8 ปี ‘ประยุทธ์’ บริหารแบบไม่เอาใจประชาชน แต่ทำที่ทุกคนได้ในผลประโยชน์รวมเชิงประจักษ์

เห็นข่าว ‘บิ๊กตู่’ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ใส่อารมณ์เล็กๆ ให้ชวนสงสัย กับคำพูดซึ่งได้กล่าวถึงการใช้งบประมาณสำหรับการดูแลประชาชนต่อผู้สื่อข่าวที่ทำเนียบรัฐบาลว่า…

“ที่ผ่านมาเราใช้งบประมาณดูแลประชาชนเป็นล้านล้านบาทแล้ว ถือเป็นจำนวนไม่น้อย และเราดูแลเต็มที่แล้ว ถ้าจะเพิ่มงบไปอีก 8 แสนล้านบาทตามที่บางพรรคการเมืองเสนอ ตนไม่ได้พูดว่าพรรคไหน แต่ใครเป็นรัฐบาลไปดูเอาเองแล้วกัน ฝากดูแลเองไปหาเงินเอาเองแล้วกัน”

พลันที่คำพูดนี้เผยออกมา ก็มีการตั้งคำถามว่าพรรคไหน? หรือใครกัน? ที่คิดจะเสนอให้ปันงบก้อนนี้ออกมา ปันมาทำไม? ปันไปใช้เพื่ออะไร?

เพราะหากสะระตะกันดูเล่นๆ เงิน 8 แสนล้านบาท นี่มันก็คือตัวเลข 1 ใน 4 ของปีงบประมาณแผ่นดิน 2566 กันเลยทีเดียวเชียวนะ

แต่ก็อย่างว่าแหละ!! เรื่องแบบนี้มันไม่ใช่เรื่องเกินความคาดหมาย เพราะ ณ ห้วงเวลานี้ ในช่วงใบปะพรรคการเมือง เริ่มเกลื่อนเป็นหย่อมๆ ทั่วไทยแลนด์ แสดงให้เห็นถึงการประกาศศักดาของทุกพรรคการเมืองที่พร้อมลงสู่สนามเลือกตั้ง 

โดยในใบปะเหล่านั้น มิไม่มีเพียงแค่การแนะนำตัวบุคคลหรือพรรค หากแต่เปี่ยมล้นไปด้วยถ้อยคำชวนประชาให้นิยม จากแคนดิเดตว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ที่ต่างรับปากเป็นมั่นเป็นเหมาะว่า “เลือกผมได้แน่” / “เลือกอิชั้นได้มากกว่า” / “เลือกพรรคเรารับรองนโยบายนี้มา” ว่อน!!!

เมื่อหยิบจับสถานการณ์มาปะติดกับคำวาทกรรมเกรี้ยวกราดของ ‘ประยุทธ์’ มันเลยไปสะดุดได้ว่า ‘ทุกผู้-ทุกพรรค’ ที่พร้อมลงหาเสียงเลือกตั้ง ต้องมีเงินถังไว้แต่งแต้มฝันให้นโยบายของตนไปล่าผู้คนในมหาศึกกลยุทธ์ล่าประชานิยมเป็นแน่แท้

ยิ่งไปกว่านั้น หากถอดข้อเขียนของ ‘ลุงเปลวสีเงิน’ เมื่อวันที่ 2 ก.พ.66 ทีผ่านมา ประกบคำพูดของ ‘บิ๊กตู่’ เข้าไปอีก ก็พลันให้ร้องอ๋อ!! ได้แบบมัดแน่น ว่าเหตุใดคำตัดพ้อเช่นนั้นจึงออกจากน้องเล็กแห่ง 3ป. ให้ผู้คนสงสัย

นั่นก็เพราะ หากเหลียวไปมองนโยบายจากแต่ละพรรคที่ใช้หาเสียงกันตอนนี้ ช่างดูแล้วหนักใจ!! เนื่องจากนโยบายแต่ละพรรค ล้วนฟังดูไม่ต่างสลากสรรพคุณยา ประเภท ทาปุ๊บหายปั๊บ-กินปั๊บหายปุ๊บ, ทาผัวหอมถึงเมีย อะไรประมาณนั้น ซึ่งมันไม่ต่าง ‘ยาผีบอก’

แต่ที่สำคัญยิ่งกว่า คือ ‘ทุกนโยบาย-ทุกพรรค’ เอาเงิน ‘งบประมาณแผ่นดิน’ มาเป็นสัญญาว่า ‘จะแจก-จะให้’ ทั้งนั้น

ชาวบ้านตอนนี้ เลยเป็นเหมือนแมวหลงกลิ่นปลาย่างทาจมูก ด้วยการเอาเงินแผ่นดินไปตกเบ็ดชาวบ้าน เมื่อเข้ามาเป็นรัฐบาลแล้ว ทั้งๆ ที่เรารู้กันดีใช่มั้ยว่า...ภาษีที่เก็บจากชาวบ้านได้ปีละเท่าไหร่? แล้วมันพอหรือไม่?

ฉะนั้นการที่จะเอางบประมาณแผ่นดินไปทำสวัสดิการทำนองลดแลกแจกแถมชาวบ้านคนละ 3 พัน 4 พัน แถมนั่นฟรี-ฟรีนี่ / น้ำมัน-แก๊ส ก็ต้องถูก / ค่าไฟฟ้า-ค่ารถโดยสาร ก็ต้องถูก / ค่ารักษาพยาบาลก็ต้องฟรี / เฒ่าชแร-แก่ชรา ก็ต้องมีค่าขนม มันก็ยิ่งจะทำให้ไทยใกล้เป็น ‘รัฐสวัสดิการ’ เข้าไปเต็มตัวแล้ว!

คำถาม คือ แต่ละพรรค ต่างออกนโยบาย ‘สัญญาจะให้’ เห็นแล้วหนักใจ (แทนประเทศ) แต่เมื่อเข้าไปเป็นรัฐบาลแล้ว จะเอาเงินที่ไหนไป ‘ปรนเปรอ-แจกจ่าย’ ตามสัญญา?

เลิกพูดไปเลย เรื่อง ‘พัฒนาประเทศ’ เพราะแค่เงินเดือนข้าราชการกับค่ารายจ่ายประจำ งบประมาณแต่ละปี ก็แทบไม่เหลืออยู่แล้ว แล้วนี่ ยังจะแข่งกัน ‘ปล้นเอาเงินอนาคตประเทศ’ ไปตกเบ็ดหาเสียงอีก

ดังนั้นอยากให้ย้อนกลับมามอง ‘ประเทศไทย’ ในยุค 8 ปี ‘ประยุทธ์’ ที่หลายๆ ด้านมันพัฒนา ‘เกินหน้า-เกินตา’ ประเทศเพื่อนบ้านเขาไปเร็วมา เดี๋ยวติดอันดับประเทศคนมาท่องเที่ยวมากที่สุดบ้าง เดี๋ยวเป็นประเทศน่าอยู่-น่าลงทุนที่สุดบ้างเดี๋ยวเป็นประเทศที่ค่าเงินเสถียรที่สุดบ้าง เดี๋ยวเป็นประเทศที่คนใจดี-น่ารักที่สุดบ้าง เป็นประเทศที่โครงสร้างพื้นฐานคมนาคมและโทรคมนาคม สะดวก-เร็ว ที่สุดบ้าง 

มันดีจนเพื่อนบ้านในอาเซียนเขาเริ่ม ‘มองค้อน’ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าเรื่องเหล่านี้เกิดจากหัวใจนโยบายของผู้นำที่ ‘เข้าถึง-จริงใจ’ ในปรัชญาของมัน เขาจะไม่พล่ามพูด แต่งานที่เขาทำ มันจะพูดเอง

ไม่ใช่การใส่ ‘ประชานิยม’ เพื่อหวังเอาใจประชาชน แต่เลือกทำที่ประชาชนโดยส่วนรวมต้องอยากได้ และได้ในผลประโยชน์รวมเชิงประจักษ์!!

พูดง่ายๆ คือ นโยบายที่ดี บ้านเมืองต้องได้ สังคมต้องได้ ประชาชนต้องได้ และอยู่ร่วมกันได้ โดยไม่เหยียบหัวแม่ตีนกัน ซึ่งนี่คือ เผด็จการ ‘ประชาธิปไตย’

ส่วน ครอบครัวกูต้องได้ หัวหน้าคอกกูต้องรวย หมาในคอกกูต้องท้องเต่ง และใครไม่ใช่พวกกู ต้องเอามันให้ตาย
นี่คือ ประชาธิปไตย ‘ครอบครัว’

ฉะนั้น หากย้อนกลับมามองดูภาพรวมงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2566 วงเงินกว่า 3.18ล้านล้านบาทที่มีตอนนี้ จึงไม่ได้ถูกตั้งมาเพื่อไว้ใช้จ่ายแบบเอาสบาย แต่นักการเมืองต้องสำนึกเสมอว่า ตอนนี้ประเทศเรากำลังฟื้นจากอาการป่วยทั้งใจและกาย เราจะทำให้อย่างไรให้ประชาชนได้หลุดทุกข์แล้วสัมผัสสุขได้แบบยั่งยืน

เงิน 3.18 ล้านล้านบาท มันจึงเหมือนกับการจ่ายยา ที่ต้องจ่ายให้ถูกโรค ซึ่งถ้าทำได้ถูกต้องประเทศก็จะแข็งแรงเดินหน้าต่อได้ แต่ถ้าจ่ายยาผิด ก็ฟุบ!! 

นาทีนี้จึงไม่ใช่เวลา ที่รัฐบาล (ไหนๆ ก็ตาม) จะนำงบประมาณมาเล่นแร่แปรธาตุ แต่ต้องมองภาพใหญ่ โดยมีโจทย์ที่การขับเคลื่อน ‘เครื่องยนต์เศรษฐกิจ’ ให้กระดิก ไม่ว่าจะเป็น การลงทุนในภาครัฐ / ระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานสำคัญของประเทศ / เอื้อการลงทุนต่อภาคเอกชน-ต่างชาติ / ส่งเสริมภาคการส่งออก / ภาคการท่องเที่ยว / ภาคการศึกษา / ภาคการส่งเสริมนวัตกรรม เทคโนโลยีดิจิทัล และการแม้แต่เพิ่มศักยภาพของบุคลากรในประเทศ รวมถึงอื่นๆ ซึ่งอาจจะไม่ได้เป็นรูปแบบของการแจกจ่ายถึงมือประชาชนแบบทันทีทันใด แต่ก็ไม่ได้หายวับครั้งเดียวจบ .
เพราะการลงทุนเหล่านี้ คือ รากฐานสำคัญของประเทศชาติ ที่คนเป็นรัฐบาล เค้าต้องคิดมากกว่า ‘การหาเสียง’

และอย่าลืมว่า เศรษฐกิจไทยที่เริ่มฟื้นในบางส่วน ก็ยังต้องไล่ประคับประคองกันแบบติดพันมาตั้งแต่ก่อนโควิด พอโควิดไป ก็ไม่ใช่ว่าประเทศฟื้นแล้วเหลิง ยกตัวอย่างง่ายๆ ต่อให้การท่องเที่ยวเริ่มมา นักท่องเที่ยวมา แต่โครงสร้างแบบเดิม อาจได้เงินจากเขาบ้าง แต่มันไม่พอ รัฐบาลก็ต้องมีแผนการบูรณาการทุกภาคส่วนใหม่ เพื่อช่วยให้เกิดกระแสรายได้เข้าสู่ประเทศแบบยั่งยืน เหมือนที่พยายามผลักดันคำว่า Soft Power เพื่อเพิ่มมูลค่าความเป็นไทย ซึ่งก็ต้องจ่ายยาที่เรียกว่างบประมาณไปกระตุ้นให้ถูกจุด

งบประมาณแผ่นดิน อยู่ในมือคนดี ก็เหมือนมีแม่บ้านขี้งก ที่จะใช้กับประโยชน์เพื่อปากท้องคนทุกคนในครอบครัว ไม่ใช่ปล่อยให้ลูกคนไหน มาบอกว่าขอไปเปย์สาว เลี้ยงเพื่อน เยือนเมืองนอก แล้วปล่อยให้คนในบ้านได้แต่ถอนหายใจหรอกกระมัง