Friday, 26 April 2024
งบประมาณแผ่นดิน

'ส.ส.เพื่อไทย' หวั่น!! 'ประยุทธ์' ถลุงงบเอื้อกองทัพ จัดสรรงบเห็นแก่ตัว ไม่เกิดประโยชน์กับปชช.

นางสาว กิตติ์ธัญญา วาจาดี ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่า การจัดสรรงบประมาณปี 2566 ที่ผ่านมาพบว่าเป็นการจัดทำงบประมาณแบบเห็นแก่ตัว หลายงบประมาณที่จัดสรรมาไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ เพราะงบกระจุก ไปอยู่ในส่วนของกองทัพ งบเพื่อความมั่นคงและงบเอื้อพรรคการเมืองร่วมรัฐบาลมากกว่าแก้ปัญหาให้ประชาชนและฟื้นฟูประเทศหลังโควิด   

น่าประหลาดใจว่า ปีนี้ พลเอกประยุทธ์ ตั้งงบกลางปี 2566 ไว้ที่ 590,470 ล้านบาท หรือคิดเป็น 18.5% ของงบประมาณรวมทั้งหมด ซึ่งถือว่าสูงที่สุดในโครงสร้างงบประมาณ ทั้งนี้เมื่อนำตัวเลขงบกลาง ตลอดอายุของรัฐบาล 'ประยุทธ์ 2' มารวมกัน จะพบว่ามีการตั้งงบ ก้อนนี้เอาไว้สูงถึง 2,311,262.4 ล้านบาท การตั้งงบกลางของรัฐบาลตลอดเวลาที่ผ่านมา รัฐบาลถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างต่อเนื่องว่าเป็นการตีเช็คเปล่าให้พลเอกประยุทธ์ เพราะไม่ปรากฏรายละเอียดของโครงการ แต่มีเฉพาะหัวข้อกับวงเงินเท่านั้น ไม่มีโอกาสตรวจสอบและกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินงบประมาณก่อน

นางสาว กิตติ์ธัญญา กล่าวด้วยว่า การตั้งงบกลางไว้สูงถึงขนาดนี้ เป็นการแสดงเจตจำนงชัดเจนว่าจะนำเงินที่มาจากภาษีของประชาชนไปหาประโยชน์ทางการเมืองและเอื้อกับพวกพ้อง ไม่ได้มีไว้เพื่อแก้ปัญหาให้กับพี่น้องประชาชน ที่ผ่านมาพลเอกประยุทธ์ไม่เคยมาชี้แจงต่อรัฐสภาว่า มีการนำงบประมาณกลางไปทำอะไรบ้าง เกิดประโยชน์อะไร

นายกฯ ขอบคุณ ส.ส. ร่วมถกงบ 3.185 ล้านล้าน ยัน!! ใช้งบอย่างรอบคอบ ไม่ยอมให้ทุจริตแน่นอน

'ธนกร' เผย นายกฯ ติดตามประชุมงบฯ ใกล้ชิด ขอบคุณ ส.ส.เสียสละเวลา-ร่วมมือกันอย่างเต็มที่ ลั่นรัฐบาลใช้งบฯ ด้วยความรอบคอบ นายกฯ ไม่ยอมให้เกิดทุจริตแน่นอน

เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2565 นายธนกร วังบุญคงชนะ อดีตโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 วงเงิน 3.185 ล้านล้านบาท ในวาระ 2 ต่อเนื่องเป็นวันที่ 4 แล้วว่า เท่าที่ทราบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรียังคงติดตามการทำหน้าที่ของวิปฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง เพราะกฎหมายงบประมาณเป็นกฎหมายที่สำคัญ และจำเป็นอย่างมากต่อประเทศและประชาชน อย่างไรก็ตาม เข้าใจว่า ส.ส.บางส่วนอาจจะติดภารกิจสำคัญในพื้นที่ที่มีการกำหนดไว้ล่วงหน้าแล้ว ซึ่งบางท่านไม่อาจจะหลีกเลี่ยงได้ แต่ ส.ส.ท่านไหนที่สามารถมาร่วมประชุมสภาฯ ได้ ก็ขอให้หารือกันด้วยเหตุผลเพื่อผลักดันให้กฎหมายสำคัญฉบับนี้ผ่านสภาฯ ได้ เพราะการพิจารณากฎหมายงบประมาณนั้นเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นที่จะต้องดำเนินการให้เสร็จตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้

8 ปี ‘ประยุทธ์’ บริหารแบบไม่เอาใจประชาชน แต่ทำที่ทุกคนได้ในผลประโยชน์รวมเชิงประจักษ์

เห็นข่าว ‘บิ๊กตู่’ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ใส่อารมณ์เล็กๆ ให้ชวนสงสัย กับคำพูดซึ่งได้กล่าวถึงการใช้งบประมาณสำหรับการดูแลประชาชนต่อผู้สื่อข่าวที่ทำเนียบรัฐบาลว่า…

“ที่ผ่านมาเราใช้งบประมาณดูแลประชาชนเป็นล้านล้านบาทแล้ว ถือเป็นจำนวนไม่น้อย และเราดูแลเต็มที่แล้ว ถ้าจะเพิ่มงบไปอีก 8 แสนล้านบาทตามที่บางพรรคการเมืองเสนอ ตนไม่ได้พูดว่าพรรคไหน แต่ใครเป็นรัฐบาลไปดูเอาเองแล้วกัน ฝากดูแลเองไปหาเงินเอาเองแล้วกัน”

พลันที่คำพูดนี้เผยออกมา ก็มีการตั้งคำถามว่าพรรคไหน? หรือใครกัน? ที่คิดจะเสนอให้ปันงบก้อนนี้ออกมา ปันมาทำไม? ปันไปใช้เพื่ออะไร?

เพราะหากสะระตะกันดูเล่นๆ เงิน 8 แสนล้านบาท นี่มันก็คือตัวเลข 1 ใน 4 ของปีงบประมาณแผ่นดิน 2566 กันเลยทีเดียวเชียวนะ

แต่ก็อย่างว่าแหละ!! เรื่องแบบนี้มันไม่ใช่เรื่องเกินความคาดหมาย เพราะ ณ ห้วงเวลานี้ ในช่วงใบปะพรรคการเมือง เริ่มเกลื่อนเป็นหย่อมๆ ทั่วไทยแลนด์ แสดงให้เห็นถึงการประกาศศักดาของทุกพรรคการเมืองที่พร้อมลงสู่สนามเลือกตั้ง 

โดยในใบปะเหล่านั้น มิไม่มีเพียงแค่การแนะนำตัวบุคคลหรือพรรค หากแต่เปี่ยมล้นไปด้วยถ้อยคำชวนประชาให้นิยม จากแคนดิเดตว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ที่ต่างรับปากเป็นมั่นเป็นเหมาะว่า “เลือกผมได้แน่” / “เลือกอิชั้นได้มากกว่า” / “เลือกพรรคเรารับรองนโยบายนี้มา” ว่อน!!!

เมื่อหยิบจับสถานการณ์มาปะติดกับคำวาทกรรมเกรี้ยวกราดของ ‘ประยุทธ์’ มันเลยไปสะดุดได้ว่า ‘ทุกผู้-ทุกพรรค’ ที่พร้อมลงหาเสียงเลือกตั้ง ต้องมีเงินถังไว้แต่งแต้มฝันให้นโยบายของตนไปล่าผู้คนในมหาศึกกลยุทธ์ล่าประชานิยมเป็นแน่แท้

ยิ่งไปกว่านั้น หากถอดข้อเขียนของ ‘ลุงเปลวสีเงิน’ เมื่อวันที่ 2 ก.พ.66 ทีผ่านมา ประกบคำพูดของ ‘บิ๊กตู่’ เข้าไปอีก ก็พลันให้ร้องอ๋อ!! ได้แบบมัดแน่น ว่าเหตุใดคำตัดพ้อเช่นนั้นจึงออกจากน้องเล็กแห่ง 3ป. ให้ผู้คนสงสัย

นั่นก็เพราะ หากเหลียวไปมองนโยบายจากแต่ละพรรคที่ใช้หาเสียงกันตอนนี้ ช่างดูแล้วหนักใจ!! เนื่องจากนโยบายแต่ละพรรค ล้วนฟังดูไม่ต่างสลากสรรพคุณยา ประเภท ทาปุ๊บหายปั๊บ-กินปั๊บหายปุ๊บ, ทาผัวหอมถึงเมีย อะไรประมาณนั้น ซึ่งมันไม่ต่าง ‘ยาผีบอก’

แต่ที่สำคัญยิ่งกว่า คือ ‘ทุกนโยบาย-ทุกพรรค’ เอาเงิน ‘งบประมาณแผ่นดิน’ มาเป็นสัญญาว่า ‘จะแจก-จะให้’ ทั้งนั้น

ชาวบ้านตอนนี้ เลยเป็นเหมือนแมวหลงกลิ่นปลาย่างทาจมูก ด้วยการเอาเงินแผ่นดินไปตกเบ็ดชาวบ้าน เมื่อเข้ามาเป็นรัฐบาลแล้ว ทั้งๆ ที่เรารู้กันดีใช่มั้ยว่า...ภาษีที่เก็บจากชาวบ้านได้ปีละเท่าไหร่? แล้วมันพอหรือไม่?

ฉะนั้นการที่จะเอางบประมาณแผ่นดินไปทำสวัสดิการทำนองลดแลกแจกแถมชาวบ้านคนละ 3 พัน 4 พัน แถมนั่นฟรี-ฟรีนี่ / น้ำมัน-แก๊ส ก็ต้องถูก / ค่าไฟฟ้า-ค่ารถโดยสาร ก็ต้องถูก / ค่ารักษาพยาบาลก็ต้องฟรี / เฒ่าชแร-แก่ชรา ก็ต้องมีค่าขนม มันก็ยิ่งจะทำให้ไทยใกล้เป็น ‘รัฐสวัสดิการ’ เข้าไปเต็มตัวแล้ว!

คำถาม คือ แต่ละพรรค ต่างออกนโยบาย ‘สัญญาจะให้’ เห็นแล้วหนักใจ (แทนประเทศ) แต่เมื่อเข้าไปเป็นรัฐบาลแล้ว จะเอาเงินที่ไหนไป ‘ปรนเปรอ-แจกจ่าย’ ตามสัญญา?

เลิกพูดไปเลย เรื่อง ‘พัฒนาประเทศ’ เพราะแค่เงินเดือนข้าราชการกับค่ารายจ่ายประจำ งบประมาณแต่ละปี ก็แทบไม่เหลืออยู่แล้ว แล้วนี่ ยังจะแข่งกัน ‘ปล้นเอาเงินอนาคตประเทศ’ ไปตกเบ็ดหาเสียงอีก

ดังนั้นอยากให้ย้อนกลับมามอง ‘ประเทศไทย’ ในยุค 8 ปี ‘ประยุทธ์’ ที่หลายๆ ด้านมันพัฒนา ‘เกินหน้า-เกินตา’ ประเทศเพื่อนบ้านเขาไปเร็วมา เดี๋ยวติดอันดับประเทศคนมาท่องเที่ยวมากที่สุดบ้าง เดี๋ยวเป็นประเทศน่าอยู่-น่าลงทุนที่สุดบ้างเดี๋ยวเป็นประเทศที่ค่าเงินเสถียรที่สุดบ้าง เดี๋ยวเป็นประเทศที่คนใจดี-น่ารักที่สุดบ้าง เป็นประเทศที่โครงสร้างพื้นฐานคมนาคมและโทรคมนาคม สะดวก-เร็ว ที่สุดบ้าง 

มันดีจนเพื่อนบ้านในอาเซียนเขาเริ่ม ‘มองค้อน’ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าเรื่องเหล่านี้เกิดจากหัวใจนโยบายของผู้นำที่ ‘เข้าถึง-จริงใจ’ ในปรัชญาของมัน เขาจะไม่พล่ามพูด แต่งานที่เขาทำ มันจะพูดเอง

ไม่ใช่การใส่ ‘ประชานิยม’ เพื่อหวังเอาใจประชาชน แต่เลือกทำที่ประชาชนโดยส่วนรวมต้องอยากได้ และได้ในผลประโยชน์รวมเชิงประจักษ์!!

พูดง่ายๆ คือ นโยบายที่ดี บ้านเมืองต้องได้ สังคมต้องได้ ประชาชนต้องได้ และอยู่ร่วมกันได้ โดยไม่เหยียบหัวแม่ตีนกัน ซึ่งนี่คือ เผด็จการ ‘ประชาธิปไตย’

ไขข้อข้องใจ ‘ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์’ มุมมองอีกด้านที่คนไทยทุกคนต้องรู้

ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ ตำแหน่ง อาจารย์ประจำคณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ได้ให้สัมภาษณ์ไว้ว่า ….

ที่ผ่านมา สถาบันพระมหากษัตริย์ถูกโจมตี ใส่ร้าย บิดเบือนเป็นอย่างมาก และทำเป็นกระบวนการ ไม่มีอะไรที่จะสยบความบิดเบือน การใส่ร้ายป้ายสีได้ดีเท่าการเอาความจริงเข้ามานำเสนอ เพื่อจะได้ทุบกะลาให้แตกออกมา และเมื่อความจริงปรากฏ ก็จะทำให้คนตาสว่างและเข้าใจในข้อเท็จจริงได้

สถาบันพระมหากษัตริย์ : ความจริงที่ถูกบิดเบือน
ผศ.ดร.อานนท์ ได้กล่าวว่า ตนก็ไม่เข้าใจเหมือนกัน ว่าทำไมชอบใส่ร้ายเรื่องเงินทอง แต่มันอาจจะเป็นเรื่องของความบาดใจ เพราะบางคนที่ไม่มีก็จะอิจฉาคนที่มีมากกว่า ก็เลยรู้สึกว่า เรื่องที่โดนบิดเบือนเยอะที่สุดก็คือ เรื่อง ‘ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์’ กับ ‘ภาษีกู’ ที่เป็นประเด็นหลัก

ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์
ต้นกำเนิดทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ มาจาก ‘เงินถุงแดง’ ที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ท่านทรงค้าขาย และเอาเงินเก็บไว้ที่ข้างพระแท่นบรรทม จึงเรียกว่า ‘พระคลังข้างที่’ ต่อมาสมัยรัชกาลที่ 5 ท่านได้มีการลงทุนปล่อยกู้ คนก็เอาที่ดินมาจำนอง ที่ดินงาม ๆ ในกรุงเทพฯ เยอะแยะมากมาย ถูกจำนองและถูกยึด เพราะว่าไม่ใช้หนี้ และได้มีการลงทุนในสมัยรัชกาลที่ 6 ที่ทรงลงทุนในปูนซิเมนต์ไทย ซึ่งหุ้นปูนซิเมนต์ไทย พระเจ้าอยู่หัวพระองค์ท่านทรงถือหุ้นอยู่ประมาณ 25% และหุ้นปูนซีเมนต์ไทย เป็นหุ้นที่มีมูลค่าเกินกว่า 100 เท่า นับตั้งแต่วันที่เข้าตลาด เพราะฉะนั้น ลองคิดดูว่า มันงอกเงยขึ้นมากี่เท่า ที่ดินแปลงงาม ๆ ในกรุงเทพฯ บวกกับหุ้นปูนซีเมนต์ไทย หรือหุ้นธนาคารไทยพาณิชย์ด้วยก็ตาม จึงทำให้ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์งอกเงยจากการลงทุนขึ้นมามากมาย

ทรัพย์สินส่วนพระองค์ 
ทรัพย์สินส่วนพระองค์ เป็นของราชวงศ์จักรี หมายความว่าจะสืบทอดต่อไปกับพระเจ้าแผ่นดินในอนาคต คนละส่วนกับทรัพย์สินของแผ่นดิน เพราะทรัพย์สินของแผ่นดิน อยู่ที่กระทรวงพระคลังมหาสมบัติ หรือกระทรวงการคลัง แยกขาดจากกัน ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ที่มีการปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน จากจตุสดมภ์ 4 เวียง วัง คลัง นา และเปลี่ยนเป็น 12 กระทรวง

กษัตริย์ที่รวยที่สุดในโลก
เมื่อถามว่า พระเจ้าแผ่นดินจะร่ำรวยไม่ได้หรือ ในเมื่อบรรพบุรุษค้าขายมาเก่ง เก็บเงินเก่ง ลงทุนเก่งก็เป็นเรื่องปกติ แต่ว่าการที่พระเจ้าแผ่นดินมีพระราชทรัพย์ จริง ๆ ก็เป็นของที่เป็นประโยชน์อย่างหนึ่ง คือ สามารถพระราชทานช่วยเหลือประชาชนได้ในยามที่ประชาชนเดือดร้อนลำบาก ในช่วงโควิดที่ผ่านมา ทรงซื้อเครื่องช่วยหายใจไปเป็นหลายร้อยเครื่อง ถ้าไม่มีเครื่องช่วยหายใจที่ซื้อพระราชทานให้ โควิดจะมีคนตายมากกว่านี้

พระตำหนักที่เยอรมัน
นั่นก็เป็นเงินส่วนพระองค์ ที่ทรงซื้อไว้ตั้งแต่ยังเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ซื้อไว้ตอนที่ถูกมาก ในเมืองทุทซิง ซึ่งอยู่ในทำเลดีมาก และติดกับทะเลสาบ และส่งเสียภาษีที่ดินอย่างถูกต้องมาโดยตลอด แต่ระบบเยอรมันนั่น เป็นระบบที่แปลก คือ ปีภาษีจะครบทุก 4 ปี คราวนี้พอ 3 ปี ยังไม่ได้จ่าย ก็เลยมีคนบอกว่า ท่านไม่จ่ายภาษี จริง ๆ คือมันยังไม่ครบกำหนดที่จะต้องจ่าย นี่คือพวกหาเรื่อง ก็พระเจ้าแผ่นดินมีพระราชทรัพย์ตกทอด เนื่องจากราชสกุลมหิดล มีทรัพย์สินส่วนพระองค์ค่อนข้างเยอะ เพราะสมเด็จพระศรีสวรินธราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เป็นพระมเหสีที่ประหยัด ขยัน อดออม และฉลาดในการค้าขาย ตั้งแต่รัชกาลที่ 5 ทรงโปรดให้ทอผ้าขายในพระราชวังสวนดุสิต และโปรดทรงทำนา และโปรดทำโรงสีข้าว ยกตัวอย่างเช่น หมู่บ้านสัมมากรทั้งหมู่บ้าน เป็นที่ดินของสมเด็จพระพันวัสสาฯ เป็นที่นาเก่าของสมเด็จพระพันวัสสาฯ และสมเด็จพระศรีนครินทรา บรมราชชนนี ทรงเห็นว่า อยากให้ประชาชน คนที่มีสัมมาชีพ ได้มีสัมมาการอยู่อาศัย จึงได้พระราชทานมาจัดสรรเป็น ‘หมู่บ้านสัมมากร’ เป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์ทั้งนั้น 

เปลี่ยนแปลงเพื่อประชาชน 
พระองค์ท่านทรงเปลี่ยนหลายอย่าง อย่างที่ 1 คือ พระราชทานทรัพย์สินที่ดินจำนวนมากให้กับหน่วยราชการ เช่นตรงซอยมหาดเล็กหลวง 1-3 ตรงราชดำริ มูลค่านับแสนล้าน ทรงพระราชทานให้วชิราวุธวิทยาลัย ค่ายนเรศวรของตำรวจตระเวนชายแดน ก็คือ พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน กระทั่งสำนักข่าวกรองแห่งชาติ หรือว่ากรมตำรวจที่วังปารุสก์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ดินพระราชทานจำนวนมากมายมหาศาล ที่เดิมเป็นที่ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์และหน่วยราชการไปขอใช้ ท่านก็ทรงพระราชทานโฉนดให้หน่วยราชการนั้น อย่างมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต และหน่วยราชการอื่น ๆ กระทรวงศึกษาธิการ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ทั้งกองก็ตั้งอยู่บริเวณพระราชวังสวนดุสิต เพราะพระราชทานที่ดินให้ และอย่างทรัพย์สินแปลงใหญ่ ที่สุดในกรุงเทพฯ ตอนนี้ ก็กลายเป็นสวนสาธารณะที่ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯ เหมือนกัน นั่นก็คือ สนามม้านางเลิ้ง

แก้กฎหมายให้พระมหากษัตริย์ต้องเสียภาษี
ทรงแก้กฎหมายให้ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ต้องเสียภาษีเหมือนกับทรัพย์สินประชาชน เพราะว่า พ.ร.บ. ทรัพย์สิน 2491 ยกเว้นภาษี พระองค์ท่านทรงไม่เห็นด้วย แต่นั่นก็เป็น พ.ร.บ. ที่ทำไว้ตั้งแต่สมัย นายควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งแต่ละปีก็ทรงเสียภาษีเป็นจำนวนมาก

บทสรุป!! อภิปรายร่างงบประมาณ 67 วาระแรก ฉลุย!! สส.ยกมือผ่านร่าง 311 ต่อ 177 เสียง

เมื่อวันที่ 5 ม.ค. 67 ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวาระการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 วงเงิน 3.48 ล้านล้านบาท ต่อเนื่องเป็นวันสุดท้าย

โดย นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายสรุปว่า “การจัดงบฯ แบบนี้ ยังไม่ตอบโจทย์สะท้อนปัญหาประเทศ ต่างจากพรรคไทยรักไทย และเพื่อไทยในอดีต ท่านนายกฯ ได้รับโอกาสเป็นครั้งแรกในชีวิต ต้องทำให้สมกับว่าเป็นตัวจริง ทุกข้อติติงของพวกเรามาพร้อมกับข้อเสนอเป็นประโยชน์ต่อทุกคน อยากให้พวกเรามองไปข้างหน้า”

นายณัฐพงษ์ กล่าวอีกว่า “การเลือกตั้งครั้งหน้า โจทย์เราไม่ใช่ว่าจะชนะการเลือกตั้งหรือไม่ แต่โจทย์ของพวกเราคือ พร้อมเป็นรัฐบาลบริหารประเทศหรือไม่ เวทีครั้งนี้ไม่ใช่เวทีที่พวกตนจะทำลายล้างรัฐบาล แต่เป็นเวทีซ้อมมือเพื่อเอาชนะรัฐบาล ด้วยการทำงานที่เต็มเปี่ยมและข้อเสนอที่ดีกว่า พวกเราจะชนะด้วยการเก็บเกี่ยวปัญหาและรู้วิธีแก้ปัญหาที่ดีกว่า มาแข่งกันเอาชนะใจประชาชน แม้พวกตนชนะการเลือกตั้ง แต่แพ้กติกาการจัดตั้งรัฐบาลในปัจจุบัน วันนี้อำนาจอยู่ในมือรัฐบาลขอให้ทำให้ดี เพราะเชื่อว่าผู้แพ้จากการทำงาน 4 ปีต่อจากนี้จะโดนบดขยี้ด้วยฉันทามติประชาชน ทั้งนี้ พวกตนไม่สามารถโหวตเห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ได้”

จากนั้น นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง กล่าวปิดท้ายว่า “ในนามรัฐบาล ขอบคุณสมาชิกที่ร่วมกันพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้ที่รัฐบาลเสนอ ขอเรียนว่าแม้การจัดงบรายจ่ายภายใต้เวลาที่เร่งด่วน และมีงบประจำ งบผูกพันที่รัฐบาลต้องดูแลอย่างเป็นธรรม แต่ยังมุ่งหวังทำชีวิตประชาชนให้ดีขึ้น สำหรับงบที่พิจารณาวาระอยู่นี้ มีไฮไลต์คือ 4 เพิ่ม 1 ลด ได้แก่ จัดงบประมาณเพิ่มขึ้น, งบลงทุน เงินคงคลังเพิ่มขึ้น และรายได้เพิ่มขึ้น มั่นใจจะขยายฐานภาษีผ่านการจัดเก็บรายได้อย่างเป็นธรรม และ 1 ลด คือลดการขาดทุน แม้จะเหลือเวลาใช้งบไม่นาน จะทำให้มีประสิทธิภาพและใช้อย่างมีคุณค่า”

กระทั่งหลังจากการอภิปรายยุติลง นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานการประชุมได้เปิดให้มีการลงมติ ผลปรากฏว่า มี สส.เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2567 จำนวน 311 คน (ลงคะแนนผ่านระบบ 310 คน แจ้งเพิ่มเติม 1 คน) ไม่เห็นด้วย 177 คน (ลงคะแนนผ่านระบบ 176 คน แจ้งเพิ่มเติม 1 คน) งดออกเสียง 4 คน เท่ากับร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ 2567 ผ่านการรับหลักการในวาระแรก

หลังจากนั้น ได้มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ฯ จำนวน 72 คน โดยใช้เวลาในการแปรญัตติ 30 วัน นัดประชุมครั้งแรกวันที่ 8 มกราคม 2567


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top