Saturday, 19 April 2025
แจกเงิน

‘โซเชียล’ ท้วง!! หลัง กกต. ชี้!! แจกเงินดิจิทัลไม่ผิด หวั่น!! สร้างบรรทัดฐานใหม่ ใช้เงินแผ่นดินหาเสียง

(12 เม.ย.66) จากเฟซบุ๊ก ‘Sompob Pordi' ของ นายสมภพ พอดี นิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความถึงนายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง ความว่า…

ตามที่มีรายงานข่าวว่า ท่านได้กล่าวถึงนโยบายพรรคการเมืองหนึ่งที่สัญญาว่า หากได้เป็นรัฐบาลแล้ว จะแจกเงินดิจิทัลจำนวน ๑๐,๐๐๐ บาทให้ประชาชนทุกคนที่อายุ ๑๖ ปีขึ้นไปนั้นว่า…

…เป็นนโยบายที่ใช้งบประมาณแผ่นดินอยู่แล้ว หากได้ไปเป็นรัฐบาล นโยบายลักษณะนี้จะไม่ผิดกฎหมายสัญญาว่าจะให้ ซึ่งนโยบายที่จะเข้าข่ายสัญญาว่าจะให้ คือการใช้เงินที่ไม่ใช่เงินของแผ่นดิน...
ผมใคร่ขอให้ท่านพิจารณาข้อความตามพรบ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการ เลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มาตรา ๗๓ วรรค ๑ ซึ่งมีข้อความว่า…

ผู้สมัครหรือผู้ใด จัดทำให้ เสนอให้ สัญญาว่าจะให้ หรือจัดเตรียมว่าจะให้ทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์อื่นใด…มีความผิดตามกฎหมาย โดยมีบทลงโทษจำคุกตั้งแต่ ๑ ถึง ๑๐ หรือปรับตั้งแต่ ๒๐,๐๐๐ ถึง ๒๐๐,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับนั้น

ว่า มีถ้อยคำใดในกฏหมายดังกล่าวที่ระบุว่าการสัญญาว่าจะให้ จะต้องเป็นเงินของผู้สัญญาเอง หากเป็นเงินของแผ่นดิน ให้ถือว่าไม่เป็นความผิด หรือไม่? 

‘เศรษฐีปราจีนฯ’ แจกข้าวสาร 1,500 ถุง เงินสดกว่า 50,000 บาท ให้ชาวบ้าน เพื่อทำบุญให้บรรพบุรุษ เผย ยังคงจะแจกต่อไป จนกว่าไม่มีกำลัง

(22 เม.ย.66) เนื่องในโอกาสเทศกาลเซงเม้ง คนไทยเชื้อสายจีนมีการทำบุญให้แก่บรรพบุรุษ ที่ฮวงซุ้ย หมู่ที่ 1 ต.ท่าตูม อ.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี นายพรชัย หวังศุภกิจโกศล อายุ 45 ปี พร้อมญาติ ได้เดินทางไปกราบไหว้บรรพบุรุษแล้วได้ทำบุญโดยการนำข้าวสารไปแจกจ่ายให้กับชาวบ้านหมู่ที่ 1 ในพื้นที่ตำบลท่าตูม มีชาวบ้านในพื้นที่ทราบข่าวแห่เดินทางไปเข้าคิวรอรับการแจกข้าวสารเป็นจำนวนมาก

โดยการแจกข้าวสารครั้งนี้ นายพรชัย หวังศุภกิจโกศล ได้เตรียมข้าวสารไปแจกจำนวน 1,500 ถุง ปรากฏว่า ไม่เพียงพอกับชาวบ้านที่แห่เดินทางไปรอรับข้าวสาร ทางผู้แจกต้องนำเงินสดมอบให้แทนรายละ 200 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้นกว่า 50,000 บาท ซึ่งปีนี้เป็นปีที่ 3 แล้วที่นายพรชัย หวังศุภกิจโกศล อายุ 45 ปี พร้อมญาติ นำข้าวสารมาแจกให้กับประชาชนในพื้นที่

นายพรชัย หวังศุภกิจโกศล กล่าวว่า ทางเราได้แจกข้าวสารให้กับประชาชน เพราะทางอากง อาม่า และบรรพบุรุษของเรากำชับตลอดว่าถ้าเรามีเงินทองแล้วเราต้องตอบแทนชาวบ้าน วันนี้เราเลยมาแจกข่าวสาร ซึ่งเราทำกันมาทุกปี ซึ่งปีนี้แจกทั้งหมด 1,500 ถุง และก็ยังจะแจกต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าเราจะไม่มีกำลังที่จะทำได้


ที่มา : https://www.naewna.com/local/726025

'บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์' นำทัพนักแสดง ยืนโบกแท็กซี่ แจกเงินคันละ 500 บาท ถวายเป็นพระราชกุศลแด่ ‘ในหลวง’ เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา

ไม่นานมานี้ เฟซบุ๊กของ ‘บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์’ นำดารานักแสดง มายืนโบกรถแท็กซี่ จุดริมถนน อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ พร้อมแจกเงินให้ คันละ 500 บาท เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ครบรอบ 71 พรรษา 

โดย บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์ ตั้งเป้าการแจกเงินในวันนี้จำนวน 56 คัน เพื่อหวังช่วยแบ่งเบาภาระ ค่าเช่ารถ ค่าแก๊ส ให้แท็กซี่ที่ผ่านมาจุดบริเวณดังกล่าว

'สิงคโปร์' เตรียมแจกเงินช่วยเหลือค่าครองชีพแบบถ้วนหน้า สูงสุด 2 หมื่นบาท บรรเทาทุกข์ประชาชนได้อย่างถูกต้อง - เท่าเทียม เท่าที่จะเป็นไปได้

รัฐบาลสิงคโปร์อัดฉีดงบประมาณเพิ่มอีก 1.1 พันล้านเหรียญสิงคโปร์ เตรียมแจกเงินให้ชาวสิงคโปร์ที่มีอายุตั้งแต่ 21 ปีขึ้นไป ตั้งแต่ 200-800 เหรียญสิงคโปร์ (ประมาณ 5,200 - 21,000 บาท) ภายในเดือนธันวาคมปีนี้ เพื่อช่วยแบ่งเบาปัญหาเงินเฟ้อ และค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมากในสิงคโปร์

การแจกเงินช่วยเหลือค่าครองชีพพิเศษนี้ เป็นส่วนหนึ่งของกองทุน Assurance Package (AP) ซึ่งรัฐบาลสิงคโปร์ได้ประกาศไว้ตั้งแต่ปี 2020 ว่าจะแจกเงินให้แก่ชาวสิงคโปร์ทุกคนที่มีอายุตั้งแต่ 21 ปีขึ้น เป็นจำนวนเงิน ตั้งแต่ 700 - 2,200 เหรียญ โดยประเมินจากรายได้ต่อปี และการถือครองอสังหาริมทรัพย์เป็นรายบุคคล 

ซึ่งจะแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มคือ...
- กลุ่มผู้มีรายได้ต่อปีไม่เกิน $34,000 
- กลุ่มผู้มีรายได้ต่อปีเกิน $34,000 แต่ไม่ถึง $100,000 
- กลุ่มผู้มีรายได้ต่อปีเกิน $100,000 
- กลุ่มที่ถือครองอสังหาริมทรัพย์มากกว่า 1 แปลงขึ้นไป 

กลุ่มที่มีรายได้น้อย ก็จะได้รับเงินช่วยเหลือมากกว่ากลุ่มรายได้สูง หรือถือครองทรัพย์สินจำนวนมาก ซึ่งเป้าหมายของการแจกเงิน ก็เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของชาวสิงคโปร์ในภาวะเงินเฟ้อ ส่งผลให้ค่าครองชีพสูงขึ้น รัฐบาลสิงคโปร์จึงอนุมัติกองทุนช่วยเหลือนี้ให้ชาวสิงคโปร์นำไปใช้ซื้อสินค้า อุปโภค บริโภค และบริการที่จำเป็น โดยจะแบ่งจ่ายเป็นรายปี เป็นระยะเวลา 5 ปี ตั้งแต่ปี 2022 - 2026 

แต่ปีนี้จะมีเงินช่วยเหลือพิเศษเพิ่มให้อีก ที่เรียกว่า AP Cash Special Payment ให้สำหรับกลุ่มคนที่มีรายได้น้อย ถึงปานกลาง สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันอีก 200 เหรียญ 

นาย ลอเรนซ์ หว่อง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีคลังสิงคโปร์ ได้ประกาศไว้ในช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมาว่า รัฐบาลตัดสินใจเพิ่มงบประมาณในกองทุน Assurance Package อีก 1.1 พันล้านเหรียญ สำหรับจ่ายเป็นเงินช่วยเหลือพิเศษเพิ่มในปีนี้โดยเฉพาะ ที่จะทำให้มีเงินในกองทุนนี้สูงถึงกว่า 1 หมื่นล้านเหรียญ 

ดังนั้น ภายในสิ้นปีนี้ ชาวสิงคโปร์ที่อายุตั้งแต่ 21 ปีขึ้นไป กว่า 2.9 ล้านคน จะได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาล ทั้งจากโครงการ AP เดิม รวมกับ AP Cash Special ตั้งแต่ 200 - 800 เหรียญเลยทีเดียว

ซึ่งผู้มีสิทธิ์จะได้รับเงินผ่านระบบ PayNow ซึ่งคล้ายกับระบบ 'พร้อมเพย์' ของไทย หรือแจ้งรายละเอียดบัญชีธนาคารในเว็บไซต์ของ Assurance Package หรือ ใช้ระบบ GovCash เบิกถอนจากตู้ ATM ของธนาคาร OCBC ได้ทุกแห่งทั่วสิงคโปร์โดยไม่จำเป็นต้องเปิดบัญชีธนาคาร 

ยังไม่หมดเพียงเท่านี้ ตั้งแต่มกราคม 2024 ชาวสิงคโปร์ทุกครัวเรือนก็จะได้รับบัตรกำนัลดิจิทัล มูลค่า 500 เหรียญ ภายใต้โครงการ CDC Vouchers สำหรับจับจ่ายซื้อของใช้ในร้านค้าท้องถิ่นที่เข้าร่วมโครงการของรัฐบาล และ เงินช่วยเหลือค่าน้ำ ค่าไฟ จากโครงการ U-Save อีกราว ๆ 130-210 เหรียญต่อครัวเรือน 

ส่วนกลุ่มผู้สูงอายุ ก็จะได้รับเงินช่วยเหลือจากโครงการ AP Senior Bonus สำหรับกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ที่มีอายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไปอีก 200-300 เหรียญ และยังมี CPF MediSave กองทุนลดหย่อนค่ารักษาพยาบาล ให้อีก 150 เหรียญ 

เรียกได้ว่า ลด แลก แจก แถม ถ้วนหน้า แล้วจริง ๆ สำหรับรัฐบาลสิงคโปร์ ถึงจะเป็นประเทศที่มั่งคั่งที่สุดติดอันดับโลก แต่ก็ได้รับผลกระทบจากปัญหาค่าครองชีพสูงขึ้นเช่นเดียวกับประเทศอื่น ๆ ในย่านอาเซียน ซึ่งกลุ่มเปราะบาง รายได้น้อย หรือวัยเกษียณ มักได้รับผลกระทบมากที่สุด จึงต้องเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องบริหารงบประมาณแผ่นดินให้ถี่ถ้วน เพื่อนำมาบรรเทาทุกข์ให้กับประชาชนได้อย่างถูกต้อง ถ้วนหน้า และ เท่าเทียม ที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ 

‘บ.เกาหลี’ ใจป้ำ!! แจกเงิน พนง. 100 ล้านวอน ต่อลูก 1 คน อุดหนุนค่าคลอดบุตร จูงใจให้คนมีลูก แก้ปัญหาเด็กเกิดน้อย

(6 ก.พ.67) บริษัท Booyoung Group เปิดตัวโครงการริเริ่มเพื่อแก้ไขปัญหาด้านอัตราการเกิดที่ลดลง ด้วยการมอบเงินสนับสนุน 100 ล้านวอนต่อลูก 1 คน ให้กับพนักงาน โดย Booyoung Group เป็นบริษัทเกาหลีใต้แห่งแรกที่ดำเนินการเช่นนี้

ประธานกรรมการของ Booyoung Group นายอี จุง-กึน ได้มอบเงินสนับสนุนด้านการคลอดบุตรเป็นจำนวนรวม 7 พันล้านวอน ให้แก่พนักงาน โดยเป็นเงินจำนวน 100 ล้านวอนต่อลูก 70 คน ที่เกิดตั้งแต่ปี 2021 ในงานพิธีขึ้นปีใหม่ที่สำนักงานใหญ่ของบริษัทฯ

นอกจากนี้ทางบริษัทยังเสนอที่จะจัดหาที่อยู่อาศัยประเภทเช่าถาวรระดับโครงการบ้านจัดสรรให้กับพนักงานที่มีลูกคนที่สาม โดยขึ้นอยู่กับเงื่อนไขว่ารัฐบาลอนุญาตให้ภาคเอกชนเข้าร่วมในตลาดที่อยู่อาศัยเช่าถาวรได้หรือไม่

อย่างไรก็ดี นายอี จุง-กึน ได้เสนอนโยบายให้มีการยกเว้นภาษีสำหรับการบริจาคเพื่อสนับสนุนการคลอดบุตร เพื่อแก้ไขปัญหาด้านอัตราการเกิดที่ต่ำ โดยอนุญาตให้ผู้บริจาคสามารถหักลดหย่อนภาษีได้ เขาเสนอให้บุคคลหรือบริษัทบริจาคได้สูงสุด 100 ล้านวอนต่อเด็กที่เกิดหลังปี 2021 และทั้งจำนวนเงินบริจาคจากบุคคลและบริษัทฯ สามารถนำไปหักลดหย่อนภาษีได้ที่สิ้นปี

'สิงคโปร์' แหกกฎ!! เตรียมแจกเงินคนตกงาน 1.5 แสนบาท แต่ต้องรับเงื่อนไข 'อบรมเพิ่มทักษะ' เพื่อกลับสู่ตลาดงานต่อไป

คนตกงานในสิงคโปร์เตรียมเฮ เมื่อ 'ลอเรนซ์ หว่อง' นายกรัฐมนตรีประกาศอัดฉีดงบประมาณก้อนใหม่ ลงในโครงการ SkillsFuture Jobseeker Support เตรียมแจกเงินช่วยเหลือแรงงานที่ว่างงานในประเทศ หลังจากที่เคยคัดค้านว่าเป็นนโยบายประชานิยมที่ส่งเสริมให้คนหวังพึ่งแต่สวัสดิการรัฐจนขาดแรงจูงใจในการหางานทำ

SkillsFuture Jobseeker เป็นโครงการภาครัฐที่สนับสนุนผู้หางาน ด้วยการจัดฝึกอบรม เพิ่มทักษะแรงงาน พร้อมบริการให้คำปรึกษาด้านอาชีพ และจัดหางานให้ ซึ่งวัตถุประสงค์ของโครงการนี้คือ ช่วยให้แรงงานยกระดับทักษะด้านอาชีพของตัวเอง เพื่อหางานให้ได้เร็วที่สุด

แต่เมื่อวันอาทิตย์ (18 ส.ค.67) ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรี ลอเรนซ์ หว่อง ได้ประกาศระหว่างการปราศรัยเนื่องในวันชาติ รัฐบาลสิงคโปร์จะมีการปรับเปลี่ยนนโยบายครั้งสำคัญในการช่วยเหลือผู้ที่กำลังว่างงานในสิงคโปร์ด้วย

โดยโครงการ SkillsFuture ใหม่นี้ รัฐจะให้เงินช่วยเหลือแก่คนงานรายได้น้อย - ปานกลาง ที่ตกงานเป็นค่าใช้จ่ายเบื้องต้นในค่าครองชีพ ซึ่งเป็นเงินสูงถึง 6,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ (ประมาณ 1.57 แสนบาท) เป็นระยะเวลาสูงสุดที่ 6 เดือน 

ตัวเลขเงินจำนวนนี้ นักเศรษฐศาสตร์และนักสังคมวิทยามองว่า 'เหมาะสม' สำหรับแรงงานที่มีเหตุต้องว่างงานโดยไม่สมัครใจ และไม่เกินพอดี จนอาจเกิดปัญหาการหวังพึ่งพาสวัสดิการรัฐในระยะยาว หากอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่เหมาะสม

ส่วนเงื่อนไข ก็คือ ผู้ว่างงานต้องลงทะเบียนเข้าโครงการพัฒนาแรงงาน SkillsFuture Jobseeker ตามมาตรฐานของกรมส่งเสริมแรงงานของสิงคโปร์ ซึ่งนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ย้ำว่า การเข้าฝึกอบรมในโครงการนี้ถือเป็นการลงทุนที่จำเป็นสำหรับแรงงาน เพื่อโอกาสในการได้งานที่ดีกว่าในอนาคต ซึ่งบุคคลที่ผ่านเกณฑ์ประเมินรายเดือน จึงจะมีสิทธิ์รับเงินชดเชยรายได้ 6,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ ในระยะเวลา 6 เดือน 

สำหรับการรับเงินช่วยเหลือของแรงงานที่ถูกเลิกจ้าง ซึ่งต้องปฏิบัติตามขั้นตอนภายใต้เงื่อนไขที่รัดกุมนั้น ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงนโยบายด้านแรงงานครั้งสำคัญของประเทศสิงคโปร์ ที่ไม่เคยมีสวัสดิการสำหรับคนว่างงานมาก่อน เพราะเห็นว่าโครงการดังกล่าวจะส่งเสริมให้ประชาชนขาดความกระตือรือร้น แล้วเลือกที่จะรับสวัสดิการมากกว่าการทำงาน

ทั้งนี้การปฏิเสธแนวคิดเรื่องรัฐสวัสดิการสำหรับแรงงาน มีมาตั้งแต่สมัยที่สิงคโปร์แยกตัวจากมาเลเซียในปี 1965 และจัดตั้งรัฐบาลปกครองตนเองภายใต้การนำของ ลี กวนยู ซึ่งประกาศอย่างชัดเจนว่า เขาละทิ้งแนวคิดเรื่องรัฐสวัสดิการ เพราะรัฐบาลที่ดำเนินนโยบายตามแนวคิดดังกล่าวจะบั่นทอนความสามารถในการพึ่งพาตัวเองของประชาชน และความมุ่งมั่นในการสร้างตัวเพื่อความสำเร็จในชีวิต 

ดังนั้น ผู้นำที่สืบทอดตำแหน่งต่อจากนายลี กวนยู ตั้งแต่ โก๊ะ จ๊กตง และ ลี เซียนลุง ก็ไม่เคยผลักดันนโยบายด้านสวัสดิการช่วยเหลือผู้ว่างงานเช่นกัน

ทว่า ลอเรนซ์ หว่อง กลับมีความเห็นว่า อาจถึงเวลาแล้วที่สิงคโปร์ต้องมีการปรับเปลี่ยนนโยบายเพื่อช่วยเหลือแรงงาน ในยุคสมัยที่มีความท้าทายทางเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น แต่ยังคงยืนยันว่า การรับสวัสดิการรัฐอย่างไม่มีเงื่อนไข ไม่ส่งผลดีเชิงบวกต่อแรงจูงใจในการแสวงหางานของแรงงาน ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลสิงคโปร์ระวังมาโดยตลอด 

ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลสิงคโปร์ จึงมองหาทางเลือกอื่น โดยใช้แบบแผน 'Workfare' แทนที่จะใช้คำว่า 'Welfare' ซึ่งหมายถึงสวัสดิการที่รัฐต้องเป็นผู้รับประกันการว่างงาน ที่นำไปสู่ความคาดหวังในการพึ่งพาแต่สวัสดิการรัฐ ซึ่งหมายถึงการใช้ภาษีจากการทำงานของประชาชนคนอื่น

Workfare เป็นแนวทางที่รัฐบาลสิงคโปร์นำมาใช้เป็นครั้งแรกในปี 2005 โดยแรกเริ่มเดิมที เป็นโครงการที่สนับสนุนกองทุนแก่ผู้มีรายได้น้อย ซึ่งรัฐจะเติมเงินให้กับกองทุนบำเหน็จบำนาญ แต่มีเงื่อนไขว่าผู้มีรายได้น้อยจะต้องมีงานทำ

แต่สำหรับโครงการล่าสุดนี้ รัฐบาลสิงคโปร์จะพิจารณาจ่ายเงินช่วยเหลือให้แก่ผู้ว่างงาน ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน โดยมีเงื่อนไขว่า ผู้ว่างงานต้องเข้าสู่กระบวนการฝึกอบรมพัฒนาอาชีพ ต้องผ่านคะแนนประเมิน และ ต้องเข้าโปรแกรมจัดหางาน เพื่อกลับสู่ตลาดแรงงานต่อไป 

ลอเรนซ์ หว่อง กล่าวว่า โครงการนี้มีไว้เพื่อสนับสนุนแรงงานที่ถูกเลิกจ้าง และช่วยเหลือเรื่องค่าครองชีพที่จำเป็นระหว่างเข้าโครงการ แต่คนงานก็ต้องมีส่วนร่วม ด้วยการแสดงรับผิดชอบต่ออนาคตของตนเอง  และพยายามดึงตัวเองขึ้นมาให้ได้

ก็ถือเป็นโครงการแจกเงินอย่างมีวิสัยทัศน์ ตามสไตล์สิงคโปร์จริง ๆ ที่ยึดว่า 'เกิดเป็นคน ต้องทำงาน' และสวัสดิการรัฐมีไว้สำหรับผู้ที่เสียภาษีเท่านั้น

เรื่อง: ยีนส์ อรุณรัตน์

‘คนขอนแก่น’ หนุนแจกเงินสด แทน ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ เชื่อ!! ตอบโจทย์ความต้องการ - ใช้จ่ายสะดวกกว่า

(22 ส.ค. 67) ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ภายในตลาดสดเทศบาล1 เขตเทศบาลนครขอนแก่น เพื่อสำรวจความคิดเห็นประชาชนชาวขอนแก่น หลังจากมีกระแสข่าวมาว่ารัฐบาลใหม่ภายใต้การนำของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ซึ่งจะเปลี่ยนจากเงินดิจิทัลเป็นเงินสด 10,000 บาท

นางตุ๊กตา สรีอภัย อายุ 57 ปี แม่ค้าขายปลา กล่าวว่า ถ้าได้เป็นเงินสดจริง ๆ จะดีมากเพราะเงินส่วนนี้จะได้เอาไปเสียค่าน้ำค่าไฟ ให้ลูกไปโรงเรียน เพราะเมื่อดูตามข้อเท็จจริงแล้วถ้าได้เป็นเงินดิจิทัล 10,000 บาทน่าจะใช้ได้ยาก แต่ถ้าเป็นเงินสดจะใช้ง่ายและจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้ดีขึ้นด้วยเพราะจะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจจริง ๆ สามารถใช้เติมน้ำมันได้ ให้ลูกไปโรงเรียนได้

"เดี๋ยวนี้ประชาชนกำลังเดือดร้อนเศรษฐกิจไม่ดีทุกคนต้องการเงินสด ถ้าได้เงินส่วนนี้มาจะนำไปเสียค่าน้ำ ค่าไฟ เพราะติดมา 2 เดือนแล้วเพราะขาดสภาพคล่องที่จะนำเงินไปใช้จ่าย ขายของก็ยากลำบากคนซื้อก็ซื้อยากพฤติกรรมคนซื้อเปลี่ยนไปไม่เหมือนก่อน ตอนนี้ยังไม่ค่อยเชื่อมั่นว่าจะได้เงิน 10,000 บาท ถ้าทำสำเร็จและได้เงินจริง ๆ ตอนนั้นถึงจะเชื่อมั่นในตัวรัฐบาลจริง ๆ ตราบใดที่ยังไม่เห็นเงินก็ไม่มีทางเชื่อ ถ้าได้เงินสดอยากจะได้เป็นงวดเดียวไม่ต้องแบ่งจ่าย ค่าน้ำก็แพง ค่าไฟก็แพง ค่าน้ำมันรถ ให้ลูกไปโรงเรียน เงิน 10,000 บาท ใช้ได้ไม่กี่วันก็หมด"

ขณะที่นางเพ็ชรัตน์ กองพล 58 ปี แม่ค้าขายไส้กรอก กล่าวว่า เงินสดที่รัฐบาลจะให้ ตนเองคิดว่าดีเพราะทุกคนมีรายจ่ายครอบครัวตนเองคนแก่อยู่บ้านก็ถามมาว่าจะได้จริงไหม ตนเองก็ได้แต่บอกให้ใจเย็น ๆ จะพาทำ และเชื่อว่าจะต้องได้อย่างแน่นอน เพราะรายจ่ายก็มีมาก ถ้าได้เงินตัวนี้เข้ามาจะสามารถช่วยเหลือคนเฒ่าคนแก่เหล่านี้ได้อย่างมาก ความหวังตอนนี้เชื่อว่าทำได้

"ที่ผ่านมาในรัฐบาลลุงตู่สามารถทำได้มาแล้ว ไม่ว่าใครเข้ามาเป็นรัฐบาลก็น่าจะทำได้ เพราะมีทีมงานของตัวเองทุกอย่างสามารถจัดการได้หมด ขนาด 30 บาทรักษาทุกโรคก็ยังสามารถทำได้ แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับคณะรัฐบาลที่จะช่วยกันผลักดันไม่ขัดแย้งกันก็จะสามารถทำได้อย่างแน่นอน"

นางเพ็ชรัตน์ กล่าวต่ออีกว่า หากได้เงินจริงอันดับแรกจะนำไปซื้อข้าวสารไว้ในครัวเรือน รวมทั้งของใช้จำเป็น เพราะเงินที่ได้มาแม้ว่ามีข้อแม้ก็จะไปซื้อของใช้จำเป็นเหล่านี้ เงินอื่น ๆ ที่เราหาเองก็ค่อยไปซื้อสิ่งของอื่น ๆ แทน เพราะเงินที่ให้มาเป็นเงินที่ทางรัฐบาลให้มาใช้จ่ายในการดำรงชีพ อาจจะจ่ายแบบรายงวดก็ได้ ถ้าเป็น 2 งวดก็จะดี ถ้าได้ก้อนเดียวลูกหลานก็จะมาขอไปหมดทำให้ไม่ได้ใช้

ด้านนาง ทิวารัตน์ สร้อยสุวรรณ์ อายุ 42 ปี แม่ค้าขายผลไม้ กล่าวว่า ตนเองไม่ได้ลงทะเบียนไว้ตอนที่จะแจกเป็นเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท เพราะกลัวว่าไม่มีสิทธิ์ไปซื้อร้านค้าที่ต้องการซื้อ เพราะอาศัยอยู่ในเมืองแต่ทะเบียนบ้านอยู่นอกเมือง ก็ต้องกลับบ้านไปซื้อของ มันทำให้เกิดความลำบากในการซื้อของ ไม่เหมือนเงินประชารัฐ แม้ซื้อของข้ามจังหวัดขอแค่มีธงฟ้าติดอยู่ก็จะสามารถซื้อได้ทุกร้าน และสามารถซื้อเป็นของฝากหรือซื้อขนมให้ลูกหลานได้ในแต่ละที่

"พอมีกระแสข่าวว่าจะมีการแจกเป็นเงินสด ก็จะลงทะเบียนด้วย ถ้าได้เป็นเงินสดจะมีมาก จะดีทั้งคนซื้อ คนขาย เป็นอิสระในการซื้อของ ไม่จำกัดขอบเขต ไม่จำกัดระยะทาง ไม่จำกัดสถานที่ซื้อ ถ้าคนใช้เงินเป็นก็จะถูกวัตถุประสงค์ แต่ถ้าคนใช้ไม่ถูกหลักก็คงนำไปซื้อของที่ไม่จำเป็น เช่นซื้อหุ้น ซื้อหวย ถ้าตนเองได้เงินมาก็จะนำไปซื้อของเข้าร้านมาค้าขาย เพราะตอนนี้เงินไม่มีหมุน อย่างไรก็ดีส่วนตัวก็ยังมองว่าไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะเป็นจำนวนเงินที่เยอะ แต่ถ้าได้จริงก็อยากให้แจกจ่ายเป็นงวด งวดละ 2,000 บาท เพราะคนไทยใช้เงินไม่เป็น ขนาดคนถูกสลากกินแบ่งรัฐบาลรางวัลที่ 1 ก็ยังกลับมาจนเหมือนเดิมได้ ถ้าได้เป็นก้อนก็คงแปปเดียวหมด"

‘สุวัจน์’ เชื่อ!! เศรษฐกิจกระเตื้อง หลังรัฐบาลกระตุ้น อัดฉีดเม็ดเงินมหาศาล 3 ล้านล้าน ‘แจกเงินหมื่น-กองทุนวายุภักษ์-งบประมาณ 68’ เหมือนแม่น้ำ 3 สายทำให้เกิดการจ้างงาน

(21 ก.ย.67) ที่สำนักงานพรรคชาติพัฒนา อ.เมือง จ.นครราชสีมา นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ประธานพรรคชาติพัฒนา และแกนนำของพรรคชาติพัฒนา กล่าวถึงสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศ ว่าวันนี้รัฐบาลได้ดำเนินการหลายๆ อย่างที่กระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงนี้อาทิ กระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการแจกเงิน 10,000 บาทให้กลุ่มเปราะบาง หรือกลุ่มคนพิการ 140,000 ล้าน หรือในส่วนที่เกี่ยวกับตลาดทุนในตลาดหลักทรัพย์กับการจัดตั้งกองทุนวายุภักษ์ 150,000 ล้าน จะทำให้เกิดความเคลื่อนไหวการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ที่มากขึ้นและทำให้มีเสถียรภาพมากขึ้น หรืองบประมาณปี 2568 ตอนนี้ผ่านรัฐสภาไปแล้ว 3 ล้านล้าน เหมือนกับแม่น้ำ 3 สาย ที่จะนำเม็ดเงินมหาศาลเข้าไปสู่พี่น้องประชาชนเข้าไปสู่การจ้างงาน เข้าไปสู่ภาคธุรกิจ ฉะนั้น 3 ส่วนนี้จะเป็นช่วงที่ทำให้เกิดการกระเตื้องขึ้นของภาวะเศรษฐกิจในช่วงปลายปี 

นอกจากนี้ มีข่าวดีที่ทางธนาคารกลางสหรัฐ หรือ (เฟด) ประกาศลดดอกเบี้ย 0.5% ถือว่าเป็นข่าวใหญ่ทั่วโลกและเป็นสัญญาณบวกต่อภาวะเศรษฐกิจ เพราะที่ผ่านมาหลังโควิดเกิดปัญหาหนี้สินกันเยอะและเกิดปัญหาเงินเฟ้อ ฉะนั้นเพื่อเป็นการควบคุมของโลกก็เลยขึ้นอัตราดอกเบี้ยมา 4 ปีไม่เคยลด ฉะนั้น การลดจะทำให้ต้นทุนทางการเงินของคนทำธุรกิจถูกลง และเป็นการกระตุ้นการลงทุน กระตุ้นเศรษฐกิจของโลกให้กลับมาฟื้นตัว ให้กลับมาเข้มแข็ง ถือว่าเป็นนิมิตหมายที่ดี และเศรษฐกิจไทยก็ไปผูกกับเศรษฐกิจโลกจะทำให้เศรษฐกิจไทยดีขึ้นตามไปด้วย

ฉะนั้น จากนี้ไปคงจะเห็นความเคลื่อนไหวของตลาดทุน ตลาดเงินต่างๆ การลงทุนต่างๆ ประเทศไทยก็จะได้อานิสงส์ และจะเป็นขวัญกำลังใจให้ผู้ประกอบการต่าง ๆ รวมทั้งเรื่องการท่องเที่ยวจะดีขึ้น เพราะการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการท่องเที่ยวได้ผลรวดเร็ว เพราะการท่องเที่ยวไปทุกหมู่บ้าน ไปทุกอาชีพ สร้างความเสมอภาคด้วยเรื่องอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจะได้ผลที่เร็วมาก หรือการที่เร่งจะมีนโยบายไทยเที่ยวไทย ส่งเสริมให้คนไทยเที่ยวเมืองไทย เป็นการรักษาการไหลออกของเงินไปต่างประเทศ และแสดงออกถึงความรักชาติ ความชาตินิยม ไทยนิยม วันนี้ต้องเอาความไทยนิยม ชาตินิยม มาช่วยเศรษฐกิจของประเทศ

ส่วนเสียงสะท้านเกรงว่านโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ของรัฐบาลระยะยาวจะถังแตกหรือไม่นั้น นายสุวัจน์ กล่าวว่าเมื่อเศรษฐกิจดีขึ้น มีการลงทุนมากขึ้น มีการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น มีการจัดเก็บภาษีที่เหมาะสม ขยายฐานภาษีต่าง ๆ ที่เหมาะสมมันก็จะเป็นรายได้ของประเทศ 

เราต้องพยายามที่จะคิดหานโยบายใหม่ ๆ สมมุติ นโยบายเร่งด่วนของประเทศ 10 เรื่อง มีอยู่ข้อหนึ่งที่ดีมากคือ นโยบายในการที่จะนำภาษีจากระบบธุรกิจที่อยู่นอกระบบภาษี คือ พวกที่อยู่ใต้ดินต่าง ๆ ขึ้นมา ซึ่งส่วนนี้มีอีกมากมายที่เราไม่สามารถจัดเก็บภาษีได้ อันนี้จะเป็นรายได้ใหม่ให้กับประเทศ

ส่วนประเด็นทีมที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี หรือบอร์ดกระตุ้นเศรษฐกิจนั้น นายสุวัจน์ เชื่อว่าประสบการณ์ต่าง ๆ ที่แต่ละคนมีคงจะเป็นประโยชน์ในการนำเสนอในเชิงนโยบายต่าง ๆให้กับรัฐบาลให้กับนายกรัฐมนตรี

นายสุวัจน์ กล่าวว่าสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงอีกเรื่อง คือ เรื่องน้ำท่วม เรื่องน้ำแล้ง อุทกภัย แผ่นดินถล่มและความถี่ของการเกิดก็บ่อยขึ้น พื้นที่หลากหลาย เช่น ที่ จ.ภูเก็ต , จ.เชียงราย, จ.หนองคาย สถานการณ์จากภาคใต้สู่ภาคเหนือไปสู่ภาคอีสาน ตนคิดว่าสัญญาณต่าง ๆ เหล่านี้มีความถี่มากขึ้น มีความเสียหายทั้งชีวิตผู้คน ทรัพย์สินและความเสียหายทางเศรษฐกิจนับหมื่นนับแสนล้าน 

ฉะนั้น ตนคิดว่าถึงเวลาแล้วที่เราควรที่จะมีมาตรการหรือมีโครงการใหญ่ๆ เป็นแผนแม่บทในการวางโครงสร้างพื้นฐานในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง อุทกภัยหรือวาตภัยต่าง ๆ ที่จะเป็นพื้นฐานสำคัญของการพัฒนาประเทศและลดความสูญเสีย จุดแข็งของประเทศไทย คือ เกษตร และเกษตรต้องการน้ำ เกษตรต้องน้ำไม่ท่วมและน้ำไม่แล้ง ฉะนั้น ถ้ารัฐบาลให้ความสำคัญเรื่องนี้และมีแผนแม่บทจัดทำเป็นวาระแห่งชาติ ในการป้องกันน้ำท่วม น้ำแล้ง อุทกภัย วาตภัยต่าง ๆ ว่าจะบริหารจัดการน้ำอย่างไร จะมีการสร้างระบบระบายน้ำไปถึงมือเกษตรอย่างไร ระบบขนส่งน้ำหรือเขื่อน อ่างเก็บน้ำที่จะสามารถรับน้ำไว้ป้องกันปัญหาน้ำแล้ง หรือการระบายน้ำต่าง ๆ ไปตามแม่น้ำ ลำคลอง เขื่อนต่าง ๆ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาน้ำท่วม

เรื่องนี้ยังไม่ได้มีการทำอย่างจริงจัง ถ้ารัฐบาลได้หยิบยกเรื่องนี้มาทำมันจะเป็นการสร้างความยั่งยืนในการแก้ไขปัญหาและยั่งยืนในการพัฒนาประเทศ ตอนนี้เป็นเรื่องของการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าพอเกิดขึ้นก็ไปช่วยกันแจกสิ่งของ ไปช่วยกันให้กำลังใจ แต่ถ้าจะถาวรตนคิดว่ารัฐบาลจะต้องทำเรื่องนี้

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าพรรคชาติพัฒนา พร้อมให้กำลังใจ นายกฯ แพทองธารฯ ในการบริหารประเทศให้สำเร็จ อย่างไร

นายสุวัจน์ กล่าวว่าตนให้กำลังใจท่านนายกรัฐมนตรี เพราะว่า

1.ท่านเป็นนายกรัฐมนตรีสุภาพสตรี

2.ท่านอายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ 

เราพูดกันมานานว่า อยากเห็นคนรุ่นใหม่เล่นการเมือง อยากเห็นนักการเมืองรุ่นใหม่ อยากเห็นผู้นำทางการเมืองรุ่นใหม่ ฉะนั้น ท่านนายกฯ แพทองธารฯ ถือว่าเป็นตัวแทนของคนรุ่นใหม่ ไม่เคยอยู่ในวงการการเมืองมาก่อน และเข้าสู่การเมือง เป็นคนรุ่นใหม่มาจากภาคธุรกิจ อายุน้อยมากเพียง 38 ปี 

ฉะนั้น ตนถือว่าท่านนายกฯ แพทองธารฯ เป็นตัวแทน เป็นภาพลักษณ์ของนักการเมืองรุ่นใหม่ที่จะมาทำงานแก้ไขปัญหาให้กับประเทศ

อยากให้ท่านประสบความสำเร็จ เพราะถ้าท่านนายกฯ แพทองธารฯ ประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาหรือในการทำงานมันก็จะเป็นโอกาสที่เราจะได้เห็นภาพการเมืองใหม่ ๆ เห็นนักการเมืองรุ่นใหม่ เห็นคนใหม่ ๆ เข้าสู่ระบบการเมือง นี่คือ สิ่งที่จะเปลี่ยนฉากทัศน์ของการเมืองไทยว่าเราต้องการคนรุ่นใหม่ นักการเมืองเลือดใหม่

ฉะนั้น ตนก็เป็นกำลังใจให้ท่านนายกรัฐมนตรี อยากให้ท่านได้ทุ่มเทการทำงานและประสบความสำเร็จในการทำงานในฐานะนายกรัฐมนตรีของประเทศ 

แต่วันนี้ต้องยอมรับว่าถานการณ์ต่าง ๆ หนักหนาสาหัส โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจก็คงจะต้องมีความร่วมมือช่วยกันทำงานกันอย่างเต็มที่

และในการที่ท่านขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งนี้ ก็มีการปรับโครงสร้างรัฐบาล มีการจัดทัพพรรคการเมืองร่วมรัฐบาลใหม่นำไปสู่เสถียรภาพของการเมืองที่เพิ่มขึ้นจาก 310 เสียง เป็น 320 กว่าเสียง ฉะนั้น ด้วยหลักสนับสนุนของพรรคการเมืองรวมกันแล้วกว่า 10 พรรคกับเสียงของรัฐบาลที่มีมากขึ้นอย่างน้อยก็เป็นกำลังใจให้กับรัฐบาลได้ว่าเสถียรภาพในรัฐบาลไม่ต้องห่วง ไม่ต้องห่วงเสียงในสภา ไม่ต้องห่วงองค์ประชุม ขอให้รัฐบาลมุ่งมั่นตั้งใจทำงานให้เต็มที่ โดยเฉพาะในนโยบายเร่งด่วน 10 ข้อเป็นเรื่องที่มีความเหมาะสมกับสถานการณ์ ฉะนั้น ทั้ง 10 ข้อต้องผลักดันให้ได้โดยใช้เสถียรภาพทางการเมือง ตนว่าพี่น้องประชาชนก็จะพึงพอใจ

ตอบข้อถามถึงปัญหานักร้องต่าง ๆ จะทำให้รัฐบาลสั่นคลอนหรือไม่ 

นายสุวัจน์ กล่าวว่าเป็นเรื่องปกติ เป็นไปตามกติกา ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะใช้กติกา เพียงแต่ว่ารัฐบาลจะต้องระมัดระวังให้มาก เหมือนกับมีคนตรวจสอบในเรื่องของการตรวจสอบที่มีมากขึ้น นักร้องก็เป็นหนึ่งในกระบวนการของการตรวจสอบ ฉะนั้น ในการทำทุกอย่างต้องมีความระมัดระวังกัน แต่ตนเชื่อว่าเรามีเสถียรภาพที่เข้มแข็ง มีนโยบายที่ดีที่เหมาะสม มีความร่วมมือกันเพื่อให้การปฏิบัตินำไปสู่ความสำเร็จในเป้าหมายร่วมกัน 

ส่วนรัฐบาลนี้ครบเทอมแน่นั้น นายสุวัจน์ฯกล่าวว่า รถออกจากบ้านไม่มีใครรู้หรอกจะมีอุบัติเหตุหรือเปล่า แต่ตามฟอร์มรถดี สภาพดี นายสุวัจน์ฯกล่าวทิ้งท้าย

‘จีน’ เตรียมแจกเงินสด ‘กลุ่มคนยากไร้-เด็กกำพร้า’ หวังเพิ่มกำลังซื้อช่วงเทศกาล ‘วันชาติ’ 1 ต.ค.นี้

(26 ก.ย. 67) สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานอ้างถึงการรายงานของสถานีโทรทัศน์ CCTV ของรัฐบาลจีนที่เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังและกระทรวงกิจการพลเรือนจะออกเงินอุดหนุนค่าครองชีพในรูปแบบการแจกเงินสดครั้งเดียวให้แก่กลุ่มผู้ด้อยโอกาส รวมถึงผู้ยากไร้และเด็กกำพร้า ในวันที่ 1 ต.ค.ซึ่งตรงกับวันชาติจีน

แม้จะไม่มีการให้รายละเอียดใด ๆ เพิ่มเติมเกี่ยวกับจำนวนเงินที่แน่ชัด แต่การแจกเงินแบบครั้งเดียวในระยะเวลาอันสั้นนี้ ดูเหมือนจะเป็นการเปลี่ยนแปลงนโยบายของรัฐบาลที่มักหลีกเลี่ยงสิ่งที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เรียกว่า ‘รัฐสวัสดิการ’ มาโดยตลอดง

ทั้งนี้ รัฐบาลประกาศในเดือนเม.ย.ว่าในปีนี้กระทรวงของจีนจัดสรรงบประมาณ 1.54 แสนล้านหยวน (ประมาณ 7 แสนล้านบาท) เพื่ออุดหนุนและช่วยเหลือทางการเงินแก่กลุ่มคนที่ยากจนรุนแรงกว่า 4.74 ล้านคน ตามข้อมูลของกระทรวงกิจการพลเรือนในเดือนมิ.ย.67ง

อย่างไรก็ดี นับว่านโยบายแบบนี้ไม่ค่อยเกิดขึ้นมากนักในจีน ซึ่งรัฐบาลได้ประกาศหลังจากแบงก์ชาติจีนเปิดเผยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ซึ่งครอบคลุม ทั้งการลดดอกเบี้ยในตลาดเงิน นโยบายกระตุ้นการลงทุนในตลาดหุ้นและภาคอสังหาริมทรัพย์

รายงานระบุว่า หน่วยงานท้องถิ่นต้องดำเนินการให้เงินช่วยเหลือถึงมือผู้รับที่เป็นกลุ่มเป้าหมายก่อนวันที่ 1 ต.ค. เพื่อแสดงให้เห็นถึง ‘ความรักและความห่วงใยของพรรคและรัฐบาลที่มีต่อประชาชนผู้เดือดร้อน’

ในขณะเดียวกัน สำนักข่าวซินหัวรายงานเมื่อวันที่ 25 ก.ย.ว่า รัฐบาลกลางได้ออกนโยบายและสวัสดิการประกันสังคมแก่บัณฑิตจบใหม่ที่ยังไม่ได้งานทำภายในระยะเวลา 2 ปีหลังจบการศึกษา โดยมีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นการจ้างงาน

‘วันชาติ’ เป็นหนึ่งในวันหยุดที่สำคัญที่สุดในจีนที่มักจะเห็นการจับจ่ายใช้สอย การเดินทาง แต่ภาวะตกต่ำของภาคอสังหาริมทรัพย์และตลาดแรงงานที่ซบเซาได้กดดันการใช้จ่าย ทำให้บางนักเศรษฐศาสตร์เรียกร้องให้มีการแทรกแซงทางการคลังโดยตรงมากขึ้น

หวง อี้ผิง สมาชิกคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารประชาชนจีน ได้เรียกร้องให้รัฐบาลเพิ่มการใช้จ่ายเพื่อแก้ไขปัญหาการบริโภคที่อ่อนแอ ในการวิพากษ์วิจารณ์นโยบายเศรษฐกิจของจีนเมื่อต้นปีที่ผ่านมา โดยกล่าวว่า การแจกเงินสดให้แก่ครัวเรือนจะช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายของผู้บริโภค ในขณะที่การให้ความสำคัญกับสุขภาพทางการคลังมากเกินไปอาจเป็นอุปสรรคต่อเศรษฐกิจ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top