Sunday, 5 May 2024
สมุนไพรไทย

“เฉลิมชัย” โชว์ผลงานนโยบายสมุนไพร! ปั้นเกษตรกร 3 แสนราย ดันแปลงใหญ่ชู!! “สมุนไพรอินทรีย์” ลุยตลาด 50,000ล้าน

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กล่าววันนี้ว่า ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน กำหนดนโยบายส่งเสริมสมุนไพรเป็นพืชเศรษฐกิจแห่งอนาคต(Future Food Future Crop) เพื่อให้เกษตรกรมีอาชีพทางเลือกและมีรายได้เพิ่มขึ้นรวมทั้งสนับสนุนการแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มโดยร่วมมือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและทุกภาคีภาคส่วนถือเป็นหนึ่งในเกษตรมูลค่าสูงโดยส่งเสริมสนับสนุนตั้งแต่การวิจัยและพัฒนา(R&D)ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำการตลาด

จากมาตรการการส่งเสริมการปลูกพืชสมุนไพร ทำให้มีความคืบหน้าอย่างมากโดยในปัจจุบันมีเกษตรกร 369,353 รายขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร ด้านพืชสมุนไพร เครื่องเทศ พืชสมุนไพรที่เป็นพืชอาหาร (รวม 82 ชนิด) ดำเนินการปลูกพืชสมุนไพรบนพื้นที่รวมประมาณ 1.15 ล้านไร่  แบ่งออกเป็น การปลูกพืชสมุนไพรให้ได้รับการรับรองมาตรฐานสินค้า GAP และมาตรฐานพืชสมุนไพรอื่น ๆ กว่า 6.4 หมื่นไร่ และมีกลุ่มเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่พืชสมุนไพร ตั้งแต่ปี 2559 – 2564 จำนวนทั้งสิ้น 37 แปลง จำนวนเกษตรกร 1,565 ราย พื้นที่ 7,913 ไร่ ใน 22 จังหวัด และในปี 2565 ได้มีกลุ่มเกษตรกรขอเข้าร่วมโครงการอีกจำนวน 15 กลุ่ม กำลังอยู่ในขั้นตอนขอรับรองแปลง และกระทรวงฯ มีโครงการส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสมุนไพรปี 2565 มีเป้าหมายเกษตรกร จำนวน 1,110 ราย ในพื้นที่ 37 จังหวัด และจัดทำแปลงขยายและรวบรวมพันธุ์สมุนไพรในศูนย์ปฏิบัติการ จำนวน 16 ศูนย์ เพื่อพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานวัตถุดิบ ส่งเสริมการผลิตสมุนไพร เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตผลิตภัณฑ์สมุนไพรตามแนวเกษตรปลอดภัย สร้างรายได้แก่เกษตรกรและเพิ่มมูลค่าการส่งออกอย่างมั่นคงและยั่งยืน

ทั้งนี้ตลาดผลิตภัณฑ์สมุนไพรซึ่งกลับมาขยายตัวอีกครั้งตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นไปด้วยอัตราการเจริญเติบโตเฉลี่ย (CAGR) 4% ใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิด Covid-19 ที่มูลค่าตลาดประมาณ 54,500 ล้านบาท

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ยังได้ร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข ดำเนินการยกร่างแผนปฏิบัติการด้านสมุนไพรแห่งชาติ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2566 – 2570 เพื่อร่วมกันพัฒนาสมุนไพรให้สอดคล้องกับระบบสุขภาพและระบบเศรษฐกิจตลอดห่วงโซ่อุปทาน

โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มุ่งสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาสมุนไพรให้ไปสู่การใช้ประโยชน์ได้อย่างแท้จริงในทุกมิติ โดยใช้ตลาดเป็นตัวนาการผลิต เพื่อกระตุ้นให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดาเนินการวิจัยตั้งแต่การกำหนดโจทย์วิจัยที่ตรงตามความต้องการของตลาดอย่างแท้จริง ตาม 10 ภารกิจหลักในการพัฒนาตามแผนด้านผลิตภัณฑ์สมุนไพรแห่งชาติ พ.ศ. 2563 –2565 ประกอบด้วย

1. การปลูกสมุนไพรที่ได้คุณภาพตามมาตรฐานที่กำหนด ซึ่งดำเนินการได้ 64,225 ไร่ จาก 82 ชนิดพืช

2. กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน ได้รับการส่งเสริมการแปรรูปหลังการเก็บเกี่ยว ณ สถานที่ปลูกและการผลิตผลิตภัณฑ์ และสารสกัดอย่างง่ายในระดับชุมชน จำนวน 92 แห่ง

3. กำหนดมาตรฐาน GAP หรือมาตรฐานพืชสมุนไพรตามกลุ่มที่ใช้ของพืช จำนวน 5 ฉบับ

4. จัดทำแผนที่ความเหมาะสมของที่ดินสำหรับปลูกพืชสมุนไพร (Land Suitability) 24 ชนิด

5. พัฒนาฐานข้อมูลพื้นที่ปลูกพืชสมุนไพร (Land Use) 1 ฐานข้อมูล

6. ห้องปฏิบัติการที่ได้รับรองมาตรฐาน ISO 17025 ให้บริการตรวจสอบคุณภาพวัตถุดิบ จำนวน 8 แห่ง

7. พัฒนาระบบตลาดกลาง 1 แห่ง และตลาดอิเล็กทรอนิกส์ 1แห่ง (E-Market)

8. กำหนดมาตรฐานสมุนไพรในตำรามาตรฐานสมุนไพรไทย (Thai Herbal Pharmacopoeia, THP) จำนวน 109 รายการ

9. พัฒนาฐานข้อมูลพืชสมุนไพรและภูมิปัญญาการใช้ประโยชน์ของประเทศไทย (National Database of Thai Plants and Traditional Knowledge) 1 ฐานข้อมูล

10. สนับสนุนการวิจัยและพัฒนาพันธุ์พืชสมุนไพรและเทคโนโลยีเพื่อผลิตวัตถุดิบ 57 เรื่อง

 

‘นายกตู่’ ให้กำลังใจ "อภัยภูเบศร" สร้างประโยชน์ให้ประเทศชาติ - ประชาชน พร้อมดัน!! "บัวบกพันธุ์ศาลายา" เป็นพืชเศรษฐกิจ

วันที่ 22 ธันวาคม 2564 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติ ครั้งที่  18 จากนั้นได้เดินชมงาน บูทจากหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐเอกชน และภาคประชาชน ที่มาร่วมจัดนิทรรศการกันอย่างคึกคัก โดยเฉพาะโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ที่ยกกิจกรรมให้ความรู้ สมุนไพรป้องกันโควิด-19 และกัญชา กระท่อม ผลิตภัณฑ์กัญชา ที่นำมาพัฒนาใช้กับการให้บริการสปา

โดยระหว่างการเยี่ยมชมบูท อภัยภูเบศร ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร เลขาธิการมูลนิธิ รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร ได้นำชมและอธิบายถึงความคืบหน้าในสิ่งที่อภัยภูเบศรได้ดำเนินการพัฒนาสมุนไพรชนิดต่าง ๆ รวมถึง การปลดล็อก กระท่อม กัญชา มาสู่การพัฒนายาและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ซึ่งล่าสุดมูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรได้มีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยมหิดลในการพัฒนาบัวบกศาลายา 1 ที่มีน้ำหนักและสารสำคัญสูงกว่าสายพันธุ์ปกติถึง 5 เท่า และผ่านการจดทะเบียนรับรองสายพันธุ์เป็นที่เรียบร้อยแล้วแต่ขณะนี้อยู่ระหว่างการขอคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ ซึ่งต้องใช้เวลากว่า 2 ปี ทำให้ทางมูลนิธิไม่สามารถนำสายพันธุ์ดังกล่าวมาแจกจ่ายให้เกษตรกรปลูกได้

‘นักแสวงบุญนครเมกกะ’ ยืนยัน!รอติดโควิด เพราะยาสมุนไพรไทยเสริมภูมิที่ ‘บิ๊กแจ๊ส’ แจกให้ แต่ผู้โดยสารอื่นติดยกลำ!!

เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2565 เวลา 10:30 น. ที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี ตำบลบ้านฉาง อำเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายก อบจ.ปทุมธานี , นายอดุลย์ มะหะหมัด (บอบอเลาะฮ์) ที่ปรึกษานายก อบจ.ปทุมธานี , นางกิ่งกาญจน์ อารักษ์พุทธนันท์ ประธานมูลนิธิตามรอยบาทพระศาสดา และ พระมหาขวัญชัย อัคคชโย เจ้าอาวาสวัดคีรีวงก์ (วัดน้ำตก) ต.บางมะพร้าว อ.หลังสวน จ.ชุมพร ร่วมแถลงข่าวยืนยันประสิทธิภาพยาสุมนไพรเสริมภูมิของวัดคีรีวงก์ เสริมสร้างสร่างภูมิคุ้มกันได้จริง

โดยชาวมุสลิม จ.ปทุมธานี จำนวน 4 คน ที่เดินทางร่วมกับชาวมุลลิมจังหวัดอื่น ๆ อีก 27 ท่าน รวม 31 คนไปแสวงบุญนครเมกกะ ประเทศซาอุดิอาระเบีย จำนวน 14 วัน หลังกลับมา ติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 27 ราย ส่วนชาวปทุมธานี 4 รายที่ทานยาสมุนไพรไม่ติดเชื้อเลย สืบเนื่องจากการเดินทางไปแสวงบุญ ที่นครเมกกะ ประเทศซาอุดิอาระเบีย โดยมีพี่น้องมุสลิมจากทั่วประเทศเช่น กรุงเทพฯ นนทบุรี นครราชสีมา จำนวน 31 คน ในส่วนนี้มีชาวจังหวัดปทุมธานีร่วมด้วยจำนวน 4 คน

เมื่อกลับมาประเทศไทยพบว่าติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 27 คน ส่วนอีก 4 คน ที่ไม่พบว่าติดเชื้อ คือ นายอดุลย์ มะหะหมัด (บอบอเลาะฮ์) ที่ปรึกษานายก อบจ.ปทุมธานี , นายไพฑูรย์ ฮึกหาญ อายุ 58 ปี , นายสุพจน์ สมนึก อายุ 52 ปี และนายกมลชัย ยะลาน อายุ 28 ปี ชาวมุสลิมปทุมธานี เนื่องจากได้ทานยาสมุนไพรเสริมภูมิของวัดคีรีวงก์ จ.ชุมพร

พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายก อบจ.ปทุมธานี กล่าวว่า เนื่องจากจังหวัดปทุมธานีมัสยิดจำนวน 32 มัสยิด และมีพี่น้องอิสลามเยอะจึงแต่งตั้ง นายอดุลย์ มะหะหมัด (บอบอเลาะฮ์) เป็นที่ปรึกษานายก อบจ.ปทุมธานี เมื่อเขาเดินทางไปแสวงบุญที่นครเมะกะ ก็มีกังวลและห่วง ซึ่งที่ผ่านมาได้ใช้ยาสมุนไพรของวัดคีรีวงก์ แจกให้พี่น้องประชาชนชาวปทุมธานีทั้งไทยพุทธและมุสลิมไปเยอะแล้ว เมื่อกินแล้วได้ผลจึงให้นำติดตัวไป 50 ชุด เพื่อพี่น้องมุสลิมชาวปทุมธานีในการเดินทางไปแสวงบุญ ผลที่ได้รับกลับมาไม่มีใครติดเชื้อโควิด แม้แต่รายเดียว 

ในส่วนของ อบจ.ปทุมธานีที่ให้ตรวจ ATK พบว่าติดเชื้อ 100 คน จึงให้ยาสมุนไพรไปกิน ทั้งจำนวน 100 คน ผลที่ออกมาหายทั้ง 100 คน ภายใน 3- 5 วัน แต่ที่ชาวมุสลิมกลุ่มนี้ไปจำนวนกว่า 30 คน กินอยู่หลับนอนด้วยกันทั้งความแออัดต่าง ๆ แต่ 4 คนชาวปทุมธานีที่กินยาสมุนไพรไม่พบว่าติดเชื้อ จึงอยากให้พี่น้องประชาชนเชื่อมั่นสุมนไพรไทยสามารถช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้นกันได้ ทาง อบจ.ปทุมธานีได้ยาสุมนไพรมาจำนวนหลายล้านเม็ดได้แจกให้พี่น้องประชาชนไปทั้งหมด ที่ผ่านมาเทศกาลลอยกระทง เทศกาลปีใหม่พบว่ายอดจำนวนผู้ติดเชื้อภายในจังหวัดปทุมธานีก็ยังคงที่ กำลังหารือกับ คุณกิ่งกาญจน์ อารักษ์พุทธนันท์ ประธานมูลนิธิตามรอยบาทพระศาสดา เพราะว่าโรงเรียนเปิดการเรียนการสอน จะให้ทุกโรงเรียนมียาตัวนี้ติดไว้ที่โรงเรียน เพราะว่าเราไม่สามารถจัดชุดอุปกรณ์การตรวจ ATK ให้ไม่ได้ทั้ง 100 เปอร์เซ็นต์ แต่จะหายาให้ใครพบว่าติดเชื้อให้ยาไปกิน ขณะนี้อยู่ระหว่างการประสานงาน อยากให้ทุกโรงเรียนมียาสมุนไพรจำนวน 100-200 ชุดในแต่ละโรงเรียนในจังหวัดปทุมธานี

นายไพฑูรย์ ฮึกหาญ อายุ 58 ปี ชาวมุสลิม จ.ปทุมธานี กล่าวว่า ทางทีมพวกเราไปจำนวน 31 คนตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2564 ออกจากประเทศไทยเวลาตี 2 ไปถึงเมืองมาดีนะห์ก็เริ่มทานยาสมุนไพรที่ บอบอเลาะฮ์แจกให้ทาน อยู่ที่เมืองมาดีนะห์จำนวน 4 วันจากนั้นเดินทางไปทางโดยเครื่องบินอีก ซึ่งภายในเครื่องบินก็แออัดมาก เพื่อที่จะเดินทางไปนครเมกกะ ประเทศซาอุดิอาระเบีย โดยอยูที่นครเมกกะจำนวน 10 วัน เราก็ทานยาสุมนไพรทุกวันเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันไว้จนถึงวันกลับ สภาพแออัดมากมีชาวแอฟริกาจำนวนมากที่อยู่บนเครื่องบินจากนั้นมาเปลี่ยนเครื่องที่ประเทศกาตาร์ เพื่อเดินทางกลับมายังประเทศไทย ก็กักตัวเพื่อตรวจสวอพ 1 คืน มีผลออกมายืนยันว่าไม่พบการติดเชื้อ และมากักตัวที่บ้าน ซึ่งระว่างนั้นผมยังได้ตรวจสวอพ PCR จำนวน 3 ครั้ง และตรวจ ATK ทุกวันไม่พบว่ามีการติดเชื้อ

ทางด้าน พระมหาขวัญชัย อัคคชโย เจ้าอาวาสวัดคีรีวงก์ กล่าวว่า ยาสมุนไพรชุดนี้สามารถกินเพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน เนื่องจากปัจจุบันยังมีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสรวมถึงเชื้อตัวใหม่ที่กลายพันธุ์อยู่ขณะนี้ เมื่อร่างกายเกิดภูมิคุ้มกันดีขึ้น อวัยวะภายในแข็งแรง ไวรัสต่าง ๆ ภายนอกร่างกายก็ไม่สามารถเข้าไปทำร้ายอวัยวะภายในได้ จึงต้องทำให้ภูมิคุ้มกันแข็งแรง เนื่องจากยาสมุนไพรชุดนี้เป็นธรรมชาติและการทำงานครั้งนี้ได้รับความอนุเคราะห์จากคุณกิ่งกาญจน์ อารักษ์พุทธนันท์ ประธานมูลนิธิตามรอยบาทพระศาสดา และ พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายก อบจ.ปทุมธานี ที่ช่วยสนับสนุนในการบริจาคแคปซูลด้วย

 

‘แพทย์’ ห่วง ปชช. กังวล เหตุซีเซียม-137 แนะใช้สมุนไพรไทย สร้างเกราะป้องกันสารพิษ

หลังจากมีข่าวว่าซีเซียม-137 หายจากโรงไฟฟ้าไอน้ำ ในพื้นที่จังหวัดปราจีนบุรี และมีรายงานจากภาครัฐว่า วัตถุดังกล่าวถูกหลอมจนกลายเป็นฝุ่นเล็กปนเปื้อนกัมมันตรังสีไปแล้ว สร้างความกังวลให้แก่ประชาชนในพื้นที่ และหลายคนเกรงว่าอาจมีผลกระทบต่อร่างกายและสิ่งแวดล้อม

ทางทีมข่าว THE STATES TIMES ได้เข้าสัมภาษณ์ ดร.ภญ.ผกากรอง ขวัญข้าว ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร โดยระบุว่า…ไม่อยากให้ประชาชนตื่นตระหนก เพราะอุบัติเหตุในลักษณะนี้มีโอกาสเกิดขึ้นได้ โดยก่อนหน้านี้ประเทศไทย เคยเกิดเหตุเครื่องฉายรังสีโคบอลต์-60 ที่ไม่ใช้แล้วถูกแยกชิ้นส่วนออกมา ครั้งนี้จึงเป็นโอกาสที่จะได้เรียนรู้ เพื่อป้องกันการเกิดซ้ำ และการดูแลสุขภาพเมื่อมีความจำเป็น

ดังนั้นการสัมผัสสารอันตราย จำเป็นต้องรู้ว่าเราสัมผัสที่ตัวสารกัมมันตรังสี หรือสัมผัสรังสี ซึ่งผลจะต่างกัน หากสัมผัสสารกัมมันตรังสี ซีเซียม-137 อาการที่พบ อาจมีไข้ คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ถ่ายเหลว  ส่วนผิวหนังบริเวณที่โดนรังสีจะเกิดแผลไหม้พุพอง กรณีได้รับในปริมาณมาก จะส่งผลกระทบต่อระบบเลือด กดไขกระดูก ระบบประสาท ชักเกร็ง และอาจเสียชีวิตได้ 

“อนุทิน” เปิดมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติครั้งที่ 20 ชูแนวคิด “สมุนไพรไทย ภูมิปัญญาไทย เศรษฐกิจไทย”

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติ และการประชุมวิชาการประจำปีการแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้าน และการแพทย์ทางเลือกแห่งชาติ ครั้งที่ 20 ภายใต้แนวคิด “สมุนไพรไทย ภูมิปัญญาไทย เศรษฐกิจไทย” นำเสนอการใช้ภูมิปัญญาไทยดูแลสุขภาพ พร้อมกิจกรรมสาธิต นิทรรศการ จับคู่ธุรกิจ และจำหน่ายผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยมาตรฐานกว่า 500 ร้านค้า ระหว่างวันที่ 28 มิถุนายน ถึง 2 กรกฎาคม นี้ ที่ ฮอลล์ 11-12 อิมแพ็ค เมืองทองธานี คาดผู้เข้าร่วมงานกว่า 200,000 คน เงินสะพัดกว่า 400 ล้านบาท

วันนี้ (28 มิถุนายน 2566) ที่ อิมแพ็ค เมืองทองธานี จ.นนทบุรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข 
พลอากาศเอกประจิน จั่นตอง สมาชิกวุฒิสภา นพ.ประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก และคณะผู้บริหาร เปิดงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติ และการประชุมวิชาการประจำปีการแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้าน และการแพทย์ทางเลือกแห่งชาติ ครั้งที่ 20 ภายใต้แนวคิด “สมุนไพรไทย ภูมิปัญญาไทย เศรษฐกิจไทย” พร้อมมอบรางวัลหมอไทยดีเด่นแห่งชาติ พ.ศ. 2566 แก่ พ่อหมอบุญมา มุงเพีย “หมอ 10 บาท รักษาทุกโรค” จากจังหวัดสกลนคร, นายประวิทย์ แก้วทอง เจ้าของแนวคิด “หมอไม่หวงวิชา สอนให้ใครก็ได้ลูกหลานใครก็ได้ที่สนใจ ถ้าไม่ให้วิชาก็จะตายไปกับตัว ถ้าให้เด็กก็จะได้สานต่อช่วยคนอีกเป็นหมื่นเป็นแสน” จากจังหวัดสงขลา มอบรางวัลพื้นที่ต้นแบบดีเด่นแห่งชาติด้านการแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้าน และการแพทย์ทางเลือก ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จำนวน 5 รางวัล และรางวัลพื้นที่ต้นแบบดีเด่นชมรมผู้สูงอายุด้านการแพทย์แผนไทย ประจำปี พ.ศ. 2566 จำนวน 3 รางวัล

 นายอนุทินกล่าวว่า รัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุข ให้ความสำคัญต่อการนำสุขภาพมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจ (Health for Wealth) มุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) โดยเฉพาะสมุนไพรไทย ภูมิปัญญาไทย ถือเป็นจุดแข็งที่สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศได้ โดยการใช้ประโยชน์จากพืชสมุนไพรเชื่อมโยงการท่องเที่ยว สร้างรายได้ให้เกษตรกร นำเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม และต่อยอดใช้ในระบบสุขภาพ ซึ่งการจัดงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติ และการประชุมวิชาการประจำปีการแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้าน และการแพทย์ทางเลือกแห่งชาติ ครั้งนี้ มุ่งเน้นให้ประชาชนเข้าถึงและใช้บริการการแพทย์แผนไทยฯ ที่มีคุณภาพมาตรฐาน ปลอดภัย ยกระดับความสามารถในการแข่งขันในตลาด เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ โดยมีเป้าหมายสำคัญ คือ ประชาชนเชื่อมั่น ใช้ยาสมุนไพรดูแลสุขภาพตนเองเมื่อเจ็บป่วยเพิ่มขึ้นจาก 1.48% เป็น 15% มีบริการที่เป็นเลิศ โดยเลือกใช้บริการการแพทย์แผนไทย การแพทย์ทางเลือก เมื่อเจ็บป่วยเพิ่มขึ้นจาก 4.58% เป็น 20% รวมถึงบริโภคสมุนไพรในประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 90,000 ล้านบาท และเป็น 1 ใน 3 ของเอเชีย ภายในปี 2570 

 ด้านนพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขและภาคีเครือข่ายกว่า 230 องค์กร ร่วมกันจัดงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติต่อเนื่องเป็นปีที่ 20 และได้รับความนิยมจากประชาชนอย่างมาก โดยในปีนี้มีทั้งกิจกรรมสาธิตและนิทรรศการ ภายใต้แนวคิด “Thai Herbs & Medical Cannabis for Health and Wealth” นำเสนอ Innovation and Product, Wellness and Thainess Tourism รวมถึงภูมิปัญญาในการดูแลสุขภาพ การให้บริการและคำปรึกษาด้านสุขภาพโดยไม่มีค่าใช้จ่าย อาทิ “สุขสำราญนิทราคลินิก” รักษาอาการปวดเรื้อรังและนอนไม่หลับมิติใหม่ การรักษาแบบองค์รวมครบวงจร การบำบัดฟื้นฟูและลดอันตรายจากยาเสพติด (Harm Reduction Model) และการดูแลผู้ป่วยระยะประคับประคอง (Palliative Care) รวมถึงการจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) ซึ่งมีประเทศที่เข้าร่วมอาทิ เกาหลี มาเลเซีย ศรีลังกา รัสเซีย ลาว และมีบูธจำหน่ายผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยมาตรฐานกว่า 500 ร้านค้า       
                                                        
นอกจากนี้ ยังมีการสัมมนาแลกเปลี่ยนด้านการแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้าน การแพทย์ทางเลือกและสมุนไพร ร่วมกับต่างประเทศ (International Medical Cannabis Conference 2023) และการประชุมกรอบความร่วมมือระดับอนุภูมิภาคในอนุทวีปเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (BIMSTEC) การประชุมวิชาการประจำปีภายในประเทศ การประกวดผลงานวิชาการประจำปี อบรมหลักสูตรระยะสั้นเพื่อส่งเสริมอาชีพและการดูแลสุขภาพด้วยตนเองโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งคาดว่าจะได้รับความสนใจจากประชาชนกว่า 200,000 คน และมีเงินสะพัดภายในงานกว่า 400 ล้านบาท


เจนกิจ นัดไธสง รายงาน

ความสำเร็จรุ่น 2 'ใบห่อ' สยายปีกธุรกิจไกล เพราะยึดคำสอนพ่อ 'ซื่อสัตย์-รักษาสัญญา'

ห้างขายยาตราใบห่อ ตำนานยาสมุนไพรไทยที่ก้าวย่างสู่วัย 50 ยังแจ๋ว เพราะเป็นผู้นำด้านยาสมุนไพรไทย 1 ใน 5 ของประเทศ เดินหน้าแตกไลน์สินค้าเพิ่ม ดันแนวคิด 'สมุนไพรไทยกลางใจบ้าน' ยึดหลักนายห้างประสิทธิ์ อัคคะประชา ผู้ก่อตั้งที่เน้นย้ำ ต้องซื่อสัตย์กับลูกค้า รักษาสัญญา ผลิตยาสมุนไพรที่มีคุณภาพ เห็นผลและราคาไม่แพง เพื่อให้ใบห่อเป็นยาสมุนไพรไทยที่ทุกบ้านพึ่งพาได้ และยกระดับให้คนไทยมีสุขภาพดี

คุณอิศรา อัคคะประชา กรรมการบริหารและผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท ห้างขายยาตราใบห่อ จำกัด กล่าวถึงภาพรวมของการดำเนินธุรกิจในรุ่นที่ 2 ต่อจากคุณพ่อว่า ห้างขายยาตราใบห่อ เริ่มต้นขึ้นเมื่อประมาณ 50 ปีที่แล้ว โดยคุณพ่อของผม นายห้างประสิทธิ์ อัคคะประชา ได้ประกอบอาชีพเป็นลูกจ้างร้านสมุนไพรมาก่อน ซึ่งยาสมุนไพรในยุคนั้นจะเป็นรูปแบบชง ต้ม ดื่ม ทำให้มีรสชาติขมค่อนข้างไปทางยา ทานลำบาก คุณพ่อผมท่านมีความเป็นนักการตลาดอยู่ในตัวก็เลยมองเห็นช่องว่างทางการตลาด และหันมาเริ่มผลิตยาสมุนไพรในรูปแบบเม็ดเป็นเจ้าแรกของประเทศไทย ทำให้ยาสมุนไพรทานง่ายขึ้น โดยเฉพาะยาขมเม็ดตราใบห่อกลายเป็นผลิตภัณฑ์ยอดนิยมจากอดีตถึงปัจจุบัน 

ส่วนภาพรวมของตลาดสมุนไพรไทยในปัจจุบัน คุณอิศรา กล่าวว่า หลังจากช่วงโควิด19 ที่ผ่านมา เห็นว่าคนไทย หันมาสนใจในยาสมุนไพรไทยมากขึ้น ไว้วางใจมากขึ้น เช่น สมุนไพรฟ้าทะลายโจร ที่มีสรรพคุณส่วนช่วยบรรเทาอาการผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด19 นอกจากนี้ยังเห็นว่าสังคมไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัว ส่งผลให้ตลาดสมุนไพรไทยคึกคัก การแข่งขันค่อนข้างดุเดือดเนื่องจากมีผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามาในตลาดมากขึ้น มีการออกสินค้าใหม่ ๆนวัตกรรมใหม่ ๆ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค ซึ่งแต่ละแบรนด์ก็มีเอกลักษณ์ไม่เหมือนกัน 

สำหรับกลยุทธ์การตลาด คุณอิศรา กล่าวว่า "ในปัจจุบันห้างขายยาตราใบห่อ เริ่มทำตลาดออนไลน์มากขึ้น โดยมีแนวคิด สมุนไพรไทยกลางใจบ้าน เรามองคำว่าบ้าน หมายถึงลูกค้า ร้านขายยา ตัวแทนจำหน่าย หรือกระทั่งคนที่ทานยาสมุนไพรของเรา มองว่า 'ทุกคนล้วนเป็นครอบครัวเรา' เราต้องการส่งมอบคุณค่าด้วยการผลิตยาสมุนไพรที่มีคุณภาพดีให้กับทุกคน โดยใช้นวัตกรรมในการผลิตที่เป็นมาตรฐานเน้นในเรื่องความปลอดภัยเป็นสำคัญ มีการทดลองใช้ในทุกรอบการผลิตเพื่อส่งมอบคุณภาพให้กับลูกค้า ทานแล้วต้องเห็นผล ราคาจับต้องได้ เข้าถึงได้สะดวกเวลาที่คนเจ็บป่วยด้วยโรคไม่รุนแรง เช่น ไข้หวัด ร้อนใน ท้องผูก สามารถพึ่งพายาสมุนไพรเราได้ เนื่องจากเป็นยาสามัญประจำบ้านที่อยู่คู่คนไทยมานานเกือบ 50 ปี"

สำหรับผลิตภัณฑ์ใบห่อ ที่ได้รับความนิยม ได้แก่ ยาขมเม็ดตราใบห่อ และยาระบายตราใบแก้ว เป็นต้น ส่วนกลุ่มลูกค้าเป็นกลุ่มผู้สูงอายุ รองลงมาคือวัยทำงาน และวัยอื่นๆ ก็สามารถทานยาสมุนไพรของเราได้ ส่วนการตลาดที่สร้างการรับรู้ไปยังกลุ่มคนรุ่นใหม่ ทางใบห่อได้มีการออกถุงผ้าแฟชั่นสกรีนแบรนด์ตราใบห่อ สีสันวินเทจ ซึ่งได้รับความนิยมมาก นอกจากนี้เรายังได้เปิดช่องทางให้ข้อมูลความรู้ โดยมีเภสัชกรแผนไทยและแพทย์แผนไทย คอยให้คำแนะนำในการใช้ยาสมุนไพร ให้ความรู้ผ่านช่องทางออนไลน์ โดยสามารถพูดคุยกันได้แบบ Real Time อีกด้วย

ด้านเป้าหมายการเติบโตของใบห่อ คุณอิศรา กล่าวว่า แบ่งเป็น 3 ระยะ ได้แก่...

ในระยะต้น จะมีการปรับภาพลักษณ์แบรนด์ให้ชัดเจนขึ้นว่ามีสินค้าหลากหลายชนิดที่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย 

ระยะที่สอง จะมุ่งเน้นไปที่การปรับปรุงคุณภาพและการผลิต พัฒนาโรงงานให้ได้มาตรฐานมากยิ่งขึ้น และมีการขยับตลาดจากในประเทศไปต่างประเทศ 

และระยะที่ 3 ในระยะยาว มองว่าตราใบห่อไม่ได้ขายแค่ยาสมุนไพรแล้ว สามารถออกผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่เกี่ยวกับสุขภาพ เช่น อาหารเสริม โดยมองเป็นธุรกิจ Health Care เพิ่มเติม นอกจากเรื่องเป้าหมายผลกำไรของบริษัทฯ แล้วการส่งคืนกลับสู่สังคมก็เป็นเป้าหมายสำคัญที่ใบห่อได้ส่งเสริมมาโดยตลอด โดยเฉพาะเรื่องกีฬามวย ใบห่อยังให้การสนับสนุนวงการมวยไทยที่สืบสานมาจากคุณพ่อ และได้ต่อยอดในการสนับสนุนกีฬาฟุตบอลเพิ่มเติม และการสนับสนุนอุปกรณ์กีฬาให้กับชุมชนที่ขาดแคลนมากขึ้น

ส่วนความท้าทายใหม่ๆ ของห้างขายยาตราใบห่อ คุณอิศรา กล่าวว่า เร็วๆ นี้ใบห่อจะมีการออกสินค้าเป็นชุดเครื่องหอมสำหรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเที่ยวประเทศไทย สอดรับกระแส Soft Power ที่กำลังมาแรง โดยเฉพาะสมุนไพรไทยหลายตัวที่เป็นที่ต้องการของต่างประเทศ เช่น กระชายดำ ขมิ้นชัน ถือเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยตอนนี้ใบห่อก็ส่งออกฟ้าทะลายโจรไปยังรัสเซียซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีมาก  

นอกจากนี้ ใบห่อยังได้เตรียมเปิดร้านอาหารและคาเฟ่ ชื่อว่า 'หอมปรุง' ตั้งอยู่บริเวณถนนจักรวรรดิ เขตสัมพันธวงศ์จุดเด่นคือ เป็นร้านอาหารและคาเฟ่ที่ใช้วัตถุดิบสมุนไพรเครื่องเทศ มาปรุงเป็นเมนูอาหารต่างๆ โดยเชฟฝีมือดี ทั้งเมนูหลัก ขนมหวาน และเครื่องดื่ม คาดว่าจะได้ลิ้มลองรสชาติและสัมผัสบรรยากาศร้านย่านเมืองเก่าในช่วงปลายปีนี้อย่างแน่นอน

‘กรมวิชาการเกษตร’ เร่งยกระดับ ‘สมุนไพรไทย’ สู่มาตรฐาน GAP ป้อนอุตสาหกรรม ‘อาหาร-เวชสำอาง’ สร้างรายได้เกษตกรยั่งยืน

จากกระแส รักสุขภาพ (Health Conscious) ที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับ แนวทางขับเคลื่อนพืชสมุนไพรเพื่อรองรับภาคอุตสาหกรรม ของกระทรวงสาธารณสุขในปี 2566-2570 โดยมีเป้าหมายเร่งการส่งเสริมการแปรรูปพืชสมุนไพรเพื่อเพิ่มมูลค่าสู่ ‘อาหารสุขภาพและอาหารสัตว์สมุนไพร’ ที่หลากหลาย เช่น อาหารฟังก์ชัน, อาหารใหม่ (Novel Food) อาหารนวัตกรรมใหม่ (innovative food) อาหารทางการแพทย์ (Medical Food) และอาหารอินทรีย์

นอกจากนี้ภาครัฐเร่งส่งเสริมการฟื้นฟูผู้ป่วยระยะหลังโควิด-19 ด้วยพืชสมุนไพร อาโวคาโด เป็นต้น การส่งเสริมการผลิตพืชสมุนไพรเพื่อป้อน ‘โรงงานสกัดสารมูลค่าสูง’ ในพื้นที่เศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ผ่านการส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอ ที่ได้รับอนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุนแล้วหลายโครงการ คิดเป็นมูลค่าหลายหมื่นล้านบาท ร่วมไปถึง การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาพืชสมุนไพรสู่ ‘อุตสาหกรรมอาหารสัตว์สมุนไพร’ ล้วนส่งผลให้มีความต้องการวัตถุดิบพืชสมุนไพรจำนวนมาก พืชสมุนไพรมีการปลูกมากถึง 1.15 ล้านไร่ แต่ผ่านการรับรองมาตรฐานเพียง 6.4 หมื่นไร่ หรือ 5.6% ทำให้มาตรฐานการผลิตสินค้าพืชสมุนไพร ยังไม่ตอบสนองของอุตสาหกรรม เกิดปัญหาด้านคุณภาพที่หลากหลาย ล้วนต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานทางการแพทย์

‘กรมวิชาการเกษตร’ เป็นหนึ่งในหน่วยงานสำคัญที่ทำการวิจัยพืชสมุนไพรและเครื่องเทศเศรษฐกิจมากกว่า 20 ชนิด เพื่อให้ได้ผลผลิตตามมาตรฐาน GAP พืชอาหาร (มกษ.9001-2556) เดิมมุ่งพัฒนาด้านเพิ่มผลผลิตต่อไร่ ยกระดับคุณภาพและปลอดโรค รวมทั้งยังได้รวบรวมและอนุรักษ์พันธุ์พืชสมุนไพรไทยจากทั่วประเทศไม่น้อยกว่า 200 ชนิด

ปัจจุบัน กรมวิชาการเกษตร เร่งวิจัย เพื่อยกระดับพืชสมุนไพรสู่มาตรฐานใหม่ GAP พืชสมุนไพร (มกษ.3502-2561) ตามเป้าหมายของกระทรวงสาธารณสุข 11 ชนิด ได้แก่ ขมิ้นชัน บัวบก กระชายดำ มะขามป้อม ฟ้าทะลายโจร พลูคาว ว่านหางจระเข้ หญ้าหวาน มะแขว่น กระดอม และจันทน์เทศ (แผนแม่บทว่าด้วยสมุนไพรแห่งชาติ ฉบับที่ 1) รวมถึงศึกษากระตุ้นการเพิ่มสารสำคัญในกล้วยไม้สมุนไพรไทยและการเพาะเลี้ยงรากของตังกุยและโสมให้ได้ สารจินเซนโนไซด์ ในห้องปฏิบัติการแทนการปลูกในแปลง

ในอนาคต (ปี 2568-2570) กรมวิชาการเกษตรจะเร่งวิจัยอย่างต่อเนื่อง เพื่อยกระดับพืชสมุนไพรชนิดอื่น ๆ ให้เข้าสู่มาตรฐาน GAP พืชสมุนไพร อีก 4 ชนิด ได้แก่ กระชาย ไพล เพชรสังฆาต และมะระขี้นก (แผนปฏิบัติการด้านสมุนไพรแห่งชาติ ฉบับที่ 2) และเร่งสร้างชุดเทคโนโลยีการผลิตพืชสมุนไพรเชิงอุตสาหกรรม 3 ชนิด ได้แก่ ขมิ้นชัน บัวบก และว่านหางจระเข้

ทั้งนี้ งานวิจัยพัฒนาพืชสมุนไพรของกรมวิชาการเกษตร จะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้เกษตรกร / ภาคเอกชน สามารถผลิตวัตถุดิบสมุนไพรได้ตาม มาตรฐานสมุนไพรไทย (Thai Herbal Pharmacopoeia) ยกระดับทั้งปริมาณผลผลิตและปริมาณสารสำคัญให้ได้ตามเกณฑ์มาตรฐานทางการแพทย์ ปลอดภัยจากสารพิษและโลหะหนัก เป็นผลผลิตที่เป็นที่ต้องการของตลาด เพื่อป้อนวัตถุดิบให้กับภาคอุตสาหกรรมการแปรรูป เช่น ยาสมุนไพร อาหารเสริมสุขภาพ เวชสำอาง และต่อยอดสู่อาหารและอาหารสัตว์สมุนไพร ซึ่งจะสร้างอนาคตที่สดใส และสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรที่เกี่ยวเนื่องอย่างยั่งยืน

‘กรมพัฒนาธุรกิจฯ’ ดัน ‘สมุนไพรไทย’ สู่ซอฟต์พาวเวอร์ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ รับเทรนด์รักสุขภาพของคนยุคใหม่

(13 ก.ย. 66) นางรวีพรรณ ช้างเย็นฉ่ำ รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมมีแผนที่จะส่งเสริมการตลาดสินค้า ‘สมุนไพรไทย’ อย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบัน มีคณะกรรมการนโยบายและสมุนไพรแห่งชาติ ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการส่งเสริมภาพลักษณ์และการตลาดสมุนไพร มีปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน มีกรม กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เป็นฝ่ายเลขานุการ ทำหน้าที่ส่งเสริมการตลาดผลิตภัณฑ์สมุนไพรทั้งในและต่างประเทศ และกำหนดช่องทางการตลาดในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อผลักดันสมุนไพรไทยให้เป็น Soft Power ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศอีกรายการหนึ่ง

สำหรับการขับเคลื่อนสมุนไพรไทย ได้มีการกำหนดมาตรการผลักดันสมุนไพรเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ประเทศด้านอาหารและวัฒนธรรมไทย โดยบูรณาการประเด็นสมุนไพรร่วมกับอาหาร วัฒนธรรม และการท่องเที่ยว ผลักดันคุณค่าของสมุนไพรไทยร่วมกับอาหารไทย ตอบรับกระแสนิยมด้านรักสุขภาพ นำเสนอเมนูอาหารที่มีส่วนประกอบของสมุนไพรไทย ชูสรรพคุณที่มีคุณประโยชน์เจาะกลุ่มผู้บริโภคเฉพาะด้าน เช่น เพิ่มภูมิคุ้มกัน Plant-based และผู้สูงอายุ

ส่วนด้านการตลาด จะมีการศึกษาความต้องการของตลาด กำหนดกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ส่งเสริมการใช้การตลาดออนไลน์ที่น่าเชื่อถือ สร้างเรื่องเล่าดึงดูดความสนใจของผู้บริโภค เน้นขยายตลาดผลิตภัณฑ์สมุนไพรกลุ่มเวชสำอาง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสินค้าอุปโภคบริโภค เพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ชุมชนกลุ่มสมุนไพร รวมทั้งสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์สมุนไพร

นอกจากนี้ จะเร่งการพัฒนาตราสัญลักษณ์คุณภาพสมุนไพรที่เป็นที่ยอมรับ โดยกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เป็นหน่วยงานหลักในการพิจารณาคัดเลือกผู้ประกอบการสมุนไพรเพื่อมอบรางวัลผลิตภัณฑ์สมุนไพรคุณภาพ ซึ่งสัญลักษณ์ของรางวัลมีแนวคิดการออกแบบมาจากรูปแบบของไผ่ที่สานเป็นรูปดวงดาวของเหลว และกราฟิกรูปหัวใจ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและไว้วางใจจากผู้บริโภคในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์สมุนไพร

ทั้งนี้ ในส่วนของกรม จะเดินหน้ายกระดับศักยภาพด้านการตลาดของผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์สมุนไพร สร้างภาพลักษณ์ที่ดี สะท้อนคุณค่า และความน่าเชื่อถือผลิตภัณฑ์สมุนไพร รวมทั้งขยายโอกาสทางการค้าให้ผลิตภัณฑ์สมุนไพร เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของยุทธศาสตร์ในการกำหนดให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของการเป็นตลาดสมุนไพรของอาเซียน

ทางด้านผลการทำงาน ในปี 2565 ที่ผ่านมา ได้สร้างภาพลักษณ์และการรับรู้คุณประโยชน์ของผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทย โดยสร้างเรื่องเล่าให้ผลิตภัณฑ์สมุนไพร 22 ผลิตภัณฑ์ เน้นผลิตภัณฑ์ที่มีวัตถุดิบมาจาก Herbal Champion ได้แก่ ขมิ้นชัน กระชายดำ และบัวบก พร้อมประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ผ่านออนไลน์และเครือข่ายพันธมิตร และนำผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่มีศักยภาพขยายตลาดเชิงรุกเข้าสู่กลุ่มผู้บริโภคโดยตรง ผ่านงานแสดงสินค้าต่าง ๆ และการเจรจาจับคู่ธุรกิจกับผู้จัดจำหน่าย สามารถสร้างมูลค่าการค้าได้มากกว่า 15 ล้านบาท โดยกลุ่มผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่ได้รับความนิยม ได้แก่ ยาดม น้ำมันหอมระเหย และเครื่องสำอาง สมุนไพรจากน้ำนมข้าว และในปี 2566 ได้นำผู้ประกอบการเข้าร่วมงาน THAIFEX – Anuga Asia 2023 เมื่อเดือน พ.ค. 2566 จำนวน 42 ราย สามารถสร้างมูลค่าการค้ารวมทั้งสิ้น 203.31 ล้านบาท โดยผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่ได้รับความนิยม 5 อันดับ ได้แก่ ขมิ้นชันผง น้ำมะขามป้อม ขนมจากขิง เครื่องดื่มจากจมูกข้าว และเครื่องแกง ตามลำดับ

‘หมอทวีศิลป์’ แนะแนวทางซื้อกระเช้าปีใหม่ เลือกกระเช้าสมุนไพร ส่งสุขให้ผู้รับสุขภาพดี

(29 ธ.ค. 66) นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน รักษาราชการแทนอธิบดี กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เสนอแนวคิดในการเลือกซื้อกระเช้าปีใหม่ ที่ใส่ใจสุขภาพ ด้วยการมอบกระเช้าสมุนไพร 3 รูปแบบ เพื่อเป็นทางเลือกส่งมอบความสุขให้ผู้รับมีสุขภาพที่ดี ประกอบด้วย ชุดกระเช้าผลไม้ต้านหวัด, ชุดกระเช้าธัญพืชต้านอนุมูลอิสระ และชุดกระเช้าต้นสมุนไพรรักษ์โลก

สำหรับการเลือกซื้อกระเช้าผลิตภัณฑ์สมุนไพรนั้น ควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ ปลอดสารพิษ ฉลากผลิตภัณฑ์ต้องแสดงวัน เดือน ปีที่หมดอายุ และการมอบกระเช้าปีใหม่ปีนี้ ขอให้เป็นการมอบความสุขด้วยผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทย เพื่อส่งเสริมให้เกิดความภาคภูมิใจ ในภูมิปัญญาของบรรพบุรุษด้วย


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top