชนผู้มีอำนาจแค่ ๑ วันต่อ ๔ ปี จึงต้องวิเคราะห์ก่อนรับข้อมูลข่าวสารให้ดี มิฉะนั้นหากเลือกพรรคการเมืองผิด อาจจะต้องคิดจนประเทศพัง

หนึ่งในประโยคฮิตที่มีการนำออกมากระจายสู่โซเชียลคือ “อยู่มา ๘ ปี ทำ GDP โตได้แค่ ๒% ยังจะอยู่ต่ออีกหรือ”

ซึ่งจากการวิเคราะห์ตลอดมา พบว่าน่าจะคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงไปมาก จึงสืบค้นดูว่าข้อมูลมีที่มาที่ไปอย่างไร พบในเฟซบุ๊กพรรคเพื่อไทย ส.ส. ผู้หนึ่งกล่าวไว้ดังนี้  

“GDP ตกต่ำตลอด ๘ ปี: ตั้งแต่พลเอกประยุทธ์แต่งตั้งตัวเองเข้ามาเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ตลอด ๘ ปีที่ผ่านมาผลคือ... กราฟร่วง แนวโน้มเศรษฐกิจไทยติดลบ หนึ่งจุดห้า ถึง ศูนย์ ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจไทย ตลอด ๘ ปีที่ผ่านมาเติบโตเฉลี่ยเพียงแค่ประมาณ ๒ เปอร์เซ็นต์ต่อปี ขณะที่ประเทศอื่นในภูมิภาคเดียวกัน อาทิ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย หรือเวียดนาม ซึ่งมีโครงสร้างทางเศรษฐกิจไม่แตกต่างจากไทย กลับสามารถคงระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ในระดับ ๕%-๘% ต่อปี แปลว่า วันที่เรายังไม่เผชิญหน้ากับวิกฤตโรคระบาด เศรษฐกิจไทยก็ย่ำแย่อยู่แล้ว เมื่อเจอกับวิกฤตโรคระบาดและผู้นำที่ไม่มีความรู้ในการบริหารเศรษฐกิจ กราฟก็ยิ่งดิ่งเหวเข้าไปใหญ่”

https://m.facebook.com/pheuthaiparty/photos/a.153985257967754/4657213287644906/

ผู้เขียนสืบค้นจาก Google ด้วยคำว่า Thailand GDP ก็ได้กราฟเปรียบเทียบมาให้เลย ๓ ประเทศ โดยไทยมี GDP สูงสุดในกราฟ และมีการเติบโตทิ้งห่างจากเพื่อนบ้านอีกสองประเทศเป็นช่วงกว้างขึ้นทุกที การทิ้งห่างมากขึ้นหมายถึงเศรษฐกิจโดยรวมเติบโตมากกว่า ซึ่งการทิ้งห่างจะสังเกตได้โดยเส้นกราฟของประเทศที่เศรษฐกิจเติบโตกว่า จะไต่ขึ้นชันกว่า 

เพื่อตรวจสอบข้อความในเฟซบุ๊กพรรคเพื่อไทย ที่ระบุว่า “วันที่เรายังไม่เผชิญหน้ากับวิกฤตโรคระบาด เศรษฐกิจไทยก็ย่ำแย่อยู่แล้ว” เป็นจริงหรือไม่ ผู้เขียนนำช่วงเติบโตดีที่สุดของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ (พรรคเพื่อไทย) กับช่วงเติบโตดีที่สุดของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ก่อนวิกฤตโควิดมาเปรียบเทียบกับเวียดนาม (ซึ่งฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลชอบนำมาใช้เป็นตัวอย่างความเติบโต) พบว่ากราฟ GDP ช่วงรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ไต่ขึ้นชันกว่าช่วงรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ และอัตราส่วนของการเพิ่มขนาดเศรษฐกิจช่วงรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ สูงกว่าเวียดนาม ขณะช่วงรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ต่ำกว่าเวียดนามเกือบครึ่ง

ตกลง “วันที่เรายังไม่เผชิญหน้ากับวิกฤตโรคระบาด เศรษฐกิจไทยก็ย่ำแย่อยู่แล้ว” ก็คงย่ำแย่ตอนพรรคเพื่อไทยบริหารนี่เอง เพราะอัตราการเติบโตต่ำกว่าเวียดนาม   

สรุปว่าข้อกล่าวอ้างที่ว่า GDP ตกต่ำตลอด ๘ ปีนั้น ในช่วงก่อนวิกฤตโควิด หลักฐานแสดงไปในทางตรงกันข้าม

ส่วนในช่วงหลังจากวิกฤต ตัวเลข post-crisis GDP จะไม่ใช่สิ่งสะท้อนความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจที่ถูกต้อง เพราะการฟื้นฟูความเสียหายต่างๆ ในช่วงวิกฤตเข้ามาทำให้เกิดส่วนเพิ่มของ GDP อ้างอิงบทความ “Does high GDP mean economic prosperity?” ของ Investopedia
https://www.investopedia.com/articles/economics/08/genuine-progress-indicator-gpi.asp

การที่ประเทศต่างๆ จะมีอัตราการเพิ่ม GDP ในช่วง post-crisis ที่แตกต่างกัน มันแล้วแต่กลไกการฟื้นฟูในแต่ละประเทศ ว่าจะทำอะไรช่วงไหน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การใช้งบประมาณของประเทศไทยตั้งแต่ช่วงวิกฤตโควิดซึ่งรัฐบาลเปลี่ยนมาอยู่ภายใต้ระบอบเลือกตั้ง ถูกฝ่ายค้านกดดันตัดทอนอย่างเข้มข้นจนไม่อาจเป็นไปตามที่วางแผนมากนัก ทำให้มีผลเหนี่ยวรั้ง GDP ของไทยด้วย การนำมาเป็นตัวชี้วัดความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจร่วมกับตัวเลขก่อนวิกฤต เหมารวม ๘ ปีจึงทำให้เกิดภาพที่บิดเบี้ยวไม่สะท้อนความเป็นจริง

เมื่อตรวจสอบในมิติที่ละเอียดขึ้น ให้ครอบคลุมการเปรียบเทียบกับประเทศต่างๆ ที่เฟซบุ๊กพรรคเพื่อไทยระบุไว้ พบว่าประเทศที่ GDP สูงและเติบโตดีมากที่สุดในกลุ่มคืออินโดนีเซีย ตามมาด้วยไทย ส่วนประเทศที่เหลือนั้น GDP โตอยู่ข้างใต้เส้นกราฟของไทย ลักษณะกราฟการเติบโตของประเทศที่มีแนวโน้มดี (อินโดนีเซียและเวียดนาม) คือช่วงปลายโค้งขึ้นและตลอดเส้นไม่ค่อยสะดุด (อ้างอิงภาพของ Our World in Data)
https://ourworldindata.org/grapher/gross-domestic-product?tab=chart&country=IDN~BRN~KHM~LAO~MYS~PHL~THA~VNM~SGP

ตรงนี้เองที่มีข้อสังเกตว่า เส้น GDP ของไทยเริ่มชันตีคู่ขึ้นมาขนานอินโดนีเซียในสมัย พล.อ.เปรม โดยมีแรงส่งไปยังรัฐบาลต่อๆ ไปชัดเจน จากนั้นเกิดการสะดุดครั้งใหญ่ในวิกฤตต้มยำกุ้ง ซึ่งเป็นช่วงที่นายทักษิณ (บิดาแคนดิเดตนายกฯ พรรคเพื่อไทย) เข้ามาเป็นรองนายกฯ จากนั้นเมื่อนายทักษิณเข้ามาเป็นนายกฯ เอง เส้น GDP ไทยเริ่มทิ้งตัวห่างลงมาจากอินโดนีเซีย หลังสมัยนายทักษิณ เส้น GDP สะดุดเรื่อยๆและทิ้งตัวห่างลงมาจากอินโดนีเซียมากขึ้นๆ จนเข้ามาสู่สมัย พล.อ.ประยุทธ์ (คสช.) เส้น GDP จึงเริ่มโค้งขึ้นอีกครั้ง จากนั้นทุกประเทศก็เข้าสู่วิกฤตโควิด และประสบสภาวะ GDP สะดุดเหมือนๆ กัน มากบ้างน้อยบ้างแล้วแต่เงื่อนไขและสถานการณ์ของแต่ละประเทศ

ณ จุดนี้ น่าจะเข้าใกล้คำตอบแล้วว่า #ใครทำให้GDPไทยสู้เพื่อนบ้านไม่ได้

ข้อพิสูจน์ที่น่าจะเป็นหลักฐานสำคัญที่ชี้ว่าเหตุใด GDP ไทยเริ่มจะสู้เพื่อนบ้านไม่ได้ตั้งแต่สมัยนายทักษิณก็คือ ในยุคของนายทักษิณ มีการดำเนินการที่ทำให้เสถียรภาพทางการเมืองซึ่งมีผลต่อความมั่นคงของชาติตกต่ำดิ่งเหวลงไปจน Political Stability index อยู่ใต้ระดับ ๐ (percentile rank ต่ำกว่า ๕๐%) เป็นครั้งแรก ซึ่งมีผลเสียหายลากยาวถึงปัจจุบัน อันเนื่องมาจากยังคงมีภัยความมั่นคงของชาติเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพิ่งมาแก้ไขได้บางส่วนและดีขึ้นเรื่อยๆในสมัย พล.อ.ประยุทธ์ (อ้างอิงกราฟ Political Stability ของ Trading Economics) ซึ่งสอดคล้องกับเส้น GDP ที่เริ่มโค้งขึ้นก่อนวิกฤตโควิด
.
เสถียรภาพทางการเมืองและความมั่นคงของชาติมีความสัมพันธ์อย่างแนบแน่นกับการเติบโตทางเศรษฐกิจของชาติ ตามคำอธิบายที่ว่า “หากไร้ซึ่งสภาพแวดล้อมทางการเมืองและสังคมที่มั่นคงและปลอดภัยแล้ว ก็ยากที่จะมีการเติบโตทางเศรษฐกิจใดๆ ความมั่นคงของชาติเป็นเงื่อนไขเบื้องต้นในการพัฒนาเศรษฐกิจ ...”
https://www.fso.gov.hk/eng/blog/blog20210418.htm
.
ยกตัวอย่างการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ซึ่งเป็นปัจจัยส่วนหนึ่งของการพัฒนาเศรษฐกิจ ก็อยู่บนหลักที่ว่าประเทศที่มีเสถียรภาพทางการเมืองโดยทั่วไปจะดึงดูดนักลงทุนต่างประเทศได้ดีกว่า
https://www.investmentmonitor.ai/features/fdi-drivers-and-political-stability

กราฟ FDI ของ Trading Economics แสดงชัดว่า FDI ของไทยเริ่มตกหลังจากเสถียรภาพทางการเมืองของไทยลดลงต่ำกว่า ๐ ในสมัยที่นายทักษิณบริหาร และเริ่มจะกลับมาดีขึ้นในสมัย พล.อ.ประยุทธ์

สำหรับสาเหตุที่ว่าทำไม Political Stability index ของไทยลดลงต่ำกว่า ๐ (percentile rank ต่ำกว่า ๕๐%) ในสมัยนายทักษิณนั้น กราฟ “ผลกระทบจากการลดงบประมาณทางการทหารยุคทักษิณ” ให้คำตอบที่ชัดเจน
-------------------------------------------------------------------

คำอธิบายและกราฟข้างต้น ให้ความกระจ่างว่าเหตุใดประเทศต่างๆ ในโลกเขาจึงเพิ่มงบประมาณทางการทหารกันทั้งนั้น 

เพราะทหารรับประกันความมั่นคงของชาติ ทำให้เกิดเสถียรภาพทางการเมือง อันเป็นปัจจัยหลักของการเติบโตทางเศรษฐกิจของชาติ
.
ดังนั้นผู้ที่ทำให้ GDP ไทยสู้เพื่อนบ้านไม่ได้ ก็คือพวกพยายามลดทอนหรือกัดกร่อนบ่อนทำลายกำลังทางการทหารของไทยนั่นเอง


ที่มา: https://www.facebook.com/100009326308151/posts/pfbid0FLDwKfG2j6Nsu4jz5iQL3srHpwMwyLbWLnuCYqq48m5ABx1pAVVi5tQwToZZCSN5l/?mibextid=Nif5oz