Friday, 18 April 2025
วันตะดิงจุด

ออกพรรษาในเมียนมา 'เข้าวัดทำบุญ-ขอขมาผู้ใหญ่' รากเหง้าที่คงอยู่ แต่ดูเลือนลางห่างจากสังคมไทย

ในเดือนตุลาคมนี้เป็นเดือนที่มีวันสำคัญในเมียนมา ซึ่งก็คือ 'วันตะดิงจุด' (Thadingyut) หรือ วันออกพรรษา นั่นเอง ซึ่งปีนี้ตรงกับวันที่ 9 ตุลาคม ในขณะที่วันออกพรรษาของไทยคือ วันที่ 10 ตุลาคม  

เอย่าเชื่อว่าหลายคนคงมีคำถามว่าทำไมวันพระพม่ากับวันพระไทยไม่ตรงกัน?

เหตุผลที่แท้จริงนั้นไม่แน่ชัด แต่เท่าที่เอย่าเคยได้ยินมา เนื่องจากเมียนมาและไทยอยู่คนละเส้นเวลา ทำให้การคำนวณวันตามจันทรคติไม่ตรงกันด้วย แต่บางข้อมูลบอกว่าพม่านั้นใช้การดูวันที่พระจันทร์เต็มดวงจริงไม่ได้คำนวนตามจันทรคติ ดังนั้นทำให้วันพระของพม่าไม่ตรงกับของไทยที่ใช้ระบบการคำนวนตามจันทรคติ ซึ่งทั้ง 2 แหล่งที่เอย่าได้ยินมาก็ถือว่ามีเหตุผลทั้งคู่ตามแต่ทุกท่านแล้วว่าจะเชื่อใคร

ย้อนกลับมาที่ วันตะดิงจุด หรือ วันออกพรรษาของคนเมียนมานั้น ตอนเช้าทุกคนจะเดินทางไปวัดทำบุญ ซึ่งสังเกตุได้ว่าตามเจดีย์ทุกที่ในวันนี้จะมีคนแน่นตลอดทั้งวัน และในยามค่ำจะมีการจุดเทียนหรือประทีบที่เจดีย์ และที่บ้านเพื่อเป็นสัญลักษณ์ในการต้อนรับองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่เสด็จกลับมาจากดาวดึงส์ โดยประเพณีการจุดดวงประทีปนี้ไม่ได้มีแค่ในเมียนมาเท่านั้น แต่มีในประเทศรอบข้างบ้านเราด้วยเช่น ลาว เป็นต้น

ในวันที่ 15 ค่ำเดือน 11 นี้ในเมียนมาไม่ได้มีตำนานพญานาคพ่นดวงไฟเหมือนที่เกิดขึ้นในแม่น้ำโขง แต่นอกจากการจุดดวงประทีปที่พื้นแล้ว หลายพื้นที่ก็มีการลอยประทีปบนอากาศเช่นกัน เช่น ในรัฐฉาน และบางแห่งก็ลอยดวงประทีปในน้ำเหมือนกับการลอยกระทงของบ้านเราก็มี

นอกจากกิจกรรมทางศาสนาแล้วในวันที่ถือว่าเป็นวันเริ่มต้นอะไรใหม่ ๆ วันนี้ยังเป็นวันที่ผู้น้อยไปเยี่ยมผู้หลักผู้ใหญ่และมีพิธีกรรมที่น่ารักอันหนึ่ง คือ พิธีขอขมา โดยพิธีนี้ผู้น้อยหรือผู้ที่มีอายุน้อยกว่าจะขอขมาผู้ที่มีอายุมากกว่าแลละผู้อาวุโสนอกจากจะอโหสิกรรมให้ในสิ่งที่ผู้น้อยทำผิด ทั้งมโนกรรม วจีกรรม กายกรรม แล้วผู้ใหญ่บางที่ก็แจกเงิน แจกทองให้ผู้น้อยด้วย ซึ่งพิธีนี้นอกจากทำกันในบ้านแล้วยังกระทำกันในที่ทำงานด้วย

วันตะดิงจุด หรือ ออกพรรษาของเมียนมา มรดกทางวัฒนธรรมร่วม ที่ควรรีบขอขึ้นทะเบียน

มีข่าวดังมาจากองค์การ UNESCO ว่าประเทศไทยขอขึ้นทะเบียนวันสงกรานต์เป็นมรดกทางวัฒนธรรม ในขณะที่กัมพูชายังมึนตึ๊บกับเรื่องมวยไทยกับกุน ขแมร์ กันอยู่

เอย่ามองว่าวัฒนธรรมเหล่านี้มันเป็นมรดกทางวัฒนธรรมร่วมในดินแดนอุษาคเนย์แห่งนี้ อย่างสงกรานต์ในไทย-ในลาว เรียกว่า ‘ตรุษสงกรานต์’ ในกัมพูชาเรียกว่า ‘โจล ชนัม ขแมร์’ ส่วนในพม่าเรียกว่า ‘ติงจ่าน’ หรือ ตะจ่านนั้น ทุกความเชื่อเหมือนกันคือเป็นวันปีใหม่และมีเทศกาลเล่นน้ำ รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ ซึ่งหากเอาหลักฐานทางประวัติศาสตร์มาพูดย่อมจะพูดกันได้ยาก ว่าเป็นวัฒนธรรมของประเทศใดประเทศหนึ่ง  

ทั้งนี้ยังมีอีก 1 เทศกาลที่ยิ่งใหญ่ไม่แพ้กันคือ วันตะดิงจุด หรือ ออกพรรษาของพม่า ซึ่งเป็นมรดกทางวัฒนธรรมร่วมเช่นกัน เพียงแต่ในแต่ละประเทศมีประเพณีต่างกันไปบ้าง เช่น ในไทยมีการตักบาตรเทโว เป็นต้น ส่วนในพม่าและลาวนั้น มีการประดับประดาเทียนตามพื้นที่วัดและอาคารบ้านเรือนเพื่อสักการะต่อพระพุทธเจ้าที่เสด็จลงมาจากสวรรค์นั่นเอง


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top