Monday, 29 April 2024
ความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิก

ก่อกำเนิด APEC ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ‘เอเชีย-แปซิฟิก’ เชื่อม 2 ภูมิภาคของโลกให้เป็นหนึ่งเดียว

จากจุดเริ่มต้นของความสำเร็จที่เกิดขึ้นและสะสมโมเมนตัมมาอย่างต่อเนื่องตลอดทศวรรษ 1980 ของการประชุมระดับรัฐมนตรีของกลุ่มประเทศอาเซียน และประเทศคู่เจรจา (Dialogue Partners) ซึ่งในขณะสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Association of Southeast Asian Nations) หรือ อาเซียน มีสมาชิก 6 ประเทศอันได้แก่ ประเทศไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และบรูไน ร่วมกับประเทศคู่เจรจาอีก 6 ประเทศ อันได้แก่ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ นิวซีแลนด์ แคนาดา และสหรัฐอเมริกา จึงได้มีการขยายผลจากความสำเร็จนี้ไปสู่การสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่เชื่อมโยง 2 ภูมิภาคสำคัญของโลกเข้าด้วยกันนั่นคือ ประเทศในทวีปเอเชีย และประเทศในภาคพื้นมหาสมุทรแปซิฟิก และเรียกกรอบความร่วมมือในเวทีนี้ว่า ‘ความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperation)’ หรือ ‘APEC’ ซึ่งเกิดขึ้นอย่างเป็นทางการในปี 1989 หรือกว่า 33 ปีมาแล้ว โดยมีการประชุมระดับรัฐมนตรี APEC ครั้งแรก ณ กรุงแคนเบอร์รา ประเทศออสเตรเลีย ในระหว่างวันที่ 6-9 พฤศจิกายน 1989 

โดยบุคคลสำคัญที่เป็นตัวตั้งตัวตีผลักดันจนทำให้เกิดเวทีการประชุมนี้คือ นายกรัฐมนตรีของประเทศออสเตรเลียในขณะนั้น คือนายบ๊อบ ฮอว์ก (Bob Hawke) ที่ต้องการนำเอาออสเตรเลีย ซึ่งในขณะนั้นเป็นประเทศที่ต้องการขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจของตนเองเข้าสู่ตลาดโลก เช่นเดียวกับที่สหรัฐอเมริกาภายใต้การนำของประธานาธิบดี จอร์จ บุช (George Bush) เองก็ให้การขานรับ เพราะต้องการสร้างพันธมิตรทางเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงกับเอเชียท่ามกลางสถานการณ์สุกงอมของการแข่งขันทางอำนาจของสงครามเย็น 

และตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา หากไม่มีสถานการณ์พิเศษ ตารางการประชุมสำคัญที่ทั่วโลกจับตาก็คือ การประชุม APEC ที่มักจะนิยมจัดกันในทุกเดือนพฤศจิกายน ของทุกปี โดยเฉพาะตั้งแต่ปี 1993 เป็นต้นมาที่เกิดการประชุมสุดยอดผู้นำ APEC ขึ้น

การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญเกิดขึ้นอีกครั้งเมื่อ ‘สหภาพโซเวียต’ ล่มสลายในวันที่ 26 ธันวาคม ปีค.ศ. 1991 แต่สัญญาณการเปลี่ยนแปลงก็เริ่มต้นมาแล้วตั้งแต่ก่อนหน้านั้น หลายๆ ประเทศ และเขตเศรษฐกิจต่างก็ต้องการเข้าสู่ระเบียบโลกใหม่ ที่สหรัฐอเมริกากำลังจะกลายเป็นมหาอำนาจขั้วเดียวที่กำหนดกฎเกณฑ์กติกาการค้า การลงทุน และระบบเศรษฐกิจโลก 

ดังนั้นการเข้าเป็นพันธมิตรสำคัญของกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่สหรัฐฯ เป็นผู้เล่นจึงกลายเป็นสิ่งปรารถนาของหลากหลายประเทศและเขตเศรษฐกิจทั่วโลก

ประชุม APEC อิทธิพลที่ส่งผลต่อประชากรโลกร่วม 40% เรื่องอะไรที่ 21 เขตเศรษฐกิจ เขาจะคุยกัน?

การประชุม APEC ที่เกิดขึ้น และมีการประชุมในระดับรัฐมนตรีอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 1989 ได้รับการยกระดับขึ้นเป็นการประชุม APEC Summit หรือการประชุมสุดยอดผู้นำ ที่หัวหน้ารัฐบาลของแต่ละเขตเศรษฐกิจ ทั้ง 21 เขต มาประชุมกันอย่างเป็นทางการอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ตั้งแต่ปี 1993 และแน่นอนว่า เมื่อหัวหน้ารัฐบาลมาประชุมกัน นั่นหมายความว่า กระบวนการตัดสินใจร่วมกันของผู้นำ APEC ก็จะมีความคล่องตัว และมีผลผูกพันการดำเนินการของเขตเศรษฐกิจสมาชิกอย่างมีประสิทธิผลเพิ่มขึ้น 

ดังนั้นเอกสารแถลงการณ์ร่วมของผู้นำ APEC หรือ Joint Statement จึงเป็นสิ่งที่ทั่วโลกจับตา เพราะนี่คือ การตัดสินใจร่วมกันในการดำเนินการความร่วมมือทางเศรษฐกิจของ 21 เขตเศรษฐกิจที่ครอบคลุมมูลค่าทางเศรษฐกิจราว 2 ใน 3 ของมูลค่าเศรษฐกิจของทั้งโลก ที่จะส่งผลต่อประชากรราว 40% ของทั้งโลก

โดยความกว้างของมิติทางเศรษฐกิจที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณาในที่ประชุม APEC มีความครอบคลุมมากยิ่งขึ้น จากที่แต่เดิมในการประชุมระดับรัฐมนตรีจะเน้นสารัตถะที่มีความสำคัญคือ การสร้างความร่วมมือทางการค้าระหว่างประเทศ การลงทุนระหว่างประเทศ และการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกทางการค้าและการดำเนินธุรกิจ (Trade Facilitations) อาทิ การเร่งรัดและสร้างความสอดคล้องในการดำเนินพิธีการทางศุลกากร การเจรจาเพื่อลด ละ เลิก การใช้มาตรการทางการค้าที่มีลักษณะกีดกัน การสร้างความสอดคล้องพ้องกันของกฎระเบียบของแต่ละเขตเศรษฐกิจสมาชิก

จนเมื่อประเทศไทยได้รับเกียรติให้เป็นประธานการประชุมสุดยอดผู้นำ APEC ครั้งแรกในปี 2003 (ก่อนหน้านั้น ไทยเคยได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพการประชุมระดับรัฐมนตรีมาแล้วอีก 1 ครั้งในปี 1992) ในปีนั้น ประเทศไทยได้เสนอวาระสำคัญในการนำเอามิติการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development) ที่เป็นจุดเสริมเพิ่มเติมจากที่ทั่วโลกได้ร่วมกันยอมรับเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ หรือ Millennium Development Goals (MDGs) ของที่ประชุมสหประชาชาติ มาต่อยอดในที่ประชุม APEC

ก่อนที่ขอบเขตของการประชุมสุดยอด APEC จะถูกขยายเพิ่มเติมขึ้นอีกครั้งในปี 2004 เมื่อประเทศชิลีเป็นประธานการประชุม และบรรจุวาระในเรื่องการบูรณาการเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค (Regional Economic Integration: REI) ความเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐาน (Connectivity) และการสร้างความสอดคล้องพ้องกันของการเจรจาการค้าในระดับพหุภาคีเข้ามาเป็นประเด็นเพิ่มเติมในการประชุม 

ออสเตรเลีย ซึ่งเป็นอีกหนึ่งผู้เล่นสำคัญของ APEC ได้นำเอามิติการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ (Climate Change) เข้ามาเจรจาในการประชุมในปี 2007 

ในขณะที่รัสเซีย และสาธารณรัฐประชาชนจีน สร้างเวทีในการผลักดันความร่วมมือในมิติการส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิตอล และนวัตกรรม ให้กลายเป็นความร่วมมือสำคัญในเวที 21 เขตเศรษฐกิจของโลก ในปี 2012 และ 2014 ตามลำดับ

จากอดีตจนถึงปัจจุบันทำให้เราสามารถกล่าวได้ว่า ในภาพรวมแล้ว การประชุมสุดยอดผู้นำ APEC มีขอบเขตสารัตถะของการประชุมครอบคลุมเกือบจะทุกมิติในทางความร่วมมือทางเศรษฐกิจ โดยอาจจำแนกออกได้เป็น 5 กลุ่ม ได้แก่ 

วาระที่โลกจับตา เดินหน้าสู่เขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก ความคืบหน้าที่ต้องจับตาใน APEC 2022

ภายหลังจากที่ APEC เริ่มยกระดับการประชุมสู่กลไกการตัดสินใจร่วมกันของที่ประชุมสุดยอดผู้นำ หรือ APEC Summit ที่เริ่มต้นเป็นครั้งแรกในปี 1993 เมื่อสหรัฐอเมริกาเป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอดผู้นำครั้งแรก ณ Blake Island ในรัฐวอชิงตัน การผลักดันความร่วมมือทางเศรษฐกิจของเขตเศรษฐกิจสมาชิกก็ดูจะมีความเข้มข้นมากยิ่งขึ้น

ตามประเพณีของ APEC เขตเศรษฐกิจที่ได้รับเกียรติให้ทำหน้าที่ประธานในแต่ละปี จะเกิดขึ้นจากฉันทามติของที่ประชุม APEC โดยจะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันระหว่างเขตเศรษฐกิจในทวีป สลับกับเขตเศรษฐกิจในภาคพื้นแปซิฟิก 

ในปี 1994 ประเทศอินโดนีเซียซึ่งอยู่ในฟากฝั่งทวีปเอเชียจึงได้รับเกียรติให้เป็นประธานการประชุมต่อจากสหรัฐอเมริกัน ซึ่งถือเป็นสมาชิกทางภาคพื้นแปซิฟิก โดยรัฐบาลอินโดนีเซียเลือกที่จะจัดการประชุมสุดยอดผู้นำ APEC ขึ้นที่เมือง Bogor ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนใต้ลงไปประมาณ 60 กิโลเมตรจากกรุงจาการ์ตา เมืองหลวงของประเทศ

ในการประชุมครั้งนั้น สาระสำคัญที่สุดที่ถือเป็นหมุดหมายสำคัญของการประชุมในกรอบความร่วมมือเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก ก็ได้ถือกำเนิดขึ้น นั่นคือ ผู้นำ APEC ได้ร่วมกันกำหนดเป้าหมายระยะยาวในการสร้าง ‘เขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก’ หรือที่ประชุมใช้คำว่า Free and Open Trade and Investment in the Asia-Pacific และได้กำหนดเป็น ‘เป้าหมาย’ หรือ ‘Bogor Goals’ ที่ตั้งเอาไว้ว่า “สำหรับเขตเศรษฐกิจที่มีรายได้ระดับสูงและมีระดับการพัฒนาเศรษฐกิจแบบพัฒนาแล้ว จะเปิดเสรีทางการค้าและการลงทุนกับสมาชิก APEC ภายในปี 2010 และให้แต้มต่อกับเขตเศรษฐกิจที่มีรายได้ปานกลางและรายได้ต่ำ และมีระดับการพัฒนาการทางเศรษฐกิจในระดับกำลังพัฒนาให้มีการเปิดเสรีทางการค้าและการลงทุนในปี 2020”

หลังจากนั้น ก็ได้มีการตั้งคณะที่ปรึกษาภาคเอกชนขึ้นมาเป็นกลไกสำคัญในการให้ข้อเสนอแนะในมิติต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเปิดเสรีและความร่วมมือในมิติอื่นๆ กับการประชุมของภาครัฐและผู้กำหนดนโยบาย โดยสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปก (APEC Business Advisory Council) หรือ ABAC ได้ถูกจัดตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการในปี 1995 และได้ทำหน้าที่ประชุมควบคู่กันไปกับการประชุมของภาครัฐ

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางความผันผวนของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะวิกฤตการณ์ Asian Financial Crisis หรือที่พวกเราชาวไทยนิยมเรียกว่า ‘วิกฤตต้มยำกุ้ง’ ต่อเนื่องกระแสที่ตกต่ำลงของการประชุมเพื่อเปิดเสรีการค้าในระดับพหุภาคีขององค์การการค้าโลก ที่ล้มเหลวในการเปิดการเจรจารอบ Millennium Round ในปี 1999 และความล่าช้าของการเจรจาในรอบ Doha Development Round ที่เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2001 นั้น ได้ทำให้การเจรจาเพื่อเปิดเสรีการค้าและการลงทุนในกรอบใหญ่ๆ ดูเหมือนจะหยุดชะงักลง และหลายๆ ประเทศทั่วโลกก็มาให้ความสำคัญกับการเจรจาเพื่อเปิดเสรีการค้าในระดับทวิภาคี และในระดับภูมิภาค นั่นจึงทำให้การเจรจาการค้าในกรอบ APEC ดูจะซบเซา

อย่างไรก็ตามในปี 2007 แนวคิดที่จะปัดฝุ่นการเปิดเสรีการค้าและการลงทุนในกรอบ APEC ก็ได้ถูกหยิบยกขึ้นมากล่าวถึงอีกครั้ง โดยการผลักดันอย่างแข็งแกร่งจากภาคเอกชน ABAC นั่นจึงเป็นการฟื้นคืนชีพขึ้นมาอีกครั้งของความร่วมมือที่ต่อจากนี้ไปจะถูกเรียกว่า เขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (Free Trade Area of the Asia-Pacific) หรือ FTAAP (อ่านว่า เอฟ-แท็บ) 

ด้านสำนักเจรจาการค้าพหุภาคี กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ได้มีการทำสรุปประเด็นการก่อกำเนิดของ FTAAP ไว้อย่างน่าสนใจในปี 2009 เอาไว้ว่า ผลการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้ที่น่าสนใจคืองานศึกษาของเกาหลีใต้ที่ได้รวบรวมมาจากงานวิจัยของนักวิชาการต่างๆ โดยรายงานการศึกษาได้ยกคำถามรวมทั้งความเห็นต่อคำถามเหล่านั้นไว้ให้สมาชิกเอเปก หารือกันต่อ คำถามหลัก ๆ อาทิ... 

1.) ทำไมต้องมี FTAAP
2.) FTAAP มีประโยชน์หรือไม่
3.) การจัดทำ FTAAP เป็นไปได้หรือไม่
4.) การจัดตั้ง FTAAP จะใช้วิธีใด
5.) เอเปกควรศึกษาประเด็นใดเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนการจัดตั้ง FTAAP เป็นต้น

>> ‘ทำไมต้องมี FTAAP?’ 
นักวิชาการต่างเห็นว่า เหตุผลสำคัญที่ FTAAP จะเป็นหนึ่งในหลายทางเลือกในเชิงนโยบายสำหรับสมาชิกเอเปกและโลก คือความล่าช้าในการดำเนินงานเพื่อก้าวไปสู่เป้าหมายโบกอร์ (Bogor Goals) ปัญหา Spaghetti bowl จากความซับซ้อนของการจัดทำ FTA / RTA ของสมาชิกเอเปก รวมทั้งความล้มเหลวในการเปิดเสรีรายสาขาโดยสมัครใจของเอเปกในช่วงที่ผ่านมา

>> ‘FTAAP มีประโยชน์หรือไม่?’ 
ผลจากงานวิจัยได้แสดงผลกระทบด้านความกินดีอยู่ดีในเชิงปริมาณว่า การจัดทำ FTAAP จะเป็นประโยชน์ต่อสมาชิกเอเปกและเศรษฐกิจโลกโดยรวม หากเอเปกไม่เลือกปฏิบัติต่อประเทศที่ไม่ใช่สมาชิก (Unilateral Open Regionalism Approach) โดยจะสร้างความแข็งแกร่งแก่การเปิดเสรีการค้าในระดับพหุภาคี อย่างไรก็ตาม ประโยชน์ที่แต่ละสมาชิกจะได้รับนั้นจะแตกต่างกันตามระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจ

>> ‘การจัดทำ FTAAP เป็นไปได้หรือไม่?’ 
ในรายงานได้กล่าวอย่างระมัดระวัง โดยยอมรับถึงความเป็นไปได้ในการพิจารณา FTAAP ว่าเป็นหนึ่งนโยบายทางเลือกในการดำเนินงานเพื่อเปิดเสรีและอำนวยความสะดวกด้านการค้าการลงทุนของเอเปก โดยคงไว้ซึ่งนโยบายการเปิดกว้างในภูมิภาค (Open Regionalism) อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันเอเปกยังขาดแรงผลักดันทางการเมือง (Political Will) ที่จะส่งเสริมการจัดทำ FTAAP ภายในเอเปก รวมทั้งมีข้อจำกัด/อุปสรรคเฉพาะในบางเรื่องในการจัดตั้ง Regional Trade bloc ของตน เช่น การดำเนินงานของเอเปกอยู่บนหลักของความสมัครใจ (voluntary) เป็นต้น

ในห้วงเวลานั้น สมาชิกเอเปกกำลังทำการบ้านกันอย่างขะมักเขม้นเพื่อศึกษาประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับ FTAAP เช่น ศึกษาผลกระทบจากการจัดทำ FTAAP ทางเศรษฐกิจต่อสมาชิกเอเปกและโลก ศึกษาวิเคราะห์กลไกในการจัดทำ FTAAP ศึกษาความเหมือน/แตกต่างของข้อบทต่าง ๆ ในความตกลงการค้าเสรีของสมาชิกเอเปก (เช่น Market Access, Rules of Origin, Customs Procedures, Technical Barriers to Trade) และศึกษาเรื่องถิ่นกำเนิดสินค้า (Rules of Origin) เป็นต้น

บุคคลสำคัญระดับโลกอยู่ที่นี่แล้ว ‘APEC 2022’

✨บุคคลสำคัญระดับโลกอยู่ที่นี่แล้ว ‘APEC 2022’

อยู่กับ ‘บิ๊กตู่’ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา 

- #จีน ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง (Xi Jinping)
- #ญี่ปุ่น นายกรัฐมนตรี คิชิดะ ฟูมิโอะ
- #สิงคโปร์ นายกรัฐมนตรี ลี เซียน ลุง
- #นิวซีแลนด์ นายกรัฐมนตรี จาซินดา อาร์เดิร์น
- #สหรัฐอเมริกา รองประธานาธิบดี กมลา แฮร์ริส
- #ออสเตรเลีย นายกรัฐมนตรี แอนโธนี อัลบานีส

- #บรูไน สมเด็จพระราชาธิบดี พระองค์ที่ 29 และนายกรัฐมนตรีสมเด็จพระราชาธิบดีฮาจี ฮัซซานัล บลเกียะฮ์ มูอิซซัดดิน วัดเดาละฮ์ อิบนี อัล-มาร์ฮุม ซุลตัน ฮาจี โอมาร์ อาลี ไซฟุดดีน ซาอาดุล ไครี วัดดิน
- #แคนาดา นายกรัฐมนตรี จัสติน ทรูโด
- #ชิลี ประธานาธิบดี กาบริเอล โบริก ฟอนต์ (Gabriel Boric Font)
- #จีนฮ่องกง ผู้บริหารสูงสุดเขตบริหารพิเศษฮ่องกง จอห์น ลี คา-ชิว (John Lee Ka-Chiu)
- #อินโดนีเซีย ประธานาธิบดี โจโก วีโดโด
- #เกาหลีใต้ นายกรัฐมนตรี ฮัน ด็อก-ซู
- #มาเลเซีย เลขาธิการรัฐบาลมาเลเซีย ตัน ซรี ดาโตะ เซอรี โมฮามัด ซูกี บิน อาลี (Tan Sri Dato’ Seri Mohd Zuki Ali)
- #เม็กซิโก เอกอัครราชทูตเม็กซิโกประจำประเทศไทย เบร์นาโด กอร์โดบา เตโย (Bernardo Córdova Tello)


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top