Wednesday, 9 April 2025
มรดกโลก

‘เศรษฐา’ ปลื้ม!! ‘เมืองโบราณศรีเทพ’ ขึ้นแท่นมรดกโลก ชี้!! เป็นสมบัติล้ำค่า หวังใช้ต้อนรับ นทท. เยือนไทย

(19 ก.ค. 66) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง กล่าวแสดงความยินดีภายหลังที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลก สมัยสามัญ ครั้งที่ 45 มีมติให้ขึ้นทะเบียนแหล่งเมืองโบราณศรีเทพเป็นมรดกโลกว่า ประธานคณะกรรมการมรดกโลก สมาชิกคณะกรรมการมรดกโลกและแขกผู้มีเกียรติทุกท่าน ในนามของรัฐบาลไทยและประชาชนคนไทยทุกคน ตนขอขอบคุณคณะกรรมการมรดกโลกและองค์กรที่ปรึกษาอย่างยิ่งที่เล็งเห็นคุณค่าความโดดเด่นอันเป็นสากลของเมืองโบราณศรีเทพ และมีมติขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกในวันนี้ ซึ่งเมืองโบราณศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ ประกอบด้วย 3 พื้นที่ที่เกี่ยวข้องกัน สามารถกำหนดอายุได้ก่อนประวัติศาสตร์ 

นายเศรษฐา กล่าวว่า นอกจากจะเป็นเมืองเก่าแก่ที่เป็นตัวแทนของวัฒนธรรมสมัยทวารวดีแล้ว ยังมีลักษณะโดดเด่นกว่าเมืองในยุคเดียวกัน มีศิลปะ สถาปัตยกรรมที่ได้รับการยอมรับ ในชื่อศิลปะสกุลช่างศรีเทพ การขึ้นทะเบียนเมืองโบราณศรีเทพ จึงเป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมือที่จะดำเนินการร่วมกันในการอนุรักษ์ฟื้นฟูและปกป้องสถานที่อันทรงคุณค่าแห่งนี้ให้เป็นศูนย์กลางแห่งการเรียนรู้ และเป็นสมบัติอันล้ำค่า ไม่เพียงแต่ต่อคนทั่วโลกเท่านั้น แต่ยังเพื่อคนรุ่นหลังต่อไป 

ตนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้ต้อนรับทุกท่านให้เยี่ยมเยือนแหล่งมรดกโลกเมืองศรีเทพ รวมทั้งประสานความร่วมมือในการอนุรักษ์ และพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงนิเวศร่วมกับประชาชนชาวไทย

'ดร.เสรี' เปิดไทม์ไลน์ 'เมืองโบราณศรีเทพ' หลังได้ขึ้นบัญชีมรดกโลก ถูกเสนอไว้ตั้งแต่ปี 62 ภายใต้การดำเนินงานของรัฐบาลประยุทธ์

(20 ก.ย.66) ดร.เสรี วงษ์มณฑา นักวิชาการด้านการตลาดและการสื่อสาร ได้เผยถึงจุดเริ่มต้นสำคัญที่ทำให้เมืองโบราณศรีเทพได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นแหล่งมรดกโลก ไว้ว่า...

เกี่ยวกับ 'เมืองโบราณศรีเทพ' มรดกโลกแห่งใหม่ของไทย อยากให้พวกเราได้ข้อมูลที่ถูกต้องนะคะ

รัฐบาลไทย (รัฐบาลลุงตู่) ได้เสนอเมืองโบราณศรีเทพขึ้นบัญชีรายชื่อเบื้องต้น (Tentative List) เพื่อพิจารณาให้ขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกในอนาคต เมื่อวันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2562

หลังจากนั้น ได้ทำข้อมูลที่สมบูรณ์ส่งให้คณะกรรมการของ UNESCO เมื่อ 28 กุมภา 2565

คณะกรรมการมาตรวจสอบ กันยายน 2565 เพื่อพิจารณาพื้นที่และองค์ประกอบว่าสอดคล้องกับเอกสารหรือไม่ มีคุณค่าสำหรับชาวโลกหรือไม่ มากน้อยเพียงใด สมควรที่ชาวโลกจะช่วยกันอนุรักษ์หรือไม่

หลังจากนั้น มาถึงวันนี้ การทำงานของรัฐบาลลุงตู่ก็ประสบความสำเร็จ นั่นคือ UNESCO ได้ขึ้นทะเบียน อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ เป็นแหล่งมรดกโลกภายใต้ชื่อ เมืองโบราณศรีเทพและโบราณสถานทวารวดีที่เกี่ยวเนื่อง (The Ancient Town of Si Thep and its Associated Dvaravati Monuments) 

>> ผลงานของลุงตู่ ได้รับการประกาศความสำเร็จเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2566 (ในสมัยของรัฐบาลเศรษฐา)

จึงเรียนให้ทุกคนทราบนะคะ ว่ากว่าเมืองโบราณศรีเทพจะได้เป็นแหล่งมรดกโลกใช้เวลา 4 ปีกว่านะคะ ไม่ใช่ 2 เดือนนะคะ

งานนี้เริ่มสมัยลุงตู่ เป็นผลงานของรัฐบาลลุงตู่นะคะ FYI สำหรับคนไทยทุกคนที่ดีใจกับการที่ประเทศไทยมีแหล่งมรดกเพิ่มอีก 1 แหล่งนะคะ

ถอดสูตรอิฐยุคก่อนประวัติศาสตร์ จาก ‘เมืองโบราณศรีเทพ’ พบ!! มีความล้ำลึก ยากเลียนแบบ และหาสิ่งใดทดแทน

(21 ก.ย. 66) นับเป็นอีกความภาคภูมิใจสำหรับชาวไทยเมื่อ ‘เมืองโบราณศรีเทพ’ ในจังหวัดเพชรบูรณ์ ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งใหม่ ซึ่งก่อนมีการประกาศข่าวดีนี้ นักวิทยาศาสตร์ของสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ได้ร่วมศึกษาก้อนอิฐโบราณเพื่อผลิตอิฐสูตรโบราณสำหรับการบูรณะโบราณสถาน

ดร.วุฒิไกร บุษยาพร นักวิทยาศาสตร์ระบบลำเลียงแสง สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศษสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า “เมืองโบราณศรีเทพมีจุดเด่นที่มีความคาบเกี่ยวระหว่างยุคก่อนประวัติศาสตร์และยุคประวัติศาสตร์ ซึ่งเมื่อประมาณเดือน มี.ค.66 คณะนักวิทยาศาสตร์ของสถาบันฯ พร้อมด้วยนักวิจัยจาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ, สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง, มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา, มหาวิทยาลัยศิลปากร และหัวหน้าอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ กรมศิลปากร ได้ลงพื้นที่สำรวจแหล่งขุดสำรวจเมืองโบราณศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ และได้พบปัญหาในบูรณะโบราณสถานที่เพิ่งขึ้นทะเบียนมรดกโลกนี้”

“อิฐโบราณศรีเทพเหมือนอิฐโบราณทั่วไป คือเป็นอิฐดินเผาผสมแกลบ แต่ในการบูรณะเราใช้อิฐยุคปัจจุบันไปใช้ ซึ่งพบว่า ก่อปัญหาต่อโบราณสถาน เนื่องจากมีการใช้ปูนซีเมนต์เป็นยาแนว และปูนซีเมนต์นี้ไปขวางเส้นทางการระบายความร้อนและความชื้น จึงเก็บความชื้นไว้ทำให้วัตถุที่นำไปซ่อมแซมเกิดการผุกร่อน ไม่เพียงเท่านั้นยังส่งผลให้อิฐของเก่าในโบราณสถานเสียหายไปด้วย ขณะที่อิฐโบราณจะใช้ยาแนวที่มีส่วนผสมของปูนหมักและดินสอพอง ซึ่งมีสมบัติในการส่งผ่านความร้อนและความชื้นได้ดี แต่เรายังไม่พบสูตรการผลิตอิฐโบราณและยาแนวโบราณของเมืองโบราณศรีเทพ” ดร.วุฒิไกร ระบุ

ทั้งนี้ ดร.วุฒิไกร และทีมวิจัยวางแผนในการใช้แสงซินโครตรอนวิเคราะห์อิฐโบราณ และจะเริ่มศึกษาอิฐของเจดีย์รายที่อยู่ถัดจาก ‘เขาคลังนอก’ โบราณสถานขนาดใหญ่ของเมืองโบราณศรีเทพ ซึ่งเจดีย์ดังกล่าวมีขนาดใหญ่ที่สุดในบรรดาเจดีย์รายที่รอบๆ และอยู่ในมีทิศที่ชี้ตรงไปเขาถมอรัตน์ โดยจะถอดสูตรอิฐโบราณเพื่อผลิตขึ้นใหม่ให้ใกล้เคียงของเดิมมากที่สุด และมีสมบัติในการส่งผ่านความร้อนและความชื้นที่ใกล้เคียงของเดิมหรือดีกว่าเดิม ตั้งเป้าใช้ดินเหนียวด่านเกวียนของ จ.นครราชสีมา สำหรับผลิตอิฐสูตรโบราณ เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ให้แก่ชุมชนด่านเกวียนด้วย

‘เมืองโบราณศรีเทพ’ แน่น!! นทท.ปักหลักตั้งแต่ประตูยังไม่เปิด แห่ชมความยิ่งใหญ่อลังการสมเป็น ‘มรดกโลก’ ทางวัฒนธรรม

(23 ก.ย.66) ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศการท่องเที่ยวภายในอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ และเขาคลังนอก แหล่งโบราณคดีสำคัญของเมืองโบราณศรีเทพมรดกโลก อ.ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ เป็นไปด้วยความคึกคัก โดยมีนักท่องเที่ยว รวมทั้งประชาชนชาวเพชรบูรณ์พาครอบครัว แห่ไปเที่ยวชมและสัมผัสกับโบราณสถานที่มีอารยธรรมเก่าแก่กว่า 1,000 ปี กันอย่างเนืองแน่น โดยเฉพาะรถรางนักท่องเที่ยวถึงกับต่อแถวรอคิวใช้บริการยาว นอกจากนี้นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ต่างงัดมือถือขึ้นมาเพื่อถ่ายรูปเซลฟี่คู่โบราณสถาน เพื่อเป็นที่ระลึกในโอกาสที่ทางยูเนสโกประกาศให้เมืองศรีเทพเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม

นายวีระวัฒน์ วัฒนวงศ์พฤกษ์ นายอำเภอศรีเทพ กล่าวว่า เมื่อเช้านี้หลังจากได้รับรายงานว่านักท่องเที่ยวพากันแห่มาเที่ยวชมโบราณสถานที่อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพหนาแน่น โดยเฉพาะมีรถนักท่องเที่ยวถึงกับไปจอดรอบริเวณทางเข้าก่อนเวลา 08.00 น. หรือก่อนอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพจะเปิดให้เข้าชม จึงเดินทางไปดูบรรยากาศดังกล่าว พบนักท่องเที่ยวมากันค่อนข้างหนาแน่น

“ในขณะที่ทางอุทยานเปิดให้เข้าชมฟรี โดยนักท่องเที่ยวดูให้ความสนใจเรื่องราวของเมืองโบราณศรีเทพมาก โดยเฉพาะโบราณสถานหลักๆ อาทิ ปรางค์ศรีเทพ, ปรางค์สองพี่น้อง, เขาคลังใน และรูปปั้นคนแคระที่บริเวณส่วนฐาน ซึ่งสังเกตว่านักท่องเที่ยวจะพากันถ่ายรูปเซลฟี่กันถ้วนหน้า”

นายวีระวัฒน์กล่าวว่า ส่วนที่เขาคลังนอกมีท่องเที่ยวหนาตาเช่นเดียวกัน โดยบรรยากาศไม่แตกต่างมากนัก แต่นักท่องเที่ยวยังไม่มากเท่าภายในอุทยานฯ ศรีเทพ อย่างไรก็ตามคาดว่าช่วงบ่ายนักท่องเที่ยวน่าจะเข้าไปชมเขาคลังนอกกันมากขึ้น

ในขณะที่นักท่องเที่ยวสาวจาก กทม.รายหนึ่ง กล่าวว่า เพราะเป็นวันหยุดสุดสัปดาห์ จึงวางโปรแกรมพาครอบครัวมาเที่ยวที่ จ.เพชรบูรณ์ โดยเฉพาะตั้งใจมาชื่นชมเมืองโบราณศรีเทพมรดกโลก โดยเข้าชมโบราณสถานของเมืองศรีเทพ ภายในอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพก่อน จากนั้นจะเดินทางไปชมเขาคลังนอก แล้วค่อยเดินทางไปที่เขาค้อและพักค้างคืน

“ยอมรับว่าโบราณสถานเมืองศรีเทพน่าตื่นตาตื่นใจและยิ่งใหญ่สมกับเป็นมรดกโลกมาก ในฐานะคนไทย ภาคภูมิใจที่ประเทศเรามีแหล่งโบราณคดีที่มีอารยธรรมเก่าแก่กว่า 1,000 ปี โดยเฉพาะได้รับการยอมรับจากสังคมโลกอีกด้วย” นักท่องเที่ยวรายนี้กล่าว

'กรมศิลป์' ชวน!! นทท. ชม 'วัดไชยฯ' ยามค่ำคืน จัดเต็มแสง-สี-ไฟประดับ เริ่ม!! '13 ต.ค. - 31 ธ.ค. 66'

กรมศิลป์ จัดงาน ‘ราตรีนี้...ที่วัดไชยวัฒนาราม’ นำเสนอมุมมองใหม่มรดกโลก จัดเต็มแสง สี ไฟประดับโบราณสถานยามค่ำคืน ตั้งแต่เวลา 18.00 - 22.00 น. ผู้สนใจชมได้ตั้งแต่ 13 ต.ค. - 31 ธ.ค. 66 เฉพาะวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ วันหยุดนักขัตฤกษ์ และเทศกาลสำคัญ

กรมศิลปากร จัดกิจกรรมพิเศษ งาน ‘ราตรีนี้...ที่วัดไชยวัฒนาราม’ นำเสนอมุมมองใหม่มรดกโลกในยามค่ำคืน ผ่านแสง สี ไฟประดับ ณ โบราณสถานวัดไชยวัฒนารามในยามค่ำคืน พร้อมกันนี้ยังชวนนักท่องเที่ยวร่วมแต่งชุดไทยภายในงานดังกล่าวอีกด้วย

งาน ‘ราตรีนี้...ที่วัดไชยวัฒนาราม’ หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า งาน ‘ราตรีนี้...ที่วัดไชยฯ’ จะมีการโชว์แสง สี ไฟประดับ ระหว่างเวลา 18.00 - 22.00 น. ตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม - 31 ธันวาคม พ.ศ.2566 เฉพาะวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ วันหยุดนักขัตฤกษ์ และเทศกาลสำคัญ ผู้สนใจสามารถซื้อบัตรเข้าชม ได้ถึง 21.00 น. สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา โทร. 035-242286 ต่อ 101

สำหรับ ‘วัดไชยวัฒนาราม’ ตั้งอยู่ที่ ต.บ้านป้อม อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นวัดโบราณสมัยกรุงศรีอยุธยาตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา สร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง โดยมีการนำรูปแบบแผนผังของวัดมาจากนครวัด

ภายในวัดมี ‘พระปรางค์ศรีรัตนมหาธาตุ’ เป็นปรางค์ประธานอยู่ตรงกลาง ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัส และมีปรางค์บริวารอยู่รายล้อม โดยมีระเบียงคดภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัยจำนวน 120 องค์

นอกจากนี้วัดไชยวัฒนารามยังมี มุมยอดฮิตในการถ่ายรูปที่หน้าวัด บริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยา หันหน้ากลับเข้ามาทางวัด จะเห็นปรางค์ประธานองค์ใหญ่เด่นเป็นสง่าอยู่ตรงกลาง มีปรางค์บริวารอยู่รอบๆ พร้อมกับสิ่งก่อสร้างอื่น ๆ

‘เมืองโบราณศรีเทพ’ มรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งที่ 4 ของไทย

การประกาศขึ้นทะเบียน ‘เมืองโบราณศรีเทพ’ เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งที่ 4 ของไทย  เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 66 ที่ผ่านมา ได้สร้างความปลื้มปีติยินดีแก่คนไทยทั้งประเทศ 

โดยความภาคภูมิใจนี้ เกิดขึ้นภายใต้รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 29 ที่เล็งเห็นความสำคัญและคุณค่าของเมืองโบราณศรีเทพ จึงได้เสนอขึ้นบัญชีรายชื่อเบื้องต้น (Tentative List) เพื่อพิจารณาให้ขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลก เมื่อวันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2562 

โดยขอขึ้นทะเบียน เมืองโบราณศรีเทพ และแหล่งต่อเนื่อง จำนวน 3 แหล่ง ได้แก่…

>> เมืองโบราณศรีเทพ
>> โบราณสถานเขาคลังนอก
>> โบราณสถานถ้ำเขาถมอรัตน์

ต่อมาเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 ได้จัดทำเอกสารนำเสนอเมืองโบราณศรีเทพขึ้นบัญชีแหล่งมรดกโลกฉบับสมบูรณ์แล้วเสร็จ นำส่งยังศูนย์มรดกโลก หรือ UNESCO 

หลังจากนั้น สภาการโบราณสถานระหว่างประเทศ (ICOMOS) ส่งผู้เชี่ยวชาญทำการตรวจประเมินเมืองโบราณศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ เพื่อพิจารณาพื้นที่และองค์ประกอบว่าสอดคล้องกับเอกสารหรือไม่ มีคุณค่าสำหรับชาวโลก มากน้อยเพียงใด และสมควรที่ชาวโลกจะช่วยกันอนุรักษ์หรือไม่ เมื่อเดือนกันยายน 2565

จากความพยายามเมื่อปี 2562 มาจนถึงปัจจุบัน ผลของการทำงานตั้งแต่รัฐบาลลุงตู่ ก็ประสบความสำเร็จ UNESCO ได้ขึ้นทะเบียน ‘อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ’ เป็นแหล่งมรดกโลกภายใต้ชื่อ ‘เมืองโบราณศรีเทพและโบราณสถานทวารวดีที่เกี่ยวเนื่อง’ (The Ancient Town of Si Thep and its Associated Dvaravati Monuments) นับว่าเป็นแหล่งมรดกโลกแห่งที่ 4 ของประเทศไทย

ระยะเวลากว่าที่ ‘เมืองโบราณศรีเทพ’ จะได้รับเลือกเป็น ‘มรดกโลก’ ต้องผ่านห้วงเวลายาวนานถึง 4 ปี

สำหรับประวัติของเมืองโบราณศรีเทพ ก็ต้องย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ. 2447 หรือประมาณ 118 ปีที่ผ่านมา ‘สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ’ ทรงค้นพบเมืองโบราณศรีเทพ ที่ถูกทิ้งร้างอยู่กลางป่า โดยแต่เดิมชาวบ้านเรียกว่า ‘เมืองอภัยสาลี’ ต่อมา สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ พบเมืองโบราณขนาดใหญ่ใกล้กับเมืองวิเชียรบุรี ซึ่งเมืองวิเชียรบุรีนั้น มีชื่อเดิมว่า ‘เมืองท่าโรง’ และ ‘เมืองศรีเทพ’ จึงทรงมีพระวินิจฉัยว่า ชื่อเมืองโบราณแห่งนี้ น่าจะเป็นต้นเค้าของการเรียกชื่อเดิมของเมืองวิเชียรบุรีว่า ‘เมืองศรีเทพ’

ต่อมากรมศิลปากร ได้ทำการสำรวจขึ้นทะเบียนอนุรักษ์และพัฒนา จนกระทั่งจัดตั้งเป็นอุทยานประวัติศาสตร์เมื่อ พ.ศ. 2527 ซึ่งตลอดเวลาดังกล่าว ได้มีการศึกษาวิจัย โดยนักวิชาการทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ทั้งนี้ รัฐบาลได้เห็นถึงความสำคัญของเมืองโบราณแห่งนี้ จึงมอบหมายให้กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมศิลปากร ดำเนินงานอนุรักษ์และพัฒนาเมืองโบราณศรีเทพอย่างต่อเนื่อง

ไม่เพียงเท่านี้ ปัจจุบันประเทศไทย ยังได้นำเสนอแหล่งมรดกทางวัฒนธรรม เพื่อขึ้นบัญชีเบื้องต้นแหล่งมรดกโลก (Tentative List) ซึ่งคาดว่าจะเข้าที่ประชุมมรดกโลกของยูเนสโกในปี 2567 อีกด้วย อาทิ อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท จ.อุดรธานี

ก็หวังว่าจะได้ยินข่าวดีอีกครั้งในเร็ววัน!!

#เหตุการณ์ที่ต้องจำ

‘วธ.’ ลุ้น!! ‘ภูพระบาท’ เตรียมเข้าสู่วาระบอร์ดมรดกโลกกลางปีนี้ หวัง ‘ยูเนสโก’ ขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรม

เมื่อวันที่ 26 ม.ค. 67 นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะอนุกรรมการมรดกโลกทางวัฒนธรรม เมื่อเร็วๆ นี้ รับทราบความคืบหน้าการเสนอแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมในประเทศไทย ซึ่งได้รับการบรรจุชื่อในบัญชีชั่วคราว (Tentative List) ขององค์การศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) เพื่อเสนอขอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก โดยแหล่งอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท จังหวัดอุดรธานี หลังจากที่กรมศิลปากรจัดส่งเอกสารนำเสนอขอขึ้นทะเบียนมรดกโลกฉบับสมบูรณ์ ไปยังศูนย์มรดกโลกของยูเนสโก ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศสแล้ว อาจเข้าสู่การพิจารณาในวาระการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก สมัยสามัญ ครั้งที่ 46 ในช่วงกลางปี 2567

รัฐมนตรีว่าการ วธ.กล่าวต่อว่า ส่วนแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมอื่นๆ ที่ได้รับการบรรจุชื่อในบัญชีชั่วคราวของยูเนสโก ได้แก่ วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จ.นครศรีธรรมราช, พระธาตุพนม จ.นครพนม และแหล่งอนุสรณ์สถาน แหล่งและภูมิทัศน์วัฒนธรรมเชียงใหม่ ศูนย์กลางล้านนา จ.เชียงใหม่ อยู่ระหว่างการจัดทำเอกสารให้มีความสมบูรณ์ครบถ้วน ตามเกณฑ์ที่ยูเนสโกกำหนด ซึ่งขณะนี้ทั้ง 3 แหล่งมรดกทางวัฒนธรรมอยู่ในบัญชีเบื้องต้นมากว่า 6-10 ปี ดังนั้น ที่ประชุมจึงมีข้อแนะนำให้ทั้ง 3 จังหวัดปรับปรุงเนื้อหาของเอกสารให้ครบถ้วนสมบูรณ์และเป็นปัจจุบัน

เนื่องจากช่วงหลายปีที่ผ่านมาอาจจะมีข้อมูลและเอกสารเพิ่มเติม เพื่อนำเสนอต่อคณะอนุกรรมการได้พิจารณาเอกสารขอขึ้นทะเบียนมรดกโลก ของแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมที่อยู่ในบัญชีชั่วคราว ของยูเนสโก หากแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมใดปรับปรุงเอกสารแล้วเสร็จสมบูรณ์ และผ่านการพิจารณาเห็นชอบจากคณะอนุกรรมการแล้ว ก็จะนำเสนอต่อคณะกรรมการแห่งชาติ ว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลกทันที

“นอกจากนี้ ที่ประชุมได้รับรายงานจากกรมศิลปากร ภายหลัง ‘เมืองโบราณศรีเทพ’ ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม จะต้องส่งรายงานการดำเนินงานของเมืองโบราณศรีเทพเสนอต่อยูเนสโก ภายในวันที่ 1 ธันวาคม 2567

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2566 ที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 45 ที่กรุงริยาด ประเทศซาอุดีอาระเบีย ได้ประกาศขึ้นทะเบียน ‘เมืองโบราณศรีเทพและโบราณสถานสมัยทวารวดีที่เกี่ยวเนื่อง’ จ.เพชรบูรณ์ เป็นมรดกโลก ทำให้ปัจจุบันประเทศไทยมีแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรม รวม 4 แห่ง ได้แก่ นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา, เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวารศรีสัชนาลัยและกำแพงเพชร, แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี และเมืองโบราณศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์” นายเสริมศักดิ์กล่าว

‘ครม.’ ไฟเขียว!! ดัน ‘ชุดไทย-มวยไทย’ เข้าคิวยูเนสโก ขึ้นทะเบียนมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ

(26 มี.ค. 67) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รมว.วัฒนธรรม รมว.วธ. เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี ว่า ครม.เห็นชอบตามข้อเสนอของกระทรวงวัฒนธรรมในการเสนอรายการมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของประเทศไทย 2 รายการ คือ ชุดไทย และ มวยไทย

โดยให้กรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) นำเสนอเอกสารข้อมูลประกอบการพิจารณา ส่งให้ทางสำนักเลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติ ว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ของประเทศไทย (Thai National Commission for UNESCO) กระทรวงศึกษาธิการ เป็นผู้ดำเนินการจัดส่งเอกสารให้ยูเนสโก ให้ทันภายในวันที่ 31 มี.ค.67 นี้

เพื่อเข้าสู่ลำดับการพิจารณาต่อจากรายการ ‘ต้มยำกุ้ง’ และ ‘เคบาย่า’ (มรดกร่วม 5 ประเทศ ไทย มาเลเซีย บรูไน สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย) ที่ยูเนสโก บรรจุเข้าวาระที่ประชุมของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลฯ ครั้งที่ 19 ระหว่าง 2-7 ธ.ค.67 ณ สาธารณรัฐปารากวัย และต่อด้วยรายการ ‘ผ้าขาวม้า’ ที่กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ยื่นเอกสารขอขึ้นทะเบียนต่อยูเนสโกไว้เมื่อเดือนมีนาคม 2566 แล้ว

นายเสริมศักดิ์ เปิดเผยถึง ความสำคัญและสาระของมรดกฯ ทั้ง 2 รายการ ดังนี้ รายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรม ชุดไทย : ความรู้ งานช่างฝีมือ และแนวปฏิบัติการแต่งกายชุดไทยประจำชาติ (Chud Thai : The Knowledge, Craftsmanship and Practices of The thai National Costume) ชุดไทยเป็นเครื่องแต่งกายที่แสดงถึงอัตลักษณ์ความเป็นไทย ได้รับการพัฒนามาเป็นเวลานาน พบหลักฐานมีการนุ่ง และการห่ม มากว่า 1,400 ปี ตั้งแต่สมัยทวารวดี อยุธยาจนถึงต้นรัตนโกสินทร์

ภาพการแต่งกายจึงเป็นหลักฐานสำคัญที่บอกเล่าให้คนรุ่นหลัง ได้รับรู้และสืบทอด ในปีพุทธศักราช 2503 ชุดไทยได้รับการพัฒนารูปแบบครั้งสำคัญ เมื่อสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ศึกษาวิวัฒนาการรูปแบบการแต่งกายของสตรีไทย และสร้างสรรค์ชุดไทยขึ้น 8 แบบ

ส่วนของสุภาพบุรุษ มี 3 แบบ คนไทยทุกภูมิภาคมักสวมใส่ชุดไทยในวาระโอกาสต่าง ๆ และเมื่อมีโอกาสสำคัญในชีวิต ทั้งงานรัฐพิธี งานพิธีการทางศาสนา ถือเป็นแนวปฏิบัติทางสังคมและยังเป็นกระบวนการผลิตของช่างฝีมือไทยทั้งในเรื่องของการทอผ้าที่ใช้เป็นวัตถุดิบ และงานช่างตัดเย็บ ตลอดจนการปักประดับลวดลายบนผืนผ้าอีกด้วย

รมว.วธ. กล่าวต่อว่า ในส่วน ‘มวยไทย’ (Muay Thai : Thai Traditional Boxing) เป็นศิลปะการต่อสู้ของไทย เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่ได้รับการสืบทอดมาไม่ต่ำกว่า 300 ปี ปรากฏหลักฐานใน ‘จดหมายเหตุว่าด้วยราชอาณาจักรสยาม’ ซึ่งบันทึก โดยซีมง เดอ ลา ลูแบร์ (Simon de la Loubère)

มวยไทยเป็นวิชาการต่อสู้ป้องกันตัวด้วยมือเปล่าในระยะประชิดตัว เป็นศาสตร์และศิลป์ที่ก่อกำเนิดจากภูมิปัญญาของคนไทยที่ต้องต่อสู้กับภัยธรรมชาติ สัตว์ป่า มนุษย์ และภัยจากสงคราม การฝึกฝนวิชามวยไทย มีตั้งแต่ครอบครัว ชุมชน จนถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อไว้ใช้ในการป้องกันตนเองและปกป้องประเทศ เอกลักษณ์โดดเด่นของมวยไทย คือการใช้อวัยวะส่วนต่างๆ ของร่างกายในการป้องกันตัว ซึ่งครูบาอาจารย์ได้คิดค้นกลวิธีการฝึกจากการเลียนแบบท่าทางของสัตว์ การสังเกตธรรมชาติ และวรรณคดี

รวมถึงวิถีชีวิตตามบริบทท้องถิ่นของแต่ละภูมิภาคประยุกต์เป็นท่าทางมวยต่าง ๆ และยังมีพิธีกรรมของการมอบตัวเป็นศิษย์ การขึ้นครู และการครอบครู การแสดงความกตัญญูต่อครูอาจารย์และผู้มีพระคุณ เห็นได้จากการรำไหว้ครูมวยไทยก่อนการชกทุกครั้ง ปัจจุบัน มวยไทย เป็นกีฬาประจำชาติ เป็นกีฬาอาชีพ มีการจัดการเรียนการสอนมวยไทยในสถาบันการศึกษาหลายแห่ง มวยไทยจึงถือเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ ที่มีการสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นจนถึงปัจจุบัน

ด้าน นายโกวิท ผกามาศ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) เปิดเผยว่า มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมทั้งรายการ ชุดไทย และ มวยไทย นี้ เป็นการนำเสนอยูเนสโก เพื่อขอขึ้นทะเบียนในประเภทบัญชีรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ (The Representative List of the Intangible Cultural Heritage of Humanity)

ซึ่งมีคุณสมบัติตรงตามหลักเกณฑ์การพิจารณาของยูเนสโก 5 เกณฑ์ ประกอบด้วย 

1.รายการที่นำเสนอนี้สอดคล้องกับลักษณะของมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ตามที่นิยามไว้ในมาตรา 2 ของอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ค.ศ. 2003

2.การขึ้นทะเบียนรายการที่นำเสนอนี้จะส่งเสริมความประจักษ์ และตระหนักรู้ถึงความสำคัญของมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ อีกทั้งกระตุ้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อนำไปสู่การสะท้อนถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรมในระดับโลก และแสดงถึงความสร้างสรรค์ของมนุษยชาติ 

3.มาตรการสงวนรักษาที่เสนอมานั้น ผ่านการพิจารณามาอย่างละเอียดรอบคอบ เพื่อให้มีการป้องกันและส่งเสริม และมีการกำหนดมาตรการสงวนรักษาวัฒนธรรม

4.รายการที่นำเสนอนี้เกิดจากชุมชน กลุ่มบุคคล หรือปัจเจกบุคคลที่เกี่ยวข้อง มีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ และ 5.เป็นรายการที่ปรากฏและดำรงอยู่ในดินแดนของรัฐภาคีสมาชิกที่นำเสนอ โดยบรรจุอยู่แล้วในบัญชีมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของรัฐภาคีสมาชิกตามที่นิยามไว้ในอนุสัญญา มาตรา 11 และ 12

ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจสามารถศึกษารายละเอียดองค์รู้มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ทั้งระดับจังหวัด ระดับชาติ และมนุษยชาติ ได้ในเว็บไซต์ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม www.culture.go.th หัวข้อ องค์ความรู้ด้านวัฒนธรรม มรดกภูมิปัญญาฯ ICH และติดตามข่าวสารต่าง ๆ ได้ทางเฟซบุ๊กกรมส่งเสริมวัฒนธรรม และ Line @วัฒนธรรม

14 กรกฎาคม พ.ศ. 2548 ‘ยูเนสโก’ ยก ‘ดงพญาเย็น-เขาใหญ่’ ขึ้นมรดกโลกทางธรรมชาติ นับเป็นแห่งที่ 2 ของประเทศไทย ต่อจาก 'ทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง'

เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2548 อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ทับลาน ปางสีดา ตาพระยา และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ ได้รับการประกาศให้เป็น ‘มรดกโลกทางธรรมชาติ’ จากองค์การยูเนสโก ภายใต้ชื่อกลุ่ม ‘ดงพญาเย็น-เขาใหญ่’ นับเป็นมรดกโลกแหล่งที่ 5 ของไทย และเป็นอันดับที่ 2 มรดกทางธรรมชาติของไทย ต่อจาก ‘ทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง’ โดยได้รับการลงทะเบียนเป็นมรดกโลก ณ เมืองเดอร์บัน ประเทศแอฟริกาใต้ ซึ่งประกอบไปด้วย อุทยานแห่งชาติ 4 แห่ง และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอีก 1 แห่ง มีพื้นที่รวมทั้งสิ้นราว 3,874,863 ไร่ หรือ 6,155 ตารางกิโลเมตร ถูกเรียกว่าเป็นผืนป่าตะวันออก ซึ่งเปรียบเทียบกับผืนป่าตะวันตก ในเขตจังหวัดตาก และรอบ ๆ

อย่างไรก็ตาม ผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ เป็นผืนป่าอนุรักษ์เชิงระบบนิเวศ ที่มีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ ป่าไม้ และสัตว์ป่า มีความหลากหลายทางชีวภาพ ตลอดจนมีทัศนียภาพทางธรรมชาติที่สวยงาม เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันของนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างประเทศ ประกอบด้วยอุทยานแห่งชาติ 4 แห่ง และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า 1 แห่ง อยู่ในเขตพื้นที่ของจังหวัดนครนายก นครราชสีมา ปราจีนบุรี สระบุรี สระแก้ว และบุรีรัมย์ ได้แก่

- อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จ.นครนายก จ.สระบุรี จ.นครราชสีมา และ จ.ปราจีนบุรี
- อุทยานแห่งชาติทับลาน จ.นครราชสีมา และ จ.ปราจีนบุรี
- อุทยานแห่งชาติปางสีดา จ.สระแก้ว และ จ.ปราจีนบุรี
- อุทยานแห่งชาติตาพระยา จ.สระแก้ว และ จ.ปราจีนบุรี
- เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ จ.บุรีรัมย์

โดยลักษณะภูมิประเทศที่สลับซับซ้อนของภูเขาใหญ่น้อยแห่งเทือกเขาสันกำแพง โดยในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่มียอดเขาสูงสุดของพื้นที่ สลับกับพื้นที่ราบและทุ่งระหว่างหุบเขา สภาพป่าโดยทั่วไปมีความอุดมสมบูรณ์ มีความหลากหลายทางระบบนิเวศ ชนิดป่า ชนิดพันธุ์พืชและสัตว์ป่า โดยเฉพาะยังเป็นแหล่งที่อยู่อายของสัตว์ป่าหายากที่ใกล้จะสูญพันธุ์หลายชนิด เป็นต้นกำเนิดของลำน้ำสำคัญ ๆ หลายสาย ได้แก่ แม่น้ำนครนายก แม่น้ำประจันตคาม แม่น้ำบางปะกง แม่น้ำปราจีนบุรี ลำพระเพลิงและลำตะคอง เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สำคัญ ได้แก่ น้ำตกเหวสุวัต น้ำตกเหวนรก ในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ป่าลานผืนสุดท้ายของประเทศในอุทยานแห่งชาติทับลาน ตลอดจนมีกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่หลากหลาย เช่น การเดินป่าศึกษาธรรมชาติ การดูนก การดูผีเสื้อ การส่องสัตว์ การล่องแก่ง ปั่นจักรยานชมธรรมชาติ เป็นต้น

‘ดร.วสุ’ ชี้ เรื่อง ‘ป่าทับลาน’ กระทบต่อสถานะมรดกโลก เหตุขอบเขตผืน ‘ป่าเขาใหญ่’ ได้รวมพื้นที่ 'ทับลาน' ไว้ด้วย

(10 ก.ค. 67) ดร.วสุ โปษยะนันทน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการอนุรักษ์สถาปัตยกรรม กรมศิลปากร โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก โดยระบุว่า…

จากข่าวเรื่องทับลาน อยากขอแลกเปลี่ยนข้อมูลว่าเรื่องนี้จะเป็นประเด็นที่จะมีผลกระทบกับเรื่องมรดกโลกด้วย เพราะในขอบเขตของแหล่งมรดกโลกผืนป่าเขาใหญ่ ได้รวมเอาส่วนของป่าทับลานไว้ด้วย เท่ากับว่าเป็นที่ยอมรับโดยสากลแล้วว่าพื้นที่นี้ มีคุณค่าตามเกณฑ์มรดกโลกเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ และยังถือว่าเป็นองค์ประกอบที่บ่งชี้ถึงความเป็นมรดกโลกที่เรียกว่าคือ Attribute หนึ่งของแหล่งมรดกโลกเขาใหญ่ หากต้องการตัดพื้นที่ส่วนนี้ออกไปก็ต้องมีคำอธิบายว่าพื้นที่ส่วนนี้ไม่มีคุณค่าตามเกณฑ์เหมือนกับส่วนอื่น ๆ ของเขาใหญ่แล้ว และต้องพิสูจน์ให้กรรมการมรดกโลกเห็นด้วยว่าหากตัดส่วนนี้ออกไปแล้วพื้นที่ที่เหลือของเขาใหญ่จะยังคงรักษาคุณค่าที่โดดเด่นเป็นสากล หรือ OUV ไว้ได้ หากอธิบายไม่ได้ย่อมส่งผลกระทบกับเสถียรภาพความเป็นมรดกโลกของป่าเขาใหญ่แน่นอน โดยอาจมีผลมาจากความครบถ้วนสมบูรณ์หรือ Integrity ของแหล่งที่ขาดหายไป

สรุปว่าในเรื่องนี้ขอให้พิจารณากันให้ดี ๆ ถ้าจะสอบถามความเห็นก็ควรเพิ่มอีกคำถามว่ายังเห็นด้วยกับการมีผืนป่าเขาใหญ่เป็นมรดกโลกหรือไม่ ถ้าไม่ก็แล้วไป #saveทับลาน

ความจริงตั้งแต่ครั้งที่เขาใหญ่ได้เป็นมรดกโลกเมื่อนานมาแล้ว คณะกรรมการฯ ก็มีข้อร้องขอให้ปรับปรุงเพิ่มพื้นที่ป่าให้เหมาะสมแล้วตั้งแต่ตอนนั้น เราเคยแจ้งเขาไปว่าอยู่ระหว่างดำเนินการโดยจะตัดส่วนชุมชนและป่าเสื่อมโทรมออก 4 หมื่นกว่าเฮกตาร์ และเพิ่มในพื้นที่ป่าที่มีคุณค่าสูงเข้ามาแทน ประมาณหนึ่งหมื่นเจ็ดพันเฮกตาร์ เป็นการตัดและเพิ่มในเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน โดยระบุว่าการปรับปรุงขอบเขตพื้นที่นี้จะแล้วเสร็จในปี 2007 ... นี่มันปี 2024 แล้วนะครับ จนเพิ่งมีข่าวใหญ่จะลดพื้นที่ในช่วงนี้นี่แหละ แต่ไม่เห็นมีข้อมูลว่าจะเพิ่มพื้นที่ป่าเข้ามาเลย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top