ประชุม APEC อิทธิพลที่ส่งผลต่อประชากรโลกร่วม 40% เรื่องอะไรที่ 21 เขตเศรษฐกิจ เขาจะคุยกัน?

การประชุม APEC ที่เกิดขึ้น และมีการประชุมในระดับรัฐมนตรีอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 1989 ได้รับการยกระดับขึ้นเป็นการประชุม APEC Summit หรือการประชุมสุดยอดผู้นำ ที่หัวหน้ารัฐบาลของแต่ละเขตเศรษฐกิจ ทั้ง 21 เขต มาประชุมกันอย่างเป็นทางการอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ตั้งแต่ปี 1993 และแน่นอนว่า เมื่อหัวหน้ารัฐบาลมาประชุมกัน นั่นหมายความว่า กระบวนการตัดสินใจร่วมกันของผู้นำ APEC ก็จะมีความคล่องตัว และมีผลผูกพันการดำเนินการของเขตเศรษฐกิจสมาชิกอย่างมีประสิทธิผลเพิ่มขึ้น 

ดังนั้นเอกสารแถลงการณ์ร่วมของผู้นำ APEC หรือ Joint Statement จึงเป็นสิ่งที่ทั่วโลกจับตา เพราะนี่คือ การตัดสินใจร่วมกันในการดำเนินการความร่วมมือทางเศรษฐกิจของ 21 เขตเศรษฐกิจที่ครอบคลุมมูลค่าทางเศรษฐกิจราว 2 ใน 3 ของมูลค่าเศรษฐกิจของทั้งโลก ที่จะส่งผลต่อประชากรราว 40% ของทั้งโลก

โดยความกว้างของมิติทางเศรษฐกิจที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณาในที่ประชุม APEC มีความครอบคลุมมากยิ่งขึ้น จากที่แต่เดิมในการประชุมระดับรัฐมนตรีจะเน้นสารัตถะที่มีความสำคัญคือ การสร้างความร่วมมือทางการค้าระหว่างประเทศ การลงทุนระหว่างประเทศ และการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกทางการค้าและการดำเนินธุรกิจ (Trade Facilitations) อาทิ การเร่งรัดและสร้างความสอดคล้องในการดำเนินพิธีการทางศุลกากร การเจรจาเพื่อลด ละ เลิก การใช้มาตรการทางการค้าที่มีลักษณะกีดกัน การสร้างความสอดคล้องพ้องกันของกฎระเบียบของแต่ละเขตเศรษฐกิจสมาชิก

จนเมื่อประเทศไทยได้รับเกียรติให้เป็นประธานการประชุมสุดยอดผู้นำ APEC ครั้งแรกในปี 2003 (ก่อนหน้านั้น ไทยเคยได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพการประชุมระดับรัฐมนตรีมาแล้วอีก 1 ครั้งในปี 1992) ในปีนั้น ประเทศไทยได้เสนอวาระสำคัญในการนำเอามิติการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development) ที่เป็นจุดเสริมเพิ่มเติมจากที่ทั่วโลกได้ร่วมกันยอมรับเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ หรือ Millennium Development Goals (MDGs) ของที่ประชุมสหประชาชาติ มาต่อยอดในที่ประชุม APEC

ก่อนที่ขอบเขตของการประชุมสุดยอด APEC จะถูกขยายเพิ่มเติมขึ้นอีกครั้งในปี 2004 เมื่อประเทศชิลีเป็นประธานการประชุม และบรรจุวาระในเรื่องการบูรณาการเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค (Regional Economic Integration: REI) ความเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐาน (Connectivity) และการสร้างความสอดคล้องพ้องกันของการเจรจาการค้าในระดับพหุภาคีเข้ามาเป็นประเด็นเพิ่มเติมในการประชุม 

ออสเตรเลีย ซึ่งเป็นอีกหนึ่งผู้เล่นสำคัญของ APEC ได้นำเอามิติการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ (Climate Change) เข้ามาเจรจาในการประชุมในปี 2007 

ในขณะที่รัสเซีย และสาธารณรัฐประชาชนจีน สร้างเวทีในการผลักดันความร่วมมือในมิติการส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิตอล และนวัตกรรม ให้กลายเป็นความร่วมมือสำคัญในเวที 21 เขตเศรษฐกิจของโลก ในปี 2012 และ 2014 ตามลำดับ

จากอดีตจนถึงปัจจุบันทำให้เราสามารถกล่าวได้ว่า ในภาพรวมแล้ว การประชุมสุดยอดผู้นำ APEC มีขอบเขตสารัตถะของการประชุมครอบคลุมเกือบจะทุกมิติในทางความร่วมมือทางเศรษฐกิจ โดยอาจจำแนกออกได้เป็น 5 กลุ่ม ได้แก่ 

1.) การอำนวยความสะดวกทางการค้า การลงทุน และการดำเนินธุรกิจ 
2.) การบูรณาการระบบเศรษฐกิจ และความเชื่อมโยงในมิติต่างๆ 
3.) การพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยที่ทุกภาคส่วนได้รับประโยชน์ร่วมกัน (Inclusive) 
4.) การสร้างความร่วมมือเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ 
และ 5.) การพัฒนาเทคโนโลยี ดิจิตอล และการสร้างนวัตกรรม

ซึ่งขอบเขตการสร้างความร่วมมือเหล่านี้ได้รับการบรรจุเข้าเป็นวิสัยทัศน์ 2040 เพื่อการเดินหน้าความร่วมมือ APEC เมื่อการประชุมสุดยอดผู้นำ APEC ในปี 2040 ที่ประเทศมาเลเซียเป็นเจ้าภาพในนาม Putrajaya Vision 2040 และลงลึกในการสร้างแผนปฏิบัติการ เพื่อให้วิสัยทัศน์และความร่วมมือในมิติเหล่านี้เกิดขึ้นอย่างแท้จริงในปี 2021 เมื่อนิวซีแลนด์เป็นเจ้าภาพ และประกาศ Aotearoa Plan of Action (อ่านว่า เอา-ที-รัว) และในปี 2022 ที่ประเทศไทย จะได้เป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอด APEC อีกครั้ง พวกเราชาวไทยก็จะได้ร่วมกับอีก 21 เขตเศรษฐกิจในการประกาศเป้าหมายกรุงเทพฯ (Bangkok’s Goals) เพื่อกำหนดเป้าหมายของการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่มีความรับผิดชอบต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนร่วมกัน


รองศาสตราจารย์ ดร.ปิติ ศรีแสงนาม
อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย