Saturday, 18 May 2024
ธรณ์_ธำรงนาวาสวัสดิ์

'ผศ.ดร.ธรณ์' เผยเกิดสิ่งมหัศจรรย์ที่อ่าวมาหยา หลัง 161 ฉลามเวียนว่าย บ่งชี้ธรรมชาติฟื้นเต็มตัว ย้ำ นี่แหละสวรรค์!! 

ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว 'Thon Thamrongnawasawat' เผยว่า... 

สิ่งที่เพื่อนธรณ์กำลังเห็นอยู่ตอนนี้คือคลิปล่าสุดที่ส่งตรงจากศูนย์วิจัยอุทยานทางทะเล ในการสำรวจอ่าวมาหยา

เพื่อนธรณ์อาจร้องกรี๊ด อาจตกใจว่าทะเลไทยมีอย่างนี้ด้วยหรือ ? 

คำตอบคือมีครับ และมีอยู่ที่อ่าวมาหยา 

เรามีฉลามครีบดำอย่างน้อย 161 ตัว อยู่ในอ่าวแห่งนี้ (เท่าที่นับได้จากโดรน เชื่อว่ามีมากกว่านี้)

ผมดำน้ำในทะเลไทยมาเกือบ 50 ปี ผมไม่เคยเจออะไรแบบนี้ 

ผมเรียนจบจาก Great Barrier Reef เคยไปหลายทะเลทั่วโลก ผมก็ไม่เคยเจออะไรแบบนี้

เคยเจอฝูงฉลามมากมาย แต่ฉลามหลายสิบตัวในน้ำตื้นแค่เอว บางตัวแค่เข่า รวมอยู่กันแน่นขนัด 

ผมไม่เคยเห็น และไม่เคยคิดเลยว่าจะได้เห็น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในทะเลไทย 

ทะเลที่เต็มไปด้วยการใช้ประโยชน์หลากหลายมานาน

นี่คือความหมายของคำว่า “มหัศจรรย์” 

และนี่คือสิ่งที่เราต้องทำทุกทางเพื่อรักษาความมหัศจรรย์แห่งมาหยาไว้ให้จงได้

>> นี่คือเหตุผลว่าทำไมกรมอุทยาน/คณะที่ปรึกษาอุทยานทางทะเล จึงไม่อนุญาตให้ใครลงไปในน้ำ แม้ว่าจะมีการเปิดอ่าวมาหยาในอีกไม่ช้า

นอกจากนี้ กรมอุทยานกำลังเริ่มโครงการศึกษาวิจัยฉลามในอ่าวมาหยาโดยละเอียด 

ข้อมูลขั้นต้นระบุว่า เราพบฉลามอย่างน้อย 5 ตัว ออกลูกในอ่าวมาหยา

เรายังพบฉลามขนาดเล็กจำนวนมากเข้ามาบริเวณชายหาดเป็นประจำ

'ดร.ธรณ์' ชี้ น้ำยิ่งร้อน 'ไต้ฝุ่นโนรู' ยิ่งแรง แนะ!! ลิสต์ worst-case เตรียมทางหนีทีไล่

(27 ก.ย. 65) ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat ว่า ดูภาพดาวเทียมล่าสุดของไต้ฝุ่นโนรูแล้วเริ่มหนักใจ พายุทวีกำลังมากขึ้นในทะเลก่อนเข้าสู่ชายฝั่งเวียดนาม

เหตุผลสำคัญคือน้ำทะเลในทะเลจีนใต้ร้อน ผมดูจากข้อมูลทุ่นกระแสสมุทรและจากที่อื่น ๆ ช่วงนี้อยู่ที่ 29-30 องศา น้ำร้อนมีผลโดยตรงกับไต้ฝุ่น น้ำยิ่งร้อนยิ่งส่งพลังงานให้พายุแรงขึ้น

น้ำร้อนยังทำให้ไอน้ำมากขึ้น ฝนย่อมมีมากขึ้นเป็นธรรมดา

เวียดนามเพื่อนบ้านเราเตรียมตัวแล้ว ของเขาเจอเต็ม ๆ ต้องอพยพกันยกใหญ่

แต่เราก็ประมาทไม่ได้เพราะคงเจอฝนหนักในบริเวณกว้าง จะอพยพล่วงหน้านาน ๆ ก็ยากหน่อยเพราะเดาไม่ถูกว่าตกกระหน่ำตรงไหนบ้าง ต้องใช้การเฝ้าระวังและเตือนภัยในช่วงสั้น ๆ

เพราะฉะนั้น จึงอยากให้เพื่อนธรณ์เตรียมตัวไว้ โดยเฉพาะในพื้นที่คาดว่าฝนหนัก เช่น ภาคอีสาน ภาคเหนือตอนล่าง ฯลฯ ที่คงตามข่าวจากหลายช่องทางได้

ใครอยู่ในที่เสี่ยง เช่น ใกล้แม่น้ำลำคลอง ใกล้ทางน้ำที่ลงมาจากเขา ต้องเตรียมทางหนีทีไล่ไว้ล่วงหน้า น้ำป่ามาเร็วครับ

ดินถล่มยังเป็นอีกภัยต้องระวัง ใครอยู่ริมทางชัน ร่องเขา เตรียมตัวให้พร้อม

การเตรียมตัวให้มากที่สุดเป็นเรื่องสมควร ต่อให้ไม่เกิดอะไรก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าเกิด เรารอดได้เพราะการเตรียมตัวนี่แหละครับ

หลักการง่าย ๆ ของการบริหารความเสี่ยงคือ Worst-case scenario คิดในทางเลวร้ายที่สุดเข้าไว้

น้ำทะลักเข้าบ้าน รถเราจะจมไหม ไฟฟ้าดูดไหม เด็กเล็กคนแก่ไปอยู่ไหน เรามีน้ำกินข้าวกินหลายวันหรือไม่ ไฟดับทำไง มือถือชาร์จเต็มไหม ทางขาดต้องติดอยู่หลายวันเอาไงดี ฯลฯ

ยังรวมถึงการบอกคนอื่นว่าเราอยู่ไหน เกิดอะไรจะติดต่อกันได้ ช่วยกันทัน โดยเฉพาะคนที่ไม่อยู่บ้าน ไปเที่ยวเข้าป่า ฯลฯ ต้องบอกให้คนอื่นทราบ

ยังมีอีกหลายเรื่องที่ทำได้ โดยเริ่มจากนั่งนิ่งๆ แล้วค่อยๆ คิด worst-case ที่อาจเกิดกับเรา ลองลิสต์ไว้เป็นข้อ ๆ ก็ได้ครับ แล้วค่อยให้น้ำหนักว่าอะไรสำคัญกว่ากัน

'ดร.ธรณ์' โพสต์ภาพเปรียบเทียบ 'ก่อน-หลัง' อ่าวมาหยา ลุ้น!! ทุกอย่างจะกลับไปสู่ความเศร้าในอดีตอีกหรือไม่?

จากเฟซบุ๊ก 'Thon Thamrongnawasawat' โดย ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์ข้อความการเปลี่ยนของอ่าวมาหยาไว้ ว่า...

ผมตั้งใจทำภาพเปรียบเทียบ before/after ที่อ่าวมาหยา เพื่อบอกว่าการท่องเที่ยวยุคก่อนกับยุคนี้ต่างกันโดยสิ้นเชิง

ภาพบนปี 2560 ภาพล่างเพิ่งถ่ายวันนี้ สิ่งที่ชัดเจนคือเรือหายไปหมด

เรือคือสิ่งคุกคามระบบนิเวศในอ่าวมาหยา

เรือมากมายทำให้ตะกอนฟุ้งกระจาย เรือมากมายทิ้งสมอในแนวปะการัง

เรือมากมายวิ่งไปวิ่งไปวิ่งมา จนฉลามไม่สามารถใช้อ่าวมาหยาเป็นบ้าน

เรือมากมายยังทำให้อ่าวมาหยากลายเป็นที่จอดเรือ ไม่ใช่อ่าวสวยที่สุดในโลก

ซึ่งนั่น มันเกินไป

มันเจ็บใจ มันเจ็บปวด มันบาดลึกในหัวใจคนรักทะเล

พวกเราจึงลุกขึ้นมา “ช่วยกัน” ในคืนที่ฟ้ามืดถึงที่สุด

“ช่วย” ใช้การลงมือทำ “ช่วย” มุ่งหวังที่ผลลัพธ์ มันจะเกิดขึ้นให้จงได้

ในวันนี้ อ่าวมาหยาเปิดอีกครั้ง แต่ไม่มีเรือมากมายอีกแล้ว

ในอ่าวมีเพียงปะการังที่กำลังเติบโต มีฝูงฉลามที่กลับมา “บ้าน”

เป็นภาพที่ตอบคำถามว่า เปิดท่องเที่ยวในอ่าวมาหยาอีกครั้ง ทุกอย่างจะกลับไปสู่ความเศร้าในอดีตอีกหรือไม่ ?

‘ดร.ธรณ์’ สลดใจ!! หลังเห็นภาพหมอกวาดก้อนน้ำมันให้เต่าตนุ ชี้ ควรรักษาคุณภาพชายฝั่งให้ดี ก่อนธรรมชาติพินาศในพริบตา

วันนี้ (10 ส.ค.) เฟซบุ๊ก ‘Thon Thamrongnawasawat’ หรือ ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้โพสต์ภาพพร้อมระบุข้อความว่า “ภาพคุณหมอผู้ดูแลสัตว์ทะเลหายากกำลังค่อย ๆ กวาดก้อนน้ำมันออกมาจากคอน้องเต่าตนุตัวน้อย เป็นอะไรที่บาดใจผมมาก และคงบาดใจเพื่อนธรณ์คนรักทะเลสุด ๆ เท่าที่ทราบ เธอเป็นเต่าตัวที่ 3 แล้วที่โดนคราบน้ำมันที่ภูเก็ต และตัวหนึ่งตายไปแล้ว

ตั้งแต่เริ่มทำงานทะเลมาถึงวันนี้ เกือบ 40 ปี ผมคิดไม่ออกว่าเคยมีกรณีไหนในทะเลไทยที่เต่าโดนคราบน้ำมันมากถึงขนาดนี้ จึงไม่อยากให้เป็นเพียงแค่ผ่านเลยไป เพราะมันไม่ใช่แค่เรื่องน่าสงสารจัง ประเทศไทยเข้าร่วมอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ เราใช้ SDG เป็นตัวชี้วัดอะไรหลายประการ เรายังลงนามและเข้าร่วมในหลายประเด็นที่เกี่ยวกับสัตว์ทะเลหายาก แต่เต่าทะเลไทยที่เกยตื้นเป็นจำนวนมากมีขยะติดตัว ไม่ว่าภายนอกหรือภายใน ยังมาโดนซ้ำเติมด้วยคราบน้ำมัน หากเต่าน้อยร้องเป็นภาษาคนได้ เธอคงกรีดร้องว่าจะซ้ำเติมกันไปถึงไหน เธอร้องไม่ได้ แต่แววตาของเธอบอกได้ ลองดูแววตาของเธอสิครับ

ทราบดีว่าทุกฝ่ายกำลังพยายามหาที่มาของคราบน้ำมัน เพื่อติดตามผู้กระทำผิดมาลงโทษ แต่ก็พอทราบว่าโอกาสเป็นไปได้ยากยิ่ง เพราะที่คาดการณ์ว่าเหตุเกิดในระยะห่างฝั่งเกิน 100 กิโลเมตร เรือคงไปไหนถึงไหน (ข้อมูลช่วง 26 ก.ค. - 3 ส.ค. มีเรือ 81 ลำ) ด้วยระบบที่เรามี คงพอบอกได้ว่าเรายังไม่สามารถดูแลชายฝั่ง ดูแลน้องเต่าของเราให้ปลอดภัยจากมลพิษร้ายแรงในทะเล และหากเราไม่ปรับปรุงเปลี่ยนแปลง ชายฝั่งมูลค่าท่องเที่ยวหลายแสนล้านต่อปี ยังสุ่มเสี่ยงต่อความพินาศในพริบตา สรรพสัตว์ต่าง ๆ ระบบนิเวศในทะเลก็ยังคงพึ่งเพียงโชคว่าจะไม่เกิดเหตุร้ายแรงขึ้น

เราต้องลงทุนเพื่อเข้าใจและปกป้องทะเลให้มากกว่านี้ รู้จักกระแสน้ำ คลื่นลม รู้พื้นที่สุ่มเสี่ยง หาทางปรับปรุงการเฝ้าระวัง เตือนภัยล่วงหน้า เรื่อยไปจนถึงการรับมือแก้ไขที่ปลายเหตุ เช่น การช่วยชีวิตสัตว์หายาก มันจึงไม่ใช่แค่ความสงสาร มันเป็นมากกว่านั้นเพราะเรายังสามารถทำอะไรให้ดีขึ้นได้ แต่ ณ ตอนนี้ คงได้แต่ขอบคุณและให้กำลังใจคุณหมอและทุกคนผู้เกี่ยวข้องต่อไปการกรอกน้ำมันดินใส่ปาก เป็นบทลงโทษที่มีอยู่ในนรก สำหรับผู้ที่ทำบาปแสนสาหัสเจ้าเต่าน้อยทำบาปอันใด”

‘อ.ธรณ์’ ฝากรัฐบาลใหม่ใส่ใจท้องทะเลไทย 7 เรื่อง หวังทำผลงานเกรด A ให้เป็นที่ประจักษ์ในเวทีโลก

(4 ก.ย. 66) ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊ก ฝากถึงรัฐบาลใหม่ ในประเด็นการทำงานกับทะเลไทย โดยมีเนื้อหาต่อไปนี้

รัฐบาลใหม่เข้าทำงาน จึงขอเสนอ 7 ประเด็นใหญ่ในทะเลไทยให้เพื่อนธรณ์ลองคิดตาม

หนึ่ง คือปะการังฟอกขาวที่อาจแรงในต้นปีหน้า ต้องเร่งเตรียมพร้อมสำรวจติดตามและออกมาตรการให้ทันท่วงที รวมถึงมีทางเลือกหากจำเป็นต้องปิดท่องเที่ยวในแนวปะการังบางแห่งที่ฟอกขาวรุนแรง

สอง คือปรากฏการณ์น้ำเปลี่ยนสี (น้ำเขียว) ถี่ขึ้นเรื่อย ๆ ส่งผลกระทบต่อพี่น้องชายฝั่งทะเล เราต้องหายกระดับการเก็บข้อมูลเพื่อการเตือนภัย รวมถึงหาแนวทางในการแก้ต้นเหตุที่เกิดจากมนุษย์

สาม คือการส่งเสริมสนับสนุนระบบนิเวศทางทะเลเพื่อดูดซับ/กักเก็บคาร์บอน เป็นประเด็นใหม่และละเอียดอ่อน ต้องทำความเข้าใจให้ดีและมีมาตรฐานที่ยอมรับได้ รวมถึงกระจายการมีส่วนร่วมไปหาชุมชนให้มากที่สุด

สี่ คือการใช้เทคโนโลยีและแนวทางใหม่ ๆ ในการสำรวจติดตาม ลาดตระเวนปกป้องธรรมชาติ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดค่าใช้จ่ายในด้านต่าง ๆ เช่น Smart Patrol ทั้งในทะเลและบนบก

ห้า คือความหลากหลายทางชีวภาพ โดยเฉพาะสัตว์ทะเลหายาก เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับกฎกติกาของโลกในการส่งออกสินค้าประมง อีกทั้งยังเกี่ยวกับการกู้เงินเพื่อการพัฒนาต่าง ๆ เช่น โลมา/สะพานทะเลสาบสงขลา

หก คือการสนับสนุนอันดามันมรดกโลก ติดค้างมาเกือบ 20 ปี ตอนนี้ต้นเรื่องเข้าไปที่ยูเนสโกแล้ว รอแค่เขามาเช็ค เราเตรียมพร้อมแค่ไหน

นี่จะเป็นจุดพลิกผันที่สำคัญ และจะเกี่ยวข้องตรง ๆ กับการท่องเที่ยวที่รัฐบาลตั้งเป้าจะยกระดับเพื่อหารายได้เข้าประเทศ

เจ็ด คือโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ต่าง ๆ ที่เราคิดจะลงทุน ผลกระทบจะมีมากไหม ? คุ้มค่าหรือเปล่า ? เป็นเรื่องที่ต้องมีข้อมูลเพียงพอและใช้เหตุผลในการตัดสินใจ

ยังมีอื่น ๆ อีกมากมาย แต่ขอเน้นย้ำไว้แค่ 7 เรื่องใหญ่ไว้ก่อน

2 ผลงานที่ชี้วัดในระยะ 3-6 เดือนคือบทบาทของไทยในการประชุมโลกร้อน COP28 ธันวาคมปีนี้ และการรับมือเอลนีโญที่มาแล้วและจะแรงขึ้นไปจนถึงสิ้นปี/ปีหน้า

ผมไม่ทราบว่าเขาตัดเกรดกระทรวงกันตรงไหน ? แต่ถ้าวัดจากประเด็นที่ทั่วโลกพูดกันในตอนนี้ นี่คือกระทรวงเกรด A แน่นอน

จึงอยากเป็นกำลังใจให้ทุกท่านที่เข้ามารับงานดูแลทรัพยากร/สิ่งแวดล้อมของประเทศชาติ เพื่อทำผลงานเกรด A ครับ

‘ดร.ธรณ์’ ห่วง!! อากาศเลวร้าย ทำ ‘ทะเลเดือด’ รับ!! แก้ตอนนี้ไม่ทันแล้ว สะสมมานานเกินไป

(22 เม.ย.67) ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊กว่า…

สวัสดีวัน Earth day ด้วยความร้อน 43 องศา ทะเลร้อนเกิน 32 องศาตั้งแต่ 7 โมงเช้า ไม่รักโลกตอนนี้ ก็ไม่มีเวลาเหลือให้รักแล้วครับ

โดยก่อนหน้านี้ ผศ.ดร.ธรณ์ ได้ให้สัมภาษณ์ เอาไว้ว่า เวลานี้ หลายสิ่งอย่างในธรรมชาติ โดยเฉพาะในท้องทะเลเริ่มมีอาการผิดปกติ เรียกว่าทะเลเดือดก็ไม่ผิด เพราะตอนนี้อุณหภูมิในอ่าวไทย สูงถึง 32 องศาเซลเซียสกว่า ๆ อาจจะถึง 32.5 องศาเซลเซียส สูงกว่าปีที่แล้ว ประมาณ 1.5 องศาเซลเซียส ซึ่ง 1.5 องศาที่เพิ่มขึ้นมานั้น ถือว่าสูงมาก เน้นว่าสูงมาก ๆ เพราะแม้กระทั่งช่วงเวลาตี 1 ถึงตี 3 ซึ่งปกติช่วงเวลานี้อุณหภูมิของน้ำทะเลจะลดลงแล้ว แต่เวลานี้ ตี 3 อุณหภูมิยัง 32 องศาเซลเซียสอยู่เลย ทั้งที่ช่วงเวลาเดียวกันนี้ของปีที่ผ่าน ๆ มา อุณหภูมิจะอยู่ที่ 30 องศาเซลเซียสเท่านั้น ถือว่าผิดปกติมาก ๆ

“ซึ่งการที่อุณหภูมิของน้ำทะเลสูงขึ้นมามากขนาดนี้ จะมีผลปรากฏการณ์อื่น ๆ ตามมาอีกหลายอย่าง เช่น ปรากฏการณ์แพลงตอนบลูม น้ำทะเลสีเขียว โดยเมื่อ 2-3 วันที่ผ่านมา ที่ จ.ตรัง ก็เกิดปรากฏการณ์แพลงตอนบลูมนี้ โดยเมื่อมีแพลงตอนเยอะเมื่อไหร่ ก็จะมีแมงกะพรุนเข้ามากิน เพราะแมงกะพรุนนั้นกินแพลงตอนเป็นอาหาร อีกทั้งเมื่อน้ำร้อน ปลาทะเลก็จะว่ายหนีน้ำร้อนไปออกทะเลลึก หรือส่วนที่มีน้ำเย็นกว่า ผลก็คือ ชาวประมงจับปลาไม่ได้ หรือต้องออกเรือไปไกล ๆ กว่าเดิมเพื่อให้ได้ปลามา” ผศ.ดร.ธรณ์ กล่าว

ผศ.ดร.ธรณ์ กล่าวว่า ที่สำคัญคือ หากอุณหภูมิของน้ำทะเลยังสูงต่อไปเรื่อย ๆ แบบนี้อีก 2-3 สัปดาห์จะเกิดปัญหาปะการังฟอกขาวอย่างแน่นอน ซึ่งตอนนี้ได้รับรายงานว่า บางแห่งเริ่มมีความซีดเล็ก ๆ แล้ว

เมื่อถามว่า เรามีวิธีแก้ปัญหาทะเลเดือด ทะเลร้อนไหม ผศ.ดร.ธรณ์กล่าวว่า แก้ตอนนี้ไม่ได้แล้ว ไม่มีวิธีแก้ เพราะมันสะสมมานานเกินไป ต่อให้นักวิทยาศาสตร์ 10 รางวัลโนเบลล์ก็ไม่มีใครแก้ได้ แต่ก็ชะลอไม่ให้เกิดไปมากกว่านี้ได้ นั่นคือ ลดปริมาณการสะสมของก๊าซเรือนกระจก และต้องปรับตัวเอง เช่น ถ้าเป็นชาวประมงก็ให้ไปประกอบอาชีพอื่น เพราะน้ำทะเลร้อนอย่างนี้ ทำการประมงไม่รุ่งแน่นอน

“อย่างไรก็ตาม เวลานี้ ทางกรมทะเล กับทางคณะประมง ก็กำลังช่วยกันแก้ปัญหาเรื่องปะการังฟอกขาวโดยเก็บพ่อแม่พันธุ์ไว้ให้มากที่สุด เอาไปปลูกในพื้นที่ที่เย็นกว่าที่เกิด รวมทั้งหาดีเอ็นเอของปะการังที่ทนร้อนมาขยายพันธุ์ปลูกเพิ่มด้วย เรื่องอื่น ๆ ต้องทำใจกันเอาเอง” ผศ.ดร.ธรณ์ กล่าว

โดยในวันที่ 22 เมษายน ซึ่งตรงกับวันคุ้มครองโลก หรือ Earth Day ซึ่งถือกำเนิดขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ 22 เมษายน พ.ศ.2513 ก่อตั้งขึ้นโดยโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งองค์การสหประชาชาติ United Nations Environment Program (UNEP) โดยผู้ที่ริเริ่มแนวคิดนี้เป็นคนแรกคือ เกย์ลอร์ด เนลสัน สมาชิกวุฒิสภาของสหรัฐอเมริกา

จุดเริ่มต้นนั้นมาจากในปี พ.ศ.2505 เนลสันได้ขอให้ประธานาธิบดีจอห์น เอฟ. เคนเนดี้ หยิบยกเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งประธานาธิบดีเห็นด้วยและได้ออกทัวร์ทั่วประเทศเป็นเวลา 5 วัน 11 รัฐในช่วงเดือนกันยายน พ.ศ.2506 ต่อมาเนลสันได้ผลักดันให้มีการชุมนุม แสดงความคิดเห็นเรื่องสิ่งแวดล้อมในระดับประชาชนทั่วประเทศ ทำให้เกิดเป็นกระแสตื่นตัวเรื่องการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไปทั่วสหรัฐอเมริกา จากนั้นในวันที่ 22 เมษายน ประชาชนชาวอเมริกันกว่า 20 ล้านคน ได้พร้อมใจกันชุมนุม เพื่อประท้วงการเพิ่มขึ้นของมลภาวะ และการทำลายทรัพยากรธรรมชาติบนพื้นโลก

ซึ่งผลจากการชุมนุมก่อให้เกิดการออกพระราชบัญญัติแก้ไขมลพิษในอากาศของสหรัฐอเมริกา และมีการจัดตั้งสำนักงานป้องกันสิ่งแวดล้อมแห่งชาติขึ้น จนในที่สุดกำหนดให้วันที่ 22 เมษายนของทุกปีเป็น ‘วันคุ้มครองโลก’ (Earth Day)

‘ดร.ธรณ์’ เปิดภาพ ‘ปะการังไทย’ ยุคโลกร้อนทะเลเดือด เศร้าใจ!! ภัยทางธรรมชาติทำลายความสวยงามท้องทะเลไทย

(29 เม.ย. 67) ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศน์ทางทะเล และรองคณบดี คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  โพสต์เฟซบุ๊ก ‘Thon Thamrongnawasawat’ ระบุว่า นี่คือปะการังไทยในยุคทะเลเดือด เป็นปะการังหน้าตาประหลาด ทำงานในทะเลมาเกือบ 40 ปี ผมไม่เคยเห็นแบบนี้มาก่อน จนมาถึงยุคนี้แหละ

เดิมทีเป็นปะการังก้อนสีสันงดงาม เป็นที่อยู่ของกุ้งน้อยปูเล็ก หอยมือเสือและดอกไม้ทะเล ยังมีปลาพ่อปลาแม่และปลาน้อย อาศัยปะการังเป็นบ้าน เป็นที่คุ้มภัย

เมื่อ 5-6 ปีก่อน ผลของโลกร้อนเริ่มรุนแรง น้ำทะเลอุณหภูมิสูงขึ้น น้ำลดต่ำผิดปรกติ แดดแรง ปะการังเริ่มฟอกขาว

แต่พวกเธอพยายามสู้ ฟื้นขึ้นมาได้ แต่บนหัวเริ่มตายเพราะโดนแดดเต็ม ๆ ที่พอมีชีวิตคือด้านข้าง หากเป็นทะเลภาวะปรกติ ฟอกขาวหนหนึ่งแล้วหายไป 7-8 ปี ปะการังด้านข้างจะลามขึ้นมาบนหัว ทำให้ทั้งก้อนกลับมามีชีวิต

แล้วทะเล 5-6 ปีที่ผ่านมาปรกติไหม?

คำตอบคือไม่ น้ำร้อนแทบทุกปี ปะการังฟอกขาวเป็นประจำ มากบ้างน้อยบ้าง แต่พวกเธออ่อนแอลง แทนที่ปะการังด้านข้างจะลามขึ้นมาด้านบน กลับกลายเป็นหดหายเสียพื้นที่ลงไปเรื่อย ๆ จนค่อนก้อนกลายเป็นปะการังตาย ปะการังจิ๋วที่เพิ่งลงเกาะใหม่ เธอยังพยายามสู้ เติบโตเป็นปะการังก้อนน้อยบนซากของรุ่นก่อน แล้วก็มาถึงช่วงนี้ น้ำร้อนจี๋ 32-34 องศาติดต่อกันมา 3-4 สัปดาห์ปะการังที่เหลือเพียงน้อยนิดฟอกจนขาวจั๊วะ โอกาสรอดแทบไม่มี เพราะน้ำยังไม่มีท่าทีว่าจะเย็นลง ฝนยังไม่มา ปะการังก้อนน้อยที่อยู่บนหัว สู้มาหลายปี มาบัดนี้เธอก็ฟอกขาวเช่นกัน

จุดจบปะการังก้อนนี้คือตายทั้งก้อน ก้อนเก่าและก้อนใหม่ ไม่มีกุ้งน้อย ไม่มีปูเล็ก ไม่มีปลาพ่อแม่ลูก ไม่มีชีวิตสุขสันต์ใต้ทะเลไทย ไม่มีความสวยให้คนมาดู ไม่มีบ้านสร้างความอุดมสมบูรณ์ให้ท้องทะเลอีกต่อไป

ตายๆๆ ไม่ใช่ก้อนเดียว แต่เป็นพันก้อน หมื่นก้อน แสนก้อน ล้านก้อน ตำนานหลายล้านปีของระบบนิเวศยิ่งใหญ่ที่สุดในท้องทะเล สวยและหลากหลายที่สุดในโลก มาถึงบทอวสาน ภาพนี้เพื่อนธรณ์ส่งมาจากชุมพร วันนี้ แต่ยังมีอีกหลายที่ ชลบุรี ระยอง เรื่อยไปจนถึงตราด หรือเลยลงไปทางใต้ สมุย พะงัน เราพบปะการังประหลาดได้ทั่วไป

ปะการังที่ร่อแร่ใกล้ตาย มาถึงจุดสุดท้ายในปีที่ทะเลเดือดสุด ตายทั้งก้อน ไม่มีโอกาสฟื้นคืนกลับมา ที่แค้นสุดคือเราได้แค่มองดูเธอตาย ไม่มีทางช่วย ไม่มีหนทางอื่นใด มันคือโลกร้อนทะเลเดือด มันคือภัยพิบัติครั้งใหญ่สุดของท้องทะเล และมันจะแรงยิ่งขึ้น ๆ ในอนาคต นักวิทยาศาสตร์ประเมินว่าปะการังในโลกจะพินาศเกือบหมดสิ้นในอีก 30 ปีข้างหน้า แต่ทะเลไทยอาจไม่นานขนาดนั้น โดยเฉพาะในอ่าวไทย แค่นี้ก็ตายไปเยอะแล้ว และจะยิ่งตายเยอะ ตราบใดที่อุณหภูมิน้ำยังไม่ลดลง

ตายๆๆ จนหมดท้องทะเล

อ่านถึงประโยคนี้ ผมรู้ดีว่าเพื่อนธรณ์เศร้า แถมเป็นความเศร้าที่แทบไร้หวัง แต่พรุ่งนี้ยังมี แล้วเราจะเบือนหน้าหนีเธอไหม ?

ไม่ต้องโทษคนอื่น ไม่ต้องเหลียวมองคนข้าง ๆ ว่าจะทำหรือไม่ ? ก็แค่ถามใจตัวเอง เราจะทำเช่นไร ? ก็แค่ถามใจตัวเอง…

หมายเหตุ - ทำอย่างไรเพื่อลดก๊าซเรือนกระจก ทุกท่านทราบดี ลดขยะ ลดน้ำทิ้ง ไม่กินฉลาม ปลานกแก้ว สัตว์หายาก ไม่ให้อาหารปลา เก็บขยะ ฯลฯ เป็นเรื่องที่พวกเรารู้ดีอยู่แล้ว สนับสนุนผู้ประกอบการที่ดี ไม่สนับสนุนคนที่เอาเปรียบธรรมชาติ ช่วยคนที่พยายามสู้เพื่อรักษาป่าไม้ ทะเล และโลก ก็แค่ทำต่อไปและทำให้มากขึ้น มากๆๆ

‘ดร.ธรณ์’ เผยภาพ ‘นักท่องเที่ยวเหยียบถูกปะการัง’ ชี้!! ‘พวกเธอ’ กำลังอ่อนแอ-ฟอกขาว ควรช่วยกันระวัง

(4 พ.ค.67) ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศน์ทางทะเล และรองคณบดี คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์ภาพพร้อมข้อความผ่านทางเฟซบุ๊กระบุว่า ทราบดีว่าไม่มีใครอยากเหยียบปะการัง แต่คงต้องฝากช่วยดูแลกันให้มาก ตอนนี้พวกเธออ่อนแอสุดๆ ลำพังแค่ฟอกขาวก็แย่มากแล้วครับ

คงต้องฝากกรมทะเลพูดคุยกับผู้คนในพื้นที่และนักท่องเที่ยว มิฉะนั้น ผลกระทบจากการท่องเที่ยวในช่วงปะการังฟอกขาว อาจทำให้เราต้องปิดพื้นที่ จะส่งผลต่อทุกคน

ผมถ่ายภาพนี้ด้วยตัวเอง เป็นภาพจากเกาะกูด ปะการังแถวนั้นกำลังฟอกขาวเยอะเลย

ยังรวมถึงทุกแห่งในทะเลไทยที่ปะการังฟอกขาวไปทั่ว ที่ไหนมีคนไปเที่ยว รบกวนระมัดระวังให้ถึงที่สุด

เหยียบ/โดนปะการัง ทิ้งสมอ ทิ้งขยะ น้ำเสีย คราบน้ำมัน กินปลานกแก้ว ฉลาม ฯลฯ พวกนี้ทำร้ายทะเลยามเธออ่อนแอทั้งนั้น

ทุกคนช่วยทะเลได้เสมอ ช่วยๆ กันนะครับ

‘ดร.ธรณ์’ สวนกระแสแสงเหนือ แชร์ภาพหาดูยาก ‘ทะเลขึ้นรา’ ชี้!! ผลจากก๊าซเรือนกระจก-น้ำทะเลร้อน ทำปะการังฟอกขาว

(13 พ.ค. 67) ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์รูปภาพพร้อมข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ‘Thon Thamrongnawasawat’ ระบุว่า…

“ภาพแสงเหนือขึ้นเต็มฟีด ขอผมลงบ้าง นี่คือภาพหาดูยากยิ่ง ‘ทะเลขึ้นรา’ จะเกิดเมื่อก๊าซเรือนกระจกสะสมอยู่เต็มฟ้า อุณหภูมิโลกสูงทะลุขีดจำกัด น้ำทะเลร้อนเกินเส้นวิกฤต ปะการังฟอกขาวเห็นชัดแม้บินสูงเท่านก ก่อเกิดเป็นปรากฏการณ์ทะเลขึ้นรา จากนั้นทุกอย่างก็ตายหมดสิ้น โลกลุกเป็นไฟ ตายหมดท้องทะเล”


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top