Thursday, 24 April 2025
ธรณ์_ธำรงนาวาสวัสดิ์

‘ดร.ธรณ์’ แชร์ภาพ ‘เกาะร้องไห้’ ห้อมล้อมด้วยปะการังฟอกขาว หายนะจาก ‘ทะเลเดือด’ ที่ขยายวงกว้างสู่ ‘อ่าวไทย-อันดามัน’

(27 พ.ค.67) ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า…

“วันนี้จะแนะนำ #เกาะร้องไห้ ให้เพื่อนธรณ์รู้จัก ไม่ใช่เกาะร้องไห้เองได้ แต่เป็นเกาะที่ใครเห็นก็อยากร้องไห้ เพราะรอบเกาะเต็มไปด้วยความตายสีขาว

ขาวตั้งแต่ที่ตื้น น้ำลึกแค่เอว เรื่อยไปจนถึงน้ำมิดหัว ลงไปลึก 3-4 วา ก็ยังเห็นเป็นสีขาว นั่นคือสีของปะการังที่กำลังตายในยุคทะเลเดือด ปะการังแทบทุกชนิด แทบทุกก้อนที่ดำน้ำดู ตอนนี้เป็นสีขาว มีบ้างที่ไม่ขาวแล้ว กลายเป็นสีน้ำตาลคล้ำหรือสีเขียวขุ่น ไม่ใช่เธอฟื้น แต่เธอตายสนิท จนสาหร่ายเกาะหรือตะกอนทับถม การสำรวจเกาะร้องไห้ นักวิทยาศาสตร์ต้องกล้าพอเจอกับความตายถี่ ๆ ๆ

ลองมองดูภาพอีกที ขนาดจากฟ้ายังขาวเพียงนี้ ในน้ำจะแค่ไหน NOAA คาดการณ์ว่า ตั้งแต่วันนี้ต่อไปอีก 3-4 สัปดาห์ จะเป็นช่วงปะการังฟอกขาวโหดสุดของทะเลไทย หากเทียบกับ 8 ปีก่อน ในบางพื้นที่ หนนี้โหดกว่า เกาะร้องไห้แบบนี้ไม่ได้มีแห่งเดียว แต่มีเพียบเลย ภาคตะวันออก เรื่อยไปถึงชุมพร สุราษฎร์ธานี ยาวไปถึงสงขลา เกาะที่อยู่ใกล้ฝั่งเกือบทั้งหมดกำลังร้องไห้ ข้ามไปอันดามัน ตรัง กระบี่ สตูล หลายเกาะชายฝั่งเจอฟอกขาวรุนแรง และอาจมีแรงกว่าติดตามมา ช่วงนี้ผมอยู่กับแนน ผู้เชี่ยวชาญปะการังฟอกขาวของกรมทะเล และผู้จัดทำแพลตฟอร์มของไทย เราเพิ่งขึ้นจากน้ำ เรามองหน้ากัน เราก็แค่กลั้นน้ำตาและพยายามต่อไป

โลกร้อนเพราะมนุษย์ เพราะก๊าซเรือนกระจกจริงหรือไม่ ?

ผมตอบคำถามนี้มากว่า 30 ปีแล้ว ผมไม่ตอบแล้ว ใครอยากเชื่ออย่างไรก็ตามสบาย แต่ผมตอบได้ว่า ตั้งแต่ทำงานมา ผมไม่เคยเห็นเกาะแล้วอยากร้องไห้เหมือนที่เห็นในวันนี้ และคงไม่มีวันหน้าที่ผมอยากจะร้องไห้หนักกว่านี้ เพราะวันหน้า พวกเธอคงตายหมดแล้ว ไม่ต้องร้องแล้ว…ใช่ไหมธรณ์

'ดร.ธรณ์' หวั่น!! ผลกระทบ 'ปลาหมอคางดำ' กระจายสู่แหล่งน้ำอื่น ยิ่งแพร่ยิ่งเกินควบคุม

(12 ก.ค.67) ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศน์ทางทะเล และรองคณบดี คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊กโดยระบุว่า…

ในกรณีที่ปลาหมอคางดำลงทะเล ระบบนิเวศที่จะได้รับผลกระทบคือหาดทราย หาดเลน ป่าชายเลน และแหล่งหญ้าทะเล ปลาหมอคางดำเป็นปลาที่อยู่ในน้ำกร่อยได้ สัตว์น้ำในพื้นที่ชายฝั่งจึงถูกคุกคาม

หาดทราย/หาดเลนบางแห่งอยู่ในเขตน้ำกร่อย โดยเฉพาะพื้นที่ใกล้ปากแม่น้ำลำคลอง ความเค็มต่ำ ปลาหมออยู่ได้

บริเวณนี้เป็นที่อยู่ของสัตว์ขนาดเล็กที่อาจตกเป็นอาหารปลา ทำให้สัตว์น้ำลดลง ชาวบ้านทำมาหากินริมทะเล เช่น เก็บสัตว์น้ำ ทอดแห วางอวนทับตลิ่ง ฯลฯ ได้รับผลกระทบ

ตัวอย่างง่าย ๆ คือปลากระบอกเริ่มหายไป ทอดแหวางอวนดันได้ปลาหมอมาแทน ป่าชายเลนและแหล่งหญ้าทะเลบางแห่งอยู่ตามชายฝั่ง ในเขตน้ำกร่อย เจอผลกระทบเช่นกัน

ระบบนิเวศทั้งสองแบบเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อน ซึ่งปลาหมอคางดำจะกินสัตว์เหล่านั้น ผลกระทบจึงไม่เกิดเฉพาะพื้นที่ แต่จะส่งผลถึงทะเลข้างนอก ทำให้ความหลากหลายทางชีวภาพลดลง ในกรณีของแนวปะการัง อยู่ห่างชายฝั่ง น้ำเค็มมากหน่อย คิดว่าปลาหมอคงไปไม่ถึง แต่ยังมีหย่อมปะการังริมฝั่งที่อาจได้รับผลบ้าง ต้องติดตามดู

เมื่อดูจากแผนที่ ผลกระทบตอนนี้อยู่ในอ่าวไทยตอนใน กำลังขยายตัวไปทางภาคตะวันออก ชายหาด ป่าชายเลน และแหล่งหญ้าทะเลริมฝั่งในจังหวัดระยอง เช่น ปากน้ำ บ้านเพ เรื่อยไปจนถึงจันทบุรีและตราด เป็นพื้นที่เสี่ยงลำดับต่อไป ยังรวมถึงหย่อมการแพร่กระจายอื่นๆ เช่น ภาคใต้

ปัญหาสำคัญคือการจับปลาหมอในทะเลลำบากกว่าในบ่อหรือในคลอง หากแพร่ระบาดออกไปจะยากต่อการควบคุม คิดว่าปลาหมอจะขยายพื้นที่ไปตามปากแม่น้ำลำคลอง ชายฝั่งรอบๆ แต่จะไม่ออกไปตามเกาะเล็กเกาะน้อย (ยกเว้นเกาะขนาดใหญ่ที่มีลำคลอง) ไม่คิดว่าปลาหมอจะว่ายตัดทะเลไปเกาะใหญ่ๆ ได้ด้วยตัวเอง แต่ถ้าติดไปแล้วลงสู่แหล่งน้ำบนเกาะ จะแพร่พันธุ์รอบเกาะได้

การควบคุมให้ปลาหมอไปไม่ถึงเกาะต่างๆ จึงสำคัญอย่างมาก ต้องช่วยกันระวังอย่าให้คนพาไป (ไม่ตั้งใจก็ต้องระวัง)

สถานการณ์ตอนนี้คงต้องเริ่มจากติดตามว่าปลาหมอกลุ่มที่อยู่ตามชายฝั่งมีที่ไหนบ้าง มีมากมีน้อย แนวโน้มเป็นอย่างไร หาทางป้องกัน/กำจัดอย่างไร

เรายังต้องการข้อมูลเป็นอย่างมาก เนื่องจากเราแทบไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับปลาหมอคางดำในทะเล
เพราะเป็นปลาเอเลี่ยน เราจึงไม่รู้การปรับตัว พฤติกรรมในทะเล อาหาร ผลกระทบ ฯลฯ

ในทะเลไทยไม่เคยมีเอเลี่ยนจริงจังมาก่อน เมื่อมีความเสี่ยงในเรื่องนี้ เราต้องรีบหาทางรับมือ หากเจอต้องช่วยกันรายงาน ปลาน้อยจับง่าย ปลาเยอะจับไม่หวาดไม่ไหว โดยเฉพาะตามเกาะใหญ่ ๆ ที่มีแหล่งน้ำจืดไหลลงทะเล เช่น เกาะช้าง เกาะหมาก เกาะกูด เกาะสมุย พะงัน ฯลฯ เราต้องจัดการปัญหาตั้งแต่ต้น

หากเจอรีบแจ้งเลยครับ

'อ.ธรณ์' เผย!! อุณหภูมิน้ำทะเลกลับสู่ภาวะปกติ สิ้นสุดปะการังฟอกขาว แนะ!! ต่อจากนี้คือการประเมินความเสียหายและวางแผนรับมือ

(17 ก.ค.67) มีรายงานว่า ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิทยาศาสตร์ทางทะเลและอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์ผ่านแฟนเพจ Thon Thamrongnawasawat โดยระบุว่า…

อุณหภูมิน้ำทะเลกลับสู่ภาวะปกติ สิ้นสุดปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาว 🥳 ต่อจากนี้คือการประเมินความเสียหายและวางแผนรับมือสำหรับคราวหน้า

หากเพื่อนธรณ์ดูกราฟอุณหภูมิน้ำทะเลทั้ง 2 ฝั่ง จะเห็นว่าตอนนี้ลดต่ำลงมาเท่ากับปี 23 และอยู่ต่ำกว่าเส้นวิกฤตปะการังฟอกขาว

หมายถึงเราผ่านทะเลเดือดมาแล้ว ปะการังที่ฟอกขาวอยู่ตอนนี้ อีกไม่นานคงจะฟื้น แต่ย่อมมีปะการังตายจากการฟอกขาว จะเยอะจะน้อย ต้องรอการประเมินอีกครั้ง แต่ละที่ไม่เท่ากัน

เมื่อประเมินเสร็จ เราจะรู้ว่าตรงไหนหนักสุด การอนุรักษ์ฟื้นฟูแต่ละพื้นที่ควรเป็นอย่างไร นั่นเป็นอีกงานหนัก แต่จำเป็นมาก เพราะเราจะได้รู้ว่าการตายกับการฟอกขาวสัมพันธ์กันไหม ? 

จุดที่ฟอกขาวเยอะคือตายเยอะหรือเปล่า อาจมีปัจจัยอื่น ๆ มาทำให้ฟอกเยอะแต่ตายน้อย หรือฟอกน้อยแต่ % ตายสูง ฯลฯ

ยังรวมถึงความทนทานของปะการัง (resilience) สัมพันธ์กับการฟอกขาวหรืออัตรารอด/ตายหรือไม่ เพราะเรื่องนั้นจะเกี่ยวโดยตรงกับแผนอนุรักษ์ในอนาคต

อีกอย่างที่ต้องตามดูคือความเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศหลังจากนี้ แนวปะการังจะโทรมลงไหม จะมีอะไรเข้ามาแทน การฟื้นคืนของปะการังจะใช้เวลากี่เดือนกี่ปี ฯลฯ

ทั้งหมดที่เล่ามา จะเห็นเลยว่า เรามีงานยักษ์รออยู่ ปัญหาคือเราจะมีเงินทำไหม? เพราะตอนนี้อะไรก็เดือดร้อนไปหมด

ก็คงได้แต่บอกว่า ต้องพยายามให้ดีที่สุด เพราะทุกเรื่องที่ทำในวันนี้ หมายถึงความอยู่รอดของปะการังในวันหน้า เพราะทะเลเดือดจะกลับมาพร้อมกับเอลนีโญอีกครั้ง ในอนาคตอันใกล้ ตราบใดที่โลกยังร้อนขึ้นเช่นนี้ครับ 🌏

ข้อมูลน้ำ - กรมทะเล 🙏

'ดร.ธรณ์' โพสต์!! รอให้ทางการวิเคราะห์และพยากรณ์มาก่อน หลังข่าวว่อนเตือน อีก 5 วัน พายุใหญ่ ซัดกทม.ท่วมหนักกว่า ปี 54

จากกรณี ผู้ใช้เฟซบุ๊ก 'เดชา นฤนารท' ได้ออกมาโพสต์ข้อความเตือน ระบุว่า อีก 5 วันจะเกิดพายุไต้ฝุ่นขนาดใหญ่ ถล่มไต้หวันแบบชนิดที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และรุนแรงมาก แรงกว่าพายุยางิถึงสองเท่า และหากพายุลูกนี้เคลื่อนตัวเข้าเวียดนามและเข้าประเทศไทยทางฝั่งภาคเหนือตอนบน อาจจะลุกลามมาถึง กรุงเทพฯ จนอาจเกิดน้ำท่วมหนักกว่าปี 54 ถึงสองเท่านั้น

ล่าสุด (26 ก.ย.67) ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ‘Thon Thamrongnawasawat’ ระบุว่า...

"หลายท่านสอบถามมา ขออธิบายว่า พายุยังไม่ได้เกิดเลย เกิดแล้วแรงแค่ไหนก็ไม่รู้ ไปทิศทางไหนก็ยังบอกไม่ได้ รอให้หน่วยงานเป็นทางการวิเคราะห์และพยากรณ์มาก่อน ค่อยมาพูดคุยกันนะครับ ยุคโลกเดือดสภาพภูมิอากาศแปรปรวน ต้องใจเย็นและรับฟังข่าวสารให้ดีครับ"

'ดร.ธรณ์' ชี้ คนอเมริกานับล้านเตรียมอพยพหนี ก่อนพายุเฮอริเคน 'มินตัน' ถล่มฝั่งฟลอริดาพรุ่งนี้

(10 ต.ค.67) ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า คนอเมริกานับล้านอพยพหนีมหาพายุแห่งศตวรรษ เฮอริเคน Milton ที่จะเข้าฝั่งฟลอริดาพรุ่งนี้ ด้วยความเร็วลมกว่า 250 กม./ชม.

ขนาดพายุใหญ่มากครับ คลุมทั้งรัฐฟลอริดาและพื้นที่ใกล้เคียง คาดว่าจะมีคนอยู่ในแนวพายุโดยตรง 5.5 ล้านคน นี่จึงเป็นการอพยพครั้งประวัติศาสตร์ของฟลอริดา พื้นที่โดนแรงคือ tampa และชายฝั่งแถบนั้นทั้งหมด

Get Out! เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบประกาศดังลั่น นี่คือนาทีท้าย ๆ ที่ทุกคนต้องหนีตาย

ผู้คนให้ความร่วมมือ ถนนเต็มไปด้วยรถหนีออกจากพื้นที่เสี่ยง เพราะ Helene ทำให้คนอเมริการู้แล้วว่า พายุโลกร้อนไม่ใช่อย่างที่คิด มันยิ่งกว่านั้นมากๆๆ

คาดว่าจะเกิด storm surge รุนแรง มีคลื่นสูง 5 เมตรตามชายฝั่ง พื้นที่ลุ่มตามชายทะเลจะได้รับผลกระทบจากน้ำทะเลทะลักเข้ามา บวกกับฝนที่ตกหนัก อาจเกิดน้ำท่วมฉับพลันอย่างรุนแรง

เฮอริเคนยังอาจทำให้เกิดอากาศปั่นป่วนในแผ่นดิน เกิดทอร์นาโดขึ้นซ้ำเติม ตอนนี้กำลังเฝ้าระวังกันอยู่ โลกร้อนหนัก สภาพภูมิอากาศสุดขีดขั้ว แม้แต่ประเทศมหาอำนาจก็ยังทำอะไรไม่ได้ นอกจากหนีให้เร็วที่สุด

หวังว่าผลของพายุจะไม่รุนแรง โดยเฉพาะบริเวณที่เพิ่งโดน Helene เมื่อปลายเดือนก่อนครับ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top