วาระที่โลกจับตา เดินหน้าสู่เขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก ความคืบหน้าที่ต้องจับตาใน APEC 2022

ภายหลังจากที่ APEC เริ่มยกระดับการประชุมสู่กลไกการตัดสินใจร่วมกันของที่ประชุมสุดยอดผู้นำ หรือ APEC Summit ที่เริ่มต้นเป็นครั้งแรกในปี 1993 เมื่อสหรัฐอเมริกาเป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอดผู้นำครั้งแรก ณ Blake Island ในรัฐวอชิงตัน การผลักดันความร่วมมือทางเศรษฐกิจของเขตเศรษฐกิจสมาชิกก็ดูจะมีความเข้มข้นมากยิ่งขึ้น

ตามประเพณีของ APEC เขตเศรษฐกิจที่ได้รับเกียรติให้ทำหน้าที่ประธานในแต่ละปี จะเกิดขึ้นจากฉันทามติของที่ประชุม APEC โดยจะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันระหว่างเขตเศรษฐกิจในทวีป สลับกับเขตเศรษฐกิจในภาคพื้นแปซิฟิก 

ในปี 1994 ประเทศอินโดนีเซียซึ่งอยู่ในฟากฝั่งทวีปเอเชียจึงได้รับเกียรติให้เป็นประธานการประชุมต่อจากสหรัฐอเมริกัน ซึ่งถือเป็นสมาชิกทางภาคพื้นแปซิฟิก โดยรัฐบาลอินโดนีเซียเลือกที่จะจัดการประชุมสุดยอดผู้นำ APEC ขึ้นที่เมือง Bogor ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนใต้ลงไปประมาณ 60 กิโลเมตรจากกรุงจาการ์ตา เมืองหลวงของประเทศ

ในการประชุมครั้งนั้น สาระสำคัญที่สุดที่ถือเป็นหมุดหมายสำคัญของการประชุมในกรอบความร่วมมือเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก ก็ได้ถือกำเนิดขึ้น นั่นคือ ผู้นำ APEC ได้ร่วมกันกำหนดเป้าหมายระยะยาวในการสร้าง ‘เขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก’ หรือที่ประชุมใช้คำว่า Free and Open Trade and Investment in the Asia-Pacific และได้กำหนดเป็น ‘เป้าหมาย’ หรือ ‘Bogor Goals’ ที่ตั้งเอาไว้ว่า “สำหรับเขตเศรษฐกิจที่มีรายได้ระดับสูงและมีระดับการพัฒนาเศรษฐกิจแบบพัฒนาแล้ว จะเปิดเสรีทางการค้าและการลงทุนกับสมาชิก APEC ภายในปี 2010 และให้แต้มต่อกับเขตเศรษฐกิจที่มีรายได้ปานกลางและรายได้ต่ำ และมีระดับการพัฒนาการทางเศรษฐกิจในระดับกำลังพัฒนาให้มีการเปิดเสรีทางการค้าและการลงทุนในปี 2020”

หลังจากนั้น ก็ได้มีการตั้งคณะที่ปรึกษาภาคเอกชนขึ้นมาเป็นกลไกสำคัญในการให้ข้อเสนอแนะในมิติต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเปิดเสรีและความร่วมมือในมิติอื่นๆ กับการประชุมของภาครัฐและผู้กำหนดนโยบาย โดยสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปก (APEC Business Advisory Council) หรือ ABAC ได้ถูกจัดตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการในปี 1995 และได้ทำหน้าที่ประชุมควบคู่กันไปกับการประชุมของภาครัฐ

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางความผันผวนของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะวิกฤตการณ์ Asian Financial Crisis หรือที่พวกเราชาวไทยนิยมเรียกว่า ‘วิกฤตต้มยำกุ้ง’ ต่อเนื่องกระแสที่ตกต่ำลงของการประชุมเพื่อเปิดเสรีการค้าในระดับพหุภาคีขององค์การการค้าโลก ที่ล้มเหลวในการเปิดการเจรจารอบ Millennium Round ในปี 1999 และความล่าช้าของการเจรจาในรอบ Doha Development Round ที่เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2001 นั้น ได้ทำให้การเจรจาเพื่อเปิดเสรีการค้าและการลงทุนในกรอบใหญ่ๆ ดูเหมือนจะหยุดชะงักลง และหลายๆ ประเทศทั่วโลกก็มาให้ความสำคัญกับการเจรจาเพื่อเปิดเสรีการค้าในระดับทวิภาคี และในระดับภูมิภาค นั่นจึงทำให้การเจรจาการค้าในกรอบ APEC ดูจะซบเซา

อย่างไรก็ตามในปี 2007 แนวคิดที่จะปัดฝุ่นการเปิดเสรีการค้าและการลงทุนในกรอบ APEC ก็ได้ถูกหยิบยกขึ้นมากล่าวถึงอีกครั้ง โดยการผลักดันอย่างแข็งแกร่งจากภาคเอกชน ABAC นั่นจึงเป็นการฟื้นคืนชีพขึ้นมาอีกครั้งของความร่วมมือที่ต่อจากนี้ไปจะถูกเรียกว่า เขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (Free Trade Area of the Asia-Pacific) หรือ FTAAP (อ่านว่า เอฟ-แท็บ) 

ด้านสำนักเจรจาการค้าพหุภาคี กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ได้มีการทำสรุปประเด็นการก่อกำเนิดของ FTAAP ไว้อย่างน่าสนใจในปี 2009 เอาไว้ว่า ผลการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้ที่น่าสนใจคืองานศึกษาของเกาหลีใต้ที่ได้รวบรวมมาจากงานวิจัยของนักวิชาการต่างๆ โดยรายงานการศึกษาได้ยกคำถามรวมทั้งความเห็นต่อคำถามเหล่านั้นไว้ให้สมาชิกเอเปก หารือกันต่อ คำถามหลัก ๆ อาทิ... 

1.) ทำไมต้องมี FTAAP
2.) FTAAP มีประโยชน์หรือไม่
3.) การจัดทำ FTAAP เป็นไปได้หรือไม่
4.) การจัดตั้ง FTAAP จะใช้วิธีใด
5.) เอเปกควรศึกษาประเด็นใดเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนการจัดตั้ง FTAAP เป็นต้น

>> ‘ทำไมต้องมี FTAAP?’ 
นักวิชาการต่างเห็นว่า เหตุผลสำคัญที่ FTAAP จะเป็นหนึ่งในหลายทางเลือกในเชิงนโยบายสำหรับสมาชิกเอเปกและโลก คือความล่าช้าในการดำเนินงานเพื่อก้าวไปสู่เป้าหมายโบกอร์ (Bogor Goals) ปัญหา Spaghetti bowl จากความซับซ้อนของการจัดทำ FTA / RTA ของสมาชิกเอเปก รวมทั้งความล้มเหลวในการเปิดเสรีรายสาขาโดยสมัครใจของเอเปกในช่วงที่ผ่านมา

>> ‘FTAAP มีประโยชน์หรือไม่?’ 
ผลจากงานวิจัยได้แสดงผลกระทบด้านความกินดีอยู่ดีในเชิงปริมาณว่า การจัดทำ FTAAP จะเป็นประโยชน์ต่อสมาชิกเอเปกและเศรษฐกิจโลกโดยรวม หากเอเปกไม่เลือกปฏิบัติต่อประเทศที่ไม่ใช่สมาชิก (Unilateral Open Regionalism Approach) โดยจะสร้างความแข็งแกร่งแก่การเปิดเสรีการค้าในระดับพหุภาคี อย่างไรก็ตาม ประโยชน์ที่แต่ละสมาชิกจะได้รับนั้นจะแตกต่างกันตามระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจ

>> ‘การจัดทำ FTAAP เป็นไปได้หรือไม่?’ 
ในรายงานได้กล่าวอย่างระมัดระวัง โดยยอมรับถึงความเป็นไปได้ในการพิจารณา FTAAP ว่าเป็นหนึ่งนโยบายทางเลือกในการดำเนินงานเพื่อเปิดเสรีและอำนวยความสะดวกด้านการค้าการลงทุนของเอเปก โดยคงไว้ซึ่งนโยบายการเปิดกว้างในภูมิภาค (Open Regionalism) อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันเอเปกยังขาดแรงผลักดันทางการเมือง (Political Will) ที่จะส่งเสริมการจัดทำ FTAAP ภายในเอเปก รวมทั้งมีข้อจำกัด/อุปสรรคเฉพาะในบางเรื่องในการจัดตั้ง Regional Trade bloc ของตน เช่น การดำเนินงานของเอเปกอยู่บนหลักของความสมัครใจ (voluntary) เป็นต้น

ในห้วงเวลานั้น สมาชิกเอเปกกำลังทำการบ้านกันอย่างขะมักเขม้นเพื่อศึกษาประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับ FTAAP เช่น ศึกษาผลกระทบจากการจัดทำ FTAAP ทางเศรษฐกิจต่อสมาชิกเอเปกและโลก ศึกษาวิเคราะห์กลไกในการจัดทำ FTAAP ศึกษาความเหมือน/แตกต่างของข้อบทต่าง ๆ ในความตกลงการค้าเสรีของสมาชิกเอเปก (เช่น Market Access, Rules of Origin, Customs Procedures, Technical Barriers to Trade) และศึกษาเรื่องถิ่นกำเนิดสินค้า (Rules of Origin) เป็นต้น

ด้วยคำถามที่ยากจะตอบ FTAAP คงไม่ใช่สิ่งที่จะเกิดขึ้นในระยะอันใกล้ เนื่องจากต้องใช้เวลาในการศึกษาและการเตรียมการหลายอย่าง อย่างไรก็ตาม แรงผลักดันทางการเมืองจะเป็นชนวนสำคัญที่จะพลิกประวัติศาสตร์ของภูมิภาคนี้ ประเทศใดบ้างจะเข้าร่วม FTAAP และ FTAAP จะเกิดขึ้นภายในหรือภายนอกเอเปก ในอนาคตจะมีทั้ง FTAAP และเอเปกเป็นเวทีแยกต่างหากจากกัน หรือมีเฉพาะ FTAAP เท่านั้น และคำถามอื่น ๆ อีกมากมาย

แม้จนถึงปัจจุบัน ซึ่งล่วงเลยเวลาที่กำหนดเอาไว้ในเป้าหมาย Bogor ว่าด้วยการเปิดเสรีการค้าและการลงทุนไปแล้ว แต่หลายๆ สมาชิกของ APEC ก็ยังคงมองเห็นความสำคัญในการผลักดันให้เกิด FTAAP ซึ่งจะเป็นเขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก ที่ครอบคลุมมูลค่าเศรษฐกิจกว่า 60% ของทั้งโลก โดย FTAAP จะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการค้าและการลงทุนท่ามกลางความขัดแย้งของดุลอำนาจทางเศรษฐกิจ สงครามการค้า และสงครามเทคโนโลยี รวมทั้งจะเป็นแรงฉุดสำคัญที่จะทำให้เศรษฐกิจทั้งโลกฟื้นตัวขึ้นจากภาวะซบเซาตลอด 3 ปีที่ผ่านมา

และหนึ่งในสมาชิกที่วาดหวังนั้นก็คือ ‘ประเทศไทย’ 

ดังนั้นในปีนี้ที่ประเทศไทย ซึ่งได้รับเกียรติให้เป็นประธานการประชุม APEC ย่อมต้องโฟกัสการรื้อฟื้นและเริ่มต้นการเจรจาการค้าเสรีในกรอบ FTAAP นี้ขึ้นมาอีกครั้งอย่างยั่งยืนแน่นอน


รองศาสตราจารย์ ดร.ปิติ ศรีแสงนาม
อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย