กูรูระดับโลกชื่นชมศักยภาพของ ‘เงินบาท’ ‘แข็งแกร่ง-มีเสถียรภาพ’ แม้เผชิญวิกฤติเศรษฐกิจ

รูชีร์ ชาร์มา (Ruchir Sharma) นักลงทุนผู้มากประสบการณ์ ประธานบริษัทการเงินระดับโลก Rockefeller Capital Management ผู้ติดตามความเคลื่อนไหวของเงินสกุลต่างๆ ทั่วโลกมานานเกือบ 30 ปี ได้กล่าวถึง ‘เงินบาท’ ของไทยด้วยความชื่นชม ผ่านคอลัมน์ของ Financial Times (12 ก.พ. 2566) เนื่องด้วย เดือนกุมภาพันธ์ ปีนี้ จะครบรอบ 25 ปี ที่เขาเคยอยู่ในกรุงเทพมหานคร ในวันที่ไทยกำลังเผชิญวิกฤติ ‘ต้มยำกุ้ง’ อย่างหนักและลุกลามไปหลายประเทศในเอเชีย

ในช่วงเวลานั้น ค่าเงินบาทของไทยลดค่าลงอย่างรุนแรงกว่า 40% ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยที่หดตัวลงถึง 20% ในพริบตา ตลาดหุ้นดิ่งเหวกว่า 60% สถาบันการเงินหลายแห่งเข้าสู่ภาวะล้มละลาย หนี้สาธารณะพุ่งสูงจนรัฐบาลไทยต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากกองทุน IMF 

ตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. 2541 มานั้น แทบไม่มีนักลงทุนต่างชาติคนไหนกล้าลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ไทย เงินบาทเป็นสกุลเงินที่มองไม่เห็นอนาคต เป็นหนึ่งในวิกฤติการเงินที่จารึกไว้ในประวัติศาสตร์ของไทย

แต่สุดท้าย เงินบาทก็สามารถพลิกฟื้นขึ้นมาเป็นหนึ่งในเงินสกุลหลักของภูมิภาคอาเซียน สามารถรักษามูลค่าไว้ได้อย่างเหลือเชื่อ เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ กลายเป็นสกุลเงินที่แข็งแกร่ง มั่นคง กว่าเงินสกุลอื่นในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจใหม่ และดูดีกว่าเงินสกุลของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วหลายๆ ชาติ หากไม่นับ รวม Swiss Franc ด้วยซ้ำไป นับเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่ธรรมดาจริงๆ

หนึ่งในข้อดีของวิกฤติค่าเงินในครั้งนั้น ทำให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยเติบโต เนื่องจากค่าใช้จ่ายถูกลงมาก จึงสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาในประเทศได้เป็นจำนวนมาก อีกทั้งไทยยังมีแหล่งท่องเที่ยว และ ภาคบริการรองรับที่ดี ซึ่งช่วยส่งเสริมศักยภาพด้านการแข่งขันของไทย แม้ว่าค่าเงินบาทจะกลับมาแข็งค่าขึ้นแล้วก็ตาม จากประเทศที่เคยเป็นศูนย์กลางของวิกฤติค่าเงินกลับขึ้นมาเป็นหนึ่งในเสาหลักของอาเซียนและเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่อีกหลายๆ ประเทศ

อีกทั้งการดำเนินนโยบายด้านเศรษฐกิจ การเงินที่รัดกุมมาตลอดตั้งแต่เกิดวิกฤติค่าเงิน ที่ทำให้ระบบเศรษฐกิจไทยค่อยๆ ฟื้นตัว มีงบประมาณขาดดุลย์เฉลี่ยเพียง 1% ของ GDP ซึ่งน้อยกว่าครึ่งหนึ่งของหลายประเทศที่มีเศรษฐกิจระดับเดียวกัน มีเงินสำรองเพิ่มขึ้นได้ถึง 7% ต่อปี 

สิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือ ยังสามารถรักษาระดับอัตราเงินเฟ้อได้ที่ประมาณ 2% ซึ่งเป็นระดับเดียวกับประเทศสหรัฐอเมริกา ในช่วงหลังผ่านพ้นวิกฤติต้มยำกุ้ง และในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจใหม่ มีเพียง จีน ไต้หวัน และซาอุดีอาระเบียเท่านั้น ที่มีระดับอัตราเงินเฟ้อน้อยกว่าไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2541 เป็นต้นมา

ไทยเคยเกือบสูญเสียความเชื่อมั่นในค่าเงินบาทจากนโยบายตรึงค่าเงินตายตัวไว้กับดอลลาร์สหรัฐ และการทุ่มเม็ดเงินมหาศาลเพื่อปกป้องเงินบาท จากการโจมตีค่าเงินของนายทุนชาติตะวันตก บีบให้ไทยต้องปล่อยค่าเงินบาทลอยตัว จนเกิดหนี้สินจากเงินตราต่างประเทศมหาศาล 

แต่ในที่สุด ไทยยังคงรักษาเสถียรภาพของ ‘เงินบาท’ ไว้ได้อย่างมั่นคงด้วยข้อได้เปรียบด้านการท่องเที่ยว และภาคอุตสาหกรรมการผลิตที่สามารถดึงเม็ดเงินต่างชาติเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่อง แม้จะผ่านมรสุมทางการเมืองอย่างหนักตลอดระยะเวลา 25 ปี ที่แม้แต่สกุลเงินต่างชาติที่มั่นคงที่สุดสกุลหนึ่งของโลกอย่าง Swiss Franc ไม่เคยเจอ แต่ "เงินบาท" ก็ยังคงรักษาเสถียรภาพได้ในระดับเดียวกับสกุลเงินชั้นนำอื่นๆ ได้  จึงต้องขอยกให้ ‘เงินบาท’ เป็นสกุลเงินที่มีศักยภาพในการฟื้นตัวได้ดีที่สุดสกุลหนึ่งของโลกทีเดียว

เรื่อง: ยีนส์ อรุณรัตน์


อ้างอิง: Financial Times