Monday, 21 April 2025
สหประชาชาติ

‘ยูเอ็น’ หวั่นโรคระบาดคุกคาม 'ลิเบีย' หลังเกิดเหตุน้ำท่วม จากการขาดสุขอนามัย เตรียมหาวิธีป้องกัน ไม่ให้เกิดวิกฤติซ้ำสอง

(19 ก.ย. 66) สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า สหประชาชาติ หรือยูเอ็น เตือนว่า เมืองเดอร์นาของลิเบียที่ถูกน้ำท่วมใหญ่และมีคนเสียชีวิตจำนวนมากเมื่อสัปดาห์ก่อน เสี่ยงเกิดโรคระบาดที่จะทำให้เกิดวิกฤติร้ายแรงซ้ำสอง

ภารกิจสนับสนุนของยูเอ็นในลิเบียแถลงว่า ทีมงานของยูเอ็น 9 หน่วยงานได้ลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือและการสนับสนุนแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากพายุแดเนียล (Daniel) และน้ำท่วม ขณะนี้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่น หน่วยงานบรรเทาทุกข์ และองค์การอนามัยโลกกำลังวิตกเรื่องความเสี่ยงที่จะเกิดโรคระบาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากน้ำปนเปื้อนและการขาดสุขอนามัย ทีมงานจึงต้องหาทางป้องกันไม่ให้เกิดขึ้น เพราะจะกลายเป็นวิกฤตร้ายแรงซ้ำสอง

ชาวเมืองเดอร์นาที่รอดชีวิตจากน้ำท่วมใหญ่ที่เกิดขึ้นหลังจากพายุพัดถล่มเมื่อวันที่ 10 กันยายน กำลังขาดแคลนน้ำสะอาด อาหาร และสิ่งจำเป็นพื้นฐาน ในขณะที่เสี่ยงจะเกิดอหิวาตกโรค ท้องร่วง ภาวะขาดน้ำ และโรคขาดสารอาหาร น้ำท่วมทำให้เมืองเดอร์นาที่มีประชากร 100,000 คน เสียชีวิตราว 3,000-11,300 ราย ไร้ที่อยู่อาศัย  30,000 คน และสูญหายอยู่หลายหมื่นคน

3 ธันวาคม ของทุกปี สหประชาชาติกำหนดให้เป็น ‘วันคนพิการสากล’

3 ธันวาคม ของทุกปี สหประชาชาติกำหนดให้เป็น วันคนพิการสากล เพื่อส่งเสริมความเข้าใจต่อคนพิการและส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของคนพิการ

องค์การสหประชาชาติ กำหนดให้วันที่ 3 ธันวาคม ของทุกปี เป็น 'วันคนพิการสากล' เพื่อรำลึกถึงวันที่ 3 ธันวาคม 2525 ที่สมัชชาใหญ่แห่งองค์การสหประชาชาติรับรองแผนปฏิบัติการโลกว่าด้วยเรื่องคนพิการ (World Programme of Action concerning Disabled Persons) พร้อมทั้งสนับสนุนให้ประเทศต่าง ๆ เฉลิมฉลองวันคนพิการสากลทุกปี เพื่อขับเคลื่อนปฏิบัติการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของคนพิการอย่างต่อเนื่องทั่วโลก เปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมจัดกิจกรรมรณรงค์ให้เกิดการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ โดยอยู่บนฐานของสิทธิอย่างเป็นรูปธรรม และได้มาตรฐานในระดับสากล อนึ่ง ตั้งแต่ปี 2530 องค์การสหประชาชาติได้กำหนดหัวข้อวันคนพิการในแต่ละปีด้วย เช่น อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิของคนพิการ ศักดิ์ศรีและความยุติธรรมเพื่อคนทั้งมวล ทุกเรื่องคนพิการต้องมีคนพิการ เป็นต้น

ทั้งนี้ จากการสำรวจทางสถิติขององค์การสหประชาชาติ พบว่า กลุ่มประเทศแถบเอเชียและแปซิฟิกนี้มีจำนวนประชากรที่เป็นบุคคลพิการมากที่สุดในโลก ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่เกิดมาจากปัญหาของความยากจน นอกเหนือจากนั้นก็เป็นเพราะสาเหตุของความรุนแรงของภัยพิบัติทางธรรมชาติ อุบัติเหตุและผลของสงคราม 

พร้อมกันนี้ทางคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก ก็ได้มีแนวนโยบายที่จะเร่งผลักดันและส่งเสริมคนพิการให้อยู่ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของแต่ละชาติ ตั้งคณะกรรมการประสานงานให้ความร่วมมือช่วยเหลือคนพิการและองค์การต่าง ๆ ที่จะร่วมมือสร้างชีวิตคนพิการให้ดีขึ้น ทั้งในระดับชาติและระดับสากล ตลอดจนเร่งพัฒนาส่งเสริมให้คนพิการทั้งเด็กและผู้ใหญ่ได้รับการฟื้นฟู บำบัดรักษา การศึกษา การฝึกฝีมือและอาชีพ หรือแม้กระทั่งมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคม ทั้งทางการกีฬา วัฒนธรรมประเพณีและสิ่งแวดล้อม

นอกจากงานในด้านสังคมแล้ว ในด้านอาชีพก็เช่นกัน จึงได้สนับสนุนคนพิการในด้านต่าง ๆ เช่น งานหัตถกรรม เป็นต้น ขายลอตเตอรี่ พนักงานรับโทรศัพท์ งานช่างต่าง ๆ เช่น ช่างไม้ ช่างกระจก เป็นต้น ทำให้คนพิการได้มีโอกาสประกอบอาชีพต่าง ๆ ได้มากขึ้น

ส่วนงานที่เกี่ยวกับการศึกษานั้น นานาชาติก็มิได้ละเลย โดยให้โอกาสในการศึกษาของคนพิการด้านต่าง ๆ เช่น การให้ทุนเกี่ยวกับการศึกษาแก่คนพิการ และการผลิตอุปกรณ์ทางการศึกษาแก่คนพิการต่าง ๆ เช่น การผลิตเครื่องเรียงสำหรับเครื่องคอมพิวเตอร์และสแกนเนอร์ของคนตาบอด การผลิตลูกคิดสเลตและสไตลัสสำหรับคนตาบอด ทำให้คนตาบอดศึกษาหาความรู้ได้สะดวกขึ้น นอกจากนั้นแล้วยังมีการจัดแปลหนังสือเรียนของคนปกติมาพิมพ์เป็นหนังสือเรียน เป็นตัวอักษรเบรลล์แก่คนตาบอดอีกด้วย

‘กลุ่ม IS’ ยอมรับ!! อยู่เบื้องหลังเหตุระเบิด 2 ครั้ง ในวันงานพิธีรำลึก ‘นายพล กาเซม โซเลมานี’

(5 ม.ค. 67) สื่อต่างประเทศรายงานว่า กลุ่มติดอาวุธรัฐอิสลาม (ไอเอส) ออกมาประกาศอ้างความรับผิดชอบต่อเหตุระเบิด 2 ครั้งซ้อนในพิธีรำลึกครบรอบวันตายของ พล.อ.กาเซม โซเลมานี อดีตผู้บัญชาการหน่วยคุดส์ (Quds) ของอิหร่าน ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตไปเกือบ 100 คน และบาดเจ็บอีกเป็นจำนวนมาก

ในถ้อยแถลงที่โพสต์เทเลแกรม ไอเอสอ้างว่าสมาชิกนักรบ 2 รายได้จุดชนวนเข็มขัดระเบิดท่ามกลางฝูงชนที่กำลังเข้าร่วมพิธีรำลึก บริเวณสุสานในเมืองเคอร์มาน (Kerman) ทางตะวันออกเฉียงใต้ของอิหร่านเมื่อวันพุธที่ผ่านมา

พิธีรำลึกครั้งนี้จัดขึ้นเนื่องในโอกาสครบรอบ 4 ปีการเสียชีวิตของ โซเลมานี ซึ่งถูกกองทัพสหรัฐฯ ส่งโดรนเข้าไปลอบสังหารที่อิรักเมื่อปี 2020

จอห์น เคอร์บีย์ โฆษกทำเนียบขาว บอกกับสื่อมวลชนว่า สหรัฐฯ “ไม่อยู่ในสถานะที่จะตั้งข้อสงสัย” กับคำกล่าวอ้างผลงานของไอเอส ขณะที่เตหะรานประกาศจะแก้แค้นเหตุโจมตีครั้งเลวร้ายซึ่งทำให้มีคนบาดเจ็บล้มตายมากที่สุดในยุคหลังการปฏิวัติอิสลามปี 1979

เหตุระเบิดครั้งนี้นอกจากจะคร่าชีวิตคนไปเกือบร้อย ยังทำให้มีผู้บาดเจ็บอีกไม่ต่ำกว่า 284 คน รวมถึงเด็กๆ

“ทหารของ โซเลมานี จะหยิบยื่นการแก้แค้นที่สาสมต่อพวกเขา” โมฮัมหมัด มอคเบอร์ รองประธานาธิบดีคนที่หนึ่งของอิหร่าน ให้สัมภาษณ์สื่อที่เมืองเคอร์มาน

ทางการอิหร่านยังเรียกร้องให้ผู้คนออกมารวมตัวกันครั้งใหญ่ในวันศุกร์ ซึ่งจะมีการจัดพิธีศพให้แก่เหยื่อจากเหตุระเบิด 2 ครั้งซ้อน

กองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติแห่งอิหร่าน (IRGC) ประณามเหตุโจมตีครั้งนี้ว่าเป็นการกระทำอัน “ขี้ขลาดตาขาว” ที่ “หวังสร้างความระส่ำระสาย และบ่อนทำลายความรักและการอุทิศตนที่คนอิหร่านมีต่อสาธารณรัฐอิสลาม”

ประธานาธิบดี เอบราฮิม ไรซี แห่งอิหร่าน ประณามเหตุระเบิดครั้งนี้ว่าเป็น “อาชญากรรมที่ชั่วร้ายและไร้ความเป็นมนุษย์” ขณะที่ อยาตอลเลาะห์ อาลี คอเมเนอี ผู้นำสูงสุดอิหร่านก็ประกาศกร้าวว่าจะต้อง “แก้แค้น”

ด้านคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) ได้แถลงประณาม “การก่อการร้ายที่ขี้ขลาดตาขาว” ในอิหร่าน พร้อมแสดงความเสียใจไปยังครอบครัวผู้เสียชีวิต และรัฐบาลอิหร่านด้วย

แม้รายละเอียดเกี่ยวกับตัวผู้บงการและแรงจูงใจในการก่อเหตุยังไม่มีการเปิดเผยแน่ชัด แต่ แอรอน เซลิน (Aeron Zelin) ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันวอชิงตันเพื่อนโยบายตะวันออกใกล้ (Washington Institute for Near East Policy) ระบุว่า ตนจะไม่ประหลาดใจเลยหากสุดท้ายพบว่าเป็นฝีมือของกลุ่ม ISIS-Khorasan หรือ ISIS-K ซึ่งเป็นเครือข่ายไอเอสที่มีฐานอยู่ในอัฟกานิสถาน

เซลิน ชี้ว่า รัฐบาลอิหร่านเคยออกมากล่าวหา ISIS-K ว่าอยู่เบื้องหลังแผนโจมตีหลายครั้งที่ถูกสกัดเอาไว้ได้ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา โดยส่วนใหญ่ผู้ที่ถูกจับกุมจะเป็นชาวอิหร่าน ชาวเอเชียกลาง และชาวอัฟกันที่มาจากเครือข่ายไอเอสในอัฟกานิสถาน มากกว่าเครือข่ายไอเอสในอิรักและซีเรีย

กลุ่มไอเอสมีความชิงชังชาวชีอะห์ซึ่งเป็นศาสนาอิสลามนิกายหลักในอิหร่าน และมุสลิมชีอะห์ก็ตกเป็นเป้าหมายโจมตีบ่อยครั้งในอัฟกานิสถาน เนื่องจากไอเอสมองว่าเป็นพวกละทิ้งศาสนา (apostates) อีกทั้งนักรบอิสลามิสต์กลุ่มนี้ก็ข่มขู่โจมตีอิหร่านมานานหลายปีแล้ว

การถูกกลุ่มตอลิบานไล่กวาดล้างส่งผลให้ ISIS-K อ่อนกำลังลงมากในอัฟกานิสถาน และสมาชิกบางส่วนต้องอพยพย้ายไปยังประเทศข้างเคียง ทว่ากลุ่มติดอาวุธกลุ่มนี้ยังคงวางแผนปฏิบัติการภายนอกประเทศอยู่ ตามข้อมูลจากเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ 

10 มกราคม พ.ศ. 2489 ‘สหประชาชาติ’ จัดประชุมสมัชชาใหญ่ครั้งแรก ณ กรุงลอนดอน มีสมาชิกเข้าร่วม 51 ประเทศ

10 มกราคม พ.ศ. 2489 (ค.ศ. 1946) ‘สหประชาชาติ’ ได้จัดการประชุมสมัชชาใหญ่เป็นครั้งแรก ณ กรุงลอนดอน 

ซึ่ง สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (United Nations General Assembly) เป็นองค์กรที่มีอำนาจมากที่สุดและเป็นหนึ่งในเสาหลักของสหประชาชาติ เป็นเพียงองค์กรเดียวของสหประชาชาติที่ตัวแทนของแต่ละประเทศสมาชิกมีสิทธิและฐานะเท่าเทียมกัน สมัชชาใหญ่มีหน้าที่ตรวจสอบงบประมาณและการใช้จ่ายในโครงการของสหประชาชาติ แต่งตั้งสมาชิกไม่ถาวรในคณะมนตรีความมั่นคง รับรายงานจากทั่วทุกมุมโลกเพื่ออภิปรายและให้ความเห็น ตลอดจนจัดตั้งองค์กรลูกต่าง ๆ มากมายของสหประชาชาติ

การประชุมสมัชชาใหญ่ครั้งแรกมีขึ้นในวันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2489 (ค.ศ. 1946) ที่ศาลากลางนครเวสต์มินสเตอร์ในกรุงลอนดอน โดยในขณะนั้นมีสมาชิกเข้าร่วมทั้งสิ้น 51 ประเทศ โดยสมัชชาใหญ่จะมีวาระการประชุมตามที่ประธานที่ประชุมหรือเลขาธิการสหประชาชาติได้เรียกประชุมตามขั้นตอนปีละหนึ่งครั้ง ซึ่งโดยมักจะเริ่มเปิดวาระการประชุมตั้งแต่เดือนกันยายนเป็นต้นไป ซึ่งจะหารือกันในหัวข้อหลักต่าง ๆ ไปจนถึงราวเดือนธันวาคม และหารือกันในหัวข้อย่อยตั้งแต่เดือนมกราคมไปจนกระทั่งสิ้นสุดทุกประเด็นตามที่ได้แถลงไว้

นอกจากนี้ อาจมีเปิดวาระการประชุมในกรณีพิเศษหรือกรณีฉุกเฉิน ซึ่งการประชุม กลไก อำนาจหน้าที่ และการลงคะแนนของสมัชชาใหญ่นั้น เป็นไปตามมาตรา 5 แห่งกฎบัตรสหประชาชาติ โดยการลงคะแนนของสมัชชาใหญ่เพื่อออกเป็นมติสมัชชาใหญ่ในหัวข้อสำคัญ ข้อแนะนำด้านสันติภาพและความมั่นคง ข้องบประมาณ การเข้าร่วมสหประชาชาติ การระงับหรือเพิกถอนสมาชิกภาพ จะต้องได้รับคะแนนเสียงในที่ประชุมไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดในที่ประชุม

ส่วนหัวข้อย่อยอื่น ๆ นั้นใช้เพียงคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของสมาชิกในที่ประชุม โดยที่ประเทศสมาชิกแต่ละประเทศมีเพียงหนึ่งเสียงเท่านั้น สมัชชาใหญ่อาจให้ข้อแนะนำเรื่องใด ๆ ก็ตามที่อยู่ภายใต้ขอบเขตของสหประชาชาติ ยกเว้นอำนาจในการดำเนินการรักษาสันติภาพและความมั่นคงซึ่งเป็นอำนาจของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ

ปัจจุบัน สมัชชาใหญ่มีสมาชิกทั้งหมด 193 ประเทศ ซึ่งกว่าสองในสามเป็นประเทศกำลังพัฒนา และมีผู้สังเกตการณ์ 2 ประเทศ คือ นครรัฐวาติกัน กับ รัฐปาเลสไตน์

‘UN’ ฟุ้ง!! ‘เมียนมา’ ใช้ ‘ธนาคารไทย’ เป็นตัวกลางซื้อขาย-อาวุธ ‘สมาคมธนาคารไทย’ แจง!! ยึดจริยธรรม-ไม่หนุนการจัดซื้ออาวุธ

(28 มิ.ย.67) จากกรณีมีการเปิดเผยรายงานของผู้รายงานพิเศษ (Special Rapporteur) ของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) โดยระบุว่ามีธนาคารในประเทศไทย เป็นผู้ให้บริการทางการเงินหลักให้กับรัฐบาลทหารเมียนมานั้น

สมาคมธนาคารไทย ชี้แจงว่า สมาคมธนาคารไทยและธนาคารสมาชิก ให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจภายใต้หลักเกณฑ์การดำเนินงานอย่างรับผิดชอบต่อลูกค้า สังคม และประชาคมโลก และตามหลักสิทธิมนุษยชน โดยได้ยึดถือและปฏิบัติตามกฎหมายและกฎระเบียบขององค์กรกำกับดูแล คือ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ซึ่งมีการกำกับดูแลและตรวจสอบอย่างใกล้ชิด สร้างความเชื่อมั่นให้กับระบบการเงินของประเทศไทย

นอกจากนี้ ธนาคารสมาชิก ยังมีหน่วยงาน Compliance ที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญในด้านกฎระเบียบและการปฏิบัติงานของทั้งประเทศไทยและต่างประเทศ รวมถึงฐานข้อมูลของบุคคล องค์กร และประเทศที่มีความเสี่ยงสูง หรือมีรายชื่ออยู่ในรายการที่ห้ามทำธุรกรรมธนาคาร ซึ่งแต่ละธนาคารได้ดำเนินการปรับปรุงข้อมูลและแนวทางการปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ธนาคารพาณิชย์ของประเทศไทย มีนโยบายชัดเจน ไม่สนับสนุนการจัดซื้ออาวุธและสรรพาวุธกับองค์กรทางทหารของเมียนมา รวมถึงให้ความสำคัญต่อการป้องกัน และห้ามนำธุรกรรมทางเงินของภาคธนาคารไปใช้ในการจัดซื้ออาวุธที่นำไปใช้ละเมิดสิทธิมนุษยชน

142 ชาติสมาชิก UN โหวตออกคำสั่ง ‘อิสราเอล’ ยุติ!! การครอบครอง ‘เวสต์แบงก์-เยรูซาเล็มตะวันออก’

(21 ก.ย.67)ในที่ประชุมสหประชาชาติที่เมืองนิวยอร์ก สหรัฐฯ พบว่าชาติสมาชิก 142 ชาติทั่วโลกในวันพุธ (18) ลงมติการสั่ง ‘อิสราเอล’ ต้องยุติการครอบครองดินแดนปาเลสไตน์ โดยขีดเส้นตายให้ต้องเสร็จสิ้นภายใน 12 เดือน

เอกอัครราชทูตปาเลสไตน์ประจำ UN ไรยาด มานซัวร์ (Riyad Mansour) เรียกการโหวตวันพุธ (18) เป็นจุดเปลี่ยนในความพยายามของพวกเราต่อเสรีภาพและความยุติธรรม มติที่ประชุมใหญ่สหประชาชาติจะถูกเดินหน้าโดยปาเลสไตน์ที่นั่งอยู่ในห้องประชุมในฐานะผู้สังเกตการณ์ รวมไปถึงสิทธิต่อการยื่นข้อเสนอในที่ประชุมใหญ่ในพฤษภาคม

อย่างไรก็ตาม พบว่าการลงคะแนนวันพุธ (18) มี 14 ชาติรวมสหรัฐฯ อิสราเอล ฮังการี อาร์เจนตินา สาธารณรัฐเซก หรือรู้จักในชื่อ เชกเกีย (Czechia) ฟิจิ มาลาวี ไมโครนีเซีย ตองกา และตูวาลู

และอีก 43 ประเทศงดออกเสียง

มติถูกรับหลังชาติสมาชิกจำนวน 142 ชาติออกเสียงรับรองเห็นชอบ

สื่อสหรัฐฯ รายงานว่า การลงมติวันพุธ (18) เกิดขึ้นหลังศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ICJ ที่กรุงเฮก เนเธอร์แลนด์ ได้กล่าวในเดือนกรกฎาคมว่า การปรากฏตัวของอิสราเอลในเขตเวสต์แบงก์ และเยรูซาเลมตะวันออกไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเรียกร้องให้อิสราเอลต้องยุติการเข้ายึดครองดินแดนนานหลายสิบปีโดยปาเลสไตน์ซึ่ง ประชาชนปาเลสไตน์ตั้งความหวังจะรวบรวมดินแดนเหล่านี้เพื่อตั้งประเทศใหม่ในอนาคต

โดยในความเห็นแนะนำพบว่า ศาล ICJ กล่าวว่า อิสราเอลสมควรต้องยุติการยึดครองโดยเร็วที่สุด ในขณะที่มติในที่ประชุมสหประชาชาติได้ให้เวลาอิสราเอลเป็นเวลา 12 เดือน

เอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำสหประชาชาติ แดนนี ดานอน (Danny Danon) ได้ออกมาโจมตีต่อผลมติที่ออกมาว่า

เป็นการตัดสินที่น่าละอายในการสนับสนุนการก่อการร้ายเชิงการทูตของรัฐบาลปาเลสไตน์

ไทม์สออฟอิสราเอลรายงานเพิ่มเติมว่า ขณะที่กระทรวงต่างประเทศอิสราเอลได้แสดงความเห็นว่า การตัดสินใจนี้เป็นการเมืองระหว่างประเทศที่น่าเย้ยหยัน คิดแต่ผลประโยชน์ตัวเองที่จะกระตุ้นการก่อการร้ายและทำร้ายโอกาสสำหรับสันติภาพ

สื่อยิวอธิบายว่านอกเหนือจากจะให้เวลา 12 เดือนเพื่อยุติการครอบครองในเขตเวสต์แบงก์และเยรูซาเลมตะวันออกแล้ว ยังรวมไปถึงทหาร IDF และพลเรือนทั้งหมดให้ต้องออกไป

CNN รายงานว่า อย่างไรก็ตามทั้งคำแนะนำจาก ICJ หรือมติที่ประชุมสหประชาชาติมีผลบังคับผูกพัน แต่ทว่าคำตัดสินจาก ICJ และมติที่ประชุมสหประชาชาติสามารถถูกใช้เพื่อโดดเดี่ยว ‘อิสราเอล’ เพิ่มมากขึ้น และในสัปดาห์หน้าที่เมืองนิวยอร์กบรรดาผู้นำชาติสมาชิก UN ทั้งหมดจะเข้าร่วมการประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติประจำปี

'เลขาฯ ยูเอ็น' ชื่นชมไทย นำ 'เศรษฐกิจพอเพียง' มาพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน เผย!! อยากให้ไทยนำทฤษฎีนี้มาประยุกต์ใช้เพื่อการพัฒนาร่วมกันกับยูเอ็น

ไม่นานมานี้ ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เข้าเยี่ยมคารวะ นายอันโตนิโอ กูแตร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ ณ อาคารสำนักงานใหญ่องค์การสหประชาชาติ

นายมาริษ ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนภายหลังว่า ได้หารือกับเลขาธิการสหประชาชาติในหลากหลายประเด็น โดยเลขาธิการสหประชาชาติให้ความสำคัญ และเล็งเห็นบทบาทของประเทศไทยในการนำทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง มาใช้พัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน จึงขอให้ประเทศไทยร่วมมือกับสหประชาชาติ โดยใช้ประสบการณ์ที่มี เพื่อประยุกต์ใช้ทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน จึงนับเป็นความภูมิใจของตนและเอกอัครราชทูต ที่ได้รับคำชื่นชมจากเลขาธิการสหประชาชาติ ซึ่งน่าจะเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยมีบทบาทในกรอบองค์การสหประชาชาติได้ ขณะเดียวกัน เลขาธิการสหประชาชาติยังแสดงความห่วงกังวลเกี่ยวกับการนำคำมั่นเพื่ออนาคตไปสู่การปฏิบัติ พร้อมกับขอให้ไทยเป็นคนกลางและสะพานเชื่อม เพราะไม่ใช่ทุกประเทศที่จะทำได้ ในการผลักดันคำมั่น เพื่ออนาคตไปสู่การปฏิบัติเพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง

นายมาริษ เปิดเผยต่อว่า ยังได้ยืนยันกับเลขาธิการสหประชาชาติว่า ประเทศไทยภายใต้การนำของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มีความประสงค์ทำงานกับองค์การสหประชาชาติอย่างเต็มที่ มีบทบาทเข้มข้นมากยิ่งขึ้น ด้วยบุคลากรที่เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ด้านการต่างประเทศจำนวนมาก จึงอยากเห็นองค์การสหประชาชาติมีคนไทยเข้าไปทำงานมากขึ้น ผ่านการวางนโยบายขององค์การในอนาคตมากยิ่งขึ้น ดังที่ประเทศไทยมีสำนักงานขององค์การสหประชาชาติตั้งอยู่หลายแห่งด้วย

ไทย ได้เป็นสมาชิก ‘คณะมนตรีสิทธิมนุษยชน UN’ คว้าคะแนนสูงสุดในกลุ่มประเทศเอเชีย – แปซิฟิก

(10 ต.ค.67) ประเทศไทยได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ วาระปี 2568-2570 จากการลงคะแนนเลือกตั้งในที่ประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ ด้วยคะแนนสูงสุดถึง 177 คะแนน ในกลุ่มประเทศเอเชีย – แปซิฟิก ซึ่งถือเป็นคะแนนสูงที่สุดเท่าที่เคยมีมาในภูมิภาค

นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ประเทศไทยจะเริ่มปฏิบัติหน้าที่ในฐานะสมาชิก UNHRC ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.68 โดยจะมีวาระ 3 ปี ร่วมกับประเทศต่าง ๆ ที่ได้รับเลือก รวมทั้งสิ้น 18 ประเทศ ได้แก่ ไทย เบนิน โบลิเวีย โคลอมเบีย ไซปรัสเช็ก คองโก เอธิโอเปีย แกมเบีย ไอซ์แลนด์ เคนย่า หมู่เกาะมาร์แชลล์ เม็กซิโก มาเซโดเนียเหนือ กาตาร์ สเปน เกาหลีใต้ และสวิตเซอร์แลนด์

“รัฐบาลเชื่อมั่นว่าการมีส่วนร่วมในฐานะสมาชิก UNHRC จะช่วยยกระดับมาตรฐานด้านสิทธิมนุษยชนทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ พร้อมเสริมสร้างภาพลักษณ์ของไทยในเวทีระหว่างประเทศ โดยการได้รับเลือกครั้งนี้จะเปิดโอกาสให้ประเทศไทยมีบทบาทสำคัญในการผลักดันประเด็นสิทธิมนุษยชนในเวทีโลก ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลให้ความสำคัญอย่างต่อเนื่อง และพร้อมที่จะทำงานอย่างแข็งขันร่วมกับประเทศสมาชิกอื่น ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาสิทธิมนุษยชน ร่วมกันต่อไป” นายจิรายุ กล่าว

ในอดีตประเทศไทยเคยดำรงตำแหน่งสมาชิก UNHRC ระหว่างปี 2553 -2556 โดยประเทศไทย ได้ดำรงตำแหน่งประธาน UNHRC ระหว่างเดือนมิถุนายน 2553 ถึงเดือนมิถุนายน 2554 ซึ่งเป็นช่วงที่มีการทบทวนสถานะ และการทำงานของ UNHRC ซึ่งประเทศไทย ในฐานะประธานฯ ได้นำการหารือ และเจรจาจนสามารถบรรลุฉันทามติในเรื่องดังกล่าวได้

นอกจากนั้น ประเทศไทยในฐานะสมาชิก UNHRC เมื่อปี 2554 ยังได้ริเริ่มการเสนอข้อมติรายปีหลายเรื่อง โดยเฉพาะการสนับสนุนความร่วมมือทางวิชาการ และการเพิ่มขีดความสามารถในด้านสิทธิมนุษยชน (Enhancement of Technical Cooperation and Capacity Building in the Field of Human Rights) ในกรอบ HRC ซึ่งไทยยังคงเป็นผู้ยกร่าง (penholder) ของข้อมติดังกล่าวมาจนถึงปัจจุบัน

‘สหประชาชาติ’ แนะ!! ไทย ให้ปลดล็อก ‘Sex Worker’

(14 ธ.ค. 67) ที่โรงแรมเรเนซองส์ กรุงเทพฯ ราชประสงค์ ชั้น 4 ห้อง Studio R6 คณะทำงานแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิงและเด็กผู้หญิง (WGDAWG) แถลงข่าวสถานการณ์ด้านสิทธิฯ ภายหลังการมาเยือนประเทศไทยเป็นครั้งแรกตามคำเชิญของรัฐบาล

ไฮนา ลู และ อีวานา เคิร์สติช ตัวแทนสมาชิกคณะทำงาน ได้ประเมินความคืบหน้าและข้อท้าทายในการบรรลุความเท่าเทียมทางเพศและขจัดการเลือกปฏิบัติในการมาเยือนประเทศไทยครั้งนี้ รวมถึงพิจารณาหลายแง่มุมของชีวิตผู้หญิงและเด็กผู้หญิง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่เผชิญรูปแบบการเลือกปฏิบัติที่ทับซ้อนแตกต่างกันไป ซึ่งมีการหารือทั้งในกรุงเทพมหานคร แม่สอด เชียงใหม่ และ หาดใหญ่

สาระสำคัญของรายงาน ระบุว่า ไทยอยู่ในจังหวะสำคัญที่จะก้าวเป็นแบบอย่างของความเท่าเทียมทางเพศในภูมิภาค โดยออกแถลงการณ์ชื่นชมที่มีความก้าวหน้าด้านสิทธิผู้หญิงและเด็กผู้หญิง ทั้งด้านกฎหมายและในเชิงสถาบันต่าง ๆ โดยเฉพาะการศึกษา สาธารณสุข และการจ้างงาน

อย่างไรก็ดี ยังมีความกังวลต่อช่องว่างที่สำคัญในการบังคับใช้นโยบาย ซึ่งขัดขวางการบรรลุความเสมอภาค โดยเสนอแนะว่ากลไกขับเคลื่อนเรื่องผู้หญิงระดับชาติ ควรได้รับการสนับสนุนทางการเงิน รวมถึงบุคลากร ซึ่งการจัดสรรงบประมาณที่คำนึงถึงมิติทางเพศ ยังเป็นหนึ่งในคำมั่นที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ

อีวานา เคิร์สติช กล่าวว่า ในเครื่องความรุนแรงทางเพศ เราเห็นว่าเทคโนโลยีเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดการ ‘ไซเบอร์บูลลี’ หรือการเปิดเผยข้อมูลที่ทำให้เกิดอันตราย เป็นความท้าทายของรัฐบาลไม่ให้การล่วงละเมิดและตักตวงผลประโยชน์จากผู้หญิง

อยากแนะนำให้รัฐบาลไทย เลิกทำให้การค้าบริการทางเพศเป็นสิ่งผิดกฎหมาย เราอยากให้เขาเข้ารับบริการทางสุขภาพได้อย่างเป็นธรรม ขณะเดียวกัน รัฐบาลควรดำเนินการบูรณาการในการดูแลเหยื่อ แต่ในทางปฏิบัติเองเราก็พบว่ายังมีทีมงานไม่เพียงพอในศูนย์ต่าง ๆ ซึ่งน่าจะทำให้ทุกคนเข้าถึงบริการพื้นฐานเหล่านี้ได้อย่างเท่าเทียมกันมากขึ้น

สหรัฐฯ เบี้ยวหนี้ยูเอ็น 2.8 พันล้านดอลลาร์ อ้างเป็นผู้นำโลก แต่ทุ่มเงินหนุนสงครามยูเครน

(27 ม.ค. 68) เว็บไซต์ Global Times ของทางการจีนรายงานบทความวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลสหรัฐฯ โดยว่ารัฐบาลวอชิงตันดี.ซี กำลังแสดงตัวอย่างให้โลกเห็นถึงความละเลยต่อการรับผิดชอบต่อประชาคมโลย ด้วยการค้าชำระงบประมาณของสหประชาชาติ เป็นมูลค่าถึง 2.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่กลับนำเงินไปหนุนการทำสงครามยูเครนเป็นมูลค่ารวมแล้วกว่า 62 พันล้านดอลลาร์ แสดงให้เห็นถึงตัวอย่างเชิงลบของความเป็นผู้นำโลก

Global Times ระบุว่า เมื่อไม่นานมานี้ นายฟาร์ฮาน ฮัก รองโฆษกเลขาธิการสหประชาชาติ เปิดเผยว่าสหรัฐอเมริกาค้างชำระเงินจำนวน 2.8 พันล้านดอลลาร์แก่สหประชาชาติ โดยในจำนวนนี้ 1.5 พันล้านดอลลาร์เป็นส่วนที่ค้างชำระในงบประมาณปกติขององค์กร การที่สหรัฐฯ ซึ่งเป็นสมาชิกสำคัญของสหประชาชาติไม่ยอมชำระเงินตามกำหนด ถือเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีต่อบทบาทผู้นำระดับโลก  

แม้สหรัฐฯ จะเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก แต่การละเลยการชำระเงินให้แก่สหประชาชาติติดต่อกันเป็นเวลานานเป็นเรื่องที่ไม่อาจมองข้ามได้ สำหรับประเทศมหาอำนาจที่สามารถใช้จ่ายงบประมาณหลายพันล้านดอลลาร์เพื่อสนับสนุนสงคราม ตัวเลข 2.8 พันล้านดอลลาร์ที่ติดค้างนี้ดูเหมือนจะเป็นจำนวนเงินเล็กน้อย ซึ่งสะท้อนท่าทีของสหรัฐฯ ที่เลือกสนับสนุนกฎระเบียบระหว่างประเทศเฉพาะกรณีที่เป็นประโยชน์ต่อผลประโยชน์ของตนเอง และหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบที่ควรมีในฐานะประเทศมหาอำนาจ  

นายลวี่ เซียง ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาสหรัฐฯ จากสถาบันสังคมศาสตร์แห่งชาติจีน กล่าวว่า “การค้างชำระเงินในงบประมาณปกติของสหประชาชาติจากสหรัฐฯ ส่งผลกระทบต่อบทบาทของสหประชาชาติอย่างชัดเจน” เนื่องจากการดำเนินงานของสหประชาชาติต้องพึ่งพารายได้จากการชำระเงินของประเทศสมาชิก หากมีเงินทุนเพียงพอจะส่งผลต่อความสามารถในการดำเนินงานในด้านต่าง ๆ เช่น การให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ปฏิบัติการรักษาสันติภาพ และวาระระดับโลกอื่น ๆ การชำระเงินตามกำหนดจึงถือเป็นความรับผิดชอบพื้นฐานที่สุดของประเทศสมาชิกในกรอบการทำงานของสหประชาชาติ  

ปัญหาด้านการเงินของสหประชาชาตินับเป็นประเด็นที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยสหรัฐฯ มักชำระเงินเฉพาะเมื่อเห็นว่าสหประชาชาติสนับสนุนผลประโยชน์ของตน เช่น กรณีเหตุการณ์ 11 กันยายน ที่สหรัฐฯ ได้ชำระเงินอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตามในปัจจุบัน เนื่องจากสหประชาชาติไม่ตอบสนองต่อข้อเรียกร้องของสหรัฐฯ ในมติที่เกี่ยวข้องกับวิกฤตยูเครนและความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ การชำระเงินจึงถูกเลื่อนออกไปไม่มีกำหนด  

สหรัฐฯ ใช้จุดแข็งด้านเศรษฐกิจและบทบาทในสหประชาชาติเป็นเครื่องมือกดดัน โดยการค้างชำระเงินถือเป็น "ไพ่ใบสำคัญ" ที่ใช้บีบให้สหประชาชาติสนับสนุนจุดยืนและผลประโยชน์ของสหรัฐฯ ในประเด็นระหว่างประเทศ  

นอกจากนี้ การใช้จ่ายของสหรัฐฯ ยังสะท้อนความแตกต่างอย่างชัดเจน โดยในขณะที่รัฐบาลสหรัฐฯ ทุ่มเงินจำนวนมหาศาลอย่างรวดเร็วเพื่อสนับสนุนสงคราม กลับแสดงความประหยัดอย่างยิ่งเมื่อต้องสนับสนุนองค์กรระหว่างประเทศ เช่น ในปลายปี 2024 กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ประกาศชุดความช่วยเหลือด้านความมั่นคงมูลค่า 988 ล้านดอลลาร์แก่ยูเครน ส่งผลให้ความช่วยเหลือทั้งหมดตั้งแต่เกิดวิกฤตยูเครน-รัสเซียมีมูลค่ารวมกว่า 62 พันล้านดอลลาร์ “หากสหรัฐฯ ยินดีจัดสรรเงินเพียงเล็กน้อยจากจำนวนเงินมหาศาลที่มักลงเอยในกระเป๋าของบริษัทค้าอาวุธให้แก่สหประชาชาติ จะถือเป็นการสร้างประโยชน์ที่ยิ่งใหญ่กว่าแก่โลก” นายลวี่ กล่าวเสริม  

พฤติกรรมการเลือกปฏิบัติของสหรัฐฯ แสดงให้เห็นถึงการขาดความรับผิดชอบในฐานะประเทศมหาอำนาจ และเปิดเผยการเมินเฉยต่อหน้าที่ที่ควรปฏิบัติ ซึ่งสวนทางกับคำกล่าวอ้างเรื่อง "บทบาทผู้นำโลก" ของสหรัฐฯ ความไม่สอดคล้องระหว่างคำพูดและการกระทำนี้ไม่เพียงแต่บั่นทอนความน่าเชื่อถือและชื่อเสียงของสหรัฐฯ ในเวทีโลก แต่ยังสร้างความไม่ไว้วางใจในหมู่ประเทศกำลังพัฒนา และทำให้สถานะทางศีลธรรมของสหรัฐฯ ลดลงอย่างต่อเนื่อง

ท่ามกลางระเบียบโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบบหลายขั้วและความร่วมมือระดับภูมิภาคที่เข้มแข็งขึ้น สหประชาชาติยังคงเป็นเวทีสำคัญสำหรับการบริหารจัดการระดับโลก หากสหรัฐฯ ยังคงเมินเฉยต่อบทบาทและความสำคัญของสหประชาชาติ ชื่อเสียงของตนในด้านการบริหารจัดการโลกจะลดลงอย่างต่อเนื่อง


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top