Saturday, 4 May 2024
กระทรวงเกษตร

'อลงกรณ์' เกรง!! วงการข้าวสับสน!! นโยบายกระทรวงเกษตรฯ ยืนยันไม่เคยสั่งการให้กรมการข้าวปลูกข้าวบัสมาตี เพื่อส่งออกไปซาอุดีอาระเบีย 30 ล้านตัน

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แถลงวันนี้ (16 มิ.ย) ว่า ตามที่มีสื่อมวลชนฉบับหนึ่งเสนอข่าวทำนองว่า กรมการข้าวจะปลูกข้าวบัสมาตีเพื่อส่งออกไปซาอุดีอาระเบีย 30 ล้านตันตามนโยบายของที่ปรึกษารัฐมนตรีเกษตรหลังจากเดินทางไปเยือนซาอุดีอาระเบียนั้น ขอชี้แจงว่า ตนไม่เคยให้สัมภาษณ์เรื่องนี้และไม่เคยบอกกรมข้าวให้ผลิตข้าวบัสมาติเพื่อส่งออกข้าวบัสมาตี 30 ล้านตันไปซาอุดีอาระเบีย เนื่องจากเกรงว่าจะก่อให้เกิดความสับสนและเข้าใจผิดในนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งแม้แต่โฆษกรัฐบาลก็ยังอ้างอิงข่าวที่ผิดพลาดดังกล่าวนำไปแถลงข่าวในนามนายกรัฐมนตรีและรัฐบาล

นายอลงกรณ์กล่าวว่า ตลอด 30 ปีที่ผ่านมา ไทยส่งออกข้าวโดยเฉลี่ยปีละไม่เกิน 10 ล้านตัน ส่วนใหญ่เป็นข้าวขาว ข้าวนึ่งและข้าวหอมมะลิ ประเทศไทยไม่เคยผลิตข้าวบัสมาตีเพื่อการส่งออกแม้แต่ตันเดียว จะมีเพียงการทดลองวิจัยในอดีตนานมาแล้ว ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ที่จะมีนโยบายปลูกข้าวบัสมาตีเพื่อการส่งออกเพราะสภาพภูมิอากาศและพื้นที่ของประเทศไทยส่วนใหญ่ไม่เหมาะสมกับพันธุ์ข้าวดังกล่าว 

'เกษตรฯ' เร่งขับเคลื่อน 'นโยบายอาหารแห่งอนาคต' เล็งเจาะตลาด 'สาหร่าย' มูลค่า 5 แสนล้าน

'เกษตรฯ' เร่งขับเคลื่อนนโยบายอาหารแห่งอนาคต เล็งเจาะตลาดสาหร่ายมูลค่า 5 แสนล้าน ด้านกรมประมง คิกออฟงาน 'อนาคตสาหร่ายทะเลในประเทศไทย Seawed : The Next Future'

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เปิดเผยวันนี้ (27มิ.ย.) ว่า ภายใต้ 'นโยบายอาหารแห่งอนาคต' ของดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่มุ่งยกระดับอัพเกรดภาคเกษตรของไทยสู่เกษตรมูลค่าสูงเพื่อสร้างงานสร้างอาชีพเพิ่มรายได้ใหม่ให้เกษตรกรและพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็ง รวมทั้งตอบโจทย์วาระเศรษฐกิจมหาสมุทรที่ยั่งยืน (Sustainable Ocean Economy) เพื่อเป็นส่วนร่วมในทศวรรษวิทยาศาสตร์มหาสมุทรแห่งสหประชาชาติเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (พ.ศ. 2564 – พ.ศ. 2573) และการลดภาวะโลกร้อนจากผลกระทบของก๊าซเรือนกระจก จึงดำเนินการสนับสนุนส่งเสริมการผลิตและแปรรูปสาหร่ายทะเล (Seaweed) เป็นอาหารแห่งอนาคตตัวใหม่

เพราะปัจจุบันการผลิตสาหร่ายทะเลเติบโตอย่างรวดเร็วมีผลผลิตทั้งหมดทั่วโลกในปี 2562 ไม่น้อยกว่า 35 ล้านตัน มีมูลค่ารวมของอุตสาหกรรมอยู่ที่ 5 แสนล้านบาทเนื่องจากมีศักยภาพที่จะนำไปใช้ในอาหาร อาหารเสริม อาหารสัตว์ ปุ๋ย เชื้อเพลิงชีวภาพ เวชภัณฑ์ เครื่องสำอาง ซีรั่มชะลอความแก่ เป็นต้น อีกทั้งการเพาะปลูกสาหร่ายสามารถช่วยฟื้นฟูสภาพแวดล้อมที่เสื่อมโทรม เพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพในทะเลและลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยดักจับคาร์บอนไดออกไซด์ 

ดังนั้นอุตสาหกรรมสาหร่ายทะเล จึงมีศักยภาพในวงกว้างสาหร่ายไม่เพียงเป็นแหล่งที่ให้ปริมาณโปรตีนในระดับสูงเท่านั้น หากยังมีสารอาหารที่สำคัญต่อร่างกาย ได้แก่ วิตามินบี แคลเซียม ธาตุเหล็ก กรดไขมันที่จำเป็น และใยอาหารสูง นอกจากนี้ สาหร่ายยังมีกรดไขมันบางชนิดที่พบไม่ได้ในพืชชนิดอื่น ได้แก่ กรดไขมันที่มีโอเมก้า 3 และ 6 เช่น EPA และ DHA ทำให้ผลิตภัณฑ์เนื้อเทียมจากสาหร่ายมีคุณค่าทางอาหารเพิ่มขึ้น ช่วยเพิ่มรสชาติของอาหารให้อร่อยยิ่งขึ้นด้วยกรดกลูตามิก ซึ่งเป็นกรดอะมิโนที่ทำให้เกิดรสอูมามิหรือรสกลมกล่อมในอาหารอีกด้วย

นายอลงกรณ์ยังกล่าวต่อไปว่า กรมประมงจึงได้ผนึกความร่วมมือกับทุกภาคส่วนคิกออฟ 'นโยบายอาหารแห่งอนาคต' ด้วยการจัดงาน 'อนาคตสาหร่ายทะเลในประเทศไทย Seaweed : The Next Future' ในวันอังคารที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2565 เวลา 09.00 – 16.00 น. โดยกรมประมงเป็นเจ้าภาพร่วมกับ มูลนิธิเวิลด์วิว ไคลเมท (WCF : Worldview Climate Foundation) และ และมูลนิธิเวิลด์วิว อินเตอร์เนชั่นแนล (WIF: Worldview International Foundation) 

งานเสวนาครั้งนี้จะฉายภาพสถานการณ์ของสาหร่ายทะเลในระดับประเทศ ภูมิภาค จนถึงระดับโลกที่เกี่ยวข้องกับสาหร่ายทะเลตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำเพื่อพัฒนาและยกระดับสาหร่ายทะเลจากหลากหลายภาคส่วนในมิติต่างๆ ทั้งมิติเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม วิชาการ ตั้งแต่ระดับผู้ปฏิบัติการ ผู้ประกอบการ นักวิจัย ผู้พัฒนานวัตกรรมการแปรรูป ภาครัฐ ภาคเอกชน ไปจนถึงองค์กรระหว่างประเทศที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายเช่น องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรมสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มหาวิทยาลัยต่างๆ  เพื่อร่วมกันพัฒนาและยกระดับสาหร่ายทะเลของประเทศไทย รวมทั้งขยายความรู้ความเข้าใจขอบเขตความร่วมมือด้านสาหร่ายทะเล ตลอดจนโอกาสในการเสริมสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรชาวประมงของไทยอย่างยั่งยืน

'อลงกรณ์' เชื่อมั่นแพลตฟอร์มปฏิรูปเกษตร '12 ก้าวใหม่ที่กล้าเดิน' คานงัดสร้างจุดเปลี่ยนนำไทยสู่เกษตรมูลค่าสูงตอบโจทย์ Next Normal

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีเกษตรฯ เขียนบทความเผยแพร่ในโลกโซเชียลมีเดียวันนี้ (9 ก.ค.) เรื่อง '12 ก้าวใหม่ที่กล้าเดิน มิติใหม่การปฏิรูปภาคเกษตรของไทย' โดยเชื่อมั่นว่าเป็นคานงัดการปฏิรูปภาคเกษตรกรรมและกระทรวงเกษตรฯ ยุค 'รัฐมนตรีเฉลิมชัย' เพื่อสร้างจุดเปลี่ยนในมิติต่างๆอย่างน่าสนใจ ระบุว่า...

'12 ก้าวใหม่ที่กล้าเดิน มิติใหม่การปฏิรูปภาคเกษตรของไทย' โดย อลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีเกษตรฯ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (9 กรกฎาคม 2565)

ท่ามกลางวิกฤติโควิด19และสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ส่งผลกระทบกว้างไกลทำให้เศรษฐกิจประเทศต่างๆชะลอตัว ราคาน้ำมัน ราคาปุ๋ยและอาหารสัตว์แพงขึ้น กระทบต่อราคาและระบบผลิตอาหารทั่วโลก เกิดภาวะเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น

นับเป็นวิกฤติการณ์ครั้งใหญ่ที่ยาวนานมากว่า 2 ปีที่ยังไม่มีใครคาดเดาว่าจบลงเมื่อใด

แต่ในวิกฤติมีโอกาสเสมอ 

องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) วิเคราะห์ว่าโลกกำลังเผชิญกับภาวะขาดแคลนอาหารที่รุนแรงมากขึ้นโดยเฉพาะประเทศที่ขาดความมั่นคงทางอาหาร และนี่คือโอกาสของไทยในฐานะประเทศผู้ส่งออกอาหารอันดับ13ของโลกที่จะปฏิรูปตัวเองสร้างความเข้มแข้งและขีดความสามารถใหม่ของประเทศไทย

ในฐานะที่ปรึกษารัฐมนตรีเกษตรฯ ผมจะเล่าเรื่อง '12 ก้าวใหม่ที่กล้าเดิน มิติใหม่ภาคเกษตรของไทย' เป็นแพลตฟอร์มการปฏิรูปสร้างจุดเปลี่ยนเชิงโครงสร้างและระบบเพื่อตอบโจทย์โอกาสของวันนี้และอนาคตที่กำลังจะมาถึง

ก้าวที่ 1 >> ศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม เราจัดตั้งศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (Agritech and Innovation Center) เรียกสั้นๆว่า ศูนย์ AIC 77 จังหวัดเป็นฐานการพัฒนาเชิงพื้นที่ (Area based Development) ของเทคโนโลยีในทุกจังหวัดและจัดตั้งศูนย์ AIC ประเภทศูนย์ความเป็นเลิศเฉพาะด้าน (Center of Excellence: COE) อีก 23 ศูนย์ โดยศูนย์ AIC ทำหน้าที่เป็นศูนย์การวิจัยและพัฒนา (R&D) และเป็นศูนย์วิจัยพัฒนาและเป็นศูนย์อบรมบ่มเพาะเกษตรกรผู้ประกอบการและถ่ายทอดนวัตกรรมเน้นเมดอินไทยแลนด์ (Made In Thailand) เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีของเราเอง โดยคิกออฟพร้อมกันทุกศูนย์ทุกจังหวัดทั่วประเทศเมื่อ 1 มิถุนายน 2563 วันนี้เรามีเทคโนโลยีเกษตร 766 นวัตกรรมที่ถ่ายทอดต่อยอดสู่แปลงนาแปลงสวนแปลงไร่และอุตสาหกรรมต่อเนื่องกว่า10,000รายแล้ว

ก้าวที่ 2 >> ระบบบิ๊กดาต้าเกษตร เราจัดตั้งศูนย์ข้อมูลเกษตรแห่งชาติ (National Agriculture Big Data Center: NABC) ภายใต้แพลตฟอร์มดิจิตอลใหม่ๆตั้งอยู่ที่สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เริ่มดำเนินการตั้งแต่มีนาคม 2563 ทั้งนี้เพราะเทคโนโลยีข้อมูล (Information Technology) คือเครื่องมือเอนกประสงค์ของทุกภารกิจและทุกหน่วยงานโดยกำลังเชื่อมต่อกับ Big Data ของหน่วยงานรัฐ เอกชน สถาบันเกษตรกรและศูนย์ AIC ทุกจังหวัดโดยจะให้เกษตรกรและผู้ประกอบการสามารถใช้ประโยชน์ข้อมูลเกษตรในมิติต่างๆ บนมือถือและคอมพิวเตอร์

ก้าวที่ 3 >> ดิจิทัลทรานสฟอร์เมชั่น (Digital Transformation) เรากำลังปฏิรูป 22 หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ให้เป็นกระทรวงที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี (TechMinistry) ภายใต้โครงการ GovTech อย่างคืบหน้าด้วยแพลตฟอร์มดิจิทัล ทรานสฟอร์เมชั่น (Digital Transformation) เพื่อเปลี่ยนการบริหารและการบริการแบบอนาล็อคเป็นดิจิตอล เปลี่ยนการลงนามอนุมัติด้วยมือเป็นลายเซ็นดิจิตอล (Digital Signature) และเร่งรัดพัฒนาการโครงการ National Single Window สนับสนุนการค้าระหว่างประเทศ ฯลฯ เป็นการปฏิรูประบบราชการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและผลสัมฤทธิ์ใหม่ในการทำงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ก้าวที่ 4 >> เกษตรอัจฉริยะ เราขับเคลื่อนฟาร์มอัจฉริยะ(Smart farming)ตามแผนปฏิบัติการเกษตรอัจฉริยะโดยใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ของไทยเช่น ระบบสมาร์ทฟาร์ม ระบบเซนเซอร์ตรวจวัดดินน้ำอากาศและการอารักขาพืช การพัฒนาเครื่องจักรกลเกษตร การปรับระดับพื้นแปลงเกษตร (Land Leveling) ระบบเทคโนโลยีเมล็ดพันธุ์ (Sead Technology) ระบบตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) ระบบชลประทานอัจฉริยะรวมทั้งการใช้โดรนการใช้เทคโนโลยีดาวเทียมและแพลตฟอร์มเกษตรดิจิตอล (Agrimap platform) โดยมีโครงการเกษตรแม่นยำ (Precision Agriculture) 5 ล้านไร่ เป็นโครงการเรือธงโดยร่วมมือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (AIC : Agritech and Innovation Center) รวมทั้งการส่งเสริมการตลาดแบบออนไลน์ (Digital Marketing)โดยการสนับสนุนแพลตฟอร์มร้านค้าอีคอมเมิร์ซ และโครงการพัฒนาเกษตรกรเป็นนักการค้าออนไลน์ทุกจังหวัดเช่นโครงการ Local Hero เป็นต้น โดยมีทีมเกษตรอัจฉริยะ ทีมอีคอมเมิร์ซ (E-Commerce) ทีม Big Data และG ovTech ภายใต้คณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายเทคโนโลยีเกษตร 4.0 รับผิดชอบ

ก้าวที่ 5>>เกษตรกรรมยั่งยืนในเมือง-ชนบท เราริเริ่มโครงการใหม่ๆเช่นการส่งเสริมเกษตรกรรมยั่งยืนในเมือง (Sustainable Urban Agriculture Development) อย่างเป็นระบบมีโครงสร้างครอบคลุมทั่วประเทศเป็นครั้งแรกตอบโจทย์การขยายตัวของเมือง (Urbanization) ที่ขาดความมั่นคงทางอาหารและระบบนิเวศน์ทางธรรมชาติ (ประชากรไทยในเมืองมากกว่าในชนบทเป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี2562) ตลอดจนการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์โดยจัดตั้งสภาเกษตรอินทรีย์ PGS แห่งประเทศไทยได้สำเร็จเป็นครั้งแรก และการขยายพื้นที่เกษตรอินทรีย์ 1.3 ล้านไร่ การพัฒนาสวนยางยั่งยืนรวมทั้งการพัฒนาแปลงเกษตรทฤษฎีใหม่บนฐานศาสตร์พระราชา 4,009 ตำบล และโครงการข้าวอินทรีย์1ล้านไร่ โครงการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนระดับตำบล ฯลฯ นับเป็นการวางหมุดหมายใหม่ของระบบเกษตรกรรมยั่งยืนที่ประกอบด้วย เกษตรอินทรีย์ เกษตรทฤษฎีใหม่ เกษตรผสมผสาน วนเกษตรและเกษตรธรรมชาติทั้งในเมืองและในชนบทครั้งใหญ่ที่สุดของประเทศ

ก้าวที่ 6 >> เกษตรแห่งอนาคต อาหารแห่งอนาคต เราขับเคลื่อนนโยบายอาหารแห่งอนาคต พืชแห่งอนาคต (Future Food Future Crop) เพื่อสร้างเกษตรทางเลือกใหม่แปรรูปเป็นอาหารคน อาหารสัตว์ เวชสำอางค์ เวชกรรม น้ำมันชีวภาพเพื่อสร้างงานสร้างอาชีพสร้างรายได้ใหม่ๆให้เกษตรกรของเราและเป็นสินค้าส่งออกตัวใหม่สร้างรายได้ให้ประเทศเป็นการตอบโจทย์เทรนด์ของโลกยุค Next Normal ที่สนใจสุขภาพมากขึ้นหลังจากเกิดโควิดแพร่ระบาดไปทั่วโลก (Covid Pandemic) ได้แก่ การสนับสนุนโปรตีนทางเลือกจากแมลง (Edible Inseat base Protein) ตามนโยบายฮับแมลงโลก ปัจจุบันมีเกษตรกรกว่า 1 แสนรายทำฟาร์มแมลงเช่น ดักแด้ไหม ดักแด้อีรี่ จิ้งหรีด แมลงวันลาย (bsf) หนอนนกฯลฯ สอดรับกับนโยบายขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ที่ประกาศว่าแมลงกินได้ Edible Insect คืออนาคตใหม่ของโปรตีนโลกและทศวรรษแห่งโภชนาการ รวมไปถึงโปรตีนทางเลือกจากพืช (Plant base Protein) เช่น สาหร่าย ผำ เห็ด ถั่วเหลืองถั่วเขียว แหนแดง ฯลฯ มีบริษัท Startup ใหม่ๆ เกิดขึ้นหลายบริษัท และการส่งเสริมอาหารฮาลาลซึ่งมีลูกค้ากลุ่มประชากรมุสลิมและไม่ใช่มุสลิมกว่า 2 พันล้านคน มูลค่าตลาดกว่า 30 พันล้านบาท

ก้าวที่ 7 >> โลจิสติกส์เกษตร เชื่อมไทย-เชื่อมโลก เราได้วางโรดแม็ปเส้นทางโลจิสติกส์เกษตรเชื่อมไทยเชื่อมโลกในระบบการขนส่งหลายรูปแบบ (Multimodal Transportation) ทั้งทางรถทางรางทางน้ำและทางอากาศ (Low Cost Air Cargo) เพื่อลดต้นทุนโลจิสติกส์และเพิ่มความรวดเร็วในการเข้าถึงตลาดทั่วโลกและตลาดเป้าหมายใหม่เช่นโครงการดูไบคอริดอร์-ไทยแลนด์ คอริดอร์ (Dubai Coridor- Thailand Corridor), เส้นทางรถไฟอีต้าอีลู่ (BRI) เชื่อมไทย-ลาว-จีน-เอเซียใต้-เอเซียตะวันออก-เอเซียกลาง-ตะวันออกกลาง-รัสเซียและยุโรป และกำลังเปิดประตูใหม่จากอีสานสู่แปซิฟิกไปทวีปอเมริกาเหนืออเมริกาใต้และเปิดประตูตะวันตกประตูใต้สู่ทะเลอันดามัน-อ่าวเบงกอลและมหาสมุทรอินเดียสู่เอเซียใต้ แอฟริกา ตะวันออกกลางและยุโรป

ก้าวที่ 8 >> เกษตรแปลงใหญ่ สตาร์ทอัพเกษตร เรากำลังปรับเปลี่ยนเกษตรแปลงย่อยเป็นเกษตรแปลงใหญ่ (Big Farm) ซึ่งขณะนี้ขยายเพิ่มเป็น กว่า 8,000 แปลง โดยมีการสนับสนุนเครื่องจักรกลเกษตรและระบบเกษตรอัจฉริยะเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ปีนี้จะเริ่มโปรแกรมอัพเกรดวิสาหกิจชุมชน สหกรณ์ เกษตรแปลงใหญ่และสถาบันเกษตรเป็นสตาร์ทอัปเกษตร (Startup เกษตร) และเอสเอ็มอีเกษตร (SME เกษตร)

ก้าวที่ 9 >> ยกระดับเกษตรกรก้าวใหม่ เราพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่เป็นyoung smart farmerได้กว่า 20,000คนและส่งเสริมพัฒนาศูนย์ศพก.เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ระดับอำเภอโดยสมาร์ทฟาร์มเมอร์ (Smart farmer) ปราชญ์เกษตรและอาสาสมัครเกษตร (อกษ.)เป็นทีมงานแนวหน้าทุกหมู่บ้านชุมชนพร้อมกับยกระดับเกษตรกรที่มีประสบการณ์สู่ระบบคุณวุฒิวิชาชีพโดยร่วมมือกับภาคเอกชน ศูนย์ AIC  สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพซึ่งเป็นองค์การมหาชนในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงอว.และกระทรวงพาณิชย์

ก้าวที่ 10 >> เกษตรสร้างสรรค์สู่ The Brand Project เรากำลังนำระบบทรัพย์สินทางปัญญา  (Intellectual property) มาใช้ในการเดินหน้าสู่เกษตรสร้างสรรค์เกษตรมูลค่าสูงด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และสร้างแบรนด์ (Branding) ตามแนวทางเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตเกษตร พืช ประมงและปศุสัตว์เป็นการเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรและประเทศภายใต้โครงการ เดอะ แบรนด์ โปรเจกต์ (The Brand Project)

ก้าวที่ 11>> การพัฒนาเชิงพื้นที่ (Area base) ไม่มีเหลื่อมล้ำ เราบริหารการพัฒนาเชิงพื้นที่ (Area base) ควบคู่กับการบริหารการพัฒนาเชิงคลัสเตอร์เช่น โครงการ 1 กลุ่มจังหวัด 1 นิคมอุตสาหกรรมเกษตรอาหารทั้งหมด 18 กลุ่มจังหวัดครอบคลุม 77 จังหวัดเป็นศูนย์กลางการแปรรูปผลผลิตเกษตรตามศักยภาพของแต่ละกลุ่มจังหวัดเพื่อกระจายโอกาสการพัฒนาทุกภาคทุกจังหวัดไม่ให้เจริญแบบกระจุกตัวเหมือนที่ผ่านมา ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำของการพัฒนาโดยปลายปี 2564 รัฐมนตรีเกษตรฯ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อนได้แต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาการเกษตรทุกอำเภอทุกจังหวัดและปีนี้กำลังจัดตั้งคณะทำงานเกษตรกรรมยั่งยืนระดับตำบล 7,435 ตำบลให้แล้วเสร็จ เพื่อสร้างจุดเปลี่ยนระดับพื้นที่ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุด

เรายังริเริ่มและเดินหน้าอีกหลายโครงการเช่นการจัดตั้งองค์กรชุมขนประมงท้องถิ่น 2,600 องค์กรใน 50 จังหวัด การดำเนินการโครงการธนาคารสีเขียว (Green Bank) ตอบโจทย์ Climate Change โดยเพิ่มต้นไม้ลดก๊าซเรือนกระจก รวมทั้งโครงการพัฒนาระบบความเย็น (Cold Chain) ตลอดห่วงโซ่อุปทานและระบบแช่แข็งด้วยไนโตรเจนเหลวแบบ Nitrogen Freezer เป็นต้น

ก้าวที่ 12 >> เปิดกว้างสร้างหุ้นส่วน (Partnership platform) ความก้าวหน้าของงานแต่ละด้านเกิดจากการบริหารแบบเปิดกว้างสร้างหุ้นส่วน (Partnership platform) ในการทำงานกับทุกภาคีภาคส่วนเช่นสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หอการค้าไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมต่างๆ สถาบันอาหาร มหาวิทยาลัยและวิทยาลัย สถาบันเกษตรกร สมาพันธ์ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ไทย เครือข่ายองค์กรเอกชน ทุกกระทรวงและทุกพรรคการเมืองไม่ว่าฝ่ายค้านหรือรัฐบาลโดยยึดประโยชน์บ้านเมืองมาก่อนประโยชน์ทางการเมืองได้สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจนำมาซึ่งความร่วมมืออย่างจริงจังและจริงใจ ประการสำคัญคือการทำงานอย่างทุ่มเทของคนกระทรวงเกษตรฯ

'กระทรวงเกษตรฯ' หารือ 'หอการค้า' ขยายความร่วมมือภายใต้ 5 ยุทธศาสตร์ 'เฉลิมชัย'

'อลงกรณ์' จับมือ 'สนั่น' ขับเคลื่อนเกษตรมูลค่าสูงยกระดับรายได้เกษตรกรเพิ่มมูลค่าการค้าส่งออกสู่เป้าหมายประเทศมหาอำนาจอาหารภายในปี 2030

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เปิดเผยวันนี้ว่า ภายใต้ 5 ยุทธศาสตร์ปฏิรูปภาคเกษตรของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่มุ่งขยายความร่วมมือกับทุกภาคีภาคส่วน โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีกำหนดประชุมกับหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยเพื่อหารือแนวทางและโครงการขยายความร่วมมือในทุกมิติตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำในการยกระดับภาคเกษตรกรรมสู่เกษตรมูลค่าสูงเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรเพิ่มรายได้เกษตรกรและเพิ่มมูลค่าการค้าการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารสู่เป้าหมายประเทศผู้ส่งออกอาหารท็อปเทนของโลกและมหาอำนาจอาหารภายในปี 2030 โดยตนจะนำคณะหารือกับนายสนั่น อังอุบลกุล ประธานหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและคณะในวันพรุ่งนี้ที่สำนักงานใหญ่หอการค้าไทย โดยจะมีประเด็นการหารือเกี่ยวกับการขยายความร่วมมือในโครงการที่ผ่านมาเช่นโครงการ 1 ไร่ 1 แสนและแนวทางความร่วมมือใหม่ๆ เช่น...

การส่งเสริมระบบการค้าสินค้าเกษตรที่เสรีและเป็นธรรม การพัฒนาธุรกิจเกษตรครอบคลุมถึงระบบตลาดสินค้าเกษตรแบบออนไลน์และออฟไลน์ การพัฒนาผลิตภัณฑ์และการสร้างแบรนด์ การพัฒนาระบบประมูลสินค้าเกษตร ระบบโลจิสติกส์สินค้าเกษตรทั้งในและต่างประเทศ การส่งเสริมเกษตรพันธสัญญา และระบบประกันภัยพืชผล รวมทั้งความร่วมมือด้านการพัฒนามาตรฐานสินค้าเกษตร การปฏิรูประบบอำนวยความสะดวกทางการค้าการส่งเสริมระบบเกษตรกรรมยั่งยืน 

'เฉลิมชัย' ชงแผนพัฒนาเทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม 5 ปี พร้อมดีเดย์ฉบับแรกของประเทศ 1 มกราคม 2566

'เฉลิมชัย' ดีเดย์แผนพัฒนาเทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม 5 ปี ฉบับแรกของประเทศ 1 มกราคม 2566 ด้าน 'อลงกรณ์' พอใจการปฏิรูปบริการดิจิทัลภาครัฐของกระทรวงเกษตรฯ 175 ระบบคืบหน้า 95% 

(31 ต.ค. 65) นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายเทคโนโลยีเกษตร 4.0 และ คณะกรรมการบริหารศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (AIC) ภายใต้ยุทธศาสตร์เทคโนโลยีเกษตร 4.0 ของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธานการประชุมผ่านระบบทางไกลออนไลน์ ZOOM Cloud Meeting ครั้งที่ 5/2565 พร้อมด้วย นายวุฒิพงศ์ เนียมหอม รองเลขาธิการ ส.ป.ก., นายโฆสิต สุวินิจจิต ประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนธุรกิจเกษตร (Agribusiness), นายกฤชฐา โภคาสถิตย์ ประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อน e-Commerce, ดร.วราภรณ์ พรหมพจน์ ประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเกษตรอัจฉริยะ, นายฉันทานนท์ วรรณเขจร ประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อน Big Data และ Gov Tech, นายสัญชัย รัศมีจีรวิไล ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ศทส.), ดร.เจษฎา วิชาพร รองคณบดีฝ่ายกิจการพิเศษ คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร, รศ.ดร.รังสรรค์ พาลพ่าย สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี, รศ.ดร.พัชรศักดิ์ อาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี, นายสุวิทย์ รัตนจินดา ประธานสมาพันธ์ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ไทย และนายจิตติศักดิ์ ศรีปัญญา ผู้อำนวยการกองนโยบายเทคโนโลยีเพื่อการเกษตรและเกษตรกรรมยั่งยืน ทำหน้าที่ฝ่ายเลขานุการฯ 

อีกทั้ง ผู้แทนกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย ผู้แทนกระทรวงศึกษาธิการ ผู้แทนกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ส่วนราชการ และรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้อง ภาคการศึกษา ภาคเอกชน และศูนย์ AIC จากทั่วประเทศ 492 ราย ร่วมประชุมติดตามผลการดำเนินงานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อน ทั้ง 4 ด้าน ได้แก่ ด้าน Big Data และ Gov Tech ด้านเกษตรอัจฉริยะ ด้าน e-Commerce และด้านธุรกิจเกษตร (Agribusiness) 

โดยที่ประชุมได้รับทราบรายงานความก้าวหน้าผลการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการฯ ภายใต้คณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายเทคโนโลยีเกษตร 4.0 
ดังนี้...

1. คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนธุรกิจเกษตร (Agribusiness) ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รายงานผลความก้าวหน้าการดำเนินงานผลการส่งเสริมการจำหน่ายสินค้าเกษตรผ่านระบบออนไลน์ มีมูลค่าการจำหน่ายสินค้า จากวันที่ 27 เมษายน 2563 ถึง วันที่ 15 ตุลาคม 2565 เป็นเงินจำนวน 523,792,120 บาท และในการขับเคลื่อนบูรณาการงานด้านการส่งเสริมธุรกิจเกษตร จะมีการจัดงาน Creative and Innovation for Agribusiness ระหว่างวันที่ 18-20 พฤศจิกายน 2565 ณ องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อตก.) โดยคณะทำงานเศรษฐกิจสร้างสรรค์เชิงเกษตร เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินงาน

2. คณะอนุกรรมการขับเคลื่อน e-Commerce ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รายงานผลความก้าวหน้าการดำเนินงาน ในความพร้อมและการขายสินค้าเกษตรแบบพรีออร์เดอร์ และการจัดฝึกอบรมเกษตรกรรายย่อยด้านช่องทางการทำตลาดออนไลน์ ผ่านช่องทาง tiktok 

3. คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเกษตรอัจฉริยะ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รายงานความก้าวหน้าการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการเกษตรอัจฉริยะ ปี 2565-2566 จำนวน 3 โครงการ ได้แก่  (1) การพัฒนา IoTs Platform สำหรับการผลิตทุเรียนแปลงใหญ่อัจฉริยะ (2) แอปพลิเคชันทำนายและตรวจวิเคราะห์ศัตรูพืช (โรคพืช แมลงศัตรูพืช และวัชพืช) ด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) (3) การพัฒนาเครื่องจักรกลเกษตร (เครื่องสาง+เครื่องม้วนใบอ้อย) เพื่อแก้ปัญหาการเผาอ้อย และความก้าวหน้าการเชื่อมโยงและเข้าถึงข้อมูลสภาพอากาศของเกษตรกรเพื่อสนับสนุนการทำเกษตรอัจฉริยะ

4. คณะอนุกรรมการขับเคลื่อน Big Data และ Gov Tech ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมีความก้าวหน้าการดำเนินงานด้าน Gov Tech โครงการบริการออนไลน์ e-Service ระบบบริการภาครัฐของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมีการให้บริการในรูปแบบ Digital ทั้งสิ้น จำนวน 175 บริการ เป็น Digital Service จำนวน 166 บริการ คิดเป็น 95% เหลืออีก 5% อยู่ระหว่างดำเนินการให้เป็น Digital Service จำนวน 9 บริการ ซึ่งนายอลงกรณ์แสดงความชื่นชมและพอใจต่อความคืบหน้าโดยขอให้บรรลุ 100% ในปีนี้

ส่วนการพัฒนาระบบบริการดิจิทัลที่เชื่อมโยง NSW แล้ว จำนวน 55 บริการ มีการอนุมัติและเป็น e-Signature ทั้งสิ้น 5 หน่วยงาน 46 บริการ มีการชำระเงิน และเป็น e-Payment ทั้งสิ้น 4 หน่วยงาน 38 บริการ อีกทั้งได้มีการรายงานความก้าวหน้าในการดำเนินงานด้าน Big Data โดยศูนย์ข้อมูลเกษตรแห่งชาติ ได้ดำเนินการจัดทำโครงการพัฒนาระบบฐานข้อมูลการเกษตร มีระบบงานที่พัฒนาขึ้น จำนวน 5 ระบบ โดยผู้สนใจสามารถเข้าใช้งานผ่านทางเว็บไซต์ http://nabc.go.th/app/application ได้แก่...

(1) ระบบการบูรณาการข้อมูลและจัดทำรายงาน 
(2) ระบบการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data Analytics) 
(3)ระบบปฏิทินการผลิตสินค้าเกษตร 
(4) ระบบ Coaching Program Platform (CPP)
และ (5) ระบบ Public AI ให้บริการข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูลทางการเกษตร

ที่ประชุมยังรับทราบผลการดำเนินงานของคณะกรรมการบริหารศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (AIC) ในเรื่องต่างๆ ดังนี้...

(1) การบริหารการขับเคลื่อนศูนย์เทคโนโลยีและนวัตกรรม (Agritech and Innovation Center : AIC) จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งได้ดำเนินการติดตั้งระบบการบริหารจัดการน้ำ เพื่อพัฒนาระบบข้อมูลเพื่อรายงานสถานการณ์น้ำ ระดับน้ำ และระยะเวลาระบายน้ำ พัฒนาระบบเตือนภัยน้ำท่วมสำหรับเกษตรกรในพื้นลุ่มต่ำ กรณีศึกษา โครงการบางระกำโมเดล โดยเกษตรกรจะสามารถเข้าถึงระบบได้โดยผ่านทางโทรศัพท์มือถือ และคอมพิวเตอร์

(2) ผลการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ในฐานะศูนย์ AIC จังหวัดนครราชสีมาและ ศูนย์ความเป็นเลิศโคเนื้อในโครงการพัฒนาการปรับปรุงพันธุ์และการขุนวัวโคราชวากิว ให้มีไขมันแทรกสูง โดยใช้พ่อพันสายพันธุ์วากิวแท้ 100% (Full Blood) ที่มีการตรวจยีนการสร้างไขมันแทรกเป็นที่ยอมรับทั่วโลก และสามารถนำมาผสมกับแม่พันธุ์โคผสมสายพันธุ์ต่างๆในประเทศไทยสามารถให้ลูกที่มีไขมันแทรกสูง เนื้อคุณภาพ สามารถส่งขายได้ในราคาดี เป็นที่ต้องการของตลาด โดยในปัจจุบันเกษตรกรรายย่อยทางภาคอีสานสามารถขุนเองให้ได้มาตรฐานตรงตามที่ตลาดต้องการ

(3) แผนพัฒนาเทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม 5 ปี (พ.ศ. 2566 - 2570) ฉบับแรกของประเทศสอดรับกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่13 โดยฝ่ายเลขาฯ ได้แจ้งประสานไปยังสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดทุกจังหวัดเพื่อให้จัดทำแผนฯ และส่งข้อมูลภายใน 30 พ.ย. 2565 ซึ่งพร้อมจะเสนอให้รัฐมนตรีเกษตรฯ ประกาศแผนดังกล่าวในวันที่ 1 มกราคม 2566

‘อลงกรณ์’ พุ่งเป้าฟื้นฟูพัฒนาฟาร์ม - สร้างตลาดยั่งยืน ตั้งเป้าปีหน้าผลิตกุ้ง 400,000 ตันภายใต้ยุทธศาสตร์กุ้งไทย

‘อลงกรณ์’ กำหนด 10 มาตรการ มอบบอร์ดกุ้งฟื้นฟูพัฒนาฟาร์ม สร้างตลาด สร้างรายได้ให้เกษตรกรอย่างยั่งยืน ตั้งเป้าปีหน้าผลิตกุ้ง 400,000 ตันภายใต้ยุทธศาสตร์กุ้งไทย

​นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวปาฐกถาวันนี้ในหัวข้อ ‘ทิศทางการประมงและกุ้งไทย 2023’ ใน ‘งานวันกุ้งดำเพชรบุรี’ ภายใต้หัวข้อ ‘ปรับการเลี้ยง สร้างตลาด เพิ่มศักยภาพ กุ้งดำเพชรบุรี’ โดยมี นายเฉลิม สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง ผศ.ดร.เสนาะ กลิ่นงาม อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฎเพชรบุรี นายชยานันท์ อินทรัตน์ ประธานชมรมผู้เลี้ยงกุ้งกุลาดำเพชรบุรี ส่วนราชการ ภาคเอกชนและเครือข่ายเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงกุ้งเข้าร่วม ณ ห้องประชุมพะนอมแก้วกำเนิด อาคารสุเมธตันติเวชกุล มหาวิทยาลัยราชภัฎเพชรบุรี

นายอลงกรณ์กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยรัฐมนตรี ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน มีนโยบายพัฒนาและฟื้นฟูการประมงไทยให้กลับมาเข้มแข็งสร้างรายได้ให้กับชาวประมงและประเทศเพิ่มขึ้นครอบคลุมตั้งแต่ประมงพื้นบ้าน ประมงพาณิชย์ ประมงนอกน่านน้ำ ประมงเพาะเลี้ยง และอุตสาหกรรมประมง โดยได้แต่งตั้งตนเป็นประธานคณะกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาการประมงไทยของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ร่วมมือกับทุกภาคส่วนขับเคลื่อนการปฏิรูปภาคการประมงของไทย

สำหรับการเพาะเลี้ยงกุ้งประสบปัญหาโรคกุ้ง และคุณภาพลูกพันธุ์กุ้งในขณะที่มีการแข่งขันในตลาดต่างประเทศสูงขึ้นทำให้การเพาะเลี้ยงกุ้งทะเล และอุตสาหกรรมต่อเนื่องถดถอย ผู้ประกอบการห้องเย็น และโรงงานแปรรูปที่ส่งออกกุ้งทะเลเป็นหลัก ต้องปิดตัวลงจากเดิมที่มีอยูเกือบ 200 แห่ง ปัจจุบันเหลือเพียง 20 แห่ง และปริมาณการผลิตกุ้งลดต่ำลงจนประเทศไทยที่เคยส่งออกกุ้งและผลิตภัณฑ์กุ้งอยู่ลำดับต้นๆ ของโลกตกมาอยู่อันดับ 6 - 7 ในเชิงปริมาณและมูลค่าตามลำดับ รัฐมนตรีเกษตรฯ จึงมีนโยบายให้แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการห่วงโซ่การผลิตกุ้งทะเลและผลิตภัณฑ์ (Shrimp Board) หรือบอร์ดกุ้งมีอธิบดีกรมประมงเป็นประธานมีกรรมการจากภาครัฐภาคเอกชนอุตสาหกรรมกุ้งและเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งโดยได้กำหนดยุทธศาสตร์พัฒนากุ้งไทยปี 2564-2566 มีเป้าหมายเพิ่มการผลิตกุ้งให้ได้ 400,000 ตันในปี 2566

ซึ่งในปี 2564 และปีนี้มีการผลิตกุ้งเพิ่มขึ้นคาดว่าจะเพิ่มจาก 280,000 ตันเป็น 300,000 ตันหรือ 320,000 ตันหากรวมกุ้งที่ผลิตและไม่ได้เข้าระบบ APD ซึ่งมีประมาณขั้นต่ำ 20% และเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์กุ้งไทยจึงกำหนด 10 มาตรการในการฟื้นฟูและพัฒนากุ้งไทย ดังนี้...

1.) การวิจัยและพัฒนาตลอดห่วงโซ่อุปทานและอุปสงค์
2.) การพัฒนาพันธ์ุกุ้ง 
3.)การพัฒนาระบบการผลิต
4.) ส่งเสริมเทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม 
5.) การยกระดับมาตรฐานฟาร์มและมาตรฐานอาหารกุ้ง
6.) การแปรรูปกุ้งสู่เกษตรมูลค่าสูง
7.) การพัฒนาระบบตลาด และกลไกราคา
8.) การส่งเสริมการค้าที่เป็นธรรม และขจัดการผูกขาด 
9.) การใช้ประโยชน์จาก FTA ในการขยายตลาด
10.) สร้างกลไกและเครื่องมือการบริหารใหม่ๆ สนับสนุนการขับเคลื่อนแผนพัฒนากุ้งไทย

โดยบอร์ดกุ้งได้สร้างระบบประกันราคากุ้งขั้นต่ำโดยภาคเอกชนเป็นครั้งแรกในประเทศไทยเริ่มตั้งแต่ปี 2564 จนถึงสิ้นปี 2565 เพื่อรักษาเสถียรภาพของราคาทำให้ราคากุ้งหน้าบ่อและตลาดกลางเพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่กระทรวงเกษตรฯ ได้จัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนระดับตำบล 7,255 ตำบลทุกจังหวัด ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมของปีนี้จะเป็นกลไกการทำงานบนความร่วมมือในระดับพื้นที่รวมทั้งการเพาะเลี้ยงกุ้งในตำบลนั้นๆ ตลอดจนการจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านกุ้ง (Shrimp Academy) ภายใต้โครงสร้างของ AIC

‘ก.เกษตรฯ’ เปิดหลักสูตร ‘วิทยาการเกษตรระดับสูง’ มุ่งยกระดับ - เพิ่มขีดความสามารถการเกษตรไทย

วันนี้ (19 ม.ค.66) เวลา 10.00 น. ณ ห้องประชุมกำพล อดุลย์วิทย์ อาคารตึก 50 ปี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน

กระทรวงเกษตรฯ ได้เปิดหลักสูตร วิทยาการเกษตรระดับสูง (วกส.) รุ่นที่ 3 รวมแวดวงภาครัฐ เอกชน  Smart Farmer เข้าร่วม หวังยกระดับและพัฒนาวงการเกษตรไทย สร้างขีดความสามารถการแข่งขันด้านการเกษตรโดยใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาช่วย 

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มอบหมายให้นายทองเปลว กองจันทร์ อดีตปลัดกระทรวงเกษตรฯ เป็นประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนหลักสูตรวิทยาการเกษตรระดับสูง (วกส.) ด้านวิชาการ รุ่นที่ 3 จัดประชุมและแถลงเปิดหลักสูตร ร่วมกับนายอนันต์ สุวรรณรัตน ประธานกรรมการมูลนิธิเกษตราธิการ ที่ปรึกษาฯ (ผู้อำนวยการหลักสูตรฯ) และนายสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ รองประธานอนุกรรมการฯ และดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ คณะทำงาน อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 

นายทองเปลว กล่าวว่า กระทรวงเกษตรฯ ได้ใช้หลักสูตรวิทยาการเกษตรระดับสูง (วกส.) เพื่อเชื่อมโยงบุคลากรภาครัฐและเอกชน ให้ร่วมกันขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ชาติด้านการเกษตรให้ ไปในแนวทางเดียวกัน พร้อมทั้งตอบสนองนโยบายเศรษฐกิจ BCG ที่รัฐบาล เล็งเห็นว่าหากใช้การเกษตรรูปแบบเดิมทำให้การสร้างผลผลิตรายได้ที่น้อย และมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมาก เมื่อปรับมาดูแลรักษาด้านสิ่งแวดล้อม และในรูปแบบที่ทำน้อยได้มาก สร้างโอกาสให้มีรายได้ที่สูงขึ้น ในรูปแบบ BCG ก็จะช่วยพัฒนาวงการเกษตร สร้างรายได้ให้พี่น้องเกษตรกรได้มากยิ่งขึ้น 

ขณะที่นายอนันต์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้รับผลสำเร็จของหลักสูตรตั้งแต่รุ่นที่ 1 และรุ่นที่ 2 มาแล้ว เป็นการเชื่อมโยงบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับภาคการเกษตร ทั้งภาครัฐและเอกชน สมาร์ตฟาร์มเมอร์เกษตรกรรุ่นใหม่ เข้ามาเรียนรู้เทคโนโลยี นวัตกรรมและวิทยาศาสตร์ด้านการเกษตรเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ต่างๆ ให้สามารถนำไปต่อยอดการเกษตรยุคใหม่ที่ทันสมัยได้ดีมากยิ่งขึ้น

เกษตรกรเฮ !! สินค้าเกษตร ขยับราคาขึ้น สอดรับนโยบายกระทรวงเกษตรฯ หลังปราบสินค้าเถื่อน

นางสาวอัยรินทร์ พันธุ์ฤทธิ์ โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ฝ่ายการเมือง) กล่าวถึงราคาสินค้าเกษตรสำคัญหลายชนิดมีทิศทางปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง สร้างความพึงพอใจให้กับเกษตรกร ตามนโยบายตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้ ของรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ภายใต้การขับเคลื่อนการดำเนินงานของ ร้อยเอก ธรรมนัส พรมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และรัฐมนตรีช่วยฯ ทั้งสองท่าน และการบริหารราชการในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยเฉพาะการปราบปรามการลักลอบนำเข้าสินค้าเกษตรผิดกฎหมาย (สินค้าเถื่อน)อย่างเข้มงวด การเร่งแก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ การเพิ่มประสิทธิภาพในการบริการจัดการน้ำช่วงวิกฤติภัยแล้งและฝนทิ้งช่วง รวมไปถึงการมุ่งยกระดับสินค้าเกษตร ซึ่งผลการดำเนินงานตลอดระยะเวลา 4 เดือนที่ผ่านมา พบว่า ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์มน้ำมัน มะพร้าว สับปะรด น้ำนมดิบ และสุกร มีทิศทางปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

โดยเฉพาะ สุกร ราคาขยับขึ้นกิโลกรัมละ 4 บาท หลังจากปราบปราบหมูเถื่อนอย่างจริงจัง  ตลอดจนการตรวจค้นห้องเย็นทั่วประเทศมากกว่า 2 พันแห่ง ขณะที่ ยางพารา ราคายางแผ่นดิบ ปัจจุบัน (28 มกราคม 2567) เฉลี่ยอยู่ที่ 54.89 บาท/กก. สูงขึ้นจากราคา ณ เดือน กันยายน 2566 ที่ราคาเฉลี่ย 45.51 บาท/กก. โดยราคาเริ่มปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจากนโยบายจากภาครัฐในการปราบปรามและตรวจสอบการลักลอบการนำเข้ายางพาราและสินค้าเกษตรผิดกฎหมายไม่ให้ทะลักเข้ามาจากประเทศเพื่อนบ้าน และยังเป็นผลจากมาตรการการสนับสนุนการใช้ยางพาราในประเทศ รวมทั้งจากความต้องการของตลาด ภาวะฟื้นตัวของอุตสาหกรรมทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มยานยนต์ เป็นต้น ส่วนน้ำนมดิบ ปัจจุบันราคาเฉลี่ยที่ 20.21 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากช่วงเดือนกันยายน 2566 ที่ราคา 19.65 บาท/กก. เนื่องจากกระทรวงเกษตรฯ ได้มีประกาศฯ ปรับเพิ่มราคากลางรับซื้อน้ำนมโค ณ ศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร 

ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะยังคงขับเคลื่อนการดำเนินงานในทุกด้านตามนโยบายและแผนที่วางไว้ เพื่อยกระดับคุณภาพสินค้าเกษตรและราคาสินค้าเกษตร แก้ไขปัญหาปากท้องของพี่น้องเกษตรกร ให้กินดีอยู่ดีมีคุณภาพชีวิตที่ดี ภาคการเกษตรเติบโต มีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างมั่นคงต่อไป


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top