Sunday, 6 April 2025
พรรคประชาชน

เปิดโลโก้ ‘พรรคประชาชน’ ค่ายใหม่คณะส้ม ใช้สามเหลี่ยมเป็นสัญลักษณ์ พร้อมชื่อย่อ ‘ปชช.-PP’

(9 ส.ค.67) ที่ตึกไทยซัมมิท ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับชื่อใหม่ของอดีตพรรคก้าวไกล คือ พรรคประชาชน โดยใช้ชื่อย่อว่า ปชช. เขียนภาษาอังกฤษว่า ‘PEOPLE’S PARTY’ มีชื่อย่อในภาษาอังกฤษว่า PP

ขณะที่เครื่องหมายพรรคมีภาพสัญลักษณ์ลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยม และมุมทุกด้านของสามเหลี่ยมมุมแต่ละมุมเท่ากันกลายเป็นสามเหลี่ยมหกด้าน โดยใช้สีส้มเป็นสีของสามเหลี่ยม ภาพสัญลักษณ์

ตัวอักษรคำว่า พรรคประชาชน PEOPLE’S PARTY ซึ่งเป็นชื่อพรรคปรากฏอยู่ด้านล่างสามเหลี่ยมดังกล่าว โดยใช้สีกรมท่าเป็นสีของตัวอักษรคำว่า พรรคประชาชน และใช้สีส้มเป็นสีของตัวอักษรคำว่า ‘PEOPLE’S PARTY’

เปิดตำนาน 'พรรคประชาชน' ไม่ใช่ชื่อใหม่ถอดด้าม แต่เคยเป็นรังเก่า 'กลุ่ม 10 มกราฯ' เข้าสภาฯ 19 คน

(9 ส.ค.67) จากกระแสข่าวที่ออกมาช่วงค่ำวันที่ 8 ส.ค.ที่ผ่านมาว่า พรรคการเมืองจัดตั้งใหม่ที่มาแทนพรรคก้าวไกล จะใช้ชื่อว่า 'พรรคประชาชน' ที่มีการแถลงเปิดตัวเวลา 12.00 น. ของวันที่ 9 สิงหาคม ที่ตึกไทยซัมมิทฯ นั้น

จากการตรวจสอบของ 'ไทยโพสต์' พบว่า ชื่อพรรคประชาชน ไม่ใช่ชื่อพรรคใหม่ทางการเมืองแต่อย่างใด เพราะเคยเป็นพรรคการเมือง ที่เคยส่งคนลงสมัครรับเลือกตั้งและได้ สส.มาแล้วในช่วงปี 2531 ซึ่งช่วงนั้น เป็นการเมืองในยุครัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ อดีตประธานองคมนตรี

โดยแกนนำพรรค-ผู้ร่วมก่อตั้งพรรคประชาชนเวลานั้น ก็คือนักการเมืองจาก 'กลุ่ม 10 มกรา' ที่เป็นกลุ่มการเมืองชื่อดัง จนเป็นตำนานของพรรคประชาธิปัตย์มาถึงทุกวันนี้ 

สำหรับ 'กลุ่ม 10 มกรา' มีแกนนำคือ นายเฉลิมพันธ์ ศรีวิกรม์ ที่เป็นนักธุรกิจ เคยเป็นนายทุนใหญ่ของพรรคประชาธิปัตย์มาก่อน จนขึ้นมาเป็นเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ในยุคที่มีนายพิชัย รัตตกุล อดีตประธานรัฐสภา เป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โดยนายเฉลิมพันธ์ คือ บิดาของนางทยา ทีปสุวรรณ อดีตแกนนำ กปปส.-อดีตรองผู้ว่าฯ กทม. จากพรรคประชาธิปัตย์

ทั้งนี้ ตำนานของ พรรคประชาชน เกิดขึ้นหลังเกิดปัญหาขัดแย้งทางการเมืองในพรรคประชาธิปัตย์ระหว่างกลุ่มของนายเฉลิมพันธ์ - นายวีระ มุกสิกพงษ์ โดยมีแนวร่วม เช่น กลุ่มวาดะห์ ที่กำลังเริ่มโด่งดังทางการเมือง กับกลุ่มของนายพิชัย รัตตกุล ที่เป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เวลานั้น ซึ่งกลุ่มของนายพิชัย มีแนวร่วม เช่น นายชวน หลีกภัย - พลตรีสนั่น ขจรประศาสน์, นายบัญญัติ บรรทัดฐาน, นายมารุต บุนนาค, นายเล็ก นานา

โดยพบว่ากลุ่มนายพิชัย ขัดแย้งกับกลุ่มของนายเฉลิมพันธ์ ในเรื่องโควตารัฐมนตรีของพรรคประชาธิปัตย์ และตำแหน่งหัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ในช่วงรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์

นั่นจึง ทำให้สส.พรรคประชาธิปัตย์ ในปีของนายเฉลิมพันธ์ ตั้งกลุ่ม 10 มกราฯ ขึ้น เมื่อ 10 มกราคม 2530 ที่โรงแรมเอเชีย โดยมีการงัดข้อทางการเมืองกับกลุ่มนายพิชัย ตลอด จนมาถึงจุดแตกหัก ตอนโหวตร่าง พรบ.ลิขสิทธิ์ และสิทธิบัตร ที่เป็นร่างกฎหมายสำคัญของรัฐบาลพลเอกเปรมเวลานั้น เพราะทางประเทศมหาอำนาจโดยเฉพาะสหรัฐฯ กดดันให้รัฐบาลพลเอกเปรม รีบออกกฎหมายดังกล่าวเพื่อแก้ปัญหาสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ แต่ก็มีกระแสคัดค้านไม่เห็นด้วยมากมาย

จนเมื่อร่าง พรบ.ลิขสิทธิ์ฯ เข้าสภาฯ ทาง สส.กลุ่ม 10 มกราคม โหวตสวนไม่เห็นชอบร่างพรบ.ลิขสิทธิ์ฯทั้งที่ตัวเองเป็น สส.รัฐบาล ทำให้ พลเอกเปรม ตัดสินใจยุบสภาฯ โดยเป็นการยุบสภา ก่อนการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้านเพียงไม่กี่วัน

และหลังจากนั้น เมื่อเข้าสู่การเลือกตั้ง กลุ่ม 10 มกราคม ก็ย้ายออกจากพรรคประชาธิปัตย์ ไปตั้งพรรคประชาชน ที่เป็นการตั้งพรรคโดยเปลี่ยนชื่อจากพรรคเดิมคือ พรรครักไทย โดยมีนายเฉลิมพันธ์ เป็นหัวหน้าพรรค และมี นายวีระ ที่ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นวีระกานต์ อดีตประธาน นปช.เสื้อแดง เป็นเลขาธิการพรรคประชาชน

อย่างไรก็ตาม ผลการเลือกตั้งปี 2531 พรรคประชาชนได้ สส.เข้าสภาฯ ไม่มากเท่าใดนัก คือได้ประมาณ 19 คน และหลังเลือกตั้ง พรรคชาติไทย ที่มีพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นหัวหน้าพรรค ชนะเลือกตั้ง จนพลเอกชาติชาย ขึ้นเป็นนายกฯ หลังพลเอกเปรม ที่เป็นนายกฯ คนนอกมาแปดปี ประกาศไม่รับตำแหน่งนายกฯ กับวาทะอมตะ "ผมพอแล้ว"

โดยการตั้งรัฐบาลดังกล่าว ไม่มีพรรคประชาชนร่วมด้วย เพราะพลเอกชาติชาย ตั้งรัฐบาลกับพรรคประชาธิปัตย์ ที่ไม่ถูกกับพรรคประชาชน ทำให้พรรคประชาชนกลายเป็นฝ่ายค้าน ร่วมกับพรรคอื่น ๆ เช่น พรรครวมไทย ของนายณรงค์ วงศ์วรรณ - พรรคกิจประชาคม ของนายบุญชู โรจนเสถียร - พรรคก้าวหน้าของนายอุทัย พิมพ์ใจชน

จนต่อมาช่วง เมษายน 2532 ทั้งสี่พรรคฝ่ายค้าน คือ พรรคประชาชน-พรรครวมไทย-พรรคกิจประชาคม-พรรคก้าวหน้า ก็ได้ยุบรวมมาเป็นพรรคเดียวกันชื่อว่า 'พรรคเอกภาพ'

จากนั้นช่วงปี 2534 พลเอกชาติชาย ปรับครม.โดยดึงพรรคเอกภาพเข้าร่วมรัฐบาล แล้วปรับพรรคประชาธิปัตย์ออก แต่อยู่ได้ไม่นานก็เกิดรัฐประหาร รสช. เมื่อ 23 ก.พ.2534 ทำให้ พรรคประชาชน ชื่อก็หายไปจากการเมืองหลายสิบปี พร้อมกับการที่นายเฉลิมพันธ์ วางมือทางการเมือง

โดยพบว่า สส.-นักการเมือง ที่เคยอยู่กับพรรคประชาชน ที่ตอนนี้ยังเป็น สส.อยู่ ก็มีเช่น นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภาในปัจจุบัน ที่ตอนนั้นออกจากประชาธิปัตย์มาพร้อมกับกลุ่มวาดะห์ และยังมี นายจาตุรนต์ ฉายแสง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ที่เคยอยู่กับกลุ่ม 10 มกราฯ มาก่อน ตั้งแต่ยุคเป็น สส.ฉะเชิงเทรา สมัยแรก ในสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ โดยนายจาตุรนต์ ออกไปร่วมตั้งพรรคประชาชน พร้อมกับบิดา คือนายอนันต์ ฉายแสง อดีต สส.ฉะเชิงเทราหลายสมัย

ส่วนอดีตศิษย์เก่า พรรคประชาชน ที่ไม่ได้เป็นสส.แต่ยังมีบทบาทการเมืองก็เช่น นายนิกร จำนง ที่เคยเป็น สส.สงขลา กลุ่ม 10 มกราคม แต่ตอนที่ลงสมัคร สส.พรรคประชาชน ไม่ได้รับเลือกตั้ง โดยปัจจุบัน นายนิกร เป็นผอ.พรรคชาติไทยพัฒนามาหลายปี ล่าสุดก็เป็นกรรมาธิการของสภาฯหลายคณะเช่น กรรมาธิการวิสามัญศึกษาการตราพรบ.นิรโทษกรรมฯ เป็นต้น

ขณะที่ คนอื่น ๆ ที่ยังโลดแล่นการเมืองอยู่ก็มีเช่น นายถวิล ไพรสณฑ์ ที่เคยเป็นที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล หลังลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ ตอนช่วงหลังเลือกตั้งปี 2562 ที่มีสมาชิกพรรคลาออกหลายคนที่เรียกกันตอนนั้นว่า ประชาธิปัตย์เลือดไหลไม่หยุด โดยปัจจุบันนายถวิล ช่วยงานพรรคก้าวไกลในเรื่องท้องถิ่นมาหลายปีแล้ว จนน่าจับตาว่า นายถวิล อาจจะมีส่วนในการช่วยคิดชื่อ พรรคประชาชน รวมถึงยังมีศิษย์เก่า พรรคประชาชนอีกหลายคน เช่น นางอัญชลี วานิช เทพบุตร อดีตเลขาธิการนายกฯ (อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ) อดีตนายกอบจ.ภูเก็ต ที่เคยลงสมัครสส.พรรคประชาชน เป็นต้น

‘สมชัย’ แจงใช้ชื่อ ‘พรรคประชาชน’ ได้ เพราะชื่อนี้ไม่มีใครใช้มาเกิน 20 ปีแล้ว ส่วนเงินของ ‘พรรคก้าวไกล’ จะถูกโยกไปให้ ‘มูลนิธิพัฒนาเยาวชนและคนหนุ่มสาว’

(10 ส.ค.67) นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้โพสต์เฟซบุ๊ก ‘ปั่นไปไหน - สมชัย ศรีสุทธิยากร’ โดยมีข้อความระบุว่า ...

มีคำถามมากมายจากสื่อมาที่ผม ขอตอบทีเดียว (ทำไมไม่รู้จักไปถาม กกต.)

1. ใช้ชื่อพรรคประชาชนได้ไหม เคยเป็นชื่อพรรคการเมืองที่เลิกไปแล้วในอดีต : ทำได้ครับ หากชื่อพรรคนั้นเลิกใช้เกิน 20 ปีไปแล้ว (มาตรา 10 วรรคสอง พ.ร.ป.พรรคการเมือง)
2. โลโก้ สามเหลี่ยมหัวคว่ำ คล้ายพรรคเดิมทำได้ไหม : นายทะเบียนพรรคการเมือง (เลขา กกต.) จะเป็นผู้พิจารณา หากเห็นว่า คล้ายหรือพ้อง ก็จะสั่งให้มีการแก้ไข (มาตรา 18 วรรคสาม พ.ร.ป.พรรค ฯ)

3. ทำไม กรรมการบริหารพรรคมีแค่ 5 คน : จำนวนต่ำสุดที่ระบุในกฎหมายพรรคการเมืองคือ 5 คน แต่ต้องสอดคล้องกับข้อบังคับพรรคด้วย (มาตรา 21 วรรคสอง พ.ร.ป.พรรค ฯ)
4. ค่าสมาชิกตลอดชีพ เมื่อก่อน 2,000 ตอนนี้ ทำไมแค่ 500 บาท : มีการแก้ไข พ.ร.ป.พรรคการเมือง ลดค่าสมาชิก รายปีเป็นไม่น้อยกว่า 20 ปี ตลอดชีพ ไม่น้อยกว่า 200 บาท แต่ต้องให้สอดคล้องกับข้อบังคับพรรค (มาตรา 15(15) และวรรคสี่ ของ พ.ร.ป.พรรคการเมือง)

5. การเปลี่ยนแปลงชื่อพรรค โลโก้พรรค กรรมการบริหารพรรค ทำได้ทันทีหลังมีมติที่ประชุมใหญ่หรือ ไม่ต้องรอให้ กกต. ให้ความเห็นชอบหรือ : กม.ใหม่ มีผลนับแต่วันประชุม แจ้ง กกต.เพื่อทราบเท่านั้น แต่หาก กกต.ตรวจพบภายหลังว่า ไม่เป็นไปตาม กม. ผลการประชุมจะเป็นโมฆะ ต้องจัดประชุมใหม่
6. ทรัพย์สินและเงินในบัญชีของพรรคก้าวไกล หลังจากถูกยุบแล้วไปไหน : กก.บริหารพรรคชุดเดิมต้องส่งรายงานการเงินต่อ กกต.ภายใน 30 วัน หลังจากนั้น สตง. จะตรวจสอบความถูกต้องใน 180 วัน เหลือเท่าไร เป็นขององค์กรสาธารณกุศลที่ระบุในข้อบังคับพรรค สำหรับพรรคก้าวไกล ระบุให้เป็นของมูลนิธิพัฒนาเยาวชนและคนหนุ่มสาว ครับ

‘ชัยชนะ’ ยันทำงานฝ่ายค้านร่วม ‘พรรคประชาชน’ ได้เหมือนเดิม ไร้ปัญหา แต่หากยังเดินหน้าแก้ ม.112 ‘พรรคประชาธิปัตย์’ ชัดเจน!! ไม่สนับสนุน

(10 ส.ค.67) นายชัยชนะ เดชเดโช สส.นครศรีธรรมราช และรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการทำงานร่วมกับพรรคประชาชน ว่า การทำงานในฐานะฝ่ายค้านก็ทำร่วมกันตามปกติ ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง เนื่องจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เกิดจากพรรคก้าวไกลโดนยุบพรรค ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติที่ต้องหาพรรคสังกัดใหม่ ซึ่งวันนี้เราก็เห็นแล้วว่าวิกฤติการเมืองมันเปลี่ยนแปลง ซึ่งเราจะเห็นว่างูเห่าจากพรรคก้าวไกลไม่มีเลย ทุกคนที่ยังเหลืออยู่ก็ย้ายไปสังกัดพรรคประชาชน เพราะฉะนั้นการทำงานร่วมกันในสภาฯ ในฐานะพรรคร่วมฝ่ายค้าน ก็ไม่มีอะไรแตกต่างเรายังทำงานกันเหมือนเดิม

เมื่อถามว่าการที่นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิเป็นหัวหน้าพรรคประชาชน จะทำให้การทำงานร่วมกันมีปัญหาหรือไม่ นายชัยชนะกล่าวต่อว่า ไม่มีปัญหาอะไรเพราะนายณัฐพงษ์ เราก็ได้ทำงานร่วมกันมา ตั้งแต่การทำงานในวิปฝ่ายค้าน และคณะกรรมาธิการ(กมธ.)วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) งบประมาณ ซึ่งนายณัฐพงษ์ก็ได้รับเลือกจากสมาชิกพรรคให้เป็นหัวหน้าพรรค ซึ่งที่ผ่านมาการทำงานร่วมกันก็ไม่ได้ติดขัดอะไร และนายณัฐพงษ์ ก็เป็นคนที่ความสามารถ และมีบทบาทในสภาฯอยู่แล้ว

ต่อข้อถามว่า พรรคประชาชนประกาศว่าจะเดินหน้าแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 ทางพรรคประชาธิปัตย์จะพิจารณาเรื่องนี้อย่างไร นายชัยชนะกล่าวว่า เรื่อง มาตรา 112 ถือเป็นสิทธิของพรรคเขา ที่เขาจะเดินหน้าในจุดยืนของเขา แต่ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ เรายืนยันอย่างชัดเจนว่า การแก้ไขกฎหมายถ้าไปกระทบกับสถาบันพระมหากษัตริย์ เราไม่สนับสนุนอยู่แล้ว

“วันนี้ทำงานในพรรคร่วมฝ่ายค้านไม่ใช่ว่าเราเป็นพรรคร่วมฝ่ายค้านแล้วจะเห็นชอบด้วยทุกเรื่อง ฉะนั้นเรื่องไหนที่ขัดต่ออุดมการณ์ของพรรคประชาธิปัตย์ และขัดกับจุดยืนของเรา เราก็ไม่เห็นด้วย เช่นกฎหมายที่เสนอให้เปิดร้านเซ็กส์ทอยให้ถูกกฎหมาย เราก็โหวตไม่เห็นด้วย แต่เรื่องหลักการทำงานขับเคลื่อนฯ ต้องทำร่วมกันอยู่แล้วจึงไม่มีปัญหาอะไร” นายชัยชนะ กล่าวทิ้งท้าย

ย้อนอดีต ‘พรรคประชาชน’ กับ ‘กลุ่ม 10 มกราฯ’ ในพรรคประชาธิปัตย์ คนอกหักทางการเมือง ที่ไม่มีใครเห็นหัว สุดท้ายก็ยุบตัว ในสถานการณ์ที่ร่อแร่

(10 ส.ค.67) เมื่อคณะอดีตพรรคก้าวไกลที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้ยุบพรรค และตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรค 10 ปี ได้อพยพกันไปอยู่พรรคใหม่ “ถิ่นกาขาวชาววิไล และเปลี่ยน ชื่อพรรคมาเป็น 'พรรคประชาชน'

ถามว่าพรรคประชาชนเคยมีตัวตนอยู่จริงไหม คนรุ่น 50-60 ขึ้นไปจะตอบได้ว่า “มี” อันก่อกำเนิดมาจากกลุ่ม 10 มกราฯในพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นกลุ่มอกหักทางการเมือง ถูกถีบส่งออกมา มี 'เฉลิมพันธ์ ศรีวิกรม์-วีระ มุสิกพงศ์' เป็นแกนนำหลัก ออกจากพรรคประชาธิปัตย์ มาตั้งพรรคใหม่ ใช้ชื่อว่า 'พรรคประชาชน' ใช้คำขวัญพรรคว่า 'ของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน'

พรรคประชาชนมีชื่อเดิมว่าพรรครักไทย จดทะเบียนก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2526 ต่อมาในปี พ.ศ. 2530 พรรครักไทยได้เปลี่ยนแปลงชื่อพรรคเป็น พรรคประชาชน

คณะพรรคประชาชนมาเปิดที่ทำการพรรคอยู่ริมคลองประปา ตั้งอยู่ข้ามกระทรวงการคลัง ไม่ไกลจากที่ทำการของพรรคประชาธิปัตย์มากนัก ถ้าเป็นต่างจังหวัดพูดได้ว่า ตะโกนกันได้ยิน

กลุ่ม 10 มกราฯก่อตัวมาจากความขัดแย้งในการฟอร์มทีมจัดตั้งรัฐบาล ในยุคที่ 'พิชัย รัตตกุล' เป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ มีดร.พิจิตต รัตตกุล ลูกชายได้รับการคัดเลือกให้เป็นรัฐมนตรี ในขณะที่สายของ 'เฉลิมพันธ์-วีระ' ถูกมองข้าม แม้กระทั่งในกลุ่มวาดะห์ ก็ไม่มีใครเห็นหัว ไม่มีตำแหน่งใด ๆ

ความขัดแย้งขยายผลมาถึงการเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ของพรรคประชาธิปัตย์ แบ่งเป็นสองทีมลงแข่งขันกันชัดเจน สายของ 'เฉลิมพันธ์-วีระ' พ่ายแพ้ศึกชิงหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค

กลุ่มของ 'เฉลิมพันธ์-วีระ' ถูกเฉดหัวออกมาอย่างไม่มีปรานีปราศรัย ตัดญาติขาดมิตรต่อกัน กลุ่มก้อนการเมืองสายนี้จึงก่อเกิดเป็น 'พรรคประชาชน'

พรรคประชาชนยุคเปลี่ยนผ่านจึงมีหัวหน้าชื่อเฉลิมพันธ์ ศรีวิกรม์ เลขาธิการชื่อวีระ มุสิกพงศ์ คำขวัญ ของพรรคประชาชน คือโดยประชาชน เพื่อประชาชน

สถานการณ์ทางการเมือง ทำให้พรรคประชาชนไปยุบรวมกับพรรคการเมือง อื่นๆอีก 4 พรรค เช่นพรรคกิจประชาคม พรรคก้าวหน้า เป็นต้น ก่อกำเนิดเป็น 'พรรคเอกภาพ' 

แกนนำของพรรคประชาชนในยุคนั้นนอกจากเฉลิมพันธ์ ศรีวิกรม์ เป็นหัวหน้าพรรค และวีระ มุสิกพงศ์ เป็นเลขาธิการพรรค ยังมีแกนนำคนสำคัญ อาทิ เดโช สวนานนท์ ไกรสร ตันติพงศ์ เลิศ หงษ์ภักดี อนันต์ ฉายแสง สุรใจ ศิรินุพงศ์ ถวิล ไพรสณฑ์ พีรพันธุ์ พาลุสุขสัมพันธ์ เลิศนุวัฒน์ กริช กงเพชร กลุ่มวาดะห์ในสามจังหวัดชายแดนใต้

เลือกตั้งครั้งแรก ปี 2532 พรรคประชาชนกวาดที่นั่งในสภามาร่วม 40 ที่นั่งในสถานการณ์ที่พรรคร่อแร่ 'วีระ มุสิกพงศ์' เลขาธิการพรรคติดคุกในช่วงหาเสียงเลือกตั้งคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ถวิล ไพรสณฑ์ ขึ้นมารักษาการเลขาธิการพรรคแทน

มาถึงวันนี้อดีตคนพรรคก้าวไกลตัดสินใจใช้ชื่อ 'พรรคประชาชน' อีกครั้งกับโฉมใหม่ โลโก้เป็นไป คำขวัญเป็นไป จุดยืนทางการเมืองที่ไม่เหมือนกัน มีเป้าหมายชัดเจนว่า เลือกตั้งปี 70 ต้องได้เกินครึ่งของสภา จัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียว

ติดตามกันต่อไปครับว่า พรรคประชาชนอันมีรากเหง้ามาจากพรรคก้าวไกล จะเดินไปบรรลุเป้าหมายหรือไม่ หรือเป็นฝ่ายค้านต่อไป ไม่มีใครร่วมด้วย (ถ้าได้ไม่ถึงครึ่ง)

‘หมอวรงค์’ เดินหน้าเสนอให้ยุบ ‘พรรคประชาชน’ หลังพบหลักฐานสำคัญ ชี้!! ‘ถิ่นกาขาว’ มีสาขาไม่ครบ เป็นพรรคที่สิ้นสภาพ เอามาดำเนินการไม่ได้

(11 ส.ค. 67) นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม หัวหน้าพรรคไทยภักดี โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กระบุว่า ... 

#ทำไมต้องเสนอยุบพรรคประชาชน

ตามที่สื่อเสนอข่าวว่า พรรคประชาชนเกิดจาก การที่นำพรรคถิ่นกาขาวชาววิไล มาเปลี่ยนชื่อพรรค เนื่องจากพรรคการเมืองเป็นสถาบันสำคัญ ของระบอบประชาธิปไตย ต้องโปร่งใสและตรวจสอบได้

จากการตรวจสอบผ่านเว็บกกต. พบว่าพรรคถิ่นกาขาวชาววิไล ซึ่งเป็นพรรคต้นกำเนิด ของพรรคประชาชน มีสาขาพรรค3สาขา ภาคเหนือ 2สาขา และภาคกลาง 1 สาขา ไม่มีสาขาภาคใต้ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

กฎหมายพรรคการเมือง กำหนดไว้ว่าพรรคการเมืองย่อมสิ้นสภาพ ถ้ามีสาขาพรรคการเมือง เหลือไม่ถึงภาคละ1สาขา เป็นระยะเวลาติดต่อกัน1ปี นั่นหมายความว่า พรรคถิ่นกาขาวชาววิไล ต้องมีสาขาครบทั้ง4ภาค ห้ามขาดหายไปติดต่อกัน1ปี ถ้าไม่ครบพรรคถิ่นกาขาวชาววิไลต้องสิ้นสภาพ

ข้อมูลหน้าเว็บกกต. พบว่าพรรคถิ่นกาขาวชาววิไล มีสาขาพรรคเพียงแค่ 2ภาค ซึ่งไม่ครบ4ภาค และจัดตั้งตั้งแต่ปี 2555 เพื่อความโปร่งใส กกต.ต้องตรวจสอบและชี้แจง ให้ประชาชนได้รับทราบ รายละเอียดการมีสาขาในแต่ละปี

ถ้าพรรคถิ่นกาขาวมีสาขาไม่ครบ4ภาค ติดต่อกัน1ปี จะเข้าข่ายการสิ้นสภาพของพรรคตามกฎหมาย นั่นหมายความว่าพรรคประชาชน จะไม่สามารถนำพรรคที่สิ้นสภาพ มาดำเนินการเปลี่ยนชื่อพรรคได้

พรรคไทยภักดีจะไปยื่นเรื่องดังกล่าว ให้กกต.ตรวจสอบ และดำเนินการต่อไปให้เป็นไปตามกฎหมาย

‘เทพไท’ ชี้!! พรรคการเมืองต้องมีอุดมการณ์ จุดยืนชัดเจน ไม่จำเป็นต้องใช้เงินซื้อเสียง มอง!! พรรคประชาชน ไม่ลดเพดาน ม.112 ต้องรับความเสี่ยง เคลื่อนไหวอย่างมีบทเรียน

(11 ส.ค. 67) นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต สส. นครศรีธรรมราช โพสต์เฟซบุ๊ก เทพไท เสนพงศ์-คุยการเมือง ระบุว่าพรรคการเมืองต้องแข่งกันที่อุดมการณ์

หลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยยุคพรรคก้าวไกลไปแล้ว ได้ตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรคไป 10 คน ทำให้ส.ส.พรรคก้าวไกล เหลืออยู่ 143 คน และได้ย้ายไปสังกัดพรรคประชาชนทั้งหมด ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆนานา ทั้งชื่อของพรรค โลโก้ตราสัญลักษณ์ของพรรค รวมถึงนโยบาย จุดยืน อุดมการณ์ ประกาศเดินหน้านโยบายแบบไม่ลดเพดานลง แต่ได้เรียกเสียงสนับสนุนจากผู้ศรัทธาต่ออุดมการณ์พรรคได้เป็นจำนวนมาก ซึ่งเห็นได้จากยอดผู้สมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคหลายหมื่นคน และมียอดเงินบริจาคภายในเวลา 9 ชั่วโมง ยอดบริจาคหลัก10ล้านบาท ซึ่งเป็นกระแสความศรัทธาอย่างแท้จริง

ผมในฐานะนักการเมืองอิสระ ไม่ได้สังกัดพรรคการเมืองใด แต่ขอเรียกร้องให้พรรคการเมืองทุกพรรค ได้หันมาต่อสู้แข่งขันกันในเรื่องจุดยืน อุดมการณ์และนโยบาย มากกว่าเรื่องการหาประโยชน์ สะสมทุนเพื่อซื้อเสียงในการเลือกตั้ง เพราะถ้าหากพรรคการเมืองมีจุดยืน อุดมการณ์ถูกใจประชาชนแล้ว สามารถเรียกคะแนนนิยมและศรัทธาจากประชาชนได้ โดยไม่จำเป็นต้องใช้เงินซื้อเสียงเลย

ในอดีตที่ผ่านมาผมได้ตัดสินใจเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ก็เพราะพรรคประชาธิปัตย์ มีจุดยืนที่ชัดเจน ในเรื่องหลักการประชาธิปไตย เชื่อมั่นในระบอบรัฐสภา มีความซื่อสัตย์และเป็นมืออาชีพในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจให้กับประชาชน ไม่ใช้เงินซื้อเสียง และต่อต้านเผด็จการทุกรูปแบบ ซึ่งเป็นอุดมการณ์เมื่อ 30 ปีที่แล้ว แต่ปัจจุบันพรรคประชาธิปัตย์ ได้เปลี่ยนแปลงจุดยืนและอุดมการณ์ไปทั้งหมด จนทำให้พรรคประชาธิปัตย์ตกต่ำมากที่สุดในยุคนี้

ส่วนพรรคประชาชนที่ประกาศไม่ลดเพดานการแก้ไขมาตรา112 ก็เป็นจุดขายหนึ่งของพรรค ที่ทำให้ได้รับเสียงสนับสนุนจากประชาชนมากถึง 14 ล้านคน เป็นนโยบายที่พรรคประชาชนต้องรับความเสี่ยงทางการเมือง ต้องสรุปบทเรียนการเคลื่อนไหว เพื่อไม่ให้สุ่มเสี่ยงต่อการยุบพรรคเป็นครั้งที่3 และเป็นสิทธิ์ของพรรคประชาชน ที่จะเสนอนโยบาย จุดยืน อุดมการณ์ของพรรคต่อสาธารณชน เพราะผู้ที่ตัดสินใจแท้จริง คือคนไทยทั้งประเทศ ว่าเห็นด้วยหรือยอมรับต่อนโยบายของพรรคประชาชนหรือไม่

ถ้าเสียงส่วนใหญ่ของประเทศยอมรับ เลือกพรรคประชาชนเป็นเสียงข้างมาก ก็ต้องเคารพการตัดสินใจของประชาชน ตามวิถีทางในระบอบประชาธิปไตย อย่าใช้อำนาจนอกระบบมาแทรกแซงกันอีก

‘พรรคประชาชน’ เคาะส่ง ‘โฟล์ค ณฐชนน’ ชิงเลือกตั้งซ่อมพิษณุโลกแทน ‘หมออ๋อง’ เผย!! มีความมั่นใจในอุดมการณ์ที่ชัดเจน พร้อมลงพื้นที่แก้ไขปัญหาให้ประชาชน

(11 ส.ค. 67) นายศรายุทธิ์ ใจหลัก เลขาธิการพรรคประชาชน เปิดเผยว่า คณะกรรมการบริหารพรรคมีมติส่ง นายณฐชนน ชนะบูรณาศักดิ์ หรือโฟล์ค รับสมัครเลือกตั้งซ่อมสส.จังหวัดพิษณุโลก เขต 1 แทนตำแหน่งที่ว่างลง  

“นายณฐชนน เป็นเจ้าของธุรกิจ และร่วมทำงานการเมืองกับอดีตพรรคอนาคตใหม่และพรรคก้าวไกลมาตลอด โดยพรรคประชาชนมีความมั่นใจในอุดมการณ์และจุดยืนของนายณฐชนน เพราะมีความชัดเจนและทำงานใกล้ชิดกับนายปดิพัทธ์ สันติภาดา โดยเฉพาะงานพื้นที่เพื่อแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนแทนหมออ๋อง" นายศรายุทธิ์ กล่าว

ทางด้านประวัติของ นายณฐชนน ชนะบูรณาศักดิ์ นั้นได้จบการศึกษาจาก โรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคม  ปี 2551 และมหาวิทยาลัยนเรศวร วิทยาลัยนานาชาติ สาขานิติศาสตร์ ปี 2556

ประกอบธุรกิจส่วนตัว หจก.พิษณุโลกไทยนครหล่อยาง

ประสบการณ์ที่ผ่านมา อดีตประธาน YEC หอการค้า จังหวัดพิษณุโลก อดีตประธาน Young FTI สภาอุตสาหกรรมจังหวัดพิษณุโลก ผู้ชำนาญการประจำตัว สส.นายปดิพัทธ์ สันติภาดา คณะทำงานประจำตัวรองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 ตำแหน่งนักวิชาการ ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการการทหารประจำจังหวัดพิษณุโลก ซึ่งนำโดย นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร

‘วิสุทธิ์’ รับโควตา ‘รองประธานฯ คนที่ 1’ เป็นของ ‘ภูมิใจไทย’ ‘เพื่อไทย’ ไม่ส่งใครไปแย่ง ชี้!! ‘พิเชษฐ์’ ไม่ขอสลับ-ไม่ขอลาออก

(11 ส.ค. 67) นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล(วิปรัฐบาล) กล่าวถึงโควตาตำแหน่งรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่1 ว่า โควตาดังกล่าวเป็นของพรรคภูมิใจไทย แต่ขณะนี้พรรคภูมิใจไทยยังไม่ได้แจ้งมาว่าจะให้ใครดำรงตำแหน่งรองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 พรรคเพื่อไทยไม่ได้ส่งใครไปชิงตำแหน่งนี้ และไม่จำเป็นต้องสลับตำแหน่งรองประธานสภาฯคนที่1กับรองประธานสภาฯคนที่ 2 ระหว่างพรรคเพื่อไทย กับพรรคภูมิใจไทย เพราะนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 พรรคเพื่อไทย ไม่ขอสลับ และไม่ขอลาออกจากตำแหน่ง ตอนนี้โควตารองประธานสภาฯคนที่1 เป็นของพรรคภูมิใจไทย แต่ต้องรอการหารือวิปรัฐบาล ในวันที่ 13 ส.ค อีกครั้ง

"มั่นใจไม่มีปัญหาในการทำงานร่วมกัน การเป็นรองประธานสภาคนที่ 1หรือคนที่ 2 ไม่ต่างกัน เท่าเทียมกัน การทำงานใกล้เคียงกัน ต่างกันแค่สำนักงานที่อยู่ในความดูแลที่ขึ้นอยู่กับประธานสภาผู้แทนราษฎร จะมอบให้ใครดูแลงานด้านไหน  ไม่มีการก้าวก่ายกันอยู่แล้ว เชื่อมั่นการทำงานจะเป็นไปด้วยความราบรื่น" นายวิสุทธิ์ กล่าว

นายวิสุทธิ์ กล่าวว่า ส่วนการพิจารณาปรับโควตาตำแหน่งประธานกรรมาธิการสามัญ สภาผู้แทนราษฎร หลังจากเสียงสส.ของพรรคประชาชนลดลง 5 เสียงนั้น ส่วนตัวเห็นว่า จำนวนสส.ของพรรคประชาชนที่หายไป 5 คน ลดลงแค่เล็กน้อย ดูแล้วคงยากที่จะให้มาสลับตำแหน่งกันใหม่ อัตราส่วนยังคงใกล้เคียงของเดิมอยู่ คงไม่ถึงขั้นมีผลกระทบให้ตำแหน่งประธานกรรมาธิการสามัญของพรรคประชาชนต้องมาทบทวนกันใหม่ อย่างไรก็ตามเป็นเพียงความเห็นส่วนตัวของตนเท่านั้น จะต้องมาคุยกันในที่ประชุมวิปรัฐบาลวันที่ 13 ส.ค.ก่อน พรรคร่วมรัฐบาลอื่น อาจเห็นไม่เหมือนตนก็ได้ เราทำงานในนามพรรคร่วมรัฐบาล ต้องรับฟังความเห็นร่วมกัน

ส่วนกรณีพรรคประชาชนมีผู้สมัครสมาชิกพรรคจำนวนมาก และสามารถระดมเงินบริจาคได้มากกว่า 20 ล้านบาท ในระยะเวลาดำเนินการเพียงไม่กี่วันนั้น นายวิสุทธิ์ กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยไม่ได้รู้สึกหนักใจ เอฟซีของใครก็ย่อมสนับสนุนพรรคของตัวเอง เป็นเรื่องปกติ ทั้งหมดขึ้นอยู่กับนโยบายพรรคจะสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนมากน้อยแค่ไหน การที่พรรคประชาชนประกาศความเชื่อมั่นจะจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวในการเลือกตั้งปี 2570นั้น ก็ต้องดูถึงเวลาจะทำได้จริงหรือไม่ เหลือเวลาอีก 3 ปี สถานการณ์ในอนาคตคาดการณ์ไม่ได้อะไรจะเกิดขึ้นบ้าง แต่พรรคเพื่อไทยมั่นใจในนโยบายและการแก้ปัญหาความเดือดร้อนให้ประชาชน จะทำให้ได้รับความเชื่อมั่นและเสียงตอบรับจากประชาชนในการเลือกตั้งสมัยหน้า โดยเฉพาะขณะนี้นโยบายดิจิทัลวอลเล็ตใกล้จะแจกเงินถึงมือประชาชนในปลายปี ทำให้เสียงตอบรับของรัฐบาลและพรรคเพื่อไทยดีขึ้นมาก รวมถึงราคาพืชผลการเกษตรหลายอย่างก็ดีขึ้น ทำให้คะแนนพรรคเพื่อไทยกลับมาดีขึ้นอย่างมาก

‘พรรคประชาชน’ ไร้แบนเนอร์ ‘ถวายพระพร’ ในวันเฉลิมพระชนมพรรษา ตอกย้ำ!! คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ‘ล้มล้างการปกครอง-เซาะกร่อนบ่อนทำลาย’

(12 ส.ค. 67) เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง 12 สิงหาคม 2567 พรรคการเมืองหลักทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้าน ไม่ว่าจะเป็นพรรคเพื่อไทย พรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคพลังประชารัฐ พรรคชาติไทยพัฒนา รวมทั้งพรรคเล็กพรรคน้อย ต่างทำแบนเนอร์ถวายพระพร ผ่านเพจของพรรค อย่างพร้อมเพรียงกัน ในขณะที่พรรคประชาชน ไม่ปรากฏแบนเนอร์ถวายพระพรแต่อย่างใด

ทั้งนี้นับแต่มีการก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ มาถึงพรรคก้าวไกล ก็ไม่ปรากฏมีการทำแบนเนอร์ถวายพระพรในวันสำคัญของราชวงศ์แม้แต่ครั้งเดียว และไม่มีคำอธิบายใดๆทั้งสิ้น นำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์ถึงแนวคิดของพรรคอนาคตใหม่ ก้าวไกล รวมทั้งพรรคประชาชนว่า ไม่ต้องการสถาบันพระมหากษัตริย์ ตอกย้ำด้วยคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่วินิจฉัยว่าการแก้ม.112 ของพรรคก้าวไกล เป็นการล้มล้างการปกครอง รวมถึงคดียุบพรรคก้าวไกล ล้วนแสดงให้เห็นถึงเป้าหมายของพรรคนี้ว่าไม่ต้องการการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ต้องการตัดสถาบันพระมหากษัตริย์ออกจากระบอบการปกครอง


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top