สิ่งที่ไทยได้ทันที กางผลลัพธ์ APEC 2022 ไม่ต้องรอถึงเดือน 11 เพราะผลสำเร็จต่อศก.ไทย เกิดขึ้นแล้วตลอดทั้งปี

สิ่งที่อาจจะเป็นเรื่องเข้าใจผิดสำหรับหลายๆ คนเกี่ยวกับ APEC นั่นคือ ผู้คนต่างเข้าใจว่า การประชุม APEC หรือ การประชุมความร่วมมือเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก ที่ประเทศไทยได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจะเกิดขึ้นในช่วงครึ่งหลังของเดือนพฤศจิกายน ปี 2022 นั้น คือผลลัพธ์ที่จะทำให้ไทยได้ประโยชน์

แต่ในความเป็นจริงแล้ว การประชุม APEC และการประชุมที่เกี่ยวข้องของทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจ ที่ครอบคลุมมูลค่าทางเศรษฐกิจในราว 2 ใน 3 ของมูลค่าเศรษฐกิจโลก แท้จริงแล้วได้เกิดขึ้นมาตลอดทั้งปี และในประเทศไทยเอง ก็ได้มีการประชุมไปแล้วมากกว่า 14 คลัสเตอร์ 

ที่ต้องใช้คำว่า ‘คลัสเตอร์’ เนื่องจากใน 1 ช่วงเวลาที่มีการจัดการประชุมอาจจะมีการประชุมเกิดขึ้นมากกว่า 1 ครั้ง ครอบคลุมเนื้อหาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในหลากหลายมิติ และการประชุมเองก็มีการจัดทั้งในรูปแบบการประชุมทางไกล ในช่วงเวลาที่มีการระบาดของไวรัสโควิด-19 และมีการประชุมแบบ On-site ที่เกิดขึ้นทั้งใน กรุงเทพมหานคร, เชียงใหม่, ภูเก็ต และขอนแก่น 

โดยการประชุมคลัสเตอร์สำคัญๆ เฉพาะที่เป็นของภาครัฐ ในระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส หรือ ในระดับตั้งแต่รองอธิบดี, อธิบดี, ปลัดกระทรวง ขึ้นไปจนถึงระดับรัฐมนตรี และช่วงเวลาที่เกิดขึ้น รวมทั้งสถานที่การจัดงานสามารถสรุปได้ดังนี้…

>> คลัสเตอร์ที่ 1 ตลอดปี 2020-2021 ในช่วงเวลาที่เชื้อโควิด-19 กำลังระบาด การประชุมทางไกล และการประชุมแบบพบหน้า (เท่าที่มีโอกาส) ของหน่วยงานสำคัญๆ อาทิ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ และภาคเอกชนในนาม สภาที่ปรึกษาทางธุรกิจ APEC หรือ APEC Business Advisory Council (ABAC) ร่วมกับ ภาคประชาชน เครือข่ายนักวิชาการ สื่อสารมวลชน และภาคส่วนต่างๆ ได้มีการจัดขึ้นตลอดทั้ง 2 ปี เพื่อเตรียมความพร้อมและกำหนด Theme ของการประชุมที่ประเทศไทยจะได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพในปี 2022

>> คลัสเตอร์ที่ 2 ตลอดเดือนกุมภาพันธ์ การประชุม First Senior Officials’ Meeting (SOM1) and Related Meeting ซึ่งเป็นการประชุมหลายครั้ง เพื่อเตรียมความพร้อม กำหนดวาระ และสารัตถะของการประชุม เมื่อประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพต่อจากประเทศนิวซีแลนด์ ก็ได้มีการประชุมในรูปแบบการประชุมทางไกล จำนวนหลายครั้ง

>> คลัสเตอร์ที่ 3 เมื่อ 16-17 มี.ค. การประชุมของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง และผู้ช่วยผู้ว่าการธนาคารกลางของเขตเศรษฐกิจ APEC หรือ Finance and Central Bank Deputies’ Meeting (FCBDM) ก็เกิดขึ้นในรูปแบบการประชุมทางไกล เพื่อลงลึกในรายละเอียดของความร่วมมือในการดำเนินนโยบายการเงินและนโยบายการคลังร่วมกันของทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจ

>> คลัสเตอร์ที่ 4 เมื่อ 9-19 พ.ค. เริ่มต้นการประชุมแบบพร้อมหน้าครั้งแรก หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้เริ่มคลี่คลาย ตลอดทั้ง 10 วันที่ได้มีการกำหนดตารางเวลาเอาไว้ ก็มีการประชุมเจ้าหน้าที่ระดับสูงของทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจ Second Senior Officials’ Meeting (SOM2) and Related Meeting เพื่อเจรจาในการเดินหน้าสารัตถะสำคัญที่จะนำเสนอและรับการพิจารณาโดยรัฐมนตรีเศรษฐกิจ การค้า และผู้นำ APEC ก็เกิดขึ้น ณ กรุงเทพมหานคร 

>> คลัสเตอร์ที่ 5 เมื่อ 21-22 พ.ค. กระทรวงพาณิชย์รับหน้าที่เป็นเจ้าภาพในการต้อนรับ และประชุมคณะทำงาน จนถึงการประชุมสำคัญที่สุดอีกประชุมหนึ่งของ APEC นั่นคือ การประชุมรัฐมนตรีที่รับผิดชอบด้านการค้า หรือ Ministers Responsible for Trade (MRT) Meeting ของทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจ

>> คลัสเตอร์ที่ 6 เมื่อ 22-23 มิ.ย. เจ้าหน้าที่อาวุโสระดับปลัดกระทรวง และอธิบดี ของทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจที่ทำงานรับผิดชอบในการกำหนดนโนยบายการคลัง ก็เดินทางมาร่วมประชุม Senior Finance Officials’ Meeting (SFOM) ณ จังหวัดขอนแก่น 

>> คลัสเตอร์ที่ 7 เมื่อ 16-31 ส.ค. ณ จังหวัดเชียงใหม่ การประชุมของเจ้าหน้าที่อาวุโส Third Senior Officials’ Meeting (SOM3) and Related Meeting จำนวนหลายสิบครั้ง  อาทิ Senior Disaster Management Officials Forum (20 ส.ค.) APEC Meeting of Ministers Responsible for Forestry (MMRF) (23-25 ส.ค.) และการประชุมอื่นๆ ที่เกียวข้องก็เกิดขึ้นตลอดระยะเวลาประมาณครึ่งเดือน โดยในการเตรียมความพร้อมนี้จะเป็นการปูทางไปสู่การประชุมระดับรัฐมนตรีเศรษฐกิจในมิติต่างๆ ที่จะตามมาอีกหลายครั้งตลอดเดือนสิงหาคม และกันยายน

>> คลัสเตอร์ที่ 8 เมื่อ 19 ส.ค. การประชุมรัฐมนตรีรับผิดชอบด้านการท่องเที่ยว Tourism Ministers Meeting (TMM) ของทั้ง 21 เขตเศรษฐฏิจ เกิดขึ้นในกรุงเทพมหานคร

>> คลัสเตอร์ที่ 9 เมื่อ 25-26 ส.ค. การประชุมเจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านสาธารณสุขในประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกับความร่วมมือทางเศรษฐกิจ High Level Meeting on Health and The Economy (HLMHE)

>> คลัสเตอร์ที่ 10 เมื่อ 26 ส.ค. การประชุมทางไกลของรัฐมนตรี 21 เขตเศรษฐกิจ APEC Food Security Ministerial Meeting (FSMM) เพื่อหารือร่วมกันในการรับมือกับสถานการณ์ความไม่มั่นคงและวิกฤตการณ์อาหารระดับโลกก็เกิดขึ้น

>> คลัสเตอร์ที่ 11 เมื่อ 5-10 ก.ย. จังหวัดภูเก็ตได้มีโอกาสต้อนรับคณะของรัฐมนตรีที่รับผิดชอบด้านการส่งเสริม สนับสนุน สร้างศักยภาพให้กับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม SME Ministerial Meeting (SMM) 

>> คลัสเตอร์ที่ 12 เมื่อ 7 ก.ย. คณะทำงานเพื่อส่งเสริมให้ผู้หญิงได้สามารถทำงานในเงื่อนไขที่เท่าเทียมในทุกระดับโดยได้รับความคุ้มครองในรูปแบบที่ควรจะเป็นก็เกิดขึ้นในการประชุม Women and the Economy Forum : High-Level Policy Dialogue on Women and the Economy (HLPDWE) ณ กรุงเทพมหานคร

นอกจากทั้ง 12 คลัสเตอร์การประชุมที่กล่าวถึงข้างต้นแล้ว ภาคเอกชน ภายใต้การสนับสนุนของสภาที่ปรึกษาธุรกิจ APEC Business Advisory Council ซึ่งเป็นที่นัดพบเพื่อสร้างข้อเสนอแนะโดยผู้บริหารระดับสูงของภาคเอกชนต่อหัวหน้ารัฐบาลและรัฐมนตรี APEC ทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจแล้ว ก็ยังมีการประชุมคู่ขนานกันไปตลอดทั้งปีเช่นกัน รวมทั้งอีก 2 คลัสเตอร์สำคัญที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ นั่นคือ การประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง Finance Ministers’ Meeting (FMM) ในระหว่างวันที่ 19-21 ตุลาคม และการประชุมที่ถือเป็นหัวใจที่จะมีการนำเอาผลจากการประชุมที่เกิดขึ้นตลอดทั้งปี มาร่วมหารือและตัดสินใจในระดับสูงสุด ภายใต้การประชุมสุดยอดผู้นำ APEC ก็จะเกิดขึ้นตลอดทั้งสัปดาห์ APEC Economic Leaders’ Week (AELW) ระหว่างวันที่ 14-19 พฤศจิกายน 2022 ก่อนที่ประเทศไทยจะส่งต่อสถานการณ์เป็นเจ้าภาพ APEC ให้กับประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ที่จะเป็นเจ้าภาพในปี 2023

ที่กล่าวมาทั้งหมด นอกจากจะทำให้พวกเราคนไทยในฐานะเจ้าภาพเข้าใจการประชุม APEC แล้ว ผู้เขียนยังต้องการสื่อสารในอีกประการหนึ่งด้วย นั่นก็คือ... 

>> ผลลัพธ์ที่ได้จากการประชุม APEC นั้นเกิดขึ้นทันทีแล้ว โดยไม่ต้องรอการประชุมสุดยอดผู้นำ นั่นคือ ตลอดทั้งปี มีคณะของ 21 เขตเศรษฐกิจ APEC ในทุกระดับตั้งแต่ เจ้าหน้าที่ จนถึงรัฐมนตรี และผู้นำของประเทศ รวมทั้งกองทัพสื่อ ได้เดินทางเข้ามาในประเทศ เข้ามาประชุม เข้ามาใช้บริการต่างๆ ทั้ง อาหาร โรงแรม การท่องเที่ยว อุตสาหกรรมของที่ระลึก ขนส่ง ภาคบริการ และภาคการผลิตของไทยก็ได้รับผลประโยชน์ไปแล้ว

ลองนึกภาพว่าแต่ละประเทศที่เข้ามาประชุมมีคณะทำงานตั้งแต่ 10 ท่าน จนถึงระดับผู้นำที่มีคณะทำงานหลักหลายร้อย ร่วมกับกองทัพนักข่าวอีกนับพัน ทั้งหมดคือกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น และช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจไทยเกิดการขยายตัว และยังถือเป็นการช่วยประชาสัมพันธ์ประเทศไทยในเวทีโลกได้เป็นอย่างดี เพราะต้องอย่าลืมว่า โรงแรมทุกแห่ง อาหารทุกมื้อ ของที่ระลึกทุกชิ้น ภาคบริการเสริมที่เกี่ยวเนื่องกับการประชุม ล้วนแล้วแต่เป็นฝีมือ และความตั้งใจอย่างดีที่สุดของชาวไทย ที่จะนำเสนอต่อสายตาชาวโลก