Saturday, 20 April 2024
กระทรวงเกษตร

ผลไม้จีนทะลัก ‘ด่านหนองคาย’ ไม่จริง!! ยัน!! ไม่เคยให้นำเข้าจากจีน แม้แต่ตู้เดียว 

‘เฉลิมชัย’ สั่งการทูตเกษตรเร่งหารือจีน แก้ปัญหาด่านส่งออกผลไม้ติดขัดเพราะมาตรการซีโร่โควิดของจีน ด้าน ‘อลงกรณ์’ ประชุมสมาพันธ์โลจิสติกส์เดินหน้าประสานจีนส่งออกกล้วยไม้และยางพาราใช้เส้นทางรถไฟไทย-ลาว-จีน ส่วนผลไม้รอหลังตรุษจีน ‘ด่านหนองคาย’ ยืนยันไม่มีผลไม้จีนเข้าไทยเพราะยังไม่ให้นำเข้า

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยวันนี้ว่า จากมาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่เข้มงวดของด่านนำเข้าจีน ส่งผลต่อการส่งออกผลไม้ของไทยเป็นอย่างมาก ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.กษ. ในฐานะประธานคณะกรรมการและบริหารการจัดการผลไม้ (Fruit Board) ได้สั่งการทูตเกษตร เร่งติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและหารือฝ่ายจีนเพื่อแก้ไขปัญหาและอำนวยความสะดวกการขนส่งผลไม้ไทย

นายอลงกรณ์ฯ กล่าวว่า ล่าสุดได้รับรายงานจากกงสุล (ฝ่ายเกษตร) ประจำนครกว่างโจว ว่าจากการที่ด่านของจีนมีมาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดโควิด (Zero Covid) ที่อาจติดมากับการขนส่งสินค้าผ่านห่วงโซ่ความเย็นที่เข้มงวด ส่งผลต่อการบริหารจัดการรถบรรทุกสินค้านำเข้าและส่งออกผ่านด่านโหย่วอี้กวน และด่านตงซิง เขตฯ กว่างซีจ้วง ทำให้ปริมาณรถผ่านเข้าออกลดลงจากเดิมมาก และมีรถติดสะสมหน้าด่านจำนวนมาก ทั้งนี้ จากมาตรการของด่านทำให้ต้องใช้ระยะเวลาในการผ่านด่านมากกว่าช่วงปกติ ส่งผลให้ปริมาณรถเข้า-ออกด่านลดลงจากช่วงปกติกว่า 50% 

นอกจากนี้ฝ่ายเกษตรฯ กว่างโจว ได้ประสานงานด่านรถไฟผิงเสียงในการเร่งกลับมาเปิดบริการ เพื่อช่วยในการกระจายสินค้าผลไม้ไทยจากด่านโหย่อี้กวนและด่านตงซิง ซึ่งปัจจุบันมีปัญหารถติดสะสมจำนวนมาก และได้นัดหมายประชุมหารือกับนายกเทศมนตรีเมืองตงซิงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเมืองตงซิงในวันที่ 16 ธันวาคมนี้ เพื่อหารือแนวทางการแก้ไขปัญหารถติดที่ด่านตงซิง และการอำนวยความสะดวกการขนส่งสินค้าผ่านด่านตงซิง 

สำหรับด่านโม่ฮาน มณฑลยูนนาน ฝ่ายเกษตรฯ กว่างโจว ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พบว่า ปัจจุบันอยู่ในช่วงทดลองการเดินรถ โดยด่านบ่อเต็น ฝั่งสปป.ลาว อนุญาตให้ทดลองปล่อยรถขนส่งผลไม้ไทยเข้าจีนได้วันละ 5 คัน หากไม่พบปัญหาการตรวจพบเชื้อโควิด-19 ด่านโม่ฮานจะกลับมาเปิดให้บริการตามปกติ

“อลงกรณ์” ตอบโจทย์ ”ไพศาล พืชมงคล” ประเด็น! “ตีกินเปิดด่านจีน” ชี้! ไพศาล สับสนเรื่องด่านจึงเข้าใจผิดในสาระสำคัญ พร้อมเชิญมาอัพเดทข้อมูลใหม่ที่กระทรวงเกษตรฯ

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รองหัวหน้าพรรคและประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์พรรคประชาธิปัตย์เขียนข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัวตอบประเด็นที่นายไพศาล พืชมงคล อดีตที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี(พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ)เขียนเรื่อง “ อย่าตีกิน ว่าเจรจาจีนให้เปิดด่านผิงสิงก่วนรับสินค้าไทยสำเร็จ เขาเปิดมานานแล้ว “โดยนายอลงกรณ์เขียนไว้ดังนี้…….

      “…..อ่านข้อความของพี่ไพศาล พืชมงคล อดีตที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี(พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ)เขียนเรื่อง “ อย่าตีกิน ว่าเจรจาจีนให้เปิดด่านผิงสิงก่วนรับสินค้าไทยสำเร็จ เขาเปิดมานานแล้ว “ด้วยความแปลกใจระคนตกใจ 

“อย่าตีกิน ว่าเจรจาจีนให้เปิดด่านผิงสิงก่วนรับสินค้าไทยสำเร็จ เขาเปิดมานานแล้ว

https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=4621859691246000&id=206264556138891”

ในฐานะคนกันเองจึงต้องรีบแก้ไขข่าวเพราะพี่ไพศาลเขียนบทความด้วยความเข้าใจผิดในสาระสำคัญมาก ๆ หลายประการ เพื่อจะได้ไปแก้ไขบทความเสียใหม่ ดังนี้ครับ

1.ด่านรถไฟผิงเสียงไม่ใช่ด่านผิงเสียง เป็นคนละด่านกัน

2.ด่านผิงเสียงเป็นการเรียกตามชื่อเมือง (เมืองผิงเสียง)  ชื่อด่านที่ถูกต้องเรียกว่า “ด่านโหยวอี้กวน”และเปิดด่านโหยวอี้กวนได้ตามพิธีสารไทยจีนปี2552

3.ด่านรถไฟผิงเสียงเพิ่งเปิดบริการขนส่งผลไม้ไทยวันแรกเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2563 ไม่ใช่เปิดมานานตามที่พี่ไพศาลเข้าใจ (น่าสับสนระหว่างคำว่าด่านรถไฟผิงเสียง ด่านผิงเสียง ด่านโหยวอี้กวน)

4.การขนส่งทางบกผ่านลาวและเวียดนามไปจีนมีความสำคัญมาก ทั้งทางรถและทางรถไฟซึ่งเราได้ดำเนินการล่วงหน้าจนทำพิธีสารเพิ่มด่านได้มากที่สุดในรอบทศวรรษ(โดยดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีเกษตรฯ.)รวมทั้งด่านรถไฟผิงเสียง(เปิดดำเนินการแล้วปี2563) ล่าสุดคือด่านรถไฟโมฮ่าน(ไม่ใช่ด่านโมฮ่านนะครับ)และด่านรถไฟเหอโขว่รองรับเส้นทางรถไฟลาว-จีน

5.หลังโควิดระบาดระลอกใหม่ รัฐบาลจีนใช้มาตรการZero COVIDตรวจเข้มทุกด่านทุกเมืองทั่วจีน มาตรการที่กระทบต่อการขนส่งทุกระบบที่รุนแรงมากคือปิดด่านทันทีแม้พบโควิดปนเปื้อนเพียงรายเดียว เราร่วมกับทุกฝ่ายทุกประเทศที่เกี่ยวข้องและดำเนินการทั้งเป็นทางการไม่เป็นทางการเพื่อคลี่คลายปัญหานี้และจีนก็เปิดด่านรถไฟผิงเสียงอีกครั้งหนึ่งตามข่าวที่ออกไปเมื่อวันที่1ม.ค.ครับ

    เป็นเรื่องการทำงาน ไม่ใช่เรื่องการตีกินหรือ อัปยศแห่งชาติตามสำนวนของพี่ไพศาล

      ขณะนี้ประเทศไทยพร้อมแล้วในการส่งสินค้าไปท่าบกท่านาแล้งโดยความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนไทย-ลาว-จีนทันทีที่จีนพร้อมเปิดบริการSPSและโควิดที่ด่านรถไฟโมฮ่านคาดว่าจะเปิดบริการภายในครึ่งแรกปีนี้ คือรอจีนทำให้เสร็จซึ่งเรากับลาวร่วมด้วยช่วยกันผลักดันเรื่องนี้

     ไม่ต้องรออะไรอีกแล้ว ที่เสร็จก็เร่งใช้งาน ที่สร้างก็สร้างไป แต่การขนส่งค้าขายรอไม่ได้ครับ 

      ผมเรียนว่า เราทำงานล่วงหน้ามา2ปีในการใช้ประโยชน์ร่วมกันระหว่างไทย ลาวและจีน ไม่เพียงมีเป้าหมายขนส่งผลไม้และสินค้าเกษตรไปทุกมณฑลทุกเขตปกครองตนเองในจีนแต่เราได้วางเส้นทางขนส่งทางรถไฟสายนี้เชื่อมโยงไปเอเซียกลาง ตะวันออกลาง รัสเซียและยุโรป รวมทั้งการสร้างความร่วมมือกับท่าบกของคาซัคสถานที่ Khorgos Gateway Dry Port ติดพรมแดนจีนบนเส้นทางรถไฟอีต้าอีลู่เพื่อเป็นฮับอีกจุดของชุมทางขนส่ง(Hub & Spoke)

   มีเรื่องราวอีกมากที่จะเล่าให้ฟัง

   ถ้ามีโอกาสขอเชิญพี่ไพศาลมาฟังบรรยายสรุปอัพเดทข้อมูลใหม่ๆให้ทราบครับและร่วมคิดร่วมสร้างอนาคตของประเทศด้วยกันที่กระทรวงเกษตรฯ.นะครับ 

  สุดท้ายหมายเหตุวันนี้ ผมขอนำข้อความและข่าวสารเมื่อเดือนพฤศจิกายนปี2563มาให้อ่านนะครับ เพื่อเป็นข้อมูลที่พี่ไพศาลควรทราบอย่างยิ่งครับ

…อลงกรณ์ พลบุตร….

2 มกราคม 2565

………..,.

16 พฤศจิกายน 2563 

ตู้คอนเทนเนอร์ผลไม้ไทยตู้ประวัติศาสตร์

ตู้คอนเทนเนอร์ขนผลไม้ทุเรียนมังคุดจากไทยตู้แรกในประวัติศาสตร์ผ่านลาวและเวียดนามกำลังยกด้วยรถเครนจากรถบรรทุกขึ้นแคร่รถไฟที่”ด่านรถไฟผิงเสียง”ล่ากว่ากำหนดเดิม1วันได้สำเร็จในที่สุด หลังจากเราทำความตกลงกับจีนเปิดด่านใหม่คือด่านรถไฟผิงเสียงครับ...อลงกรณ์

..…….

13 กันยายน 2564

ไทย จับมือ จีน ลงนามพิธีสาร ขยายด่านนำเข้า-ส่งออก กว่า 16 ด่าน หวังเปิดโอกาสผลไม้ไทย สู่แดนมังกรมากขึ้น

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการลงนามพิธีสารว่าด้วยข้อกำหนดในการกักกันโรคและตรวจสอบสำหรับการส่งออกและนำเข้าผลไม้ผ่านประเทศที่สามระหว่างประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยได้ลงนามร่วมกับ Mr.Wang Lingjun รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการศุลกากรแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนว่า ที่ผ่านมาไทยและจีนได้มีการลงนามพิธีสารเกี่ยวการส่งออกและนำเข้าผลไม้ทางบก ผ่านประเทศที่สาม ทั้งหมด 2 ฉบับ ได้แก่ เส้นทาง R9 ซึ่งลงนามเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2552 และเส้นทาง R3A ลงนามเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2554 ทั้งนี้ พิธีสารทั้ง 2 ฉบับ ครอบคลุม ผลไม้จากไทย 22 ชนิด

ก.เกษตรฯ ลั่นป้องกันโรค ASF ในสุกรตั้งแต่ปี 61 ยัน ไม่ปกปิด - เยียวยาแล้วกว่า 3 พันราย

กระทรวงเกษตรฯ. เคลียร์ทุกประเด็นโรค ASF ในสุกร ยืนยันป้องกันโรคตั้งแต่ปี 2561 ไม่ปกปิดไม่ละเลย เผยช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรแล้วกว่า 3 พันราย ผนึกทุกภาคีเครือข่ายร่วมควบคุมโรคให้สงบและขอคืนสภาพปลอดโรคโดยเร็ว

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยวันนี้ว่า ตามที่ประเทศไทยได้มีการตรวจพบเชื้อโรค ASF ในสุกรจากการเก็บตัวอย่างจากพื้นผิวสัมผัส (surface swab) ที่โรงฆ่าแห่งหนึ่งใน จ.นครปฐม ตรวจโดยห้องปฏิบัติการของกรมปศุสัตว์เพื่อยืนยันผล ตนได้มีความห่วงใยต่อเรื่องนี้มาโดยตลอดตั้งแต่ต้น และสั่งการด่วนให้กรมปศุสัตว์รีบดำเนินการทันที ทั้งนี้นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ ได้เร่งดำเนินการเพื่อหารือและทำความเข้าใจร่วมมือกับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อควบคุมโรคให้สงบโดยเร็ว ได้ประชุมคณะทำงานด้านวิชาการในการป้องกัน ควบคุมและกำจัดโรค ASF ในสุกรและแถลงต่อสื่อมวลชนอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2565 ซึ่งจะประกาศเขตโรคระบาดและมีการควบคุมการเคลื่อนย้ายในรัศมี 5 กิโลเมตรรอบจุดที่พบโรค และรายงานแจ้งไปยังองค์การสุขภาพสัตว์โลก (OIE) ต่อไป โดยการดำเนินการต่างๆ จะคำนึงถึงผลกระทบในทุกมิติอย่างรอบคอบ เพื่อลดความเสียหายและผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการผลิตสุกรและเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด วอนเกษตรกรอย่าตระหนก โรค ASF เกิดเฉพาะในสุกรเท่านั้น ย้ำไม่ระบาดติดต่อสู่คน

กรมปศุสัตว์ย้ำ ไม่เคยปกปิดโรค ASF ในสุกร ได้ดำเนินการเพื่อเฝ้าระวังป้องกันโรคมาตั้งแต่ปี 2561 ที่พบการระบาดเกิดโรค ASF ในสุกรครั้งแรกในประเทศจีน ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และมีการเตรียมความพร้อมรับมือต่อโรคมาโดยตลอด

โดยสั่งการในปศุสัตว์จังหวัดทุกจังหวัดดำเนินการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการเฝ้าระวังและควบคุมโรค การซ้อมแผนเตรียมความพร้อมรับมือ จัดทำแผนเตรียมความพร้อมเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรค ASF ในสุกร (contingency plan) และแนวทางเวชปฏิบัติของโรค ASF ในสุกร (Clinical Practice Guideline) และได้เผยแพร่ในเว็บไซต์ของกรมปศุสัตว์ การบูรณาการการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการตรวจเข้มนักท่องเที่ยวและเข้มงวดตรวจสอบการลักลอบนำเข้าสุกรและผลิตภัณฑ์สุกรจากประเทศกลุ่มเสี่ยงเพื่อป้องกันโรคเข้าประเทศ เพิ่มมาตรการเข้มงวดในการส่งออก ลดความเสี่ยงจากการส่งออกสุกร โดยห้ามรถขนส่งสุกรมีชีวิตเข้าไปส่งสุกรในประเทศที่มีการระบาด ให้ใช้รถขนถ่ายข้ามแดนในการส่งสุกรไปยังประเทศปลายทางแทน และต้องมีการพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรค

การบูรณาการความร่วมมือร่วมกับองค์กรระหว่างประเทศ ได้แก่ องค์การสุขภาพสัตว์โลก (OIE) ในการจัดประชุมความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน (ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม) ในการป้องกันโรค การทำงานบูรณาการร่วมกับภาคเอกชน ในการจัดตั้งโรงพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรคทั้งหมด 5 จุด ที่ด่านกักกันสัตว์เชียงราย หนองคาย นครพนม มุกดาหาร และสระแก้ว การจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ โดยได้จัดทำเป็นภาษาต่างๆ เช่น ภาษาอังกฤษ ภาษาลาว ภาษาพม่า ภาษาเขมร เป็นต้น

การสุ่มเก็บตัวอย่างและส่งวิเคราะห์ที่สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติเพื่อเฝ้าระวังโรค ซึ่งผลวิเคราะห์จากการเก็บตัวอย่างตอนนั้นเป็นลบต่อโรค ASF ในสุกรทั้งหมด แต่ให้ผลบวกต่อโรคชนิดอื่นๆ เช่น โรคกลุ่มอาการระบบสืบพันธุ์และทางเดินหายใจในสุกร (PRRS) โรคท้องร่วงระบาดในสุกร (PED) โรคอหิวาต์สุกร (CSF) และโรคปากและเท้าเปื่อย (FMD) เป็นต้น

สำหรับ ประเด็นเงินชดเชย เนื่องจากโรคนี้ไม่มีวัคซีนและยารักษาจำเพาะ หากพบการระบาดของโรคในประเทศแล้วจะกำจัดโรคได้ยากก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างร้ายแรง ที่ผ่านมากรมปศุสัตว์ได้ดำเนินการเฝ้าระวัง ป้องกันโรคมาโดยตลอด ซึ่งหนึ่งในมาตรการที่ดำเนินการคือการลดความเสี่ยงโดยการทำลายสุกรที่มีความเสี่ยงสูงเพื่อป้องกันการเกิดโรค อาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 พร้อมชดใช้ราคาสุกรที่ถูกทำลายเพื่อป้องกันโรค ที่ผ่านมาได้ดำเนินการขออนุมัติจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี งบกลางรายการสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น โดยได้ดำเนินการชดเชยค่าชดใช้ราคาสุกรที่ถูกทำลายมาแล้วจำนวน 3 ครั้ง รวมเกษตรกรทั้งสิ้น 3,239 ราย สุกรจำนวน 112,752 ตัว เป็นเงิน 470,426,009 บาท

และในปี 2565 กรมปศุสัตว์ได้ขออนุมัติงบประมาณในส่วนดังกล่าวแก่เกษตรกรจำนวน 4,941 ราย สุกรจำนวน 159,453 ตัว เป็นเงิน 574,111,262.5 บาท เพื่อเป็นค่าชดใช้ราคาสุกรที่ถูกทำลาย ซึ่งครม. ได้อนุมัติแล้ว จะเร่งเยียวยาความเดือดร้อนของเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรโดยเร็วต่อไป

กรณี ปัญหาราคาเนื้อสุกรแพง มาจากหลายปัจจัย สาเหตุสำคัญที่ทำให้ราคาเนื้อสุกรปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นในช่วงปลายปี 2564 ต่อเนื่องถึงปัจจุบัน เนื่องจากปริมาณสุกรมีชีวิตที่ถูกแปรสภาพเป็นเนื้อสุกรลดลง ประกอบกับภาวะต้นทุนการผลิตสุกรขุนที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากราคาอาหารสัตว์ที่เพิ่มขึ้น และค่าใช้จ่ายในการจัดทำระบบป้องกันภัยทางชีวภาพของฟาร์มสุกร และต้นทุนด้านการขนส่งที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับเพิ่มขึ้น

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ ผลผลิตสุกรลดลง เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เป็นปัจจัยทำให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพในฟาร์มสุกรของไทยเพิ่มขึ้น ในรอบปี 2564 พบการระบาดของโรคกลุ่มอาการระบบสืบพันธุ์และทางเดินหายใจในสุกร (PRRS) โรคท้องร่วงระบาดในสุกร (PED) โรคอหิวาต์สุกร (CSF) เกษตรกรต้องลดความหนาแน่นของสุกรในฟาร์ม และเลิกเลี้ยงสุกรในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงด้านสุขภาพ โดยได้มีมาตรการให้การแก้ปัญหาระยะเร่งด่วน ระยะสั้น และระยะยาว โดยมาตรการระยะเร่งด่วนกระทรวงพาณิชย์ โดยคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการได้ประกาศห้ามส่งออกสุกรมีชีวิตไปนอกราชอาณาจักรเป็นเวลา 3 เดือน (6 มกราคม-5 เมษายน 2565) ช่วยเหลือราคาอาหารสัตว์ จัดสินเชื่อพิเศษ เพื่อให้เกษตรกรได้กลับมาเลี้ยงใหม่ ตรึงราคาจำหน่ายที่เหมาะสมสอดคล้องต้นทุนที่เกิดขึ้น และเร่งสำรวจภาพรวมการผลิตสุกรเพื่อกำหนดพื้นที่เป้าหมายและมาตรการ พร้อมเพิ่มกำลังการผลิตแม่สุกรทดแทน มาตรการระยะสั้น มีการส่งเสริมการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เพื่อทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศ

กรุงเทพฯ - กระทรวงเกษตรฯ เตรียมจำหน่ายหมูเพื่อประชาชน ภายใต้โครงการ “เกษตรช่วยประชาชนลดค่าครองชีพ” ในราคาถูกกว่าท้องตลาด มั่นใจด้วยคุณภาพดี การันตีด้วยมาตรฐานปศุสัตว์ OK ณ ลานกิจกรรมตลาดริมน้ำ อ.ต.ก.

ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการแถลงข่าวเปิดตัวโครงการ “เกษตรช่วยประชาชนลดค่าครองชีพ” โดยมีดร.ทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ นายปณิธาน มีไชยโย รักษาการผู้อำนวยการองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) นายฉันทานนท์ วรรณเขจร โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เข้าร่วม ณ ห้องประชุมกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผ่านระบบการประชุมทางไกลออนไลน์ (ZOOM Meeting)

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า จากสถานการณ์ราคาหมูแพง ซึ่งส่งผลกระทบต่อหลายภาคส่วน โดยเฉพาะกับประชาชนผู้บริโภค รวมไปถึงผู้ประกอบการร้านอาหาร ที่ต่างได้รับความเดือดร้อน จากปัญหาราคาเนื้อหมูที่ปรับตัวสูงขึ้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมปศุสัตว์ และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) จึงได้จัดโครงการ “เกษตรช่วยประชาชนลดค่าครองชีพ” ที่กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 12 - 19 กุมภาพันธ์ 2565 หรือจนกว่าสินค้าจะหมด ณ ลานกิจกรรมตลาดริมน้ำ อ.ต.ก. เลียบคลองบางซื่อ ถ.พหลโยธิน เขตจตุจักร กทม. เพื่อเป็นการช่วยเหลือประชาชน ลดภาระค่าใช้จ่าย และบรรเทาความเดือดร้อนจากสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน ด้วยการจัดจำหน่ายหมูเพื่อประชาชน ซึ่งเป็นหมูเนื้อแดง คุณภาพดี การันตีด้วยมาตรฐานปศุสัตว์ OK ในราคาถูกกว่าท้องตลาด เพียงกิโลกรัมละ 140 บาท ซึ่งจะนำมาจำหน่ายที่ตลาด อ.ต.ก. จำนวน 150,000 กิโลกรัม โดยกำหนดซื้อได้คนละไม่เกิน 5 กิโลกรัม เพื่อให้ทั่วถึงกันทุกคน

‘ก.เกษตร’ เปิดปฏิบัติการฝนหลวงสู่แล้ง บรรเทาภัยแล้งทั่วประเทศ

เจ้ากระทรวงเกษตรฯ เปิดปฏิบัติการฝนหลวงสู้ภัยแล้ง ประจำปี 2565 สร้างขวัญและกำลังใจต่อผู้ปฏิบัติงาน พร้อมปล่อยขบวนคาราวานเครื่องบินฝนหลวงออกปฏิบัติภารกิจป้องกันและบรรเทาความเดือดร้อนจากภัยแล้งและภัยพิบัติทั่วประเทศ

ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีเปิดปฏิบัติการฝนหลวงสู้ภัยแล้ง ประจำปี 2565 โดยมีผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้าร่วม ณ สนามบินนครสวรรค์ จ.นครสวรรค์ วันนี้ (3มี..) ว่า

ในขณะนี้หลายพื้นที่ทั่วทุกภาคของประเทศเริ่มมีสถานการณ์ภัยแล้งเกิดขึ้น น้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำและเขื่อนต่างๆ มีปริมาณน้ำเก็บกักลดลงตามลำดับ และในช่วงฤดูร้อนนี้ มีแนวโน้มของสถานการณ์การเกิดไฟป่า ปัญหาหมอกควัน และปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) เกินเกณฑ์มาตรฐาน ซึ่งมีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน รวมไปถึงแนวโน้มการเกิดพายุลูกเห็บในหลายพื้นที่ของประเทศไทย โดยเฉพาะบริเวณภาคเหนือตอนบนและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมฝนหลวงและการบินเกษตร จึงได้จัดทำแผนปฏิบัติการฝนหลวง ประจำปี 2565 ตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 10 หน่วยปฏิบัติการทั่วประเทศ โดยได้น้อมนำศาสตร์ตำราฝนหลวงพระราชทานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9 มาเป็นแนวทางในการปฏิบัติการป้องกันและช่วยบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน และพื้นที่การเกษตรที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาดังกล่าว

สำหรับแผนปฏิบัติการฝนหลวง ประจำปี 2565 กรมฝนหลวงและการบินเกษตร มีแผนปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรที่ประสบภัยแล้ง และสร้างความชุ่มชื้นให้กับป่าไม้ การเติมน้ำต้นทุนให้กับอ่างเก็บน้ำและเขื่อนต่าง ๆ ของประเทศ ป้องกันการเกิดไฟป่าและบรรเทาปัญหาหมอกควัน รวมทั้งสถานการณ์ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) เกินเกณฑ์มาตรฐาน ตั้งแต่วันที่ 3 มีนาคม 2565 เป็นต้นไป โดยตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงประจำ 5 ภูมิภาค จำนวน 10 หน่วยปฏิบัติการ ได้แก่…

- ภาคเหนือตอนบน ตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงที่ จ.เชียงใหม่ และ จ.ตาก

- ภาคเหนือตอนล่าง ตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงที่ จ.แพร่ และ จ.พิษณุโลก

- ภาคกลาง ตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงที่ จ.นครสวรรค์ และ จ.กาญจนบุรี

- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตอนบน ตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงที่ จ.อุดรธานี

- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตอนล่าง ตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงที่ จ.บุรีรัมย์

- ภาคตะวันออก ตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงที่ จ.จันทบุรี

- ภาคใต้ ตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงที่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์

นอกจากนี้ ยังมีการจัดตั้งฐานเติมสารฝนหลวง จำนวน 2 แห่ง ที่ จ.ขอนแก่น และ จ.ระยอง โดยใช้เครื่องบินกรมฝนหลวงและการบินเกษตร จำนวน 24 ลำ และได้รับการสนับสนุนเครื่องบินกองทัพอากาศ ชนิด ALPHA JET จำนวน 1 ลำ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา กรมฝนหลวงและการบินเกษตรได้มีการจัดตั้งปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 4 หน่วยปฏิบัติการ เพื่อติดตามสถานการณ์และช่วงชิงสภาพอากาศในการปฏิบัติการฝนหลวงช่วยบรรเทาปัญหาภัยแล้งและความต้องการน้ำในบางพื้นที่ รวมถึงสนับสนุนเฮลิคอปเตอร์บินสำรวจสถานการณ์ไฟป่าหมอกควันในพื้นที่ภาคเหนืออีกด้วย

'อลงกรณ์'​ เตือน 'ไพศาล'​ อย่าบั่นทอนมิตรภาพ 'ไทย-จีน'​ กรณีโยงการส่งออกทุเรียนไทยกับนาโต้

'อลงกรณ์'​ เตือน​ 'ไพศาล'​ อย่าบั่นทอนมิตรภาพไทย-จีนกรณีโยงการส่งออกทุเรียนไทยกับนาโต้ ชี้!! เป็นปัญหาโควิดไม่ใช่การเมืองระหว่างประเทศ​ ยืนยันสัมพันธ์ไทย-จีนแนบแน่นนำเข้าผลไม้ไทยอันดับ1จนครองมาร์เก็ตแชร์ตลาดผลไม้จีนกว่า​ 40% ทิ้งห่างชิลีและเวียดนามหลายเท่าตัว

กรณีนายไพศาล พืชมงคล อดีตที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณเขียนเฟซบุ๊กเรื่อง การส่งออกผลไม้ไทยนับล้านตันไปจีนส่อเดี้ยงโดยโยงเรื่องการเมืองระหว่างประเทศกรณีนาโต้ทำให้จีนกีดกันทุเรียนไทยนั้น

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในฐานะคณะกรรมการบริหารจัดการผลไม้​ (Fruit Board) เขียนเฟซบุ๊กส่วนตัววันนี้ว่า ข้อเขียนของนายไพศาลที่โยงการเมืองระหว่างประเทศเรื่องนาโต้กับไทยเป็นสาเหตุใหญ่ที่ทำให้จีนกีดกันการส่งออกทุเรียนไทยนั้น ไม่เป็นความจริงและเป็นประเด็นที่จะส่งผลร้ายผลลบกระทบความสัมพันธ์และความร่วมมืออันดีระหว่างจีนกับไทย เพราะคุณไพศาลพยายามทำให้คนไทยเชื่อว่าจีนกีดกันหรือกลั่นแกล้งการส่งออกทุเรียนและผลไม้ไทยซึ่งจะก่อให้เกิดความรู้สึกที่ไม่ดีระหว่างประขาชนของ​ 2​ ประเทศ

“เรื่องด่านจีนและการขนส่งเป็นปัญหาโควิดไม่ใช่ปัญหานาโต้ และมาตรการซีโร่โควิดของจีนใช้กับทุกเมืองทุกมณฑลในประเทศจีนและทุกด่านทั้งทางบกทางน้ำทางอากาศรอบประเทศจีนไม่ใช่เฉพาะด่านลาวด่านเวียดนามที่ไทยต้องขนส่งผลไม้ผ่านด่านเหล่านั้น ทุกประเทศกระทบหมดทั้งพม่า ลาว เวียดนาม กัมพูชา ทั้งสมาชิกนาโต้และไม่ใช่นาโต้ ไม่มีประเทศใดได้สิทธิพิเศษ ล่าสุดเมื่อสัปดาห์ก่อนเวียดนามที่มีโควิดแพร่ระบาดมากขึ้นในช่วงนี้ ทางจีนก็ออกมาตรการเพิ่มจากเดิมที่ด่านจีน-เวียดนามเพื่อป้องกันโควิด”

นายอลงกรณ์กล่าวต่อไปว่าข้อพิสูจน์ถึงความสัมพันธ์อันดีระหว่างจีนกับไทยโดยเฉพาะด้านการค้าและการส่งออกผลไม้รวมถึงทุเรียนไทย คือในปี​ 2564 จีนซื้อผลไม้ไทยสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในปีที่ผ่านมากว่าแสนล้านบาทและคนจีนนิยมผลไม้ไทยมากกว่าทุกประเทศในโลก ทำให้ไทยเป็นแชมป์ส่งออกทุเรียนและผลไม้ไปจีนได้มากที่สุดกว่าทุกประเทศสามารถครองส่วนแบ่งตลาดหรือมาร์เก็ตแชร์ในตลาดจีนได้กว่า​ 40% อันดับ​ 2​ คือ​ ชิลี 10%  เศษ​ และอันดับ​ 3 เวียดนาม 6% ถ้าโควิดไม่ระบาดหนักเหมือน​ 2​ ปีที่ผ่านมา​ การส่งออกผลไม้ไทยไปจีนจะขยายตัวมากขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา

ยิ่งกว่านั้นเมื่อปลายปี​ 2564​ ทั้ง​ 2​ ประเทศโดย ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีเกษตรและรัฐมนตรี​ GACC ของจีนได้ลงนามในพิธีสารเปิดด่านผลไม้เพิ่มอีกเป็น​ 16​ ด่านมากที่สุดเป็นประวัติการณ์จากเดิมที่มีเพียง​ 6​ ด่าน 

ข้อมูลเช่นนี้ตรงข้ามกับที่คุณไพศาลบอกว่าจีนไม่พอใจไทยหรือกลั่นแกล้งไทยเพราะปัญหาการเมืองระหว่างประเทศ

“คุณไพศาลมีสิทธิ์วิจารณ์ทุกเรื่อง​ แต่ต้องแม่นยำตรวจสอบข้อมูลให้ชัดแจ้งโดยเฉพาะประเด็นที่จะกระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับจีน รวมทั้งข้อมูลเรื่องระบบโลจิสติกส์ผลไม้ทั้งทางบกทางน้ำก็ให้ข้อมูลผิดๆเช่นสถานีรถไฟดังดงของเวียดนามอยู่ห่างด่านรถไฟผิงเสียงเพียง​ 17​ กิโลเมตร ไม่ใช่อยู่กลางประเทศเวียดนามห่างไกลพรมแดนกว่างสีตามที่คุณไพศาลบอก 

ส่วนการขนส่งทางรถไฟสายใหม่จีน-ลาวนั้นประเทศไทยเริ่มขนส่งข้าวเหนียว​ 20​ ตู้คอนเทนเนอร์ไปมหานครฉงฉิ่งเมื่อ​ 27​ มกราคมที่ผ่านมา ไม่ใช่ขนส่งไม่ได้ตามข้อเขียนของคุณไพศาล และการขนส่งทางรถไฟสายใหม่นี้จะสามารถบรรทุกผลไม้ตามพิธีสารที่เพิ่งลงนามได้ทันทีที่ด่านตรวจพืชที่ด่านรถไฟโมฮ่านเสร็จและด่านนี้อยู่ห่างจากสถานีเวียงจันทน์กว่า​ 400​ กิโลเมตร​ ไม่ใช่​ 100​ กิโลเมตรตามที่คุณไพศาลเขียน ก็ขอให้คุณไพศาลทราบถึงข้อมูลเหล่านี้ต่อไปภายหน้าจะได้นำเสนอข้อมูลที่ถูกต้องต่อไป”

'เฉลิมชัย'​ เร่งปฏิรูปภาคเกษตร​ ดันเทคโนโลยี 4.0 พร้อมหนุนงบวิจัยและพัฒนาของศูนย์​ AIC​ ทั่วประเทศเพื่อเพิ่มรายได้เกษตรกร

'เฉลิมชัย'​ เร่งปฏิรูปภาคเกษตรสู่เกษตรมูลค่าสูง​ ผนึกมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เปิดศูนย์นวัตกรรมสกัดสารพืชกระท่อมและสมุนไพร
สั่งกระทรวงเกษตรเร่งขับเคลื่อนเทคโนโลยีเกษตร​ 4.0 สนับสนุนงบวิจัยและพัฒนาของศูนย์​ AIC​ ทั่วประเทศเพื่อเพิ่มรายได้เกษตรกร

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม​ (ศูนย์ AIC:Agritech and Innovation Center) เปิดเผยวันนี้ว่า ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดศูนย์นวัตกรรมสกัดสารสมุนไพรและกระท่อมสู่การต่อยอดเกษตรมูลค่าสูง ร่วมกับรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่และผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หลังจากประขุมรับฟังการนำเสนอโครงการพัฒนากระท่อม พืชเศรษฐกิจตัวใหม่เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก บนพื้นฐานผู้ประกอบการยุคใหม่ ของสมาคมพืชกระท่อมแห่งประเทศไทย อันประกอบด้วย “บทบาทพืชกระท่อมไทยขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากฐานราก นำร่อง 4 จังหวัดภาคใต้” และ​ “การพัฒนาและวิจัยพืชกระท่อมสู่ผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง” เมื่อ​ 20​ มี.ค.65​ ณ ห้องประชุมศูนย์นวัตกรรมอาหารและบรรจุภัณฑ์​ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ซึ่งเป็นศูนย์AICจังหวัดเชียงใหม่ภายในอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ

ทั้งนี้ รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวมอบนโยบายว่าภายใต้ยุทธศาสตร์เทคโนโลยีเกษตร​ 4.0 ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานของกระทรวงเกษตรฯ​ จัดทำงบประมาณและโครงการสนับสนุนการดำเนินงานของศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรมหรือศูนย์AICเพื่อการวิจัยพัฒนานวัตกรรมนำมาใช้ส่งเสริมการผลิต การแปรรูป และการตลาดเช่นพืชสมุนไพรของไทย โดยมุ่งหวังให้เกษตรกร กลุ่มวิสาหกิจชุมชน สถาบันเกษตรกร และผู้ประกอบการภาคเกษตรสามารถผลิตและพัฒนาสินค้าทางการเกษตรที่มีคุณภาพตรงกับความต้องการของตลาดทั้งภายใน และภายนอกประเทศตามยุทธศาสตร์ตลาดนำการผลิต เพื่อสร้างเกษตรมูลค่าสูง  ยกระดับรายได้ของเกษตรกร อย่างยั่งยืนต่อไป

กระทรวงเกษตรฯ​ ผนึก​ ศูนย์​ AIC77 จังหวัด​ ถ่ายทอด​ 701 นวัตกรรมสู่เกษตรอัจฉริยะกว่า 8​ พันราย พร้อมเชื่อมฐานข้อมูลกับสภาเกษตรกรแห่งชาติ​ หวังพลิกโฉมภาคเกษตรด้วยเทคโนโลยีและบิ๊กดาต้า

'อลงกรณ์'​ เร่งจบงานเนชั่นแนลซิงเกิลวินโดซ์ (NSW) และดิจิตอล ทรานสฟอร์เมชั่น (Digital Transformation) ภายใต้ 5 ยุทธศาสตร์เฉลิมชัยภายในปีนี้

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายเทคโนโลยีเกษตร 4.0 และประธานคณะกรรมการบริหารศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (AIC) เปิดเผยวันนี้ (22มี.ค.)ภายหลังเป็นประธานการประชุมผ่านระบบประชุมทางไกล พร้อมด้วย นายประภาส ทองยงค์ รองปลัดกระทรวงเกษตร นายวุฒิพงศ์ เนียมหอม รองเลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม รศ.ดร.ธานี ศรีวงศ์ชัย คณบดีคณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผศ.รุ่งอรุณ ดอนจันทร์ทอง ผู้อำนวยการสถาบันบัวราชมงคลตะวันออก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออกวิทยาเขตบางพระ นายสุวิทย์ รัตนจินดา ประธานสมาพันธ์ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ไทย รศ.ดร. อาณัฐชัย รัตตกุล ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา ศูนย์ AIC และภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจากทั่วประเทศกว่า 400 คน เข้าร่วมประชุมเมื่อวานนี้เพื่อรับทราบความก้าวหน้าของผลการขับเคลื่อนคณะอนุกรรมการทั้ง 4 ด้าน ทั้งด้าน Big Data และ Gov Tech ด้านเกษตรอัจฉริยะ ด้าน E-Commerce ด้านธุรกิจเกษตร (Agribusiness) และผลการดำเนินงานศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (Agritech and Innovation Center : AIC) 

โดยนายอลงกรณ์ กล่าวว่า ที่ประชุมได้รับทราบผลการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการขับเคลื่อน E-Commerce ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการดำเนินงานการกระจายสินค้าเกษตรผ่านช่องทางไปรษณีย์ และโครงการ Thailand E-Commerce ผลการดำเนินงานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อน ด้าน Big Data และ Gov Tech ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประกอบด้วย 1) ความก้าวหน้าการดำเนินงานเชื่อมโยงข้อมูลศูนย์ข้อมูลเกษตรแห่งชาติ (NABC:National Agriculture Big Data Center) ภายใต้ MOU ระหว่างสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรและสำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติ 2) ผลการดำเนินงานการจัดทำและให้บริการภาครัฐของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ National Single Window (NSW) มีบริการที่เชื่อมโยง NSW จำนวน 55 บริการ ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว จำนวน 38 บริการ ให้บริการแล้วและอยู่ระหว่างการปรับปรุง/เพิ่มประสิทธิภาพระบบ จำนวน 17 บริการ และ 3) ผลการดำเนินงานการจัดทำฐานข้อมูลขนาดใหญ่ด้านการเกษตรซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดินและการบริการประชาชนตามแนวทางDigital Transformation

ทั้งนี้​ นายอลงกรณ์ ได้แจ้งฝ่ายเลขาฯ ให้กำหนดจัดการประชุมเป็นการเฉพาะในต้นเดือนหน้า (เม.ย.) โดยเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเร่งรัดการดำเนินงานการจัดทำและให้บริการภาครัฐของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ National Single Window (NSW) ในการวิเคราะห์ ประเด็นเสนอของภาคเอกชน ในการเชื่อมโยงข้อมูลเพื่อการบริการในเว็บไซต์ที่ออกแบบให้สามารถเข้าถึงการบริการในเว็บเดียวกัน พร้อมทั้งจัดทำ time line กรอบรระยะเวลาการดำเนินการ 
ในการนี้ คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเกษตรอัจฉริยะ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมส่งเสริมการเกษตร ได้รายงานผลการดำเนินงาน และนำเสนอโครงการส่งเสริมและพัฒนาต้นแบบเกษตรอัจฉริยะ กิจกรรมส่งเสริมนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ “ระบบบริหารจัดการแปลงเกษตรด้วยระบบเกษตรอัจฉริยะ Handy Sense และการขับเคลื่อน ศพก.เกษตรอัจฉริยะ การพัฒนาศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) สู่การทำการเกษตรแบบเกษตรอัจฉริยะ และคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนธุรกิจเกษตร (Agribusiness) ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รายงานการนำเสนอพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา พ.ศ. 2560 “ระบบเกษตรพันธสัญญา” และปัญหาราคาสุกรหน้าฟาร์มต่ำกว่าท้องตลาด และการเสนอผลการบริหารจัดการงานวิจัยทางการเกษตร ของศูนย์วิจัยข้าวโพดและข้าวฟ่างแห่งชาติ (ไร่สุวรรณ) คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ การดำเนินงานของศูนย์ความเป็นเลิศ (COE) บัว ของสถาบันบัวราชมงคลตะวันออก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตบางพระ โดยที่ประชุมเสนอให้มีการนำผลงานเข้าร่วมแสดงในงานมหกรรมพืชสวนโลก ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในปี 2569 เพื่อแสดงศักยภาพด้านบัวของประเทศไทยให้เป็นที่ประจักษ์แก่สากลซึ่งมีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออกเป็นศูนย์ AIC ประเภทความเป็นเลิศ COE ด้านบัว -ราชินีแห่งพืชน้ำ อีกทั้ง ความก้าวหน้าการดำเนินงานของคณะทำงานคัดเลือกรางวัล AIC Award ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างประกาศเปิดรับสมัครผลงานเข้าร่วมประกวดคัดเลือกรางวัล AIC Award 2022 และความก้าวหน้าการดำเนินงานระบบฐานข้อมูล AIC (Innovation Catalog) ซึ่งปัจจุบันมีจำนวน Innovation Catalog รวมทั้งสิ้น 701 เทคโนโลยี/นวัตกรรม 11 ประเภท การนำไปใช้และการถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมจาก AIC ผ่าน ศพก. สู่เกษตรกรจำนวน 8,709 ราย ศพก. 56 แห่ง จากทั้งสิ้น 882 แห่ง และขยายผลสู่เกษตรแปลงใหญ่ จำนวน 6 จังหวัด รวม 9 แปลงใหญ่

'เฉลิมชัย' พอใจผลการส่งออกผลไม้ไทยไปจีนล็อตแรกด้วยรถไฟสาย 'จีน-ลาว'

'รัฐมนตรีเฉลิมชัย' พอใจผลการส่งออกผลไม้ไทยไปจีนล็อตแรกด้วยรถไฟสาย 'จีน-ลาว' ผ่านด่านโมฮ่านในมณฑลยูนนานแล้ววันนี้ ด้าน 'อลงกรณ์' เผยแผนต่อไปเดินหน้าจับมือ 'ลาว-เวียดนาม' เปิดประตูอีสานสู่แปซิฟิกจากนครพนมเชื่อมท่าเรือหวุงอ๋างเพิ่มช่องทางขนส่งสินค้าเกษตรทางเรือ

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในฐานะประธานคณะทำงานของคณะกรรมการบริหารจัดการผลไม้ (Fruit Board) เปิดเผยวันนี้ (3เม.ย) ว่า การขนส่งทุเรียน 2 ตู้คอนเทนเนอร์และมะพร้าวจำนวน 1 ตู้คอนเทนเนอร์ทางรถไฟจากสถานีรถไฟมาบตาพุตจังหวัดระยองในภาคตะวันออกสู่ประเทศจีนโดยมีนายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุขและส.ส.ระยอง เป็นประธานการปล่อยขบวนรถเมื่อวันที่27มีนาคมได้ถึงช่วงสุดท้ายที่สำคัญมากคือการขนส่งข้ามพรมแดนลาวที่ด่านบ่อเตนสู่แผ่นดินใหญ่จีนที่ด่านโมฮ่าน มณฑลยูนนานได้ในวันนี้

 

นับเป็นระบบการขนส่งหลายรูปแบบ (Multi Modal Transportation)คือใช้ทั้งระบบรางและระบบรถที่เริ่มดำเนินการเป็นครั้งแรกเพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้ากรณีที่ยังไม่สามารถขนส่งผลไม้ทางรถไฟจากลาวข้ามแดนไปด่านรถไฟโมฮ่านโดยตรงเนื่องจากจีนกำลังก่อสร้างอาคารและลานตรวจโรคพืชที่ด่านรถไฟโมฮ่านจึงต้องไปใช้การตรวจโรคพืชที่ด่านโมฮ่านซึ่งเป็นด่านใหญ่ด่านเดิมไปพรางก่อน

“ทั้งนี้ได้รายงานให้ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารจัดการผลไม้ (Fruit Board) ทราบแล้วโดยท่านรัฐมนตรีได้แสดงความพอใจแผนโลจิสติกส์เกษตรที่ประสบผลสำเร็จจากการทดสอบการขนส่งทุเรียนและมะพร้าวน้ำหอมล็อตแรกจากไทยผ่านลาวไปจีนภายใต้พิธีสารผลไม้ไทย-จีนด้วยเส้นทางรถไฟจีน-ลาวโดยได้สั่งการให้มีการจัดประชุมคณะกรรมการบริหารจัดการผลไม้ (Fruit Board) ในวันพฤหัสบดีที่ 7 เมษายนเพื่อพิจารณาแก้ไขปัญหาทุกขั้นตอนเนื่องจากการขนส่งล็อตแรกยังมีความล่าช้ากว่าเป้าหมายรวมทั้งการจัดการเรื่องพิธีการเอกสารของหน่วยงานต่างๆ การจองขบวนรถไฟ ตารางการเดินรถ และค่าระวางการขนส่งในระบบ 'ราง-รถ' ให้สามารถเพิ่มปริมาณการขนส่งผลไม้บนเส้นทาง”หนองคาย-เวียงจันทน์-บ่อเตน-โมฮ่าน”ให้ได้มากที่สุดและเร็วที่สุดเพื่อเป็นอีกทางเลือกใหม่ของการขนส่งผลไม้ไทยไปจีนสำหรับฤดูการผลิตปี 2565”

'เกษตรฯ' มั่นใจไทยส่งออกยางปี 2565 เพิ่มขึ้นตั้งเป้าทะลุ 4 ล้านตัน หลังโควิด19 คลี่คลายยกเว้นตลาดรัสเซียทรุดเพราะพิษสงคราม

'อลงกรณ์' ฟันธงยางไทยยึดแชมป์ส่งออกจีนเด็ดขาดครองมาร์เก็ตแชร์กว่า 40% เหมือนผลไม้ไทย แนะ 'กยท.' เพิ่มการวิจัยและขยายโครงการสวนยางยั่งยืนและโครงการคาร์บอนเครดิตสร้างเสถียรภาพยางไทยในตลาดโลกภายใต้ '5ยุทธศาสตร์เฉลิมชัย'

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการติดตามและเสนอมาตรการแก้ไขปัญหาราคายางและรักษาเสถียรภาพราคายางเปิดเผยวันนี้ (3มิ.ย.) ภายหลังทำหน้าที่ประธานการประชุมคณะกรรมการติดตามและเสนอมาตรการแก้ไขปัญหาราคายางและรักษาเสถียรภาพราคายางครั้งที่3/2565 ว่า จากรายงานสถานการณ์การผลิต การค้า และการแข่งขันของตลาดยางพาราและผลิตภัณฑ์ยางทั่วโลกตั้งแต่ต้นปีนี้จนถึงปัจจุบันของฑูตเกษตรไทยในภูมิภาคต่างๆและรายงานของการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ประเมินได้ว่าการส่งออกยางในปี 2565 เพิ่มขึ้น และจะทะลุ 4 ล้านตันหลังโควิด19 คลี่คลาย อย่างไรก็ตามยังมีปัจจัยทั้งบวกและลบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อเสถียรภาพราคายางและการส่งออกจากวิกฤติโควิด19 สงครามรัสเซีย-ยูเครน ราคาน้ำมันและปุ๋ย โดยเฉพาะตลาดรัสเซียมูลค่าการส่งออกสินค้ายางจากไทยไปรัสเซีย (ม.ค.-เม.ย. 2565) ลดลง 16% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมา

“สำหรับตลาดจีนซึ่งเป็นตลาดใหญ่ที่สุดของไทยนั้นสถานการณ์มีแนวโน้มดีขึ้นจากการแพร่ระบาดโควิดในจีนที่เริ่มคลี่คลายมีการขยายตัวของตลาดรถยนต์ไฟฟ้าและการขยายตัวทางเศรษฐกิจตลอดจนการปลดล็อคการล็อกดาวน์เซี่ยงไฮ้เมื่อวันที่ 1 มิถุนายนที่ผ่านมา มั่นใจว่ายางไทยจะสามารถยึดแชมป์ส่งออกไปจีนได้อย่างเด็ดขาดเพราะขณะนี้สามารถครองมาร์เก็ตแชร์การนำเข้าของจีนกว่า 40% เหมือนผลไม้ไทยและทิ้งห่างอันดับ 2 ซึ่งมีมาร์เก็ตแชร์ 10 กว่าเปอร์เซ็นต์สะท้อนถึงศักยภาพของชาวสวนยาง สถาบันยาง สหกรณ์ชาวสวนยาง ผู้ประกอบการและการยางแห่งประเทศไทย”

นอกจากนี้ที่ประชุมยังรับทราบความก้าวหน้าการดำเนินงานความร่วมมือในคณะกรรมการพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืนและการส่งเสริมและสนับสนุนการทำสวนยางยั่งยืนและโครงการคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) ของการยางแห่งประเทศไทย ในปีงบประมาณ 2565 โดยจะนำสวนยางพาราของการยางแห่งประเทศไทย จำนวน 20,000 ไร่ ในพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช ใช้เป็นพื้นที่ต้นแบบ และในปี 2565 จะขึ้นทะเบียนเข้าร่วมโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย และในปี 2566-2567 ดำเนินการขอรับรองคาร์บอนเครดิต เพื่อขายในตลาด Carbon Market ต่อไป ซึ่งจะเป็นการเพิ่มรายได้จากสวนยางของเกษตรกรควบคู่กับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ภายใต้นโยบาย BCG Model ของกระทรวงเกษตรฯ.และรัฐบาล ในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม ที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล (Green Econony) ตามเป้าหมายCarbon Neutrality และZero Carbon

ที่ประชุมได้เสนอแนะให้กยท.ขยายโครงการสวนยางยั่งยืนและโครงการคาร์บอนเครดิตเพิ่มจากแผนงานเดิมโดยขยายความร่วมมือกับทุกภาคีภาคส่วนเพื่อเร่งสร้างเสถียรภาพตลาดยางไทยทั้งในและต่างประเทศเป็นการตอบโจทย์อนาคตเรื่องมาตรการ CBAM และ ภาษีคาร์บอน (Carbon Tax) ของอียูเป็นต้น เพราะประเทศไทยส่งออกยางพาราเป็นอันดับ 1 ของโลก ส่งออกยางรถยนต์อันดับ3-4 ส่งออกถุงมือยางอันดับ 2 ของโลก จึงต้องบริหารจัดการตลอดห่วงโซ่อุปทานและอุปสงค์ เช่น ขณะนี้จีนมีนโยบายลดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์บางช่วงโรงงานในจีนจะลดการผลิตเพื่อรักษาระดับการปล่อยคาร์บอน และสหภาพยุโรปให้ความสำคัญกับมาตรฐาน FSC ซึ่งจีนมีการผลิตล้อยางส่งยุโรป จึงต้องให้ความสำคัญกับมาตรการเหล่านี้ นอกจากนี้ประเทศไทยยังต้องเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างต่อเนื่องจึงเสนอแนะให้การยางแห่งประเทศไทยร่วมมือกับสถาบันยานยนต์ กระทรวงอุตสาหกรรม และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเพื่อเพิ่มการวิจัยและพัฒนายางและผลิตภัณฑ์ยางโดยสามารถขอทุนวิจัยจากสำนักงานพัฒนาการการวิจัยการเกษตร องค์การมหาชน (สวก.) และหน่วยสนับสนุนการวิจัยของรัฐอื่นๆตลอดจนการประสานความร่วมมือกับศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรมหรือศูนย์ AIC ซึ่งมีอยู่ใน 77 จังหวัด เพื่อการยกระดับและพัฒนาคุณภาพยางของไทย โดยใช้ยุทธศาสตร์ตลาดนำการผลิต เกษตรผลิตพาณิชย์ตลาด ยุทธศาสตร์เทคโนโลยีเกษตร 4.0 และยุทธศาสตร์เกษตรกรรมยั่งยืนภายใต้ 5 ยุทธศาสตร์ของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและ สหกรณ์และประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืน

ทั้งนี้ที่ประชุมได้รับทราบรายงานสถานการณ์เศรษฐกิจ ตลาดยางพารา ในแต่ละภูมิภาคทั่วโลก โดยทูตเกษตร จากสหภาพยุโรป (สำนักงานบรัสเซลส์) อิตาลี (สำนักงานกรุงโรม) สหรัฐอเมริกาและอเมริกาใต้ (สำนักงานกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.และลอสแองเจลิส) ออสเตรเลีย รัสเซีย จีน ญี่ปุ่น อาเซียน (สำนักงานกรุงจาการ์ต้า) 

สำหรับสถานการณ์ตลาดยางพาราและการนำเข้าส่งออกในประเทศจีนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดระลอกใหม่ตั้งแต่ปลายปี 2564 และเริ่มคลี่คลายในขณะนี้เริ่มทรงตัวและมีแนวโน้มดีขึ้นในครึ่งหลังของปีนี้ ขณะนี้สถานการณ์โควิดในประเทศจีน เริ่มคลี่คลาย จำนวนผู้ติดเชื้อลดต่ำลงมาก เศรษฐกิจจีนเติบโต ผลักดันให้ผู้ประกอบการกลับมาฟื้นฟูการผลิต มีการขยายโรงงาน มีการลงทุนด้านอุตสาหกรรม รถไฟฟ้าเพิ่มขึ้น สถานการณ์การขนส่งทางเรือดีขึ้น แต่ก็ยังมีปัญหาค่าขนส่งผ่านทางเรือมีราคาสูง ระยะเวลาในการขนส่งทางเรือไม่แน่นอน ทำให้การขนส่งล่าช้ากว่าที่กำหนด

ตามสถิติในเดือน มี.ค.2565 จีนนำเข้ายางพาราจากประเทศไทยมากเป็นอันดับ 1 จำนวน 276,948  ตัน คิดเป็น 40% รองลงมาได้แก่ เวียดนาม จำนวน 90,876 ตัน คิดเป็น 13% มาเลเซีย จำนวน 71,363 ตัน คิดเป็น 10% และอื่นๆ 256,549  ตัน คิดเป็น 37% ซึ่งพบว่าปริมาณผลผลิตจากแอฟริกาใต้ เวียดนาม ลาว เมียนมา กัมพูชา เริ่มมีมากขึ้น และมีราคาที่ถูกกว่าไทย ทำให้ผู้นำเข้าเริ่มที่จะหันไปนำเข้าจากประเทศคู่แข่งมากขึ้น

สถานการณ์เศรษฐกิจ ตลาดยางพารา โดยสรุปจากทูตเกษตรประจำสหภาพยุโรป กรุงโรม  กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ออสเตรเลีย กรุงโตเกียว ลอสแอนเจลิส กรุงจาการ์ต้าและจีน พบว่าปริมาณการนำเข้ายางพาราของประเทศต่างๆ และมูลค่าการส่งออกยางพาราของไทยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น  

สำหรับผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ต่อการส่งออกยางพาราของไทยส่งผลต่อการขนส่งสินค้าทางเรือ  มีการปรับเส้นทางเดินเรือในบางเส้นทางและมีการปรับขึ้นค่าระวางเรือ รวมถึงทำให้ราคาสินค้าหลายรายการได้รับผลกระทบจากต้นทุนการขนส่งที่ปรับตัวสูงขึ้นตามราคาน้ำมันด้วย

ส่วนรายงานสถานการณ์ยางพาราของประเทศไทย เดือนพฤษภาคม และคาดการณ์ราคายางพารา เดือนมิถุนายน 2565 โดยฝ่ายเศรษฐกิจยาง การยางแห่งประเทศไทย ได้รายงานคาดการณ์ปริมาณผลผลิตยางพารา ปี 2565 มีปริมาณ 4.907 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 1.48% คาดการณ์ปริมาณการส่งออกยางพารา ปี 2565 มีปริมาณ 4.218 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 2.03% ซึ่งปริมาณการส่งออกยางธรรมชาติไปยังต่างประเทศของไทย ปี 2564 (ม.ค.-เม.ย. 2464) มีปริมาณการส่งออกไปยังประเทศจีน มากที่สุด คิดเป็น 55% รองลงมาได้แก่ มาเลเซีย 10% สหรัฐอเมริกา 5% ญี่ปุ่น 6% และเกาหลีใต้ 3% และอื่นๆ 21% และในปี 2564 มีปริมาณการส่งออกไปยังประเทศจีน 54% รองลงมาได้แก่ มาเลเซีย 10% สหรัฐอเมริกา 6% ญี่ปุ่น 5% และเกาหลีใต้ 3% และในปี 2565 (ม.ค.-เม.ย. 2565) มีปริมาณการส่งออกไปยังประเทศจีน มากที่สุด คิดเป็น 51% รองลงมาได้แก่ มาเลเซีย 9% สหรัฐอเมริกา 6% ญี่ปุ่น 6% และเกาหลีใต้ 4% และในปี 2564 มีปริมาณการส่งออกไปยังประเทศจีน 54% รองลงมาได้แก่ มาเลเซีย 10% สหรัฐอเมริกา 6% ญี่ปุ่น 5% และเกาหลีใต้ 3% และอื่นๆ 24% สำหรับมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางของไทย ปี 2564 ในเดือน เม.ย. มีมูลค่า 30,087 ล้านบาท ปี 2565 ในเดือน เม.ย. มีมูลค่า 29,812 ล้านบาท  ลดลง 0.91% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมา


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top