Saturday, 27 April 2024
GoodVoice

กบง.ตรึงราคาขายปลีกก๊าซปิโตรเลียมเหลว หรือแอลพีจีต่ออีก 3 เดือน ขยายเพิ่มจากมาตรการเดิมทที่จะสิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค. 63 โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. - 31 มี.ค. 64

ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) มีมติเห็นชอบมาตรการตรึงราคาขายปลีกก๊าซปิโตรเลียมเหลว หรือแอลพีจี ขายส่งหน้าโรงกลั่น ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มที่ 14.3758 บาทต่อกิโลกรัม หรือราคาขายปลีกอยู่ที่ 318 บาทต่อถัง 15 กก. ออกไปอีก 3 เดือน

จากเดิมมาตรการสิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค. 63 โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. - 31 มี.ค. 64 เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบต่อการดำรงชีพและภาระค่าครองชีพจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน เปิดเผยว่า กล่าวว่า เนื่องจากปัญหาไวรัสโควิด-19 ยังคงมีอยู่ ดังนั้นเพื่อไม่ให้ภาระเกิดขึ้นกับประชาชน ที่ประชุมเลยขยายมาตรการต่ออีก 3 เดือน โดยมาตรการดังกล่าวเดิมได้ต่ออายุตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.และจะสิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค. 63

ซึ่งการคงราคาครั้งนี้ได้มอบให้ทางคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงไปดูว่ามีเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในการดูแลอย่างไรบ้าง โดยทางคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจะประชุมอีกครั้งในวันที่ 24 ธ.ค.นี้ เพื่อพิจารณาแนวทางทั้งหมด

สมุดปกขาวหรือรายงานทางการว่าด้วย “การพัฒนาอย่างยั่งยืนของการขนส่งในจีน” (“Sustainable Development of Transport in China”) ระบุว่าจีนกำลังเดินหน้าอย่างต่อเนื่องจากการเป็นผู้ตามไปสู่ผู้นำด้านเทคโนโลยีการขนส่ง โดยจีนได้พัฒนาเทคโนโลยีสำคัญขึ้นมากมาย

ทั้งยังสร้างความก้าวหน้าที่สำคัญหลายครั้งในแวดวงโครงสร้างพื้นฐานและอุปกรณ์ด้านการขนส่ง ดังจะเห็นได้จากอภิมหาโครงการและเทคโนโลยีชั้นนำระดับโลกบางส่วนที่ระบุไว้ด้านล่างนี้

จีนเป็นผู้นำของโลกด้านเทคโนโลยีการสร้างทางรถไฟในพื้นที่สูงและพื้นที่ที่มีอุณหภูมิต่ำมาก เช่น เดียวกับการสร้างทางรถไฟความเร็วสูงและทางรถไฟบรรทุกสินค้าหนัก

จีนได้แก้ไขปัญหาทางเทคนิคที่ท้าทายที่สุดในการก่อสร้างทางหลวงในสภาพทางธรณีวิทยาที่ยากลำบาก เช่น ที่ราบสูงชั้นดินเยือกแข็งคงตัว (Plateau Permafrost) พื้นที่ดินบวมตัว (Expansive Soil) และทะเลทราย นอกจากนี้ยังเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีแกนหลักในการสร้างท่าเรือน้ำลึกนอกชายฝั่งการปรับปรุงปากแม้น้ำขนาดใหญ่และทางน้ำยาว และการสร้างสนามบินขนาดใหญ่

ภายในสิ้นปี 2019 ความยาวรวมของทางรถไฟความเร็วสูงทั่วประเทศจีนทะลุ 35,000 กิโล ซึ่งคิดเป็นมากกว่า 2 ใน 3 ของทางรถไฟความเร็วสูงทั้งหมดของโลก

จีนได้สร้างทางรถไฟความเร็วสูงปักกิ่ง-กวางโจว ซึ่งเป็นทางรถไฟความเร็วสูงที่ยาวที่สุดในโลกเสร็จสมบูรณ์แล้ว ขณะที่ทางรถไฟความเร็วสูงฮาร์บิน-ต้าเหลียน ซึ่งเป็นทางรถไฟความเร็วสูงสายแรกของโลกที่วิ่งในพื้นที่อุณหภูมิต่ำในฤดูหนาว ก็ได้เปิดให้บริการแล้ว ไม่เพียงเท่านั้น ทางรถไฟบรรทุกสินค้าหนักต้าทง-ฉินหวงเต่า ยังติดอันดับทางรถไฟชั้นนำของโลกในด้านปริมาณการขนส่งต่อปีด้วย

จีนเป็นผู้นำของโลกทั้งในด้านจำนวนและความยาวรวมของสะพานและอุโมงค์ทางหลวงทั้งที่เปิดให้บริการแล้วและที่ยังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง ผลงานของจีนครองอันดับต้นๆ ของโลกมากมาย เช่น สะพานขึงที่ยาวที่สุด 7 ใน 10 แห่ง และสะพานแขวนที่ยาวที่สุด 6 ใน 10 แห่ง สะพานข้ามทะเลที่ยาวที่สุด 6 ใน 10 และสะพานที่สุดที่สุด 8 ใน 10 แห่งทั่วโลก

รถไฟฟ้าฟู่ซิงของจีนที่วิ่งด้วยความเร็วสูงสุดของโลกที่ 350 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ให้บริการในหลายเส้นทาง อาทิ ทางรถไฟความเร็วสูงปักกิ่ง-เซี่ยงไฮ้ ทางรถไฟระหว่างเมืองปักกิ่ง-เทียนจิน และทางรถไฟความเร็วสูงปักกิ่ง-จางเจียโข่ว

จีนกลายเป็นประเทศแรกในโลกที่ติดตั้งระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติบนรถไฟที่วิ่งด้วยความเร็ว 350 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

จีนได้สร้างเทคโนโลยีการผลิตเรือเครื่องจักรวิศวกรรมทางทะเลแบบพิเศษ และชุดอุปกรณ์ครบวงจรระดับแนวหน้าของโลก สำหรับจัดการตู้คอนเทนเนอร์ขนาดใหญ่และจำเพาะด้วยระบบอัตโนมัติ


ที่มา: Xinhuathai

สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส์ ประกาศยกเลิกเส้นทางบินเพิ่มอีก 2 เส้นทาง ได้แก่ เส้นทาง สมุย-ภูเก็ต (ไป-กลับ) และเส้นทาง ภูเก็ต-หาดใหญ่ (ไป-กลับ) ตั้งแต่วันที่ 10-31 มกราคม 2564

รายงานข่าวจากสายการบินบางกอกแอร์เวยส์ แจ้งว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) และประกาศของ ศบค. ในการขอความร่วมมือประชาชนชะลอการเดินทางข้ามจังหวัด

ทาง บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส จึงมีความจำเป็นที่จะต้องประกาศยกเลิกเที่ยวบินเป็นการชั่วคราวเพิ่มเติม 2 เส้นทางบิน ได้แก่ เส้นทาง สมุย-ภูเก็ต (ไป-กลับ) และเส้นทาง ภูเก็ต-หาดใหญ่ (ไป-กลับ) ตั้งแต่วันที่ 10-31 มกราคม 2564

และจะปิดให้บริการสำนักงานออกบัตรโดยสาร สำนักงานใหญ่ (ถนนวิภาวดีรังสิต) เป็นการชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 11-31 มกราคม 2564 ทั้งนี้ ผู้โดยสารสามารถติดต่อบริษัทฯ ได้ตามช่องทางต่าง ๆ ดังนี้

คอลเซ็นเตอร์ โทร 1771 และโทร 02-270-6699 (ตั้งแต่เวลา 08.00 น. – 20.00 น.), อีเมล [email protected]

และ PG Live Chat https://bit.ly/PGLiveChatTH

สำหรับ ผู้โดยสารที่ถือบัตรโดยสารในเที่ยวบินที่ได้รับผลกระทบจากการยกเลิกเที่ยวบินดังกล่าว สามารถติดต่อสายการบินฯเพื่อเปลี่ยนแปลงการเดินทางได้โดยไม่มีค่าธรรมเนียมในการเปลี่ยนแปลงบัตรโดยสาร สำหรับผู้โดยสารที่ออกบัตรโดยสารผ่านทางตัวแทนจำหน่าย ให้ติดต่อที่ตัวแทนจำหน่าย

‘ศรีสุวรรณ’ ออกแถลงการจี้ รมว.คมนาคม ต้องรับผิดชอบค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวแพง หลังปรับอัตราค่าโดยสารสูงสุดตลอดสายอยู่ที่ 104 บาท ‘ชี้’ อาจเพราะเป็นคนบุรีรัมย์เลยไม่ทุกข์ร้อน

นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย แถลงการณ์เรื่อง รมว.คมนาคมต้องรับผิดชอบค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวแพง ว่า ตามที่มีข่าวเผยแพร่ออกมาว่ากรุงเทพมหานคร จะได้กำหนดอัตราค่าโดยสารของรถไฟฟ้าสายสีเขียวสูงสุดตลอดสายจะอยู่ที่ 158 บาท ตั้งแต่วันที่ 16 ก.พ.2564 เป็นต้นไปแต่เพื่อบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชนภายใต้สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 กทม.จึงออกประกาศเมื่อวันที่ 15 ม.ค.64 ที่ผ่านมาโดยปรับอัตราค่าโดยสารสูงสุดตลอดสายมาอยู่ที่ 104 บาทนั้น

ทางสมาคมเห็นว่าการปรับราคาดังกล่าวลงมาเหลือ 104 บาทตลอดสายยังถือว่าแพงเกินไปสำหรับประชาชนที่หาเช้ากินค่ำ โดยเฉพาะในสถานการณ์การเผชิญกับปัญหาโควิด-19 ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านี้ กทม.กับเอกชนผู้รับสัญญาสัมปทานเคยตกลงกันได้แล้วโดยความเห็นชอบของ รมว.มหาดไทย ว่าจะกำหนดอัตราค่าโดยสารสูงสุดอยู่ตลอดสายอยู่ที่ 65 บาท โดย กทม. ได้นำเสนอข้อตกลงการแก้ไขสัญญาสัมปทานต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ

ซึ่งหากมีการเห็นชอบแล้ว การแก้ไขสัญญาสัมปทานนี้จะช่วยลดอัตราค่าโดยสารสูงสุดจาก 104 บาท เป็น 65 บาท ลดลง 39 บาท และช่วยแก้ไขภาระหนี้สินกว่า 120,000 ล้านบาทของ กทม. ได้ นอกจากนี้ เอกชนยังจะสามารถแบ่งส่วนแบ่งรายได้ค่าโดยสารหลังปี 2572 ให้ กทม. อีกกว่า 200,000 ล้านบาท และมีส่วนแบ่งเพิ่มเติมในกรณีที่ผลประกอบการจริงดีกว่าที่คาดการณ์ตอนเจรจา

นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า แต่กระทรวงคมนาคม กลับมีหนังสือถึงคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 พ.ย.2563 ไม่เห็นด้วยกับการขยายสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวของเอกชนใน 4 ประเด็น อาทิ 1.ความครบถ้วนตามหลักการของพ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน 2562 2.การคิดอัตราค่าโดยสารที่เหมาะสม เป็นธรรมแก่ประชาชนผู้ใช้บริการ 3.การใช้สินทรัพย์ของรัฐที่ได้รับโอนจากเอกชนให้เกิดประโยชน์สูงสุดและ 4.ข้อพิพาททางกฎหมาย

ทั้ง ๆ ที่โครงการดังกล่าวเป็นเรื่องของ กทม. และกระทรวงมหาดไทย ซึ่งได้ตกลงเจรจากันเรียบร้อยแล้วเป็นที่พอใจทั้งสองฝ่าย แต่การที่กระทรวงคมนาคมสอดเข้ามาท้วงติงเช่นนี้ จึงเท่ากับว่าเป็นการผลักภาระค่าโดยสารที่ กทม.เพิ่งประกาศไปเมื่อวานเป็นภาระของประชาชนคนกรุงเทพฯโดยมิอาจเลี่ยงได้

“รมว.คมนาคมเป็นคนบุรีรัมย์ ไม่ได้ทุกข์ร้อนกับปัญหาค่าใช้จ่ายในการเดินทางของคนกรุงเทพฯจึงไม่รู้ร้อนรู้หนาวกับปัญหาที่เกิดขึ้น ดังนั้นการที่ กทม.ประกาศกำหนดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวใหม่ดังกล่าว 104 บาท ทั้ง ๆ ที่ควรจะเป็น 65 บาท จึงเป็นความรับผิดชอบของ รมว.กระทรวงคมนาคม และพรรคภูมิใจไทย ที่ต้องตอบคำถามกับคนกรุงเทพฯว่าท่านจะรับผิดชอบกับกรณีนี้อย่างไร เลือกตั้งครั้งหน้าคนกรุงเทพฯควรจะเลือกคนของพรรคภูมิใจไทยเข้ามาเป็นผู้แทนไหม ? และตลอดเวลาที่ร่วมรัฐบาลพลเอกประยุทธ์มา พรรคภูมิใจไทยเคยทำอะไรที่ประสบผลสำเร็จตามที่ได้เคยหาเสียงไว้แล้วหรือไม่ ขอคำตอบให้คนกรุงเทพฯและปริมณฑลด้วย” นายศรีสุวรรณ กล่าว

โอกาสทางธุรกิจ!! โควิดดันเศรษฐกิจดิจิทัลในไทยพุ่ง หลังพบตัวเลขปี 63 ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซโต 81% ขณะที่บริการเรียกรถ-สั่งอาหารผ่านแอปฯ มูลค่าแตะ 3.3 หมื่นล้าน นักวิชาการธรรมศาสตร์ ชี้ตลาดยังโตได้อีก แนะภาครัฐปรับตัวและส่งเสริมธุรกิจ แทนการออกกฎหมายฉุดรั้ง

ผศ.ดร.สุทธิกร กิ่งเเก้ว ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านธุรกิจระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะนักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจดิจิทัล เปิดเผยถึงภาพรวมการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัล ในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) และในประเทศไทย อ้างอิงจากรายงาน e-CONOMY SEA 2020 โดย Google, Temasek, Bain & Company ว่า การใช้อินเทอร์เน็ตในอาเซียนเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องพบว่ามีผู้ใช้รายใหม่เพิ่มขึ้นถึง40 ล้านราย โดยเพิ่มจาก 360 ล้านราย ในปี 2562 (2019) เป็น 400 ล้านราย ในปี 2563 (2020)

จากรายงานข้างต้นพบว่า ประชากรอาเซียนใช้อินเทอร์เน็ตเฉลี่ยมากกว่า 1 ชั่วโมงต่อวัน ขณะที่คนไทยใช้เวลามากถึง 3.7 ชั่วโมงต่อวัน ในช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และขยับเป็น4.6 ชั่วโมง ในช่วงที่รัฐบาลประกาศล็อกดาวน์ซึ่งค่าเฉลี่ยปัจจุบันอยู่ที่ 4.3 ชั่วโมงต่อวัน โดยผู้ใช้ 8 ใน 10 ราย มองว่า เทคโนโลยีมีประโยชน์อย่างมากในช่วงการระบาดของโควิด-19 เทคโนโลยีได้กลายเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในชีวิตประจำวันของผู้คน

ทั้งนี้จากแนวโน้มที่คนอาเซียน และคนไทยใช้เวลาไปกับอินเทอร์เน็ตมากขึ้นนั้น จะส่งผลทำให้อัตราการเติบโตของธุรกิจการค้าออนไลน์ (อี-คอมเมิร์ซ) พุ่งสูงขึ้นอย่างมากโดยเฉพาะในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั้งนี้ ในประเทศไทยพบว่า ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซเติบโตมากถึง 81% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้านับเป็นการก้าวกระโดดอย่างรวดเร็ว ซึ่งข้อมูลจากรายงาน e-CONOMY SEA 2020 ระบุว่า สามารถชดเชยรายได้ที่ขาดหายไปจากธุรกิจท่องเที่ยว และการขนส่งที่หดตัวลงจากการขาดนักท่องเที่ยวต่างชาติ

รายงานดังกล่าวยังระบุว่า มูลค่าสินค้า (Gross Merchandise Value : GMV) ในระบบเศรษฐกิจดิจิทัลของไทยในปี 2563 (2020) นั้นมียอดรวมประมาณ 1.8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 5.4 แสนล้านบาท หรือ เติบโตขึ้น 7% เมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ มีการคาดการณ์ว่า ในปี 2568 (2025) เศรษฐกิจดิจิทัลไทยจะมีมูลค่าสูงถึง 5.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 1.59 ล้านล้านบาท คิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ยมากถึง 25% ต่อปี

ดร.สุทธิกร กล่าวเสริมว่า ในปี 2563 (2020) ธุรกิจบริการเรียกรถผ่านแอปฯ และการสั่งอาหารออนไลน์ในประเทศไทย มีมูลค่ารวมสูงถึง 3.3 หมื่นล้านบาท และเป็นที่คาดการณ์ว่า ด้วยพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปจะส่งให้ทั้งสองธุรกิจสามารถเติบโตสูงขึ้นเฉลี่ย 45% ต่อปีต่อเนื่องจนถึงปี 2568 (2025) ทั้งนี้จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19ในปีที่ผ่านมา ส่งผลดีต่อธุรกิจบริการสั่งอาหารออนไลน์ซึ่งเติบโตถึงกว่า 42%

อย่างไรก็ดี ธุรกิจบริการเรียกรถผ่านแอปฯ กลับได้รับผลกระทบอย่างหนักโดยติดลบถึง 53% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าอันเป็นผลมาจากนโยบายล็อกดาวน์ในช่วงเริ่มต้นของการแพร่ระบาด การหลีกเลี่ยงการเดินทางออกนอกบ้าน เทรนด์การทำงานจากที่บ้าน (Work from Home) รวมถึงผลกระทบจากการท่องเที่ยวโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวต่างชาติที่หายไปหลายสิบล้านคน

หากมองย้อนกลับไปในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีดิจิทัลโดยเฉพาะแอพพลิเคชั่นในการสั่งอาหารออนไลน์ และบริการเรียกรถออนไลน์ ในกลุ่มอาเซียนและในประเทศไทย ถือว่าเติบโตขึ้นอย่างมาก ความเข้มแข็งของธุรกิจดิจิทัลเหล่านี้ได้ช่วยให้ภาคธุรกิจ และเศรษฐกิจสามารถปรับตัวได้เป็นอย่างดีในช่วงที่โควิดระบาด ขณะเดียวกันภาครัฐในฐานะผู้กำกับดูแล (Regulator) เอง ก็จำเป็นต้องปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของเทคโนโลยีด้วยเช่นกัน

สำหรับประเทศไทยซึ่งปัจจุบันภาครัฐอยู่ระหว่างการพิจารณาเพื่อผลักดันให้บริการ “เรียกรถผ่านแอปฯ” เป็นเรื่องถูกกฎหมายนั้น ดร.สุทธิกร แสดงความเห็นว่า นับเป็นเรื่องที่ดีและสมควรเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็ว แต่การที่ภาครัฐ โดยกระทรวงคมนาคม ซึ่งอยู่ระหว่างจัดทำร่างกฎกระทรวงว่า ด้วยรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารแบบบริการทางเลือก พ.ศ. … (ร่างกฎกระทรวงฯ) กำหนดเงื่อนไขบางอย่าง ที่อาจไม่สอดรับกับกระแสความเปลี่ยนแปลง และเป็นไปของเทคโนโลยีโดยเฉพาะการกำหนดโควตาของรถยนต์ส่วนบุคคลที่จะเข้าร่วมให้บริการดังกล่าวถือเป็นสิ่งที่ภาครัฐจะต้องพิจารณาปรับแก้ไข ซึ่งในฐานะนักวิชาการด้านธุรกิจดิจิทัลมีความเห็นว่าควรจะตัดส่วนนี้ออกก่อนประกาศใช้อย่างเป็นทางการ

“นับเป็นเรื่องที่ดีที่ภาครัฐจะเดินหน้าผลักดันให้มีรถยนต์โดยสารแบบบริการทางเลือก (เรียกรถผ่านแอปฯ) แบบถูกกฎหมาย แต่การผลักดัน และส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลนั้น ภาครัฐจะทำงานหรือกำหนดตัวบทกฎหมายในรูปแบบเดิมไม่ได้ควรต้องเปิดโอกาส และรับฟังความคิดเห็นของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพในการเลือกทำอาชีพใดๆ รวมถึงกลไกตลาด และที่สำคัญบริบทด้านเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปในยุคดิจิทัล ซึ่งการควบคุมแบบเดิมๆ อย่างการกำหนดโควตาอาจจะเป็นเรื่องล้าหลังที่ถ่วงการพัฒนาของภาคธุรกิจ”ดร.สุทธิกร ระบุ และย้ำว่า

การกำหนดโควตา (จำนวนรถยนต์หรือคนขับ) นั้น อาจไม่สอดคล้องกับระบบอุปสงค์และอุปทานที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เช่น ถ้ามีการให้โควตาน้อยเกินกว่าปริมาณความต้องการ เมื่อจะมาเพิ่มจำนวนในภายหลัง อาจจะต้องผ่านขั้นตอนการอนุมัติมากมายของหน่วยงานราชการ จนไม่ทันการกับสถานการณ์ความต้องการที่เกิดขึ้นอย่างไม่ได้คาดคิด

ยกตัวอย่างในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 พบว่า มีปริมาณการสั่งอาหารออนไลน์มากขึ้นอย่างทวีคูณ แพลตฟอร์มผู้ให้บริการต่างๆ มีคนขับไม่เพียงพอกับการสั่งอาหาร ซึ่งการที่ภาครัฐไม่ได้จำกัดโควตารถส่งอาหารทำให้แพลตฟอร์มผู้ให้บริการต่างๆ สามารถเปิดรับคนขับเพิ่มได้ทันที โดยในช่วงล็อกดาวน์ปีที่แล้ว ผู้ให้บริการอย่าง Grab สามารถเปิดรับคนขับเพิ่มได้กว่าครึ่งแสน ช่วยตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและยังช่วยสร้างรายได้ทดแทนให้กับผู้ที่ตกงานจากสถานการณ์โควิด

โดยในปีนี้ ผู้ประกอบการรายใหญ่อย่าง LINE MAN เองก็มีแผนจะเปิดรับคนขับส่งอาหารเพิ่มอีกใน 29 จังหวัด รวมถึงรายอื่นๆ เองก็มีแผนจะเข้ามาดำเนินธุรกิจในลักษณะนี้เช่นกัน ซึ่งประชาชนในฐานะผู้บริโภคจะได้รับประโยชน์สูงสุดจากการแข่งขันที่มีมากขึ้น

ดังนั้น แทนที่ภาครัฐจะออกกฎมาควบคุมการบริการเรียกรถผ่านแอปฯ โดยเฉพาะการกำหนดโควตา ควรหันไปลดเงื่อนไข และข้อกำหนดที่มีอยู่ในปัจจุบันซึ่งเป็นภาระกับผู้ขับขี่รถแท็กซี่จะดีกว่าหรือไม่? เพื่อให้ต้นทุนการดำเนินงานลดลง และเกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมกับทุกฝ่าย ที่สำคัญผลประโยชน์จะได้ตกอยู่กับผู้บริโภค (ผู้โดยสาร) ได้มากที่สุด

“การเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลเป็นสิ่งที่ไม่อาจจะหลีกเลี่ยงได้ และภาครัฐเองจะต้องใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีให้มากที่สุด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้กับระบบเศรษฐกิจโดยรวม รวมถึงยกระดับเศรษฐกิจไทยด้วยระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อผลักดันประเทศให้เข้าสู่สังคมไร้เงินสด (Cashless Society) ในส่วนการควบคุม และกำกับดูแลนั้นเป้าหมายหลัก คือ เพื่อสร้างการแข่งขันที่เป็นธรรมและระบบเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพมากกว่าปกป้องผู้ประกอบการกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่ไม่ต้องการปรับตัว”

 

นับถอยหลัง!! โครงการ ‘คนละครึ่ง-เราชนะ’ คาดเปิดให้ลงทะเบียนได้ หลังเข้าที่ประชุมครม.ในวันที่ 19 ม.ค.นี้ ด้าน ‘บิ๊กตู่’ กำชับ ห้ามมีช่องโหว่ พร้อมเร่งสื่อสารให้ประชาชนรับรู้และขั้นการลงทะเบียน ป้องกันเข้าใจคลาดเคลื่อนมาตรการรัฐ

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กำชับกระทรวงการคลัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เตรียมความพร้อมระบบรองรับการลงทะเบียนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และเยียวยาประชาชน ไม่ว่าจะเป็น โครงการคนละครึ่ง เพิ่ม 1 ล้านสิทธิ และโครงการเราชนะ เยียวยาประชาชน 3,500 บาท เป็นเวลา 2 เดือน โดยให้ดูความพร้อมของระบบเพื่อบริการประชาชน ลดช่องโหว่ต่างๆ ให้ได้มากที่สุด พร้อมยังให้อธิบายชี้แจงวิธีการลงทะเบียนอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ให้ประชาชนรับทราบอย่างทั่วถึง ทุกช่องทางการสื่อสาร เพื่อสร้างการรับรู้และเข้าใจ รวมถึงป้องกันความเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับมาตรการต่างๆของภาครัฐ

สำหรับทั้ง 2 โครงการ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เตรียมเสนอที่ประชุมครม. อนุมัติในวันที่ 19 ม.ค.นี้ โดยคาดว่า โครงการคนละครึ่งละครึ่ง จะเปิดให้ลงทะเบียนรับ 1 ล้านสิทธิ์ในวันที่ 20 ม.ค. ขณะที่โครงการเราชนะ ได้วางแผนจะเปิดให้ลงทะเบียนในช่วงปลายเดือน ม.ค. หรือ ต้นเดือน ก.พ.นี้ ซึ่งขณะนี้อยู่ในกระบวนการพิจารณารายละเอียดขอบเขต เงื่อนไขโครงการ

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า นายกรัฐมนตรี ยังขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก้ไขข้อมูลข่าวสารที่ไม่ถูกต้อง โดยเฉพาะจากสื่อออนไลน์ ที่มีการส่งต่อข้อมูลเท็จเกี่ยวกับมาตรการต่างๆของรัฐ ทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิด สับสน และขอให้ประชาชนติดตามความคืบหน้า รายละเอียดมาตรการต่างๆจากการประกาศของหน่วยงานราชการ เลือกบริโภคข่าวสารจากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ และไม่ส่งต่อข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง เช็คก่อนแชร์

ฝืนต่อไม่ไหว!!  ‘เซ็นทรัล’ ประกาศปิด ‘เซ็นทรัลป่าตอง’ ชั่วคราว ตั้งแต่ 1 ก.พ.นี้ จนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น หลังเจอพิษโควิด กระหน่ำการท่องเที่ยวภูเก็ตชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง

เมื่อวันที่ 22 มกราคมที่ผ่านมา บริษัท สรรพสินค้าเซ็นทรัล จำกัด ผู้บริหารห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล ได้ทยอยส่งจดหมายถึงผู้เช่าพื้นที่และผู้เกี่ยวข้อง โดยหนังสือดังกล่าวมีเนื้อหา เป็นการแจ้ง การปิดห้างเซ็นทรัลป่าตอง ชั่วคราว

พร้อมระบุสาเหตุว่าเป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจและสถานการณ์โควิด-19 กระทบต่อธุรกิจท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ตจนชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง และส่งผลกระทบโดยตรงต่อบริษัท ฝ่ายบริหารจึงมีความเห็นให้ปิดกิจการชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 จนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น

 

 

‘สุริยะ’ สั่งการ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ออกมาตรการเยียวยาลูกหนี้เงินทุนกว่า 2,300 กิจการ ลูกหนี้ชั้นดีพักชำระได้สูงสุด 12 เดือน สร้างสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการ ให้ผ่านพ้นภาวะวิกฤต

นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ตระหนักและห่วงใยผู้ประกอบการธุรกิจภาคอุตสาหกรรม จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือ โรคโควิด-19 ระลอกใหม่ จึงได้สั่งการให้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เร่งออกมาตรการเยียวยาผู้ที่ได้ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19  ซึ่งเป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทั่วประเทศ

รวมถึงผู้ประกอบการที่เป็นลูกหนี้เงินทุนหมุนเวียนเพื่อการส่งเสริมอาชีพอุตสาหกรรมในครอบครัวและหัตถกรรมไทยใน 7 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ 1.อาหาร 2.เครื่องดื่ม 3. ผ้าและเครื่องแต่งกาย 4. ของใช้และเครื่องประดับตกแต่ง 5. ศิลปะประดิษฐ์และของที่ระลึกที่สะท้อนวิถีชีวิตภูมิปัญญาและวัฒนธรรมท้องถิ่น 6. สมุนไพรที่ไม่ใช่ยาและอาหาร และ 7. อุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่สนับสนุนเกื้อกูลกลุ่มวิสาหกิจชุมชน หรือ SMEs ซึ่งมีจำนวนกว่า 2,300 กิจการ ผ่าน 3 มาตรการ ประกอบด้วย

  • พักชำระหนี้สำหรับลูกหนี้รายเดิมที่ชำระเงินปกติ โดยให้สิทธิ์พักชำระเงินต้นไม่เกิน 12 เดือนโดยชำระเฉพาะดอกเบี้ย และมีสิทธิ์ขอขยายระยะเวลาผ่อนชำระหนี้ไม่เกิน 12 เดือน
  • พักชำระหนี้สำหรับลูกหนี้รายเดิมที่มีหนี้ค้างชำระไม่เกิน 6 งวด โดยให้สิทธิ์พักชำระเงินต้นไม่เกิน 6 เดือน โดยชำระเฉพาะดอกเบี้ย และมีสิทธิ์ขอขยายระยะเวลาผ่อนชำระหนี้ไม่เกิน 6 เดือน
  • สินเชื่อสำหรับผู้ขอกู้รายใหม่ วงเงินตั้งแต่ 100,000 บาทขึ้นไป ต่อราย/กิจการ ได้รับสิทธิ์พักชำระเงินต้นไม่เกิน 6 เดือน (ชำระเฉพาะดอกเบี้ย) โดยคิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 ต่อปี

สำหรับมาตรการทางการเงิน ถือเป็นหนึ่งในวัคซีนเอสเอ็มอีที่เป็นเครื่องมือที่ กสอ. ใช้ในการช่วยเหลือผู้ประกอบการในภาวการณ์ต่าง ๆ โดยในส่วนของเงินทุนฯ ได้มีการเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการด้านการเงินในการเริ่มต้นธุรกิจใหม่ (Financial Literacy) ประกอบด้วย

1. สำหรับผู้ต้องการขอสินเชื่อ เป็นการเตรียมตัวก่อนขอสินเชื่อ รู้จักข้อมูลบัญชี ภาษี การวิเคราะห์และวางแผนทางการเงิน และธุรกิจ

2. สำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการแก้ปัญหาหนี้ค้างชำระ โดยการตรวจสภาพการเงิน วางแผนชำระหนี้ ปรับโครงสร้างหนี้ และการจัดการธุรกิจในภาวะวิกฤต ซึ่งเงินทุนนั้น นอกจากการช่วยเหลือในเรื่องดอกเบี้ยและสินเชื่อแล้ว กสอ. ยังทำหน้าที่เชื่อมโยงผู้ประกอบการที่มีต้นทุนทางแนวคิดในการประกอบธุรกิจให้สามารถเข้าถึงนักลงทุนที่มีศักยภาพ เพื่อการต่อยอดอุตสาหกรรมอย่างมั่นคง ทั้งยังส่งเสริมการสร้างเครือข่าย ทั้งในระดับท้องที่และระดับของอุตสาหกรรม เพื่อให้เกิดการช่วยเหลือ แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ สร้างนิเวศอุตสาหกรรมที่เข้มแข็งเพื่อก้าวข้ามภาวะวิกฤตได้อีกทางหนึ่ง

โดยผู้ประกอบการที่สนใจสามารถขอรับสิทธิ์ได้ที่ กลุ่มบริหารเงินทุนฯ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โทรศัพท์ 0 2202 4409-10 หรือที่ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคทั้ง 11 แห่ง ตั้งแต่วันนี้ จนถึง วันที่ 31 มีนาคม 2564 หรือ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โทรศัพท์ 0 2202 4414-18 หรือ เข้าไปที่ www.dip.go.th  

กระทรวงอุตสาหกรรม วอนโรงงานตรวจเข้มมาตรการป้องกันโควิด ด้วย “Bubble and Seal” และเข้าประเมินตนเองออนไลน์ TSC ด้านผลวิเคราะห์ชี้!! ประเมินแล้ว​ ช่วยลดการระบาดโควิด ได้ 4.5 เท่า

นางวรวรรณ ชิตอรุณ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ประชุมหารือร่วมกับ ศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงแรงงานกระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง เพื่อเร่งขับเคลื่อนมาตรการในการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในโรงงานที่ยังคงพบ ผู้ติดเชื้อโควิดต่อเนื่อง เพื่อให้การผลิตของภาคอุตสาหกรรมเดินหน้าต่อไปได้ ซึ่งจะเป็นส่วนที่สำคัญยิ่งต่อการพยุงเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศ  จากการส่งออก การบริโภค การจ้างงานและธุรกิจ ที่เกี่ยวเนื่องภายในประเทศ โดยจะดำเนินการร่วมกันดังนี้

1.) ปรับมาตรการ Bubble and Seal และ Factory Isolation ภายในสถานประกอบการ ให้เหมาะสมกับโรงงานทุกขนาด พร้อมกับการสื่อสารให้กับแรงงานและชุมชนเข้าใจถึงเหตุผลที่ไม่หยุดประกอบกิจการ

2.) สร้างความรู้ความเข้าใจและให้คำแนะนำการทำ Bubble and Seal ในรูปแบบ Coaching คือคอยให้คำแนะนำแนวทางและให้ความช่วยเหลือ ทั้งรูปแบบ Online และ Offline เพื่อให้โรงงานทุกขนาดสามารถดำเนินมาตรการได้ พร้อมกันทั่วประเทศ

3.) ปรับเกณฑ์ Good Factory Practice : GFP เพื่อปิดช่องว่างที่เป็นสาเหตุของการแพร่ระบาด โดยเสนอเพิ่มมาตรการตรวจคัดกรองเชิงรุกด้วยชุด Antigen Test Kit (ATK) และเข้มงวดการตรวจกำกับหอพัก การรถรับส่งแรงงาน รวมทั้งการเว้นระยะห่างของผู้ปฏิบัติงาน

4.) เร่งขอความร่วมมือโรงงานโดยเฉพาะขนาดกลางและขนาดเล็กเข้าประเมินตนเอง Online ในแพลตฟอร์ม Thai Stop Covid (TSC) และการสุ่มตรวจประเมินโรงงาน (Onsite) เพื่อแนะนำการใช้มาตรการต่าง ๆ ในเชิงรุก อย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้จากฐานข้อมูลที่ได้รับจากกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข พบว่าโรงงานที่เข้าประเมิน TSC แล้ว  มีแนวโน้มการติดเชื้อโควิดน้อยกว่าโรงงานที่ไม่ได้เข้าประเมินถึง 4.5 เท่า ดังนั้นจึงขอเชิญชวนโรงงานทุกขนาด ได้เข้าประเมินตนเองผ่านแพลตฟอร์ม TSC ควบคู่ไปกับการทำ Bubble and Seal เพื่อป้องกันและลดการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในโรงงาน

ด้านนายเดชา จาตุธนานันท์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรมในฐานะหัวหน้าศูนย์บริหารสถานการณ์วิกฤตกระทรวงอุตสาหกรรม หรือ ศูนย์ CMC : Crisis Management Center กล่าวเพิ่มเติมถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งจากการเก็บรวบรวมข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน - 17 สิงหาคม 2564 พบการระบาดของโรงงานทั้งสิ้น 749 แห่ง มีผู้ติดเชื้อจำนวน 53,135 คน ครอบคลุมพื้นที่ 62 จังหวัด สำหรับ 5 อันดับจังหวัดที่พบผู้ติดเชื้อสะสมมากที่สุด คือ จังหวัดเพชรบุรี 4,597 คน ฉะเชิงเทรา 3,648 คน สระบุรี 3,647 คน  สมุทรสาคร 3,571 คน และเพชรบูรณ์ 3,487 คน

ส่วนอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด 5 อันดับแรก คือ อุตสาหกรรมอาหาร 136 โรงงานอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ 103 โรงงาน อุตสาหกรรมโลหะ 65 โรงงาน อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม 64 โรงงาน และอุตสาหกรรมพลาสติก 57 โรงงาน

“แม้ว่าภาพรวมการระบาดของโควิด-19 ในโรงงาน ยังคงมีอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันพบมีผู้ติดเชื้อใหม่ในโรงงานเพิ่มวันละประมาณ 13 แห่ง มีจำนวนผู้ติดเชื้อเฉลี่ยวันละกว่า 800 คน หรือประมาณ 4% ของจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่รายวันของประเทศ โดยแนวโน้มการระบาดในช่วงนี้จะไม่พบผู้ติดเชื้อเป็นคลัสเตอร์ขนาดใหญ่ แต่จะกระจายตัวไปในหลายโรงงาน หลายจังหวัดและพบผู้ติดเชื้อเป็นหลักสิบ

ขณะที่ผู้ติดเชื้อในช่วงเมษายน - 17 สิงหาคม 2564 มีจำนวนผู้หายป่วยและกลับมาทำงานได้แล้วจำนวนมาก เช่น ใน 10 ลำดับโรงงานที่พบการระบาดของเชื้อโควิดมากที่สุด มีผู้ติดเชื้อรวมจำนวน 16,798 คน พบแรงงานหายป่วยแล้ว 12,954 คน หรือคิดเป็น 77% ซึ่งส่วนใหญ่ ผู้ติดเชื้อในโรงงานจะใช้เวลารักษาตัว 14-28 วัน ก็จะกลับมาทำงานได้ เนื่องจากอยู่ในวัยหนุ่มสาว สุขภาพร่างกายแข็งแรง และมีบางส่วนได้รับการฉีดวัคซีนด้วยแล้ว

สำหรับข้อมูลโดยละเอียดกระทรวงฯ อยู่ระหว่างการพัฒนาระบบการรายงานฯ ให้สามารถจัดเก็บข้อมูลได้ครอบคลุมทุกมิติ และพร้อมเชื่อมต่อข้อมูลกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อใช้ประโยชน์ในข้อมูลร่วมกัน”

นอกจากนี้ ปัจจุบันมีโรงงานเข้าประเมินออนไลน์ใน TSC แล้วจำนวน 20,032 แห่ง คิดเป็น 31% จากโรงงานทุกขนาด 64,038 แห่ง โดยรวมพบโรงงานผ่านเกณฑ์ จำนวน 13,235 แห่ง หรือคิดเป็น 66% และไม่ผ่านเกณฑ์ จำนวน 6,797 แห่ง หรือคิดเป็น 34% ประโยชน์ที่ผู้ประกอบการจะได้รับเมื่อเข้าประเมินตนเองในแฟลตฟอร์ม TSC คือ เราจะทราบทันทีว่า สิ่งที่โรงงานดำเนินการอยู่ ผ่านหรือไม่ผ่านเกณฑ์ กรณีไม่ผ่านเกณฑ์จะต้องดำเนินการปรับปรุงแก้ไขในส่วนใด ซึ่งการดำเนินการยกระดับให้ผ่านเกณฑ์ TSC ควบคู่ไปกับการทำ Bubble and Seal จะเป็นมาตรการที่สามารถป้องกันและลดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในโรงงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ” นายเดชาฯ กล่าว


Q : ประกันอะไร? ได้ตั้ง 4 ต่อ!!
A : ก็ประกันภัยรถยนต์จาก @THESHOPTIMES ไง!! 
>> ฟรี!!! ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล (PA) 100,000 บาท
>> รับคอมมิชชั่นหรือส่วนลดทันที ในอัตราที่สูงกว่า แถมได้สิทธิซื้อประกัน พ.ร.บ.ราคาถูกตลอดชีพ
>> สามารถผ่อนได้สูงสุด 6 งวด ดอกเบี้ย 0% โดยไม่ต้องใช้บัตรเครดิต
>> แถมขายดีมีรายได้เพิ่มให้กับตัวเองด้วย
***สนใจติดต่อ Line@ THE SHOPS TIMES คลิก????https://lin.ee/vfTXud9

คาดตลาดอสังหาฯ ปีนี้ มีเปิดใหม่เพิ่ม

นายวิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) เปิดเผยถึงสถานการณ์ธุรกิจที่อยู่อาศัย ว่า แนวโน้มตลาดที่อยู่อาศัยปี 65 ด้านอุปทานจะขยายตัวเพิ่มขึ้น จะมีการออกใบอนุญาตจัดสรรที่ดินประมาณ 8.5 หมื่นหน่วย เพิ่มขึ้นร้อยละ 28  ที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จจดทะเบียนจะมีประมาณ 1.05 แสนหน่วย เพิ่มขึ้นร้อยละ 35.3 ส่วนด้านอุปสงค์คาดว่า จะมีหน่วยโอนกรรมสิทธิ์ 3.32 แสนหน่วย เพิ่มขึ้น ร้อยละ 25.1  การโอนกรรมสิทธิ์แนวราบเพิ่มขึ้นร้อยละ 24.6 การโอนกรรมสิทธิ์อาคารชุดเพิ่มขึ้นร้อยละ 26.1

“จากการประเมินสถานการณ์ภาพรวมปี 65 จะมีการเปิดตัวโครงการใหม่ ๆ เพิ่มมากกว่าปี 64 โครงการแนวราบจะมีสัดส่วนมากกว่าอาคารชุด ขณะที่อาคารชุดจะค่อยๆฟื้นตัว จากสต็อกที่ลดลง  ผู้ประกอบการบ้านใหม่จะยังมีโปรโมชั่น ส่วนลดและของแถมเพื่อจูงใจผู้ซื้อแต่จะไม่ลดลง เท่าปี 64 โดยตลาดยังเป็นของผู้ซื้อ จะมีการขยายตัวในกลุ่มการโอนกรรมสิทธิ์บ้านมือสอง ฐานลูกค้าต่างชาติจะไม่ใช่ลูกค้าหลักของห้องชุด แต่จะเป็นคนไทยที่เป็นกลุ่ม gen y และ gen z ลงมา”


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top