Sunday, 28 April 2024
ตราด

พบอีก ไอซ์ ลอยทะเลตราด

ล่าสุด ( 22 มี.ค. 2564 ) เวลา ประมาณ 19.00 น.  นายสมศักดิ์  จุฑาวงศ์กุล  นายอำเภอเกาะกูด พร้อมด้วย ปลัดอำเภอ เจ้าหน้าที่ อส อำเภอเกาะกูด ร่วมกับผู้กำกับ รองผู้กำกับ เจ้าหน้าที่ตำรวจ  สถานีตำรวจภูธรอำเภอเกาะกูด กำนัน และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ต.เกาะหมาก

เข้าตรวจยึดยาไอซ์ที่ลอยขึ้นมาติดที่ชายฝั่ง บ้านอ่าวโปง ตำบลเกาะหมาก อำเภอเกาะกูด เบื้องต้นตรวจสอบพบ ยาไอซ์จำนวนทั้งสิ้น 20 กิโลกรัม ทางฝ่ายปกครอง ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ได้ดำเนินการนำของกลางมาเก็บไว้ยังสถานีตำรวจภูธรอำเภอเกาะกูด เพื่อดำเนินการต่อไป

สำหรับพื้นที่ จ.ตราด ก่อนหน้าที่ผ่านมาหนึ่งอาทิตย์ ยาไอซ์ ลอยทะเลตราด ลอยเข้าหลายจุดด้วยกันไม่ว่าจะเป็นพื้นที่เกาะช้าง และพื้นที่เขตอำเภอเมือง ในพื้นที่ ต.แหลมกลัด ซึ่งเป็นเส้นทางที่ยาไอซ์ลอยทะเล ลอยเข้ามามากที่สุดของเขตอำเภอเมือง เมื่อช่วงต้นปี 63 ที่ผ่านมา สำหรับยาไอซ์ลอยทะเล ล็อตนี้ยังไม่สามารถคาดเดาว่าเป็นยาไอซ์ล็อตเดียวกับเมื่อปี 63 ที่ลอยทะเลหรือไม่ ซึ่งทางเจ้าหน้าที่สามารถตรวจยึดได้กว่า 700 กิโลกรัม ในปี 63 ที่ผ่านมา

จับ ‘โลมาปากขวด’ นน. 120 กก.ว่ายน้ำหลง ส่งคืนท้องทะเลหมู่เกาะช้าง

วันนี้ 25 มี.ค.64 ศรชล.จังหวัดตราด ได้รับการประสานจาก ศูนย์อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลจังหวัดตราดว่า ได้รับแจ้งจาก ชาวบ้าน อ.เขาสมิง ว่าพบโลมา ว่ายน้ำวนเวียนอยู่ บริเวณประตูน้ำเขาสมิง ต.ทุ่งนนทรี อ.เขาสมิง จ.ตราด คาดว่าน่าจะว่ายน้ำหลงเข้ามาจากปากแม่น้ำตราด ห่างจากปากแม่น้ำประมาณ 20 กม.

ทาง ศรชล.จังหวัดตราด ได้มอบหมายให้ ร.ท.ภวัต กิตติโสภา นกบ.ศรชล.จังหวัดตราด และ จ.อ.องอาจ สัมมา จนท.ธุรการ ศรชล.จังหวัดตราด เดินทางไปร่วมปฏิบัติการช่วยเหลือโลมาฯ ร่วมกับ หน่วยงานในพื้นที่ ประกอบด้วย จนท.จาก กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ประมงจังหวัด จนท.กู้ภัยในพื้นที่ และอาสาสมัครชาวบ้านในพื้นที่ อ.เขาสมิง พบว่าเป็นโลมา ปากขวด เพศผู้ ยาวประมาณ 2.5 เมตร หนักประมาณ 120 กก. คาดว่าว่ายน้ำหลงเข้ามาจากปากแม่น้ำตราด จึงได้ทำการล้อมจับด้วยอวนไว้

โดยทางแพทย์ ได้ประเมินแล้วว่า โลมา มีสภาพแข็งแรงดี จึงได้ลำเลียงไปที่ ฐานส่งกำลังบำรุงทหารเรือตราด อ.แหลมงอบ เพื่อลงเรือของอุทยานแห่งชาติเกาะช้าง ปล่อยกลับสู่ทะเล บริเวณท้องทะเลหมู่เกาะช้าง ต่อไป

ภาพ/ข่าว  นิราช / นันทพล ทิพย์ศรี

เกษตรอำเภอคลองใหญ่ จัดงาน “วันถ่ายทอดเทคโนโลยี (Field Day) เพื่อเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่” ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง

ตําบลคลองใหญ่ จัดการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรในทุกอําเภอทั่วประเทศ อําเภอละ 1 จุด พร้อมทั้งให้มีการจัดตั้งศูนย์เครือข่าย ศูนย์ละ 10 จุด ที่หมู่ที่ 9 ตำบลคลองใหญ่  อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด ซึ่งเป็นของ นายฐิติชัย ผลาเกษ เป็นสถานที่เรียนรู้มากมาย

นายผจงศักดิ์ วงษ์สง่า ประมงจังหวัดตราด เป็นประธานเปิดการจัดงาน “วันถ่ายทอดเทคโนโลยี (Field Day) เพื่อเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่” ตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ให้ทุกหน่วยงานในสังกัด เตรียมความพร้อมเกษตรกรเข้าสู่ฤดูกาลผลิต เพื่อกระตุ้นให้เกษตรกรเริ่มต้นการผลิต โดยใช้เทคโนโลยีและภูมิปัญญาที่เหมาะสมกับพื้นที่ในการวางแผนการผลิต การเข้าถึงปัจจัยการผลิตที่มีคุณภาพ การลดความเสี่ยงของผลผลิต การเชื่อมโยงเครือข่าย การบริหารจัดการระบบการผลิตตามแนวทางการส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ เพื่อให้เกษตรกรเข้มแข็ง พึ่งพาตนเองได้ โดยมีนายวีระศักดิ์ คงเปี้ยว ปลัดอําเภอคลองใหญ่ กล่าวให้การต้อนรับผู้เข้าร่วม พร้อมด้วยนายภูวพงศ์ ระวังชื่อ เกษตรอําเภอคลองใหญ่ กล่าวรายงาน

โดยมีวัตถุประสงค์

1. เพื่อกระตุ้นให้เกษตรกรเริ่มต้นการผลิตในปีการเพาะปลูกใหม่ โดยใช้เทคโนโลยีและภูมิปัญญา ที่มีความเหมาะสมกับพื้นที่

2. เพื่อให้เกิดการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และองค์ความรู้จากศูนย์ศึกษาการพัฒนาและโครงการพระราชดำริต่าง ๆ ให้เข้าถึงเกษตรกรและนำไปประยุกต์ใช้ได้กว้างขวางยิ่งขึ้น

3. เพื่อให้บริการและช่วยเหลือแก้ไขปัญหาการผลิตของเกษตรกร

4. เพื่อเผยแพร่ให้เกษตรกรรู้จักและใช้ประโยชน์จากศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรที่มีอยู่ในพื้นที่ ซึ่งกลุ่มเป้าหมายที่มาร่วมงานในวันนี้ ได้แก่ เกษตรกรจากอำเภอจังหวัดตราด และอําเภอคลองใหญ่จำนวน 10 กว่าราย

ดังนั้นในการจัดงาน “วันถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่ (Field Day)” ในปี 2564 จึงเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะทำให้เกษตรกรได้มาเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ ด้านการเกษตร เพื่อให้เกษตรกรได้ตัดสินใจนำเอาองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่การเกษตรของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สำหรับการถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีการเกษตรในวันนี้ ได้กำหนดให้มีฐานเรียนรู้ไว้ จำนวนกลายฐานเรียนรู้ ได้แก่ ฐานเรียนรู้เทคโนโลยีการเพิ่มผลผลิต โดยได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานต่าง ๆ ในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในการให้ความรู้  โดยจัดกิจกรรมในครั้งนี้ประกอบด้วยฐานต่าง ๆ เช่น การผลิตผักปลอดภัย การใช้ธาตุอาหารเสริม เชื้อรามหัศจรรย์ป้องกันโรคพืช สนับสนุนพันธ์ปลา การเลี้ยงชันโรงและแปรรูปผลิตภัณฑ์ชันโรง การผสมปุ๋ยใช้เองตามค่าวิเคราะห์ดิน การเลี้ยงกบ การทําบัญชีฟาร์ม และการตรวจสารเคมีในเลือดเป็นต้น จากหน่วยงาน ส่วนราชการต่าง ๆ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น บริษัทเอกชน ที่ได้สนับสนุนในการร่วมจัดนิทรรศการ และเจ้าหน้าที่ของส่วนราชการต่าง ๆ ในเขตอำเภอคลองใหญ่และจังหวัดตราดที่นำเกษตรกรเข้ารับการถ่ายทอดเทคโนโลยี ตามเป้าหมายของวัตถุประสงค์ที่วางไว้

ภาพ/ข่าว วิเชียร ม่วงสี (ผู้สื่อข่าวภูมิภาค จ.ตราด)

หมู่เรือฝึกนักเรียนนายเรือ ดำน้ำเก็บขยะใต้ทะเลหาดทรายขาว หลังผ่านฝึกอบรมหลักสูตรการดำน้ำ

เมื่อวันที่ 24 มี.ค.64 พลเรือตรี ประวุฒิ รอดมณี เสนาธิการโรงเรียนนายเรือ ปฏิบัติหน้าที่ผู้บังคับหมู่เรือฝึกนักเรียนนายเรือ (มฝ.นนร.) ได้นำข้าราชการ และนักเรียนนายเรือ ซึ่งได้ผ่านการฝึกอบรมหลักสูตร การดำน้ำเพื่อการอนุรักษ์ปะการังและสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลไทย ภายใต้มูลนิธิอนุรักษ์แนวปะการังและสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลไทย ในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทำกิจกรรมจิตอาสาเก็บขยะใต้ทะเล และชายฝั่ง บริเวณหาดทรายขาว เพื่อเป็นการรักษาสิ่งแวดล้อมทางทะเล ในโอกาสที่หมู่เรือฝึกนักเรียนนายเรือ แวะจอดเรือบริเวณเกาะช้าง อำเภอเกาะช้าง จังหวัดตราด 

ภาพ/ข่าว  สมนึก เชื้อสนุก

เสียชีวิตเพิ่ม โลมาอิรวดีเกยชายหาดบ้านเจ๊กลัก คลองใหญ่ จ.ตราด ยาวกว่า 2 เมตร

เมื่อเวลา 15.30 น.วันที่ 29 มี.ค. 64 นายเสาร์ พรมรอด ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 1 บ้านเจ๊กลัก ต.คลองใหญ่ อ.คลองใหญ่ จ.ตราด ได้รับแจ้งจาก นายสําลอง สุขเจริญ ลงวัย 72 ปีว่าพบซากโลมาตายเกยตื้นที่ชายหาดบ้านเจ๊กลัก หมู่ 1 ต.คลองใหญ่ อ.คลองใหญ่ จ.ตราด ขอให้มาตรวจสอบด้วย หลังรับแจ้งจึงแจ้งสมาคมสว่างบุญช่วยเหลือธรรมสถานตราดเขตอำเภอคลองใหญ่ รุดตรวจสอบ

ไปถึงที่เกิดเหตุชายหาดบ้านเจ๊กลักพบซากโลมาอิรวดีความยาว 2 เมตรเกยชายหาด อยู่ในสภาพเน่าเปื่อยส่งกลิ่นเหม็น จากการตรวจสอบพบว่าตายมาแล้วไม่ตํ่า 7 วัน เป็นโลมาเพศผู้ เจ้าหน้าที่จึงทําการผ่าพิสูจน์ไม่พบอาหารในกระเพาะและลําใส้ หลังจากนั้นจึงทำการตัดเก็บเนื้อเยื่อส่งพิสูจน์ที่ศูนย์วิจัยจังหวัดระยองเพื่อหาสาเหตุการตายต่อไป

นายสําลอง สุขเจริญ ลงวัย 72 ปี บอกว่ามาเดินเล่นชายหาดช่วงบ่ายที่ผ่านมา พบซากโลมาตัวดังกล่าวถูกคลื่นซัดมาเกยชยหาด จึงโทรศัพท์แจ้งนายเสาร์ พรหมรอด ผู้ใหญ่บ้านให้มาตรวจสอบดังกล่าว ซึ่งโลมาอยทะเลมาเกยชายหาดที่อำเภอคลองใหญ่หลายครั้งแล้ว บางครั้งไม่มีเจ้าหน้าที่มาตรวจสอบ ต้องปล่อยให้เน่าคาชายหาดก็มี เนื่องจากหน่วยงานที่จะช่วยเก็บซากโลมามีเพียงอาสาสมัครสมาคมสว่างบุญช่วยเหลือธรรมสถานตราดหน่วยงานเดียวเท่านั้น ที่ต้องทำหน้าที่เก็บเนื้อเยื่อ ส่งทางราชการ และทำการกลบฝังซากโลมาดังกล่าว


ภาพ/ข่าว  วิเชียร ม่วงสี  (ผู้สื่อข่าวภูมิภาค จ.ตราด)

ตราด - นักท่องเที่ยวยังแน่นเกาะช้าง - เกาะกูด แห่ดำน้ำดูปะการังหมู่เกาะทะเลตราด

วันที่ 15 เมษายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นักท่องเที่ยวยังแน่นตามเกาะแก่งต่าง ๆ ของจังหวัดตราด โดยเฉพาะเกาะช้าง / เกาะกูด และเกาะหมาก ที่เป็นแหล่งดำน้ำดูปะการังตามเกาะแก่งต่าง ๆ มีนักท่องเที่ยวแห่ลงเล่นน้ำคลายร้อน ดำน้ำตื้นดูความสวยงามของปะการังใต้ท้องทะเลตราดกันเป็นจำนวนมาก เนื่องจากช่วงเทศกาลสงกรานต์มีนักท่องเที่ยวจำนวนมากที่เลือกเดินทางมาจังหวัดตราด เพื่อชื่นชมความสวยงามของหมู่เกาะทะเลตราด และหนึ่งในกิจกรรมที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากคือ ดำน้ำตื้นดูปะการังตามแหล่งต่าง ๆ โดยพบว่านักท่องเที่ยวแห่มาดำน้ำตื้นดูปะการังกันนับพันคนเลยทีเดียว แม้ว่าส่วนหนึ่งของนักท่องเที่ยวจะทยอยเดินทางกลับตั้งแต่เมื่อวานแล้วก็ตาม

จากสถานการณ์เชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) แพร่ระบาดทำให้เศรษฐกิจซบเซาลงเป็นอย่างมากรวมถึงเมืองท่องเที่ยวอย่างจังหวัดตราด ทั้งเกาะช้าง เกาะกูด ที่มีนักท่องเที่ยวมาน้อยลง แต่ช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2564 มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาเที่ยวจังหวัดตราดกันเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้เศรษฐกิจภายในจังหวัดดีขึ้น แม้จะเป็นช่วงโควิด-19 แต่จังหวัดตราดก็ปฏิบัติตามมาตรการของสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด ด้วยอากาศที่ร้อนนักท่องเที่ยวจึงนิยมเช่าเรือออกไปเล่นน้ำ ดำน้ำตื้นดูปะการัง เพื่อคลายร้อน เป็นช่วงเทศกาลที่สร้างรายได้ดี ทั้งผู้ประกอบการรีสอร์ท โรงแรม-ที่พัก ผู้ประกอบการเรือนำเที่ยวและร้านอาหารต่าง ๆ บนเกาะ

เกาะที่เป็นจุดดำน้ำดูปะการังที่มีความสวยงาม คือ เกาะยักษ์ใหญ่ เกาะยักษ์เล็ก เกาะมะปริง เกาะแรด เกาะรัง และหน้าหาดอุทยานฯ ซึ่งเป็นที่ตั้งของหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติ กช.5 (เกาะรัง) เป็นจุดที่ทางเจ้าหน้าอุทยานจัดพื้นที่ไว้ให้นั่งท่องเที่ยวได้พักผ่อน  และมีสะพานทุ่นทอดตัวยาวไปในทะเล เรือจะจอดที่ปลายสะพาน และนักท่องเที่ยว เดินสะพานมานั่งเล่นพักผ่อน หรือดำน้ำดูปลา บริเวณหน้าหาดทราย โดยมีเจ้าหน้าที่อุทยานดูแลคอยอำนวยความสะดวกอยู่ตลอดเวลา ค่าบริการเข้าเกาะ ผู้ใหญ่ 40 บาท เด็ก 20 บาท ปีนี้แม้ว่าจะเป็นช่วงโควิด 19 ระลอก 3 แต่นักท่องเที่ยวทะลักเดินทางมาเที่ยวเกาะช้าง และเกาะกูด จังหวัดตราดกันเป็นจำนวนมากเลยทีเดียว


ภาพ/ข่าว  ณัฐวุฒิ สวัสดิ์วารี 

ตราด – คุมเข้มชายแดนหาดเล็ก สกัดโควิด-19 จากต่างด้าวลักลอบเข้าเมือง

ข่าว ที่ชายแดนไทยกัมพูชาบ้านหาดเล็ก ต.หาดเล็ก อ.คลองใหญ่ จ.ตราด จุดผ่านแดนถาวรบ้านหาดเล็ก เจ้าหน้าที่ทั้งฝ่ายทหารหน่วยเฉพาะกิจนาวิกโยธิน 182 บ้านหาดเล็ก ด่านตรวจคนเข้าเมืองคลองใหญ่ ด่านศุลกากรคลองใหญ่ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ร่วมกันตรวจเข้มการผ่านเข้าออกของรถขนส่งสินค้าที่อนุโลมให้ขนส่งสินค้าผ่านเข้าออกชายแดนได้ อีกทั้งยังจัดกำลังทหารออกทการลาดตระเวนตามแนวชายแดนเส้นทางธรรมชาติชายแดนไทยกัมพูชาด้านเขาบรรทัดต.หาดเล็ก ต.คลองใหญ่ อ.คลองใหญ่ จ.ตราดด้วย

ทั้งนี้ด้วยผู้บัญชาการกองกําลังหน่วยเฉพาะกิจนาวิกโยธิน 182 สั่งคุมเข้มตลอดแนวชายแดน ในการสกัดแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าประเทศหวังป้องกันโควิด-19 ที่กลับมาระบาดในประเทศเพื่อนบ้าน จากสถานการณ์โควิด-19 ในปัจจุบันประเทศไทยมาเริ่มมียอดผู้ป่วยรายวันสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ทางการไทยได้เพิ่มมาตรการเข้มงวดบริเวณด่านชายแดนบ้านหาดเล็กเนื่องจากเกรงว่าจะมีแรงงานต่างด้าวลักลอบหนีเข้าประเทศไทย และทำให้เกิดการแพร่เชื้อโควิด-19 ในประเทศ ส่งผลให้เกิดการระบาดระลอกที่ 3 ที่กําลังมีความรุนแรงมากกว่าเดิม โดย น.ต.ปรัชญ แสงแก้ว ผบ.ฉก.นย.182 บ้านหาดเล็ก เปิดเผยว่า ได้สั่งการกําลังพลและให้ทุกหน่วยขึ้นตรงกองกำลังหน่วยเฉพาะกิจนาวิกโยธิน 182 ให้เพิ่มมาตรการและการวางกำลัง จุดตรวจ/จุดสกัด ตลอดแนวชายแดนฝั่งเขากวดขันสกัดกั้น การลักลอบนำยาเสพติดและลักลอบขนแรงงานต่างด้าวตามช่องทางธรรมชาติ จากฝั่งประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาในประเทศไทยอย่างต่อเนื่องตลอดทุกวันในการเดินราดตะเวรตามเทือกเขา จากนั้นตามด่านชายแดนจุดเข้าออกก็ได้ร่วมกันตรวจเข้มงวดยิ่งกว่าเก่าเพื่อเป็นการควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศตามชายแดนหาดเล็ก

โดยแฉล้ม อิ่มอุไร เจ้าหน้าที่ควบคุมดูแลการตรวจโรคโควิด-19 เพื่อความปลอดภัยของคนขับรถส่งสินค้าเข้าออก พร้อมด้วย พ.ต.อ.เบญจพล รอดสวาสดิ์ ผกก.ต.ม.จว.จ.ตราด ได้ตรวจคันหนังสือเดินทางเข้าออกระหว่างชายแดนร่วมกับด่านศุลกากร ทหาร ตํารวจ และหน่วยควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลต่อไป/ภาพ/ข่าว วิเชียร ม่วงสี ผู้สื่อข่าวภูมิภาค จ.ตราด

ตราด - พ่อค้าแม่ค้าครวญพิษโควิด-19 รายได้หด ไม่พอเลี้ยงชีพ

พ่อค้าแม่ค้าโอดครวญโควิด-19 กระทบรายได้หด ไม่พอเลี้ยงชีพ ด้านลูกค้าที่ใช้บริการสั่งอาหารทางออนไลน์เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้พนักงานส่งอาหารเดลิเวอรี่รายได้พุ่งผลกระทบจากโควิด-19 นอกเหนือจากสุขภาพแล้วยังส่งผลกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจด้วย ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่สำรวจตลาดสดเทศบาลตําบลคลองใหญ่และร้านขายของชําพร้อมด้วยแม่ค้าขายเสื้อผ้าทั่วไปเขตเทศบาลตําบลคลองใหญ่พบว่า บรรยากาศแตกต่างจากช่วงปกติที่จะมีคนมาเดินจับจ่ายใช้สอยกันในยามเช้า

“เงียบมาก คนเดินน้อยช่วงนี้” หนึ่งเสียงจากแม่ค้านางเขมปภาสร มยุรมาศ แม่ค้าวัย 65 ปี ค้าขายเสื้อผ้ามา 38 ปีแล้วบอกกับผู้สื่อข่าวว่า รายได้ลดลงมาก จากเดิมที่เคยขายได้วันละ 2,000 บาท เหลือเพียงวันละไม่ถึง 1,000 บาท ผู้คนเริ่มลดน้อยลงตั้งแต่ต้นปีที่ไวรัสยังไม่ระบาดหนัก จนกระทั่งช่วงนี้ที่ระบาดระลอกใหม่หนักมาก คนก็ยิ่งน้อยลงไปเรื่อย ๆ แต่ยังดีที่ต้นทุนในการขายของเท่าเดิมวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ ยังไม่ขึ้นราคาขณะที่แม่ค้าขาย บอกกับผู้สื่อข่าวว่า ช่วงนี้คนเข้ามาซื้อเสื้อผ้าน้อยมากๆเดินตลาดก็น้อยเพราะกลัวไวรัสระบาด หลังเวลา 09.00 น.ของทุกเช้าตลาดเงียบเหงามาก

พ่อค้าขายขนมหวานขนมเบื้อง บอกกับผู้สื่อข่าวว่า ตั้งแต่ไวรัสระบาดขายของเงียบมาก ขายของไม่ดี ยอดลดลงไปเยอะมาก จากเดิมที่ขายได้วันละ 500 บาท แต่ช่วงนี้ขายได้เพียง 200 -300 บาทเท่านั้นก็พออยู่รอดแม้จะขายของได้น้อยแต่ก็ต้องทำเพื่อเลี้ยงชีพ ขณะที่ต้นทุนในการขายของก็ยังอยู่ในราคาเดิมลงไปก่อนดีกว่าไม่ได้อะไรเลย ส่วนทางวินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง บอกว่าช่วงนี้ นายณรงค์ อนัน อายุ 75 ปี วิ่งวินมอเตอร์ไซค์รับจ้างมานานกว่า 25 ปีแล้วรู้สึกว่าแย่มากๆในปีนี้ เมื่อก่อนเคยวิ่งได้วันละ 400-500 บาท พอมีโควิดระลอกใหม่เกิดขึ้นมาตอนนี้วิ่งได้วันละสูงสุด 150 บาท บางวันก็ไม่ได้ถึงตอนนี้ก็เหลือวิ่งวินแค่ 3 คันเท่านั้นเมื่อก่อนมีอยู่มากกว่า 10 คัน แย่ไปหมดแต่ก็ไม่รู้จะทําอาชีพอะไรแล้วแก่ลงทุกวันแล้วทั่วไปก็เหมือนกันหมดสภาพซบเซาปิดร้านอยู่แต่ในบ้านไม่กล้าออกจากบ้าน


ภาพ/ข่าว วิเชียร ม่วงสี ผู้สื่อข่าวภูมิภาค จ.ตราด รายงาน

ตราด - วางแหล่งปะการังเทียม สร้างแหล่งอาศัยสัตว์ทะเลขนาดใหญ่

น.อ.นฤพนธิ วิไลธัญญา รอง ผอ.ศรชล.จังหวัดตราด และ ศคท.จังหวัดตราด ได้รับรายงานจาก นายผจงศักดิ์ วงษ์สง่า ประมงจังหวัดตราด ว่า จังหวัดตราด โดยสำนักงานประมงจังหวัดตราด ได้ดำเนินการจัดวางแหล่งอาศัยสัตว์ทะเลขนาดใหญ่ ในจังหวัดตราด (ปะการังเทียม)  จำนวน 2 แห่ง  ประกอบด้วย

1.) บริเวณ บ้านสลักอวน หมู่ที่ 4 ตำบลเกาะกูด อำเภอเกาะกูด จังหวัดตราด ครอบคลุมพื้นที่ 1.0 ตารางกิโลเมตร ใช้แท่งคอนกรีต จำนวน 490 แท่ง ทุ่นลอยแสดงตำแหน่งที่หมาย จำนวน  6 ทุ่น จัดวางห่างฝั่ง 3.3-3.5 กิโลเมตร พิกัด

จุด A. 11 องศา 43.020 ลิปดาเหนือ , 102 องศา 28.020 ลิปดาตะวันออก  จุด B. 11 องศา 43.020 ลิปดาเหนือ , 102 องศา 29.100 ลิปดาตะวันออก จุด C. 11 องศา 42.780 ลิปดาเหนือ , 102 องศา 29.100 ลิปดาตะวันออก จุด D. 11 องศา 42.780 ลิปดาเหนือ , 102 องศา 28.020 ลิปดาตะวันออก

โดยได้ดำเนินการจัดวางในวันที่ 26 ก.พ.64 ถึงวันที่  27 ก.พ.64

   

2.) บริเวณชายฝั่งทะเล บ้านบางเบ้า หมู่ที่ 1 ตำบลเกาะช้างใต้ อำเภอเกาะช้าง จังหวัดตราด ครอบคลุมพื้นที่ 1.0 ตารางกิโลเมตร ใช้แท่งคอนกรีต จำนวน 580 แท่ง ทุ่นลอยแสดงตำแหน่งที่หมาย จำนวน 6 ทุ่น จัดวางห่างฝั่ง 2.5 -  2.7 กิโลเมตร พิกัด

จุด A. 11 องศา 54.000 ลิปดาเหนือ , 102 องศา 18.230 ลิปดาตะวันออก จุด B. 11 องศา 54.000 ลิปดาเหนือ , 102 องศา 19.310 ลิปดาตะวันออก จุด C. 11 องศา 53.760 ลิปดาเหนือ , 102 องศา 19.310 ลิปดาตะวันออก จุด D. 11 องศา 53.760 ลิปดาเหนือ , 102 องศา 18.230 ลิปดาตะวันออก

โดยได้ดำเนินการจัดวางในวันที่ 7 มี.ค64 ถึงวันที่ 8 มี.ค.64

     

ซึ่งในจังหวัดตราด มีเรือชาวประมงพื้นบ้าน จำนวน 3,063 ลำ  ซึ่งเป็นเรือประมงขนาดเล็ก ดังนั้นการดำเนินการจัดทำปะการังเทียม เพื่อใช้เป็นแหล่งอาศัย เพาะพันธุ์สัตว์น้ำจะยังประโยชน์ต่อกลุ่มชาวประมงพื้นบ้านได้เป็นอย่างดี 

ทั้งนี้ ปัจจุบันจังหวัดตราด มีปะการังเทียมแล้ว จำนวน 21 แห่ง ซึ่งจากการสำรวจแนวปะการังเทียมต่าง ๆ พบว่ามีปลาใหญ่ อาทิ ปลากะรัง ปลาโฉมงาม ปลาเก๋า รวมทั้งฝูงปลาขนาดเล็ก เข้าอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก  ซึ่งนอกจาจากจะยังประโยชน์ให้กับกลุ่มชาวประมงพื้นบ้านแล้ว ปะการังเทียมยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมในกลุ่มนักตกปลาได้อีกด้วย


ภาพ/ข่าว ศรชล.ภาค 1

นิราช / นันทพล ทิพย์ศรี รายงาน

ตราด – ข้าวกล่องออนไลน์สุดฮอต !! ช่วงโควิด ข้าวคลุกน้ำพริกกะปิปลาทู ทำยอดขายพุ่ง

ร้านขายอาหารออนไลน์ เป็นอีกหนึ่งทางเลือกช่วงโควิด ไม่ว่าจะเป็นโควิดละลอก 1 -2 หรือ ละลอก 3 อาหารออนไลน์ก็ยังเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดของคน พิษโควิดทำร้านค้า ร้านอาหารหลายร้านต้องปิดตัวลง แต่ร้าน น้องแม็ก อิ่มอร่อย ที่เป็นธุรกิจครอบครัว ทำกันมาตั้งแต่ช่วงโควิดรอบแรก ยอดขายยังคงไม่ตก กลับพุ่งสูงขึ้นเท่าตัว โดยเฉพาะรอบนี้ ทำให้คนไม่กล้าออกจากบ้านนั่งกินอาหารที่ร้าน หันมาสั่งข้าวออนไลน์กันเป็นจำนวนมาก

นางสาวนุชนาฎ รังสิวัฒนศักดิ์ เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า ตนเองและครอบครัวทำอาหารขายออนไลน์อยู่กับบ้าน ในพื้นที่ ต.หนองเสม็ด อ.เมืองตราด โดยมีอาหารกล่องหลากหลาย มีลูกค้าประจำที่สั่งทานกันเรื่อยมา ตั้งแต่โควิดรอบแรก จนมาถึงโควิดรอบนี้ ลูกค้าประจำก็ยังสั่งข้าวกล่องทานกันอย่างต่อเนื่อง ลูกค้าที่เข้ามาใหม่ๆก็เยอะ ข้าวกล่องที่ร้านขายหลากหลายตามออเดอร์ที่ลูกค้าสั่ง แต่ที่ขายดีและเป็นที่ถูกอกถูกใจลูกก็จะเป็นข้าวคลุกกะปิ ที่ใส่เครื่องแบบแน่นๆ ขายกล่องละ 30-40 บาท และอีกอย่างหนึ่งที่ลูกค้าสั่งทานมากที่สุดก็คือข้าวคลุกน้ำพริกกะปิปลาทู ขายกล่องละ 40-50 บาท นางสาวนุชนาฎยังบอกอีกว่า ทางร้านได้เข้าร่วมโครงการของรัฐ เราชนะ และร่วมกับฟู๊ตแพนด้า โดยลูกค้าสามารถสั่งผ่านฟู๊ตฯได้เช่นเดียวกัน สำหรับโควิด 19 รอบนี้ ทำให้ยอดขายพุ่งเท่าตัว ซึ่งดูได้จากไข่ไก่ เมื่อก่อนจะใช้วันละไม่เกิน 5 แผง หลังจากโควิด ระบาดหนัก ๆ ลูกค้าสั่งกลับไปทานที่บ้าน ยอดขายเพิ่มขึ้น ตอนนี้ใช้ไข่ไก่วันละ 10 แผง นางสาวนุชนาฎยังฝากขอบคุณลูกค้าทุกท่านที่ยังอุดหนุนร้านน้องแม็ก อิ่มอร่อย กันมาตลอด และทางร้านจะทำให้ดีที่สุดเช่นเดียวกัน


ภาพ/ข่าว  ณัฐวุฒิ สวัสดิ์วารี 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top