Wednesday, 24 April 2024
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

‘จักรทิพย์ ชัยจินดา’ ใส่เกียร์ถอย ไม่ลงเลือกตั้งชิงผู้ว่าฯ กทม. แล้ว คาดหลีกทางให้ผู้ว่าฯ อัศวิน ลงชิงต่อ

เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564 มีกระแสข่าวว่า พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา หรือ ‘บิ๊กแป๊ะ’ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ตัดสินใจไม่ลงสมัครเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครแล้ว หลังจากที่เปิดตัวมาตั้งแต่ปลายปี 2563 และลงพื้นที่หาเสียงอย่างหนัก ขณะเดียวกันผลโพลหลายสำนักชี้ว่า ‘บิ๊กแป๊ะ’ ติดอันดับ 1 ใน 3 ผู้ว่าฯ กทม. ที่คนกรุงเทพฯ อยากเลือกมากที่สุด

ทั้งนี้ มีรายงานว่า พล.ต.อ.จักรทิพย์ ประกาศต่อหน้ากลุ่ม สมาชิกสภากทม. หรือ ส.ก. ที่ให้การสนับสนุนว่า ไม่ลงสมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. แล้ว

โดยตัวแปรสำคัญในเรื่องนี้ อาจเกี่ยวข้องกับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ที่แต่แรกนั้นแม้ พล.ต.อ.จักรทิพย์ จะประกาศว่าลงสมัครเลือกตั้งผู้ว่ากทม. ในนามอิสระ แต่ก็มีแรงสนับสนุนจากพรรคพลังประชารัฐ ทั้งการยอมรับว่าได้รับการชักชวนจาก บิ๊กป้อม - พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ 

พรรคพลังประชารัฐ ปรับแผนส่งผู้สมัครชิงผู้ว่ากทม. โยน 3 ชื่อ 'บิ๊กเนม' ให้ 'บิ๊กป้อม' ตัดสินใจ

‘บิ๊กป้อม’ เรียกก๊วน ‘ธรรมนัส -วิรัช’ ถกด่วนเคลียร์ปมกดดัน ‘บิ๊กแป๊ะ’ จนถอนตัวชิงผู้ว่าฯ กทม. เผยชงแผนใหม่ตื้อหาผู้สมัครในนามพรรคส่งลงสนามสู้กับ ‘ชัชชาติ’ พร้อมโยนตัวเลือกใหม่ 3 ชื่อบิ๊กเนม ‘พีระพันธุ์ - ดร.เอ้-ผู้ว่าฯ หมูป่า’ ให้หัวหน้าตัดสินใจ

3 พ.ย. 64 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 2 พ.ย. ที่ผ่านมา ภายหลังการประชุมพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ซึ่งมี ส.ส. และสมาชิกหลายคนได้เดินทางกลับไปหมดแล้ว เช่นเดียวกับขบวนรถของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรค พปชร. ที่ได้ออกจากพรรคตั้งแต่เวลา 16.00 น. แต่หลังจากนั้นไม่นาน ปรากฏว่า ขบวนรถของ พล.อ.ประวิตร ได้กลับเข้ามาในพรรคอีกครั้ง พร้อมเรียกแกนนำ และ ส.ส. บางคน เข้าหารือ

สำหรับ ส.ส. ส่วนใหญ่ที่เข้าหารือเป็น ส.ส. ในกลุ่ม ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา และ เลขาธิการพรรค และ นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรค อาทิ นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ เหรัญญิพรรค, นายไผ่ ลิกค์ ส.ส.กำแพงเพชร และรองเลขาธิการพรรค, นายสุชาติ อุตสาหะ ส.ส.เพชรบุรี, นายสัมพันธ์ มะยูโซ๊ะ ส.ส.นราธิวาส, นายบุญสิงห์ วรินทรรักษ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และนายทะเบียนพรรค, นายจิรเดช ศรีวิราช ส.ส.พะเยา, นายณัฏฐพล จรัสรพีพงษ์ ส.ส.สุรินทร์, นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รมช.คมนาคม และ นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง โดยใช้เวลาในการหารือกว่า 1 ชั่วโมง

ข่าวแจ้งว่า สำหรับประเด็นที่ได้มีการหารือครั้งนี้ ได้พูดถึงการถอนตัวไม่ลงสมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ของพล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา โดยมีการยืนยันกับ พล.อ.ประวิตร ว่า ไม่ได้มีการบีบหรือกดดัน พล.ต.อ.จักรทิพย์ แต่ได้มีการเสนอว่าสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) ควรจะต้องส่งในนาม พปชร. เพราะ ส.ก. กับ ส.ส. ต้องเป็นเนื้อเดียวกัน ถือว่ามีบทบาทสำคัญในสนามเลือกตั้ง ส.ส. ด้วยเหมือนกับพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ที่มี ส.ก. ของพรรคเช่นเดียวกัน และถึงเวลาที่คัดสรรบุคคลลงแต่ละพื้นที่ได้แล้ว ส่วนผู้สมัคร ส.ก. 50 คน ในทีมของ พล.ต.อ.จักรทิพย์ หลังจากที่ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ถอนตัวแล้ว ก็สามารถกลับมาร่วมงานกับ พปชร.ได้

อย่างไรก็ตามการส่ง ส.ก. ในนาม พปชร. ยังติดขัดข้อกฎหมายที่ห้ามมิให้ข้าราชการการเมือง หรือ ส.ส. ใช้ตำแหน่งหน้าที่ให้คุณให้โทษกับผู้สมัครหรือเลือกตั้งท้องถิ่น

ว่าที่ผู้ว่าฯ กทม. หญิงคนแรก หาก ‘ก้าวไกล’ กล้าดันวัดศรัทธาคนกรุง

ภายหลังจบศึกสมรภูมิการเลือกตั้งระดับท้องถิ่น ทั้งสมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.), สมาชิกสภาเทศบาล และสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เพิ่งจบไปหมาด ๆ นั้น

สมรภูมิถัดไปที่น่าจะแวะเวียนมาในเวลาอันใกล้ คงต้องเป็นคิวของเวทีเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ซึ่งคาดกันว่าน่าจะเกิดขึ้นภายในปี 2565 เพราะเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม ก่อนที่รัฐบาลชุดนี้จะครบวาระในปี 2566

พูดถึงสนามเลือกตั้งผู้ว่าฯ คนกรุง ก็ต้องบอกว่าถูกแช่แข็งมานาน ตั้งแต่เกิดการรัฐประหารเมื่อปี 2557 นั่นจึงทำให้การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ ครั้งที่จะถึงนี้ น่าจะมีความคึกคัก และดุเดือดมากกว่าครั้งไหน ๆ เพราะน่าจะเป็นการวัดพลังของบรรดาพรรคใหญ่ชื่อดังทั้งเก่าและใหม่ ว่าใครคือตัวจริงที่ยังยึดพื้นที่เมืองหลวงเป็นฐานที่มั่นไว้ได้ในรอบนี้ได้

>> สังเวียนวัดพลัง ‘พรรค’ ผู้อยู่เบื้องหลังเจ้าเมืองบางกอก

อย่างไรซะ แม้ตอนนี้จะยังไม่มีกำหนดกรอบเวลาที่ชัดเจนว่า การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นเมื่อไร? แต่หลายพรรคการเมืองก็เริ่มเคลื่อนไหวกันแล้ว ทั้งพรรคเพื่อไทย, พลังประชารัฐ, ก้าวไกล และประชาธิปัตย์ เพียงแต่ยังอุบชื่อแคนดิเดตกันไว้อยู่

ทว่าถึงพรรคเหล่านี้จะยังอุบชื่อตัวผู้สมัครไว้ แต่วงในการเมือง เขาก็พอจะรู้กันเนือง ๆ ว่าพรรคไหนจะส่งใคร หรือจะสนับสนุนใคร

ถ้าใครที่พอจะติดตามข่าวสารการเมืองอยู่บ้าง คงทราบว่าเต็งหนึ่งในสนามเลือกตั้งผู้ว่ากทม. รอบนี้ คงเป็นใครไปไม่ได้ นอกจาก ‘ชัชชาติ สิทธิพันธุ์’ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ฉายารัฐมนตรีที่แกร่งที่สุดในปฐพี ในสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ยังคงมาแรงอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะทำโพลล์สำรวจกี่ครั้ง คนกรุงเทพฯ ก็ยังเทคะแนนให้เป็นอันดับแรกทุกครั้ง 

ถึงกระนั้นก็คงต้องตามกระแสลมของ ‘พรรคเพื่อไทย’ ดูไว้หน่อยว่าจะส่งผู้สมัครผู้ใดเข้าแข่งด้วยหรือไม่ เพราะถึงแม้ ‘ชัชชาติ’ จะมีสัมพันธ์อันดีกับพรรคเพื่อไทย แต่ในการลงสมัครเลือกตั้งผู้ว่ากทม. ในครั้งนี้ เจ้าตัวลงสมัครในนามอิสระ และยืนยันมาตลอดว่า ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับพรรคเพื่อไทยอีกแล้ว

ข้ามฟากมา ‘พรรคพลังประชารัฐ’ ซึ่งยืนยันมาตลอดเช่นกันว่า จะไม่ส่งผู้สมัครชิงตำแหน่ง แต่หากพล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่ากทม.คนปัจจุบัน ตัดสินใจลงแข่งเพื่อเป็นผู้ว่าอีกสมัย ก็ต้องวัดใจผู้ใหญ่ในพปชร. ว่าจะสนับสนุนต่อหรือไม่ หรือ จะมีทางเลือกอื่น ซึ่งตอนนี้เริ่มมีชื่อ ‘ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร’ หรือ ผู้ว่าหมูป่า ขึ้นมาเป็นแคนดิเดตอีกคน

ขณะที่ ‘พรรคประชาธิปัตย์’ ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่เก่ามายาวนานหลายปี ก่อนที่ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร จะถูกพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ใช้อำนาจตาม ม.44 ปลดพ้นตำแหน่ง เมื่อปี 2559 ก็ดูเหมือนจะหมายมั่นปั้นมือที่จะกลับมาทวงคืนศรัทธาจากคนกรุงอีกครั้ง หลังจากเลือกตั้ง ส.ส.เมื่อปี 2562 พรรคประชาธิปัตย์ถูกเท ไม่ได้แม้แต่เก้าอี้เดียวในกทม. เพราะเจอทั้งกระแส ‘ลุงตู่ฟีเวอร์’ กับ ‘ความแรงของพรรคอนาคตใหม่’ 

กล่าวโดยสรุปแล้ว รายชื่อของผู้สมัคร ก็คงไม่น่าจะหนีจากกระแสข่าวหลักมากนัก ยิ่งไปกว่านั้นเหล่าคอการเมืองคงทราบกันดีว่า สมรภูมิการเลือกตั้งในกทม. นั้น จะต้องอาศัยทั้งชื่อชั้นของผู้สมัคร และ ความนิยมในพรรคการเมืองที่สังกัด จึงจะได้รับเสียงสนับสนุนจากคนกทม. ได้อย่างแท้จริง

>> โจทย์หินเจ้าเมืองบางกอก ต้องลอกคราบพรรคการเมือง

ฉะนั้นแม้จะมีภาพพรรคการเมืองอุ้มหลังแต่เก่าก่อน หากแต่วันนี้จะเว้าวอนให้คนกรุงเทใจให้ บรรดาผู้สมัครก็คงจะต้องสลัดพันธุกรรมการเมืองเมื่อคิดลงสู่สนามนี้ เหมือนที่ ชัชชาติ ประกาศชัดว่า จะลงผู้ว่ากทม. โดยไม่สังกัดพรรคการเมืองใด นั่นเพราะไม่ต้องการให้ติดภาพความสัมพันธ์กับพรรคเพื่อไทย เพราะยังมีคนกรุงจำนวนไม่น้อยที่ต่อต้านพรรคอยู่ เรียกว่าวัดกันที่แสงส่วนตัวไปเลยเพียว ๆ

นั่นก็เพราะภาพการเมืองที่ผ่านมาหลายปี มันทำลายหวังของคนกรุงไปพอควร ฉะนั้นหากต้องการให้กรุงเทพฯ มีความเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีขึ้นกว่าที่ผ่านมา การให้โอกาสคนที่มีความรู้ความสามารถ สอดแทรกขึ้นมาบริหารกรุงเทพมหานคร ไม่ว่าจะเป็นคนรุ่นใหม่หรือเก่า แต่ไร้กลิ่นการเมืองเกาะกาย ก็คงเป็นเรื่องที่น่าสนใจ

‘ประชาธิปัตย์’ เคาะแล้ว!! ส่ง “ดร.เอ้ สุชัชวีร์” ชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม.

พรรคประชาธิปัตย์ แถลงผลการประชุมคณะกรรมการบริหารวันนี้

>> เห็นชอบ “ดร.เอ้ สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์”ป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในนามพรรคประชาธิปัตย์ และให้ความเห็นชอบผู้ที่จะลงสมัครสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (สก.) ทั้ง 50 เขต 50 คน

>> เห็นชอบ “นายอิสรพงษ์ มากอำไพ” เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งซ่อมเขต 1 จังหวัดชุมพร และนางสาวสุภาพร กำเนิดผล เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. สงขลา เขต 6

>> เห็นชอบให้จัดตั้งสาขาพรรคเพิ่มเติม 2 สาขา คือ จังหวัดนครนายก เขต 1 และสาขาพรรคจังหวัดสงขลา เขต 2

13 ธันวาคม 2564 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน เลขาธิการพรรคและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคภาคกทม.ได้แถลงผลการประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ ว่า การประชุมในวันนี้มีวาระสำคัญ 2 วาระ ประกอบด้วย วาระที่ 1 การพิจารณาให้ความเห็นชอบผู้ที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในนามพรรค และพิจารณาผู้สมัครสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (สก.) 50 เขต 50 คน วาระที่ 2 การพิจารณาให้ความเห็นชอบผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งซ่อมที่จังหวัดชุมพร เขต 1 และจังหวัดสงขลา เขต 6

โดยในวาระแรก ที่ประชุม กก.บห.พรรค มีมติเห็นชอบให้ ดร.เอ้ สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ เป็นผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในนามพรรคประชาธิปัตย์ และให้ความเห็นชอบผู้ที่จะลงสมัครสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (สก.) ทั้ง 50 เขต 50 คน ซึ่งในจำนวนนี้เป็นอดีต สก. 13 คน และเป็นคนรุ่นใหม่ เลือดใหม่ ที่ก้าวเข้ามาร่วมงานกับพรรค 37 คน รวม 50 คน

สำหรับ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์นั้น จบปริญญาเอกด้านวิศวกรรมโยธาและสิ่งแวดล้อม จากสถาบัน MIT สหรัฐอเมริกา เป็นอดีตอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เป็นนายกสภาวิศวกรสมัยที่ 7 เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านระบบรถไฟฟ้าในคณะกรรมการดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าระดับประเทศ เป็นประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทยในอดีต เป็นประธานกรรมการการเคหะแห่งชาติ เคยได้รับรางวัลเกียรติคุณระดับนานาชาติ ซึ่งเป็นเจ้าของรางวัล President Eisenhower Fellowships 2012 เป็นประธานการประชุมงานอุโมงค์โลก 2012 (World Tunnel Congress 2012) นอกจากนั้นเป็นวิศวกรดีเด่นแห่งอาเซียน ปี 2012

“พรรคประชาธิปัตย์ภูมิใจที่ได้ต้อนรับเลือดใหม่คุณภาพ อย่าง ดร.เอ้ สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในนามพรรค นับจากนี้ถือว่าพรรคประชาธิปัตย์ได้เสนอทางเลือกที่ดีที่สุดให้กับชาวกรุงเทพ และเราหวังว่า ดร.เอ้ จะนำชัยชนะมาสู่พรรค นำชัยชนะมาสู่พี่น้องชาวกรุงเทพมหานครทุกคน ถ้าได้รับเลือกตั้งหรือได้รับโอกาสผมมั่นใจว่า ดร.สุชัชวีร์ และทีมงานพรรคประชาธิปัตย์ สามารถเปลี่ยนกรุงเทพเราทำได้อย่างแน่นอน” หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าว

พร้อมกับให้กล่าวถึงผลการพิจารณาให้ความเห็นชอบผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งซ่อม จังหวัดชุมพร เขต 1 และจังหวัดสงขลา เขต 6 ว่า ที่ประชุมได้มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ความเห็นชอบ นายอิสรพงษ์ มากอำไพ เป็นผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งซ่อม ในนามพรรคประชาธิปัตย์ เขต 1 จังหวัดชุมพร ซึ่งนายอิสรพงษ์ จบปริญญาตรี จากมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ปริญญาโท Coventry university ลอนดอน ประเทศอังกฤษ มีประสบการณ์ทางการเมือง เคยเป็นเลขานายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดชุมพร และเป็นผู้ช่วย ส.ส. นายจุมพล จุลใส จังหวัดชุมพร 

 

'บิ๊กตู่' ลั่น!! ไม่เกินกลางปี 65 คนกรุงได้เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. 

‘บิ๊กตู่’ ลั่นไม่ยื้อเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ยันหย่อนบัตรไม่เกินกลางปี 65 พร้อม ส.ก. - ส.ข. เผยสเปกต้องทำงานเพื่อประชาชน - ไม่ทุจริต บอกนายกฯ ยุ่งมากไม่ได้

13 ธ.ค. 64 - เมื่อเวลา 11.25 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงสเปกผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนใหม่ในใจ ว่า ไม่ว่าจะเป็นยังไงก็ตามก็ต้องทำเพื่อประชาชนและทำให้ถูกต้องตามกฎหมายทุกประการ ในสิ่งที่จะต้องกระทำตามอำนาจหน้าที่ที่มีอยู่ เพราะกรุงเทพมหานครเป็นอิสระ เราไปยุ่งเกี่ยวเขามากไม่ได้อยู่แล้ว เขามีกฎหมายของเขา และยืนยันว่าไม่ได้ยื้อการจัดการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ใด ๆ ทั้งสิ้น จนกว่าจะพร้อม อาจจะเร็วหรือช้าคงต้องดูอีกที จะยื้ออะไรไปทำไมใช่หรือไม่ มันไม่เกี่ยวอะไรกับตนทั้งสิ้นอะไรที่ทำได้ก็ทำ

เมื่อถามว่า นายกฯ เคยบอกว่ารอให้เกิดความสงบจึงจะให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. นายกฯ กล่าวว่า นั่นแหละก็ประมาณไม่เกินกลางปี 2565 ซึ่งความพร้อมก็จะมีการเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) และสมาชิกสภาเขต (ส.ข.) ด้วย ที่ต้องเลือกไปพร้อมกัน

'สกลธี' ลาออกจากตำแหน่ง รองผู้ว่าฯ กทม. มีผลทันที แง้ม!! ขอเอี่ยวสู้ศึก 'ชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม.' ในนามอิสระ

7 มี.ค. 65 นายสกลธี ภัททิยกุล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า เกือบ 4 ปีแล้วครับ ที่ผมได้มีโอกาสเข้ามาบริหารราชการในฐานะรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร… วันเวลาผ่านไปเร็วมากๆ คงจะเหมือนที่มีคนเคยกล่าวไว้ว่า เวลาแห่งความสุขมักจะผ่านไปไวเสมอ… เพราะสำหรับผมมันไม่เหมือนการมาทำงาน แต่มันเป็นความสุขทุกวันที่ได้มาเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ได้แก้ไขปัญหา และพัฒนางานด้านต่างๆ ในภารกิจที่ผมได้รับผิดชอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการแก้ไขเรื่องร้องเรียนและเดือดร้อนของพี่น้องชาวกรุงเทพมหานครที่ได้กรุณาแจ้งมา ซึ่งผมและเจ้าหน้าที่ของกรุงเทพมหานครได้พยายามช่วยอย่างเต็มที่ในทุกๆ เรื่อง

ในโอกาสนี้ ผมต้องขอขอบพระคุณท่านนายกรัฐมนตรีและท่านผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่ได้ให้โอกาสผมในการทำงานซึ่งเป็นประสบการณ์ที่มีค่ามากสำหรับผม รวมถึงขอขอบคุณบุคลากรของกรุงเทพมหานครทุกคนที่ได้ร่วมกันทำหน้าที่แก้ไขปัญหาต่างๆ เพื่อพี่น้องชาวกรุงเทพมหานครอย่างเต็มความสามารถ…ทุกคนตั้งใจทุ่มเทจริงๆ ครับ หลายปีที่ผ่านมา มีหลายสิ่งดีๆ เกิดขึ้นในกรุงเทพมหานครของเราครับ แต่อย่างไรก็ตามผมเห็นว่ายังมีอีกหลายด้านที่สามารถทำให้ “ดีกว่านี้ได้” ทั้งในด้านกายภาพและคุณภาพชีวิตของชาวกรุงเทพมหานคร

เปิดผลสำรวจนิด้าโพลล่าสุด ‘สนามเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. 65 รอบที่ 1’ คนกรุงเทใจให้ ชัชชาติ คะแนนนิยมพุ่ง ร้อยละ 38.84 ทิ้งห่างคู่แข่งหลายช่วงตัว

เมื่อวันที่ 10 เม.ย. ศูนย์สำรวจความคิดเห็น ‘นิด้าโพล’ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง ‘สนามเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. 65 รอบที่ 1’ ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 5-7 เม.ย. 2565 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป และมีสิทธิเลือกตั้งในกรุงเทพมหานคร ครบคลุมพื้นที่ทั้ง 50 เขต

จากการสำรวจเมื่อถามถึงบุคคลที่ประชาชนจะเลือกให้เป็นผู้ว่าฯ กทม. พบว่า

อันดับ 1 ร้อยละ 38.84 ระบุว่าเป็น ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ (อิสระ) เพราะ เป็นคนเก่ง มีความสามารถ มีวิสัยทัศน์ ตั้งใจในการทำงาน และลงพื้นที่รับฟังปัญหาของประชาชน

อันดับ 2 ร้อยละ 26.58 ระบุว่า ยังไม่ตัดสินใจ

อันดับ 3 ร้อยละ 10.06 ระบุว่าเป็น  พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง (อิสระ) เพราะ เป็นคนมีประสบการณ์ บริหารงานเก่ง และสามารถสานต่องานได้อย่างต่อเนื่อง

อันดับ 4 ร้อยละ 6.83 ระบุว่าเป็น ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ (พรรคประชาธิปัตย์) เพราะ เป็นคนรุ่นใหม่มีแนวคิดใหม่ ๆ และสามารถพัฒนาให้กรุงเทพฯ มีความเจริญก้าวหน้าเทียบเท่าต่างชาติได้

อันดับ 5 ร้อยละ 6.02 ระบุว่าเป็น ดร.วิโรจน์ ลักขณาอดิศร (พรรคก้าวไกล) เพราะ เป็นคนรุ่นใหม่ มีอุดมการณ์ มีความมุ่งมั่นในการทำงาน

อันดับ 6 ร้อยละ 2.94 ระบุว่า ไปลงคะแนน ไม่เลือกใคร (Vote NO)

อันดับ 7 ร้อยละ 2.28 ระบุว่าเป็น นายสกลธี ภัททิยกุล (อิสระ) เพราะ มีประสบการณ์ในการบริหารงาน และช่วยเหลือประชาชนในกรุงเทพฯ อย่างต่อเนื่อง

อันดับ 8 ร้อยละ 2.06 ระบุว่า จะไม่ไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง

อันดับ 9 ร้อยละ 1.98 ระบุว่าเป็น น.ส.รสนา โตสิตระกูล (อิสระ) เพราะ เป็นคนซื่อสัตย์ ทำงานดี มีผลงาน และเป็นคนมีวิสัยทัศน์

อันดับ 10 ร้อยละ 1.47 ระบุว่าเป็น น.ต.ศิธา ทิวารี (พรรคไทยสร้างไทย) เพราะ ชื่นชอบนโยบายและเชื่อมั่นในพรรคไทยสร้างไทย

และร้อยละ 0.94 ระบุว่า  อื่น ๆ ได้แก่ พันโทหญิง ฐิฏา รังสิตพล มานิตกุล (อิสระ) น.ส.วัชรี วรรณศรี (อิสระ) นายวีรชัย เหล่าเรืองวัฒนะ (อิสระ) ดร.ศุภชัย ตันติคมน์ (อิสระ) ดร.ประยูร ครองยศ (อิสระ) นายประพัฒน์ บรรจงศิริเจริญ (อิสระ) และดร.ภูมิพัฒน์ อัศวภูภินทร์ (อิสระ)  

‘เจษฎา’ แซะ 'จักรทิพย์' โพสต์วิธีแก้น้ำท่วมกรุง หรือว่าเตรียมความพร้อมสำหรับเลือกตั้งใหม่

รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ และนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ แชร์โพสต์เฟซบุ๊กของ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ซึ่งโพสต์ข้อความ “หาที่ให้น้ำอยู่ หาทางให้น้ำไป ปัญหาน้ำท่วม ผมจะใช้ระบบ AI วัดระดับปริมาณน้ำ และมี Application แจ้งเตือน”

โดย รศ.ดร.เจษฎา ระบุว่า “อยู่ๆ คุณจักรทิพย์ ก็ออกมาโปรโมตแนวคิดแก้ปัญหา กทม.ใหญ่เลย หลังจากจบการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ไปแล้ว หรือว่าเตรียมความพร้อมสำหรับการเลือกตั้งใหม่ครับ”


ที่มา: https://mgronline.com/uptodate/detail/9650000051640

'ศรีสุวรรณ' บุกถาม 'ชัชชาติ' สวนชูวิทย์ตกเป็นของกทม.แล้วหรือไม่ หลังถูกนำไปพัฒนาเป็นอาคารสูงโครงการมิกซ์ยูสขนาดใหญ่

(24 มี.ค.66) ที่ศาลาว่าการ กทม.1 นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้เดินทางมายื่นหนังสือถึงนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เพื่อสอบถามสถานะของที่ดินสวนชูวิทย์ บริเวณสุขุมวิท ซอย 10 หลังเคยมีกรณีพิพาทกันในคดีรื้อทุบบาร์เบียร์ว่าเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันตามกฎหมายไปแล้วหรือไม่

ทั้งนี้สืบเนื่องจากเมื่อ 22 พ.ค.2548 นายชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์ จัดแถลงข่าวครั้งแรกระหว่างการต่อสู้คดีรื้อบารณ์เบียร์ในศาล เพื่อแสดงความตั้งใจว่าไม่ต้องการใช้ประโยชน์จากที่ดินผืนดังกล่าว และจะนำที่ดินคืนสาธารณะให้สังคมโดยจัดทำเป็นสวนสาธารณะ และต่อมาวันที่ 24 ธ.ค.2548 ไม่ทันถึงปีนายชูวิทย์ก็จัดแถลงข่าวเปิดตัวสวนชูวิทย์และกล่าวในวันนั้นว่า เจตนาที่จะเสียสละนำที่ดินดังกล่าวสร้างเป็นสวนสาธารณะให้กรุงเทพมหานคร ให้เป็นปอดของคน กทม. ได้ใช้ประโยชน์แทนโครงการสร้างโรงแรม เรียกว่า 'สวนชูวิทย์'

ต่อมาในคดีรื้อบาร์เบียร์นั้น ศาลฎีกามีคำพิพากษาเมื่อ ม.ค.59 ว่าที่ดินพิพาทบริเวณสุขุมวิทซอย 10 นั้นศาลฎีกาเห็นว่าหลังเกิดเหตุ นายชูวิทย์กับพวก ได้ร่วมกับจำเลยอื่นชดใช้ค่าเสียหายให้ผู้เสียหายไปบางส่วนแล้ว และยังมีการนำที่ดินพิพาทไปทำประโยชน์เป็นสวนสาธารณะให้ประชาชนทั่วไปใช้ได้ โดยไม่ได้นำที่ดินไปทำธุรกิจแสวงหาผลกำไรอีก บ่งบอกว่าจำเลยรู้สึกสำนึกผิด นับว่ามีเหตุปรานี เห็นสมควรกำหนดโทษใหม่ให้เหมาะสม พิพากษาแก้ว่าจากจำคุก 5 ปี ให้เหลือแค่ 2 ปี ไม่รอลงอาญา

‘ชัชชาติ’ วอนอย่าโยง ‘คลองโอ่งอาง’ เข้าประเด็นการเมือง ย้ำ!! กทม.พัฒนาอย่างเต็มที่-เคารพผลงานผู้ว่าฯ เก่าทุกคน

(14 มี.ค.67) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยถึงประเด็นที่นายปารเมศ วิทยารักษ์สรรค์ สส.กรุงเทพฯ (เขต 1 พระนคร ป้อมปราบศัตรูพ่าย สัมพันธวงศ์) พรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ถึงการพัฒนาย่านคลองโอ่งอ่างว่า

ขอร้องอย่าให้เป็นประเด็นเรื่องการเมือง กทม.พยายามพัฒนาย่านให้มีความยั่งยืน ไม่ใช่จัดงานอีเวนต์หรือตลาดนัด ที่เป็นกิจกรรมชั่วคราว แต่ก่อนคลองโอ่งอ่างเป็นหลังบ้านของผู้พักอาศัย ส่วนที่มีการถ่ายภาพที่จอดรถเยอะ เพราะมีพื้นที่ส่วนต่อขยายไปยังคลองบางลำพู ที่ยังก่อสร้างยังไม่เสร็จ รวมถึงบางช่วงที่เป็นหลังร้านหรือออฟฟิศ ที่ต้องมีการจอดรถบ้างเป็นปกติ

“ถามว่าเราจะไปคลองโอ่งอ่างเพื่ออะไร คำตอบคือ ไม่มีสินค้า ไม่มีอัตลักษณ์เหมือนกับปากคลองตลาด เสาชิงช้า บรรทัดทอง ตลาดน้อย การพัฒนาอัตลักษณ์ต้องใช้เวลา การนำผู้ค้าด้านนอกมาจัดตลาดนัด ผมว่าคนในพื้นที่ไม่ได้ประโยชน์อย่างยั่งยืน แต่เราก็น้อมรับฟังคำติชม” นายชัชชาติกล่าว

นายชัชชาติ กล่าวว่า หัวใจของคลองโอ่งอ่าง อยู่ใกล้กับวิทยาลัยเพาะช่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ เบื้องต้นอาจจะทำเป็นสตรีตอาร์ต เพื่อช่วยดึงดูดคนมาเยี่ยมชม อย่างไรก็ตาม คนในชุมชนก็ต้องช่วยกันพัฒนาอัตลักษณ์ด้วย ไม่ใช่เพียงแค่มาดูคลอง หรือมาพายเรือแคนู เรือคายัคก็ไม่ได้อีก เพราะคลองแคบและมีตลิ่งสูง ถ้าอยากพายเรือ ให้ไปที่สวนลุมพินี สวนรถไฟ และอีกหลาย ๆ ที่ ซึ่งเหมาะกับการพายเรือมากกว่า

“เรื่องย่านต้องพัฒนาจากตัวเอง จะเห็นได้จากลานคนเมือง เราจัดอีเวนต์ตลาดนัดได้ แต่จัดเสร็จต่างคนต่างไป คนที่มาขายก็ไม่ใช่คนแถวนั้น แต่เรียนว่าไม่ใช่เรื่องการเมือง เราเคารพผลงานของทุกท่านที่ผ่านมา ไม่เคยคิดเป็นประเด็นการเมืองทั้งสิ้นเลย เราก็พัฒนาย่านเยอะแยะทั่วกรุงเทพฯ เลย” นายชัชชาติกล่าว

อย่างคลองผดุงกรุงเกษม มีการพัฒนาริมคลองให้มีความสวยงาม บางช่วงไม่ได้มีร้านค้าหรือกิจกรรมทางธุรกิจ ซึ่งคนก็มาวิ่งมาเดินชมความสวยงาม เดินไปถึงตลาดเทวราช มีขายของสด ขายต้นไม้

“ผมเบื่อเรื่องการเมืองนะ เราทำงานอย่างเดียว เพราะเราไม่ได้มีความทะเยอทะยานอะไร ขอทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ผู้ว่าฯ กทม.ที่ผ่านมาก็ทำผลงานได้ดี” นายชัชชาติ กล่าว


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top