Saturday, 18 May 2024
ภัยแล้ง

‘ภูมิธรรม’ นั่งหัวโต๊ะประชุม ถกแผนรับมือสถานการณ์ ‘เอลนีโญ’ หวั่น ไทยแล้งยาว เล็งตั้งอนุกรรมการ ทำงานเป็นระบบสู้ภัยแล้ง

(29 ก.ย. 66) ที่สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการเพื่อรองรับสถานการณ์เอลนีโญ และลานีญา ของประเทศไทย ครั้งที่ 1/2566 มีนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะรองประธานกรรมการฯ นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองประธานกรรมการ นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล สส.แพร่ พรรคเพื่อไทย นางนลินี ทวีสิน ผู้แทนการค้าไทย และคณะกรรมการ เข้าร่วม

นายภูมิธรรม กล่าวว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญเรื่องนี้สถานการณ์เอลนีโญ และลานีญา อย่างมาก โดยประกาศชัดเจนในวันแถลงนโยบายว่า ให้ความสำคัญกับเรื่องสภาพอากาศ เพราะอาจส่งผลกระทบไปถึงเรื่องเศรษฐกิจด้วย จึงตั้งคณะกรรมการชุดนี้ เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาภัยแล้งที่เป็นปัญหาใหญ่ ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างจึงต้องเตรียมการรองรับปัญหาที่จะเกิดขึ้น โดยอีก 3 ปีเราอาจจะเผชิญปัญหาดังกล่าว หากไม่เกิดเป็นสิ่งที่ดี แต่ถ้าเกิดก็ได้เตรียมไว้แล้ว ดังนั้นเราจะขับเคลื่อนงานร่วมกันไปข้างหน้า และปรับแนวทางการทำงานให้เข้ากัน เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะน้ำคือชีวิต ถ้าเจอภัยแล้ง 3 ปี จะเหนื่อยมาก จึงต้องเข้าใจว่าเป็นภารกิจสำคัญ

“เราจะหลีกเลี่ยงโครงการขนาดใหญ่ที่ใช้งบประมาณมาก โดยมุ่งขับเคลื่อนโครงการขนาดเล็ก เพื่อให้กระจายไปทั่วประเทศ และเมื่อเข้าสู่สถานการณ์ปกติ จะกลับมาเดินหน้าโครงการใหญ่ต่อไป เรื่องใดที่ทำได้ นายกฯให้ทำทันที แต่ถ้าติดขัดให้รีบแก้ไข โดยในช่วง100 วันแรก ตนอยากเห็นความคืบหน้าเพื่อประชาชนมีความมั่นใจ” นายภูมิธรรม กล่าว

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า เราต้องเตรียมการป้องกันภัยแล้ง โดยให้มีศูนย์สั่งการ หรือ บูรณาการ โดยขอเสนอที่ตั้งศูนย์สั่งการที่กระทรวงพาณิชย์ เพราะอาคารสถานที่มีความเหมาะสม ส่วนเรื่องการจัดทำงบประมาณ รัฐบาลเพิ่งเข้ามาใหม่ เมื่อเจอภัยแล้งอาจไม่สอดคล้องกับเรื่องที่จะทำ จึงเสนอให้มุ่งเน้นไปทำโครงการขนาดเล็กเพื่อให้ทั่วถึงทั้งประเทศ เช่น โครงการธนาคารน้ำใต้ดิน ฝายแกนซอยซีเมนต์ เพิ่มพื้นที่เก็บน้ำ และความชุ่มชื้น ให้ปัญหาภัยแล้งเบาบางลง และสามารถรองรับสถานการณ์ภัยแล้งได้ถึง 3 ปี ขณะที่ฝ่ายวิศวะควรสรุปรายละเอียดการก่อสร้างฝายให้ชัดเจนว่ามี สัดส่วนเท่าไหร่ เพื่อให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่นว่ามีความแข็งแรง และใช้ได้นานกว่าฝายปกติ ดังนั้น การแก้ปัญหาตนมองว่า เราควรเน้นไปทำโครงการขนาดเล็ก เพื่อรักษาความชุ่มชื้น

ด้านนายปลอดประสพ กล่าวว่า ปัจจุบันโลกร้อนขึ้น ส่งผลให้เกิดความแปรปรวน ซึ่งไทยมีทะเลทั้ง 2 ด้าน มีความแปรปรวนสูงมากขึ้น ส่งผลด้านชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ส่วนปัญหาเอลนีโญหากแย่สุดเกิด 3 ปีต่อเนื่อง น้ำก็จะลดลงจนขาดแคลน จึงต้องเร่งเก็บน้ำ บริหารความเสี่ยงให้ดี และตนมั่นใจว่า เอลนีโญเกิดขึ้นแต่จะไม่แรงจนกว่าจะเข้าหน้าแล้ง ที่จะทำให้เกิดผลกระทบเป็นปัญหาตามมาอีกมาก ทั้ง ฝุ่น PM 2.5 จะรุนแรง เกิดไฟไหม้ง่าย นกจะเข้าอาศัยบ้านคนเพราะร้อน และโรคระบาดต่างจะเกิดขึ้น ไม้ผลจะตาย พืชไร่ใช้น้ำมากจะเสียหาย ส่งผลให้ราคาสินค้าแพงขี้น น้ำกินน้ำใช้ ก็จะขาดแคลน

จึงขอเสนอ 3 มาตรการแก้ปัญหา คือ 1.) ยุทธศาสตร์และเป้าหมาย โดยคณะกรรมการชุดนี้ จะเป็นเครื่องมือรัฐบาล ในการบรรเทาผลกระทบ ทั้งระยะสั้น-ยาว 2.) ยุทธวิธีติดตามสถานการณ์เป็นรายวัน รายสัปดาห์ และรายเดือน พร้อมสร้างคลังข้อมูลให้ลึกมากขึ้น และ 3.) ตั้งอนุกรรมการขึ้นมาขับเคลื่อน 10 คณะ จะทำให้รัฐบาลสามารถรับมือภัยแล้งได้เป็นระบบ

ทหารปล่อยขบวนรถบรรทุกน้ำออกช่วยเหลือชาวบ้านรับมือสถานการณ์ภัยแล้ง

กองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 5 ค่ายสมันตรัฐบุรินทร์ หมู่ที่ 6 ตำบลคลองขุด อำเภอเมือง จังหวัดสตูล  พ.อ.ชัยวุฒิ   พรมทอง  ผู้บังคับกองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 5 พร้อมด้วยสนง.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสตูล เทศบาลตำบลคลองขุด การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การประปาส่วนภูมิภาค และภาคเอกชน   ร่วมปล่อยขบวนรถบรรทุกน้ำช่วยเหลือประชาชน ในสถานการณ์ภัยแล้ง ตามนโยบายของกองทัพบก ในการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในพื้นที่ที่ประสบภัยแล้ง ตามโครงการ “ราษฎร์ รัฐ ร่วมใจช่วยภัยแล้ง ประจำปี 2567”  

พ.อ.ชัยวุฒิ   พรมทอง  ผู้บังคับกองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 5  กล่าวว่า   กองทัพบกได้ประสานความร่วมมือจากทุกหน่วยงานที่มีศักยภาพ   ร่วมแรงร่วมใจในการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ประสบปัญหาภัยแล้ง ขาดแคลนน้ำในการอุปโภคบริโภค เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น   ในการรับมือสถานการณ์ภัยแล้งที่จะเกิดขึ้น ใน 7 อำเภอของจังหวัดสตูล  ได้มีความพร้อมในการกระจายกำลังและร่วมสนับสนุนในการช่วยเหลือชาวบ้านทีประสบภัย  สามารถติดต่อหน่วยงานหลักอย่าง ปภ. ท้องถิ่น หรือหน่วยงานใกล้บ้าน  รวมทั้งกำลังทหาร  ที่มีความพร้อมทั้งกำลังพลและรถบรรทุกน้ำ   สามารถติดต่อได้ตลอด 24 ชม.

สำหรับโครงการ “ราษฎร์ รัฐ  ร่วมใจช่วยภัยแล้ง ประจำปี 2567” มีพิธีปล่อยขบวนรถบรรทุกน้ำ พร้อมกันทั่วประเทศ สำหรับพื้นที่จังหวัดสตูล จะเห็นได้ว่าระหว่างเดือนมีนาคม-เมษายน ของทุกปี  จะประสบกับปัญหาภัยแล้งอยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะประชาชนที่พักอาศัยในถิ่นทุรกันดาร พี่น้องกลุ่มเกษตรกร มักจะมีปัญหาขาดแคลนน้ำในการอุปโภคบริโภค การจัดกิจกรรมครั้งนี้ กองทัพบกจึงได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ดำเนินโครงการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 จนถึงปัจจุบัน    รวมระยะเวลากว่า 25 ปี   โดยได้ใช้กำลังพล และทรัพยากรที่มีอยู่ บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่เสียสละ ทุ่มเท เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน ตามนโยบายของโครงการ คือ “ราษฎร์ รัฐ ร่วมใจช่วยภัยแล้ง” ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่ง   ในการ บําบัดทุกข์  บํารุงสุข ให้กับประชาชนในพื้นที่

นิตยา แสงมณี // ผู้สื่อข่าวภูมิภาคประจำจังหวัดสตูล

‘ผู้ว่าฯนครศรี’ ลงพื้นที่ แก้ภัยแล้ง ให้เกษตรกร  กำชับทุกส่วนให้รายงานตรง เพื่อแก้ปัญหาน้ำ อย่างเร่งด่วน

ทีมข่าว #นายหัวไทร รายงานว่า ตั้งแต่ช่วงเช้าของวันที่9 มีนาคม ชลประทาน เขต 15 ได้ทยอยนำเครื่องสูบน้ำ ชนิด Hydroflow ขนาด 24 นิ้ว จำนวน 2 เครื่อง เพื่อติดตั้งบริเวณปากคลองชักน้ำสาย 2 เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนในพื้นที่ ชลประทาน และ เครื่อง  ขนาด  32 นิ้ว จำนวน 4  เครื่องตามที่มีการตกลงในที่ประชุมเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2567 มีนายขจรเกียรติ รักพานิชมณี ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นประธานการประชุม เพื่อให้ทางชลประทาน นำเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ เข้าไปสูบน้ำให้ทันกับความต้องการของเกษตรกร ในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเป็นช่วงเวลาของการทำข้าวนาปี

ทั้งนี้จากรายงานของชลประทาน แจ้งว่า เครื่องสูบน้ำ ขนาด 16”^12”จำนวน 3 เครื่อง จุดติดตั้ง ม. 11 บ้านหนำหย่อม ต. เชียรเขา อ. เฉลิมพระเกียรติ จ. นครศรีธรรมราช จำนวน 1 เครื่อง ม. 7 บ้านดอนสำราญ ต. เชียรเขา อ. เฉลิมพระเกียรติ จำนวน 2 เครื่อง รวม 3 เครื่อง

ทั้งนี้ตามข้อตกลงในการประชุมร่วมระหว่างตัวแทนชาวบ้านกับชลประทาน เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ สำนักงานชลประทานที่ 15 จะทยอยติดตั้งเครื่องสูบน้ำ พร้อมเดินเครื่องสูบน้ำต่อเนื่อง ตามแผนต้องติดตั้งเครื่องสูบน้ำ และเดินเครื่องต่อเนื่องทั้งหมด 51 เครื่อง ในพื้นที่โซนลุ่มน้ำปากพนัง แต่จนถึงเมื่อวันที่ 8 มีนาคม ติดตั้งไปได้แค่ 11 เครื่อง จากเป้าหมาย 51 เครื่อง บางเครื่องติดตั้งแล้ว แต่ไม่ได้เดินเครื่อง ด้วยเหตุผลไม่มีงบค่าน้ำมัน

ติดตั้งแค่ 11 เครื่อง จากเป้าหมายวางไว้ 51 เครื่อง
-ต.เขาพังไกรครบแล้ว 4 เครื่อง
-ต.หัวไทร 2 เครื่อง
-ต.เชียรเขา 5 เครื่อง

-ควนชลิก 6 เครื่อง ยังไม่ติดตั้ง
-รามแก้ว 4 เครื่อง ยังไม่ติดตั้ง
-ต.แหลม ไม่อยู่ในแผนจะติดตั้งเครื่องสูบน้ำมัน

ตั้งแต่เมื่อวาน (9 มีนาคม) ทางสำนักงานชลประทานที่ 15 ซึ่งรับผิดชอบโซนลุ่มน้ำปากพนัง มีนายก่อพงศ์ เจ้ยแก้ว เป็นผู้อำนวยการชลประทานสำนัก15กลมชลประทาน ได้ดำเนินการติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติม เพื่อให้ครบตามเป้าหมาย โดยมีรองอธิบดีกรมชลประทาน เดินทางไปตรวจสอบด้วยตัวเอง และเริ่มเดินเครื่องสูบน้ำทันที และสูบน้ำทั้งคืน ตลอดคืนที่ผ่านมา

นอกจากติดตั้งเครื่องสูบน้ำให้เกษตรกรแล้ว ทางชลประทานยังดำเนินการขุดลอด กำจัดผักตบชวาในคลองส่งน้ำ (คลองไส้ไก่) ด้วย เพื่อส่งน้ำได้สะดวกขึ้น

นายไพโรจน์ รัตนรัตน์ สมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัดนครศรีธรรมราชกล่าวว่า ความเดือดร้อนที่ภาคเกษตรกรรมเขตลุ่มน้ำปากพนังได้รับผลกระทบจากการเปิดปิดประตูระบายน้ำอุทกวิภาชประสิทธิในเขตลุ่มน้ำปากพนัง ปัญหาเกิดขึ้นมากมายมีผลกระทบต่อระบบนิเวศ ทั้งหน้าร้อน และหน้าฝน ปีนี้แล้งจัด กรมชลประทานไม่ได้ขับเคลื่อนในทุกเรื่องเพื่อเป็นการป้องกัน คำตอบเดียวที่ได้รับ "ขาดงบประมาณ"ในการแก้ปัญหา

แต่ละปีคลองระบายน้ำแต่ละสาย (คลองไส้ไก่) น้ำแห้งขอด กรมชลปิดประตูระบายน้ำทำให้ทางทิศเหนือน้ำท่วมขัง-เน่า ขาดการบริการจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ 

”พวกเรากำลังเตรียมส่งเรื่องปัญหาที่เกิดขึ้นถวายฏีกาเพื่อขอความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนและจริงจังกับเกษตรกรลุ่มน้ำปากพนัง“

ผู้สื่อข่าวรายงานในที่ประชุมที่มีผู้ว่าฯเป็นประธานได้มีการซักถามเกี่ยวกับเรื่องของการบริหารจัดการน้ำในเขตพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังพร้อมทั้งมีการสอบถามว่าผู้ใดเป็นคนพูดว่าไม่มีงบประมาณซึ่งในที่ประชุมได้มีการพยายามชี้แจงเกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้นจนกระทั่งนายขจรเกียรติ รักพาณิชย์มณี ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราชได้สั่งการแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน พร้อมกำชับให้รายงานผลการปฏิบัติต่อนายอำเภอในแต่ละพื้นที่เพื่อให้ทันกับความต้องการใช้น้ำของเกษตรกรในพื้นที่และหากพบปัญหาให้รายงานด่วนตรงมายังผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราชทันที
 

‘เกาะล้าน’ อ่วม!! เข้าสู่สภาวะ ‘ขาดแคลนน้ำ’ พีก!! ปชช.เคยซื้อน้ำใช้แพงสุดคันละ 1 พันบาท

(30 เม.ย. 67) ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.ชลบุรี ว่า จากสถานการณ์ช่วงหน้าแล้งปีนี้ เกิดปัญหาน้ำขาดแคลนขยายไปหลายพื้นที่ โดยเฉพาะเกาะล้าน เมืองพัทยา ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเดินทางมาท่องเที่ยวจำนวนมาก ส่งผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยปัญหาหลัก ๆ คือ น้ำเริ่มขาดแคลน ส่งผลให้น้ำอุปโภคบริโภคมีราคาค่อนข้างสูงขึ้น ประชาชนบนเกาะล้าน ต้องซื้อน้ำในราคาที่แพงขึ้น

ด้าน นายกาญจนพ สุขขี ชาวบ้านเกาะล้าน กล่าวว่า ช่วงนี้เข้าสู่หน้าแล้ง ทำให้เกาะล้านเข้าสู่สภาวะขาดแคลนน้ำ ซึ่งปกติน้ำประปาบนเกาะล้านที่ผลิตอยู่นั้นไม่เพียงพอต่อการใช้บริโภค ส่วนราคาน้ำขายในช่วงปกติอยู่ที่ 1 ตัน ราคา 150 บาท รถขนน้ำจะบรรจุได้รอบละ 2 ตัน คิดเป็นเงิน 300 บาท หากอยู่ในช่วงที่ต้องการน้ำมาก ราคาน้ำจะพุ่งขึ้นเป็นรอบละ 350-400 บาท แต่ถ้าช่วงแล้งจริง ๆ ราคาน้ำเคยพุ่งสูงเป็นรอบละ 1,000-1,200 บาท

ขณะที่โครงการผลิตน้ำที่เกาะล้าน มีกำลังผลิตไม่เพียงพอที่จะแจกจ่ายน้ำให้กับประชาชน ส่งผลให้บนเกาะล้านขาดแคลนน้ำอย่างหนัก และทำให้ราคาน้ำแพงขึ้น ประชาชนในพื้นที่ต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยเพิ่มการผลิตน้ำและขยายเขตการปล่อยน้ำประปาบนเกาะล้าน เพื่อให้เพียงพอกับประชาชนบนเกาะล้านด้วย

คลอง 'พล.อ.อาทิตย์' แห้งผาก ข้าวนาปรังรอวันยืนต้นตาย  กรมชลประทานอยู่ไหน หรือต้องรอ นายกฯ ลงมาจี้เอง

น่าสงสารเกษตรกรโซนบก ของจังหวัดสงขลา (ระโนด, กระแสสินธ์, สทิงพระ, สิงหนคร) เมื่อคลอง พล.อ.อาทิตย์ จ.สงขลา น้ำแห้งผากแล้ว ข้าวนาปรังรอวันยืนต้นตาย ('คลอง พล.อ.อาทิตย์' เป็นคลองขุดใหม่ในสมัยรัฐบาล พล.อ.เปรม เพื่อใช้น้ำในการเกษตร ตั้งแต่ อ.ระโนด อ.กระแสสินธ์ อ.สทิงพระ อ.สิงหนคร จ.สงขลา)

แต่สภาพปัจจุบัน 'คลอง พล.อ.อาทิตย์' น้ำแห้ง บางช่วงร่องคลองดินแตกระแหงแล้ว ชาวสวน ชาวนาในโซนนี้เรียกร้องให้กรมชลประทานสูบน้ำเข้าคลองมานาน ตั้งแต่ฝนเริ่มทิ้งช่วง แต่ไม่ได้รับการเอาใจใส่ดูแล จนคลองน้ำแห้งดินแตกระแหง ข้าวนาปรังรอเวลายืนต้นตาย เช่นเดียวกับคนปลูกพืชผักสวนครัว ก็ไม่มีน้ำไปหล่อเลี้ยง

ยิ่งไปทางสิงหนคร ซึ่งเป็นช่วงปลายน้ำยิ่งหนัก เกษตรกรชาวสวนมะม่วง ที่ลงทุนลงแรงปลูกมะม่วงเบา มะม่วงพันธุ์พื้นถิ่นของภาคใต้ ก็กำลังประสบปัญหาอย่างหนักเช่นเดียวกัน แม้มะม่วงเบาจะเป็นที่ต้องการของตลาด ราคาดี นำไปแปรรูปเป็นมะม่วงดอง มะม่วงแช่อิ่ม แต่มองไปข้างหน้าเริ่มเห็นความวายวอดรออยู่

(พล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก เดินทางไปเปิด 'คลอง พล.อ.อาทิตย์' ด้วยตัวเอง ขากลับระหว่างอยู่บนเครื่อง พล.อ.เปรมลงนามปลด พล.อ.อาทิตย์ พ้นตำแหน่ง ผบ.ทบ.สื่อจึงพาดหัวข่าวว่า 'ปลดกลางอากาศ')

หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง นอกจากกรมชลประทานในการบริหารจัดการน้ำแล้ว ยังมีกรมฝนหลวง ในการทำฝนเทียม หากสภาพอากาศมีเมฆ มีความชื้นสัมผัส กรมฝนหลวงก็นำเครื่องขึ้นบินโปรยสารเคมีทำฝนเทียมได้ วันก่อนช่วงหลังสงกรานต์ท้องฟ้ามีเมฆอยู่ แต่ไม่รู้ว่ากรมฝนหลวงได้ทำหน้าที่หรือไม่ แต่ไม่มีฝนตกลงมา

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ก็เป็นอีกกรมที่จะต้องเข้าไปดูแลทุกข์สุขของชาวบ้านในยามมีภัยมาเยือน ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วม น้ำแล้ง แผ่นดินไหว ไฟไหม้

รวมถึง สส.ก็มีหน้าที่ในการสะท้อนปัญหาของชาวบ้านให้รัฐบาลได้รับทราบ เสนอแนะแนวทางในการแก้ไขปัญหาในฐานะคนพื้นที่ รู้สภาพมากกว่า ก็ไม่รู้ว่า สส.ในโซนนี้ (เขต 4) ได้ทำหน้าที่นี้แล้วหรือยัง หรือวุ่นอยู่กับงานอื่นในพื้นที่ อย่าบอกนะว่าปิดสมัยประชุมอยู่ เพราะปิดสมัยประชุมก็เสนอผ่านช่องทางอื่นได้อีกเยอะ และที่สำคัญปิดสมัยประชุม แต่ยังกินเงินเดือนอยู่นะ

หรือว่าจำเป็นต้องให้ นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ลงไปไขลานด้วยตัวเอง หรือให้เหมือนไฟไหม้โรงงานเก็บสารเคมีที่ระยอง นายกฯ ลงไป ถามอธิบดี ปรากฏว่า ลงไปดูหน้างานล่าช้ามาก จึงส่อว่าจะถูกย้าย

‘เศรษฐา’ ห่วงปัญหาภัยแล้ง สั่ง!! ‘ก.กลาโหม’ บริหารจัดการ เร่งจัดหารถบรรทุกน้ำทหาร บรรเทาความเดือดร้อนเกษตรกร

(3 พ.ค.67) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความผ่านแอปพลิเคชัน X ถึงปัญหาภัยร้อนและภัยแล้งว่า ภัยร้อนและภัยแล้งที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ รัฐบาลทราบถึงปัญหา และมีความเป็นห่วงว่าจะส่งผลกระทบในวงกว้างทั้งภาคเกษตรกรรม ความเป็นอยู่ การลงทุน รวมถึงการท่องเที่ยว จึงสั่งการให้ทุกหน่วยงานวางแผนบริหารจัดการอย่างเป็นระบบและเป็นรูปธรรมเพื่อรับมือและบรรเทาสถานการณ์ และช่วยเหลือพี่น้องประชาชน

“นอกจากนี้ ผมได้ประสานสั่งการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงมหาดไทยซึ่งกำกับบรรเทาสาธารณภัยให้ดูแลเรื่องน้ำ ซึ่งขณะนี้มีรถผลิตน้ำดื่มเคลื่อนที่ และรถขนน้ำไปให้บริการประชาชน รวมถึงกำลังเร่งการขุดลอกแหล่งน้ำ และซ่อมบำรุงระบบประปาแก่ชุมชนด้วย ผมยังสั่งการไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมให้นำสรรพกำลังเข้าช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ภัยแล้ง โดยให้กองบัญชาการทหารพัฒนา กรมการทหารช่าง มณฑลทหารบกทุกมณฑล และหน่วยทหารทุกหน่วยที่อยู่ใกล้ชุมชน ใช้รถบรรทุกน้ำของทหารฯ ที่มีอยู่ทั่วประเทศเข้ามาช่วยเหลือเกษตรกร (โดยเฉพาะพืชที่มีมูลค่าสูง) ร่วมกับการทำงานของเจ้าหน้าที่ในรูปแบบกองกำลังเฉพาะกิจ ซึ่งผมได้กำชับให้ทุกส่วนที่เกี่ยวข้องรายงานสถานการณ์มาทุกระยะเพื่อพิจารณาปรับแผนการดำเนินการที่เหมาะสมครับ” นายกรัฐมนตรี กล่าว


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top