‘เงินบาท’ สกุลเงินที่ยืดหยุ่นที่สุดในโลก แม้เคยเผชิญ ‘วิกฤตต้มยำกุ้ง’ เมื่อ 26 ปีก่อน

สวัสดีนักอ่านทุกท่านครับ วันนี้ผมมีเรื่องราวดี ๆ เกี่ยวกับสกุลเงิน ‘บาท’ ที่เราๆ คุ้นเคยกันอย่างดีมาฝากครับ โดยเรื่องราวเกี่ยวกับสกุลเงินบาทครั้งนี้ ผมอ้างอิงมาจาก RUCHIR SHARMA ชาวอินเดีย ผู้ซึ่งเป็นนักลงทุน นักเขียน ผู้จัดการกองทุน และคอลัมนิสต์ของ Financial Times เขาเคยเป็นหัวหน้าฝ่ายธุรกิจระหว่างประเทศของ Rockefeller Capital Management และเคยเป็นผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการลงทุนของ Breakout Capital ซึ่งเป็นบริษัทการลงทุนที่เน้นตลาดเกิดใหม่ของ Morgan Stanley Investment Management ปัจจุบันเขาเป็นประธาน Rockefeller Capital Management  บริษัทการเงินระดับโลก โดยเขาได้เขียนบทความเกี่ยวกับสกุลเงินบาทไว้ดังนี้ครับ (บทความต้นฉบับ www.ft.com/content/f280de11-48c7-4526-aa92-ad1e1b7b6ed1)

ในปี ค.ศ. 1997 ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางและจุดเริ่มต้นของวิกฤตการเงิน (วิกฤตต้มยำกุ้ง) แต่หลังจากวิกฤตผ่านพ้นไปแล้ว สกุลเงินบาทกลับกลายเป็นสกุลเงินที่มีเสถียรภาพในระยะยาว

ตั้งแต่ต้นปี ค.ศ. 1998 เงินบาทแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ ซึ่งถือว่าดีกว่าสกุลเงินเกิดใหม่อื่น ๆ ในโลก และดีกว่าสกุลเงินฟรังก์สวิสและสกุลเงินที่เทียบเท่าทั้งหมดในประเทศที่พัฒนาแล้ว

RUCHIR บอกว่า ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี ค.ศ. 1998 หรือเมื่อ ๒๕ ปีก่อนในเดือนนี้ (กุมภาพันธ์) กรุงเทพฯ กลายเป็นจุดศูนย์กลางของวิกฤตการเงินในเอเชีย การระเบิดของเงินบาทครั้งนั้นได้ก่อให้เกิดการล่มสลายของสกุลเงินและตลาดทุนอย่างต่อเนื่อง โดยมีผู้ประท้วงมากมายตามท้องถนนทั่วทั้งภูมิภาค และเกิดความวุ่นวายจนลุกลามใหญ่โต ในขณะที่ผู้นำโลกต่างก็พยายามชะลอการแพร่ระบาดของวิกฤตการเงินครั้งนี้ไม่ให้ลามไปทั่วโลก เศรษฐกิจของไทยและประเทศเพื่อนบ้านต่างก็ตกอยู่ในภาวะถดถอยและซบเซา

เมื่อครั้งนั้นเศรษฐกิจไทยหดตัวเกือบร้อยละ ๒๐ เนื่องจากหุ้นราคาร่วงมากกว่าร้อยละ ๖๐ และค่าเงินบาทอ่อนค่าลงมากกว่าครึ่งเมื่อเทียบกับดอลลาร์ ราคาหุ้นในกรุงเทพ ‘ถูก’ อย่างไม่น่าเชื่อ แต่ก็ไม่มีใครกล้าซื้อหุ้นไทย

เรื่องราววิกฤตในครั้งนั้นถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ และบทส่งท้ายกลับสร้างความประหลาดใจ เพราะตั้งแต่ต้นปี ค.ศ. 1998 เป็นต้นมา เรื่องราวเกี่ยวกับเงินบาทของประเทศไทยได้จางหายไปจากเรดาร์ทางการเงินทั่วโลก ด้วยเงินบาทได้พิสูจน์แล้วว่า มีความยืดหยุ่นอย่างไม่ธรรมดา โดยสามารถรักษามูลค่าเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ได้ดีกว่าสกุลเงินเกิดใหม่อื่น ๆ ของโลก และดีกว่าสกุลเงินอื่นในประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งหมด (ยกเว้นฟรังก์สวิส)

ในทางตรงกันข้ามที่ประเทศอินโดนีเซีย ในปี ค.ศ. 1998 เกิดเหตุการณ์ล้มอำนาจเผด็จการซูฮาร์โต เงินรูเปียห์ซื้อขายกันที่เกือบ 15,500 รูเปียห์ต่อดอลลาร์ ลดลงจาก 2,400 รูเปียห์ต่อดอลลาร์ ก่อนเกิดวิกฤต เงินบาทซื้อขายที่ 33 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งก่อนวิกฤตไม่เคยต่ำกว่า 26 บาทต่อดอลลาร์

ขณะที่ชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยแทบไม่รู้สึกว่าสินค้าราคาแพง พวกเขาสามารถหาห้องพักโรงแรมระดับ 5 ดาวได้ในราคาที่ต่ำกว่า 200 ดอลลาร์ต่อคืนได้ อาหารค่ำรสเลิศในภูเก็ตในราคาเพียง 30 ดอลลาร์เท่านั้น แม้ค่าเงินบาทจะแข็งค่า แต่ประเทศไทยก็สามารถแข่งขันได้ในระดับโลก ศูนย์กลางของวิกฤตกลายเป็นจุดยึดของความมั่นคง และเป็นบทเรียนแก่ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่อื่น ๆ

หลังปี ค.ศ. 1998 สังคมเกิดใหม่จำนวนมากหันมาใช้ระบบการเงินแบบอนุรักษ์นิยม โดยเฉพาะกลุ่มที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ธนาคารในอินโดนีเซียเปลี่ยนจากการตกเป็นเป้าของการวิพากษ์วิจารณ์มากมายมาเป็นต้นแบบของการจัดการที่ดี ฟิลิปปินส์และมาเลเซียมีการเคลื่อนไหวเพื่อควบคุมการขาดดุล แต่ไม่มีที่ใดในภูมิภาคนี้ที่เปลี่ยนแนวทางเศรษฐกิจแบบออร์โธดอกซ์* มากกว่าในประเทศไทย หลีกเลี่ยงส่วนเกินที่อาจทำให้ผู้คนทั้งในและนอกระบบเศรษฐกิจเกิดความแตกตื่น

เศรษฐกิจแบบออร์โธดอกซ์ คือ เมื่อเผชิญกับความขาดแคลนแล้วมนุษย์ตัดสินใจอย่างไร ซึ่งอาจเป็นการตัดสินใจส่วนบุคคล การตัดสินใจของครอบครัว การตัดสินใจทางธุรกิจ หรือการตัดสินใจทางสังคม และหากมองไปรอบ ๆ ตัวอย่างระมัดระวังแล้ว จะเห็นว่า ความขาดแคลนเป็นความจริงของชีวิต

เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ฟื้นตัวในปี ค.ศ. 2000 ตั้งแต่นั้นมา การขาดดุลของรัฐบาลไทยเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ ๑ ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ซึ่งน้อยกว่าครึ่งหนึ่งของค่าเฉลี่ยสำหรับประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ ธนาคารกลางก็ระมัดระวังเช่นเดียวกัน โดยคงอัตราดอกเบี้ยที่ค่อนข้างสูง และปริมาณเงินในวงกว้างเพิ่มขึ้นที่ร้อยละ ๗ ต่อปี ซึ่งต่ำที่สุดเป็นอันดับสามในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ที่สำคัญ

ผลตอบแทนสูงสุดสำหรับแนวทางเศรษฐกิจแบบออร์โธดอกซ์คือ ทำให้อัตราเงินเฟ้อต่ำ อัตราเงินเฟ้อของไทยเฉลี่ยอยู่ที่มากกว่าร้อยละ ๒ เช่นเดียวกับสหรัฐฯ ซึ่งเป็นอัตราที่หาได้ยากยิ่งสำหรับประเทศเกิดใหม่ ในบรรดาประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่อื่น ๆ มีเพียง จีน ไต้หวัน และซาอุดีอาระเบียเท่านั้นที่มีอัตราเงินเฟ้อต่ำกว่าประเทศไทยตั้งแต่ปี ค.ศ. 1998

ก่อนเกิดวิกฤต ประเทศไทยตรึงเงินบาทไว้กับดอลลาร์ ซึ่งทำให้สามารถกู้เงินในต่างประเทศเป็นจำนวนมากได้ และทำให้ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเป็นอันมาก เมื่อต่างชาติสูญเสียความเชื่อมั่นในไทย รัฐบาลไทยจึงถูกบีบให้ถอนหมุดหมายและปล่อยให้เงินบาทลอยตัวอย่างเสรี ทำให้เกิดความผิดพลาดตามมา แต่ที่สุดแล้วเงินบาทก็ฟื้นตัวต่อไป และกลายเป็นหนึ่งในสกุลเงินที่มีความผันผวนน้อยที่สุดในปัจจุบัน

รายได้ต่างประเทศที่มั่นคงช่วยให้ประเทศไทยยังคงอยู่ในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ที่เปิดกว้างที่สุด การค้าเพิ่มขึ้นจากร้อยละ ๘๐ ของ GDP ในปี ค.ศ. 1998 เป็นมากกว่าร้อยละ ๑๑๐ ในปัจจุบัน การขาดดุลภายนอกที่บอกล่วงหน้าถึงความผิดพลาดทำให้เกินดุล เนื่องจากประเทศไทยสร้างจุดแข็งในด้านการท่องเที่ยวและการผลิต ซึ่งเป็นตัวสร้างรายได้ถึงหนึ่งในสี่ของ GDP ของประเทศ

ในช่วงวิกฤต ผู้เขียนขับรถบนทางหลวงสี่เลนสายใหม่ออกจากกรุงเทพฯ เพื่อไปดูโรงงานต่าง ๆ ที่เพิ่มขึ้นบนเนินเขาสีเขียวที่มีเจดีย์รายล้อมอยู่ตามชายฝั่งทะเลตะวันออก ฐานการผลิตในสรวงสวรรค์แห่งนี้ยังคงพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เช่น จากรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเป็นชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้า และดึงดูดการลงทุนจากนักลงทุนชาวต่างชาติเป็นจำนวนมาก

ในขณะที่จุดท่องเที่ยวยอดนิยมรอบๆ ภูเก็ตและเกาะสมุยก็ขยายตัวไปพร้อม ๆ กับนวัตกรรมทางธุรกิจใหม่ ๆ อาทิ บริการทางการแพทย์และสุขภาพ นับตั้งแต่เกิดวิกฤต การท่องเที่ยวของไทยได้เติบโตเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวในฐานะส่วนแบ่งของ GDP กว่าร้อยละ ๑๒ และกลายเป็นแหล่งแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศที่ใหญ่มาก ๆ (จนดูไม่ปกติ) เมื่อเทียบกับส่วนใหญ่ของภาคการท่องเที่ยวที่แหล่งท่องเที่ยวส่วนมากเป็นเกาะเล็ก ๆ

แต่ประเทศไทยก็ยังมีข้อบกพร่อง ด้วยหนี้ครัวเรือนที่มากขึ้น และจำนวนประชากรสูงอายุที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วกว่าประเทศอื่น ๆ ส่วนใหญ่ อย่างไรก็ตาม รายได้ต่อหัวของคนไทยเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวเป็นเกือบ 8,000 ดอลลาร์ (ราว ๒๗๕,๐๐๐ บาท) เพิ่มขึ้นจาก 3,000 ดอลลาร์ (ราว ๑๐๓,๑๐๐ บาท) ก่อนเกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง

นอกจากนี้ ประเทศไทยยังคงมีเสถียรภาพทางการเงิน แม้ว่าจะมีความวุ่นวายทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง รวมถึงรัฐธรรมนูญใหม่ถึง ๔ ฉบับในช่วง ๒๕ ปีที่ผ่านมา ด้วยการเอาชนะความท้าทายที่สกุลเงินฟรังก์สวิสไม่เคยเผชิญมาก่อน เงินบาทสามารถปิดการอ้างสิทธิ์ที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ ด้วยการเป็นสกุลเงินที่มีความยืดหยุ่นมากที่สุดในโลก และเป็นกรณีศึกษาในด้านบวกของแนวคิดดั้งเดิมทางเศรษฐกิจ

หมายเหตุ (เพิ่มเติม) จากผู้เล่า/แปล ความสำเร็จของการเป็นสกุลเงินที่ยืดหยุ่นที่สุดในโลกนั้น นอกจากความมุ่งมั่นตั้งใจที่ดีต่อชาติบ้านเมืองของบรรดาทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องแล้ว นักการเมืองซึ่งจะมาจากการเลือกตั้งในเร็ว ๆ นี้ก็จะมีส่วนอย่างสำคัญ อย่างที่เราท่านทราบกันดีว่า นักการเมืองและพรรคการเมืองส่วนหนึ่งที่ประพฤติผิดโกงกินซ้ำแล้วซ้ำอีกก็ยังพยายามกลับมามีอำนาจทางการเมือง หากศึกษาโดยละเอียดถึงเรื่องราวของวิกฤตต้มยำกุ้ง ค.ศ. 1997 (พ.ศ. ๒๕๔๐) แล้ว จะทราบว่า มีผู้ได้รับประโยชน์มากมายบนความพินาศย่อยยับของประเทศชาติ ทั้งคนไทยและต่างชาติ ซ้ำคนไทยเหล่านั้นยังหน้าด้านอยู่ในสังคมอย่างไม่รู้สึกสำนึก ส่วนต่างชาติ เช่น George Soros ซึ่งเป็นผู้ที่ทำให้เศรษฐกิจไทยเกิดฟองสบู่แตก แม้ทุกวันนี้ยังคงให้การสนับสนุนการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนที่สร้างปัญหาให้กับชาติบ้านเมืองอยู่ บทเรียนเหล่านี้จำเป็นอย่างยิ่งที่พี่น้องประชาชนคนไทยต้องเรียนรู้ แล้วสรุปทบทวนเพื่อไม่ให้เรื่องเลวร้ายต่าง ๆ ได้เกิดขึ้น ซึ่งเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก และทำให้วงจรอุบาศว์กลับมา ทั้งทำให้ประเทศไทยไม่สามารถหลุดจากกับดัก/บ่วงประเทศที่มีรายได้ปานกลางจนทุกวันนี้


👍 ติดตามผลงาน อาจารย์โญธิน มานะบุญ เพิ่มเติมได้ที่ : https://thestatestimes.com/author/ดร.โญธิน%20มานะบุญ