Tuesday, 14 May 2024
มรดกโลก

ข่าวดี!! ยูเนสโกขึ้นทะเบียน 'โนรา' เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม

การแสดงโนรา หรือ มโนราห์ ที่เป็นศิลปะการแสดงเก่าแก่จากภาคใต้ของไทย ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็น ‘มรดกโลกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้’ หรือ ICH (Intangible Cultural Heritage) โดยองค์การยูเนสโกอย่างเป็นทางการแล้ว เมื่อวันพุธที่ผ่านมา!! 

รายงานจากเอเอฟพี เมื่อวันพุธที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2564 เผยว่า องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ประกาศให้การแสดงโนราจากภาคใต้ของไทยเป็น ‘มรดกโลกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้’ อย่างเป็นทางการ ซึ่งเรื่องนี้น่าจะทำให้ศิลปวัฒนธรรมจากภาคใต้ของไทยที่สืบทอดมานานหลายร้อยปี เป็นที่รู้จักมากขึ้นในระดับโลก!! 

‘บิ๊กตู่’ ปลื้ม ‘แหล่งอนุรักษ์ทะเลอันดามัน’ ขึ้นบัญชีรายชื่อเบื้องต้นมรดกโลกแล้ว

เมื่อวันที่ 19 ม.ค. นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ภายหลังคณะรัฐมนตรีเห็นชอบ นำเสนอแหล่งมรดกทางธรรมชาติพื้นที่แหล่งอนุรักษ์ทะเลอันดามัน เพื่อเสนอขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกเข้าสู่บัญชีรายชื่อเบื้องต้น (Tentative List) ของศูนย์มรดกโลก ต่อศูนย์มรดกโลก ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส นั้น เป็นที่น่ายินดีว่า เว็บไซต์ของศูนย์มรดกโลก องค์การยูเนสโกได้บรรจุ “พื้นที่แหล่งอนุรักษ์ทะเลอันดามัน” ในบัญชีรายชื่อเบื้องต้น (Tentative List) เพื่อเสนอขอขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติเป็นที่เรียบร้อยแล้ว 

โดยภายหลังทราบข่าว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวยินดีและชื่นชมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายที่ได้เดินหน้าผลักดันจนประสบความสำเร็จไปขั้นหนึ่ง พร้อมย้ำว่า ขอให้ทุกหน่วยงานคำนึงถึงทรัพยากรธรรมชาติ และประโยชน์ของประชาชนในพื้นที่ และประเทศเป็นหลัก เพราะการขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติจะนำมาซึ่งความภาคภูมิใจให้คนไทย รวมทั้งเป็นการอนุรักษ์ธรรมชาติอย่างยั่งยืนอีกทางหนึ่ง

นายธนกร กล่าวว่า สำหรับพื้นที่แหล่งอนุรักษ์ทะเลอันดามัน ที่นำเสนอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก เป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติทางทะเลตลอดชายฝั่งทะเลอันดามันที่อยู่ตอนบนของคาบสมุทรไทย ในเขต จ.ระนอง พังงา และภูเก็ต รวมทั้งสิ้น 6 อุทยานแห่งชาติ ได้แก่ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะระนอง อุทยานแห่งชาติแหลมสน อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน อุทยานแห่งชาติเขาลำปี-หาดท้ายเหมือง อุทยานแห่งชาติสิรินาถ รวมไปถึงพื้นที่ป่าชายเลนจังหวัดระนอง และพื้นที่สงวนชีวมณฑลระนอง ซึ่งเป็นองค์ประกอบของนิเวศทางทะเลและชายฝั่งที่สำคัญทางฝั่งทะเลอันดามันของประเทศไทย 3 นิเวศภูมิภาค (Ecoregion) ที่สำคัญ คือ นิเวศภูมิภาคป่าชายเลนและกลุ่มเกาะชายฝั่งนิเวศภูมิภาคหมู่เกาะทะเลลึก และนิเวศภูมิภาคชายหาดและป่าสันทรายชายฝั่ง

'ปราสาทกาซีอันเตป' มรดกยุคโรมันอายุ 2 พันปี พังทลายลงจากเหตุแผ่นดินไหวในตุรเคีย

ภัยพิบัติแผ่นดินไหวระดับรุนแรงมากที่เกิดขึ้นในทางตอนใต้ของประเทศตุรเคียและตอนเหนือของประเทศซีเรีย ซึ่งมีศูนย์กลางแผ่นดินไหวอยู่ที่เมืองกาซีอันเตป (Gaziantep) สร้างความเสียหายใหญ่หลวง อาคารบ้านเรือนทลายลงมาเหลือสภาพเป็นซากปรักหักพัง เศษอิฐซากปูนที่ทับถมกองพะเนินมีครอบครัวของใครบางคนที่รอการค้นพบอยู่ในนั้น โดยไม่ทราบว่าจะพบในสภาพเป็นหรือตาย

ครบหนึ่งสัปดาห์ของเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ตุรเคียและซีเรีย ผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 33,000 รายแล้ว และยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีก คาดก็อาจจะขึ้นไปถึงหลักแสน การค้นหาผู้รอดชีวิตและผู้เสียชีวิตดำเนินไปท่ามกลางความโศกเศร้าเสียใจของคนในพื้นที่ ขณะที่อากาศหนาวเหน็บเป็นอุปสรรคต่อการทำงานของเจ้าหน้าที่และอาสาสมัคร บวกกับความซับซ้อนทางการเมืองของพื้นที่ ทำให้ความช่วยเหลือจากนานาชาติเป็นไปอย่างล่าช้า

ความเสียหายทางด้านวัตถุสิ่งปลูกสร้างนั้น หนักหนากว่าการที่ผู้คนสูญเสียบ้านเรือนที่อยู่อาศัย เนื่องด้วยประเทศตุรเคียเป็นดินแดนแห่งอารยธรรมหลายจักรวรรดิสำคัญในประวัติศาสตร์โลก ตั้งแต่จักรวรรดิโรมันตะวันออก จักรวรรดิไบแซนไทน์ และจักรวรรดิออตโตมัน ซึ่งมรดกทางอารยธรรมเหล่านั้นยังหลงเหลืออยู่ให้เห็นหลายแห่งทั่วประเทศตุรเคีย รวมถึงประเทศที่มีพรมแดนติดกันอย่างซีเรีย ซึ่งในอดีตก็เคยเป็นพื้นที่ในจักรวรรดิเดียวกันความเสียหายหรือผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหวครั้งนี้จึงเกิดขึ้นกับโบราณสถานเหล่านั้นด้วย

ในพื้นที่ประเทศตุรเคียและซีเรียมีโบราณสถานหลายแห่งที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากองค์การ เพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก (United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization : UNESCO) ซึ่งตามข่าวที่ยูเนสโกเผยแพร่ออกมาเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566 ยูเนสโกเป็นกังวลและได้ร่วมกับพันธมิตรลงพื้นที่สำรวจความเสียหายแล้ว แต่ยังไม่ได้รับรายงานว่ามีแหล่งมรดกโลกแห่งใดเสียหาย

สำหรับในซีเรีย ยูเนสโกกังวลเป็นพิเศษเกี่ยวกับสถานการณ์ในเมืองโบราณอเลปโป ซึ่งอยู่ในรายชื่อมรดกโลกที่อยู่ในภาวะอันตราย (World Heritage in Danger List) จากการสำรวจของเจ้าหน้าที่และพันธมิตรพบว่า หอคอยด้านตะวันตกของกำแพงเมืองเก่าและอาคารเก่าหลายแห่งในตลาดได้รับความเสียหาย

ส่วนในตุรเคีย ยูเนสโกบอกว่า “รู้สึกเศร้าใจกับการพังทลายของอาคารหลายแห่งในเมืองดิยาร์บากีร์ ซึ่งเป็นที่ตั้งของ ‘ป้อมปราการดิยาร์บากีร์ และภูมิทัศน์วัฒนธรรมสวนเฮฟเซล การ์เดน’ (Diyarbakır Fortress and Hevsel Gardens Cultural Landscape) ซึ่งเป็นศูนย์กลางที่สำคัญของจักรวรรดิโรมัน จักรวรรดิไบแซนไทน์ และจักรวรรดิออตโตมัน”

นอกจากนี้ ยูเนสโกกังวลว่าแหล่งมรดกโลกอื่น ๆ ที่อยู่ไม่ไกลจากศูนย์กลางแผ่นดินไหวอาจได้รับผลกระทบด้วย เช่น โกเบคลี เทเป (Göbekli Tepe), เนมรุต ดัก (Nemrut Dağ) และเนินเขาอาร์สลันเตเป (Arslantepe) แม้จะไม่ใช่มรดกโลก แต่โบราณสถานที่เห็นชัดเจนว่าพังเสียหายจากแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวครั้งนี้ คือ 'ปราสาทกาซีอันเตป' (Gaziantep Castle) มรดกอารยธรรมยุคโรมันที่อยู่คู่เมืองนี้มากว่า 2,000 ปี

เมืองกาซีอันเตป (Gaziantep) ตั้งอยู่บนคาบสมุทรอานาโตเลีย เป็นหนึ่งในเมืองเก่าแก่ที่สุดในโลกที่มีประชากรอาศัยตั้งรกรากต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

ในยุคจักรวรรดิออตโตมัน (ค.ศ. 1299-1922) เมืองนี้มีชื่อว่า 'แอนเตป' (Antep) ก่อนจะถูกเปลี่ยนชื่อเป็น 'กาซีอันเตป' (Gaziantep) ในปี 1928 และใช้ชื่อนี้ต่อมาถึงทุกวันนี้

ปราสาทกาซีอันเตปตั้งอยู่ใจกลางเมืองกาซีอันเตป จากการขุดค้นทางโบราณคดีมีหลักฐานว่าปราสาทหินแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นครั้งแรก เพื่อเป็นหอสังเกตการณ์ในสมัยจักรวรรดิโรมัน ในช่วง 2-3 ศตวรรษก่อนคริสต์ศักราช และต่อมามีการขยายต่อเติมให้เป็นปราสาทเต็มรูปแบบ ตามข้อมูลจากเว็บไซต์อย่างเป็นทางการของพิพิธภัณฑ์และแหล่งโบราณคดีในประเทศตุรเคีย ระบุว่ารูปแบบปราสาทที่เห็นในยุคปัจจุบันเป็นรูปแบบที่ต่อเติมปรับปรุงในสมัยจักรพรรดิจัสติเนียนแห่งจักรวรรดิไบแซนไทน์ ในช่วง ค.ศ. 527-565

ครม.ไฟเขียว ชู ‘ผ้าขาวม้า’ ขึ้นทะเบียนยูเนสโก ยกให้เป็นมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้

(1 มี.ค. 66) ผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 ว่า ที่ประชุมครม. มีมติเห็นชอบการเสนอผ้าขาวม้า : ผ้าอเนกประสงค์ในวิถีชีวิตไทย ให้เป็นรายการตัวแทนต่อยูเนสโก ตามที่ กระทรวงวัฒนธรรมเสนอ ซึ่งจะมีการยื่นเสนอต่อยูเนสโกภายในห้วงเดือนมีนาคม 2566

ผ้าขาวม้าที่ไทยจะนำเสนอยูเนสโกนั้น จัดเป็น ‘ผ้าอเนกประสงค์ในวิถีชีวิตไทย’ ผ้าขาวม้าเป็นผ้าที่ใช้โดยทั่วไป และใช้ได้สารพัดประโยชน์ในสังคมเกษตรกรรม ในชนบททางภาคเหนือและภาคอีสาน และก็ได้แพร่หลายไปยังภาคกลางและภาคใต้ ตามการอพยพย้ายถิ่นฐานของผู้คนและกลุ่มชาติพันธุ์ ทำให้เกิดชุมชนทอผ้าขาวม้าเป็นจำนวนมากกระจายอยู่ทั่วประเทศ สำหรับพื้นที่และขอบเขตอาณาบริเวณ คือ ทั่วประเทศ

แต่จังหวัดที่มีความโดดเด่นของการผลิต และการใช้ประโยชน์ของผ้าขาวม้า แยกตามภาค คือ

ภาคเหนือ : เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง แพร่ อุตรดิตถ์
ภาคอีสาน : นครพนม บึงกาฬ บุรีรัมย์ มหาสารคาม ศรีสะเกษ หนองบัวลำภู อุดรธานี อุบลราชธานี
ภาคกลาง : กาญจนบุรี ราชบุรี ลพบุรี สุโขทัย
ภาคใต้ : สงขลา พัทลุง

สำหรับคุณสมบัติของผ้าขาวม้า ที่ตรงตามหลักเกณฑ์การพิจารณาของ UNESCO ได้แก่

1.) เป็นผ้าที่อยู่คู่กับวิถีชีวิตของคนไทยมาแต่อดีต ทั้งในการปฏิบัติทางสังคม พิธีกรรม และงานเทศกาล เช่น ใช้เป็นเครื่องแต่งกาย ผ้าปูโต๊ะ ใช้ในพิธีแต่งงาน พิธีศพ เป็นต้น
2.) เป็นภูมิปัญญาความรู้และการปฏิบัติเกี่ยวกับธรรมชาติเนื่องจากสะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตที่เรียบง่ายและยั่งยืน โดยสามารถนำกลับมาใช้ใหม่และใช้หมุนเวียนซึ่งจะเปลี่ยนหน้าที่และประโยชน์ใช้สอยไปตามสภาพ
3.) เป็นงานช่างฝีมือดั้งเดิมเนื่องจากเป็นผ้าทอพื้นฐานที่ใช้เทคนิคการทอที่ธรรมดาไม่ซับซ้อนจึงสามารถทอใช้กันเองได้ในครัวเรือนและชุมชน

มาตรการสงวนรักษาผ้าขาวม้า ในฐานะมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ มี 4 แนวทางคือ

1.) โรงเรียนในท้องถิ่นหลายแห่งในไทยได้มีการสอนทอผ้าเป็นรายวิชาหนึ่งในหมวดของงานหัตถ์ศิลป์ท้องถิ่น

ครม.เห็นชอบให้กระทรวงวัฒนธรรม เสนอรายการมรดกร่วม ‘เคบายา’ (Kebaya) ขึ้นทะเบียนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติต่อยูเนสโก

นายโกวิท ผกามาศ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ ๑๑ เมษายน ๒๕๖๖ เห็นชอบให้กระทรวงวัฒนธรรม เสนอรายการมรดกร่วม เคบายา (Kebaya) ขึ้นทะเบียนเป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติต่อยูเนสโก โดยให้อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม เป็นผู้ลงนามในเอกสารนำเสนอรายการมรดกร่วม เคบายา (Kebaya) ในฐานะตัวแทนของประเทศไทย เพื่อเสนอขึ้นทะเบียนเป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ในปี ๒๕๖๗  
 
อธิบดีสวธ. เปิดเผยต่อว่า การนำเสนอมรดกร่วมในครั้งนี้ มีที่มาจาก กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ได้รับการประสานจากประเทศมาเลเซียผ่านกระทรวงการต่างประเทศ ให้ร่วมกันพิจารณาเสนอขึ้นทะเบียนรายการมรดกร่วม (multi-national nomination) เคบายา (Kebaya) ในบัญชีตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ (Representative list of the Intangible Cultural Heritage of Humanity : RL) สวธ.จึงได้เนินการศึกษาข้อมูลทางวิชาการและแนวทางการเสนอรายการมรดกร่วม เคบายา โดยร่วมมือกับนักวิชาการและชุมชนที่เกี่ยวข้องจัดทำเอกสารตามแบบฟอร์มของยูเนสโก (ICH-02) ให้เป็นไปตามขั้นตอนการเสนอมรดกร่วม ดังนี้  
 
การขอเสนอรายการมรดกร่วม เคบายา (Kebaya) ต่อยูเนสโก ประเทศมาเลเซีย เป็นประเทศผู้เสนอหลัก และได้เชิญประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประกอบด้วย ประเทศบรูไน ดารุสซาลาม ประเทศอินโดนีเซีย ประเทศสิงคโปร์ และประเทศไทย รวมเป็น ๕ ประเทศนำเสนอร่วม  ซึ่งทั้ง ๕ ประเทศจะร่วมกันจัดทำข้อมูลตามแบบฟอร์ม (ICH-๐๒) มีการคัดเลือกภาพถ่าย และจัดทำวีดิทัศน์  โดยมีการจัดประชุมระหว่างประเทศขึ้น 3 ครั้ง ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 1 - 3 พฤศจิกายน 2565 (ผ่านระบบออนไลน์) ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 6 - 8 กุมภาพันธ์ 2566 ณ ประเทศอินโดนีเซีย และครั้งที่ 3 ในวันที่ 8 มีนาคม 2566 (ผ่านระบบออนไลน์)  จากนั้น ประเทศมาเลเซีย จะทำหน้าที่รวบรวมเอกสารจากประเทศที่ร่วมเสนอ เพื่อดำเนินการจัดส่งเอกสารรายการมรดกร่วม เคบายา (Kebaya) ให้ยูเนสโก ตามลำดับ  
 
เคาบายา นี้เป็นองค์ประกอบหลักในวัฒนธรรม การแต่งกาย บาบ๋า – เพอรานากัน ที่ กระทรวงวัฒนธรรม ได้ประกาศขึ้นบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๕ โดยในการจัดทำข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ เคบายา ได้รับความร่วมมือจาก สมาคมเพอรานากันประเทศไทย จังหวัดภูเก็ต เป็นผู้สนับสนุนและจัดทำข้อมูลที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง และเมื่อวันที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๕๖๕ คณะกรรมการส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ได้มีมติเห็นชอบให้เสนอรายการมรดกร่วม เคบายา (Kebaya) ตามที่ประเทศมาเลเซียได้ประสานมา พร้อมกับประเทศบรูไนดารุสซาลาม ประเทศอินโดนีเซีย และประเทศสิงคโปร์ ในการเสนอต่อยูเนสโก  

14 กรกฎาคม พ.ศ. 2548 ยูเนสโก ประกาศให้ ‘ป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่’ เป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ

วันนี้ เมื่อ 18 ปีก่อน ที่ประชุมยูเนสโกประกาศให้อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ทับลาน ปางสีดา ตาพระยา และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ เป็น #มรดกโลก ทางธรรมชาติ ภายใต้ชื่อ ‘ป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่’

เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2548 อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ทับลาน ปางสีดา ตาพระยา และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ ได้รับการประกาศให้เป็น ‘มรดกโลกทางธรรมชาติ’ จากองค์การยูเนสโก ภายใต้ชื่อกลุ่ม ‘ดงพญาเย็น-เขาใหญ่’ นับเป็นมรดกโลกแหล่งที่ 5 ของไทย และเป็นอันดับที่ 2 ของมรดกทางธรรมชาติไทย ได้รับการลงทะเบียนเป็นมรดกโลก ณ เมืองเดอร์บัน ประเทศแอฟริกาใต้ ประกอบไปด้วย อุทยานแห่งชาติ 4 แห่ง และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอีก 1 แห่ง มีพื้นที่รวมทั้งสิ้นราว 3,874,863 ไร่ หรือ 6,155 ตารางกิโลเมตร ถูกเรียกว่าเป็นผืนป่าตะวันออก ซึ่งเปรียบเทียบกับผืนป่าตะวันตก ในเขตจังหวัดตาก และรอบ ๆ

ผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ เป็นผืนป่าอนุรักษ์เชิงระบบนิเวศ ที่มีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ ป่าไม้ และสัตว์ป่า มีความหลากหลายทางชีวภาพ ตลอดจนมีทัศนียภาพทางธรรมชาติที่สวยงาม เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันของนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างประเทศ ประกอบด้วยอุทยานแห่งชาติ 4 แห่ง และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า 1 แห่ง อยู่ในเขตพื้นที่ของจังหวัดนครนายก นครราชสีมา ปราจีนบุรี สระบุรี สระแก้ว และบุรีรัมย์ ได้แก่

อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จ.นครนายก จ.สระบุรี จ.นครราชสีมา และ จ.ปราจีนบุรี
อุทยานแห่งชาติทับลาน จ.นครราชสีมา และ จ.ปราจีนบุรี
อุทยานแห่งชาติปางสีดา จ.สระแก้ว และ จ.ปราจีนบุรี
อุทยานแห่งชาติตาพระยา จ.สระแก้ว และ จ.ปราจีนบุรี
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ จ.บุรีรัมย์

ลักษณะภูมิประเทศที่สลับซับซ้อนของภูเขาใหญ่น้อยแห่งเทือกเขาสันกำแพง โดยในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่มียอดเขาสูงสุดของพื้นที่ สลับกับพื้นที่ราบและทุ่งระหว่างหุบเขา สภาพป่าโดยทั่วไปมีความอุดมสมบูรณ์ มีความหลากหลายทางระบบนิเวศ ชนิดป่า ชนิดพันธุ์พืชและสัตว์ป่า โดยเฉพาะยังเป็นแหล่งที่อยู่อายของสัตว์ป่าหายากที่ใกล้จะสูญพันธุ์หลานชนิด เป็นต้นกำเนิดของลำน้ำสำคัญ ๆ หลายสาย ได้แก่ แม่น้ำนครนายก แม่น้ำประจันตคาม แม่น้ำบางปะกง แม่น้ำปราจีนบุรี ลำพระเพลิงและลำตะคอง เป็นต้น

นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สำคัญ ได้แก่ น้ำตกเหวสุวัต น้ำตกเหวนรก ในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ป่าลานผืนสุดท้ายของประเทศในอุทยานแห่งชาติทับลาน ตลอดจนมีกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่หลากหลาย เช่น การเดินป่าศึกษาธรรมชาติ การดูนก การดูผีเสื้อ การส่องสัตว์ การล่องแก่ง ปั่นจักรยานชมธรรมชาติ เป็นต้น

‘ลุงป้อม’ ร่วมประชุม 2 คณะ ลุยเดินหน้าแก้ภาวะโลกร้อนทุกมิติ พร้อมผลักดัน ‘เมืองศรีเทพ’ สู่มรดกโลก เพื่อฟื้นฟูท่องเที่ยว-ศก.

(10 ส.ค. 66) พล.ท.พัชร์ชศักดิ์ ปฏิรูปานนท์ ผู้ช่วยโฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานการประชุม 2 คณะ ต่อเนื่องกัน ได้แก่ คณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ (กนภ.) และคณะกรรมการแห่งชาติ ว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก โดยมีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมเข้าร่วมประชุม ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์

การประชุม กนภ. ที่ประชุมได้รับทราบความคืบหน้า การจัดทำแผนปฎิบัติการลดก๊าซเรือนกระจก ของประเทศ ตามเป้าหมายการมีส่วนร่วม (NDC) ซึ่งจะมีการใช้เทคโนโลยีการดักจับ และการกักเก็บคาร์บอน โดยเร่งผลักดันโครงการนำร่องที่แหล่งก๊าซธรรมชาติอาทิตย์ (Arthit CCS) ที่มีศักยภาพกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 0.7-1ล้านตัน คาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี และได้มีการพิจารณาเห็นชอบร่างความตกลงการจัดตั้งศูนย์อาเซียน ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอาเซียน (ACCC) ซึ่งจะมีการประชุมรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมอาเซียน ครั้งที่ 17 ห้วง 22-24 ส.ค.66 ณ สปป.ลาว และเห็นชอบให้ไทยเข้าร่วมเป็นสมาชิก Climate Club เพื่อเป็นเวทีระหว่างรัฐบาลสำหรับแลกเปลี่ยนนโยบายแนวปฏิบัติการดำเนินงานและองค์ความรู้ เพื่อลดก๊าซเรือนกระจกให้ครอบคลุมทุกมิติ โดยเริ่มจากภาคอุตสาหกรรม และจะมีการเปิดตัวในการประชุม COP 28 ที่เมืองดูไบต่อไป ทั้งนี้ พล.อ.ประวิตร ได้กำชับให้คณะกรรมการฯ มีการติดตาม และรายงานการดำเนินงานอย่างใกล้ชิด

จากนั้น พล.อ.ประวิตร ได้ประชุมต่อเนื่อง คณะกรรมการแห่งชาติ ว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก โดยรับทราบความคืบหน้าการนำเสนอ ‘อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท’ จ.อุดรธานี เป็นแหล่งมรดกโลก ซึ่งจะได้มีการพิจารณาในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 46 ในปี 2567 ต่อไป จากนั้นได้มีการพิจารณาเห็นชอบ กำหนดท่าทีของไทยในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 45 ที่จะมีขึ้น ห้วง 10-25 ก.ย.66 ณ กรุงริยาด ประเทศซาอุดิอาระเบีย ซึ่งจะมีการพิจารณา ‘เมืองโบราณศรีเทพ’ จ.เพชรบูรณ์ ให้เป็นแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมของไทย (แหล่งที่4) และไทยจะมีแหล่งมรดกโลกเพิ่มขึ้นเป็นแหล่งที่ 7 ด้วย

พล.อ.ประวิตร ได้ขอบคุณ คณะกรรมการฯ, คณะทำงานฯ และ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่ร่วมกันผลักดัน ‘เมืองโบราณศรีเทพ’ ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก และมีความคืบหน้าอย่างน่าพอใจ ถือเป็นผลงานที่สำคัญและมีคุณค่ายิ่งต่อประเทศชาติและคนไทย เพราะจะสร้างความภาคภูมิใจ ความรักและความหวงแหนต่อแหล่งดังกล่าว ให้กับท้องถิ่น รวมทั้งเป็นที่รู้จักและสนใจในฐานะแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวของประเทศ ที่จะได้รับการยกย่องและ สร้างแรงจูงใจในการท่องเที่ยว ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้กับชุมชนและประเทศชาติได้ต่อไป

ส่อง 4 มรดกโลก ใกล้รถไฟความเร็วสูงยิ่งกว่า 'อยุธยา' แต่!! ไม่เดือดร้อน ไม่ถูกถอดถอนจากลิสต์!!

ประเด็นความกังวลเรื่องการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เริ่มมีมากขึ้น หลังจากมีกลุ่มคนออกมาคัดค้านพร้อมแจงเหตุผลว่า โครงการรถไฟความเร็วสูงนี้อยู่ใกล้กับอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ซึ่งได้รับประกาศเป็นมรดกโลก เกรงว่าหากมีการก่อสร้างจะสั่นคลอนถึงตำแหน่งมรดกโลก แม้ตัวโครงการรถไฟความเร็วสูงและอุทยานฯ จะอยู่ห่างกันประมาณ 2 กิโลเมตรก็ตาม…

วันนี้ THE STATES TIMES ได้รวบรวม 4 สถานที่ในโลกที่ได้ขึ้นชื่อเป็น ‘มรดกโลก’ แต่ก็ยังมี ‘สถานีรถไฟ’ อยู่ใกล้ ๆ แถมยังไม่ถูกปลดออกจากตำแหน่งด้วย จะมีที่ไหนบ้าง ไปดูกัน…

ไทยเฮ!! นานาชาติประชุมมรดกโลก หนุนปรับเขต ‘อช.ทับลาน’ เพื่ออนุรักษ์ ‘ดงพญาเย็น-เขาใหญ่’ ไม่ให้อยู่ในภาวะอันตราย

(14 ก.ย. 66) ผู้สื่อข่าวรายงาน การประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 45 ในวันที่ 13 ก.ย.ที่ผ่านมา ณ กรุงริยาด ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย ซึ่งในการประชุมครั้งนี้ เป็นการประชุมในวันที่ 3 โดยมีนายพืชภพ มงคลนาวิน รองอธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ พร้อมด้วย นางรุ่งนภา พัฒนวิบูลย์ รองอธิบดีกรมอุทยานเเห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช นำคณะผู้เเทนไทย จากกระทรวงการต่างประเทศ กรมอุทยานเเห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช สำนักงานนโยบายและเเผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหน่วยประสานงานกลางอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก เข้าร่วมการประชุม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วาระการพิจารณาที่สำคัญ ในวันนี้คือ การพิจารณารายงานสถานภาพการอนุรักษ์แหล่งมรดกโลกภาวะอันตราย ซึ่งเป็นการพิจารณาต่อเนื่องจากเมื่อวันที่ 12 ก.ย. และการพิจารณารายงานสถานภาพการอนุรักษ์แหล่งมรดกโลก

โดยคณะผู้แทนไทยได้ให้การสนับสนุนการขอปรับแก้ไข ร่างข้อมติ ของประเทศต่าง ๆ และเห็นชอบต่อการเลื่อนการพิจารณารายงานฯ ‘Medieval Monuments in Kosovo’ แหล่งของเซอร์เบีย

ทั้งนี้ ได้มีการพิจารณารายงานฯ พื้นที่กลุ่มป่าดงพญาเย็น – เขาใหญ่ ของไทย ซึ่งที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบต่อข้อเสนอของไทยในการปรับแก้ไข (ร่าง) ข้อมติ เพื่อชี้ให้เห็นว่า การปรับขอบเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลานจะไม่ส่งผลกระทบต่อคุณค่าของพื้นที่ และสถานภาพของแหล่งมรดกโลกแห่งนี้

โดยคณะกรรมการมรดกโลกมีข้อห่วงกังวล และเน้นย้ำให้ไทยดำเนินการตามแนวทาง การดำเนินงานของอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก ซึ่งหากเพิกเฉยอาจนำไปสู่การขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกในภาวะอันตรายได้

โดยอินเดียได้เป็นผู้ยื่นคำขอปรับแก้ไขร่างวาระดังกล่าวตามที่ไทยได้ชี้แจง และมีสมาชิกกรรมการมรดกโลกให้การสนับสนุน ได้แก่ ญี่ปุ่น, โอมาน, บัลแกเรีย, อียิปต์, เอธิโอเปีย, กาตาร์, มารี, แอฟริกาใต้, เซนต์วินเซนต์และเกรนาดีนส์, รวันดา, แซมเบีย, ไนจีเรีย และซาอุดีอาระเบีย

‘ยูเนสโก’ ประกาศขึ้นทะเบียน ‘เมืองโบราณศรีเทพ’ เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งที่ 4 ของไทยแล้ว

ถือเป็นข่าวที่คนไทย โดยเฉพาะชาวเพชรบูรณ์ได้ร่วมกันแสดงความยินดี หลังที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 45 ระหว่างวันที่ 10-25 ก.ย.นี้ ที่กรุงริยาด ประเทศซาอุดีอาระเบีย ประกาศขึ้นทะเบียน ‘เมืองโบราณศรีเทพ’ อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งที่ 4 ของไทย

ทั้งนี้ ย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ.2447 ประมาณ 118 ปีที่ผ่านมา สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงค้นพบเมืองโบราณศรีเทพ ที่ถูกทิ้งร้างอยู่กลางป่า ซึ่งเดิมชาวบ้านเรียกว่า เมืองอภัยสาลี ต่อมาสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ พบเมืองโบราณขนาดใหญ่ใกล้กับเมืองวิเชียรบุรี ซึ่งเมืองวิเชียรบุรีนั้น มีชื่อเดิมว่า เมืองท่าโรง และเมืองศรีเทพจึงทรงมีพระวินิจฉัยว่า ชื่อเมืองโบราณแห่งนี้น่าจะเป็นต้นเค้าของการเรียกชื่อเดิมของเมืองวิเชียรบุรีว่า ‘เมืองศรีเทพ’

ต่อมากรมศิลปากร ได้ทำการสำรวจขึ้นทะเบียนอนุรักษ์ และพัฒนาจนกระทั่ง จัดตั้งเป็นอุทยานประวัติศาสตร์เมื่อ พ.ศ.2527

ตลอดเวลาดังกล่าวได้มีการศึกษาวิจัย โดยนักวิชาการทั้งชาวไทย และชาวต่างประเทศ ทั้งนี้รัฐบาลได้เห็นถึงความสำคัญของเมืองโบราณแห่งนี้ จึงมอบหมายให้กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมศิลปากร ดำเนินงานอนุรักษ์และพัฒนาเมืองโบราณศรีเทพอย่างต่อเนื่อง

สำหรับเส้นทางสู่การขึ้นทะเบียน เมืองโบราณศรีเทพ และแหล่งต่อเนื่องนำเสนอเพื่อขึ้นทะเบียนมรดกโลก จำนวน 3 แหล่ง ได้แก่…

>> เมืองโบราณศรีเทพ
>> โบราณสถานเขาคลังนอก
>> โบราณสถานถ้ำเขาถมอรัตน์

ภายใต้เกณฑ์คุณค่าโดดเด่นอันเป็นสากล ด้วยเกณฑ์ข้อที่ 2 คือความสำคัญของการแลกเปลี่ยนคุณค่าของมนุษย์ในช่วงเวลาใด เวลาหนึ่งหรือในพื้นที่ในวัฒนธรรมใดๆ ของโลกผ่านการพัฒนาด้านสถาปัตยกรรม หรือทางเทคโนโลยีอนุสรณ์ศิลป์ ขณะที่การวางแผนผังเมืองหรือการออกแบบภูมิทัศน์และเกณฑ์ข้อที่ 3 เป็นพยานหลักฐานที่ยอดเยี่ยมหรือหาที่เสมอเหมือนไม่ได้ของประเพณีวัฒนธรรม หรือวัฒนธรรมที่ยังคงอยู่ หรือสูญหายไปแล้ว

กระทั่งนำไปสู่การเสนอเมืองโบราณศรีเทพ เข้าสู่บัญชีเบื้องต้นแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรม (Tentative List) เมื่อพ.ศ.2562 และจัดทำเอกสารนำเสนอเมืองโบราณศรีเทพขึ้นบัญชีแหล่งมรดกโลกฉบับสมบูรณ์แล้วเสร็จ นำส่งยังศูนย์มรดกโลกเมื่อ 28 ก.พ.2565

ต่อมาสภาการโบราณสถานระหว่างประเทศ (ICOMOS) ได้ส่งผู้เชี่ยวชาญทำการตรวจประเมินเมืองโบราณศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ ระหว่างวันที่ 12-17 ก.ย.2565

เมื่อผ่านการตรวจประเมินของผู้เชี่ยวชาญแล้ว เมืองโบราณศรีเทพจึงได้ถูกบรรจุเข้าในวาระการพิจารณาของคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 45 ระหว่างวันที่ 10-25 ก.ย.นี้ ณ กรุงริยาด ซาอุดีอาระเบีย

อย่างไรก็ตาม ภารกิจของรัฐบาล ยังไม่สิ้นสุดเพียงการเฉลิมฉลองการประกาศให้เมืองโบราณศรีเทพเป็นมรดกโลกเท่านั้น กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมศิลปากร ได้จัดทำแผนแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนาอุทยานประวัติศาสตร์ ศรีเทพ เพื่อรองรับการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองโบราณศรีเทพภายหลังจากการได้รับการประกาศเป็นมรดกโลก

โดยแผนดังกล่าวได้ผ่านการทำประชาพิจารณ์ และการมีส่วนร่วมของชุมชนและประชาชนในพื้นที่เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งจะครอบคลุมทั้งเรื่อง การอนุรักษ์ การปรับปรุงสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม แผนบริหารจัดการด้านการท่องเที่ยว การจัดทำแผนชุมชนด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม และ การจัดทำข้อบัญญัติท้องถิ่นในด้านการอนุรักษ์ ทั้งเรื่องการอนุรักษ์ การปรับปรุงสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม และการจัดทำข้อบัญญัติท้องถิ่นในด้านการอนุรักษ์
30 ปีมรดกโลกแห่งที่ 4 ของไทย...

สำหรับแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมของไทย ก่อนหน้านี้เคยมีการขึ้นทะเบียนมรดกโลกไว้ 3 แหล่ง ได้แก่…

1. นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 13 ธ.ค.2534
2. อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ศรีสัชนาลัย และ กำแพงเพชร เป็นมรดกโลก เมื่อวันที่ 12 ธ.ค.2534
3. แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง จ.อุดรธานี ซึ่งได้รับการประกาศให้เป็นมรดกโลก เมื่อปี 2535

ดังนั้นการขึ้นทะเบียนมรดกโลกเมืองโบราณศรีเทพ แห่งที่ 4 จึงห่างกันนานถึง 30 ปี

ไม่เพียงเท่านี้ ปัจจุบันประเทศไทย ยังได้นำเสนอแหล่งมรดกทางวัฒนธรรม เพื่อขึ้นบัญชีเบื้องต้นแหล่งมรดกโลก (Tentative List) ซึ่งคาดว่าจะเข้าที่ประชุมมรดกโลกของยูเนสโกในปี 2567 อีกด้วย อาทิ อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท จ.อุดรธานี


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top