Tuesday, 30 April 2024
ภัยแล้ง

จันทบุรี - ประชุมเตรียมพร้อม ป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง - ไฟป่า - หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก ลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น

วันนี้ ( 17 พ.ย.64 ) ที่ห้องประชุม 1 ศาลากลางจังหวัดจันทบุรี นายอลงกรณ์ แอคะรัจน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรีเป็นประธานการประชุมเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งจังหวัดจันทบุรี ปี พ.ศ.2564 – 2565 ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็กโดยสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดจันทบุรีได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทหาร ตำรวจ พลเรือน หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ผู้แทนนายอำเภอทั้ง 10 อำเภอ ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรภาคเอกชนร่วมประชุม

ทั้งนี้ สถานีอุตุนิยมวิทยาได้สรุปสถานการณ์น้ำฝนในช่วงฤดูฝนที่ผ่านมาพบว่าที่ผ่านมามีปริมาณฝนตกมากและเกษตรกรได้น้ำเพื่อใช้ทางการเกษตรแต่ต้องบริหารจัดการอย่างเป็นระบบให้เพียงพอเนื่องจากฤดูหนาว และแล้งจะยาวนาน ขณะที่ชลประทานจังหวัดได้รายงานสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ

ข้อมูลวันที่ 16 พฤศจิกายน 2564 พบว่าที่อ่างเก็บน้ำคลองศาลทราย อ.เขาคิชฌกูฏ มีปริมาณน้ำในอ่างกักเก็บได้ 111.43 %  / อ่างเก็บน้ำคลองพระพุทธปริมาณน้ำในอ่าง 111.58 % / อ่างเก็บน้ำคลองประแกดมีปริมาณน้ำในอ่าง 105.32 % / เขื่อนคิรีธารมีประมาณน้ำ ณ ปัจจุบัน 99.11 % และเขื่อนพลวงมีประมาณน้ำ 99.32 % 

 

สุพรรณบุรี - "นิพนธ์" ตรวจภัยแล้งสุพรรณฯ มั่นใจ! ปีนี้ไม่ขาดแคลนน้ำใช้อุปโภค -บริโภค และน้ำเกษตร พร้อมกำชับป้องกันไฟป่า-หมอกควันอย่างใกล้ชิด

ที่อ่างกักเก็บน้ำเขื่อนกระเสียว ตำบลด่านช้าง อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ลงพื้นที่เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำในอ่างกักเก็บน้ำเขื่อนกระเสียว โดยมีนายณัฐภัทร สุวรรณประทีป ผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี ปลัดจังหวัดสุพรรณบุรี หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสุพรรณบุรี ผอ.ศูนย์.ปภ.เขต 2 สุพรรณบุรี ผอ.โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษากระเสียว นายอำเภอด่านช้าง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมติดตามสถานการณ์

นายนิพนธ์ กล่าวว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญปัญหาภัยแล้งมาโดยตลอด และตนในฐานะกำกับดูแลกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย ซึ่งมีหน้าที่ในการ "บำบัดทุกข์ บำรุงสุข" ให้แก่พี่น้องประชาชน นั้น มีความตั้งใจจะลงพื้นที่ตรวจติดตามสถานการณ์ภัยแล้งอย่างใกล้ชิด จากการรับฟังรายงานสรุปสถานการณ์ปริมาณเก็บกักน้ำในพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี ปัจจุบันอ่างเก็บน้ำเขื่อนกระเสียว มีความจุที่ระดับน้ำสูงสุด 299,000 ล้าน ม.3 โดยวันนี้มีปริมาตรน้ำเก็บกัก 296 ล้าน ลบ.ม. (99.29%) และปริมาณการใช้น้ำ 256 ล้าน ลบ.ม. (99.18%)  ซึ่งคาดการณ์ว่ามีปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการ ทั้งในด้านการอุปโภคบริโภค และการทำการเกษตร จึงไม่มีความกังวลในประเด็นดังกล่าว ต้องขอบคุณเจ้าหน้าที่ฝ่ายที่ได้มีการเตรียมความพร้อมในการรับมือโดยจัดตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ภัยแล้ง ปี 2565 และศูนย์อำนวยการและประสานงานให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ (ภัยแล้ง) ระดับพื้นที่  จัดเตรียมกำลังคน วัสดุ อุปกรณ์ เครื่องจักรกลสาธารณภัย ให้มีความพร้อมปฏิบัติงานตามแผนเผชิญเหตุ ตลอด 24 ชั่วโมง

นอกจากนี้ ยังติดตามและเตรียมความพร้อมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ด้วยทุกปี พื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรีมักจะประสบปัญหาความแห้งแล้งทำให้เอื้อต่อการเกิดไฟป่าได้ง่าย ซึ่งการเกิดไฟป่าแต่ละครั้งเป็นอันตรายและสร้างความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินทั้งของประชาชนและราชการ และยังเป็นสาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดปัญหาวิกฤตมลพิษหมอกควัน ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิต สุขภาพอนามัยของประชาชน จึงให้ทุกฝ่ายบูรณาการร่วมกันดูแลให้คำแนะนำและประสานการปฏิบัติในการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ให้ทั่วถึงและรวดเร็ว รวมถึงเผยแพร่ความรู้ ให้ประชาชนระมัดระวังอันตรายจากอัคคีภัย ไฟป่า หมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 เพิ่มความระมัดระวังในการประกอบกิจกรรมที่อาจทำให้เกิดอัคคีภัยได้ง่าย

“นายกฯ” สั่ง เร่งดับไฟป่าภาคเหนือ กำลับไม่ให้ขยายสร้างความเสียหายในพื้นที่อื่น ลั่น  เอาผิดคนลอบเผาป่า

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงเหตุไฟป่าในพื้นที่ต.แม่แฝกใหม่ อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหมรับทราบ โดยนายกรัฐมนตรีมีความห่วงใยต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น กำชับเจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วน ร่วมกับกองทัพระดมกำลังลงพื้นที่เร่งดับไฟป่า กระชับพื้นที่ไม่ให้ขยายเป็นวงกว้างมากขึ้นกว่าเดิม พร้อมสั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะส่วนท้องถิ่นจัดเวรยามคอยเฝ้าสอดส่องดูแลสถานการณ์ รวมถึงคอยสังเกตพฤติกรรมลูกบ้านที่อาจจะลักลอบไปจุดไฟเพื่อเตรียมพื้นทีทำการเกษตร และหาของป่าในช่วงเวลานี้

นายธนกร กล่าวว่า ทุกปีตั้งแต่เดือนม.ค. - เม.ย.ของทุกปี ภาคเหนือมักจะประสบปัญหาวิกฤตหมอกควัน สาเหตุหลักมาจากการเผาป่า การเผาเศษวัสดุทางการเกษตรในพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และการเผาในพื้นที่ทำไร่หมุนเวียน ทำให้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ และทัศนวิสัยการเดินทางของประชาชน โดยนายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำให้หน่วยงานในพื้นที่เตรียมการรับมือกับปัญหาที่จะเกิดขึ้น

โฆษกรัฐบาล เผยปีนี้ไม่มีการประกาศภัยแล้ง หลังบิ๊กตู่ สั่งการบริหารจัดการทั้งน้ำท่วม-น้ำแล้ง อย่างเป็นระบบ ส่งผลลดพื้นที่ประสบภัยแล้งลงอย่างต่อเนื่อง

เมื่อวันที่29 พ.ค.นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศทั้งระบบ โดยจัดทำแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้ง และเตรียมน้ำต้นทุน ให้ภาคการผลิต เกษตรกรรมและอุตสาหกรรม รวมทั้งเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)และน้ำอุปโภค-บริโภค สำหรับประชาชนอย่างทั่วถึง และเร่งรัดขับเคลื่อนโครงการสำคัญภายใต้แผนบรรเทาอุทกภัยลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ขับเคลื่อนโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ และจัดการทรัพยากรน้ำรองรับอีอีซี ฟื้นฟูแหล่งน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่ ควบคู่กับพัฒนาเครื่องมือการบริหารจัดการน้ำ ทั้งผังน้ำ คลังข้อมูลน้ำ ในรูปแบบ วัน แมป( One Map )ผ่านเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน National Thai Water ที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้เริ่มแผนปฏิบัติการด้านทรัพยากรน้ำ ผ่านระบบ Thai Water Plan ชี้แจงการจัดทำแผนปฏิบัติการด้านน้ำ ปี2567 ทั้งส่วนกลางและท้องถิ่นทั่วประเทศโดยจะเริ่มใช้ระบบจัดทำแผนปฏิบัติการด้านทรัพยากรน้ำ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 เป็นปีแรก

ราคา ‘กาแฟ’ ทั่วโลกเตรียมพุ่ง หลัง ‘บราซิล’ ผลิตได้ลดลง เซ่นโลกร้อน

จากสภาพอากาศเลวร้ายแบบสุดขั้วที่กำลังเกิดขึ้นในโลก เริ่มส่งผลกระทบต่อปริมาณการผลิตเมล็ดกาแฟในประเทศผู้ผลิตชั้นนำบางแห่งอย่างเด่นชัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับ ‘บราซิล’

ยิ่งไปกว่านั้น ผลกระทบสืบเนื่องจากผลผลิตกาแฟที่ลดลงในบราซิล ซึ่งเป็นผู้ปลูกที่ใหญ่ที่สุดในโลก รวมถึงเป็นประเทศที่ส่งออก กาแฟมากที่สุดในโลก ก็อาจจะทำให้ราคากาแฟทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ภายหลังจากสภาพอากาศเลวร้ายที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปีที่แล้ว รวมถึงต้นทุนปุ๋ย และพลังงานที่ทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้น

ทั้งนี้เมื่อปีที่แล้ว บราซิลประสบกับ ‘ภัยแล้ง’ และ ‘ปรากฏการณ์น้ำค้างแข็ง’ ส่งผลให้ปริมาณการผลิตกาแฟในประเทศรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา (ช่วงก.ค.64-65) อยู่ที่ 35.7 ล้านถุง น้อยกว่าในช่วงเดียวกันเมื่อสองปีที่แล้ว ที่ผลิตได้มากถึง 48.7 ล้านถุง

จากผลผลิตที่ลดลง กระทบต่อราคากาแฟที่พุ่งแตะระดับสูงสุดในรอบ 10 ปี โดยเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีราคาอยู่ที่ 2.59 ดอลลาร์ต่อปอนด์ แพงกว่าปีที่แล้วถึง 18.06% แม้ราคาจะเริ่มลดลงมาบ้าง แต่ก็ยังอยู่ที่ค่าเฉลี่ยราว 2.23 ดอลลาร์ต่อปอนด์ 

วิกฤตภัยแล้งจีน ทำระดับน้ำลด เผยให้เห็นฐานพระใหญ่เล่อซาน

องค์พระใหญ่เล่อซาน หนึ่งในมรดกโลกขององค์การยูเนสโก ในมณฑลซื่อชวน (เสฉวน) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน นับเป็นพระพุทธรูปหินแกะสลักที่มีชื่อเสียงอีกแห่งของโลก ซึ่งในช่วงนี้ มีปรากฏการณ์ที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำแยงซีลดลงจนปรากฏให้เห็นฐานด้านล่างทั้งหมดใต้องค์พระ

สำนักข่าวซินหัว สื่อทางการของจีน เผยภาพถ่ายให้เห็นแม่น้ำสาขาของแม่น้ำแยงซี จำนวน 3 สาย มีระดับน้ำลดลงเพราะภัยแล้งในช่วงไม่นานนี้ ส่งผลให้เห็นส่วนฐานของพระใหญ่เล่อซานได้อย่างชัดเจน

ทั้งนี้พระพุทธรูปดังกล่าวแกะสลักขึ้นริมผาภูเขาเล่อซาน และตั้งอยู่ ณ จุดที่แม่น้ำสาขาทั้งสามสายไหลมาบรรจบกัน ได้แก่ แม่น้ำหมิ่นเจียง, แม่น้ำชิงอี และแม่น้ำต้าตู้ ที่มาของพระใหญ่ในสมัยราชวงศ์ถัง เกิดจากแนวคิดของพระสงฆ์รูปหนึ่งนามว่า “ไห่ทง” ที่ทราบว่าบริเวณจุดตัดแม่น้ำสามสายมีอุบัติเหตุบ่อยครั้ง การสร้างพระพุทธรูปขนาดใหญ่ น่าจะช่วยปกป้องให้การโดยสารทางน้ำปลอดภัย รวมทั้งป้องกันปัญหาจากอุทกภัย

'นันทิวัฒน์' เตือนคนไทยรับมือปรากฏการณ์ที่น่ากลัว ชี้!! ธรรมชาติเริ่มลงโทษมนุษย์ ตักตวงจนโลกวิปริต

(26 ส.ค. 65) นายนันทิวัฒน์ สามารถ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และอดีตรองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า... 

โลกวิปริต!

ใครที่ติดตามข่าว จะพบข่าวน้ำท่วมในหลายจังหวัดทั่วไทย ประชาชนเดือดร้อน ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเห็นใจเป็นอย่างยิ่ง รัฐต้องให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่ อย่าให้เข้าตำรา โลกซ้ำกรรมซัด วิบัติเป็น...

น้ำไม่ได้ท่วมแต่เฉพาะที่เมืองไทย อเมริกาก็ท่วมใหญ่มาก ปากีสถานน้ำท่วมใหญ่คนเสียชีวิตร่วมร้อย จีนก็ไม่พ้นภัยพิบัตินี้

แต่ที่น่ากลัวกว่าน้ำท่วม คือ ภัยแล้ง มันเหลือเชื่อมาก พื้นที่แห่งหนึ่งน้ำท่วมใหญ่ แต่อีกแห่งหนึ่งเกิดภาพภัยแล้งขนาดใหญ่

แม่น้ำโคโรลาโดแห้ง แม่น้ำไรน์ในเยอรมันที่คนไทยชอบไปล่องเรือ แม่น้ำไรน์แห้งขอด คนลงไปเดินเล่นได้ ใกล้ๆ ไทย แม่น้ำแยงซีซึ่งเป็นแม่น้ำสายใหญ่ของจีนในมณฑลเสฉวน น้ำแห้งขอด จนพระพุทธรูปที่เคยอยู่ก้นแม่น้ำผุดขึ้นมาให้คนได้ยล

‘บิ๊กป้อม’ รุกเข้ม ‘แก้แล้ง-ที่ดินทำกิน’ มุกดาหาร สั่งลุย!! ทุกหน่วยงานเกี่ยวข้องช่วยเหลือทั่วถึง

(2 ธ.ค. 65) ณ ศาลากลาง จ.มุกดาหาร พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี พร้อม นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กลาโหม และคณะ ลงพื้นที่ตรวจราชการ ติดตามการบริหารจัดการแก้ปัญหาน้ำแล้ง และรับฟังปัญหาจากประชาชนในพื้นที่ จ.มุกดาหาร จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 

โดยภาพรวมการบริหารจัดการน้ำ ได้พัฒนาระบบป้องกันน้ำท่วม พัฒนาแหล่งน้ำและระบบระบายน้ำ มีพื้นที่ได้รับประโยชน์ เกือบ 40,000 ไร่ ครอบคลุม 17,873 ครัวเรือน และในปี 66-67 มีแผนพัฒนาลุ่มน้ำห้วยมุก อ่างเก็บน้ำห้วยเปื่อย และระบบป้องกันน้ำท่วม ตามที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณ 1,063 ล้านบาท 

‘ลุงป้อม’ ปลื้มแรง!! ชาวมุกดาหารแห่รับคึกคัก หลังลงพื้นที่แก้ ‘น้ำท่วม-ภัยแล้ง’ แบบยั่งยืน

(2 ธ.ค. 65) พล.ท.พัชร์ชศักดิ์ ปฏิรูปานนท์ ผช.โฆษก รอง นรม. เปิดเผยว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะ ผอ.กอนช. พร้อมคณะ ได้ลงพื้นที่ไปปฏิบัติราชการ ต่อเนื่องจากช่วงเช้า โดยในช่วงบ่ายได้เดินทางไปตรวจเยี่ยม โครงการก่อสร้างประตูระบายน้ำ ‘ห้วยบังอี่’ ต.โพธิ์ไทร อ.ดอนตาล จ.มุกดาหาร เพื่อติดตามความก้าวหน้าการก่อสร้าง โดยกรมชลประทานเป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก สำหรับโครงการนี้ หากดำเนินการแล้วเสร็จตามแผนงานในปี 66 จะมีพื้นที่ได้รับประโยชน์ มากถึง 3,000 ไร่ ซึ่งรัฐบาลมีนโยบายเร่งรัดให้เกิดเป็นรูปธรรมโดยเร็วในช่วงฤดูแล้ง เพื่อช่วยพร่องระบายน้ำช่วงต้นฤดูฝน และเก็บกักน้ำไว้ใช้เพื่อการเกษตร ประมงและอื่น ๆ ในช่วงฤดูแล้ง และใช้ป้องกันน้ำจากแม่น้ำโขงหนุน และไหลย้อนกลับเข้าท่วมพื้นที่เกษตรกรรม จากนั้น พล.อ.ประวิตร ได้พบปะผู้นำท้องถิ่นและประชาชนในพื้นที่ ที่มาให้การต้อนรับ อย่างอบอุ่น และเต็มไปด้วยรอยยิ้ม พร้อมทั้งให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ที่ทุ่มเทการปฏิบัติงาน ด้วยดีที่ผ่านมา

ต่อจากนั้น พล.อ.ประวิตร และคณะ ได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมโครงการขุดเจาะน้ำบาดาล และสูบน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ ของ อบจ. มุกดาหาร ณ บ้านนาดี ต.ดงมอน อ.เมือง จ.มุกดาหาร  ซึ่งเป็นโครงการแก้ไขปัญหาภัยแล้งอย่างเร่งด่วน ตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้น้ำเพื่อการเกษตร และการเพาะปลูกพืช ได้ตลอดทั้งปี ทำให้เกษตรกรมีรายได้ในช่วงฤดูแล้ง แม้จะเกิดฝนทิ้งช่วงก็ตาม

‘ภูมิใจไทย’ ผุดไอเดีย ‘ผันน้ำยวม’ เติมน้ำให้เขื่อนภูมิพล ช่วยเกษตรกรสู้ภัยแล้ง ลั่น!! ‘ภท.’ ยืนเคียงข้างเกษตรกรไทย

(25 ก.พ. 66) นายวีระกร คำประกอบ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.นครสวรรค์ พรรคภูมิใจไทย กล่าวถึงนโยบายเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำเพื่อป้องกันภัยแล้งของพรรคภูมิใจไทยว่า จากการศึกษาพบว่า ลุ่มน้ำเจ้าพระยาต้องการน้ำ 18,000 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อปี แบ่งเป็น

3,500 ล้าน ลบ.ม.สำหรับขับไล่น้ำเค็ม และรักษาระบบนิเวศเพื่อไม่ให้น้ำเค็มเข้าใน กทม. หรืออาจจะขึ้นไปถึงพระนครศรีอยุธยาได้, 2,500 ล้าน ลบ.ม. สำหรับผลิตน้ำประปา

3,000 ล้าน ลบ.ม.สำหรับภาคอุตสาหกรรม โดยส่วนใหญ่จะเป็นอุตสาหกรรมอาหารที่ใช้ปริมาณน้ำค่อนข้างมาก

1,000 ล้าน ลบ.ม.สำหรับการปศุสัตว์

ที่กล่าวไปรวมกัน 10,000 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี และยังมีส่วนของภาคการเกษตร ชาวนา ชาวไร่ ที่ต้องการน้ำอีกประมาณปีละ 8,000 ล้าน ลบ.ม.

“เพราะฉะนั้น ปีหนึ่ง เราต้องใช้น้ำ 18,000 ล้าน ลบ.ม. แต่ในช่วงหลาย 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยขาดแคลนน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา เฉลี่ยประมาณปีละ 4,000 ล้าน ลบ.ม. และในช่วงที่เกิดปรากฎการณ์เอลนีโญ ลุ่มน้ำเจ้าพระยาขาดแคลนน้ำถึง 8,000 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี ทำให้เกิดภาวะภัยแล้ง คำถามมีว่า จะเอาน้ำที่ไหนมาช่วยเหลือพี่น้องชาวนาชาวไร่” นายวีระกร ระบุ

นายวีระกร ซึ่งเป็นอดีตรองประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาศึกษาแนวทางบริหารจัดการลุ่มน้ำทั้งระบบ สภาผู้แทนราษฎร กล่าวต่อว่า พรรคภูมิใจไทย จึงได้เสนอทางออก โดยการผันน้ำจากลำน้ำยวม ที่มีต้นน้ำ อยู่ที่ อ.ขุนยวม จ.แม่ฮ่องสอน และไหลลงใต้ไปลงแม่น้ำเมยแล้วออกนอกประเทศ ไปยังแม่น้ำสาละวิน ที่ไหลไปเข้าประเทศเมียนมา โดยแทนที่เราจะปล่อยน้ำออกไปนอกประเทศ เราก็ปิดประตูน้ำที่ปากแม่น้ำยวม และตั้งสถานีสูบน้ำข้ามภูเขาสูงประมาณ 160 เมตร เพื่อไหลลงน้ำแม่งูด อ.ฮอด จ.เชียงใหม่

นายวีระกร อธิบายต่อว่า เพื่อให้น้ำไหลลงเขื่อนภูมิพล จ.ตาก ซึ่งปัจจุบันเขื่อนภูมิพลสามารถกักเก็บน้ำ ได้ 13,500 ล้าน ลบ.ม. แต่ตลอดระยะเวลาที่เกิดเอลนีโญ ช่วงปี 2555-2563 มีน้ำเฉลี่ยอยู่ไม่เกิน 5,000 ล้าน ลบ.ม. เพราะฉะนั้น เขื่อนภูมิพล ยังมีพื้นที่สามารถกักเก็บน้ำได้อีกประมาณ 8,500 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี เมื่อเราปิดไม่ให้น้ำยวมไหลออกไปนอกประเทศ แล้วสูบน้ำมายังเขื่อนภูมิพล โดยน้ำยวมจะสามารถสูบข้ามเขามาได้ประมาณปีละ 2,000 กว่าล้าน ลบ.ม.

นายวีระกร กล่าวอีกว่า ปริมาณน้ำ 2,000 กว่าล้าน ลบ.ม.จากแม่น้ำยวมก็ถือว่า ยังไม่เพียงพอ และอาจจะต้องมีเฟส 2 โดยการต่อท่อจากแม่น้ำสาละวิน บริเวณชายแดน จ.แม่ฮ่องสอน เอามาลงประตูน้ำที่ปิดตรงปากแม่น้ำยวม เมื่อเป็นเช่นนี้ ในอนาคต เราก็จะมีน้ำยวมมาช่วยให้กับพี่น้องประชาชนในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ที่ขาดแคลนน้ำประมาณปีละ 4,000-8,000 ล้าน ลบ.ม. ได้อย่างเพียงพอ โดยเราจะสูบน้ำเฉพาะในหน้าฝน ซึ่งเป็นช่วงที่พี่น้องในพื้นที่ลุ่มน้ำยวมเดือดร้อนจากน้ำท่วม แต่ในหน้าแล้งเราจะไม่แตะต้องเลย

“เป็นการผันน้ำ เพื่อเติมน้ำต้นทุนให้กับเขื่อนภูมิพล และเป็นการเติมน้ำต้นทุนให้กับพี่น้องเกษตรกรชาวนากว่า 27 จังหวัด ในลุ่มน้ำภาคกลางทั้งหมด ที่จะเป็นนโยบายหลักของพรรคภูมิใจไทย ในการทำให้พี่น้องชาวนา ชาวไร่ ได้มีน้ำเพียงพอในการทำการเกษตร นี่คือ คำสัญญาของพรรคภูมิใจไทย ที่ขอยืนเคียงข้างพี่น้องเกษตรกรไทย” นายวีระกร ระบุ


ที่มา : https://www.naewna.com/politic/713530


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top