Wednesday, 15 May 2024
สหประชาชาติ

UN ออกโรงประณาม - เรียกร้องรัฐบาลสืบสวน กรณีทหารพม่าฆ่า - เผาชาวบ้านในรัฐกะยา 35 ราย

เจ้าหน้าที่ของสหประชาชาติรายหนึ่งระบุเมื่อวันอาทิตย์ (26 ธ.ค.) ว่า เขาสยดสยองต่อรายงานข่าวที่น่าเชื่อถือ กรณีมีพลเรือนอย่างน้อย 35 รายถูกสังหารและเผาร่างจนไหม้เกรียมในพม่า และเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการสืบสวน

เจ้าหน้าที่ 2 คนของกลุ่มไม่แสวงหากำไร เซฟ เดอะ ชิลเดรน (Save the Children) ยังคงสูญหาย หลังรถยนต์ของพวกเขาเป็นหนึ่งในหลายๆ คันที่ถูกโจมตีและจุดไฟเผาในเหตุการณ์ซึ่งเกิดขึ้นที่รัฐกะยา

องค์กรเฝ้าระวังกลุ่มหนึ่งและสื่อมวลชนท้องถิ่นกล่าวโทษเหตุโจมตีดังกล่าวไปที่คณะรัฐประหาร

มาร์ติน กริฟฟิธส์ รองเลขาธิการใหญ่ด้านกิจการมนุษยธรรมของสหประชาชาติ ระบุในถ้อยแถลงว่า "ผมขอประณามเหตุการณ์ร้ายแรงนี้และทุกการโจมตีที่มีต่อพลเรือนทั่วประเทศ" พร้อมเรียกร้อง "ขอให้มีการสืบสวนอย่างละเอียดและโปร่งใส"

พม่าตกอยู่ท่ามกลางความยุ่งเหยิงมาตั้งแต่กองทัพก่อรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนในเดือนกุมภาพันธ์ และจนถึงตอนนี้มีประชาชนเสียชีวิตจากการถูกปราบปรามโดยกองกำลังด้านความมั่นคงไปแล้วมากกว่า 1,300 ราย

กองกำลังพิทักษ์ประชาชน (People's Defence Forces) ผุดขึ้นทั่วประเทศเพื่อต่อสู้กับคณะรัฐประหาร ดึงทหารเข้าสู่ทางตันแห่งการปะทะและตอบโต้นองเลือด

เมื่อวันเสาร์ (25 ธ.ค.) ภาพถ่ายที่ปรากฏบนสื่อสังคมออนไลน์ อ้างว่าเป็นภาพของรถบรรทุกถูกเผา 2 คันและรถยนต์อีกคันบนทางหลวงสายหนึ่งในเมืองพรูโซ ในรัฐกะยา และพบเห็นศพดำเป็นตอตะโกหลายศพอยู่ภายใน

สมาชิกของกองกำลังพิทักษ์ประชาชนในท้องถิ่น เปิดเผยว่านักรบของพวกเขาพบยานพาหนะเหล่านี้ในตอนเช้าวันเสาร์ (25 ธ.ค.) หลังได้ยินข่าวว่าทหารได้เรียกตรวจยานพาหนะหลายคันในพรูโซ หลังเกิดการปะทะกับนักรบของกลุ่มในบริเวณใกล้เคียงในวันศุกร์ (24 ธ.ค.)

"ตอนที่เราไปตรวจสอบพื้นที่ในตอนเช้าวันนี้ เราพบร่างผู้เสียชีวิตในสภาพไหม้เกรียมอยู่ในรถบรรทุก 2 คัน เราพบศพผู้เสียชีวิต 27 ศพ" สมาชิกรายนี้บอกกับเอเอฟพีในตอนเช้าวันเสาร์ (25 ธ.ค.) โดยไม่ประสงค์เอ่ยนาม

ไทยเอาด้วย!! เสียงโหวตท่วมท้นหนุน ยูเอ็น ประณามรัสเซีย พร้อมเรียกร้องให้ถอนทหารจากยูเครนทันที

ที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยพิเศษ (ยูเอ็นจีเอ) ที่ได้มีการหารือกันถึงกรณีที่รัสเซียรุกรานยูเครนมาตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ ได้ลงมติประณามการกระทำดังกล่าวของรัสเซียแล้ว ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงท่าทีของโลกที่ไม่เห็นด้วยกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

ชาติสมาชิกยูเอ็นได้ลงมติสนับสนุนการประณามรัสเซีย 141 ชาติ มี 5 ชาติที่โหวตคัดค้าน และงดออกเสียง 35 ชาติ ขณะที่ผู้สื่อข่าวรายงานว่าประเทศไทยก็ลงมติสนับสนุนมติประณามดังกล่าวเช่นกัน

หลังจากผลการลงคะแนนดังกล่าวปรากฏขึ้นบนหน้าจอในที่ประชุม ทำให้ผู้แทนชาติสมาชิกบางประเทศลุกขึ้นยืน เพื่อแสดงความยินดีต่อมติที่ออกมา ซึ่งถือเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก

ข้อมติดังกล่าวยังเรียกร้องให้รัสเซียทำการถอนทหารทั้งหมดออกจากดินแดนของยูเครน ภายใต้พรมแดนที่ได้รับการรับรองโดยประชาคมระหว่างประเทศทันที ให้มีการถอนทหารออกทั้งหมด และโดยปราศจากเงื่อนไข

ถึงแม้ข้อมติดังกล่าวจะไม่มีผลผูกพันชาติสมาชิกในทางกฎหมาย แต่ถือว่ามีน้ำหนักในทางการเมืองเพราะสะท้อนถึงจุดยืนร่วมของประเทศส่วนใหญ่ แม้จะยังคงมีข้อสงสัยว่าจะช่วยเปลี่ยนแปลงการรุกรานทางทหารของรัสเซียในยูเครนได้หรือไม่ก็ตาม

UN ระงับสถานะรัสเซียในคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน ไทย และชาติอาเซียนส่วนใหญ่งดออกเสียง

สมัชชาสหประชาชาติมีมติเสียงข้างมาก 93 เสียง ระงับการเป็นสมาชิกของรัสเซียในคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน ด้านไทย อินโดนีเซีย และอีกหลายประเทศในตะวันออกกลาง งดออกเสียง

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากนครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 8 เม.ย.ว่าสมัชชาสหประชาชาติ (ยูเอ็นจีเอ) มีมติในการประชุม เมื่อวันพฤหัสบดี ด้วยเสียงข้างมาก 93 เสียง ระงับสถานภาพสมาชิกของรัสเซีย ในคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอชอาร์ซี) เนื่องจาก “กระทำการละเมิดสิทธิมนุษยชนในยูเครนอย่างร้ายแรง”

ทั้งนี้ การลงมติลักษณะนี้ต้องการเสียงสนับสนุนอย่างน้อย 2 ใน 3 ของสมาชิกที่เข้าร่วมการประชุม โดยไม่รวมประเทศที่งดออกเสียงและไม่เข้าร่วมการลงมติ

อย่างไรก็ตาม มี 24 ประเทศออกเสียงคัดค้าน รวมถึง รัสเซีย จีน เบลารุส คิวบา เกาหลีเหนือ อิหร่าน ซีเรีย นิการากัว คาซัคสถาน ลาว และเวียดนาม

นายจาง จวิน เอกอัครราชทูตจีนประจำยูเอ็น แถลงหลังการลงมติ ระงับสถานภาพสมาชิกของรัสเซีย ในยูเอ็นเอชอาร์ซี

ขณะที่ประเทศซึ่งงดออกเสียงต่อมติดังกล่าว มี 58 ประเทศ รวมถึง อินเดีย บราซิล แอฟริกาใต้ ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) จอร์แดน กาตาร์ คูเวต อิรัก ปากีสถาน สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย บรูไน กัมพูชา และไทย เท่ากับว่า ในส่วนของสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) มีเพียงฟิลิปปินส์และเมียนมา ที่สนับสนุนมตินี้

'เลขาฯ ยูเอ็น' เตรียมคุย 'ปูติน-เซเลนสกี' เพื่อหาข้อยุติการสู้รบในยูเครน

อันโตนีโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ มีกำหนดเข้าพบปะกับประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย ที่มอสโก ก่อนมุ่งหน้าสู่ยูเครน เพื่อหารือกับประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ในสัปดาห์หน้า เพื่อหาข้อยุติในสงครามที่ยืดเยื้อมานานกว่าสามเดือน

เอเอฟพีรายงานความเคลื่อนไหวของสหประชาชาติในเหตุการณ์การสู้รบในยูเครน เมื่อวันเสาร์ที่ 23 เมษายน 2565 กล่าวว่า อันโตนีโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ จะเดินทางไปยังกรุงมอสโกเพื่อเข้าพบประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย หลังจากนั้นจะไปเยือนยูเครนเพื่อพบกับประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ในสัปดาห์หน้า ตามแถลงการณ์ขององค์การสหประชาชาติ

'เซเลนสกี' ร้องขอประชุมยุติสงครามร่วมกับ 'ปูติน' ตำหนิ 'เลขาฯ ยูเอ็น' เหตุเดินทางไปรัสเซียก่อนยูเครน

ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี แห่งยูเครน เมื่อวันเสาร์ (23 เม.ย.) เรียกร้องอีกครั้งขอประชุมร่วมกับประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย ในความพยายามยุติสงคราม พร้อมกับตำหนิ อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการใหญ่แห่งสหประชาชาติ ที่เลือกเดินทางเยือนมอสโก แล้วถึงค่อยมุ่งหน้าสู่เคียฟ

"ผมคิดว่าใครก็ตามที่เริ่มสงครามนี้ จะสามารถยุติมันได้" เขากล่าวระหว่างแถลงข่าวที่สถานีรถไฟใต้ดินแห่งหนึ่ง ในย่านใจกลางกรุงเคียฟ "ผมไม่กลัวที่จะพบปะกับปูติน หากว่ามันจะนำมาซึ่งข้อตกลงสันติภาพระหว่างรัสเซียกับยูเครน"

เขากล่าวต่อว่า "ตั้งแต่แรกเริ่ม ผมยืนกรานมาตลอดก่อนการพูดคุยกับประธานาธิบดีรัสเซีย มันไม่ใช่ว่าผมต้องการพบปะกับเขา แต่ผมจำเป็นต้องพบปะกับเขา เพื่อหาทางออกของความขัดแย้งนี้ในหนทางด้านการทูต เราเชื่อมั่นในพันธมิตรของเรา แต่เราไม่เชื่อใจรัสเซีย"

เซเลนสกี เปิดเผยด้วยว่า แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ จะเดินทางเยือนกรุงเคียฟในวันอาทิตย์ (24 เม.ย.) ซึ่งถือเป็นวันครบรอบ 3 เดือนแห่งการรุกรานยูเครนของรัสเซีย นอกจากนี้ ลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ จะเดินทางมาพร้อมกัน ซึ่งจะถือเป็นการเดินทางเยือนอย่างเป็นทางการครั้งแรกของเจ้าหน้าที่รัฐบาลอเมริกา นับตั้งแต่การรุกรานเริ่มต้นขึ้นในวันที่ 24 กุมภาพันธ์

เจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ปฏิเสธแสดงความคิดเห็นต่อคำกล่าวอ้างของเซเลนสกี

10 มกราคม พ.ศ. 2489 ‘สหประชาชาติ’ จัดประชุมสมัชชาใหญ่ครั้งแรก ณ กรุงลอนดอน มีสมาชิกเข้าร่วม 51 ประเทศ

10 มกราคม พ.ศ. 2489 (ค.ศ. 1946) ‘สหประชาชาติ’ ได้จัดการประชุมสมัชชาใหญ่เป็นครั้งแรก ณ กรุงลอนดอน 

สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (United Nations General Assembly) เป็นองค์กรที่มีอำนาจมากที่สุดและเป็นหนึ่งในเสาหลักของสหประชาชาติ เป็นเพียงองค์กรเดียวของสหประชาชาติที่ตัวแทนของแต่ละประเทศสมาชิกมีสิทธิและฐานะเท่าเทียมกัน สมัชชาใหญ่มีหน้าที่ตรวจสอบงบประมาณและการใช้จ่ายในโครงการของสหประชาชาติ แต่งตั้งสมาชิกไม่ถาวรในคณะมนตรีความมั่นคง รับรายงานจากทั่วทุกมุมโลกเพื่ออภิปรายและให้ความเห็น ตลอดจนจัดตั้งองค์กรลูกต่าง ๆ มากมายของสหประชาชาติ

การประชุมสมัชชาใหญ่ครั้งแรกมีขึ้นในวันที่ 10 มกราคม ค.ศ. 1946 ที่ศาลากลางนครเวสต์มินสเตอร์ในกรุงลอนดอน โดยในขณะนั้นมีสมาชิกเข้าร่วมทั้งสิ้น 51 ประเทศ โดยสมัชชาใหญ่จะมีวาระการประชุมตามที่ประธานที่ประชุมหรือเลขาธิการสหประชาชาติได้เรียกประชุมตามขั้นตอนปีละหนึ่งครั้ง ซึ่งโดยมากจะเริ่มเปิดวาระการประชุมตั้งแต่เดือนกันยายนเป็นต้นไป ซึ่งจะหารือกันในหัวข้อหลักต่างๆ ไปจนถึงราวเดือนธันวาคม และหารือกันในหัวข้อย่อยตั้งแต่เดือนมกราคมไปจนกระทั่งสิ้นสุดทุกประเด็นตามที่ได้แถลงไว้

สหประชาชาติ (UN) ลงมติอย่างท่วมท้น เรียกร้องรัสเซียถอนทหารออกจากยูเครนทันที

สหประชาชาติลงมติอย่างท่วมท้นในวันพฤหัสบดี (23 ก.พ.) ในนั้นมีไทยด้วย เรียกร้องรัสเซียถอนทหารออกจากยูเครนทันทีและไม่มีเงื่อนไข ท่ามกลางเสียงเรียกร้องสำหรับสันติภาพที่ยั่งยืน ในวาระครบรอบ 1 ปีของสงคราม

ยูเครนได้รับเสียงสนับสนุนอย่างเข้มแข็งในการลงมติแบบไม่มีข้อผูกพัน ที่พบเห็นสมาชิกสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ 141 ชาติ จากทั้งหมด 193 ชาติ ยกมือเห็นชอบ ส่วนที่คัดค้านมี 7 ประเทศ และงดออกเสียง 32 ชาติ ในนั้นรวมถึงจีน และอินเดีย

ไม่กี่ชั่วโมงก่อนถึงวาระครบรอบ 1 ปีของสงครามอันโหดร้ายป่าเถื่อน แรงสนับสนุนที่มีต่อเคียฟแทบไม่มีการเปลี่ยนแปลงจากการลงมติหนสุดท้ายเมื่อเดือนตุลาคมปีก่อน โดยคราวนั้นมี 143 ชาติที่ร่วมลงมติประณามความเคลื่อนไหวของรัสเซีย ที่ผนวก 4 แคว้นของยูเครนเป็นส่วนหนึ่งของดินแดน

"วันนี้ ที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติส่งเสียงชัดเจนมาก" โจเซฟ บอร์เรล ประธานนโยบายต่างประเทศของสหภาพยุโรปกล่าว "ผลโหวตนี้แสดงให้เห็นว่าประชาคมนานาชาติยืนหยัดเคียงข้างยูเครน"

การลงมติครั้งนี้มีขึ้นตามหลังการอภิปรายเป็นเวลา 2 วัน ซึ่ง ดมีโทร คูเลบา รัฐมนตรีต่างประเทศยูเครน เรียกร้องประชาคมนานาชาติเลือกระหว่างความดีกับปีศาจ นอกจากนี้ เขายังปฏิเสธความคิดที่ว่าเคียฟได้รับแรงสนับสนุนจากตะวันตก สหภาพยุโรป สหรัฐฯและพันธมิตรหลักๆ เท่านั้น

"ผลของการลงมติเป็นสิ่งที่โต้แย้งคำกล่าวอ้างที่ว่าบรรดาประเทศซีกโลกใต้ไม่ได้ยืนหยัดอยู่ฝ่ายยูเครน เพราะว่าในวันนี้ ตัวแทนของหลายประเทศจากละตินอเมริกา แอฟริกาและเอเชียยกมือเห็นชอบ" คูเลบากล่าว "แรงสนับสนุนกว้างขวางขึ้น และมันจะมีแต่ความเป็นหนึ่งเดียวกันและความเป็นปึกแผ่นมากยิ่งขึ้น"

อันเดรีย์ เยอร์มัค หัวหน้าคณะทำงานของประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี แห่งยูเครน แสดงความขอบคุณทุกประเทศที่ยืนหยัดเพื่อยูเครน ในวาระครบรอบ 1 ปีของการรุกรานโดยปราศจากการยั่วยุของรัสเซีย

มตินี้เป็นการเน้นย้ำการสนับสนุนอำนาจอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของยูเครน ปฏิเสธคำกล่าวอ้างใดๆ ของรัสเซียที่อ้างว่าดินแดนที่อยู่ภายใต้การยึดครองเป็นส่วนหนึ่งในดินแดนของพวกเขา

นอกจากนี้ มันยังเรียกร้องให้สหพันธรัฐรัสเซียถอนทหารทันที โดยสิ้นเชิงและอย่างไม่มีเงื่อนไข ออกจากดินแดนของยูเครน ที่ได้รับการรับรองจากนานาชาติ และเรียกร้องขอให้หยุดความเป็นปรปักษ์

ขณะเดียวกัน สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่าผลการโหวตครั้งนี้ยังแสดงให้เห็นว่ามอสโกกำลังถูกโดดเดี่ยวมากขึ้นเรื่อยๆ ในเวทีโลก หลังสงครามลากยาวมานาน 12 เดือน โดยพวกเขาได้รับแรงสนับสนุนจากเพียงแค่ 6 ชาติสมาชิกเท่านั้น อันประกอบด้วย เบลารุส ซีเรีย เกาหลีเหนือ มาลี นิการากัว และเอริเทรีย

แม้ได้รับแรงสนับสนุนอย่างจำกัด แต่ที่ผ่านๆ มา รัสเซียใช้อำนาจสิทธิในการวีโต้ของพวกเขา ขัดขวางมติที่มีผลผูกพันใดๆ กับพวกเขา ในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ

ด้วยเหตุนี้ทางสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติจึงหยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาเพื่อแสดงจุดยืนให้การสนับสนุนยูเครนอย่างแข็งขัน ในการลงมติไปแล้วหลายรอบนับตั้งแต่รัสเซียเปิดฉากรุกรานเมื่อ 1 ปีก่อน

เช่นเดียวกับทุกครั้ง รัสเซียปฏิเสธมติล่าสุด โดย วาซิลีย์ เนเบนซยา ผู้แทนมอสโกประจำสหประชาชาติ เรียกยูเครนว่าเป็น "นีโอนาซี" พร้อมกล่าวหาตะวันตกบูชายัญเคียฟและโลกกำลังพัฒนา เพื่อความปรารถนาเอาชนะรัสเซีย "พวกเขาพร้อมฉุดทั่วทั้งโลกเข้าสู่ขุมนรกแห่งสงคราม เพื่อธำรงไว้ซึ่งความเป็นเจ้าโลกของตนเอง"

ผลโหวตยังแสดงให้เห็นว่า อินเดียและจีน ยังคงหนักแน่นไม่ประณามการรุกรานของมอสโก ด้วยการงดออกเสียง แม้ว่าทั้ง 2 ชาติ เคยออกมาวิพากษ์วิจารณ์มอสโก ต่อกรณีขู่ใช้อาวุธนิวเคลียร์ในความขัดแย้ง

ก่อนหน้าการโหวต รองผู้แทนจีนประจำสหประชาชาติ แสดงจุดยืนเป็นกลาง เรียกร้องทั้ง 2 ฝ่าย หยุดการสู้รบและเข้าสู่การเจรจาสันติภาพ "เราสนับสนุนให้รัสเซียและยูเครน เคลื่อนเข้าหากัน คืนสู่การเจรจาโดยตรงเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้"

อย่างไรก็ตาม รองผู้แทนของจีนได้ส่งเสียงเห็นใจหนึ่งในความกล่าวอ้างของรัสเซียต่อการรุกรานยูเครน นั่นคือความมั่นคงของมอสโกอยู่ภายใต้ภัยคุกคาม สืบเนื่องจากการที่ยูเครน โน้มเอียงเข้าหายุโรปตะวันตกและนาโต้ "ทางออกใดๆ ควรคำนึงถึงความกังวลด้านความมั่นคงที่สมเหตุสมผลของทุกประเทศ ด้วยเหตุนี้จึงต้องจัดการอย่างเหมาะสมกับความปรารถนาด้านความมั่นคงที่ชอบธรรมของพวกเขา"

สำหรับประเทศไทย ในการลงมติล่าสุด ยกมือสนับสนุนข้อเรียกร้องรัสเซียถอนทหารออกจากยูเครนทันทีและไม่มีเงื่อนไข หลังจากก่อนหน้าเมื่อเดือนตุลาคม ได้ใช้จุดยืนงดออกเสียงในมติที่ประชุมสมัชาชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ประณามรัสเซียต่อกรณีผนวกแคว้นต่างๆ ของยูเครนเข้าเป็นส่วนหนึ่งในดินแดน

ในตอนนั้น ในเวลาต่อมา เฟซบุ๊กของกระทรวงการต่างประเทศไทยเผยแพร่ถ้อยแถลงของ สุริยา จินดาวงษ์ เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ต่อการลงมติงดออกเสียงต่อกรณียูเครนว่า ประเทศไทยเลือกงดออกเสียง เนื่องจากว่า มติดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงบรรยากาศที่มีความอ่อนไหวและกำลังมีสถานการณ์ที่ผันผวนและปะทุขึ้นมาได้

“อลงกรณ์”กล่าวสุนทรพจน์เวทีสหประชาชาติ  ชูแนวทางการพัฒนาภาคเกษตร 3 สูง 3 มิติ หวังขับเคลื่อนระบบอาหาร(Food System)ให้เกิดความมั่นคงอย่างยั่งยืน

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รับมอบหมายจาก ดร. เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นผู้แทนร่วมกล่าวเปิดงานร่วมกับ
นายจองจินคิมผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) นายคาเวห์ ซาฮีดี รองผู้อำนวยการองค์การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิกแห่งสหประชาชาติ(ESCAP)และนายสเตฟาโน โฟเธาว์ผู้ประสานงานระบบอาหารโลกของสหประชาชาติ(UN)

โดยนายอลงกรณ์กล่าวสุนทรพจน์ภายใต้หัวข้อ การปฏิรูประบบอาหารในเอเชียและแปซิฟิก : การประเมินความคืบหน้าระบบอาหารระดับภูมิภาคเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 ( The Regional Food Systems Stocktaking ) ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ( the United Nations Conference Centre )กรุงเทพฯ ว่า ในนามของรัฐบาลไทยขอขอบคุณพันธมิตรนานาประเทศ ที่ร่วมกันแลกเปลี่ยนและนำเสนอแนวทางในการพลิกโฉมระบบอาหารและการเกษตร การจัดทำรายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานภายหลังการประชุมสุดยอดผู้นำระบบอาหารโลก เพื่อให้โลกของเราสามารถผ่านพ้นวิกฤติและสร้างความเข้มแข็งมั่นคงและยั่งยืนให้ภาคเกษตรและอาหาร และเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ภายในปี 2030

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นหน่วยงานหลักในการร่วมกิจกรรมของการประชุมสุดยอดผู้นำระบบอาหารโลกมาตลอด และกำลังจัดทำรายงานความก้าวหน้า( Food and Agriculture Stocktaking )เพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมFood and Agriculture Stocktaking Moment ในเดือนกรกฎาคมที่จะถึงนี้ และจัดเตรียมสำหรับการปะชุม สุดยอดการพัฒนาอย่างยั่งยืน(SDG Summit)ในเดือนกันยายน 

อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรฯ ได้เชิญชวนภาคีเครือข่าย พันธมิตรนานาชาติ ที่ได้ร่วมดำเนินโครงการด้านเกษตรและอาหารในประเทศไทยจัดส่งข้อมูลเพื่อรวบรวมในการจัดทำ Food and Agriculture Stocktaking ของประเทศไทย และได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นที่ต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน เพื่อพลิกโฉมระบบเกษตรและอาหารให้ยั่งยืน ยืดหยุ่น และเป็นธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผ่านการสนับสนุนทางด้านการเงิน ข้อมูล วิทยาศาสตร์และนวัตกรรม อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งประเทศไทยได้นำนโยบายเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว หรือ “โมเดลเศรษฐกิจ BCG” เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจที่สร้างสมดุลสู่ความยั่งยืน โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้นำมาปรับใช้เพื่อขับเคลื่อนระบบเกษตรและอาหารให้เกิดความยั่งยืนต่อไป

29 พฤษภาคมของทุกปี วันสากลแห่งเจ้าหน้าที่รักษาสันติภาพของสหประชาชาติ รำลึกถึงเจ้าหน้าที่ ในภารกิจเพื่อสันติภาพ และแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง

วันที่ 29 พฤษภาคมของทุกปีเป็น “วันสากลแห่งเจ้าหน้าที่รักษาสันติภาพของสหประชาชาติ” (International Day of United Nations Peacekeepers) เพื่อเป็นการรำลึกถึงเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจและพลเรือน ในภารกิจรักษาสันติภาพของสหประชาชาติ เพื่อสันติภาพและแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง บรรเทาความทุกข์ยากของผู้อื่นในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วโลก

วันสิ่งแวดล้อมโลก จัดขึ้นเพื่อให้เกิดความตื่นตัว ในด้านวิกฤตการณ์สิ่งแวดล้อม ที่เกิดขึ้นทั่วโลก

สำหรับจุดเริ่มต้นของวันสิ่งแวดล้อมโลก หรือ World Environment Day นั้น จัดทำขึ้นเพื่อให้เกิดความตื่นตัวในด้านวิกฤตการณ์สิ่งแวดล้อมขึ้นทั่วโลก จึงมีมติให้จัดประชุมใหญ่ที่กรุงสตอกโฮล์ม ระหว่างวันที่ 5-16 มิถุนายน พ.ศ. 2515 ที่มีรัฐบาลของสวีเดนเป็นเจ้าภาพ โดยเรียกการประชุมนี้ว่า “การประชุมสหประชาชาติเรื่องสิ่งแวดล้อมของมนุษย์” หรือ “UN Conference on the Human Environment” ซึ่งมีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 1,200 คน จาก 113 ประเทศ รวมถึงมีผู้สังเกตการณ์อีกกว่า 1,500 คนจากหน่วยงานของรัฐ องค์การสหประชาชาติ และสื่อมวลชนแขนงต่าง ๆ ทั้งนี้เพื่อร่วมกันหาหนทางแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ประเทศต่าง ๆ กำลังเผชิญอยู่ ซึ่งผลจากการประชุมครั้งนั้นได้มีข้อตกลงร่วมกันหลายอย่าง เช่น การจัดตั้งโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP : United Nations Environment Programme) ที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงไนโรบี ประเทศเคนยา และรัฐบาลประเทศต่าง ๆ ก็ได้รับข้อตกลงจากการประชุมคราวนั้นไปจัดตั้งหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมขึ้นในประเทศของตน ดังนั้นเพื่อเป็นการระลึกถึงจุดเริ่มต้นของการร่วมมือจากหลากหลายชาติในด้านสิ่งแวดล้อม องค์การสหประชาชาติจึงได้ประกาศให้วันที่ 5 มิถุนายนของทุกปีเป็นวันสิ่งแวดล้อมโลก


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top