3 บทวิเคราะห์ผลกระทบ เมื่อเงินบาทอ่อนค่า

ผลกระทบของเงินบาทที่อ่อนค่าต่อราคาสินค้านำเข้า ทำให้เราเริ่มเห็นสัญญาณการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของอัตราเงินเฟ้อในหลายประเทศ โดยเฉพาะราคาสินค้าโภคภัณฑ์และวัตถุดิบต่าง ๆ ซึ่งได้รับผลกระทบจาก supply disruption ที่เกิดขึ้นในช่วงการระบาดของ COVID-19 เงินบาทที่อ่อนค่าลงทำให้ต้นทุนการนำเข้าสูงขึ้นอีก และทำให้อัตราเงินเฟ้อของประเทศเพิ่มขึ้นได้ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดในช่วงที่ผ่านมาคือการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันขายปลีก ซึ่งเป็นผลพวงมาจากการที่ราคาน้ำมันดิบสูงขึ้นมาก ผนวกกับการอ่อนค่าของเงินบาท

นี่คือบทวิเคราะห์ 3 ประการ สำหรับสถานการณ์เงินบาทอ่อนค่าที่เกิดขึ้น

>> ผลกระทบของค่าเงินบาทต่อราคาสินค้านำเข้า ขึ้นอยู่กับชนิดของสินค้า และอำนาจตลาดของผู้นำเข้าเป็นสำคัญ

ในการประเมินการส่งผ่านของอัตราแลกเปลี่ยนไปยังราคาสินค้านำเข้า ผลโดยรวมพบว่าราคาสินค้านำเข้าโดยเฉลี่ยจะเพิ่มขึ้นประมาณ 0.6% เมื่อเงินบาทอ่อนค่าลง 1% ซึ่งแม้ว่าจะเป็นการส่งผ่านในลักษณะที่เรียกว่าไม่สมบูรณ์ (incomplete) แต่ก็สะท้อนว่าผู้นำเข้าต้องเป็นฝ่ายรับความเสี่ยงบางส่วนจากความผันผวนของค่าเงินแต่การส่งผ่านของอัตราแลกเปลี่ยนมายังราคาสินค้านำเข้าแตกต่างกันมากในแต่ละกลุ่มสินค้า โดยราคาของสินค้าบางกลุ่มอ่อนไหวมากต่อการเปลี่ยนแปลงของค่าเงิน อาทิ ผลิตภัณฑ์จากแร่และสินค้าจำพวกเคมีภัณฑ์ 

ขณะเดียวกัน สินค้าบางกลุ่มเผชิญกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินที่น้อยกว่า อาทิ สินค้าประเภทยานพาหนะ รวมถึงเครื่องจักรและอิเล็กทรอนิกส์  ผลการศึกษายังพบว่าผู้นำเข้าที่มีอำนาจตลาดสูง กล่าวคือ มีสัดส่วนการนำเข้าจากตลาดสินค้าหนึ่ง ๆ ในปริมาณมาก จะสามารถเจรจาต่อรองราคาได้ง่าย แต่ในกรณีของไทย พบว่า ผู้นำเข้าไทยส่วนใหญ่มีอำนาจตลาดค่อนข้างต่ำ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้ส่งออกจากต่างประเทศผลักภาระให้ผู้นำเข้าไทยต้องเป็นฝ่ายแบกรับผลกระทบจากการเคลื่อนไหวของค่าเงินได้

>> สกุลเงินที่ใช้ในการตั้งราคาสินค้านำเข้า มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อขนาดการส่งผ่านของค่าเงิน
ผลการศึกษาพบว่าสินค้านำเข้าส่วนมากมักจะอยู่ในรูปสกุลเงินหลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งดอลลาร์ สรอ. ในกรณีของไทยพบว่าสินค้านำเข้าตั้งราคาอยู่ในรูปดอลลาร์ สรอ. เป็นสัดส่วนสูงถึง 75% ของมูลค่าการนำเข้าทั้งหมด  ขณะที่การตั้งราคาผ่านสกุลเงินของประเทศผู้ส่งออก (เช่น ตั้งราคาสินค้าที่ไทยนำเข้าจากญี่ปุ่นในรูปสกุลเงินเยน) หรือเรียกว่า Producer Currency Pricing (PCP) คิดเป็นสัดส่วน 16% ส่วนการตั้งราคาสินค้านำเข้าในรูปเงินบาทหรือที่เรียกว่า Local Currency Pricing (LCP) มีเพียงแค่ 8% เท่านั้น 

สกุลเงินที่ใช้ในการตั้งราคาสินค้าทำให้การส่งผ่านของค่าเงินมีความแตกต่างกัน โดยหากราคาสินค้านำเข้าอยู่ในรูปดอลลาร์ สรอ. หรือสกุลเงินของผู้ส่งออก ผู้นำเข้าจะต้องเผชิญกับการส่งผ่านของค่าเงินที่ค่อนข้างสูง โดยจากผลการศึกษาพบว่าในระยะสั้น ราคาสินค้านำเข้าจะสูงขึ้นมากกว่า 0.7% เมื่อเงินบาทอ่อนค่าลง 1% เปรียบเทียบกับในกรณีที่ราคาสินค้านำเข้าอยู่ในรูปเงินบาทที่พบว่าราคาสินค้านำเข้าแทบจะไม่เปลี่ยนแปลงเมื่อเกิดการเคลื่อนไหวของค่าเงิน ซึ่งหมายความว่า ผู้ส่งออกจากต่างประเทศเป็นผู้แบกรับต้นทุนหรือความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนแทนผู้นำเข้า

>> เงินบาทอ่อนค่าส่งผลกระทบต่อราคาสินค้านำเข้า มากกว่ากรณีเงินบาทแข็งค่า

ข้อสรุปจากการศึกษาพบว่า การอ่อนค่าของเงินบาทส่งผลให้ราคาสินค้านำเข้าเปลี่ยนแปลงในขนาดที่สูงกว่าการแข็งค่า ซึ่งส่วนหนึ่งคาดว่าเป็นผลจากอำนาจตลาดของผู้นำเข้าไทยที่อยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับผู้ส่งออกจากต่างประเทศ การที่เงินบาทอ่อนค่าลงส่งผลให้ต้นทุนการนำเข้าสูงขึ้น ผู้ส่งออกจากต่างประเทศอาจเลือกที่จะไม่ปรับลดราคาสินค้าของตนลงเพื่อคงอัตรากำไร (profit margin) ให้อยู่ในระดับใกล้เคียงเดิม ในทางกลับกัน เมื่อเงินบาทมีทิศทางแข็งค่าขึ้น ถึงแม้ว่าผู้นำเข้าจะได้ประโยชน์จากต้นทุนการนำเข้าที่ถูกลง แต่ผู้ส่งออกจากต่างประเทศอาจตัดสินใจปรับขึ้นราคาสินค้าของตนเพื่อให้ได้ profit margin เพิ่มขึ้น

โดยสรุปแล้ว ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนต่อราคาสินค้านำเข้ามีความซับซ้อนและขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มหรือลักษณะของสินค้า อำนาจตลาดของผู้ประกอบการ สกุลเงินที่ใช้ในการตั้งราคาสินค้า รวมถึงทิศทางการเคลื่อนไหวของค่าเงิน ดังนั้น การประเมินผลกระทบของค่าเงินต่อภาคเศรษฐกิจต่างๆ ตลอดจนแรงกดดันเงินเฟ้อในภาพรวมจึงจำเป็นต้องคำนึงถึงปัจจัยทั้งหลายเหล่านี้ประกอบในการตัดสินใจ


ที่มา : สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์