‘แพทย์’ ห่วง ปชช. กังวล เหตุซีเซียม-137 แนะใช้สมุนไพรไทย สร้างเกราะป้องกันสารพิษ

หลังจากมีข่าวว่าซีเซียม-137 หายจากโรงไฟฟ้าไอน้ำ ในพื้นที่จังหวัดปราจีนบุรี และมีรายงานจากภาครัฐว่า วัตถุดังกล่าวถูกหลอมจนกลายเป็นฝุ่นเล็กปนเปื้อนกัมมันตรังสีไปแล้ว สร้างความกังวลให้แก่ประชาชนในพื้นที่ และหลายคนเกรงว่าอาจมีผลกระทบต่อร่างกายและสิ่งแวดล้อม

ทางทีมข่าว THE STATES TIMES ได้เข้าสัมภาษณ์ ดร.ภญ.ผกากรอง ขวัญข้าว ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร โดยระบุว่า…ไม่อยากให้ประชาชนตื่นตระหนก เพราะอุบัติเหตุในลักษณะนี้มีโอกาสเกิดขึ้นได้ โดยก่อนหน้านี้ประเทศไทย เคยเกิดเหตุเครื่องฉายรังสีโคบอลต์-60 ที่ไม่ใช้แล้วถูกแยกชิ้นส่วนออกมา ครั้งนี้จึงเป็นโอกาสที่จะได้เรียนรู้ เพื่อป้องกันการเกิดซ้ำ และการดูแลสุขภาพเมื่อมีความจำเป็น

ดังนั้นการสัมผัสสารอันตราย จำเป็นต้องรู้ว่าเราสัมผัสที่ตัวสารกัมมันตรังสี หรือสัมผัสรังสี ซึ่งผลจะต่างกัน หากสัมผัสสารกัมมันตรังสี ซีเซียม-137 อาการที่พบ อาจมีไข้ คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ถ่ายเหลว  ส่วนผิวหนังบริเวณที่โดนรังสีจะเกิดแผลไหม้พุพอง กรณีได้รับในปริมาณมาก จะส่งผลกระทบต่อระบบเลือด กดไขกระดูก ระบบประสาท ชักเกร็ง และอาจเสียชีวิตได้ 

ทั้งนี้ ดร.ภญ.ผกากรอง ได้แนะนำสมุนไพรที่สามารถช่วยป้องกันและบรรเทาได้เบื้องต้น เนื่องจากมีงานวิจัยสมุนไพรที่สามารถใช้ป้องกันรังสีอยู่พอสมควร ซึ่งในทางการแพทย์มีการนำรังสีต่าง ๆ มาใช้ และมีโอกาสที่ประชาชนจะรับเอารังสีพวกนี้เข้าไปในร่างกายอยู่บ่อยครั้ง ผลการวิจัยในปี ค.ศ. 1992 พบว่าฤทธิ์ของวิตามินซีใน ‘มะขามป้อม’ สามารถช่วยต้านการทำให้โครโมโซมผิดปกติ และปัจจุบันพบว่าในมะขามป้อมมีสารอื่น เช่น แทนนิน ฟลาโวนอยด์ ที่เป็นประโยชน์ในการต้านอนุมูลอิสระ ต้านการอักเสบ และต้านการกลายพันธุ์ของ DNA นอกจากนี้สารสกัดมะขามป้อมยังมีการศึกษาฤทธิ์ป้องกันรังสี ทั้งรังสีแกมมา และ รังสีอื่น ๆ ที่ก่อให้เกิดความผิดของเลือด

ต่อมาคือ ‘ขมิ้นชัน’ เป็นอีกหนึ่งสมุนไพรที่มีสารเคอร์คูมิน มีคุณสมบัติปกป้องเซลล์ มีฤทธิ์ลดการอักเสบของเซลล์ และต้านอนุมูลอิสระที่ทำให้เซลล์เกิดความเสียหาย ลดอัตราการตายจากรังสี แต่ต้องระวังในผู้ป่วย ท้องผูก หรือผู้ป่วยที่มีท่อน้ำดีอุดตัน หญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร

ขณะที่สมุนไพรบัวบก มีงานวิจัย ระบุว่า ช่วยลดผลกระทบจากรังสี มีกลไกในการปกป้องเซลล์ ทั้งระดับ DNA และโครโมโซม โดยการใช้สารสกัด ทั้งน้ำและแอลกอฮอล์ของบัวบก แต่ยังไม่มีการศึกษาในคน

ทั้งนี้ ดร.ภญ.ผกากรอง กล่าวปิดท้ายว่า การวิจัยส่วนใหญ่เป็นเพียงการป้องกัน อาจนำมาใช้ได้ในกรณีที่ ต้องเข้าพื้นที่เสี่ยง แต่ทางที่ดีที่สุดคือไม่สัมผัส แต่ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ สมุนไพรที่มีประวัติเป็นอาหารเหล่านี้ก็อาจเป็นทางเลือกได้

เรื่อง: นิลพัท คอนขำ Content Editor