Thursday, 25 April 2024
ค่าเงินบาท

อย่าตื่นค่าเงินผันผวน!! ดอลลาร์แข็งค่า เป็นปัญหาแต่ไม่ใช่วิกฤติ เหตุทุนสำรองไทยยังสูง ไม่ซ้ำรอยต้มยำกุ้งแน่

อย่าตื่นค่าเงินผันผวน!! ดอลลาร์แข็งค่า เป็นปัญหาแต่ไม่ใช่วิกฤติ เหตุทุนสำรองไทยยังสูง ไม่ซ้ำรอยต้มยำกุ้งแน่

เรื่อง : กรณ์ จาติกวณิช อดีตรมว.กระทรวงการคลัง

เงินบาทอ่อน หรือ ดอลลาร์แข็ง?!

เมื่อวานนี้อเมริกาเพิ่มดอกเบี้ยอย่างแรงอีก 0.75% ขึ้นไปอยู่ที่ 3.0-3.25% สูงที่สุดตั้งแต่ช่วงวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ปี 2008

ทำให้ส่วนต่างดอกเบี้ยกับไทยเพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 3% โดยที่ตลาดคาดการว่าดอกเบี้ยอเมริกาต้องขึ้นไปอีก 1% เต็มภายในปีนี้

เงินดอลลาร์จึงแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องเมื่อเทียบกับทุกสกุลเงิน

เรื่องนี้เป็นปัญหา แต่ไม่ใช่เป็นวิกฤติ!

วิกฤติจะเกิดขึ้นได้หากเราประกาศปักหลักสู้กับดอลลาร์ด้วยการกำหนดเป้าอัตราแลกเปลี่ยนที่สวนสภาวะตลาด ไม่ว่าเป้านั้นจะเป็น 35 บาทหรือเท่าไรก็ตาม

ถอดบทเรียนวิกฤตศรัทธาพา ‘ปอนด์’ ป่วย สู่ 3 ทางรอดค่าเงินบาท ที่ไม่ควรเดินตามรอย

ถือเป็นการปรับลดค่าเงินปอนด์อย่างรุนแรงเป็นผลโดยตรงจากนโยบายเศรษฐกิจของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีคลังคนใหม่ ตามที่นายกฯ Liz Truss ได้หาเสียงไว้ว่าจะทั้งเพิ่มเงินกู้อย่างมหาศาล และจะปรับลดภาษีพร้อมกัน ท่ามกลางความกดดันที่มีอยู่เดิมจากการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ ซึ่งอังกฤษขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอยู่แล้วถึง 8% ของ GDP และอาจจะเพิ่มเป็น 10% ได้ด้วยนโยบายของนายกฯ คนใหม่ ในขณะที่หนี้สาธารณะอยู่ที่กว่า 100% ของ GDP อยู่แล้ว

วันนี้เงินปอนด์อยู่ที่ประมาณ 1.08 ต่อดอลลาร์ มีอยู่ช่วงหนึ่งที่อ่อนค่าที่สุดเป็นประวัติศาสตร์เมื่อเทียบกับดอลลาร์ สาเหตุคือวิกฤติศรัทธา นักลงทุนสูญเสียความไว้วางใจในนโยบายรัฐบาล นี่คือสิ่งที่น่ากลัวที่สุด ไทยเราเองกำลังจะเข้าสู่ฤดูการเลือกตั้ง คือเข้าสู่ช่วงลดแลกแจกแถม เราจึงต้องตระหนักในความรับผิดชอบทางการคลัง 

วันนี้เราเป็นประเทศที่มีส่วนต่างดอกเบี้ยที่กว้างมากที่สุดในอาเซียนเมื่อเทียบกับดอกเบี้ยของอเมริกา หากทำอะไรให้เกิดวิกฤติศรัทธาขึ้นมาเราจะเสี่ยงที่จะถูกตลาดเงินกดดันให้ต้องเพิ่มดอกเบี้ยอย่างแรง ซึ่งจะไม่เป็นผลดีกับผู้ประกอบการและประชาชนที่เป็นหนี้ อย่าคิดว่าทำอะไรก็ได้ เราเป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจโลกที่วันนี้เปราะบางมาก ความน่าเชื่อถือ ความเชื่อมั่น เป็นเรื่องสำคัญที่สุด

3 บทวิเคราะห์ผลกระทบ เมื่อเงินบาทอ่อนค่า

ผลกระทบของเงินบาทที่อ่อนค่าต่อราคาสินค้านำเข้า ทำให้เราเริ่มเห็นสัญญาณการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของอัตราเงินเฟ้อในหลายประเทศ โดยเฉพาะราคาสินค้าโภคภัณฑ์และวัตถุดิบต่าง ๆ ซึ่งได้รับผลกระทบจาก supply disruption ที่เกิดขึ้นในช่วงการระบาดของ COVID-19 เงินบาทที่อ่อนค่าลงทำให้ต้นทุนการนำเข้าสูงขึ้นอีก และทำให้อัตราเงินเฟ้อของประเทศเพิ่มขึ้นได้ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดในช่วงที่ผ่านมาคือการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันขายปลีก ซึ่งเป็นผลพวงมาจากการที่ราคาน้ำมันดิบสูงขึ้นมาก ผนวกกับการอ่อนค่าของเงินบาท

นี่คือบทวิเคราะห์ 3 ประการ สำหรับสถานการณ์เงินบาทอ่อนค่าที่เกิดขึ้น

>> ผลกระทบของค่าเงินบาทต่อราคาสินค้านำเข้า ขึ้นอยู่กับชนิดของสินค้า และอำนาจตลาดของผู้นำเข้าเป็นสำคัญ

ในการประเมินการส่งผ่านของอัตราแลกเปลี่ยนไปยังราคาสินค้านำเข้า ผลโดยรวมพบว่าราคาสินค้านำเข้าโดยเฉลี่ยจะเพิ่มขึ้นประมาณ 0.6% เมื่อเงินบาทอ่อนค่าลง 1% ซึ่งแม้ว่าจะเป็นการส่งผ่านในลักษณะที่เรียกว่าไม่สมบูรณ์ (incomplete) แต่ก็สะท้อนว่าผู้นำเข้าต้องเป็นฝ่ายรับความเสี่ยงบางส่วนจากความผันผวนของค่าเงินแต่การส่งผ่านของอัตราแลกเปลี่ยนมายังราคาสินค้านำเข้าแตกต่างกันมากในแต่ละกลุ่มสินค้า โดยราคาของสินค้าบางกลุ่มอ่อนไหวมากต่อการเปลี่ยนแปลงของค่าเงิน อาทิ ผลิตภัณฑ์จากแร่และสินค้าจำพวกเคมีภัณฑ์ 

ขณะเดียวกัน สินค้าบางกลุ่มเผชิญกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินที่น้อยกว่า อาทิ สินค้าประเภทยานพาหนะ รวมถึงเครื่องจักรและอิเล็กทรอนิกส์  ผลการศึกษายังพบว่าผู้นำเข้าที่มีอำนาจตลาดสูง กล่าวคือ มีสัดส่วนการนำเข้าจากตลาดสินค้าหนึ่ง ๆ ในปริมาณมาก จะสามารถเจรจาต่อรองราคาได้ง่าย แต่ในกรณีของไทย พบว่า ผู้นำเข้าไทยส่วนใหญ่มีอำนาจตลาดค่อนข้างต่ำ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้ส่งออกจากต่างประเทศผลักภาระให้ผู้นำเข้าไทยต้องเป็นฝ่ายแบกรับผลกระทบจากการเคลื่อนไหวของค่าเงินได้

>> สกุลเงินที่ใช้ในการตั้งราคาสินค้านำเข้า มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อขนาดการส่งผ่านของค่าเงิน
ผลการศึกษาพบว่าสินค้านำเข้าส่วนมากมักจะอยู่ในรูปสกุลเงินหลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งดอลลาร์ สรอ. ในกรณีของไทยพบว่าสินค้านำเข้าตั้งราคาอยู่ในรูปดอลลาร์ สรอ. เป็นสัดส่วนสูงถึง 75% ของมูลค่าการนำเข้าทั้งหมด  ขณะที่การตั้งราคาผ่านสกุลเงินของประเทศผู้ส่งออก (เช่น ตั้งราคาสินค้าที่ไทยนำเข้าจากญี่ปุ่นในรูปสกุลเงินเยน) หรือเรียกว่า Producer Currency Pricing (PCP) คิดเป็นสัดส่วน 16% ส่วนการตั้งราคาสินค้านำเข้าในรูปเงินบาทหรือที่เรียกว่า Local Currency Pricing (LCP) มีเพียงแค่ 8% เท่านั้น 

สกุลเงินที่ใช้ในการตั้งราคาสินค้าทำให้การส่งผ่านของค่าเงินมีความแตกต่างกัน โดยหากราคาสินค้านำเข้าอยู่ในรูปดอลลาร์ สรอ. หรือสกุลเงินของผู้ส่งออก ผู้นำเข้าจะต้องเผชิญกับการส่งผ่านของค่าเงินที่ค่อนข้างสูง โดยจากผลการศึกษาพบว่าในระยะสั้น ราคาสินค้านำเข้าจะสูงขึ้นมากกว่า 0.7% เมื่อเงินบาทอ่อนค่าลง 1% เปรียบเทียบกับในกรณีที่ราคาสินค้านำเข้าอยู่ในรูปเงินบาทที่พบว่าราคาสินค้านำเข้าแทบจะไม่เปลี่ยนแปลงเมื่อเกิดการเคลื่อนไหวของค่าเงิน ซึ่งหมายความว่า ผู้ส่งออกจากต่างประเทศเป็นผู้แบกรับต้นทุนหรือความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนแทนผู้นำเข้า

เปรียบเทียบค่าเงินในภูมิภาคเอเชีย ต่อดอลลาร์สหรัฐฯ

เงินบาทยืนหนึ่ง!!

ปัจจุบันเงินบาทอยู่ที่ราว ๆ 33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าอย่างรวดเร็วเมื่อเทียบกับปลายปีที่แล้ว ซึ่งอยู่ที่เกือบ 38 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ 

อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นมา เงินบาทแข็งค่าแล้วกว่า 5% แข็งค่าที่สุดในเอเชีย ภายใต้ 3 ตัวแปร ได้แก่…

กูรูระดับโลกชื่นชมศักยภาพของ ‘เงินบาท’ ‘แข็งแกร่ง-มีเสถียรภาพ’ แม้เผชิญวิกฤติเศรษฐกิจ

รูชีร์ ชาร์มา (Ruchir Sharma) นักลงทุนผู้มากประสบการณ์ ประธานบริษัทการเงินระดับโลก Rockefeller Capital Management ผู้ติดตามความเคลื่อนไหวของเงินสกุลต่างๆ ทั่วโลกมานานเกือบ 30 ปี ได้กล่าวถึง ‘เงินบาท’ ของไทยด้วยความชื่นชม ผ่านคอลัมน์ของ Financial Times (12 ก.พ. 2566) เนื่องด้วย เดือนกุมภาพันธ์ ปีนี้ จะครบรอบ 25 ปี ที่เขาเคยอยู่ในกรุงเทพมหานคร ในวันที่ไทยกำลังเผชิญวิกฤติ ‘ต้มยำกุ้ง’ อย่างหนักและลุกลามไปหลายประเทศในเอเชีย

ในช่วงเวลานั้น ค่าเงินบาทของไทยลดค่าลงอย่างรุนแรงกว่า 40% ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยที่หดตัวลงถึง 20% ในพริบตา ตลาดหุ้นดิ่งเหวกว่า 60% สถาบันการเงินหลายแห่งเข้าสู่ภาวะล้มละลาย หนี้สาธารณะพุ่งสูงจนรัฐบาลไทยต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากกองทุน IMF 

ตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. 2541 มานั้น แทบไม่มีนักลงทุนต่างชาติคนไหนกล้าลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ไทย เงินบาทเป็นสกุลเงินที่มองไม่เห็นอนาคต เป็นหนึ่งในวิกฤติการเงินที่จารึกไว้ในประวัติศาสตร์ของไทย

แต่สุดท้าย เงินบาทก็สามารถพลิกฟื้นขึ้นมาเป็นหนึ่งในเงินสกุลหลักของภูมิภาคอาเซียน สามารถรักษามูลค่าไว้ได้อย่างเหลือเชื่อ เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ กลายเป็นสกุลเงินที่แข็งแกร่ง มั่นคง กว่าเงินสกุลอื่นในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจใหม่ และดูดีกว่าเงินสกุลของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วหลายๆ ชาติ หากไม่นับ รวม Swiss Franc ด้วยซ้ำไป นับเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่ธรรมดาจริงๆ

หนึ่งในข้อดีของวิกฤติค่าเงินในครั้งนั้น ทำให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยเติบโต เนื่องจากค่าใช้จ่ายถูกลงมาก จึงสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาในประเทศได้เป็นจำนวนมาก อีกทั้งไทยยังมีแหล่งท่องเที่ยว และ ภาคบริการรองรับที่ดี ซึ่งช่วยส่งเสริมศักยภาพด้านการแข่งขันของไทย แม้ว่าค่าเงินบาทจะกลับมาแข็งค่าขึ้นแล้วก็ตาม จากประเทศที่เคยเป็นศูนย์กลางของวิกฤติค่าเงินกลับขึ้นมาเป็นหนึ่งในเสาหลักของอาเซียนและเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่อีกหลายๆ ประเทศ

‘เงินบาท’ สกุลเงินที่ยืดหยุ่นที่สุดในโลก แม้เคยเผชิญ ‘วิกฤตต้มยำกุ้ง’ เมื่อ 26 ปีก่อน

สวัสดีนักอ่านทุกท่านครับ วันนี้ผมมีเรื่องราวดี ๆ เกี่ยวกับสกุลเงิน ‘บาท’ ที่เราๆ คุ้นเคยกันอย่างดีมาฝากครับ โดยเรื่องราวเกี่ยวกับสกุลเงินบาทครั้งนี้ ผมอ้างอิงมาจาก RUCHIR SHARMA ชาวอินเดีย ผู้ซึ่งเป็นนักลงทุน นักเขียน ผู้จัดการกองทุน และคอลัมนิสต์ของ Financial Times เขาเคยเป็นหัวหน้าฝ่ายธุรกิจระหว่างประเทศของ Rockefeller Capital Management และเคยเป็นผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการลงทุนของ Breakout Capital ซึ่งเป็นบริษัทการลงทุนที่เน้นตลาดเกิดใหม่ของ Morgan Stanley Investment Management ปัจจุบันเขาเป็นประธาน Rockefeller Capital Management  บริษัทการเงินระดับโลก โดยเขาได้เขียนบทความเกี่ยวกับสกุลเงินบาทไว้ดังนี้ครับ (บทความต้นฉบับ www.ft.com/content/f280de11-48c7-4526-aa92-ad1e1b7b6ed1)

ในปี ค.ศ. 1997 ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางและจุดเริ่มต้นของวิกฤตการเงิน (วิกฤตต้มยำกุ้ง) แต่หลังจากวิกฤตผ่านพ้นไปแล้ว สกุลเงินบาทกลับกลายเป็นสกุลเงินที่มีเสถียรภาพในระยะยาว

ตั้งแต่ต้นปี ค.ศ. 1998 เงินบาทแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ ซึ่งถือว่าดีกว่าสกุลเงินเกิดใหม่อื่น ๆ ในโลก และดีกว่าสกุลเงินฟรังก์สวิสและสกุลเงินที่เทียบเท่าทั้งหมดในประเทศที่พัฒนาแล้ว

RUCHIR บอกว่า ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี ค.ศ. 1998 หรือเมื่อ ๒๕ ปีก่อนในเดือนนี้ (กุมภาพันธ์) กรุงเทพฯ กลายเป็นจุดศูนย์กลางของวิกฤตการเงินในเอเชีย การระเบิดของเงินบาทครั้งนั้นได้ก่อให้เกิดการล่มสลายของสกุลเงินและตลาดทุนอย่างต่อเนื่อง โดยมีผู้ประท้วงมากมายตามท้องถนนทั่วทั้งภูมิภาค และเกิดความวุ่นวายจนลุกลามใหญ่โต ในขณะที่ผู้นำโลกต่างก็พยายามชะลอการแพร่ระบาดของวิกฤตการเงินครั้งนี้ไม่ให้ลามไปทั่วโลก เศรษฐกิจของไทยและประเทศเพื่อนบ้านต่างก็ตกอยู่ในภาวะถดถอยและซบเซา

เมื่อครั้งนั้นเศรษฐกิจไทยหดตัวเกือบร้อยละ ๒๐ เนื่องจากหุ้นราคาร่วงมากกว่าร้อยละ ๖๐ และค่าเงินบาทอ่อนค่าลงมากกว่าครึ่งเมื่อเทียบกับดอลลาร์ ราคาหุ้นในกรุงเทพ ‘ถูก’ อย่างไม่น่าเชื่อ แต่ก็ไม่มีใครกล้าซื้อหุ้นไทย

เรื่องราววิกฤตในครั้งนั้นถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ และบทส่งท้ายกลับสร้างความประหลาดใจ เพราะตั้งแต่ต้นปี ค.ศ. 1998 เป็นต้นมา เรื่องราวเกี่ยวกับเงินบาทของประเทศไทยได้จางหายไปจากเรดาร์ทางการเงินทั่วโลก ด้วยเงินบาทได้พิสูจน์แล้วว่า มีความยืดหยุ่นอย่างไม่ธรรมดา โดยสามารถรักษามูลค่าเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ได้ดีกว่าสกุลเงินเกิดใหม่อื่น ๆ ของโลก และดีกว่าสกุลเงินอื่นในประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งหมด (ยกเว้นฟรังก์สวิส)

ในทางตรงกันข้ามที่ประเทศอินโดนีเซีย ในปี ค.ศ. 1998 เกิดเหตุการณ์ล้มอำนาจเผด็จการซูฮาร์โต เงินรูเปียห์ซื้อขายกันที่เกือบ 15,500 รูเปียห์ต่อดอลลาร์ ลดลงจาก 2,400 รูเปียห์ต่อดอลลาร์ ก่อนเกิดวิกฤต เงินบาทซื้อขายที่ 33 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งก่อนวิกฤตไม่เคยต่ำกว่า 26 บาทต่อดอลลาร์

ขณะที่ชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยแทบไม่รู้สึกว่าสินค้าราคาแพง พวกเขาสามารถหาห้องพักโรงแรมระดับ 5 ดาวได้ในราคาที่ต่ำกว่า 200 ดอลลาร์ต่อคืนได้ อาหารค่ำรสเลิศในภูเก็ตในราคาเพียง 30 ดอลลาร์เท่านั้น แม้ค่าเงินบาทจะแข็งค่า แต่ประเทศไทยก็สามารถแข่งขันได้ในระดับโลก ศูนย์กลางของวิกฤตกลายเป็นจุดยึดของความมั่นคง และเป็นบทเรียนแก่ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่อื่น ๆ

หลังปี ค.ศ. 1998 สังคมเกิดใหม่จำนวนมากหันมาใช้ระบบการเงินแบบอนุรักษ์นิยม โดยเฉพาะกลุ่มที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ธนาคารในอินโดนีเซียเปลี่ยนจากการตกเป็นเป้าของการวิพากษ์วิจารณ์มากมายมาเป็นต้นแบบของการจัดการที่ดี ฟิลิปปินส์และมาเลเซียมีการเคลื่อนไหวเพื่อควบคุมการขาดดุล แต่ไม่มีที่ใดในภูมิภาคนี้ที่เปลี่ยนแนวทางเศรษฐกิจแบบออร์โธดอกซ์* มากกว่าในประเทศไทย หลีกเลี่ยงส่วนเกินที่อาจทำให้ผู้คนทั้งในและนอกระบบเศรษฐกิจเกิดความแตกตื่น

เศรษฐกิจแบบออร์โธดอกซ์ คือ เมื่อเผชิญกับความขาดแคลนแล้วมนุษย์ตัดสินใจอย่างไร ซึ่งอาจเป็นการตัดสินใจส่วนบุคคล การตัดสินใจของครอบครัว การตัดสินใจทางธุรกิจ หรือการตัดสินใจทางสังคม และหากมองไปรอบ ๆ ตัวอย่างระมัดระวังแล้ว จะเห็นว่า ความขาดแคลนเป็นความจริงของชีวิต

2 กรกฎาคม พ.ศ. 2540  ไทยประกาศลอยตัวค่าเงินบาท จุดเริ่มต้นสู่ ‘วิกฤตต้มยำกุ้ง’

วันนี้เมื่อ 26 ปีก่อน ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศลอยตัวค่าเงินบาท หลังจากถูกโจมตีค่าเงินบาทอย่างหนัก ทำให้อัตราแลกเปลี่ยนจาก 25 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ พุ่งขึ้นไปที่ 40 บาททันที

วันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2540 วันอีกหนึ่งวันที่คนไทยหลายคนยังจดจำไม่ลืม เมื่อรัฐบาลไทยในสมัย พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นนายกรัฐมนตรี ประกาศลอยตัวค่าเงินบาท ทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงอย่างหนัก จากอัตราแลกเปลี่ยน 25 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ขึ้นไปทันทีที่ 40 บาท และไต่ขึ้นไปเรื่อย ๆ จนถึง 52 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลกระทบอย่างหนักกับหลายบริษัทที่ไปกู้เงินดอลลาร์สหรัฐมาลงทุน

จากภาวการณ์ลดลงของค่าเงินบาทได้ส่งผลต่อภาระหนี้ต่างประเทศเป็นอันมาก เพราะดอกเบี้ยที่ต้องชำระคืนเพิ่มสูงเป็นอันมาก (ก่อนเกิดวิกฤต กู้มาในอัตราเพียง 1 ดอลลาร์เท่ากับ 25 บาท) ในปี 2533 ประเทศไทยเป็นหนี้ต่างประเทศ 29,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเพิ่มเป็น 82,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2539 และเมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจขึ้นในปี 2540 ไทยเป็นหนี้ต่างประเทศสูงถึง 109,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จำแนกเป็นหนี้ภาครัฐ 24,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หนี้ภาคเอกชน 85,200 ล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นภาครัฐเท่ากับร้อยละ 22.5 และหนี้ภาคเอกชนเท่ากับ 77.5 ของหนี้ต่างประเทศทั้งหมด

จากวิกฤตเศรษฐกิจ ในปี 2540 ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยและได้ขยายไปสู่ประเทศต่างในเอเชียอย่างรวดเร็ว จนถูกขนานนามว่า ‘วิกฤตต้มยำกุ้ง’ ที่คนทั่วโลกรู้จักกันดี

วิกฤตครั้งนั้น ยังส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยเป็นอันมาก โดยในช่วง 3 ปีแรกของแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 8 (พ.ศ. 2540 – 2542) อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจติดลบคือ เท่ากับ –2.6 โดยที่ภาคเกษตรกรรมขยายตัวเท่ากับร้อยละ 0.8 และภาคอุตสาหกรรมเท่ากับร้อยละ 0.4 ในช่วงเวลาเดียวกัน ซึ่งมีผลให้รายได้ของคนไทยลดลงในปี พ.ศ. 2540 รายได้ประชาชาติต่อหัวต่อปีของคนไทยเท่ากับ 75,991 บาท และลดลงเท่ากับ 73,771 บาท ในปี 2542 

นอกจากนี้อัตราเงินเฟ้อได้เพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากค่าเงินบาทที่อ่อนตัวลงได้สร้างแรงกดดันให้ต้นทุนวัตถุดิบที่เป็นสินค้านำเข้ามีราคาสูงขึ้น รวมทั้งค่าขนส่งและค่าบริการสาธารณูปโภคสูงขึ้นตามราคาน้ำมัน ในปี พ.ศ. 2540 อัตราเงินเฟ้อตลอดทั้งปีสูงขึ้นอยู่ในระดับร้อยละ 6 และเพิ่มสูงขึ้นเป็นร้อยละ 8.1 ในปี พ.ศ. 2541 มีคนว่างงานเนื่องจากการถูกปลดและบริษัทล้มละลายเกือบ 1 ล้านคน


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top