Sunday, 5 May 2024
กัมมันตรังสี

สธ.เผยยังไม่พบ ‘ซีเซียม-137’ หลุดกำบัง  สั่งเตรียมผู้เชี่ยวชาญ - โรงพยาบาลรองรับ

ปลัด สธ.เผยยังไม่พบข้อมูล สารซีเซียม-137 หลุดจากเครื่องกำบัง สั่งกองสาธารณสุขฉุกเฉินเตรียมผู้เชี่ยวชาญและ รพ.รองรับเฝ้าระวังผลกระทบด้านสุขภาพ

เมื่อวันที่ 14 มี.ค. นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีวัตถุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 (Cesium-137, Cs-137) ของโรงไฟฟ้าแห่งหนึ่งใน อ.ศรีมหาโพธิ์ จ.ปราจีนบุรี สูญหาย ทำให้เกิดความกังวลอาจมีผู้ที่ไม่ทราบเป็นวัตถุอันตรายและสัมผัสจนส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ว่า สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ปราจีนบุรีรายงานข้อมูลเบื้องต้นว่า วัตถุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ที่สูญหาย มีลักษณะเป็นแท่งทรงกลม ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 5 นิ้ว มีตะกั่วปกป้องอยู่ชั้นในและห่อหุ้มด้วยเหล็ก ซึ่งหากยังอยู่ในสภาพเดิมจะไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนและสิ่งแวดล้อม ซึ่งขณะนี้ยังค้นหาไม่พบ จากการประเมินสถานการณ์ปัจจุบัน ยังไม่มีข้อบ่งชี้ว่า วัตถุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ที่สูญหายได้หลุดออกจากเครื่องกำบัง จึงยังไม่ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของประชาชนและสิ่งแวดล้อม

อย่างไรก็ตาม ได้สั่งการให้กองสาธารณสุขฉุกเฉิน เตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ รวบรวมรายชื่อผู้เชี่ยวชาญด้านกัมมันตรังสี อาทิ นายแพทย์เชี่ยวชาญ สถาบันอาชีวเวชศาสตร์และเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อม รพ.นพรัตนราชธานี , ผู้เชี่ยวชาญด้านการคำนวณปริมาณรังสีจากแหล่งกำเนิดรังสีภายในร่างกาย การป้องกันอันตรายจากรังสี และรังสีกับสุขภาพ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี และผู้เชี่ยวชาญด้านวัตถุอันตราย จากกรมโรงงานอุตสาหกรรม เป็นต้น รวมทั้งเตรียมประสาน รพ.นพรัตนราชธานี และ รพ.รามาธิบดี กรณีรับส่งต่อผู้ที่ได้รับผลกระทบจากรังสี

ชวนรู้จัก ‘ซีเซียม-137’ สารกัมมันตรังสีสุดอันตราย ชี้ ถ้าได้รับปริมาณมาก ‘ก่อมะเร็ง-พันธุกรรมผิดปกติ-ส่งผลถึงชีวิต’

ชวนรู้จัก ‘ซีเซียม-137’ สารกัมมันตรังสี สุดอันตรายที่หายออกจากโรงไฟฟ้า ใช้ทำอะไร-คร่าชีวิตคนได้จริงหรือ ทำไมต้องตามหากันวุ่น

เป็นประเด็นที่ผู้คนให้ความสนใจ สำหรับกรณีท่อบรรจุสาร 'ซีเซียม-137' หรือ 'Cs-137' หายเป็นปริศนาจากโรงไฟฟ้าพลังงานไอน้ำ จ.ปราจีนบุรี โดยเกรงว่าหากมีผู้สัมผัสอาจเกิดอันตรายได้ พร้อมตั้งรางวัลนำจับไว้ 50,000 บาท สำหรับผู้ชี้เบาะแสนำไปสู่การติดตามวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 กลับคืนมาได้ วันนี้ทีมข่าวสดขอพาทุกคนมาทำความรู้จักซีเซียม-137กัน

ซีเซียม-137 (Caesium-137) คืออะไร

ซีเซียม-137 คือ สารไอโซโทปของซีเซียมซึ่งเป็นสารกัมมันตรังสีที่มีเลขอะตอมเท่ากับ 55 มีครึ่งชีวิต 30 ปี จาก 300 ปี สลายโดยปล่อยรังสีบีตาและรังสีแกมมา เป็นหนึ่งในผลผลิตการแบ่งแยกนิวเคลียส นอกจากนี้ซีเซียม-137 ยังเป็นสารก่อมะเร็ง

ประโยชน์ของซีเซียม-137

ซีเซียม-137 มีประโยชน์อย่างมากในด้านอุตสาหกรรม เนื่องจากมีความแรงรังสีสูง มีเครื่องมือมากมายที่ใช้ซีเซียม-137 อาทิ

-เครื่องวัดความชื้นและความหนาแน่น ที่ใช้ในอุตสาหกรรมก่อสร้าง
-เครื่องวัดระดับ เพื่อตรวจวัดการไหลของของเหลวในท่อและแทงก์
-เครื่องวัดความหนา สำหรับวัดความหนาของแผ่นโลหะ กระดาษ ฟิล์ม และอื่น ๆ
-เครื่องหยั่งธรณี ในอุตสาหกรรมขุดเจาะ เพื่อช่วยบอกลักษณะเฉพาะของชั้นหินต่าง ๆ

นอกจากนี้ยังใช้ในทางการแพทย์ โดยใช้บำบัดมะเร็ง ใช้เป็นต้นกำเนิดรังสีแกมมา

ซีเซียม-137 เข้าสู่สิ่งแวดล้อมได้อย่างไร?

ซีเซียม-137 ในสิ่งแวดล้อมมาจากต้นกำเนิดหลายชนิด แต่ที่ใหญ่ที่สุดและมาจากต้นกำเนิดเดียวคือ ฝุ่นกัมมันตรังสี (Fallout) จากการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ในบรรยากาศ ในช่วงปี พ.ศ. 2490 และ 2500 ทำให้มีการกระจายและการสะสมของซีเซียม-137ไปทั่วโลก แต่อย่างไรก็ตามซีเซียม-137จำนวนดังกล่าวได้สลายตัวไปมากกว่า 1 ครึ่งชีวิตแล้ว

นอกจากนี้ กากและอุบัติเหตุจากเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์สามารถปล่อยซีเซียม-137 ได้เช่นกัน เช่น อุบัติเหตุที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิล ในยูเครน ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพในระดับสูง

สำหรับประเทศไทยเคยเกิดเหตุการณ์ซีเซียม-137หาย ย้อนกลับไปเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2543 มีคนเก็บเอาแท่งโคบอลต์-60 ที่ใช้ในเครื่องฉายรังสีทางการแพทย์ที่เสื่อมสภาพและถูกทิ้งไว้ในบริเวณลานจอดรถเก่าไปขายให้ร้านรับซื้อของเก่า ซึ่งแท่งนี้ถูกนำมาแยกชิ้นส่วนจนทำให้กัมมันตรังสีข้างในแผ่ออกมา มีผู้บาดเจ็บรุนแรงถึง 12 คน

ซีเซียม-137 เข้าสู่ร่างกายคนเราได้อย่างไร

เราอาจได้รับซีเซียม-137 จากการบริโภคอาหารที่มีการปนเปื้อน หรือสูดดมฝุ่น ถ้าซีเซียม-137เข้าสู่ร่างกายจะกระจายตัวไปทั่วร่างกาย เมื่อเทียบเวลาตกค้างของซีเซียม-137 กับสารกัมมันตรังสีตัวอื่น ซีเซียม-137 มีเวลาสั้นมากและจะถูกขับออกมาทางปัสสาวะ

หากได้รับซีเซียม-137 ควรรับประทานปรัสเซียนบลู (Prussian blue) ซึ่งเป็นสารให้สีน้ำเงินและไม่เป็นพิษ มีการประยุกต์ใช้ในทางการแพทย์คือ เป็นยาต้านพิษไอโซโทปรังสีของซีเซียมและแทลเลียม และใช้ย้อมสีเนื้อเยื่อเพื่อดูการสะสมของธาตุเหล็ก

ความเสี่ยงต่อสุขภาพ หากได้รับซีเซียม-137 เข้าสู่ร่างกาย

'เอนก' ยันสารซีเซียม-137 ที่พบ 2 จุด ยังไม่น่าวิตก เล็งเรียกถกคณบดีแพทย์ ร่วมวางแผนเฝ้าระวัง

‘เอนก’ ขอ ปชช.สบายใจ ยังไม่พบซีเซียม-137 เกินค่ามาตรฐาน เรียกถกคณบดีแพทย์กว่า 20 สถาบัน วางแผนเฝ้าระวัง ย้ำปิดพื้นที่ห้ามเข้า-ออก ชี้ต้องทำงานด้วยหลักการ ไม่ใช่สามัญ เผย "นายกฯ" ย้ำเอาข้อมูลความจริงมาทำความเข้าใจปชช. ต้องสอบทานได้ ยันไม่มีงุบงิบ-ฮั้วโรงงาน 

เมื่อเวลา 09.20 วันที่ 21 มีนาคม 2566 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมร่วมกับเลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ว่า จากการรายงานสรุปข้อมูล เบื้องต้นจากการสอบทานและตรวจสอบ ดิน น้ำอากาศ ในบริเวณ 2 จุด คือ ที่ซีเซียมหาย และบริเวณที่พบซีเซียม ไม่มีค่ากัมมันตรังสีที่มากกว่าค่าปกติ ในระดับที่เป็นอันตราย ยังไม่มีอะไรที่น่าวิตกมากนัก แต่ยังต้องระวัง โดยมีการตั้งจุดตรวจทั่วประเทศ 18 จุด และตรวจในน้ำในทะเลอีก 5 จุด ทั้งหมดรายงานมาว่ายังไม่พบซีเซียมอยู่ในระดับที่เกินค่ามาตรฐานปกติ ในตอนนี้ให้เบาใจได้

นอกจากนั้น จะให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่มีวิชาและคณะสาขาที่มีความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับเรื่องปรมาณูและกัมมันตรังสี เข้าไปตรวจสอบ และจะเปิดให้สื่อมวลชนเข้าไปร่วมรับฟังรับรู้ในการตรวจวัดปริมาณซีเซียมในระยะต่อไป เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าไม่มีปริมาณซีเซียมในดิน น้ำ อากาศ ที่เป็นอันตราย เราต้องติดตามอย่างจริงจัง ไม่ใช่รับฟังรายงานอย่างเดียว

นายเอนก กล่าวว่า นอกจากนั้นจะประสานไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ว่ามีกัมมันตรังสีแพร่กระจายหรือไม่ และขอให้รายงานมาที่ประเทศไทย และรายงานต่อองค์การระดับโลก ที่ทำงานเกี่ยวกับการควบคุมกัมมันตรังสีได้รับทราบด้วยว่าปริมาณซีเซียมในดิน น้ำ อากาศ ในประเทศรอบบ้านเรา ยังไม่มีระดับที่ผิดปกติอะไร ถ้าเป็นอย่างนั้นก็จะมั่นใจขึ้น และขณะนี้ยังไม่ได้รับรายงานจากทางโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย โรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ว่ามีคนที่บาดเจ็บ หรือสุขภาพได้รับความเสียหายจากกัมมันตรังสี จึงเบาใจได้เพิ่ม แต่ย้ำว่าไม่ละเลยเรื่องนี้ โดยเวลา 12.00 น.วันเดียวกัน ตนจะเชิญคณบดีคณะแพทยศาสตร์ของโรงเรียนแพทย์ทั้งหมด กว่า 20 แห่ง มาประชุมเพื่อสั่งการว่าจะเตรียมการอย่างไร

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะต้องมีการควบคุมพื้นที่บริเวณดังกล่าวไว้ก่อนหรือไม่ นายเอนก กล่าวว่า ใช่ ในพื้นที่มีการก่ออิฐ มีการใช้วิทยาการระดับสูงเข้าไปดำเนินการ ไม่ใช่ทำตามสามัญสำนึก ส่วนการกำจัดกากที่เหลือ ได้มอบให้สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์ที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายเข้าไปดำเนินการ และมีวิธีทำงานให้เกิดความปลอดภัย

เมื่อถามว่า จะต้องมีระยะเวลาติดตาม เฝ้าระวัง ตรวจสอบ ไปนานแค่ไหน นายเอนก กล่าวว่า ให้ใช้เวลาทำงานให้เต็มที่ เพื่อให้ประชาชนเกิดความสบายใจ โดยจะสอบทานจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งประเทศเพื่อนบ้าน ที่ไม่พบกัมมันตรังสี และจากไอเออีเอ ที่มีหน้าที่ดูแลเกี่ยวกับกัมมันตรังสีทั่วโลก ว่าพบมีรายงานสั่งไปพบที่ประเทศใด เพื่อให้สบายใจ เพราะดูแล้วว่าประชาชนสนใจเรื่องนี้มากกว่าการยุบสภา และเวลานี้ได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงไปทำความเข้าใจกับประชาชนเต็มที่หลายหน่วยงานลงไปช่วยกัน และจะเพิ่มมากขึ้นโดยสำนักงานได้ลงไปตั้งกองบัญชาการส่วนหน้าที่จุดเกิดเหตุมีนักนิวเคลียร์ นักฟิสิกส์ ลงไปช่วย และรายงานว่าสถานการณ์ยังไม่อยู่ในระดับที่น่าวิตก

เมื่อถามถึงกรณีภาพที่เผยแพร่การปิดล้อมโรงงานหลอมเหล็กที่พบสารซีเซียม-137 ทำให้ประชาชนเกิดความไม่มั่นใจว่าจะสามารถดูแลป้องกันสุขภาพและสารกัมมันตรังสีได้มากน้อยแค่ไหน ว่ามั่นใจได้ทำตามหลักวิชาและเรื่องกัมมันตรังสีอยากเรียนให้พี่น้องได้เข้าใจด้วยว่าเป็นเรื่องสากลด้วยมาตรการต่างๆ ที่เราใช้จะต้องถูกกำหนดโดยองค์การระดับประเทศทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (International Atomic Energy Agency: IAEA) เข้ามาตรวจสอบเราเป็นระยะๆ อยู่เสมอ ถ้าบอกว่าล้อมเอาไว้เพื่อไม่ให้กัมมันตรังสีเผยแพร่ออกไป มันถูกกำหนดไว้หมดว่าจะต้องทำอย่างไร มันไม่ใช่เรื่องวิตกเฉพาะเมืองไทยหรือประเทศอื่นๆ เท่านั้น แต่กัมมันตรังสีสามารถแพร่ไปได้ทั่วโลก เพราะฉะนั้นประเทศอื่นๆ ก็เข้ามาตรวจสอบของเราด้วย

"เรื่องนี้ถ้าถามว่ารัฐบาลคิดอย่างไร ผมกราบเรียนได้เลยว่า ผมได้กราบเรียนท่านนายกฯ วันนี้จะเรียกประชุมคณะกรรมการพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ ซึ่งมีหน้าที่ทางวิชาการส่วนเรื่องการกันพื้นที่เป็นเรื่องของทางจังหวัด นายกฯ บอกว่าให้เอาความจริงออกมาให้พูดข้อมูลตามที่เป็นจริงและให้ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้เข้าใจ ซึ่งจะเข้าใจได้ก็ต้องรับรู้รับทราบในข้อมูลและสอบถามได้ เพราะฉะนั้นที่บอกว่าเราจะฮั้วกับโรงงานนั้น บอกได้เลยว่ารัฐบาลโดยเฉพาะระดับสูงระดับนายกระดับกระทรวงระดับกรมเราทำจริงจังแน่ และเรื่องนี้เป็นนโยบายที่เป็นมาตรฐานสากลด้วย ดังนั้น เราจะมาทำแบบงุบงิบไม่ได้" นายเอนก กล่าว

ด้าน นายเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ เลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่มีการเผยแพร่ภาพที่เก็บสิ่งปนเปื้อนสารซีเซียม-137 ถูกตั้งข้อสังเกตว่ามีการกักเก็บไม่มิดชิด ว่าภาพดังกล่าวเราเปิดเพื่อถ่ายรูป พอถ่ายเสร็จก็ปิด ทั้งนี้ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติมีการตั้งศูนย์เฉพาะกิจที่โรงงานหลอมเหล็กดังกล่าว เพื่อสร้างความมั่นใจ และเพื่อตรวจวัดโรงงานและบริเวณรัศมีรอบๆ เป็นชั้นๆ ต่อเนื่อง รวมถึงการวัดดิน น้ำ อากาศ อาหารที่อยู่ในตลาด จะมีการเก็บมาตรวจสอบทั้งหมด เพื่อความมั่นใจในการทำมาหากินของประชาชน

‘แพทย์’ ห่วง ปชช. กังวล เหตุซีเซียม-137 แนะใช้สมุนไพรไทย สร้างเกราะป้องกันสารพิษ

หลังจากมีข่าวว่าซีเซียม-137 หายจากโรงไฟฟ้าไอน้ำ ในพื้นที่จังหวัดปราจีนบุรี และมีรายงานจากภาครัฐว่า วัตถุดังกล่าวถูกหลอมจนกลายเป็นฝุ่นเล็กปนเปื้อนกัมมันตรังสีไปแล้ว สร้างความกังวลให้แก่ประชาชนในพื้นที่ และหลายคนเกรงว่าอาจมีผลกระทบต่อร่างกายและสิ่งแวดล้อม

ทางทีมข่าว THE STATES TIMES ได้เข้าสัมภาษณ์ ดร.ภญ.ผกากรอง ขวัญข้าว ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร โดยระบุว่า…ไม่อยากให้ประชาชนตื่นตระหนก เพราะอุบัติเหตุในลักษณะนี้มีโอกาสเกิดขึ้นได้ โดยก่อนหน้านี้ประเทศไทย เคยเกิดเหตุเครื่องฉายรังสีโคบอลต์-60 ที่ไม่ใช้แล้วถูกแยกชิ้นส่วนออกมา ครั้งนี้จึงเป็นโอกาสที่จะได้เรียนรู้ เพื่อป้องกันการเกิดซ้ำ และการดูแลสุขภาพเมื่อมีความจำเป็น

ดังนั้นการสัมผัสสารอันตราย จำเป็นต้องรู้ว่าเราสัมผัสที่ตัวสารกัมมันตรังสี หรือสัมผัสรังสี ซึ่งผลจะต่างกัน หากสัมผัสสารกัมมันตรังสี ซีเซียม-137 อาการที่พบ อาจมีไข้ คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ถ่ายเหลว  ส่วนผิวหนังบริเวณที่โดนรังสีจะเกิดแผลไหม้พุพอง กรณีได้รับในปริมาณมาก จะส่งผลกระทบต่อระบบเลือด กดไขกระดูก ระบบประสาท ชักเกร็ง และอาจเสียชีวิตได้ 

เมื่อรัฐบาลสหรัฐฯ ปิดข่าว 'กัมมันตภาพรังสี' 1.4 ล้านลิตร รั่ว!! ปนเปื้อนในน้ำที่รัฐมินนิโซตา ตั้งแต่เดือน 11 ปี 2022

เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา ทางการรัฐมินนิโซตา รายงานเหตุน้ำปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีกว่า 4 แสนแกลลอน (1.4 ล้านลิตร) รั่วออกจากโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ของบริษัท Xcel Energy ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองมอนติเซลโล ในรัฐมินนิโซตา 

การรั่วไหลเกิดขึ้นภายในท่อส่งน้ำใต้ดินที่เชื่อมต่อระหว่าง 2 อาคาร หลังผ่านกระบวนการผลิตกระแสไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์และมีปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีของไฮโดรเจน และ ทริเทียม ซึ่งน้ำกัมมันตรังสีที่รั่วไหลนี้มีปริมาณเท่ากับน้ำในสระว่ายน้ำขนาดมาตรฐานโอลิมปิกกว่าครึ่งสระ 

แต่เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ปีที่แล้ว (2565) โดยบริษัท Xcel Energy ได้ทำรายงานส่งไปถึงรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ในวันที่ 22 พฤศจิกายน 65 แต่ทว่ารัฐบาลกลางสหรัฐสั่งให้ปิดข่าวก่อนจนกว่าจะได้ข้อมูลเพิ่มเติม ซึ่งชาวอเมริกันก็เพิ่งทราบข่าวการรั่วไหลของน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีนี้เมื่อช่วงกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมานี้เองผ่านสื่อของสหรัฐฯ

Xcel Energy มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในรัฐมินนิโซตาถึง 2 แห่ง ส่วนโรงงานที่มีปัญหา ตั้งอยู่ในเมืองมอนติเซลโลที่มีประชากรมากถึง 15,000 คน และอยู่ห่างจากเมือง มินนีแอโพลิส เมืองที่ใหญ่ที่สุดของรัฐเพียง 40 ไมล์เท่านั้น แถมโรงงานยังตั้งอยู่บนต้นแม่น้ำมิสซิสสิปปี ที่ไหลผ่านด้านหลังโรงงานอีกด้วย ทำให้ชาวเมืองกังวลถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และยิ่งหวาดวิตกที่ทราบว่าทางรัฐบาลกลางตั้งใจที่จะปิดข่าวไม่ให้สาธารณชนรับรู้ 

แต่ทางโรงไฟฟ้า Xcel ได้ให้เหตุผลว่าการที่ปกปิดข่าวการรั่วไหลของน้ำปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีของโรงไฟฟ้า Xcel เพราะน้ำที่รั่วไหลไม่ได้มีปริมาณมากจนถึงเกณฑ์ที่ต้องประกาศออกสื่อ 

นอกจากนี้ทางบริษัทยังทำงานร่วมกับ คณะกรรมการกำกับกิจการนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ และเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นในการติดตามข้อมูล จัดเก็บน้ำที่รั่วซึมสู่ชั้นบาดาล แล้วนำมาแปรรูปกลับมาใช้ใหม่แล้ว โดยยืนยันว่าไม่มีรังสีปนเปื้อนในระดับที่เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต 

แต่เหตุที่ทำให้การรั่วไหลของน้ำกัมมันตรังสีกลายเป็นข่าว เนื่องจากหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมของรัฐมินนิโซตา เคยเข้าไปสุ่มตรวจน้ำในบ่อน้ำแห่งหนึ่งของเมือง และพบสารทริเทียมปนเปื้อนอยู่ในบ่อน้ำ ซึ่งตอนนั้นทาง Xcel ยังไม่ได้แถลงข่าวเรื่องการรั่วไหลของน้ำเสียดังกล่าว หลังจากที่ปิดข้อมูลมานานกว่า 4 เดือน 

‘ศธ.’ สั่ง เฝ้าสังเกตอาการนักเรียน-ครู ในพื้นที่เสี่ยง หวั่น ‘สารซีเซียม-137’ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพระยะยาว

(22 มี.ค. 66) ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า  ได้เสนอแนะต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ถึงกรณีเหตุการณ์ที่วัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 หายไปจากโรงไฟฟ้าในจังหวัดปราจีนบุรี และได้ตรวจพบสารปนเปื้อนชนิดเดียวกันนี้ไปอยู่ที่โรงงานหลอมเหล็กในรูปแบบฝุ่นโลหะ โดยมีความเป็นห่วงอย่างมากและต้องการให้เกิดมาตราการที่เข้มงวด ชัดเจน และเริ่มตั้งแต่ต้นทาง คือ การควบคุมสารกัมมันตรังสีจะต้องมีการตรวจเช็กอยู่ตลอดเวลา ต้องไม่มีการสูญหาย หรือกรณีที่เกิดสูญหายขึ้นมา ระหว่างทางต้องมีการตรวจสอบให้ชัดเจนว่าพื้นที่ไหน สถานที่ไหน และบุคคลไหนเกี่ยวข้องและมีความเสี่ยงบ้าง แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นขณะนี้ ขบวนการทำงานของภาครัฐไปมุ่งเน้นที่ปลายเหตุ เช่น ไปตรวจสอบซีเซียมยังไม่ฟุ้งกระจายในอากาศ ยังไม่พบปริมาณรังสีในคนงาน เป็นต้น

รวมไปถึงผู้ที่ได้รับใบอนุญาตครอบครองหรือใช้สารกัมมันตรังสี ต้องมีมาตรการที่เข้มงวดในการตรวจตราสารกัมมันตรังสีที่ใช้ไม่ให้เกิดการสูญหาย และหากตรวจพบว่าสูญหาย ต้องมีมาตรการหรือแผนเผชิญเหตุ ว่าจะกระจายไปที่ไหน อย่างไร จากการเคลื่อนย้าย และต้องให้ข้อมูลที่ชัดเจนกับประชาชน เพื่อให้เขาได้รู้เข้าเป็นผู้ที่มีความเสี่ยงหรือเปล่า เพราะคุณสมบัติของสารกัมมันตรังสี คือ มีครึ่งชีวิต (Half Life) ที่ยาวนานเป็นเวลา 30 ปี และอยู่ได้นับ 100 ปี เพราะฉะนั้น มีอันตรายมากหากไม่สามารถตรวจสอบได้

“ปัญหาที่เกิดขึ้นตอนนี้ คือ ทุกคนไปมองที่ปลายเหตุหมด เพราะฉะนั้น ภาครัฐฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องมีมาตราการที่เข้มงวดไม่เฉพาะกรณีซีเซียม-137 แต่รวมถึงสารกัมมันตรังสีที่มีอันตรายทั้งหมด เริ่มต้นตั้งแต่ผู้ที่รับใบอนุญาตมา และวันนี้ที่ซีเซียม-137 สูญหายระหว่างทางจนไปถึงโรงหลอม ระหว่างทางไปตรงไหนบ้าง ต้องตรวจสอบให้หมด ไม่ใช่ไปดูแค่ปลายทางว่าพบแล้ว และยังไม่มีผู้ได้รับอันตราย ดังนั้นย้ำ ว่าอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นรัฐหรือเอกชนต้องให้ความสำคัญกับต้นเหตุ และต้นตอให้มากที่สุด” ดร.คุณหญิงกัลยา กล่าว

‘เทปโก้’ เผย ผลตัวอย่างน้ำทะเล ‘โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ’ หลังทำการปล่อยน้ำเสียสู่ทะเล ยัน!! ยังอยู่ในระดับปลอดภัย

เมื่อวานนี้ (25 ส.ค.66) สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า บริษัทโตเกียว อิเล็กทริก พาวเวอร์ หรือ ‘เทปโก้’ ผู้เป็นเจ้าของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ในประเทศญี่ปุ่นเผยเมื่อวันที่ 25 สิงหาคมว่า ผลตรวจตัวอย่างน้ำทะเลหลังการเริ่มปล่อยน้ำปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี ที่ผ่านการบำบัดแล้วของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะลงสู่ทะเลเมื่อวานนี้ (24 ส.ค.) แสดงให้เห็นว่าระดับกัมมันตภาพรังสีในน้ำยังอยู่ในระดับที่ปลอดภัย

นายเคสุเกะ มัตซึโอะ โฆษกของเทปโก้กล่าวในการแถลงข่าวว่า “เรายืนยันว่าค่าที่วิเคราะห์ได้นั้นต่ำกว่า 1,500 เบ็กเคอเรลต่อลิตร” โดยหน่วยวัด เบ็กเคอเรลต่อลิตร จะถูกใช้ในการวัดระดับกัมมันตภาพรังสี ซึ่งค่ามาตรฐานความปลอดภัยแห่งชาติได้ระบุไว้ที่ 60,000 เบ็กเคอเรลต่อลิตร

นายมัตซึโอะกล่าวอีกว่า การตรวจตัวอย่างน้ำดังกล่าวได้ผลลัพธ์ที่คล้ายกับผลการทดสอบก่อนหน้านี้ และได้ค่าที่ต่ำกว่าระดับมาตรฐานความปลอดภัยที่ระบุไว้อย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนั้นแล้ว ทางหน่วยงานจะทำการวิเคราะห์ต่อไปทุกวันตลอด 1 เดือนข้างหน้าและหลังจากนั้น รวมถึงหวังว่าการให้คำอธิบายที่เข้าใจง่ายและรวดเร็วนี้ จะช่วยคลายความกังวลของหลายคนได้ ด้านกระทรวงสิ่งแวดล้อมของญี่ปุ่นก็ได้มีการเก็บตัวอย่างน้ำทะเลจาก 11 แห่งเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม เพื่อนำไปตรวจสอบและจะมีการประกาศผลที่ได้ในวันที่ 27 สิงหาคมนี้

นอกจากนั้นแล้ว สืบเนื่องจากที่ประเทศจีนได้มีคำสั่งแบนการนำเข้าอาหารทะเลทั้งหมดจากประเทศญี่ปุ่นเมื่อวานนี้ หลังเริ่มปล่อยน้ำเสียที่ผ่านการบำบัดของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะลงสู่ทะเล ล่าสุด รายงานของเทอิโคคุ ดาตาแบงก์ บริษัทวิจัยตลาดเผยว่า บริษัทผู้ส่งออกอาหารของประเทศญี่ปุ่นไปยังประเทศจีนจำนวน 727 แห่ง ได้รับผลกระทบจากคำสั่งแบนดังกล่าวของจีน ซึ่งคิดเป็นราว 8% ของบริษัทญี่ปุ่นทั้งหมดที่ส่งสินค้าไปยังจีน

ประเทศญี่ปุ่นส่งออกผลิตภัณฑ์ทางทะเลไปยังประเทศจีนในปี 2022 เป็นมูลค่าราว 600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 21,066 ล้านบาท ถือเป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น โดยการส่งออกไปยังประเทศจีนและฮ่องกงคิดเป็นสัดส่วน 42%  ของการส่งออกผลิตภัณฑ์ทางทะเลทั้งหมดของญี่ปุ่นในปี 2022

นายยาสึโตชิ นิชิมูระ รัฐมนตรีการค้าและอุตสาหกรรม ผู้รับผิดชอบในด้านนโยบายนิวเคลียร์ของญี่ปุ่น ได้วิงวอนให้นายฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นเรียกร้องให้จีนยกเลิกการแบนดังกล่าว

สื่อจีน เล่นแรง!! ยก 24 ส.ค.2023 'วันภัยพิบัติจากนิวเคลียร์โลก' หลัง รบ.ญี่ปุ่นเริ่มปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีสู่ทะเลเป็นครั้งแรก

(28 ส.ค. 66) เพจเฟซบุ๊ก ‘ลึกชัดกับผิงผิง’ สื่อที่อยู่ภายใต้การควบคุมจากรัฐของจีน ได้โพสต์ข้อความเกี่ยวกับการปล่อยน้ำปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีของญี่ปุ่น โดยระบุว่า…

#สัตว์บาปเริ่มแก้แค้นทั่วโลก

เมื่อวันที่ 24 สิงหาคมที่ผ่านมา รัฐบาลญี่ปุ่นเริ่มปล่อยน้ำปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีลงสู่มหาสมุทรเป็นครั้งแรก โดยไม่นำพาการคัดค้านอย่างรุนแรงของประชาคมโลก โดยเฉพาะชาวจีนและเกาหลีใต้

นาย ‘ฮูเหอฉีหลิน’ (乌合麒麟) จิตรกรชื่อดังชาวจีน เสนอผลงานภาพการ์ตูนล่าสุดชื่อภาพ ‘สัตว์บาปเริ่มแก้แค้นทั่วโลก’ โดยมีคำบรรยายภาพ “มันจะทำให้ชาวโลกเสียชีวิตพร้อมกันหรือ” นับเป็นภาพที่แรงมาก แต่แสดงออกถึงอารมณ์โกรธและความกังวลอย่างยิ่งของชาวจีน

การวิจัยที่เกี่ยวข้องของนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกแสดงให้เห็นว่า น้ำเสียที่ปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีที่ปล่อยจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ จะไหลไปยังมหาสมุทรทั่วโลกใน 10 ปีนับจากนี้ ขณะที่โครงการปล่อยน้ำเสียนิวเคลียร์ของญี่ปุ่นจะดำเนินการเป็นเวลา 50 ปี และสารกัมมันตรังสีส่วนหนึ่งจะอยู่ได้เป็นเวลาหมื่นปี

น้ำปนเปื้อนนิวเคลียร์ดังกล่าวมีสารกัมมันตรังสีกว่า 60 ชนิด ทางการญี่ปุ่นบอกว่าเป็นน้ำที่ได้รับการบำบัดมาแล้ว เราเป็นชาวบ้าน ไม่รู้ว่าจริงหรือไม่จริง แต่ทำไมญี่ปุ่นไม่เก็บไว้ใช้เอง อย่างน้อยก็เอาไปใช้ในการเพาะปลูกพืชที่รับประทานได้ ปลูกหญ้าและปลูกป่าก็ได้  แต่จะมุ่งมั่นปล่อยลงสู่ทะเล น้ำเหล่านี้ปลอดภัยจริงหรือ

สื่อจีนระบุ วันที่ 24 สิงหาคม ค.ศ. 2023 เป็น ‘วันภัยพิบัติจากนิวเคลียร์โลก’

‘อดีตนักเดินเรือเก่า’ แอบหวั่น!! อาหารทะเลนำเข้าจากญี่ปุ่น ความปลอดภัยที่ยังถูกตั้งคำถาม หลังน้ำปนเปื้อนล่องทะเล

(29 ส.ค.66) ข้อมูลของผู้ใช้เฟซบุ๊ก ‘Naruphun Chotechuang’ โดย ‘คุณนฤพันธ์ โชติช่วง’ อดีตนักเรียนวิทยาลัยยามชายฝั่งญี่ปุ่น ได้โพสต์ให้ความรู้กรณีญี่ปุ่นปล่อยน้ำปนเปื้อนกันตรังสีสู่ทะเลไว้ว่า...

เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสไปทานโอโทะโระลายสวย ๆ จากรูปภาพที่ 1 ในราคา 10 ชิ้น 399 บาท (ตกเฉลี่ยชิ้นละ 40 บาท) เมื่อทานแล้วคุณภาพไม่ต่างจากโอโทะโระที่ญี่ปุ่นระดับราคา 3 ชิ้นพันเยนเลย (ตกเฉลี่ยชิ้นละ 33.3 บาท) ก็ถือว่าทานทิ้งทวนก่อนจะลดการทานอาหารทะเลสักพัก อันเนื่องจากข่าวการปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีที่ได้รับการบำบัดแล้วลงสู่ทะเลของประเทศญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 24 สิงหาคมที่ผ่านมา

ขอเกริ่นต้นเหตุของเรื่องก่อนนะครับ เมื่อ 12 ปีที่แล้วเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่ญี่ปุ่น จนทำให้เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ของโรงผลิตไฟฟ้าฟุคุชิมะหมายเลขหนึ่งเกิดการเมลท์ดาวน์ จึงต้องนำที่ใช้หล่อเย็นแกนพลังงานของเตาปฏิกรณ์และน้ำเหล่านั้นก็ปนเปื้อนกัมมันตรังสี ปริมาณน้ำเหล่านั้นคาดว่าต้องใช้เวลาอย่างน้อย 30 ปีในการทยอยปล่อยน้ำที่บัดบำแล้วจนกว่าจะหมด แต่ถึงแม้จะได้รับการอนุญาตจากทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) แล้วว่าปริมาณการปนเปื้อนกัมมันตรังสีนั้นอยู่ใน ‘ระดับที่มองข้ามได้’ ว่าแต่มันปลอดภัยต่อสิ่งมีชีวิตในทะเล ธรรมชาติ และมนุษย์จริงหรือไม่ ยังเป็นเครื่องหมายคำถามอยู่ดี 

แล้วมันเกี่ยวอะไรกับการลดการทานอาหารทะเลสักพักของผม? ด้วยอาชีพเก่าอย่างนักเดินเรือ ที่จำเป็นต้องเรียนในศาสตร์วิชาอุตุนิยมวิทยา และสมุทรศาสตร์ ให้เข้าใจหลักการพยากรณ์อากาศ การเกิดพายุ การเกิดคลื่น และกระแสน้ำในทะเลเพื่อใช้ในการนำเรืออย่างปลอดภัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของกระแสน้ำในทะเลบนโลกเรานั้น ผมจำได้ขึ้นใจเนื่องจากตอนสอบภาคทฤษฎีในตำแหน่งนายเรือ และสอบสัมภาษณ์ในตำแหน่งนายประจำเรือเจอคำถามเกี่ยวกับเรื่องกระแสน้ำนี้ด้วย

จากรูปภาพที่ 2 เป็นภาพทิศทางของกระแสน้ำบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกที่แบ่งได้เป็นสองแบบคือ กระแสน้ำอุ่นแทนด้วยสีแดง และกระแสน้ำเย็นแทนด้วยสีน้ำเงิน การปล่อยน้ำที่ได้รับการบำบัดแล้วลงสู่ทะเล ณ จุดเกิดเหตุมีโอกาสที่กระแสน้ำอุ่นจะพัดเอาน้ำเหล่านั้นไปยังทวีปอเมริกาแล้วแยกออกเป็นสองสาย ไปทางเหนือแล้ววนกลับไปที่ญี่ปุ่น หรือลงทางใต้แล้ววนกลับไปยังเอเชียตะวันออก (จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้) นั่นหมายความว่า มีโอกาสที่สัตว์ทะเลที่อาศัยบริเวณนั้นได้รับกัมมันตรังสี ซึ่งก็ยังไม่มีข้อพิสูจน์แน่ชัดว่าจะไม่มีการกลายพันธุ์ และมนุษย์ก็จะรับเอาสารกัมมันตรังสีจากสัตว์ทะเลเหล่านั้นมาอีกต่อหนึ่ง 

เพื่อให้เห็นภาพชัด ๆ ผมแคปเอาภาพที่ 3 จากเว็บที่แสดงกระแสน้ำทั่วโลกแบบ Real time มาให้ดูกัน ใครสนใจดูเองเชิญตามลิงก์นี้
https://earth.nullschool.net/#current/ocean/surface/currents/equirectangular=-169.89,11.90,510 

โพสต์นี้ไม่ได้ต้องการให้ทุกคนแตกตื่น แต่ต้องการให้ตื่นตัวกับสถานการณ์ของโลก ประเทศจีนเองก็มีมาตรการยกเลิกการนำเข้าสัตว์ทะเลจากญี่ปุ่นทั้งหมดแล้ว เกาหลีก็มีการประท้วงต่อรัฐบาลญี่ปุ่นในการทำเช่นนี้ ส่วนไทยที่มีหลายคนรักในปลาส้ม และโอมากาเสะนำเข้าจากประเทศญี่ปุ่นยังอาจไม่รับรู้ถึงเรื่องเหล่านี้ ก็อยากให้รับรู้ถึงความเสี่ยงที่มี และพิจารณาความเสี่ยงนั้นด้วยตัวเองครับ

ปล. ที่จริงคนเราก็กินสัตว์ทะเลที่ปนเปื้อนไมโครพลาสติกมาสักพักแล้วนะ ต่างประเทศค่อนข้างให้ความสำคัญกับเรื่องนี้แล้ว แต่ไทยยังทำตัวเหมือนท่านฮุคเพลง ‘ความซื่อสัตย์’ ของบอดี้สแลมต่อไป

‘ญี่ปุ่น’ เครียด!! ปลาตายเกลื่อนหาดหลายพันตัน หลังปล่อยน้ำจากฟุกุชิมะ ด้าน ‘นักวิจัย’ คาด ปลาอาจเกิดภาวะช็อกน้ำ ระหว่างการอพยพถิ่นฐาน

(12 ธ.ค. 66) สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า มีปลาซาร์ดีนและปลาแมคเคอเรลจำนวนมากถูกคลื่นซัดมาเกยชายหาดที่เกาะฮอกไกโด ทางภาคเหนือสุดของญี่ปุ่นเมื่อไม่กี่วันก่อน จนสร้างความตื่นตะลึงว่ากำลังก่อให้เกิดความสงสัยและความกังวลใจตามมา เนื่องจากปรากฏการณ์ปลาซาร์ดีนและปลาแมคเคอเรลตายเกลื่อนชายหาดมากมายมหาศาลขนาดนี้ และยังไม่ทราบสาเหตุ เกิดขึ้นเพียงแค่ราว 3 เดือน หลังจากทางการญี่ปุ่นตัดสินใจให้ปล่อยน้ำบำบัดกัมมันตรังสีจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ฟุกุชิมะ ลงสู่ทางทะเลและเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค

ขณะเดียวกัน กรณีดังกล่าวสร้างความตื่นตะลึง ก่อให้เกิดความสงสัยและความกังวลใจของประชาชนเป็นอย่างมาก เพราะมีซากปลาคาดว่ามีน้ำหนักรวมหลายพันตัน ถูกคลื่นซัดเข้าฝั่งจนลอยเป็นแพสีเงินเหนือผิวน้ำทะเลริมชายหาด เป็นระยะทางยาวถึงเกือบ 2 กม.

อย่างไรก็ตาม ทางนักวิจัยที่สถาบันประมงเมืองฮาโกะดาเตะ ได้แสดงความเห็นถึงกรณีนี้ว่า อาจเกิดขึ้นเนื่องจากปลาเหล่านี้หมดแรงเพราะขาดออกซิเจน ขณะฝูงปลาจำนวนมากกำลังว่ายอยู่ในบริเวณน้ำตื้น หรือปลาอาจจะว่ายมายังเขตน้ำเย็นอย่างกะทันหันระหว่างการอพยพ และเกิดอาการช็อก

นอกจากนี้ ทางเทศบาลเมืองกำลังเร่งหาสาเหตุของปรากฏการณ์ประหลาดที่เกิดขึ้น โดยเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในช่วงเดียวกับฤดูกาลที่ปลาซาร์ดีนจะอพยพจากฮอกไกโดลงไปทางใต้พอดี


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top