Friday, 9 May 2025
World

ปรากฏตัวกลางม็อบประท้วงอิสตันบูล สร้างขวัญกําลังใจ ร่วมกับประชาชนนับพันที่เดือดจัด ต่อต้านจับกุมนายกฯ ‘เอเครม อิมาโมกลู’

(28 มี.ค. 68) สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่า บรรยากาศการประท้วงในเมืองอิสตันบูล ประเทศตุรกี เต็มไปด้วยความตึงเครียด หลังประชาชนหลายพันคนออกมารวมตัวบนท้องถนนเพื่อแสดงความไม่พอใจต่อการจับกุม 'เอเครม อิมาโมกลู' นายกเทศมนตรีอิสตันบูล 

โดยการประท้วงซึ่งรายงานว่าเป็นการเคลื่อนไหวมวลชนครั้งใหญ่ที่สุดในภูมิภาคในรอบหลายทศวรรษ เริ่มต้นขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว หลังจากนายกเทศมนตรีอิสตันบูล เอเครม อิมาโมกลู ถูกจับกุมในข้อหาทุจริต 

อย่างที่ทรากันดีว่า เอเครมเป็นคู่แข่งสำคัญของประธานาธิบดีเรเจป ทายิป เออร์โดกัน ซึ่งโจมตีกลุ่ม LGBTQ+ สิทธิสตรี ประชาธิปไตย และประชาชนตุรกีส่วนหนึ่งเชื่อว่ากำลังนำประเทศเข้าสู่ระบอบเผด็จการและเผด็จการ

การชุมนุมดังกล่าวเต็มไปด้วยอารมณ์เดือดดาล แต่กลับมีจังหวะน่าประหลาดใจ เมื่อมีชายหรือหญิงในชุดมาสคอต 'พิคาชู' จากการ์ตูนดังอย่างโปเกมอนร่วมเดินขบวนอย่างฮึกเหิม สร้างสีสันให้กับบรรยากาศตึงเครียด บางช่วงยังมีการตะโกนคำขวัญเรียกร้องความยุติธรรมพร้อมกับยกกำปั้นขึ้นฟ้า ท่ามกลางเสียงหัวเราะและความสนใจจากกลุ่มผู้ประท้วง

อย่างไรก็ตาม ความน่ารักของพิคาชูกลับแปรเปลี่ยนเป็นความโกลาหลเมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าควบคุมฝูงชนด้วยรถฉีดน้ำแรงดันสูง ทำให้ประชาชนแตกกระเจิง ขณะที่พิคาชูต้องวิ่งหนีไปพร้อมกับผู้ชุมนุมคนอื่น ๆ ท่ามกลางความชุลมุน

การจับกุมอิโมม็อกลู ซึ่งถูกกล่าวหาว่าดูหมิ่นเจ้าหน้าที่รัฐ ถูกมองว่าเป็นความเคลื่อนไหวทางการเมืองที่อาจส่งผลกระทบต่อการแข่งขันทางการเมืองในอนาคต โดยผู้สนับสนุนของเขาเชื่อว่านี่เป็นความพยายามกำจัดคู่แข่งของแอร์โดอันในการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง

แม้เหตุการณ์จะจบลงด้วยการสลายตัวของกลุ่มผู้ชุมนุม แต่ภาพของพิคาชูท่ามกลางฝูงชนยังคงกลายเป็นที่พูดถึงอย่างกว้างขวางในสื่อสังคมออนไลน์ พร้อมแฮชแท็ก #PikachuProtest ที่ถูกแชร์ไปทั่วโลก

ภาคประชาสังคมวิกฤติ หลังสหรัฐฯ ระงับงบ USAID ส่งผลให้โครงการสำคัญในยูเครนส่อหยุดชะงัก

(28 มี.ค. 68) ภาคประชาสังคมในยูเครนกำลังเผชิญความท้าทายครั้งใหญ่ หลังจากรัฐบาลสหรัฐฯ ประกาศระงับงบประมาณของสำนักงานเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศแห่งสหรัฐฯ (USAID) ที่ให้การสนับสนุนโครงการสำคัญหลายโครงการในประเทศ

การตัดสินใจดังกล่าวส่งผลให้โครงการด้านสิทธิมนุษยชน การช่วยเหลือผู้ลี้ภัย การพัฒนาประชาธิปไตย และการฟื้นฟูเศรษฐกิจในยูเครนต้องหยุดชะงักทันที นักวิเคราะห์มองว่านี่อาจเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และยูเครน โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ประเทศกำลังเผชิญกับภาวะสงครามและความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ

ขณะที่องค์กรภาคประชาสังคมกว่า 73 แห่งต้องเผชิญภาวะขาดแคลนงบประมาณอย่างหนัก จากรายงานของ Open Space Works Ukraine และเครือข่าย Public Initiatives of Ukraine ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา พบว่า 25% ขององค์กรที่ได้รับผลกระทบมีแผนลดจำนวนพนักงาน 19% จำเป็นต้องให้พนักงานลาหยุดโดยไม่รับเงินเดือน และ 14% เตรียมระงับโครงการบางส่วนอย่างไม่มีทางเลือก

ที่น่ากังวลยิ่งกว่านั้น คือ 75% ขององค์กรเหล่านี้กำลังดิ้นรนหาทุนทางเลือกใหม่ บางแห่งเริ่มเปลี่ยนแปลงรูปแบบธุรกิจ ปรับโครงสร้างการทำงาน และหันไปพึ่งพาผู้บริจาคภายในประเทศแทน

องค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs) และหน่วยงานภาคประชาสังคมหลายแห่งออกมาแสดงความกังวลว่า การระงับงบประมาณครั้งนี้จะทำให้ประชาชนยูเครน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง 

รัฐบาลสหรัฐฯ ยังไม่ได้ให้เหตุผลอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับการระงับงบประมาณของ USAID แต่แหล่งข่าววงในระบุว่า อาจเกี่ยวข้องกับความตึงเครียดทางการเมืองภายในสหรัฐฯ รวมถึงแรงกดดันจากกลุ่มที่ต้องการให้มีการทบทวนการใช้เงินภาษีเพื่อช่วยเหลือต่างประเทศ

นักวิเคราะห์บางส่วนมองว่า การตัดสินใจครั้งนี้อาจส่งผลให้สหรัฐฯ สูญเสียอิทธิพลในยูเครน และเปิดโอกาสให้มหาอำนาจอื่น เช่น สหภาพยุโรป หรือจีน เข้ามามีบทบาทมากขึ้นในการช่วยเหลือประเทศที่ยังอยู่ในภาวะสงคราม

ด้าน องค์กรภาคประชาสังคมในยูเครนออกแถลงการณ์เรียกร้องให้สหรัฐฯ ทบทวนการตัดสินใจดังกล่าว โดยเน้นย้ำว่าความช่วยเหลือจาก USAID มีบทบาทสำคัญในการรักษาเสถียรภาพของสังคมยูเครนในช่วงวิกฤติ

“การระงับงบประมาณครั้งนี้ไม่เพียงกระทบต่อโครงการพัฒนา แต่ยังเป็นสัญญาณเชิงลบต่อประชาชนที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและเสรีภาพในยูเครน” ตัวแทนจากองค์กรสิทธิมนุษยชนยูเครนกล่าว

ในขณะที่รัฐบาลยูเครนยังไม่ได้ออกแถลงการณ์อย่างเป็นทางการต่อกรณีนี้ นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าอาจมีการเจรจากับเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ เพื่อหาทางออกต่อไป

ทั้งนี้ สถานการณ์ดังกล่าวยังคงเป็นที่จับตามองอย่างใกล้ชิด เนื่องจากอาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของยูเครนในระยะยาว และอาจเปลี่ยนแนวทางความร่วมมือระหว่างประเทศในอนาคต

หน่วยบัญชาการทหารไซเบอร์ หน่วยรบที่มีความสำคัญและจำเป็นสำหรับสงครามสมัยใหม่

แม้ว่าการรบที่เกิดในปัจจุบันที่เราท่านได้เห็นกันตามสื่อต่าง ๆ ยังคงเป็นการรบด้วยกำลังทหารพร้อมอาวุธยุทโธปกรณ์ต่าง ๆ อยู่ แต่ในความเป็นจริงแล้ว สมรภูมิที่มองไม่เห็นและมีการต่อสู้กันอย่างดุเดือดไม่แพ้กันเลยก็คือ 'สมรภูมิไซเบอร์' ซึ่งสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนนั้นยังที่การสู้รบที่เป็น 'สงครามไซเบอร์' อีกด้วย 

สงครามไซเบอร์ระหว่างรัสเซียและยูเครนเป็นส่วนหนึ่งของการเผชิญหน้าระหว่างรัสเซียและยูเครนตั้งแต่ “การปฏิวัติแห่งศักดิ์ศรี หรือการปฏิวัติไมดาน หรือการปฏิวัติยูเครน” ซึ่งเกิดขึ้นในยูเครนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2014 โดย Uroburos อาวุธไซเบอร์ของรัสเซียซึ่งมีมาตั้งแต่ปี 2005 อย่างไรก็ตาม การโจมตีระบบสารสนเทศเป็นครั้งแรกต่อหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนของยูเครนถูกบันทึกไว้ว่าเกิดขึ้นระหว่างการประท้วงครั้งใหญ่ในปี 2013 

ปฏิบัติการ Armagedon (เป็นการสะกดคำว่า Armageddon ผิดโดยตั้งใจ) ซึ่งเป็นปฏิบัติการจารกรรมทางไซเบอร์อย่างเป็นระบบของรัสเซียต่อระบบสารสนเทศของหน่วยงานของรัฐ หน่วยบังคับใช้กฎหมาย และหน่วยงานป้องกันประเทศของยูเครน ได้เริ่มต้นขึ้นในปี 2013 โดยรัสเซียเชื่อว่าจะเป็นการช่วยเหลือและสนับสนุนปฏิบัติการในสนามรบได้ ระหว่างปี 2013 และ 2014 ระบบสารสนเทศบางส่วนของหน่วยงานของรัฐบาลยูเครนได้รับผลกระทบจากไวรัสคอมพิวเตอร์ที่รู้จักกันในชื่อว่า Snake หรือ Uroborus หรือ Turla 

ในเดือนกุมภาพันธ์ - มีนาคม 2014 ขณะที่กองทหารรัสเซียเข้าสู่ไครเมียศูนย์สื่อสารและสายเคเบิลไฟเบอร์ออปติกของยูเครนถูกโจมตีและถูกแทรกแซงรบกววนสัญญาณทำให้การเชื่อมต่อระหว่างคาบสมุทรและแผ่นดินใหญ่ยูเครนถูกตัดขาด นอกจากนี้ เว็บไซต์ของรัฐบาลยูเครน ข่าว และโซเชียลมีเดียก็ถูกปิดหรือตกเป็นเป้าหมายในการโจมตี ขณะที่โทรศัพท์มือถือของสมาชิกรัฐสภาของยูเครนหลายคนถูกแฮ็ก หรือรบกวนสัญญาณ ผู้เชี่ยวชาญของยูเครนจึงได้ระบุถึงจุดเริ่มต้นของสงครามไซเบอร์กับรัสเซีย บริษัทด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์เริ่มบันทึกจำนวนการโจมตีทางไซเบอร์ในระบบสารสนเทศของยูเครนที่เพิ่มขึ้น 

เหยื่อของการโจมตีทางไซเบอร์ของรัสเซีย ได้แก่ หน่วยงานของรัฐบาลยูเครน สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา หน่วยงานด้านการป้องกันประเทศ องค์กรด้านการป้องกันประเทศ และองค์กรทางการเมืองระดับนานาชาติและระดับภูมิภาค สถาบันวิจัย สื่อมวลชน และนักต่อต้านรัฐบาล ในปี 2015 นักวิจัยได้ระบุกลุ่มแฮกเกอร์ชาวรัสเซียสองกลุ่มที่เคลื่อนไหวในสงครามไซเบอร์ระหว่างรัสเซียและยูเครน ได้แก่ กลุ่มที่เรียกว่า APT29 (Cozy Bear, Cozy Duke) และ APT28 (Sofacy Group, Tsar Team, Pawn Storm, Fancy Bear) และตั้งแต่เริ่มปฏิบัติการพิเศษทางทหารต่อยูเครน รัสเซียได้ทำการโจมตีทางไซเบอร์ต่อบริการอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียม Starlink ที่ยูเครนใช้งานเรื่อยมาจนทุกวันนี้

ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีที่ผ่านมา พรรคประชาชนได้แฉเอกสารลับที่เกี่ยวข้องกับ “ปฏิบัติการ IO หรือ ปฏิบัติการการข้อมูลข่าวสาร” โดยพยายามตีความให้สังคมไทยเห็นว่า “กองทัพกำลังคุกคามประชาชน ล้ำเส้นประชาธิปไตย และควรถูกจำกัดบทบาทให้เหลือแค่ ‘ยามเฝ้าประตู’ เท่านั้น” แต่เรื่องพรรคประชาชนที่เปิดเผยนั้นกลับไม่ได้ทำให้กองทัพดูน่ากลัวแต่อย่างใด และทำให้พี่น้องประชาชนคนไทยได้เห็นว่า “กองทัพไทยมีศักยภาพเชิงลึกในการเฝ้าระวังภัยคุกคามรูปแบบใหม่ ทั้งในมิติของข้อมูล ข่าวสาร” และมีขีดความสามารถในการควบคุมทิศทาง “การรับรู้” ซึ่งนั่นก็คือ “การทำสงครามอย่างมีพุทธิพิสัย (Cognitive Domain) อย่างเต็มรูปแบบ (พุทธิพิสัยเป็นเรื่องของการพัฒนาที่เกี่ยวข้องกับ สติปัญญา ความรู้ ความคิด หรือพฤติกรรมทางด้านสมองที่ทำให้มีความเฉลียวฉลาด มีความสามารถในการคิดเรื่องราวต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งแสดงถึงความสามารถทางด้านสติปัญญา) 

เอกสารดังกล่าวทำให้คนไทยจำนวนไม่น้อยได้เห็นในอีกแง่มุมว่า “กองทัพไทยไม่ได้ล้าหลัง แต่กลับมีความเข้าใจในบริบทของโลกสมัยใหม่มากกว่าที่สังคมไทยคิด!” โดยเอกสารนั้นได้ระบุว่า “กลุ่มเป้าหมายของการเฝ้าระวังส่วนหนึ่งคือ กลุ่มนักการเมือง นักเคลื่อนไหว และเครือข่ายที่รับทุนสนับสนุนจากองค์กรต่างชาติ เช่น USAID และ NED (องค์กรที่มีบทบาทแทรกแซงนโยบายภายในของประเทศต่าง ๆ มาแล้วทั่วโลก และเคยถูกวิจารณ์อย่างหนักว่าใช้ประชาธิปไตยเป็นข้ออ้างในการบ่อนทำลายความมั่นคงของรัฐในประเทศที่เห็นต่างหรือขั้วตรงข้ามมาแล้ว) และกองทัพไทยไม่ได้แค่ใช้ปฏิบัติการ “IO” เพื่อทำงานแบบเก่าและโบราณ เช่น การส่งข้อความปลุกใจ แต่ปรากฏว่าเป็นการทำงานอย่างเป็นระบบ มีกลไกที่ทำงานเป็นโครงข่าย มี Node มีความเชื่อมโยง มีระบบติดตามพฤติกรรม และมีการวิเคราะห์ปฏิกิริยาในเชิงจิตวิทยา

สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เป็นการตอกย้ำว่า “ทหารไทยในยุคปัจจุบันเข้าใจดีว่า โลกไม่ได้รบกันแค่ในสนามรบ แต่รบกันในหัวสมองประชาชน และรบด้วยการมี “พุทธิพิสัย (Cognitive Domain)” การอภิปรายของพรรคประชาชนในกรณีนี้จึงทำให้สังคมไทยได้ตระหนักว่า เมื่อสงครามสมัยใหม่สู้รบด้วยข้อมูล และใช้ความคิดลวง เพื่อทำให้คนไทยสับสนและหมดศรัทธาในสถาบันหลักของชาติ ดังนั้นจึงสมควรอย่างยิ่งที่กองทัพไทยจะต้องมี “หน่วยรบไซเบอร์” อย่างเป็นทางการ เป็นหน่วยปฏิบัติการหลักที่มีโครงสร้างชัดเจนและสามารถปฏิบัติการร่วมกับเหล่าทัพต่าง ๆ ทั้ง กองทัพบก-กองทัพเรือ-กองทัพอากาศ-สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ ได้ 

หลายฝ่ายได้มีการเสนอให้ตั้ง 'กองทัพไซเบอร์' เป็นเหล่าทัพใหม่ แต่อันที่จริงแล้ว 'หน่วยรบไซเบอร์' ของกองทัพไทยควรจะเป็นหน่วยปฏิบัติการภายใต้กองบัญชาการกองทัพไทย ในลักษณะและโครงสร้างที่มีความคล้ายคลึงกับหน่วยงานที่มีอยู่ เช่น “หน่วยบัญชาหารทหารพัฒนา” เนื่องจากการตั้งเหล่าทัพใหม่นั้นต้องใช้เวลาทั้งการศึกษา เตรียมการ และจัดตั้ง ค่อนข้างยาวนาน และต้องใช้งบประมาณอีกมหาศาล ดังนั้นการจัดตั้งหน่วยงานใหม่ภายใต้กองบัญชาการกองทัพไทย น่าจะเป็นทางเลือกที่มีความเหมาะสมและรวดเร็วกว่า จึงขอใช้โอกาสนี้ให้กองทัพไทยได้จัดตั้ง 'หน่วยบัญชาการทหารไซเบอร์' โดยเร็วที่สุด เพื่อให้กองทัพไทยมีความพร้อมและสามารถรับมือกับภัยคุกคามในรูปแบบใหม่ทุกรูปแบบและทุกมิติ เพราะ “ความมั่นคงของชาติบ้านเมือง” เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการธำรงและรักษาไว้ซึ่งเอกราชและอธิปไตยของชาติบ้านเมือง

“แม้หวังตั้งสงบ จงเตรียมรบให้พร้อมสรรพ ศัตรูกล้ามาประจัน จะอาจสู้ริปูสลาย” 
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖

อนาคตแรงงานสั่นคลอน AI แทนที่หมอ-ครูใน 10 ปี เปลี่ยนโลกของการทำงาน และมนุษย์อาจไม่ใช่ตัวเลือกหลักอีกต่อไป

(28 มี.ค. 68) บิล เกตส์ ผู้ก่อตั้งไมโครซอฟท์และมหาเศรษฐีนักลงทุนด้านเทคโนโลยี ออกมาเตือนว่า ปัญญาประดิษฐ์ (AI) อาจเข้ามาแทนที่อาชีพสำคัญ เช่น แพทย์และครู ภายในระยะเวลาเพียง 10 ปี ส่งผลให้มนุษย์อาจ “ไม่จำเป็น” สำหรับหลายอาชีพที่เคยต้องใช้แรงงานคน

เกตส์ชี้ว่า การพัฒนา AI กำลังเข้าสู่จุดที่สามารถวิเคราะห์ข้อมูลทางการแพทย์ วินิจฉัยโรค แนะนำวิธีรักษา ได้อย่างแม่นยำโดยไม่ต้องพึ่งพาแพทย์มนุษย์ เช่น AI ช่วยอ่านผลเอกซเรย์, วิเคราะห์อาการของผู้ป่วย, และให้คำแนะนำด้านต่าง ๆ

ส่วนในวงการศึกษา AI อาจทำหน้าที่เป็นครูผู้สอน ที่สามารถปรับหลักสูตรให้เหมาะกับนักเรียนแต่ละคนแบบเรียลไทม์ ทำให้บทบาทของครูเปลี่ยนไปจากการเป็นผู้สอน เป็นเพียงผู้ดูแลและให้คำแนะนำแทน

นอกจากนี้ เกตส์ระบุอีกว่า แม้ AI จะสามารถทำงานแทนมนุษย์ได้ในหลายด้าน แต่จะยังไม่สามารถแทนที่ทุกอาชีพได้ทั้งหมด โดยเฉพาะงานที่ต้องอาศัยความคิดสร้างสรรค์ การตัดสินใจเชิงศีลธรรม และการมีปฏิสัมพันธ์ทางอารมณ์

อย่างไรก็ตาม อาชีพที่เกี่ยวข้องกับงานเอกสาร งานวิเคราะห์ข้อมูล หรืองานที่ใช้ตรรกะ มีโอกาสสูงที่จะถูก AI เข้ามาแทนที่ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ซึ่งอาจทำให้ เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในตลาดแรงงาน และต้องมีการปรับตัวอย่างเร่งด่วน

ทั้งนี้ เกตส์ยอมรับว่า AI เป็นดาบสองคม หากใช้ในทางที่ถูกต้อง มันสามารถช่วยให้มนุษย์มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เช่น เข้าถึงบริการทางการแพทย์ที่แม่นยำขึ้น ลดภาระครู เพิ่มโอกาสทางการศึกษาให้ทั่วถึง แต่ถ้าไม่เตรียมตัวรับมือ AI อาจสร้างปัญหาด้านการว่างงาน และเพิ่มช่องว่างทางเศรษฐกิจระหว่างกลุ่มที่ปรับตัวได้กับกลุ่มที่ปรับตัวไม่ได้

“โลกต้องเตรียมรับมือกับยุคที่ AI จะเปลี่ยนโฉมทุกอุตสาหกรรม” เกตส์กล่าว พร้อมแนะนำให้ภาครัฐและภาคธุรกิจ ปรับปรุงระบบการศึกษา และพัฒนาทักษะแรงงานให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี

แม้ว่า AI จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น แต่ผู้เชี่ยวชาญหลายฝ่ายเชื่อว่า มนุษย์ยังคงมีจุดแข็งที่ AI ไม่สามารถแทนที่ได้ทั้งหมด โดยเฉพาะเรื่องความคิดสร้างสรรค์ การตัดสินใจเชิงจริยธรรม และปฏิสัมพันธ์ทางอารมณ์

อย่างไรก็ดี สิ่งที่สำคัญคือโลกต้องปรับตัวให้ทันกับ AI และหาทางใช้มันเป็นเครื่องมือช่วยพัฒนาอุตสาหกรรม แทนที่จะมองว่าเป็นภัยคุกคาม ซึ่งคำเตือนของบิล เกตส์ ได้สร้างแรงกระเพื่อมให้กับวงการเทคโนโลยีและตลาดแรงงานทั่วโลก หลายฝ่ายเริ่มตั้งคำถามว่า มนุษย์จะยังคงมีบทบาทสำคัญในโลกอนาคต หรือ AI จะเป็นผู้ควบคุมแทน

สื่อดังเผยญี่ปุ่นเตรียมร่วงจาก 10 อันดับแรก GDP โลก ต่ำกว่า เกาหลีใต้ และรัสเซีย รายได้ต่อหัวลดลงเป็นประเทศรายได้กลางใน 50 ปี

(28 มี.ค. 68) สื่อเศรษฐกิจชื่อดังของญี่ปุ่น Nikkei ได้เผยรายงานจาก ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจ เมื่อวานนี้ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงแนวโน้มที่ไม่สดใสของเศรษฐกิจญี่ปุ่นในอนาคต โดยคาดการณ์ว่า ในอีก 50 ปีข้างหน้า รายได้ต่อหัวของคนญี่ปุ่นจะร่วงลงอย่างรวดเร็วจนทำให้ประเทศตกไปอยู่ในกลุ่มประเทศที่มี รายได้ปานกลาง

รายงานระบุอีกว่า GDP รวมของประเทศญี่ปุ่น จะลดลงอย่างรวดเร็วและ หลุดจาก 10 อันดับแรกของโลก ในอีก 50 ปีข้างหน้า คาดว่า GDP ที่แท้จริงโดยรวมของญี่ปุ่น จะลดลงจากอันดับที่ 4 ในปี 2024 (3.5 ล้านล้านดอลลาร์) ไปอยู่อันดับที่ 11 ในปี 2075 (4.4 ล้านล้านดอลลาร์) แม้ว่าจะสามารถหลีกเลี่ยงภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้ แต่คาดว่าอัตราการเติบโตเฉลี่ยในช่วงปี 2071–2075 จะอยู่ที่เพียง 0.3% เท่านั้น

และจะตกจาก อันดับที่ 29 ปัจจุบัน ไปยัง อันดับที่ 45 หมายความว่าญี่ปุ่นจะตกต่ำกว่า เกาหลีใต้และรัสเซีย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความมั่งคั่งของประเทศอย่างรุนแรง

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจได้ชี้ให้เห็นว่า การขาดความสามารถในการพัฒนาเทคโนโลยี AI เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ญี่ปุ่นไม่สามารถตามทันประเทศอื่นๆ ในการพัฒนาเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เศรษฐกิจขาดความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก

นอกจากนี้ การลดลงของประชากร โดยเฉพาะกลุ่มประชากรที่มีอายุสูงขึ้นและขาดแรงงานรุ่นใหม่ เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ ญี่ปุ่นจะต้องเผชิญกับปัญหาของการขาดแคลนแรงงานและความยากลำบากในการรักษาฐานการผลิตในประเทศ

ผลการวิจัยนี้เตือนให้ญี่ปุ่นต้องเตรียมตัวรับมือกับความท้าทายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต โดยการไม่สามารถพัฒนาเทคโนโลยี AI และการลดลงของประชากร อาจนำไปสู่การลดลงของการผลิตและการขยายตัวทางเศรษฐกิจ รวมถึงการเสียสมดุลในระบบเศรษฐกิจของประเทศ

สิ่งที่น่ากังวลคือ ความสามารถในการแข่งขันของญี่ปุ่นในระดับโลก ที่จะลดลงตามลำดับ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการลงทุนจากต่างชาติ การจ้างงาน และการสร้างความมั่งคั่งในประเทศในระยะยาว

แม้จะมีการทำนายสถานการณ์เศรษฐกิจที่น่าเป็นห่วง แต่รายงานยังระบุว่า ญี่ปุ่นยังคงมีโอกาสในการปรับตัว โดยการลงทุนในนวัตกรรม AI และการพัฒนานโยบายการขยายฐานแรงงาน รวมถึงการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ในการแก้ไขปัญหาด้านการผลิตและการจัดการทรัพยากรของประเทศ

อย่างไรก็ตาม หากญี่ปุ่นไม่สามารถปรับตัวได้ทันเวลา อาจทำให้ประเทศเผชิญกับการถดถอยทางเศรษฐกิจและสังคมในระยะยาวที่ยากจะกลับตัวได้

‘แผ่นดินไหว’ รุนแรงในเมียนมา สะเทือนหนักถึง ‘ไทย’ หลายพื้นที่ ‘สามนิ้วเมียนมา’ ฉวยโอกาสกุข่าว ‘กองทัพเมียนมา’ ทดลองอาวุธนิวเคลียร์

กลายเป็นเหตุการณ์ที่ช็อกคนไทยอย่างมาก โดนเฉพาะคนกรุงเทพฯ ที่ต้องพบกับแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ ซึ่งอาจจะเรียกได้ว่าแผ่นดินไหวครั้งนี้เป็นครั้งที่รุนแรงที่สุดที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ เลยก็ว่าได้

โดยต้นเหตุแผ่นดินไหวอยู่บริเวณเมืองมัณฑะเลย์และเมืองสะกายในเมียนมาห่างจาก อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน ไป 326 กิโลเมตร โดยความแรงที่จุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวในเมียนมามีความแรงถึง 8.2 ริกเตอร์ ส่งผลให้อาคารบ้านเรือนในเมืองมัณฑะเลย์และสะกายได้รับความเสียหาย รวมถึงผู้คนตกอยู่ในความหวาดหวั่น รวมถึงสะพานข้ามแม่น้ำระหว่างเมืองมัณฑะเลย์และสะกายก็ถล่มจากเหตุการณ์ครั้งนี้ด้วย

ตัดภาพกลับมาที่ประเทศไทย ตัวเอย่าเองก็เป็น 1 ในผู้ประสบเหตุในครั้งนี้เช่นกัน จึงขอเล่าให้ฟัง…

หลังเกิดเหตุ 30 นาทีแรก เอย่ารู้สึกว่า ระบบโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตเหมือนจะล่ม อาจจะเป็นเพราะทุกคนใช้โทรศัพท์ จากนั้นตามมาด้วยรถติดบนถนนอย่างกับศุกร์ปลายเดือนวันฝนตกอย่างไรอย่างนั้น รถติดชนิดที่ว่า ‘ทุกเส้นทางขนาด’ เส้นที่ไม่เคยรถติด ก็ยังติด

แต่สิ่งหนึ่งที่สังเกตเห็นคือทำไมประชาชนต้องต่อว่ารัฐบาลก่อนแทนที่จะต้องช่วยเหลือตัวเองก่อน ซึ่งก่อนอื่นต้องเข้าใจว่านี่คือ ‘พิบัติภัยที่รุนแรงที่สุดในรอบหลายสิบปี’ ซึ่งเอย่าแน่ใจว่าจากนี้ประเทศไทยจะมีแผนรับมือเช่นเดียวกันกับเหตุการณ์สึนามิถล่ม

แต่ในเหตุการณ์ร้ายนี้ก็มีเรื่องตลก เมื่อมีข่าวหลุดออกมาตามโซเชียลมีเดียของกลุ่มสามนิ้วในพม่าว่า เหตุที่เกิดขึ้นเป็นฝีมือของกองทัพเมียนมาและมินอ่องหล่าย ใช้เมียนมาเป็นสถานที่ทดสอบขีปนาวุธนิวเคลียร์ แถมเรื่องนี้กลายเป็น ‘Talk of the town’ ในกลุ่มพม่าสามนิ้วในไทยเสียด้วย ก็ไม่รู้สิว่าเอย่าจะพูดอะไรดี คงพูดได้แค่ว่า “เบิ่ดคำสิเว้า”

เอย่าก็หวังให้เสพสื่ออย่าง ‘มีสติ’ นะคะ ไม่ใช่ใช้ ‘อคติ’ บังตา ไม่ว่าจะคนไทยหรือคนพม่า ในครั้งนี้ทุกคนคือผู้ประสบเหตุด้วยกันทุกคนทั้งนั้น

เปิดภาพ ‘เจดีย์มิงกุน’ ในเมียนมา ‘ก่อน-หลัง’ เกิดแผ่นดินไหว บางส่วนพังถล่มลงมาและมีรอยแตกร้าวเป็นวงกว้าง

(29 มี.ค. 68) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เจดีย์มิงกุน หรือ Hsinbyume Pagoda หนึ่งในโบราณสถานสำคัญและสัญลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมศักดิ์สิทธิ์ของเมียนมา ได้รับความเสียหายอย่างหนักจากเหตุแผ่นดินไหวครั้งรุนแรงที่เกิดขึ้นเมื่อวานนี้ (28 มี.ค. 68)

ภาพเปรียบเทียบก่อนและหลังเหตุการณ์เผยให้เห็นโครงสร้างอันงดงามของเจดีย์สีขาวบริสุทธิ์ที่เคยตั้งตระหง่าน บัดนี้บางส่วนพังถล่มลงมาและมีรอยแตกร้าวเป็นวงกว้าง

สำหรับเมืองมิงกุน ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวชื่อดังและศูนย์รวมโบราณสถานของเมียนมา ได้รับผลกระทบโดยตรงจากแรงสั่นสะเทือน ขณะนี้เจ้าหน้าที่กำลังเร่งเข้าสำรวจความเสียหายอย่างละเอียด พร้อมวางแผนบูรณะฟื้นฟูเพื่อปกป้องมรดกทางวัฒนธรรมไม่ให้สูญสิ้น

ประชาชนในพื้นที่และนักท่องเที่ยวต่างแสดงความห่วงใยต่อเหตุการณ์ พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลเมียนมาและองค์กรด้านวัฒนธรรมระหว่างประเทศร่วมมือกันฟื้นฟูเจดีย์มิงกุนให้กลับมางดงามดังเดิม

ผู้สื่อข่าวยังรายงานอีกว่า เจ้าหน้าที่กู้ภัยจากประเทศจีนและรัสเซียได้เดินทางถึงพื้นที่ประสบภัยในประเทศพม่าเป็นสองชาติแรก หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวรุนแรงเมื่อวานนี้ โดยล่าสุดทางการพม่ารายงานยอดผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 178 ราย บาดเจ็บกว่า 800 ราย และยังมีผู้ติดอยู่ใต้ซากอาคารจำนวนมาก

ในจำนวนนี้รวมถึงโรงเรียนอนุบาลแห่งหนึ่งที่พังถล่มลงมา โดยมีเด็กและครูจำนวนกว่า 60 รายที่ยังไม่ทราบชะตากรรม ขณะนี้ทีมกู้ภัยกำลังเร่งค้นหาและให้ความช่วยเหลือท่ามกลางสภาพอากาศแปรปรวนและโครงสร้างอาคารที่ยังเสี่ยงถล่มซ้ำ

นอกจากนี้ จีนและรัสเซียยังได้ส่งทั้งบุคลากรและอุปกรณ์กู้ภัยพิเศษเข้าพื้นที่ทันทีที่ได้รับการร้องขอจากรัฐบาลพม่า โดยถือเป็นความร่วมมือด้านมนุษยธรรมระหว่างประเทศที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงเวลาวิกฤต

‘เอเชีย’ จ่อขึ้นแท่น ‘ผู้นำโลก’ ด้านเทคโนโลยีสีเขียวเกิดใหม่ หลายประเทศมุ่งพัฒนาพลังงานหมุนเวียน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

(29 มี.ค. 68) สำนักข่าวซินหัวรายงานจากการประชุมเอเชียโป๋อ๋าว ปี 2025 ในมณฑลไห่หนาน (ไหหลำ) ทางตอนใต้ของจีน ระบุว่าเอเชียกำลังก้าวหน้าอย่างรวดเร็วในด้านเทคโนโลยีใหม่อันเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีศักยภาพเป็นผู้นำด้านวัสดุแบตเตอรี่ขั้นสูง พลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพ และอื่น ๆ ด้วยกำลังการผลิตทางอุตสาหกรรมที่แข็งแกร่งและการสนับสนุนทางนโยบาย

รายงาน ‘การพัฒนาที่ยั่งยืน : รายงานเอเชียและโลกประจำปี 2025-การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ : เอเชียก้าวสู่เส้นทางสีเขียว’ (Sustainable Development: Asia and the World Annual Report 2025 -Addressing Climate Change: Asia Going Green) ของการประชุมฯ ได้เน้นย้ำความก้าวหน้าด้านพลังงานหมุนเวียนของภูมิภาคเอเชีย

ปัจจุบันจีนมีกำลังการผลิตพลังงานใหม่จากพลังงานหมุนเวียนสูงถึงร้อยละ 85 ส่วนอินโดนีเซียและสิงคโปร์กำลังพยายามพัฒนาการดักจับและกักเก็บคาร์บอน ขณะเดียวกันจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้เป็นผู้นำในห่วงโซ่อุปทานระดับโลกด้านเทคโนโลยีแบตเตอรี่ลิเธียม ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการใช้พลังงานไฟฟ้าในการขนส่ง

จีนยังเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมไฮโดรเจนอันเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่กำลังเติบโตของเอเชีย โดยเอเชียครองส่วนแบ่งเกือบร้อยละ 70 ของกำลังการผลิตพลังงานไฮโดรเจนทั่วโลก ส่วนกลุ่มปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่ที่สุดของเอเชีย ได้แก่ จีน อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น และซาอุดีอาระเบีย ต่างกำหนดเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศ

ขณะประเทศส่วนใหญ่ในอาเซียนได้พัฒนายุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการด้านสภาพภูมิอากาศระดับชาติที่มีความครอบคลุมรอบด้าน เพื่อดำเนินการตามการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (NDC) และแผนการปรับตัวระดับประเทศ (NAP)

อย่างไรก็ดี แม้มีความก้าวหน้าอย่างมากและบางประเทศแสดงความมุ่งมั่นตั้งใจสร้างความยั่งยืน แต่อีกหลายประเทศยังคงต้องดำเนินงานอีกมากเพื่อบรรลุเป้าหมาย

บทบาทของเอเชียในการบรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเอเชียเป็นบ้านหลังใหญ่ของประชากรมากกว่าครึ่งหนึ่งของโลก สร้างผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ราวครึ่งหนึ่งของโลก และครองส่วนแบ่งการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่าครึ่งหนึ่งของโลก

รัสเซีย-จีน-อินเดีย-มาเลเซีย ส่งทีมช่วยเหลือเมียนมา กองทัพว้า มอบเงินช่วยเหลือ 200 ล้านจั๊ต ขณะยอดเสียชีวิตยังเพิ่มขึ้น

(30 มี.ค. 68) นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในเมียนมาเมื่อวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา ทางการเมียนมาได้รายงานยอดผู้เสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดมีจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 1,644 คน ผู้บาดเจ็บ 3,408 คน และสูญหาย 139 คน ขณะที่ปฏิบัติการค้นหาและกู้ภัยยังคงดำเนินต่อไปท่ามกลางซากปรักหักพังและอาคารที่ยังคงถล่มในบางพื้นที่

ผลกระทบจากแผ่นดินไหวในพื้นที่สำคัญ ในพื้นที่เขตเนปยีดอ ซึ่งเป็นศูนย์กลางของแผ่นดินไหว มีผู้เสียชีวิตจำนวน 96 คน และได้รับบาดเจ็บ 432 คน ส่วนในภาคสะกายมีผู้เสียชีวิต 18 คน และบาดเจ็บ 300 คน ขณะที่ภาคมัณฑะเลย์ได้รับผลกระทบอย่างหนักเช่นกัน โดยมีผู้เสียชีวิต 30 คน อย่างไรก็ตาม คาดว่าตัวเลขผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บอาจเพิ่มขึ้นอีกเนื่องจากปฏิบัติการช่วยเหลือยังไม่สามารถเข้าถึงทุกพื้นที่ได้

การช่วยเหลือจากนานาชาติ จากสถานการณ์ที่รุนแรง รัฐบาลเมียนมาได้เปิดรับความช่วยเหลือจากต่างประเทศ โดยขณะนี้ รัสเซีย จีน อินเดีย และมาเลเซียได้ส่งทีมกู้ภัยเข้าช่วยเหลือแล้ว ขณะที่ศูนย์ประสานงานอาเซียนด้านมนุษยธรรม (AHA Centre) ก็ได้เสนอความช่วยเหลือเพิ่มเติมเช่นกัน นอกจากนี้ กองทัพสหรัฐพันธรัฐว้า (UWSA) ได้สนับสนุนเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยจำนวน 200 ล้านจั๊ต หรือประมาณ 15.3 ล้านบาท เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ที่ได้รับผลกระทบ

ความช่วยเหลือเพิ่มเติมจากภูมิภาค เมื่อวันที่ 9 มีนาคม มีรายงานว่า ทีมบรรเทาสาธารณภัยจากมณฑลยูนาน ประเทศจีน จำนวน 16 คน จะเดินทางเข้าไปช่วยเหลือในพื้นที่เมืองหมูแจ่ รัฐฉานตอนเหนือ ในขณะที่ทีมกู้ภัยจากประเทศสิงคโปร์ก็กำลังมุ่งหน้าไปยังภาคมัณฑะเลย์เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากเหตุแผ่นดินไหว

บทบาทของไทยและอเมริกา ประเทศไทยได้เตรียมส่งทีมกู้ภัยและค้นหาพร้อมทีมแพทย์และเวชภัณฑ์จากกองบัญชาการกองทัพไทย จำนวน 49 นาย เดินทางด้วยเครื่องบิน C-130 ของกองทัพอากาศ เพื่อให้ความช่วยเหลือเบื้องต้น และสำรวจความต้องการของรัฐบาลเมียนมาเพื่อส่งความช่วยเหลือเพิ่มเติมตามความจำเป็น

ในขณะที่สหรัฐอเมริกาได้พยายามติดต่อเมียนมาเพื่อให้ความช่วยเหลือ อย่างไรก็ตาม ยังคงมีอุปสรรคบางประการ เนื่องจากในอดีต เมียนมาเคยมีสำนักงานของ USAID แต่ได้ถูกปิดไป ส่งผลให้การเข้าถึงความช่วยเหลือยังไม่มีความชัดเจน อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้เน้นย้ำว่าภัยพิบัติทางธรรมชาตินั้นเป็นปัญหาสากลที่ควรได้รับการช่วยเหลือโดยไม่คำนึงถึงความขัดแย้งทางการเมือง

แผ่นดินไหวครั้งใหญ่นี้ไม่เพียงแต่สร้างความสูญเสียให้กับชาวเมียนมา แต่ยังเผยให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง บางประเทศได้แสดงออกถึงความเป็นมิตรอย่างชัดเจน ขณะที่บางประเทศอาจยังมีท่าทีที่ไม่แน่ชัด ท่ามกลางความขัดแย้งที่มีอยู่ ภัยพิบัติในครั้งนี้อาจเป็นบททดสอบที่แสดงให้เห็นว่าใครคือพันธมิตรที่แท้จริงของเมียนมา

กลุ่มติดอาวุธต่อต้านรัฐบาลทหารพม่า ประกาศหยุดสู้รบ 2 สัปดาห์ เพื่อเปิดพื้นที่ให้กู้ภัยช่วยเหลือเหยื่อแผ่นดินไหว

(30 มี.ค. 68) กลุ่มติดอาวุธต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมา ประกาศหยุดยิงเป็นเวลา 2 สัปดาห์ เพื่อเปิดทางให้เจ้าหน้าที่กู้ภัยและองค์กรด้านมนุษยธรรมสามารถเข้าไปช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหวรุนแรงที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก โดยเฉพาะในเขตเนปิดอว์ ภาคซะไกง์ และภาคมัณฑะเลย์

แถลงการณ์จากแนวร่วมกลุ่มติดอาวุธระบุว่า การหยุดยิงชั่วคราวครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยสามารถดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดอุปสรรคจากสถานการณ์สู้รบ และป้องกันไม่ให้ประชาชนต้องเผชิญความยากลำบากมากขึ้นจากทั้งภัยพิบัติและความขัดแย้งทางทหาร

“กองกำลังพิทักษ์ประชาชน (PDF) จะหยุดดำเนินการปฏิบัติการทางทหารเชิงรุกเป็นเวลา 2 สัปดาห์ ยกเว้นปฏิบัติการเชิงป้องกัน ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวเริ่มตั้งแต่วันที่ 30 มี.ค. 2568” รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) ที่เป็นรัฐบาลเงาระบุในคำแถลง

ด้านองค์กรบรรเทาทุกข์ระหว่างประเทศและกลุ่มสิทธิมนุษยชนได้ออกมาเรียกร้องให้ทุกฝ่ายปฏิบัติตามข้อตกลงหยุดยิงอย่างจริงจัง และเปิดทางให้ความช่วยเหลือเข้าถึงทุกพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ พร้อมทั้งเน้นย้ำว่าการเมืองไม่ควรเป็นอุปสรรคต่อการช่วยเหลือผู้ที่กำลังเดือดร้อน

ขณะที่รัฐบาลทหารเมียนมายังไม่มีท่าทีตอบสนองต่อแถลงการณ์หยุดยิงดังกล่าว อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่าองค์กรกาชาดสากล และศูนย์ประสานงานอาเซียนด้านมนุษยธรรม (AHA Centre) กำลังเร่งประสานงานกับทั้งสองฝ่ายเพื่อส่งความช่วยเหลือไปยังพื้นที่ภัยพิบัติโดยเร็วที่สุด


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top