'อ.พงษ์ภาณุ' หวั่น!! 'ค่าเงินบาทอ่อน' สวน 'ดอกเบี้ยพุ่ง' ส่อสัญญาณขัดแย้ง 'นโยบายการคลัง-การเงิน' ไทย

ทีมข่าว THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ที่พูดคุยในรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ในประเด็น ตลาดเงินตลาดทุนทั่วโลกกับความผันผวนหลังจาก ธนาคารกลางสหรัฐ หรือ FED (Federal Reserve Bank) คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 5.25-5.50% และจะส่งผลต่อตลาดการเงินไทยหรือไม่อย่างไร เมื่อวันที่ 1 ต.ค.66 โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า...

ตลาดเงินตลาดทุนทั่วโลกมีความผันผวนหลังจาก Federal Reserve คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 5.25-5.50% แต่ออกการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกายังมีความร้อนแรงและอาจมีความจำเป็นต้องปรับดอกเบี้ยขึ้นอีกครั้งก่อนสิ้นปี

ตลาดการเงินไทยก็ไม่พ้นจากความผันผวนนี้ แต่น่าจะรุนแรงกว่าความผันผวนในตลาดโลกด้วยซ้ำ เพราะค่าเงินบาทอ่อนตัวลงเป็นประวัติการถึงระดับ 36.3 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาล 10 ปี กระโดดแรงขึ้นมาอยู่ที่กว่า 3% ซึ่งถือว่าผิดธรรมชาติที่ดอกเบี้ยขึ้น แต่ค่าเงินกลับอ่อนลง

ความผิดปกติที่เกิดขึ้นในตลาดการเงินไทยเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงความขัดแย้งและ/หรือความแตกต่างของทิศทางนโยบายการคลังและนโยบายการเงิน ในช่วงการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลไปสู่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน 

แน่นอนทุกฝ่ายเห็นด้วยว่าธนาคารแห่งประเทศไทย ในฐานะธนาคารกลาง ต้องมีความเป็นอิสระจากฝ่ายการเมือง แต่ความอิสระก็ย่อมต้องมีขอบเขต 

ที่ผ่านมาต้องถือว่าแบงก์ชาติผิดพลาดในเรื่องจังหวะเวลาการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายล่าช้า ทำให้ปี 2565 เงินเฟ้อไทยทะยานสูงสุดในอาเซียนที่ 6.1% แม้ว่าจะโชคดีที่เงินเฟ้อทั่วโลกลดลงในช่วงที่ผ่านมาเพราะราคาพลังงานลดลง แต่ไม่ใช่เพราะการดำเนินนโยบายการเงินที่เก่งกาจแต่อย่างไร และอัตราดอกเบี้ยระยะยาวที่กระโดดขึ้นฉับพลันก็แสดงให้เห็นว่าแบงก์ชาติไม่ยอมรับและไม่ตอบสนองต่อแนวทางของรัฐบาลใหม่ในการใช้นโยบายการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ (Fiscal Stimulus) แต่อย่างใด

เรื่องยังไม่จบอยู่เท่านี้ เมื่อ 27 กันยายนที่ผ่านมา กนง. มีมติปรับดอกเบี้ยนโยบายขึ้นอีก 0.25% เป็น 2.50% โดยไร้เหตุผลทางเศรษฐกิจสนับสนุน และน่าจะถือว่าสวนทางกับนโยบายการคลังของรัฐบาลอย่างเห็นได้ชัด 

ความขัดแย้งทางนโยบายนี้ได้ทำลายความมั่นใจและสร้างความปั่นป่วนอย่างรุนแรงในตลาดการเงิน ทั้งตลาดหุ้น ตลาดหนี้ และตลาดอัตราแลกเปลี่ยน รวมทั้งอาจทำให้นโยบายการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลเกิดการสะดุดได้

เราเชื่อในความเป็นอิสระของธนาคารกลาง แต่ความอิสระนี้จะต้องควบคู่ไปกับความรับผิดชอบต่อสังคม (Accountability) ไม่ใช่นึกจะทำอะไรก็ทำได้ตามใจชอบ ความขัดแย้งระหว่างนโยบายการคลังและนโยบายการเงินที่กำลังเกิดขึ้นนี้ไม่เป็นผลดีต่อประเทศชาติเลย