
สวัสดีนักอ่านทุกท่านครับ วันนี้ผมมีเรื่องราวดี ๆ เกี่ยวกับสกุลเงิน ‘บาท’ ที่เราๆ คุ้นเคยกันอย่างดีมาฝากครับ โดยเรื่องราวเกี่ยวกับสกุลเงินบาทครั้งนี้ ผมอ้างอิงมาจาก RUCHIR SHARMA ชาวอินเดีย ผู้ซึ่งเป็นนักลงทุน นักเขียน ผู้จัดการกองทุน และคอลัมนิสต์ของ Financial Times เขาเคยเป็นหัวหน้าฝ่ายธุรกิจระหว่างประเทศของ Rockefeller Capital Management และเคยเป็นผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการลงทุนของ Breakout Capital ซึ่งเป็นบริษัทการลงทุนที่เน้นตลาดเกิดใหม่ของ Morgan Stanley Investment Management ปัจจุบันเขาเป็นประธาน Rockefeller Capital Management บริษัทการเงินระดับโลก โดยเขาได้เขียนบทความเกี่ยวกับสกุลเงินบาทไว้ดังนี้ครับ (บทความต้นฉบับ www.ft.com/content/f280de11-48c7-4526-aa92-ad1e1b7b6ed1)

ในปี ค.ศ. 1997 ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางและจุดเริ่มต้นของวิกฤตการเงิน (วิกฤตต้มยำกุ้ง) แต่หลังจากวิกฤตผ่านพ้นไปแล้ว สกุลเงินบาทกลับกลายเป็นสกุลเงินที่มีเสถียรภาพในระยะยาว

ตั้งแต่ต้นปี ค.ศ. 1998 เงินบาทแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ ซึ่งถือว่าดีกว่าสกุลเงินเกิดใหม่อื่น ๆ ในโลก และดีกว่าสกุลเงินฟรังก์สวิสและสกุลเงินที่เทียบเท่าทั้งหมดในประเทศที่พัฒนาแล้ว
RUCHIR บอกว่า ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี ค.ศ. 1998 หรือเมื่อ ๒๕ ปีก่อนในเดือนนี้ (กุมภาพันธ์) กรุงเทพฯ กลายเป็นจุดศูนย์กลางของวิกฤตการเงินในเอเชีย การระเบิดของเงินบาทครั้งนั้นได้ก่อให้เกิดการล่มสลายของสกุลเงินและตลาดทุนอย่างต่อเนื่อง โดยมีผู้ประท้วงมากมายตามท้องถนนทั่วทั้งภูมิภาค และเกิดความวุ่นวายจนลุกลามใหญ่โต ในขณะที่ผู้นำโลกต่างก็พยายามชะลอการแพร่ระบาดของวิกฤตการเงินครั้งนี้ไม่ให้ลามไปทั่วโลก เศรษฐกิจของไทยและประเทศเพื่อนบ้านต่างก็ตกอยู่ในภาวะถดถอยและซบเซา

เมื่อครั้งนั้นเศรษฐกิจไทยหดตัวเกือบร้อยละ ๒๐ เนื่องจากหุ้นราคาร่วงมากกว่าร้อยละ ๖๐ และค่าเงินบาทอ่อนค่าลงมากกว่าครึ่งเมื่อเทียบกับดอลลาร์ ราคาหุ้นในกรุงเทพ ‘ถูก’ อย่างไม่น่าเชื่อ แต่ก็ไม่มีใครกล้าซื้อหุ้นไทย

เรื่องราววิกฤตในครั้งนั้นถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ และบทส่งท้ายกลับสร้างความประหลาดใจ เพราะตั้งแต่ต้นปี ค.ศ. 1998 เป็นต้นมา เรื่องราวเกี่ยวกับเงินบาทของประเทศไทยได้จางหายไปจากเรดาร์ทางการเงินทั่วโลก ด้วยเงินบาทได้พิสูจน์แล้วว่า มีความยืดหยุ่นอย่างไม่ธรรมดา โดยสามารถรักษามูลค่าเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ได้ดีกว่าสกุลเงินเกิดใหม่อื่น ๆ ของโลก และดีกว่าสกุลเงินอื่นในประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งหมด (ยกเว้นฟรังก์สวิส)

ในทางตรงกันข้ามที่ประเทศอินโดนีเซีย ในปี ค.ศ. 1998 เกิดเหตุการณ์ล้มอำนาจเผด็จการซูฮาร์โต เงินรูเปียห์ซื้อขายกันที่เกือบ 15,500 รูเปียห์ต่อดอลลาร์ ลดลงจาก 2,400 รูเปียห์ต่อดอลลาร์ ก่อนเกิดวิกฤต เงินบาทซื้อขายที่ 33 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งก่อนวิกฤตไม่เคยต่ำกว่า 26 บาทต่อดอลลาร์

ขณะที่ชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยแทบไม่รู้สึกว่าสินค้าราคาแพง พวกเขาสามารถหาห้องพักโรงแรมระดับ 5 ดาวได้ในราคาที่ต่ำกว่า 200 ดอลลาร์ต่อคืนได้ อาหารค่ำรสเลิศในภูเก็ตในราคาเพียง 30 ดอลลาร์เท่านั้น แม้ค่าเงินบาทจะแข็งค่า แต่ประเทศไทยก็สามารถแข่งขันได้ในระดับโลก ศูนย์กลางของวิกฤตกลายเป็นจุดยึดของความมั่นคง และเป็นบทเรียนแก่ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่อื่น ๆ

หลังปี ค.ศ. 1998 สังคมเกิดใหม่จำนวนมากหันมาใช้ระบบการเงินแบบอนุรักษ์นิยม โดยเฉพาะกลุ่มที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ธนาคารในอินโดนีเซียเปลี่ยนจากการตกเป็นเป้าของการวิพากษ์วิจารณ์มากมายมาเป็นต้นแบบของการจัดการที่ดี ฟิลิปปินส์และมาเลเซียมีการเคลื่อนไหวเพื่อควบคุมการขาดดุล แต่ไม่มีที่ใดในภูมิภาคนี้ที่เปลี่ยนแนวทางเศรษฐกิจแบบออร์โธดอกซ์* มากกว่าในประเทศไทย หลีกเลี่ยงส่วนเกินที่อาจทำให้ผู้คนทั้งในและนอกระบบเศรษฐกิจเกิดความแตกตื่น
เศรษฐกิจแบบออร์โธดอกซ์ คือ เมื่อเผชิญกับความขาดแคลนแล้วมนุษย์ตัดสินใจอย่างไร ซึ่งอาจเป็นการตัดสินใจส่วนบุคคล การตัดสินใจของครอบครัว การตัดสินใจทางธุรกิจ หรือการตัดสินใจทางสังคม และหากมองไปรอบ ๆ ตัวอย่างระมัดระวังแล้ว จะเห็นว่า ความขาดแคลนเป็นความจริงของชีวิต