Tuesday, 30 April 2024
อลงกรณ์

“เฉลิมชัย” ปธ.ฟรุ้ทบอร์ด ปฏิรูปผลไม้ครั้งใหญ่!! วาง 3 กระทรวง ‘เกษตร-อุตสาหกรรม-พาณิชย์’ เห็นชอบงบประมาณปี 65 ตั้งทีมขับเคลื่อนศูนย์บริหารจัดการมหานครผลไม้และสนามบินจันทบุรี มอบ”อลงกรณ์”เป็นปธ.

วันนี้ (14 ต.ค. 64) ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบหมายให้ นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรี เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (หรุ้ทบอร์ด)ครั้งที่ 1/2565 ผ่านระบบการประชุมทางไกล (Video Conference) Application ZOOM Cloud Meetings พร้อมด้วย นายนราพัฒน์ แก้วทอง กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายอำพันธุ์ เวฬุตันติ รองปลัด กษ. นายประยูร อินสกุล รองปลัด กษ. ดร.สมบัติ ตงเต๊า รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร  นายอนันต์ แก้วกำเนิด รองผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ผู้แทนกระทรวงพาณิชย์ ผู้แทนผู้ประกอบการ ภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และผู้แทนเกษตรกรชาวสวนผลไม้ และนายขจร เราประเสริฐ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการฯ ร่วมกันหารือประชุมขับเคลื่อนโดยมีประเด็นผลการดำเนินงานการบริหารจัดการผลไม้ในรอบฤดูกาลผลิตที่ 2/2564 ทั่วประเทศ

ผลการจัดประชุมกลุ่มย่อย Focus group เพื่อวิเคราะห์ปัญหาอุปสรรคการบริหารจัดการผลไม้ทั้งระบบ คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการและคณะทำงาน ภายใต้คณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ มาตรการบริหารจัดการผลไม้ ปี 2565 โดย กระทรวงพาณิชย์ และร่วมกันพิจารณาโครงการบริหารจัดการผลไม้ ปี 2565 ที่เสนอโดยสำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ ตามยุทธศาสตร์ “ตลาดนำการผลิต” และนโยบาย “เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด” ต่อไป

การบริหารจัดการผลไม้ปี 2564 ของภาคเหนือ (ลำไย) และภาคใต้ (ทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกอง) ในภาพรวมสอดคล้องกับแนวทางบริหารจัดการผลไม้ปี 2564 - 2566 โดยจังหวัดสามารถบริหารจัดการผลไม้แบบเบ็ดเสร็จด้วยตัวเอง โดยผ่านกลไกของคณะกรรมการเพื่อแก้ปัญหาเกษตรกรอันเนื่องมาจากผลผลิตการเกษตรระดับจังหวัด (คพจ.) ในเชิงคุณภาพสอดคล้องตามยุทธศาสตร์พัฒนาผลไม้ไทย พ.ศ.2558 - 2564 และในเชิงปริมาณที่เน้นการจัดสมดุลอุปสงค์และอุปทาน โดยผลไม้ภาคเหนือ (ลำไย) ปริมาณ 671,308 ตัน และผลไม้ภาคใต้ (ทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกอง) ปริมาณ 785,459 ตัน มีการกระจายผลผลิตผ่านกลไกตลาดปกติ โดย คพจ. และเกษตรกรสามารถจำหน่ายผลผลิตในราคาไม่ต่ำกว่าราคาต้นทุนการผลิต และราคาเฉลี่ยของผลผลิตตลอดฤดูกาลสูงกว่าราคาต้นทุนการผลิตไม่น้อยกว่าร้อยละ 30

จากสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) ในช่วงกลางปีที่ผ่านมา ได้กระทบต่อแผนการบริหารจัดการผลไม้ทำให้ทั้งการส่งออก การแปรรูป และการกระจายในประเทศ ส่งผลให้เกษตรกรได้รับความเดือดร้อน นั้น ได้มีการจัด Focus group วิเคราะห์ปัญหาอุปสรรคการบริหารจัดการผลไม้ โดยร่วมกันระหว่าง ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคเกษตรกร ร่วมกันแสดงความคิดเห็นเชิงตั้งข้อสังเกตถึง “ปัญหาและอุปสรรค” (Pain Point) ใน ประเด็นโครงสร้าง ระบบ และการบริหารจัดการ Fruit Board ประเด็นกลไกการทำงานในภาวะวิกฤต ประเด็นแผนงาน โครงการ และงบประมาณ รวมไปถึงแนวทางการสร้างมูลค่าเพิ่มและแบรนดิ้ง (Branding) ผลไม้ การพัฒนากลไกการค้าผลไม้และการตลาดเชิงรุกทั้งในและต่างประเทศ การบริหารจัดการล้ง การบริหารจัดการระดับ Area based ผลไม้ภาคตะวันออก-ใต้-ใต้ชายแดน การบริหารจัดการระดับ Area based ผลไม้ภาคเหนือ การจัดการปัญหาและอุปสรรคการบริหารจัดการผลไม้รายสินค้า (ทุเรียน, ลำไย, มังคุด, เงาะ, ลองกอง และมะม่วง) โดยข้อมูลดังกล่าวได้ให้สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร รับทราบและพิจารณาใช้ประโยชน์ และนำมาวางแผนเพื่อรับมือวิกฤติการณ์ในรูปแบบต่าง ๆ ในอนาคต คณะกรรมการฯ รับทราบคำสั่งของดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานฟรุ้ทบอร์ดในการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการและคณะทำงาน ครอบคลุมทั้งระบบ ประกอบด้วย

1. คณะอนุกรรมการภายใต้คณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้

 1) คณะอนุกรรมการพัฒนาและบริหารการผลิต

 2) คณะอนุกรรมการพัฒนาและบริหารการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า

 3) คณะอนุกรรมการพัฒนาและบริหารการตลาด

 4) คณะอนุกรรมการพัฒนาและบริหารการผลไม้ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

 5) คณะอนุกรรมการพัฒนาและบริหารการผลไม้ภาคตะวันออก ภาคใต้ ภาคอื่นๆ

2. คณะทำงานภายใต้คณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้

 1) คณะทำงานพัฒนาระบบข้อมูลและโลจิสติกส์

 2) คณะทำงานศึกษาเสถียรภาพกลุ่มสินค้าลำไย

 3) คณะทำงานศึกษาเสถียรภาพกลุ่มสินค้าทุเรียน

 4) คณะทำงานแก้ไขปัญหาผลไม้ล่วงหน้าทั้งระบบ

ในด้านการรองรับและแก้ไขปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นประกอบกับภาพรวมผลไม้ไทยจะมีผลผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 3,500,000 ตัน เพิ่มขึ้นประมาณ 8% โดยกระทรวงพาณิชย์ ได้กำหนด 17 มาตรการรองรับผลไม้ ปี 2565 ล่วงหน้า 6 เดือน ประกอบด้วย

1.มาตรการเร่งรัดตรวจและรับรอง GAP ซึ่งมีเป้าหมายในปี 2565 ไม่ต่ำกว่า 120,000 แปลง

2.มาตรการช่วยผู้ประกอบการหรือเกษตรกรหรือล้งกระจายผลผลิตผลไม้ออกนอกแหล่งผลิต กิโลกรัมละ 3 บาท ปริมาณ 80,000 ตัน

3.มาตรการเสริมสภาพคล่องให้ผู้ส่งออกโดยจะช่วยเหลือดอกเบี้ยร้อยละ 3 และช่วยผู้ส่งออกที่ส่งออกผลไม้อีกกิโลกรัมละ 5 บาท ปริมาณ 60,000 ตัน

4. กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตร สนับสนุนให้มีการใช้พระราชบัญญัติเกษตรพันธสัญญา การทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าด้านผลไม้ โดยจะสนับสนุนให้มีการทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้า เพื่อเกษตรกรได้ทราบว่าขายผลไม้ได้เท่าไหร่ มีคนซื้อที่มีหลักประกัน เซ็นสัญญาตามกฏหมายชัดเจนไม่ต่ำกว่า 30,000 ตัน

5.มาตรการส่งเสริมการบริโภคผลไม้ในประเทศ ประสานงานกับสายการบินต่าง ๆ เปิดโอกาสให้โหลดผลไม้ขึ้นเครื่องบินในประเทศไทยฟรี 25 กิโลกรัม ตั้งแต่เดือนเมษายนปี 2565 เป็นต้นไป

6.มาตรการช่วยสนับสนุนกล่อง พร้อมค่าจัดส่งผลไม้ที่ขายตรงจากเกษตรกรหรือกลุ่มเกษตรกร สหกรณ์ไปยังผู้บริโภคโดยตรงโดยสนับสนุนกล่องมากขึ้นกว่าปี 2564 ที่สนับสนุน 200,000 กล่อง ปี 2565 จะสนับสนุนถึง 300,000 กล่อง

7.ในช่วงที่ผลไม้ออกเยอะ กระทรวงพาณิชย์จะสนับสนุนให้มีรถเร่ รถโมบาย ไปรับซื้อผลไม้และนำออกจำหน่ายสู่ผู้บริโภคโดยตรง โดยปี 2557 จะสนับสนุนที่15,000 ตัน

 8.ประสานงานกับห้างท้องถิ่นและปั๊มน้ำมันต่าง ๆ เปิดพื้นที่ระบายผลไม้ให้กับเกษตรกรโดยเพิ่มปริมาณจากปี 2564 ที่ช่วย 1,500 ตัน ปี 2565 จะเพิ่มเป็น 5,000 ตัน

 9.จะทำเซลล์โปรโมชั่นในการส่งเสริมการขายผลไม้ในต่างประเทศซึ่งใช้ชื่อโครงการ Thai Fruits Golden Months ดำเนินการในตลาดจีนซึ่งเป็นตลาดใหญ่ 12 เมือง เช่นเดียวกับปี 2564 ซึ่งเป็นมาตรการที่ได้ผลดีมาก

 10.จะจัดการเจรจาจับคู่ซื้อขายผลไม้ทางธุรกิจในระบบออนไลน์หรือที่เรียกว่า OBM มุ่งเน้นตลาดใหม่ เช่น อินเดียและรัสเซียเป็นต้น

“อลงกรณ์” มอบ “กรกอ.” ภาคเหนือเดินหน้ากลยุทธ์โลจิสติกส์ใหม่ ใช้ด่านรถไฟโมฮ่าน - โลว์คอสต์แอร์คาร์โก้ “เชื่อมเหนือ-เชื่อมโลก” เปิดตลาดจีนทุกมณฑล – เอเชียกลาง - ยุโรปภายในสิ้นปีนี้

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กรกอ.)เปิดเผยวันนี้(21ต.ค.)หลังจากเข้าร่วมการประชุมทางไกลพร้อมมอบนโยบายให้แก่คณะอนุกรรมการความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยภาคเหนือ(กรกอ.ภาคเหนือ)ซึ่งมีนายทวีกิจ จตุรเจริญคุณ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยภาคเหนือเป็นประธาน

โดยมีคณะกรรมการทั้งภาครัฐภาคเอกชนภาควิชาการศูนย์ AIC ละภาคเกษตรกรเช่นดร.สุขกิจ ยะโสธรศรีกุล คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร นายพิศณุ ไชยนิเวศน์ ประธานกรรมการชุมนุมสหกรณ์การเกษตรภาคเหนือ นายสุพจน์ ป้อมชัย ผู้แทนสภาเกษตรกรแห่งชาติ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 1-2-12 และหน่วยงานกระทรวงเกษตร ในพื้นที่ภาคเหนือ ร่วมประชุมกว่า 50 คน เพื่อบูรณาการทำงานเชิงรุกขับเคลื่อนโครงการสำคัญ ๆ ได้แก่

1.โครงการพัฒนาเกษตรแม่นยำสู่ธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรม 2 ล้านไร่ทั้งเฟส 1 และเฟส 2 ปี 2564-2566 ในสินค้าเป้าหมาย 15 ชนิด: ปาล์มน้ำมัน และยางพารา อ้อยโรงงาน ข้าวโพดหวาน และมะเขือเทศ ภายใต้ความร่วมมือระหว่างระบบเกษตรแปลงใหญ่(Big Farm)ที่กระทรวงเกษตรฯสนับสนุนให้เกษตรกรรวมกลุ่ม และบริหารจัดการแผนการผลิตและจำหน่ายจับคู่กับบริษัทอุตสาหกรรมขนาดใหญ่(Big Brothers)ตามความต้องการของอุตสาหกรรมทั้งด้านปริมาณ คุณภาพและช่วงเวลาการรับซื้อ พร้อมพัฒนากระบวนการจัดการเพื่อลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มผลผลิต โดยใช้องค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ

2.โครงการ1กลุ่มจังหวัด 1นิคมอุตสาหกรรมเกษตรอาหาร

3.โครงการพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกของกลุ่มภาคเหนือตอนล่าง 1 (พิษณุโลก สุโขทัย อุตรดิตถ์ เพชรบูรณ์ ตาก) เช่นโครงการศูนย์พัฒนาผลไม้สดเพื่อการส่งออก ประกอบด้วยโครงการโรงอบไอน้ำและคัดบรรจุมะม่วง 2.โครงการโรงงานแปรรูปแช่แข็งบรรจุมะม่วง วงเงินงบประมาณ 150 ล้าน

4.โครงการพื้นที่เศรษฐกิจนวัตกรรมอาหารภาคเหนือ (Northern Thailand Food Valley : NTFV)ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงเกษตรและสหกรณ์และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันภาคอุตสาหกรรมอาหารของไทย

5.การขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่ภาคเหนือตามแนวคิดใหม่ของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 13 ว่าด้วยทิศทางการพัฒนาภาคเหนือ ปี 2566 - 2570 ซึ่งเน้น“เศรษฐกิจสร้างสรรค์ สานสัมพันธ์ระหว่างพื้นที่ สุขภาวะดี วิถีชีวิตยั่งยืน” บนทิศทางการพัฒนาบน “4C” ได้แก่

1.Creative : พัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์มูลค่าสูง

2.Connect : สร้างโอกาสในการเชื่อมโยงเศรษฐกิจภายในประเทศ และอนุภูมิภาค

3. Clean : พัฒนาตามแนววิถีใหม่ (New Normal) บนฐานการเติบโตอย่างยั่งยืนของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และการใช้พลังงานสะอาด

4.Care : ที่ให้ความสำคัญอย่างต่อเนื่องกับการดูแลผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาส

ทั้งนี้เพื่อให้ประเทศไทยก้าวสู่เป้าหมายในการเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปในอาเซียนยุทธศาสตร์

“อลงกรณ์” ชี้! ปชป.รีเทิร์น เพราะทุ่มเททำงานหนัก ทำได้ไว - ทำได้จริง หลังทราบผล มสธ.โพลระบุ “จุรินทร์” ขึ้นแท่นเบอร์ 1 เหมาะเป็นนายกฯคนต่อไป!! พร้อมเปิดตัวผู้ว่ากทม. และประกาศยุทธศาสตร์เดินหน้าลุยสนามใหญ่

นายอลงกรณ์ พลบุตร รองหัวหน้าพรรคและประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์พรรคประชาธิปัตย์ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนวันนี้ (5 พ.ย. 64) หลังทราบผล มสธ.โพล ว่า ผลสำรวจของมสธ.โพล เป็นการสะท้อนถึงความคิดเห็นของประชาชนซึ่งต้องขอขอบคุณคนกรุงเทพมหานคร ที่มอบความไว้วางใจให้กับ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และขอขอบคุณศูนย์วิจัยและพัฒนาการสื่อสารการเมืองและสังคม มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชที่ได้สำรวจความคิดเห็นประชาชนในครั้งนี้ ตนมองว่า “มสธ.โพล” ไม่ใช่เป็นเพียงการสำรวจความนิยมเหมือนโพลอื่น ๆ ก่อนหน้านี้แต่เป็นการสำรวจความเชื่อมั่นที่มีต่อ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ในฐานะหัวหน้าพรรคและพรรคประชาธิปัตย์ว่าเหมาะสมจะเป็นนายกรัฐมนตรีและเป็นรัฐบาลในวันข้างหน้า ทั้งนี้ พิจารณาจากการตั้งคำถามสำรวจความเห็นประชาชนในหัวข้อต่าง ๆ

ตนมองว่า ประชาธิปัตย์มีโอกาสกลับมาเป็นพรรคในใจประชาชนอีกครั้งหนึ่ง ก็ด้วยผลงานจากการมุ่งมั่นทุ่มเททำงานหนักของทุกคนในพรรคในยุคอุดมการณ์ ทันสมัย ทำได้ไวทำได้จริงซึ่งทำงานเป็นทีมแบบอเวนเจอร์ และการมีจุดยืนที่มั่นคงในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

“ผลโพลเสมือนกำลังใจ เราจะทำงานหนักแก้ไขปัญหาให้ประเทศชาติและประชาชนต่อไป และเตรียมประกาศยุทธศาสตร์ประชาธิปัตย์เพื่อประชาชนในการประชุมใหญ่พรรควันที่ 18 ธันวาคม ที่จะถึงนี้เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเลือกตั้งครั้งหน้า

ส่วนการเปิดตัวผู้สมัครผู้ว่ากรุงเทพมหานครเมื่อไหร่นั้นคงอีกไม่นาน หัวหน้าพรรค และ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน เลขาธิการพรรค กำลังพิจารณาจังหวะเวลาที่เหมาะสม ขอให้อดใจรอ เป็นคนดีมีความรู้ความสามารถในการบริหาร มีวิสัยทัศน์ก้าวหน้า เหมาะกับยุคกทม.เมตะเวิร์ส (METAVERSE) แน่นอน นายอลงกรณ์ กล่าวในที่สุด

ก่อนหน้านี้ในวันเดียวกัน ศาสตราจารย์ ดร.วิทยาธร ท่อแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการสื่อสารการเมืองและสังคม มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เปิดเผย ผลสํารวจความคิดเห็นของประชาชนในกรุงเทพมหานคร เกี่ยวกับ “ประชาชนในกรุงเทพมหานครต้องการผู้นําที่มีคุณลักษณะแบบใดเพื่อเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไปและคุณลักษณะพรรคการเมืองแบบใดที่ผู้นําสังกัดหรือได้รับการเสนอชื่อเพื่อเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป” ดําเนินการสํารวจ ระหว่างวันที่ 28 ตุลาคม-2 พฤศจิกายน 2564 กลุ่มตัวอย่าง จํานวน 12,350 คน เป็นชาย 6,820 คน (55.22%) หญิง 5,530 คน (44.78%)

ผลการวิเคราะห์ข้อมูลจากการสํารวจครั้งนี้ ชี้ให้ว่า นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ผู้นําจากพรรคประชาธิปัตย์ เป็นผู้ประชาชนในกรุงเทพมหานครประเมินว่าเหมาะสมที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป ในสถานการณ์ช่วงเวลา 4-5 ปี ข้างหน้านี้ เนื่องด้วยนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ มีคุณลักษณะความเป็นผู้นําเฉพาะตัวเด่นชัดและมีคุณลักษณะพรรคการเมืองที่สังกัดเด่นชัด ตามรายละเอียดของผลการวิเคราะห์ข้อมูลต่อไปนี้

1. ประชาชนในกรุงเทพมหานครประเมินคุณลักษณะความเป็นผู้นําของผู้ที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป

1.1 ผลสรุปภาพรวมคุณลักษณะความเป็นผู้นําของผู้ที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป

จะเห็นได้ว่า นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ มีคะแนนโดยภาพรวมสูงสุด (54.24%) และรองลงมา คือ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา (52.99%), คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ (38.12%) ตามลําดับ ส่วนนางสาวพินทองทา ชินวัตร มีคะแนนน้อยที่สุด (8.87%)

1.2 ผลสรุปคุณลักษณะด้านที่ 1 คือ ความสามารถในการกอบกู้และแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศได้

จะเห็นได้ว่า นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ มีคะแนนสูงสุด (50.30%) รองลงมา คือ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา (41.31%), นายกรณ์ จาติกวณิช (32.02%) ตามลําดับ และนางสาวพินทองทา ชินวัตร มีคะแนนน้อยที่สุด (9.20%)

1.3 ผลสรุปคุณลักษณะด้านที่ 2 คือ คุณลักษณะด้านความสามารถในการแก้ปัญหาปากท้องและชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนได้

เห็นได้ว่า นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ มีคะแนนสูงสุด (50.89%) รองลงมา คือ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา (43.44%), นายกรณ์ จาติกวณิช (30.14%) ตามลําดับ ส่วนนางสาวพินทองทา ชินวัตร มีคะแนนน้อยที่สุด (7.72%)

1.4 ผลสรุปคุณลักษณะด้านที่ 3 คือ คุณลักษณะด้านการเป็นผู้ที่มีประสบการณ์การบริหารประเทศ มีผลงานโดดเด่น เป็นที่ประจักษ์มาแล้วทั้งในอดีตและปัจจุบัน

เห็นได้ว่า นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์มีคะแนนสูงสุด (59.53%) และรองลงมา คือ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา (42.47%), คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ (33.40%) ตามลําดับ ส่วนนางสาวพินทองทา ชินวัตร มีคะแนนน้อยที่สุด (6.09%)

1.5 ผลสรุปคุณลักษณะด้านที่ 4 คือ คุณลักษณะด้านการเป็นผู้ที่รอบรู้ รอบคอบ ทุ่มเท ขยัน และรู้กลไกการผลักดันงานหรือนโยบายให้สําเร็จได้

เห็นได้ว่า นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ มีคะแนนสูงสุด (63.58%) รองลงมา คือ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา (58.72%), คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ (42.20%) ตามลําดับ ส่วนนางสาวพินทองทา ชินวัตร มีคะแนนน้อยที่สุด (6.36%)

1.6 ผลสรุปคุณลักษณะด้านที่ 5 คือ คุณลักษณะด้านการเป็นผู้ที่อ่อนน้อม ปรองดอง เข้าถึงง่าย ทํางานกับทุกฝ่ายได้

เห็นได้ว่า นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์มีคะแนนสูงสุด (55.51%) รองลงมา คือ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา (52.83%), นายอนุทิน ชาญวีรกูล (47.40%) ตามลําดับ ส่วนนางสาวพินทองทา ชินวัตร มีคะแนนน้อยที่สุด (12.81%)

1.7 ผลสรุปคุณลักษณะด้านที่ 6 คือ คุณลักษณะด้านการเป็นผู้ที่มีความซื่อสัตย์ สุจริต ไม่เล่นพรรคเล่นพวก

เห็นได้ว่า นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์มีคะแนนสูงสุด (64.72%) รองลงมา คือ พลตํารวจเอกเสรีพิศุทธ์ เตมียเวส (58.74%), พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา (54.13%) ตามลําดับ ส่วนนางสาวพินทองทา ชินวัตร มีคะแนนน้อยที่สุด (9.60%)

1.8 ผลสรุปคุณลักษณะด้านที่ 7 คือ คุณลักษณะด้านการเป็นผู้ที่รักษาสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์

เห็นได้ว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มีคะแนนสูงสุด (62.01%) และรองลงมา คือ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ (60.12%), คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ (57.96%) ตามลําดับ ส่วนนางสาวพินทองทา ชินวัตร มีคะแนนน้อยที่สุด (16.34%)

1.9 ผลสรุปคุณลักษณะด้านที่ 8 คือ คุณลักษณะด้านการเป็นผู้ควบคุมกํากับความมั่นคงทางการทหารและตํารวจ

เห็นได้ว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มีคะแนนสูงสุด (68.99%) และรองลงมา คือ พลตํารวจเอกเสรีพิศุทธ์ เตมียเวส (60.92%) นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ (60.12%) ตามลําดับ ส่วนนางสาวพินทองทา ชินวัตร มีคะแนนน้อย

ที่สุด (2.85%)

2. ประชาชนในกรุงเทพมหานครประเมินคุณลักษณะพรรคการเมืองที่ผู้นําสังกัด หรือ อาจจะเป็นผู้ได้รับเสนอชื่อให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป

2.1 ผลสรุปภาพรวมคุณลักษณะพรรคการเมืองที่ผู้นําสังกัด หรือ อาจจะเป็นผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อ ให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป

เห็นได้ว่า นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ผู้นําจากพรรคประชาธิปัตย์ มีคะแนนรวมสูงสุด (58.15%) และรองลงมา คือ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้นําจากพรรคพลังประชารัฐ (45.59%), นายอนุทิน ชาญวีรกูล ผู้นําจากพรรคภูมิใจไทย, (40.74%) ตามลําดับ ส่วนนางสาวพินทองทา ชินวัตร ผู้นําจากพรรคเพื่อไทย มีคะแนนน้อยที่สุด (31.44%)

2.2 ผลสรุปคุณลักษณะพรรคการเมือง ด้านที่ 1 ยึดมั่นในอุดมการณ์ประชาธิปไตยและระบบรัฐสภา

เห็นได้ว่า นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ผู้นําจากพรรคประชาธิปัตย์ มีคะแนนสูงสุด (62.01%) และรองลงมา คือ นายอนุทิน ชาญวีรกูล ผู้นําจากพรรคภูมิใจไทย (54.20%), ตามลําดับ ส่วนนางสาว พินทองทา ชินวัตร ผู้นําจากพรรคเพื่อไทย มีคะแนนน้อยที่สุด (26.28%)

2.3 ผลสรุปคุณลักษณะพรรคการเมือง ด้านที่ 2 มีกลไกการทํางานที่เป็นระบบ เป็นพรรคการเมืองของประชาชน ไม่เป็นพรรคของใครคนใดคนหนึ่ง หรือ คณะบุคคล หรือ นายทุน

เห็นได้ว่า นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ผู้นําจากพรรคประชาธิปัตย์ มีคะแนนสูงสุด (58.74%) และรองลงมา คือ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้นําจากพรรคพลังประชารัฐ (45.93%), นายกรณ์ จาติกวณิช ผู้นําจากพรรคกล้า (42.63%) ตามลําดับ ส่วนนางสาวพินทองทา ชินวัตร มีคะแนนน้อยที่สุด (23.46%)

 

“อลงกรณ์” ระดมทีม! ‘กรมชลประทาน และจังหวัดเพชรบุรี’ เร่งรับมือสถานการณ์น้ำท่วม

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธานการประชุมรับมือสถานการณ์น้ำท่วมที่โครงการชลประทานเขื่อนเพชรหลังจากฝนตกหนักที่เพชรบุรีเมื่อคืนที่ผ่านมาร่วมกับนายทวีศักดิ์ ธนเดโชพลรองอธิบดีกรมชลประทาน ณัฐวุฒิ เพ็ชรพรหมศร รองผู้ว่าเพชรบุรี นายสันต์ จรเจริญ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเพชรบุรี นายสมเกียรติ แจ่มจันทร์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานเพชรบุรี ตัวแทนเทศบาลเมืองเพชรบุรีรักษาการผอ.สำนักชลประทานที่ 14 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

โดยนายอลงกรณ์ กล่าวภายหลังการประชุมว่าจากสถานการณ์ฝนตกหนักเหนืออ่างเก็บน้ำและใต้อ่างเก็บน้ำทั้ง 3 แห่ง คือ แก่งกระจาน แม่ประจันต์และห้วยผากเมื่อวานนี้ทำให้มีมวลน้ำจากลุ่มน้ำทั้ง3ไหลลงมาที่เชี่ยนเพชรจำนวนมาก ที่ประชุมจึงกำหนดแผนการระบายน้ำในคลองชลประทานหลัก4สายและแม่น้ำเพชรบุรีอย่างเป็นระบบให้มีผลกระทบต่อประชาชนและขุมชน2ฝั่งแม่น้ำเพชรบุรีน้อยที่สุดพร้อมกับแจ้งเตือนล่วงหน้าให้ประชาชนริมฝั่งแม่น้ำและในพื้นที่ลุ่มต่ำยกของขึ้นที่สูงระมัดระวังเรื่องไฟฟ้าและย้ายสัตว์เลี้ยงไปไว้ในที่ปลอดภัยพร้อมกับให้ท้องถิ่นเสริมแนวตลิ่งที่ต่ำป้องกันน้ำล้นฝั่ง 

ในส่วนกรมชลประทานได้ระดมเครื่องสูบน้ำเครื่องผลักดันน้ำและเครื่องจักรกลช่วยเหลือจังหวัดเพชรบุรีอย่างเต็มที่ตามข้อสั่งการของดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีเกษตรฯและนายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน

นอกจากนี้ยังได้ประสานพลเรือเอก ดร.สมัย ใจอินทร์ขอการสนับสนุนเครื่องดันน้ำจากกองทัพเรือซึ่งส่งมาช่วยเพชรบุรีทุกครั้งที่ประสบภัยน้ำท่วม และขอการสนับสนุนกำลังพลและเครื่องจักรกล จากพล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคลรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมและอดีตสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ โดยเพื่อช่วยป้องกันน้ำท่วมและช่วยระบายน้ำท่วมขังในพื้นที่ขุมชนเมืองและพื้นที่เกษตร

“น้ำท่วมครั้งนี้เป็นการท่วมแบบล้นตลิ่ง และท่วมที่ลุ่มต่ำเฉพาะบางพื้นที่ในระยะสั้น ไม่ได้ท่วมทั้งจังหวัดจึงไม่มีผลกระทบต่อการค้าธุรกิจ และการท่องเที่ยวในวงกว้างแต่อย่างใด ส่วนพื้นที่เกษตรที่ได้รับความเสียหาย จะได้รับการดูแลช่วยเหลือเยียวยาจากทางราชการโดยเร็วต่อไป”

“เฉลิมชัย” ควง “อลงกรณ์” ลุยเพชรบุรี! เร่งแก้ไขปัญหาน้ำท่วม สั่งกรมชลประทานระดมเครื่องสูบน้ำ ผันน้ำลงทะเลโดยเร็ว!!

วันนี้ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยนายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารมว.กษ. / นายณัฐวุฒิ เพ็ชรพรหมศร รักษาราชการผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี / นายธนา ชีรวินิจ เลขานุการ รมว.กษ. / ดร.กัมพล สุภาแพ่ง / นายอรรถพร พลบุตร อดีตส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ และคณะลงพื้นที่ตรวจสถานการณ์น้ำท่วมเพชรบุรี โดยสั่งการให้กรมชลประทานและหน่วยงานในสังกัดเร่งช่วยเหลือประชาชนโดยบูรณาการทำงานกับทุกภาคส่วน

ซึ่งกรมชลประทานได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 27 เครื่อง เครื่องผลักดันน้ำ 16 เครื่อง และมีแผนติดตั้งเพิ่มเติม เพื่อเร่งระบายน้ำออกสู่ทะเลให้เร็วที่สุด หากไม่มีฝนตกลงมาเพิ่มเติม คาดว่าระดับน้ำจะต่ำกว่าตลิ่ง และสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้ใน 2 วันนี้

ส่วนพื้นที่ลุ่มต่ำ เมื่อระดับน้ำลดลงต่ำกว่าตลิ่งจะใช้เครื่องสูบน้ำสูบระบายน้ำออกจากพื้นที่เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบที่เกิดกับประชาชนโดยเร็วที่สุด ยิ่งกว่านั้นยังกำชับให้เร่งดำเนินการเยียวยาความเสียหายทางกาคเกษตรให้กับเกษตรกรภายใน 60 วันหลังจากทางจังหวัดประกาศเขตภัยพิบัติ

 

“อลงกรณ์”แนะ”ชลน่าน”อย่าทำผิดซ้ำสอง หลังประกาศรื้อฟื้นโครงการจำนำข้าว  ชี้สมาคมชาวนาหนุนโครงการประกันรายได้เพราะตอบโจทย์ปฏิรูปข้าวมากกว่า

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รองหัวหน้าพรรคและประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์พรรคประชาธิปัตย์กล่าวถึงการให้สัมภาษณ์ของ นพ.ชลน่าน ศรีแก้วที่กล่าวว่า”…โครงการประกันรายได้ ไม่ส่งเสริมการลดต้นทุน ไม่ส่งเสริมการผลิต และไม่ส่งเสริมการตลาด เป็นเพียงการชดเชยส่วนต่าง ซึ่งแตกต่างกับโครงการรับจำนำข้าว ที่เป็นการเข้าจัดการกลไกราคาตลาด ทำให้ราคาข้าวสูงขึ้น ชาวนาขายข้าวได้มากขึ้น…”

โดยนายอลงกรณ์กล่าววันนี้(7ธ.ค)ว่า นพ.ชลน่านควรศึกษากรณีอดีตรัฐมนตรีพาณิชย์ แกนนำพรรค ข้าราชการและพ่อค้านักธุรกิจที่ติดคุกเพราะทุจริตโครงการจำนำข้าวรวมทั้งรายงานการศึกษาของทีดีอาร์ไอ(TDRI)ประเด็นความเสียหายที่ก่อหนี้ให้กับประเทศหลายแสนล้าน หากคิดจะฟื้นคืนชีพโครงการนี้ 

โครงการรับจำนำข้าวเป็นโครงการที่รัฐซื้อข้าวทุกเมล็ดจากชาวนาแล้วจ้างโรงสีสีข้าวและเก็บข้าว เป็นการซื้อแพงสูงกว่าราคาตลาดโดยหวังว่าเมื่อซื้อข้าวมาเก็บไว้มากๆและซื้อราคาสูงจะทำให้ราคาข้าวสูงขึ้นตามซึ่งเป็นแนวคิดทางทฤษฎี แต่ในทางปฏิบัติกลับไม่เป็นเช่นนั้น

ดังนั้นเมื่อไม่สามารถทำให้ราคาข้าวสูงขึ้น และไม่สามารถระบายขายออกเพราะซื้อมาแพง ทำให้ข้าวค้างสต็อกหลายล้านตัน ในที่สุดโครงการขาดสภาพคล่องไม่มีเงินจ่ายค่าข้าวติดหนี้ค้างจ่ายชาวนา หลายคนถึงกับฆ่าตัวตายจนเป็นข่าวใหญ่ในช่วงปี2556-57

ประการสำคัญคือการซื้อข้าวทุกเม็ดเน้นปริมาณมากกว่าคุณภาพได้ทำลายมาตรฐานการผลิตและคุณภาพข้าวไทยและยังสร้างความเสียหายให้กับภาพลักษณ์หรือแบรนด์ข้าวของเราในตลาดโลก รวมทั้งการมีข้าวค้างสต็อกในประเทศไทยหลายล้านตันมีผลต่อการกดทับราคาข้าวในตลาดโลก

ยิ่งกว่านั้นยังมีการทุจริตตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำมีคนของรัฐบาลร่วมกับเครือข่ายพรรคพวกนักธุรกิจพ่อค้าโกงกันแบบมโหฬารเป็นขบวนการใหญ่จนต้องโทษติดคุกจำนวนมาก

นับเป็นโครงการที่ล้มเหลวมีการคอรัปชั่นอื้อฉาวมากที่สุดและเสียหายมากที่สุดเป็นเงินหลายแสนล้านบาท จนถึงวันนี้ประเทศยังต้องใช้หนี้ที่โครงการจำนำข้าวก่อไว้ อีกหลายปีกว่าจะหมดอย่าทำผิดซ้ำสองเลยครับ ลองอ่านผลการศึกษาของทีดีอาร์ไอ.(TDRI)เกี่ยวกับโครงการจำนำข้าวตามไฟล์ที่ผมแนบมาจะเข้าใจในเรื่องที่ผมกล่าวมาทั้งหมด คิดทบทวนให้ดี ไปสร้างนโยบายดีๆมีคุณภาพมานำเสนอใหม่น่าจะดีกว่านะครับ

สำหรับโครงการประกันรายได้ที่ท่านวิจารณ์โดยไม่มีการศึกษาวิเคราะห์ด้วยข้อมูลและเหตุผลอย่างรอบด้านทำให้ผมต้องขอโอกาสในการทำความเข้าใจ

โครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวนาเป็นการประกันรายได้ไม่ใช่ประกันราคาเมื่อราคาข้าวต่ำกว่าเกณฑ์ประกันรายได้ ชาวนาจะได้เงินส่วนต่างชดเชย เช่นถ้าชาวนาขายโรงสีได้7พันก็จะได้ชดเชยส่วนต่าง3พันสำหรับข้าวเปลือกเจ้าที่ความชื้น15เปอร์เซ็นต์ เป็นต้นโดยระหว่างนั้นก็มีมาตรการเสริมอื่นๆเพื่อยกระดับราคาข้าวและสนับสนุนการผลิตของชาวนา

การจ่ายเงินส่วนต่างจะโอนตรงจากธกส.ไปยังบัญชีชาวนาโดยตรงเพื่อไม่ให้เกิดการรั่วไหลและเป็นโครงการที่เกษตรกรพึงพอใจมากที่สุดโครงการหนึ่งของรัฐบาลเพราะสามารถสร้างหลักประกันรายได้(Universal basic income)จากการประกอบอาชีพเกษตรกรรมในช่วงที่เกิดความผันผวนของราคาผลผลิตทางการเกษตรจากผลกระทบของการแพร่ระบาดโควิด19ที่ทำให้เศรษฐกิจวิกฤตไปทั่วโลก ถือเป็นนโยบายเรือธง(Flagship policy)ของพรรคประชาธิปัตย์และรัฐบาล

โครงการนี้ได้ช่วยพัฒนาฐานะและชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรและครอบครัวเกือบ30ล้านคนเป็นภาคเศรษฐกิจที่มีแรงงานและการจ้างงานมากที่สุดซึ่งเป็นฐานรากสำคัญที่สุดของประเทศ ทำให้สามารถรักษาการผลิตสินค้าเกษตรสร้างรายได้ในการส่งออกให้กับประเทศของเราจนเป็นอันดับต้นของสินค้าที่ส่งออกเพิ่มขึ้นทำให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจกว่า1ล้านล้านบาทต่อปีในช่วง2ปีที่ผ่านมา

โครงการประกันรายได้ไม่ใช่โครงการโดดๆแต่เป็นส่วนหนึ่งของช่วงเปลี่ยนผ่าน(Transition period)ของการปฏิรูปภาคเกษตรเพื่อสร้างศักยภาพใหม่ของข้าวและชาวนาภายใต้ยุทธศาสตร์ข้าว5ปี(2563-2567)ขับเคลื่อนด้วย4ยุทธศาสตร์ตั้งแต่ต้นน้ำการผลิตมุ่งเพิ่มประสิทธิภาพลดต้นทุนพัฒนาพันธ์ุสร้างมาตรฐานเชื่อมโยง”กลางน้ำ”การแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มและ”ปลายน้ำคือการตลาดแบบออนไลน์และออฟไลน์ทั้งตลาดในและต่างประเทศตามโมเดลเกษตรผลิตพาณิชย์ตลาดภายใต้ยุทธศาสตร์ตลาดนำการผลิต
ซึ่งสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทยก็ประกาศเห็นด้วยและสนับสนุนโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวภายใต้ยุทธศาสตร์ปฏิรูปข้าว5ปี

การปฏิรูประบบข้าวในพื้นที่60ล้านไร่ไม่ใช่เรื่องง่ายและต้องใช้เวลารวมทั้งต้องมีนโยบายและแผนปฏิบัติการที่ชัดเจน ทำได้ไวทำได้จริง

วันนี้การปฏิรูปข้าวทั้งระบบครบวงจรเริ่มคืบหน้าในทิศทางที่ถูกต้องอย่างมีอนาคต ตัวอย่างเช่น โครงการGlobal Food Valley หรือนิคมอุตสาหกรรมเกษตรอาหารที่มีศูนย์แปรรูปข้าวใหญ่ที่สุดในอาเซียนกำลังสร้างในเขตผลิตข้าวลุ่มน้ำเจ้าพระยาเพื่อสร้างมูลค่าและเพิ่มรายได้ให้กับชาวนา ,โครงการข้าวอินทรีย์(Organic Rice)ตั้งเป้า 1,000,000 ไร่ส่วนใหญ่เป็นข้าวหอมมะลิในภาคอีสานผ่านการรับรองกว่า3แสนไร่แล้ว ,การพัฒนาโลจิสติกส์เกษตรอย่างมีเป้าหมายขยายตลาดข้าว,การจัดตั้งศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม(ศูนย์AIC-Agritech and Innovation Center)ครบทั้ง77จังหวัด เป็นครั้งแรกเพื่อดูแลภาคเกษตรทุกจังหวัดได้คิกออฟพร้อมกันตั้งแต่1มิถุนายน2563 ทำหน้าที่วิจัยและพัฒนาสร้างเทคโนโลยีนวัตกรรมใหม่และถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีสู่เกษตรกรชาวนาและนาข้าวทั่วประเทศอยู่ในขณะนี้ ตลอดจนการยกระดับนาแปลงใหญ่ที่ใช้เครื่องจักรกลและระบบเกษตรอัจฉริยะกว่า3,000แปลงในทุกภาค

‘อลงกรณ์ พลบุตร’ ฝากถึงคน ปชป.!! ย้ายออกจากพรรค "อย่าถูกกลืน" ไปแล้วก็กลับมาได้ ถ้าอุดมการณ์ไม่เปลี่ยน

‘อลงกรณ์ พลบุตร’ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เขียนบทความอย่างน่าสนใจในเฟซบุ๊กส่วนตัว

“อย่าถูกกลืน”

รักและห่วงเพื่อนที่จากไปทุกคน

วันวานอ่านข่าวเห็นท่านชวนเตือนว่า “ไปแล้วให้รักษาอุดมการณ์ อย่าถูกกลืน”

ผมคิดว่าเป็นการฝากหลักการหลักคิดในการครองตนของคนประชาธิปัตย์ที่ออกจากพรรคไปอยู่ที่อื่น

ผมเป็นคนหนึ่งที่เคยออกจากพรรคไปเป็นสมาชิกสภาปฏิรูป

ตอนนั้นหมกมุ่นคิดฝันแต่เรื่องการปฏิรูปพรรคปฏิรูปประเทศ

ตั้งใจไปทำแผนปฏิรูปประเทศเหมือนสถาปนิกออกแบบพิมพ์เขียวเสร็จก็จบงาน

2 ปีกว่าที่อยู่ท่ามกลางอำนาจและโอกาสแถมมีตำแหน่งเป็นรองประธานสปท.คนที่.1

ลาภยศสรรเสริญกองอยู่ตรงหน้าถ้าเดินต่อบนเส้นทางนั่น

มันน่าถูกกลืนเหลือเกินถ้าคิดเห็นแก่ตัวเพื่อประโยชน์และอนาคตของตัวเอง

คำเชิญคำชวนมาทั้งก่อน และหลังพ้นตำแหน่ง

แต่ผมก็ตัดสินใจตอนนั้นว่าจะวางมือทางการเมืองเพื่อไม่ต้องเดินทางบนถนนการเมืองอีกหรือไม่ก็กลับบ้านหลังเก่าคือประชาธิปัตย์

ก็มีคำถามตามมาว่าทำไมถึงกลับประชาธิปัตย์

ผมบอกว่ามี 4 เหตุผลหลัก

1.ถ้าจะเดินต่อทางการเมืองไปอยู่พรรคใหม่ก็ต้องสู้กับพรรคประชาธิปัตย์

ผมทำไม่ได้ครับ ที่จะต้องรบราทำศึกกับพี่น้องของผม และประชาธิปัตย์เป็นสถาบันทางการเมืองที่ต้องรักษาไว้

2.เมื่อครั้งเดินทางเข้าพรรคสมัครเป็นสมาชิกลงเลือกตั้งที่เพชรบุรีปี 2535/1 บนเวทีปราศรัยที่สนามหน้าเขาวังมีท่านชวนหัวหน้าพรรคในขณะนั้นนั่งอยู่ด้วย ผมประกาศกับประชาชนคนเมืองเพชรว่า

ผมเกิดที่พรรคประชาธิปัตย์และจะตายที่พรรคประชาธิปัตย์ พรรคเดียว

3.ผมอยากกลับมาปฏิรูปพรรคประชาธิปัตย์ตามฝันที่คิดไว้ตอนเสนอปฏิรูปพรรคเมื่อปี2556

4.บ้านเมืองยังวิกฤติ ประชาธิปัตย์คือความหวังเพราะเป็นสถาบันการเมืองหลัก

แล้วผมก็กลับมาของานทำที่พรรคประชาธิปัตย์เหมือนเดิม

เลือกกลับมาทั้งที่ไม่รู้ว่าวันข้างหน้าจะเป็นอย่างไรและจะอยู่อย่างไรในปลายปี 2561

เพราะผมคงเป็นคนเดียวที่ทั้งก่อนจากไปและเมื่อกลับมาโดนดุด่าว่ากล่าวหนักหนาสาหัสมากจากพี่ๆน้อง ๆ ในพรรค

ถ้าคิดน้อยใจหรือไม่อดทนก็คงพกความแค้นติดตัวเตลิดไปแล้ว

เป็นประสบการณ์ครั้งหนึ่งในชีวิตบนทางแพร่งที่ต้องตัดสินใจของผม

ต้องเลือกระหว่างอนาคตของตัวเองหรืออนาคตของพรรค

เป็นการเลือกครั้งที่2เหมือนครั้งแรกที่ตัดสินใจมาสมัครเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์เมื่อปี 2534

กว่า 20 ปี ที่ร่วมรบทำศึกในสนามเลือกตั้งแพ้บ้างชนะบ้าง และเมื่อพรรคมอบหน้าที่เป็นประธานตรวจสอบทุจริตก็โดนคดีอาญาร่วม 20 คดีโดนฟ้องทางแพ่งเป็นพันเป็นหมื่นล้าน ต่อสู้คดีมากว่า 10 ปี เรียกว่าบาดแผลเต็มตัวเต็มผืนหลัง

เขียนมาเพื่อถ่ายทอดประสบการณ์และเป็นอีกข้อคิดเตือนใจ

สำหรับชาวประชาธิปัตย์ทุกคนที่เมื่อถึงโมเมนต์ที่ต้องตัดสินใจ หรือถ้าไปแล้วก็กลับมาได้ ถ้าอุดมการณ์ไม่เปลี่ยนแปลงหรือถูกกลืนเสียก่อน ตามข้อตือนใจของท่านชวน

 

“อลงกรณ์” ชี้!! มี 4 เหตุผลที่พรรคร่วมรัฐบาลไม่ส่งผู้สมัคร ส.ส.แข่งกันเองในการเลือกตั้งซ่อม ไม่ใช่แค่เรื่องมารยาททางการเมืองเท่านั้น!!?

นายอลงกรณ์ พลบุตร รองหัวหน้าพรรคและประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์พรรคประชาธิปัตย์ อดีตส.ส.6สมัยและอดีตรัฐมนตรี เขียนข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว เรื่อง “มารยาททางการเมืองและ 4 เหตุผลกรณีพรรคร่วมรัฐบาลไม่ส่งผู้สมัครแข่งกันเองในการเลือกตั้งซ่อม”

ซึ่งตรงกับความสนใจของสาธารณชนในขณะนี้ เนื่องจากจะมีการเลือกตั้งซ่อมส.ส.ชุมพรเขต 1 และสงขลาเขต 6 โดยนายอลงกรณ์กล่าวว่า

“คนส่วนใหญ่จะเข้าใจว่าเป็นมารยาททางการเมืองของพรรคร่วมรัฐบาลที่จะหลีกทางให้พรรคเจ้าของที่นั่งเดิมส่งผู้สมัครส.ส.โดยไม่แข่งกันเองในการเลือกตั้งซ่อม ความจริงเหตุผลเรื่องมารยาททางการเมือง เป็นเพียงเหตุผลหนึ่งเท่านั้น

แต่ยังมีเหตุผลอื่นอีกที่อธิบายว่าทำไมพรรคร่วมรัฐบาลชุดก่อน ๆ ที่ผ่านมาจึงไม่ส่งผู้สมัครส.ส.แข่งกันเองจนถือปฏิบัติเป็นธรรมเนียมทางการเมืองสืบต่อกันมา ด้วยเหตุผล 4 ข้อ ดังต่อไปนี้

 1. เป็นการให้เกียรติกันและกันของพรรคร่วมรัฐบาลในฐานะพันธมิตรทางการเมือง

 2. เป็นการรักษาที่นั่งส.ส.ซีกรัฐบาลในฐานะเสียงข้างมากในสภาเพื่อรักษาเสถียรภาพของรัฐบาล

 3. เป็นการสร้างความสามัคคีและความเป็นเอกภาพของรัฐบาล

 4. เป็นโอกาสโฆษณาผลงานสร้างความนิยมของรัฐบาลและชี้แจงประเด็นต่างๆที่ถูกโจมตีจากฝ่ายค้าน

ดังนั้น ในอดีตจะเห็นส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลไปช่วยหาเสียงให้กับผู้สมัครของพรรคร่วมรัฐบาลที่ลงสมัครรับการเลือกตั้งซึ่งเป็นการแสดงน้ำใจและช่วยสนับสนุนกันและกันทำให้เกิดความแน่นแฟ้นในความสัมพันธ์ของรัฐบาลผสม

ทั้งนี้จะมีเกณฑ์พิจารณาว่า พรรคร่วมรัฐบาลพรรคใดจะได้สิทธิ์ในการส่งผู้สมัครชิงตำแหน่งส.ส.ที่ว่างลงในการเลือกตั้งซ่อม

1.กรณีเป็นที่นั่งเดิมของพรรคร่วมรัฐบาลจะให้สิทธิ์พรรคที่เป็นเจ้าของที่นั่งเดิมส่งผู้สมัคร

2.กรณีเป็นที่นั่งเดิมของพรรคฝ่ายค้านจะให้สิทธิ์พรรคร่วมรัฐบาลที่ได้คะแนนสูงสุดในกลุ่มพรรคร่วมรัฐบาลได้สิทธิ์ส่งผู้สมัคร

แนวทางเช่นนี้มิใช่เพียงฝ่ายรัฐบาลเท่านั้นที่ยึดถือปฏิบัติ แม้แต่ฝ่ายค้านก็ยึดถือปฏิบัติเป็นส่วนใหญ่เช่นกันเพราะเป็นโอกาสที่จะวัดความนิยม(Popularity)ระหว่างฝ่ายค้านและรัฐบาลในอีกทางหนึ่ง

 

“อลงกรณ์” ประกาศเดินหน้า!! พัฒนากรุงเทพฯ สู่ ‘มหานครสีเขียว’ มุ่งยกระดับ! สุขภาพคน - คุณภาพเมือง ตอบโจทย์อนาคต พร้อมคิกออฟ!! โครงการวัดสีเขียว - คลองสามวาสีเขียว 24 ธ.ค.นี้

“อลงกรณ์” ประกาศเดินหน้าพัฒนากรุงเทพฯ สู่ ‘มหานครสีเขียว’ มุ่งยกระดับ ‘สุขภาพคน – คุณภาพเมือง’ ตอบโจทย์อนาคตกทม. ชูแนวทางเกษตรกรรมยั่งยืน ตั้งกลไก 50 เขต ดีเดย์ 24 ธ.ค.คิกออฟโครงการวัดสีเขียว คลองสามวาสีเขียว

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และประธานคณะกรรมการโครงการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนในเมืองบรรยายพิเศษในงาน Bangkok City Talk 2021  Bangkok Conference on Academic Argument  ผ่านระบบออนไลน์ zoom meeting ในหัวข้อ "เกษตรกรรมยั่งยืนในเมือง : อนาคตของกรุงเทพมหานคร" ผ่านระบบ Facebook live

โดยนายอลงกรณ์กล่าวว่าในปี 2562 ประเทศไทยมีประชากรในเมืองมากกว่าในชนบทเป็นครั้งแรก สะท้อนถึงการขยายตัวของเมือง(Urbanization)ในประเทศของเรา และเป็นเหตุผลสำคัญที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในยุคปัจจุบันต้องเร่งขับเคลื่อนพัฒนาการเกษตรในเมือง(Urban Farming) โดยเฉพาะในสถานการณ์โควิด-19 และยุคต่อไป(Next normal) ที่ต้องให้ความสำคัญระบบนิเวศเมือง เรื่องสุขภาพคน และคุณภาพเมือง

สำหรับกรุงเทพมหานคร มีการพัฒนาเมืองอย่างรวดเร็วทำให้พื้นที่เกษตรลดลงเหลือเพียงแสนกว่าไร่ เป็นเมืองที่มีความมั่นคงทางอาหาร(Food Safety)น้อยมาก และพื้นที่สีเขียวยังไม่ได้สัดส่วนกับจำนวนประชากร คณะกรรมการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงวางโครงสร้างและระบบเป็นกลไกแบบมีส่วนร่วมในการพัฒนาภาคการเกษตรในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ด้วยโครงการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนในเมือง (Sustainable Urban Agriculture Development Project : SUAD Project)  ตามนโยบายของ ดร. เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืนซึ่งได้กำหนดยุทธศาสตร์ ”3’s” (Safety-Security-Sustainability-เกษตรปลอดภัย เกษตรมั่นคงและเกษตรยั่งยืน โดยโครงการดังกล่าวมุ่งเน้นการพัฒนากรุงเทพมหานครให้เป็น “มหานครสีเขียวแห่งอนาคต” มีวัตถุประสงค์ 6 ประการได้แก่

1. การพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนในเมือง

2. การเพิ่มพื้นที่สีเขียว

3. การลด PM2.5และลดก๊าซเรือนกระจก(Green House Gas)

4.การเพิ่มคุณภาพอากาศ

5.การอัปเกรดคุณภาพชีวิตของประชาชน

 6.การสร้างเศรษฐกิจสีเขียว

ซึ่งสอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ของสหประชาชาติ ในการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ(Climate Change)ของโลก และเป้าหมายของโครงการกรุงเทพสีเขียว2030(Green Bangkok2030) ในการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในกรุงเทพฯ เป็น 10 ตารางเมตรต่อคนสามารถเข้าถึงพื้นที่สีเขียวได้ในทุกระยะ 400 เมตร และเพิ่มพื้นที่ร่มไม้ต่อพื้นที่เมืองให้เป็น 1.3 แสนไร่ พร้อมทั้งพัฒนาการเกษตรและสร้างความมั่นคงทางอาหารให้แก่เมือง รวมทั้งการสร้างเศรษฐกิจสีเขียวเพิ่มรายได้และอาชีพในระดับชุมชนบนโมเดล BCG Economy (Bio-Circular-Green Economy) ควบคู่ไปด้วยกัน

นายอลงกรณ์ในฐานะประธานโครงการ กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้ได้จัดตั้งกลไกการขับเคลื่อนใน 3 ระดับ ทั้งคณะกรรมการบริหารโครงการระดับประเทศ ระดับจังหวัด และระดับย่อยในพื้นที่ เป็นโครงสร้างและระบบครอบคลุมทั้งประเทศ โดยแบ่งพื้นที่ดำเนินการเป็น 2 ประเภทคือพื้นที่ของรัฐ(Public Space) เช่น บริเวณริมถนนและทางรถไฟ พื้นที่ใต้ทางด่วน เกาะกลางถนน สวนสาธารณะ สถานศึกษาของรัฐ พื้นที่ส่วนราชการ และพื้นที่สาธารณะว่างปล่า

สำหรับ พื้นที่ส่วนบุคคล (Private space) เช่น บ้าน ชุมชน โครงการจัดสรร คอนโด อาคารสำนักงาน พื้นที่ของการเคหะแห่งชาติ วัด โรงเรียน สถานศึกษา โดยส่งเสริมให้ปลูกไม้ยืนต้นไม้พุ่มไม้เลื้อยหรือไม้ในร่มโดยมีการพัฒนาเมืองสีเขียวได้หลายรูปแบบเช่น ถนนสีเขียว(Green Road) หลังคาสีเขียว(Green  Roof) ตึกสีเขียว(Green Building) สวนป่า(Forest Garden) มหาวิทยาลัยสีเขียว (Green Campus) ชุมชนสีเขียว (Green Community วัดสีเขียว(Green Temple) เน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนและการเรียนรู้กับการอยู่ร่วมกันแบบแบ่งปัน

สำหรับการทำเกษตรในเมืองตามแนวทางเกษตรกรรมยั่งยืน มี 5 ประเภท ได้แก่ เกษตรอินทรีย์ เกษตรทฤษฎีใหม่ เกษตรผสมผสาน วนเกษตร และเกษตรธรรมชาติ ทั้งในรูปแบบสวนขนาดเล็กและสวนขนาดใหญ่ สำหรับชุมชนในกรุงเทพมหานคร จะได้รับการสนับสนุนในการสร้างอาชีพเกษตรกรรมในเมืองเพื่อสร้างรายได้เสริมและลดค่าครองชีพอีกทางหนึ่ง นอกจากนี้ จะมีตลาดเกษตร(Farm Market) เป็นตลาดจำหน่ายสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ขณะนี้ได้จัดตั้งคณะกรรมการระดับชาติ ระดับคลัสเตอร์ และระดับเมือง เช่น ได้จัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนกรุงเทพมหานครแล้วมีตนเป็นประธาน และจะจัดตั้งคณะทำงานให้ครบทั้ง 50 เขต เป็นกลไกขับเคลื่อนระดับพื้นที่เช่น กรีนตลิ่งชัน กรีนบางกะปิ กรีนบางนา กรีนห้วยขวาง กรีนบางแค และวันที่ 24 ธ.ค.นี้ จะคิดออฟโครงการวัดสีเขียว คลองสามวาสีเขียว ที่วัดพระยาสุเรนทร์ เป็นที่แรกบนความร่วมมือระหว่างวัด บ้านและโรงเรียน(บ.ว.ร.)ในเขตคลองสามวา

 

“อลงกรณ์” ตอบโจทย์ ”ไพศาล พืชมงคล” ประเด็น! “ตีกินเปิดด่านจีน” ชี้! ไพศาล สับสนเรื่องด่านจึงเข้าใจผิดในสาระสำคัญ พร้อมเชิญมาอัพเดทข้อมูลใหม่ที่กระทรวงเกษตรฯ

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รองหัวหน้าพรรคและประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์พรรคประชาธิปัตย์เขียนข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัวตอบประเด็นที่นายไพศาล พืชมงคล อดีตที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี(พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ)เขียนเรื่อง “ อย่าตีกิน ว่าเจรจาจีนให้เปิดด่านผิงสิงก่วนรับสินค้าไทยสำเร็จ เขาเปิดมานานแล้ว “โดยนายอลงกรณ์เขียนไว้ดังนี้…….

      “…..อ่านข้อความของพี่ไพศาล พืชมงคล อดีตที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี(พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ)เขียนเรื่อง “ อย่าตีกิน ว่าเจรจาจีนให้เปิดด่านผิงสิงก่วนรับสินค้าไทยสำเร็จ เขาเปิดมานานแล้ว “ด้วยความแปลกใจระคนตกใจ 

“อย่าตีกิน ว่าเจรจาจีนให้เปิดด่านผิงสิงก่วนรับสินค้าไทยสำเร็จ เขาเปิดมานานแล้ว

https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=4621859691246000&id=206264556138891”

ในฐานะคนกันเองจึงต้องรีบแก้ไขข่าวเพราะพี่ไพศาลเขียนบทความด้วยความเข้าใจผิดในสาระสำคัญมาก ๆ หลายประการ เพื่อจะได้ไปแก้ไขบทความเสียใหม่ ดังนี้ครับ

1.ด่านรถไฟผิงเสียงไม่ใช่ด่านผิงเสียง เป็นคนละด่านกัน

2.ด่านผิงเสียงเป็นการเรียกตามชื่อเมือง (เมืองผิงเสียง)  ชื่อด่านที่ถูกต้องเรียกว่า “ด่านโหยวอี้กวน”และเปิดด่านโหยวอี้กวนได้ตามพิธีสารไทยจีนปี2552

3.ด่านรถไฟผิงเสียงเพิ่งเปิดบริการขนส่งผลไม้ไทยวันแรกเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2563 ไม่ใช่เปิดมานานตามที่พี่ไพศาลเข้าใจ (น่าสับสนระหว่างคำว่าด่านรถไฟผิงเสียง ด่านผิงเสียง ด่านโหยวอี้กวน)

4.การขนส่งทางบกผ่านลาวและเวียดนามไปจีนมีความสำคัญมาก ทั้งทางรถและทางรถไฟซึ่งเราได้ดำเนินการล่วงหน้าจนทำพิธีสารเพิ่มด่านได้มากที่สุดในรอบทศวรรษ(โดยดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีเกษตรฯ.)รวมทั้งด่านรถไฟผิงเสียง(เปิดดำเนินการแล้วปี2563) ล่าสุดคือด่านรถไฟโมฮ่าน(ไม่ใช่ด่านโมฮ่านนะครับ)และด่านรถไฟเหอโขว่รองรับเส้นทางรถไฟลาว-จีน

5.หลังโควิดระบาดระลอกใหม่ รัฐบาลจีนใช้มาตรการZero COVIDตรวจเข้มทุกด่านทุกเมืองทั่วจีน มาตรการที่กระทบต่อการขนส่งทุกระบบที่รุนแรงมากคือปิดด่านทันทีแม้พบโควิดปนเปื้อนเพียงรายเดียว เราร่วมกับทุกฝ่ายทุกประเทศที่เกี่ยวข้องและดำเนินการทั้งเป็นทางการไม่เป็นทางการเพื่อคลี่คลายปัญหานี้และจีนก็เปิดด่านรถไฟผิงเสียงอีกครั้งหนึ่งตามข่าวที่ออกไปเมื่อวันที่1ม.ค.ครับ

    เป็นเรื่องการทำงาน ไม่ใช่เรื่องการตีกินหรือ อัปยศแห่งชาติตามสำนวนของพี่ไพศาล

      ขณะนี้ประเทศไทยพร้อมแล้วในการส่งสินค้าไปท่าบกท่านาแล้งโดยความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนไทย-ลาว-จีนทันทีที่จีนพร้อมเปิดบริการSPSและโควิดที่ด่านรถไฟโมฮ่านคาดว่าจะเปิดบริการภายในครึ่งแรกปีนี้ คือรอจีนทำให้เสร็จซึ่งเรากับลาวร่วมด้วยช่วยกันผลักดันเรื่องนี้

     ไม่ต้องรออะไรอีกแล้ว ที่เสร็จก็เร่งใช้งาน ที่สร้างก็สร้างไป แต่การขนส่งค้าขายรอไม่ได้ครับ 

      ผมเรียนว่า เราทำงานล่วงหน้ามา2ปีในการใช้ประโยชน์ร่วมกันระหว่างไทย ลาวและจีน ไม่เพียงมีเป้าหมายขนส่งผลไม้และสินค้าเกษตรไปทุกมณฑลทุกเขตปกครองตนเองในจีนแต่เราได้วางเส้นทางขนส่งทางรถไฟสายนี้เชื่อมโยงไปเอเซียกลาง ตะวันออกลาง รัสเซียและยุโรป รวมทั้งการสร้างความร่วมมือกับท่าบกของคาซัคสถานที่ Khorgos Gateway Dry Port ติดพรมแดนจีนบนเส้นทางรถไฟอีต้าอีลู่เพื่อเป็นฮับอีกจุดของชุมทางขนส่ง(Hub & Spoke)

   มีเรื่องราวอีกมากที่จะเล่าให้ฟัง

   ถ้ามีโอกาสขอเชิญพี่ไพศาลมาฟังบรรยายสรุปอัพเดทข้อมูลใหม่ๆให้ทราบครับและร่วมคิดร่วมสร้างอนาคตของประเทศด้วยกันที่กระทรวงเกษตรฯ.นะครับ 

  สุดท้ายหมายเหตุวันนี้ ผมขอนำข้อความและข่าวสารเมื่อเดือนพฤศจิกายนปี2563มาให้อ่านนะครับ เพื่อเป็นข้อมูลที่พี่ไพศาลควรทราบอย่างยิ่งครับ

…อลงกรณ์ พลบุตร….

2 มกราคม 2565

………..,.

16 พฤศจิกายน 2563 

ตู้คอนเทนเนอร์ผลไม้ไทยตู้ประวัติศาสตร์

ตู้คอนเทนเนอร์ขนผลไม้ทุเรียนมังคุดจากไทยตู้แรกในประวัติศาสตร์ผ่านลาวและเวียดนามกำลังยกด้วยรถเครนจากรถบรรทุกขึ้นแคร่รถไฟที่”ด่านรถไฟผิงเสียง”ล่ากว่ากำหนดเดิม1วันได้สำเร็จในที่สุด หลังจากเราทำความตกลงกับจีนเปิดด่านใหม่คือด่านรถไฟผิงเสียงครับ...อลงกรณ์

..…….

13 กันยายน 2564

ไทย จับมือ จีน ลงนามพิธีสาร ขยายด่านนำเข้า-ส่งออก กว่า 16 ด่าน หวังเปิดโอกาสผลไม้ไทย สู่แดนมังกรมากขึ้น

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการลงนามพิธีสารว่าด้วยข้อกำหนดในการกักกันโรคและตรวจสอบสำหรับการส่งออกและนำเข้าผลไม้ผ่านประเทศที่สามระหว่างประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยได้ลงนามร่วมกับ Mr.Wang Lingjun รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการศุลกากรแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนว่า ที่ผ่านมาไทยและจีนได้มีการลงนามพิธีสารเกี่ยวการส่งออกและนำเข้าผลไม้ทางบก ผ่านประเทศที่สาม ทั้งหมด 2 ฉบับ ได้แก่ เส้นทาง R9 ซึ่งลงนามเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2552 และเส้นทาง R3A ลงนามเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2554 ทั้งนี้ พิธีสารทั้ง 2 ฉบับ ครอบคลุม ผลไม้จากไทย 22 ชนิด


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top