ก่อกำเนิด APEC ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ‘เอเชีย-แปซิฟิก’ เชื่อม 2 ภูมิภาคของโลกให้เป็นหนึ่งเดียว

จากจุดเริ่มต้นของความสำเร็จที่เกิดขึ้นและสะสมโมเมนตัมมาอย่างต่อเนื่องตลอดทศวรรษ 1980 ของการประชุมระดับรัฐมนตรีของกลุ่มประเทศอาเซียน และประเทศคู่เจรจา (Dialogue Partners) ซึ่งในขณะสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Association of Southeast Asian Nations) หรือ อาเซียน มีสมาชิก 6 ประเทศอันได้แก่ ประเทศไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และบรูไน ร่วมกับประเทศคู่เจรจาอีก 6 ประเทศ อันได้แก่ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ นิวซีแลนด์ แคนาดา และสหรัฐอเมริกา จึงได้มีการขยายผลจากความสำเร็จนี้ไปสู่การสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่เชื่อมโยง 2 ภูมิภาคสำคัญของโลกเข้าด้วยกันนั่นคือ ประเทศในทวีปเอเชีย และประเทศในภาคพื้นมหาสมุทรแปซิฟิก และเรียกกรอบความร่วมมือในเวทีนี้ว่า ‘ความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperation)’ หรือ ‘APEC’ ซึ่งเกิดขึ้นอย่างเป็นทางการในปี 1989 หรือกว่า 33 ปีมาแล้ว โดยมีการประชุมระดับรัฐมนตรี APEC ครั้งแรก ณ กรุงแคนเบอร์รา ประเทศออสเตรเลีย ในระหว่างวันที่ 6-9 พฤศจิกายน 1989 

โดยบุคคลสำคัญที่เป็นตัวตั้งตัวตีผลักดันจนทำให้เกิดเวทีการประชุมนี้คือ นายกรัฐมนตรีของประเทศออสเตรเลียในขณะนั้น คือนายบ๊อบ ฮอว์ก (Bob Hawke) ที่ต้องการนำเอาออสเตรเลีย ซึ่งในขณะนั้นเป็นประเทศที่ต้องการขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจของตนเองเข้าสู่ตลาดโลก เช่นเดียวกับที่สหรัฐอเมริกาภายใต้การนำของประธานาธิบดี จอร์จ บุช (George Bush) เองก็ให้การขานรับ เพราะต้องการสร้างพันธมิตรทางเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงกับเอเชียท่ามกลางสถานการณ์สุกงอมของการแข่งขันทางอำนาจของสงครามเย็น 

และตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา หากไม่มีสถานการณ์พิเศษ ตารางการประชุมสำคัญที่ทั่วโลกจับตาก็คือ การประชุม APEC ที่มักจะนิยมจัดกันในทุกเดือนพฤศจิกายน ของทุกปี โดยเฉพาะตั้งแต่ปี 1993 เป็นต้นมาที่เกิดการประชุมสุดยอดผู้นำ APEC ขึ้น

การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญเกิดขึ้นอีกครั้งเมื่อ ‘สหภาพโซเวียต’ ล่มสลายในวันที่ 26 ธันวาคม ปีค.ศ. 1991 แต่สัญญาณการเปลี่ยนแปลงก็เริ่มต้นมาแล้วตั้งแต่ก่อนหน้านั้น หลายๆ ประเทศ และเขตเศรษฐกิจต่างก็ต้องการเข้าสู่ระเบียบโลกใหม่ ที่สหรัฐอเมริกากำลังจะกลายเป็นมหาอำนาจขั้วเดียวที่กำหนดกฎเกณฑ์กติกาการค้า การลงทุน และระบบเศรษฐกิจโลก 

ดังนั้นการเข้าเป็นพันธมิตรสำคัญของกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่สหรัฐฯ เป็นผู้เล่นจึงกลายเป็นสิ่งปรารถนาของหลากหลายประเทศและเขตเศรษฐกิจทั่วโลก

พร้อมๆ กับที่ในช่วงเวลาเดียวกัน ก็เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญของ ‘สาธารณรัฐประชาชนจีน’ ที่เริ่มต้นการปฏิรูปเศรษฐกิจมาตั้งแต่ปี 1978 ทะยานขึ้นและมีความพร้อมอย่างยิ่งที่จะเปิดระบบเศรษฐกิจของตนเข้าสู่การค้าและการลงทุนระหว่างประเทศในบริบทกลไกตลาดที่กำลังขยายตัวไปทั่วโลก นั่นจึงทำให้เราได้เห็นการขยายจำนวนสมาชิกของ APEC เพิ่มขึ้นจาก 12 ประเทศ เป็น 21 เขตเศรษฐกิจ เช่นในปัจจุบัน

โดยสมาชิกเริ่มแรกของ APEC 1989 ได้แก่ ออสเตรเลีย บรูไน แคนาดา อินโดนีเซีย มาเลเซีย ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้ สิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา นิวซีแลนด์ และประเทศไทย 

จากนั้นเราจึงได้เห็น จีน ฮ่องกง รวมทั้งไต้หวัน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของจีนเข้าเป็นสมาชิก APEC ในปี 1991 

ตามมาด้วย เม็กซิโก และ ปาปัวนิวกีนี ในปี 1993 

ส่วนชีลีเข้าร่วมในปี 1994

สุดท้ายคือ เปรูและรัสเซียเข้ามาเป็นสมาชิก APEC พร้อมกันในปี 1998 รวมเป็นสมาชิก APEC ในปัจจุบันทั้งสิ้น 21 เขตเศรษฐกิจ


รองศาสตราจารย์ ดร.ปิติ ศรีแสงนาม
อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย