เอกชนสำคัญ!! รู้จัก ABAC ‘สภาที่ปรึกษาธุรกิจเอเปค’ กลไกสำคัญขับเคลื่อน APEC

หลังจากการกำหนดเป้าหมาย ‘โบกอร์’ (Bogor Goals) ในปี 1994 ที่สมาชิก APEC ต้องการเดินหน้าไปสู่การเปิดเสรีการค้าและการลงทุนในระหว่างสมาชิกทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจ ต่อมาในปี 1995 กับการประชุมสุดยอดผู้นำ APEC ณ ประเทศญี่ปุ่น ผู้นำ APEC ก็ได้มีมติร่วมกันที่จะจัดตั้ง ‘สภาที่ปรึกษาธุรกิจเอเปก’ (APEC Business Advisory Council) หรือที่นิยมเรียกกันในชื่อย่อว่า ABAC (อ่านว่า เอ-แบค) เพื่อให้ภาคธุรกิจ, ภาคเอกชน ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงจากการเปิดเสรีการค้าและการลงทุน เข้ามามีส่วนร่วมในการรวบรวมข้อเสนอแนะ ศึกษา ตลอดจนสร้างกลไกในการร่วมกันกำหนดนโยบายการขับเคลื่อนความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่าง 21 เขตเศรษฐกิจ

กลไกการทำงานของ ABAC ประกอบขึ้นจากตัวแทนของแต่ละเขตเศรษฐกิจจำนวน 3 ท่าน ที่ได้รับการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการจากผู้นำของแต่ละเขตเศรษฐกิจ ซึ่งทำให้มีคณะที่ปรึกษาธุรกิจเอเปคจำนวนทั้งสิ้น 63 ท่าน

โดยในกรณีของประเทศไทย ตัวแทน 3 ท่านจะมาจาก หอการค้าไทย, สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย 

ทั้งนี้ 63 ท่านจาก 21 เขตเศรษฐกิจ จะประชุมร่วมกันอย่างน้อยปีละ 4 ครั้ง พร้อมทั้งมีการจัดงาน APEC CEO Summit จำนวน 1 ครั้ง เพื่อร่วมหารือและแลกเปลี่ยนมุมมองด้านธุรกิจและความท้าทายทางเศรษฐกิจที่สำคัญ เพื่อพัฒนาบทสรุปคำแนะนำประจำปีที่จะยื่นเสนอต่อผู้นำเขตเศรษฐกิจ APEC ในการประชุมสุดยอดผู้นำในแต่ละปี โดยในปี 2022 ‘คุณเกรียงไกร เธียรนุกุล’ รับหน้าที่ประธานสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปก เพื่อนำข้อเสนอไปหารือกับคณะผู้นำของทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจ 

จากการเตรียมงานอย่างทุ่มเทของภาคเอกชนไทยอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ก่อนปี 2022 ... ABAC ก็ได้มีการกำหนด theme ของการประชุมภาคเอกชนในปีนี้ไว้ว่า Embrace. Engage. Enable

- Embrace หมายถึงการกลับมาใกล้ชิดพร้อมหน้ากันอีกครั้งในการร่วมประชุม หลังจากที่ต้องไปประชุมทางไกลมาตลอดช่วงการระบาดของโควิด-19
- Engage หมายถึง การลงมือทำงานร่วมกันอย่างจริงจัง...
- เพื่อให้ Enable นั่นคือ สามารถผลักดันกลไก APEC ให้เดินหน้าไปได้อย่างแท้จริง

ตลอดปี 2022 ที่ผ่านมา ภาคเอกชนทำงานอย่างหนักและต่อเนื่องร่วมกันกับทุกเขตเศรษฐกิจสมาชิก โดยแบ่งมิติการทำงานร่วมกันออกเป็น 5 คณะทำงานเพื่อขับเคลื่อนกลยุทธ์ 5 ด้าน เพื่อนำไปสู่ ‘การเร่งฟื้นตัวทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค และการกระตุ้นให้เกิดการพลิกฟื้นสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ครอบคลุม และมีความยืดหยุ่นในระยะยาว’ โดยทั้ง 5 คณะทำงาน และ 5 กลยุทธ์เพื่อบรรลุเป้าหมาย ได้แก่...

1.) Regional Economic Integration: เส้นทางสู่เขตการค้าเสรีของเอเชียแปซิฟิก (FTAAP) และการเสริมสร้างความแข็งแกร่งของการค้าภาคบริการ สภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปคเห็นว่า FTAAP ควรตอบสนองต่อสภาพแวดล้อมทางธุรกิจระดับโลกที่ค่อยๆ พัฒนาและเปลี่ยนแปลงไป จึงเห็นควรในการพัฒนาแผนงานนี้ต่อไปเพื่อให้วาระนี้เกิดขึ้นจริงอย่างเป็นรูปธรรม  และในขณะเดียวกัน นวัตกรรมจะเป็นตัวขับเคลื่อนหลักของการเติบโตในภูมิภาคโดยเฉพาะในภาคบริการผ่านการผนึกกำลังระหว่างภาครัฐและเอกชนในการส่งเสริมนวัตกรรม โดยเฉพาะเกี่ยวกับบริการดิจิทัลที่สนับสนุนอีคอมเมิร์ซ, บริการทางโลจิสติกส์, บริการด้านสุขภาพ และบริการด้านสิ่งแวดล้อม

2.) Digital – การสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล เพื่อความปลอดภัยทางไซเบอร์และดิจิทัล แนวทางการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่สอดคล้องและบูรณาการ นับเป็นสิ่งสำคัญสำหรับโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น และนับเป็นความสามารถในการปกป้องความก้าวหน้าและนวัตกรรมต่างๆ คณะทำงานจึงขอเรียกร้องให้เอเปคสร้างแพลตฟอร์มในการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ระดับภูมิภาค ที่จะประสานการดำเนินการและการลงทุนด้านความปลอดภัยในโลกไซเบอร์ร่วมกัน  

3.) MSME and Inclusiveness – การเสริมสร้างแนวทางการปฏิบัติที่ยั่งยืนของ MSMEs ด้วย MSMEs มีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก จึงเห็นควรในการพัฒนามาตรการเพื่อสนับสนุนการเติบโตนี้อย่างต่อเนื่องภายใต้กรอบการทำงานและการค้าระดับโลก โดยมาตรการดังกล่าว หมายรวมถึงการเข้าถึงแหล่งเงินทุน การฝึกอบรมอย่างต่อเนื่อง การบูรณาการเข้ากับห่วงโซ่คุณค่า และการสนับสนุนในมาตรการนี้ให้เป็นสากล

4.) Sustainability - ส่งเสริมระบบอาหารที่ยั่งยืนและยืดหยุ่น ผู้ผลิตและผู้บริโภคในภูมิภาคกำลังได้รับผลกระทบครั้งประวัติศาสตร์จากราคาอาหารโลกที่พุ่งสูงขึ้น และภาวะการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานทางการเกษตร คณะทำงานจึงเร่งดำเนินการ ‘แผนงานความมั่นคงด้านอาหารของ APEC สู่ปี 2030’ และให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนา และการดำเนินการตามแผนดิจิทัลความมั่นคงด้านอาหาร ในการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพทางการผลิต การจำหน่ายและการค้า ตลอดจนการนำ Bio-Circular-Green (BCG) มาปรับใช้

5.) Finance and Economics – การดำเนินการตามมาตรการเศรษฐกิจมหภาค การคลัง และการเงิน เพื่อเร่งการฟื้นตัว และการระบุการปฏิรูปโครงสร้างหลัก เพื่อเพิ่มผลผลิตและการเติบโต คณะทำงานเห็นความสำคัญของการควบคุมภาวะเงินเฟ้อ และนโยบายทางการเงินด้านอัตราค่าจ้างแรงงาน โดยในระยะยาว คณะทำงานเชื่อว่ารัฐบาลควรปฏิบัติตามสองเป้าหมาย คือการการเพิ่มศักยภาพทางการคลัง และการใช้เครื่องมือทางการเงินเพื่อสนับสนุนการปฏิรูปโครงสร้างในการพัฒนาสู่ระบบดิจิทัลและความยั่งยืนอย่างครอบคลุม


อ้างอิง: https://www.abac2022.org/post/press-release-abac-addresses-five-urgent-proposals-for-the-apec-leader-summit-1

รองศาสตราจารย์ ดร.ปิติ ศรีแสงนาม
อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย