Wednesday, 14 May 2025
World

เปิดบัญชีหนี้ 'ยูเครน' ค้างชำระชาติไหนเท่าไหร่บ้าง หลังไบเดนจ่อยกหนี้ 4,650 ล้านดอลลาร์ให้ฟรีๆ

(22 พ.ย.67) ใกล้ถึงช่วงหมดวาระของประธานาธิบดีโจ ไบเดน แต่ดูเหมือนรัฐบาลไบเดนกำลังทิ้งทวน จัดแพ็กเกจสารพันอาวุธยุทโธปกรณ์ให้ยูเครนแบบชุดใหญ่ ล่าสุด รัฐบาลไบเดนแจ้งต่อรัฐสภาคองเกรสว่า มีแผนเตรียมยกเลิกหนี้สินที่ยูเครนติดค้างมูลค่า 4,650 ล้านดอลลาร์ (ราว 160 ล้านบาท) ซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งความเคลื่อนไหวที่สหรัฐต้องการสนับสนุนรัฐบาลเคียฟอย่างเต็มที่ ก่อนว่าที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์จะกลับคืนสู่อำนาจ 

รายงานระบุว่า รัฐบาลของประธานาธิบดีโจ ไบเดน เตรียมยกเลิกเงินกู้เกือบครึ่งหนึ่งของยอดเงินกู้ 9,000 ล้านดอลลาร์ที่ให้กับยูเครน หรือราว 4,650 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงบประมาณช่วยเหลือเพิ่มเติมมูลค่า 60,000 ล้านดอลลาร์ที่อนุมัติเมื่อเดือนเม.ย.

โดยว่า การยกเลิกหนี้สินที่ช่วยให้ยูเครนได้รับชัยชนะ ถือเป็นผลประโยชน์ของชาติของสหรัฐและพันธมิตรสหภาพยุโรป (อียู), G7 และพันธมิตรองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต้)

ความเคลื่อนไหวนี้เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามปธน.ไบเดนที่ต้องการสนับสนุนยูเครนมากขึ้น ก่อนที่โดนัลด์ ทรัมป์ จะกลับมายังทำเนียบขาวในเดือนม.ค. ซึ่งทรัมป์บอกไว้ว่า สิ่งสำคัญของเขาคือ การผลักดันรัสเซียและยูเครนสู่การเจรจาอย่างสันติ ทำให้ผู้สนับสนุนยูเครนต่างกังวลว่าทรัมป์อาจตัดงบช่วยเหลือดังกล่าว

ทั้งนี้ กระบวนการยกเลิกหนี้จำเป็นต้องอาศัยการลงมติจากสภา ซึ่งขณะนี้รีพับลิกกันครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร ในขณะที่จากพรรคเดโมแครตควบคุมวุฒิสภาอยู่ จึงอาจเป็นการยากที่จะผ่านมติตั้งแต่สภาผู้แทนราษฎร 

ด้านสำนักข่าวสปุตนิกรายงานว่า จากข้อมูลของกระทรวงการคลังของยูเครน  ณ วันที่ 30 กันยายน หนี้สาธารณะและหนี้ค้ำประกันของยูเครนรวมอยู่ที่ 155.69 พันล้านดอลลาร์  (ราว 5.3 ล้านล้านบาท) จำนวนนี้เป็นหนี้สินในต่างประเทศถึง 112.06 พันล้านดอลลาร์ แบ่งเป็นเจ้าหนี้ดังนี้ 

หนี้ต่อสหรัฐ ข้อมูลระบุว่ายูเครนไม่มีหนี้ที่กู้ยืมจากรัฐบาลสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม ในเดือนเมษายน สหรัฐฯ อนุมัติแพ็กเกจช่วยเหลือยูเครนมูลค่า 60 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งรวมถึงเงินกู้ 9 พันล้านดอลลาร์ โดยไบเดนมีแผนล้างหนี้ครึ่งหนึ่งของเงินกู้ดังกล่าวตามรายงานในข้างต้น

หนี้ต่อสหภาพยุโรป  ยูเครนมีหนี้ 44.17 พันล้านดอลลาร์ต่อสหภาพยุโรป 14.65 พันล้านดอลลาร์ ต่อธนาคารระหว่างประเทศเพื่อการบูรณะและพัฒนา (IBRD) และ 12.08 พันล้านดอลลาร์ต่อกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF)  

หนี้เงินกู้รัฐบาลต่างชาติ ยูเครนมีหนี้จากการกู้ยืมรัฐบาลประเทศต่าง ๆ เช่น ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี ญี่ปุ่น เนเธอร์แลนด์ โปแลนด์ และสหราชอาณาจักร รวมมูลค่า 7.74 พันล้านดอลลาร์ โดยแคนาดาเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ที่สุดที่ 5.11 พันล้านดอลลาร์  

หนี้ภาคเอกชน  ธนาคารแห่งชาติยูเครนระบุว่าธนาคารไซปรัสเป็นเจ้าหนี้หลัก คิดเป็น 48.4% ของหนี้ทั้งหมด ขณะที่สถาบันการเงินในสหราชอาณาจักร เนเธอร์แลนด์ และเยอรมนีถือหนี้ 10.5%, 7.9% และ 3% ตามลำดับ  

หนี้ต่อบริษัทเอกชนระหว่างประเทศ ยูเครนมีหนี้ 1.61 พันล้านดอลลาร์จากการกู้ยืมธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศและองค์กรต่างชาติ อาทิ กู้เงินบริษัทคาร์กิลล์ (730 ล้านดอลลาร์) และธนาคารดอยช์แบงก์ (490 ล้านดอลลาร์)  

หนี้จากพันธบัตร  ยูเครนมีหนี้พันธบัตรยูโรปี 2024 อยู่ที่ 15.22 พันล้านดอลลาร์ ทั้งนี้ รัฐบาลเคียฟได้ผ่านกฎหมายอนุญาตให้ยูเครนระงับการชำระหนี้ต่างประเทศเมื่อต้นปีที่ผ่านมา 

'อีลอน มัสก์' วิจารณ์นายกฯ ออสซี่ เล็งออกกม.ห้ามเด็กต่ำกว่า 16 ใช้โซเชียลมีเดีย

(22 พ.ย.67) อีลอน มัสก์ มหาเศรษฐีเจ้าของแพลตฟอร์ม X หรือ ทวิตเตอร์เดิม วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลออสเตรเลียที่เสนอร่างกฎหมายห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 16 ปีใช้สื่อสังคมออนไลน์ หลังจากที่ร่างกฎหมายดังกล่าวเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของรัฐสภา

มักส์ เขียนข้อความด้วยการรีทวีตข้อความของนายแอนโทนี อัลบานีซี นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย โดยระบุว่า “ดูเหมือนจะเป็นการใช้ช่องทางควบคุมการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของชาวออสเตรเลียทุกๆ คน” ตอบกลับข้อความของนายกออสเตรเลียที่โพสต์ว่ารัฐบาลกำลังดำเนินการผลักดันร่างกฎหมายนี้

สำหรับร่างกฎหมายห้ามเยาวชนอายุต่ำกว่า 16 ปีใช้โซเชียลมีเดีย หากผ่านการเห็นชอบจากสภา ร่างกฎหมายฉบับนี้จะทำให้ออสเตรเลียเป็นประเทศที่เข้มงวดที่สุดประเทศหนึ่งเพื่อปกป้องเยาวชนที่มีความเสี่ยงสูงจากผลร้ายของสื่อออนไลน์ นอกจากนั้นร่างกฎหมายนี้ยังกำหนดโทษสำหรับสื่อสังคมออนไลน์ที่พยายามละเมิดกฎหมายโดยให้ปรับเงินสูงสุดถึง 49 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย หรือ ประมาณ 1,100 ล้านบาทด้วย ซึ่งภาคประชาสังคมส่วนใหญ่ของออสเตรเลียมีความเห็นไปในทางสนับสนุนเพื่อปกป้องเยาวชน

ในประเทศอื่น ๆ อย่าง สหรัฐอเมริกา เคยพยายามกำหนดข้อจำกัดในการใช้โซเชียลมีเดียสำหรับเด็ก โดยมีกฎหมายกำหนดให้บริษัทเทคโนโลยีต้องได้รับความยินยอมจากผู้ปกครองก่อนรวบรวมข้อมูลของผู้ใช้งานที่มีอายุต่ำกว่า 13 ปี แต่ข้อเสนอของออสเตรเลียมีความเข้มงวดมากกว่า โดยกำหนดอายุขั้นต่ำที่ 16 ปี ไม่อนุญาตให้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ทุกแพลตฟอร์มโดยไม่มีข้อยกเว้น แม้ว่าจะได้รับการยินยอมจากผู้ปกครองก็ตาม

‘เหล้าเถื่อน’ ใน ‘ลาว’ กำลังระบาดหนัก ‘ออสเตรเลีย’ เตือน!! นักท่องเที่ยวให้ระวัง

เมื่อวานนี้ (22 พ.ย. 67) ออสเตรเลียเตือนนักท่องเที่ยวให้ระวังการดื่มสุราปนเปื้อนเมทานอลในสปป.ลาว หลังวัยรุ่นออสเตรเลีย 1 รายเสียชีวิต หลังดื่มสุราปนเปื้อนที่วังเวียง เป็นชาวต่างชาติรายที่ 4 ที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าว 

นายกรัฐมนตรีแอนโทนี อัลบานีส ของออสเตรเลีย แถลงว่า บิอังกา โจนส์ วัยรุ่นออสเตรเลียวัย 19 ปี เสียชีวิตเมื่อวานนี้ (พฤหัสบดี) หลังจากดื่มเหล้าผสมเมทานอลในสปป.ลาว ซึ่งถือเป็นชาวต่างชาติรายที่ 4 แล้วที่สงสัยเสียชีวิตในเหตุการณ์ดื่มเหล้าเถื่อนในลาว 

เมืองวังเวียง แหล่งท่องเที่ยวสำคัญของลาว ห่างจากกรุงเวียงจันทน์ ไปทางเหนือประมาณ 2 ชั่วโมง ซึ่งวัยรุ่นออสเตรเลียหลายคนเดินทางไปเที่ยวก่อนล้มป่วยหนัก  เผยให้เห็นเมืองนี้คึกคักไปด้วยนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ และนักท่องเที่ยวแบ็คแพ็คเกอร์ที่มาร่วมทำกิจกรรมกลางแจ้งต่าง ๆ 

โจนส์ ล้มป่วยในวังเวียงเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว และจากนั้นก็ถูกส่งตัวมายังจังหวัดอุดรธานี เพื่อรักษาต่อ ขณะที่ฮอลลี โบวลส์ เพื่อนของเธอในวัย 19 ปีอีกราย ยังรักษาตัวอยู่ที่ไทยเช่นกัน ตามการเปิดเผยของครอบครัวที่ระบุว่าเธอยังอยู่อาการขั้นวิกฤต

ทั้งนี้ เชื่อว่าโจนส์และโบวลส์ ดื่มสุราปนเปื้อนเมทานอล ซึ่งมักใช้เป็นส่วนผสมแทนเอธานอลในราคาที่ถูกกว่า แต่อาจทำให้เกิดอาการป่วยหนักหรือเสียชีวิตได้ และทางออสเตรเลียออกคำเตือนนักท่องเที่ยวให้ระวังการดื่มสุราปนเปื้อนในลาวแล้ว

ทางการไทยยืนยันว่า โจนส์ เสียชีวิตเนื่องจาก ‘ภาวะสมองบวมเพราะมีระดับเมทานอลในระบบร่างกายสูง’

สุราปนเปื้อนเริ่มกลายเป็นประเด็นขึ้นมา หลังจากหญิงออสเตรเลีย 2 รายล้มป่วยเมื่อ 13 พฤศจิกายน หลังออกไปดื่มกับกลุ่มเพื่อนที่นั่น และการเสียชีวิตของโจนส์ ถือเป็นนักท่องเที่ยวรายที่ 4 ที่เสียชีวิตเพราะดื่มสุราปนเปื้อนในวังเวียง

ทางการออสเตรเลีย ระบุว่า ‘นักท่องเที่ยวต่างชาติหลายราย’ ต่างเป็นเหยื่อของสุราปนเปื้อนเมทานอลนี้ กระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ยืนยันแล้วว่ามีชาวอเมริกัน 1 รายเสียชีวิตที่วังเวียง และกระทรวงต่างประเทศเดนมาร์ก ยืนยันว่ามีพลเมือง 2 รายเสียชีวิตในเหตุการณ์นี้เช่นกัน

นอกจากนี้ กระทรวงต่างประเทศนิวซีแลนด์ เผยเมื่อวันพฤหัสบดีว่า มีพลเมือง 1 รายล้มป่วยในลาว และคาดว่าอาจเป็นเหยื่อของสุราปนเปื้อน พร้อมทั้งออกคำเตือนการเดินทางของพลเมืองนิวซีแลนด์ที่ไปเยือนลาวให้ระมัดระวังในการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งอาจมีการปนเปื้อนเมทานอลในลาวด้วยเช่นกัน

เปิดหลักการพื้นฐานของ ‘สหพันธรัฐรัสเซีย’ ว่าด้วยการป้องปราม ด้วยอาวุธนิวเคลียร์ฉบับใหม่

ถือว่าโลกได้ขยับเข้าใกล้สงครามโลกครั้งที่ 3 อีกครั้งเมื่อประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูตินของรัสเซียได้ลงนามในกฤษฎีกาเมื่อวันอังคารที่ 19 พฤศจิกายน ค.ศ.2024 ที่ผ่านมา เพื่อรับรองหลักคำสอนด้านนิวเคลียร์ฉบับปรับปรุงของประเทศ ซึ่งมีชื่อว่า ‘หลักการพื้นฐานของนโยบายรัฐของสหพันธรัฐรัสเซียว่าด้วยการป้องปรามด้วยนิวเคลียร์’ (the Basic Principles of State Policy of the Russian Federation on Nuclear Deterrence) สาเหตุที่ทางรัสเซียจำเป็นต้องอัปเดตเอกสารหลักคำสอนด้านนิวเคลียร์นี้ ทางเครมลินอธิบายว่าเนื่องจาก ‘สถานการณ์ปัจจุบัน’ เกี่ยวกับปฏิบัติการพิเศษทางทหารในยูเครนและการเผชิญหน้าที่รุนแรงระหว่างรัสเซียและตะวันตก โดยคำนึงถึงการตัดสินใจของ เจ้าหน้าที่รัฐบาลในสหรัฐอเมริกาตัดสินใจให้ยูเครนใช้อาวุธซึ่งเป็นอาวุธที่ผลิตในอเมริกาเพื่อต่อต้านสหพันธรัฐรัสเซีย นี่เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของสถานการณ์ใหม่ทั่วประเทศของเรา และทำให้จำเป็นต้องปรับปรุงแนวคิดนี้” 

โดยเมื่อวันอาทิตย์ที่ 17 พฤศจิกายน ค.ศ.2024 สื่ออเมริกันรายงานว่าประธานาธิบดีโจ ไบเดนของสหรัฐฯ “อนุญาต” ให้ยูเครนยิงขีปนาวุธ ATACMS ของอเมริกาลึกเข้าไปในดินแดนรัสเซีย ซึ่งต่อมานายไบรอัน นิโคลส์ (Brian Nichols) ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ฝ่ายกิจการซีกโลกตะวันตก ได้ออกมายืนยันข้อมูลนี้ เมื่อวันอังคารที่ 19 พฤศจิกายน ค.ศ.2024 กระทรวงกลาโหมรัสเซียรายงานว่ากองทัพยูเครนทำการโจมตีด้วยขีปนาวุธ ATACMS จำนวน 6 ลูกต่อสถานที่ทางทหารแห่งหนึ่งในภูมิภาคเบรียนสค์ ซึ่งห้าลูกถูกยิงตก หนึ่งลูกได้รับความเสียหายจากทีมต่อสู้ของระบบป้องกันภัยทางอากาศ S-400 และระบบขีปนาวุธป้องกันภัยทางอากาศแพนซีร์ จากเหตุการณ์เหล่านี้ส่งผลให้นายดมิทรี เปซคอฟ (Dmitry Peskov) โฆษกเครมลินเรียกร้องให้ประธานาธิบดีแห่งสหพันธรัฐรัสเซียลงนามในหลักคำสอนด้านนิวเคลียร์ที่ได้รับการปรับปรุงซึ่งเป็น "เอกสารที่สำคัญอย่างยิ่ง" ในเวลาที่เหมาะสม เขากล่าวว่าการป้องปรามด้วยอาวุธนิวเคลียร์มีจุดมุ่งหมาย “เพื่อให้แน่ใจว่าผู้ที่อาจเป็นปฏิปักษ์จะเข้าใจถึงการตอบโต้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในกรณีที่มีการรุกรานสหพันธรัฐรัสเซียและ/หรือพันธมิตรของรัสเซีย”

ซึ่งโดยพื้นฐานแล้วหลักคำสอนด้านนิวเคลียร์ของรัสเซียที่ได้รับการปรับปรุงนี้ยังคงเหมือนเดิม ซึ่งเกี่ยวข้องกับพื้นฐานของรัฐของสหพันธรัฐรัสเซียในด้านการป้องปรามด้วยนิวเคลียร์แทบจะไม่เปลี่ยนแปลงเมื่อเทียบกับกฤษฎีกาปี ค.ศ.2020 โดยรัสเซีย “ถือว่าอาวุธนิวเคลียร์เป็นวิธีการป้องปราม การใช้อาวุธดังกล่าวเป็นมาตรการที่รุนแรงและบังคับ และกำลังใช้ความพยายามที่จำเป็นทั้งหมดเพื่อลดภัยคุกคามทางนิวเคลียร์และป้องกันความรุนแรงของความสัมพันธ์ระหว่างรัฐที่อาจกระตุ้นให้เกิดความรุนแรง ความขัดแย้งทางการทหาร รวมถึงความขัดแย้งทางนิวเคลียร์ด้วย” ในปีค.ศ. 2020 ทางการรัสเซียพิจารณาอาวุธนิวเคลียร์ “เป็นเพียงวิธีการป้องปรามเท่านั้น” เช่นเดียวกับในปีค.ศ. 2020 “การรับประกันการป้องปรามศัตรูที่อาจเกิดขึ้นจากการรุกรานรัสเซียและ (หรือ) พันธมิตร” ถือเป็น “หนึ่งในลำดับความสำคัญสูงสุดของรัฐบาล” จะต้องได้รับการรับรองโดย “กำลังทหารทั้งหมดของสหพันธรัฐรัสเซียรวมถึงอาวุธนิวเคลียร์” ในเวลาเดียวกัน ทั้งเอกสารเก่าและเอกสารใหม่กล่าวว่า "นโยบายของรัฐในด้านการป้องปรามด้วยนิวเคลียร์มีลักษณะเป็นการป้องกัน" 

ก่อนหน้าที่ผมจะกล่าวถึงหลักคำสอนด้านนิวเคลียร์ของรัสเซียฉบับใหม่ผมขอเล่าถึงความเป็นมาของหลักคำสอนด้านนิวเคลียร์ของรัสเซียว่าตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร โดยตั้งแต่สมัยสหภาพโซเวียตรัสเซียมีหลักคำสอนด้านนิวเคลียร์มาแล้ว 5 ฉบับด้วยกัน โดยในสมัยสหภาพโซเวียตไม่มีหลักคำสอนด้านนิวเคลียร์สาธารณะ ยกเว้นเอกสาร "เกี่ยวกับหลักคำสอนทางทหารของรัฐในสนธิสัญญาวอร์ซอ" ที่นำมาใช้ในปี ค.ศ. 1987 ซึ่งรับรองว่าพวกเขา "จะไม่ใช่คนแรกที่ใช้อาวุธนิวเคลียร์" ผมขอเรียกเอกสารฉบับนี้ว่าหลักคำสอนด้านนิวเคลียร์ของรัสเซียฉบับที่ 1  

ต่อมาเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน ค.ศ.1993 ประธานาธิบดีบอริส เยลต์ซินได้ลงนามในกฤษฎีกา "ในบทบัญญัติหลักของหลักคำสอนทางทหารของสหพันธรัฐรัสเซีย" แต่ไม่มีการเผยแพร่เนื้อหาของบทบัญญัติดังกล่าว ถือว่าเอกสารฉบับนี้เป็นฉบับที่ 2  

ถัดมาเมื่อวันที่ 21 เมษายน ค.ศ.2000 ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ได้อนุมัติหลักคำสอนทางทหารสาธารณะฉบับแรกของสหพันธรัฐรัสเซีย โดยระบุว่ารัสเซียขอสงวนสิทธิ์ในการใช้การโจมตีด้วยนิวเคลียร์เพื่อตอบโต้การใช้อาวุธทำลายล้างสูงต่อรัสเซียและ/หรือพันธมิตร เช่นเดียวกับ “เพื่อตอบสนองต่อการโจมตีขนาดใหญ่โดยใช้อาวุธธรรมดาในสถานการณ์ที่วิกฤตต่อความมั่นคงของชาติ ” ในปีเดียวกันนั้นมีการนำ "นโยบายพื้นฐานของรัฐในด้านการป้องปรามนิวเคลียร์" ซึ่งมีผลบังคับใช้จนถึงปี ค.ศ.2010 ฉบับนี้ผมให้เป็นฉบับที่ 3 

ต่อมาเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2010 ประธานาธิบดีดมิทรี เมดเวเดฟ อนุมัติหลักคำสอนทางทหารใหม่ของสหพันธรัฐรัสเซีย ซึ่งรวมถึงประโยคเกี่ยวกับความเป็นไปได้ของการใช้อาวุธนิวเคลียร์เพื่อตอบสนองต่อ "การรุกรานต่อสหพันธรัฐรัสเซียโดยใช้อาวุธธรรมดา เมื่อรัฐดำรงอยู่จริงตกอยู่ในความเสี่ยง” ฉบับนี้เป็นฉบับที่ 4 ต่อมาประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูตินได้ปรับปรุงหลักคำสอนทางทหารในปี ค.ศ. 2014 แต่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงหลักการเกี่ยวกับการใช้อาวุธนิวเคลียร์
.
เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2020 ประธานาธิบดีดวลาดิมีร์ ปูตินได้ลงนามในกฤษฎีกา “เกี่ยวกับพื้นฐานของนโยบายของรัฐในด้านการป้องปรามด้วยนิวเคลียร์” เอกสารระบุเหตุผลอีกสองประการที่ทำให้รัสเซียใช้กองกำลังนิวเคลียร์ทางยุทธศาสตร์ ได้แก่ การโจมตีด้วยขีปนาวุธและผลกระทบต่อสิ่งอำนวยความสะดวกที่ 'สำคัญอย่างยิ่ง' ซึ่ง "จะนำไปสู่การหยุดชะงักในการดำเนินการตอบโต้ของกองกำลังนิวเคลียร์" ซึ่งผมถือว่าเป็นฉบับที่ 5 

เอกสารหลักคำสอนด้านนิวเคลียร์ฉบับใหม่ที่ประธานาธิบดีดวลาดิมีร์ ปูตินเพิ่งลงนามไปเมื่อวันอังคารที่ 19 พฤศจิกายน ค.ศ.2024 มีทั้งหมดด้วยกันทั้งสิ้น 4 หมวด 26 มาตรา สรุปถึงเงื่อนไขการใช้อาวุธนิวเคลียร์ ภัยคุกคามที่ถือว่าร้ายแรงเพียงพอสำหรับการใช้งาน ลำดับการเปิดใช้งานแผนการใช้อาวุธนิวเคลียร์ ผู้มีอำนาจตัดสินใจ การดำเนินการเพื่อรักษากองกำลังนิวเคลียร์ให้พร้อมในการรบ และนโยบายสำหรับ 'การป้องปรามด้วยนิวเคลียร์'—แผนสำหรับป้องกันการโจมตีด้วยนิวเคลียร์โดยรับรองว่า “การรุกรานทางนิวเคลียร์ใดๆ จะส่งผลให้เกิดการตอบโต้อย่างร้ายแรง” ทั้งนี้ผมขอสรุปประเด็นต่าง ๆ ให้เข้าใจง่าย ๆ ดังนี้

เงื่อนไขการใช้อาวุธนิวเคลียร์

ในหลักคำสอนด้านนิวเคลียร์ครั้งก่อนหลักคำสอนระบุว่าการใช้อาวุธนิวเคลียร์จะถูกกระตุ้นโดยการรุกรานที่คุกคามการดำรงอยู่ของรัฐ อย่างไรก็ตาม เวอร์ชันอัปเดตให้ความชัดเจนมากขึ้น โดยระบุว่ารัสเซียอาจใช้อาวุธนิวเคลียร์เพื่อตอบโต้การรุกรานที่คุกคามอธิปไตยของรัสเซียและ/หรือบูรณภาพแห่งดินแดนโดยตรง

หลักคำสอนที่ได้รับการปรับปรุงได้กำหนดเงื่อนไขที่ชัดเจนสำหรับการใช้อาวุธนิวเคลียร์ รวมถึงสถานการณ์ที่การรุกรานจากประเทศที่ไม่ใช่นิวเคลียร์ได้รับการสนับสนุนจากรัฐนิวเคลียร์ นี่จะถือเป็นการโจมตีร่วมกัน และแม้แต่อาวุธทั่วไปที่เป็นภัยคุกคามร้ายแรงต่ออธิปไตยของรัสเซียก็อาจกระตุ้นให้เกิดการตอบสนองทางนิวเคลียร์จากรัสเซียเช่นกัน

โดยรัสเซียได้เน้นไปที่เบลารุสพันธมิตรของตนเป็นพิเศษ ซึ่งการรุกรานใด ๆ ต่อเบลารุสก็ถือเป็นการโจมตีรัสเซีย ซึ่งก็จะถูกตอบโต้ด้วยอาวุธนิวเคลียร์ด้วย

เอกสารดังกล่าวยังเน้นย้ำถึงภัยคุกคามทางทหารต่อรัสเซียที่อาจเกิดขึ้น เช่น ระบบต่อต้านขีปนาวุธ การสะสมกำลังทหารใกล้ชายแดนรัสเซีย และอาวุธนิวเคลียร์ที่ประจำการอยู่ในรัฐที่ไม่ใช่นิวเคลียร์

ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่มีการกำหนดคำว่า ‘ศัตรูที่มีศักยภาพ’ ซึ่งครอบคลุมรัฐหรือพันธมิตรทางทหารที่มองว่ารัสเซียเป็นภัยคุกคามและมีอำนาจทางทหารที่สำคัญ 

การป้องปรามด้วยอาวุธนิวเคลียร์

รัสเซียดำเนินมาตรการต่างๆ อย่างต่อเนื่องโดยมีเป้าหมายเพื่อป้องกัน ‘รัฐที่ไม่เป็นมิตร’ และพันธมิตรทางทหารจากการโจมตีและการกระทำที่ไม่เป็นมิตรในช่วงเวลาสงบ ระดับภัยคุกคามที่เพิ่มสูงขึ้น และในช่วงสงคราม ขึ้นอยู่กับศักยภาพในการใช้อาวุธนิวเคลียร์

การป้องปรามรวมถึงการจัดตั้งและรักษากองกำลังนิวเคลียร์ที่ทันสมัยซึ่งสามารถส่ง “ความเสียหายที่รับประกันว่าไม่อาจยอมรับได้” ให้กับฝ่ายตรงข้าม ควบคู่ไปกับการทำให้แน่ใจว่าพวกเขาทั้งหมดไม่มีข้อสงสัยเกี่ยวกับความพร้อมของมอสโก และตัดสินใจที่จะมีส่วนร่วมกับพวกเขาหากจำเป็น

หากผู้รุกรานโจมตีรัสเซียหรือพันธมิตร พวกเขาจะต้องเตรียมพร้อมสำหรับการตอบโต้ ตามหลักคำสอนดังกล่าว

การป้องปรามด้วยนิวเคลียร์มุ่งเป้าไปที่รัฐและพันธมิตรทางทหารที่มองว่ารัสเซียเป็นภัยคุกคาม รวมถึงการจัดหาทรัพยากรหรือดินแดนสำหรับการรุกราน

การรุกรานโดยรัฐที่ไม่ใช่นิวเคลียร์ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐนิวเคลียร์จะถือเป็นการโจมตีร่วมกัน ในขณะที่การรุกรานของกลุ่มพันธมิตรทางทหารใดๆ จะถูกมองว่าเป็นการกระทำร่วมกันของกลุ่มนี้ 

ภัยคุกคาม

รายการภัยคุกคามทางทหารที่รัสเซียจะตอบโต้ด้วยการป้องปรามด้วยอาวุธนิวเคลียร์ประกอบด้วยอันตรายหลัก 10 ประการ ซึ่งเพิ่มขึ้นจาเอกสารฉบับปีค.ศ.2020 ที่มี 6 ประการ โดยที่น่าสังเกตมากที่สุดคือการมีอยู่ของศัตรูที่อาจติดตั้งอาวุธนิวเคลียร์หรืออาวุธทำลายล้างสูงอื่นๆ

นอกจากนี้ยังรวมถึงการติดตั้งระบบขั้นสูง เช่น การป้องกันขีปนาวุธร่อนระยะกลางและระยะสั้น (medium- and short-range cruise missile) ขีปนาวุธนำวิถี ระยะกลางและระยะสั้น (medium- and short-range ballistic missiles) อาวุธที่ไม่ใช่นิวเคลียร์ที่มีความแม่นยำสูง (high-precision non-nuclear) และอาวุธความเร็วเหนือเสียง (hypersonic weapon) และการโจมตีด้วยโดรน

การสะสมกำลังของต่างชาติ รวมถึงวิธีการจัดส่งนิวเคลียร์หรือโครงสร้างพื้นฐานทางทหารที่เกี่ยวข้อง ใกล้กับชายแดนรัสเซียก็ถูกกำหนดให้เป็นภัยคุกคามที่สำคัญเช่นกัน

นอกจากนี้ การติดตั้งระบบป้องกันขีปนาวุธ, ระบบต่อต้านดาวเทียม, และอาวุธนิวเคลียร์ในดินแดนของรัฐที่ไม่ใช่นิวเคลียร์ถูกมองว่าเป็นอันตราย

รวมไปถึงการขยายพันธมิตรทางทหารและแนวทางโครงสร้างพื้นฐานไปยังชายแดนรัสเซียถือเป็นภัยคุกคามที่ชัดเจน ควบคู่ไปกับภัยคุกคามที่อาจเกิดขึ้น เช่น การแยกดินแดน การทำลายสิ่งอำนวยความสะดวกที่เป็นอันตราย การซ้อมรบขนาดใหญ่ใกล้ชายแดน และการแพร่กระจายของอาวุธทำลายล้างสูงอย่างไม่มีการตรวจสอบ

การตัดสินใจใช้อาวุธนิวเคลียร์

การตัดสินใจในการใช้อาวุธนิวเคลียร์ของรัสเซียนั้นสามารถพิจารณาได้จากเงื่อนไขหลายประการ รวมถึงการยิงขีปนาวุธใส่รัสเซียหรือพันธมิตร การใช้อาวุธทำลายล้างสูงต่อรัสเซียหรือดินแดนพันธมิตร และการโจมตีสิ่งอำนวยความสะดวกที่สำคัญของรัฐหรือทางทหาร ที่จะขัดขวางการตอบสนองทางนิวเคลียร์ 

นอกจากนี้ยังรวมถึงการรุกรานตามแบบแผนที่คุกคามอธิปไตยต่อรัสเซียหรือเบลารุส เช่นเดียวกับการโจมตีด้วยเครื่องบินขนาดใหญ่และขีปนาวุธข้ามพรมแดนรัสเซีย ถือเป็นเกณฑ์หนึ่งในการเปิดใช้งานการตอบสนองทางนิวเคลียร์

ประธานาธิบดีรัสเซียเป็นผู้ทำการตัดสินใจขั้นสุดท้ายเกี่ยวกับการใช้นิวเคลียร์ นอกจากนี้เขายังอาจแจ้งให้ประเทศอื่นๆ หรือหน่วยงานระหว่างประเทศทราบเกี่ยวกับความพร้อมหรือการใช้อาวุธนิวเคลียร์ที่เกิดขึ้นจริง

เซอร์เกย์ มาร์คอฟ (Sergey Markov) อดีตที่ปรึกษาของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินกล่าวว่าหลักคำสอนด้านนิวเคลียร์ของรัสเซียฉบับใหม่นี้ “ทำให้เงื่อนไขการใช้นิวเคลียร์ของรัสเซียเท่าเทียมกันกับสหรัฐฯ” เนื่องจากเกณฑ์การใช้อาวุธนิวเคลียร์ในประเทศตะวันตกต่ำกว่าในรัสเซีย โดยหลักคำสอนด้านนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ อนุญาตให้ใช้อาวุธนิวเคลียร์เพื่อปกป้องพันธมิตรของตน ซึ่งจนถึงขณะนี้รัสเซียยังไม่ได้พิจารณาการใช้อาวุธนิวเคลียร์เพื่อปกป้องพันธมิตรของตน โดยประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินได้ประกาศการเปลี่ยนแปลงหลักคำสอนด้านนิวเคลียร์ครั้งแรกในการปราศรัยของเขาเมื่อวันที่ 25 กันยายน ค.ศ. 2024 ในการประชุมป้องปรามด้วยนิวเคลียร์โดยอ้างถึง “ภูมิทัศน์ทางการทหารและการเมืองที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว” 

ซึ่งนายเซอร์เกร์ ลาฟรอฟ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศรัสเซียออกมาแสดงความเห็นว่าชาติตะวันตกจะศึกษาหลักคำสอนทางนิวเคลียร์ที่ได้รับการปรับปรุงใหม่ของรัสเซียอย่างรอบคอบ ในขณะที่นายดมิมิทรี เมดเวเดฟ รองประธานสภาความมั่นคงรัสเซียได้ออกมาเตือนว่าชาติตะวันตกจะรับฟังสัญญาณจากมอสโกอย่างจริงจังและได้โพสต์ลงในช่อง Telegram ของเขาเกี่ยวกับความเชื่อมโยงระหว่างการตัดสินใจโจมตีขีปนาวุธของชาติตะวันตกที่ลึกเข้าไปในรัสเซียกับหลักคำสอนด้านนิวเคลียร์ฉบับใหม่ “การใช้ขีปนาวุธพันธมิตร (NATO) ในลักษณะนี้สามารถเข้าข่ายเป็นการโจมตีโดยกลุ่มประเทศในรัสเซียได้แล้ว ในกรณีนี้ มีสิทธิ์ที่จะโจมตีกลับด้วยอาวุธทำลายล้างสูงต่อเคียฟและฐานปฏิบัติการหลักของ NATO ไม่ว่าพวกเขาจะอยู่ที่ใดก็ตาม และนี่คือสงครามโลกครั้งที่สามแล้ว

ซึ่งเราต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิดว่าหลักคำสอนด้านนิวเคลียร์ของรัสเซียฉบับใหม่นี้จะทำให้ฉากทัศน์สงครามระหว่างรัสเซียยูเครนจบลงหรือขยายความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับพันธมิตรนาโตต่อไปในอนาคต

เลือกตั้ง ‘ประธานาธิบดี’ ทำสถานการณ์โลกเปลี่ยนไป เมื่ออเมริกาเปลี่ยนมือ กระทบ!! นโยบาย ‘เมียนมา’ ที่ ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ อาจเดินหน้า สานสัมพันธ์

เมื่อไม่นานมานี้ ยูเครนได้ทำการโจมตีที่มั่นทางการทหารในรัสเซียตามที่อเมริกาส่งสัญญาณใช้อาวุธที่ทางนาโต้มอบให้จู่โจมรัสเซีย ในขณะที่ประธานาธิบดีปูตินได้เคยประกาศกร้าวแล้วว่าใครทำแบบนี้จะถือว่าเป็นศัตรูกับรัสเซียและรัสเซียจะตอบโต้กลับอย่างไม่ปรานี

นี่เป็นคำสั่งท้าย ๆ ของประธานาธิบดี โจ ไบเดนก่อนที่เขาจะหมดวาระในวันที่ 20 มกราคม 2568 นี้  ซึ่งนักวิเคราะห์หลายคนกล่าวว่าการที่โจเลือกที่จะสั่งให้ยูเครนทำแบบนี้ก็เพราะต้องการสร้างความยากลำบากให้แก่โดนัลด์ ทรัมป์

แต่ยูเครนไม่ใช่สงครามเดียวที่อเมริกาชักใยอยู่เบื้องหลัง เพราะยังมีสมรภูมิอื่นที่ยังเดือดอยู่เช่นกัน แต่ 1 ในสมรภูมิเหล่านั้นคือสมรภูมิในเมียนมา

เป็นที่แน่ชัดเสียยิ่งกว่าชัดจากการที่อเมริกาเข้ามาแทรกแซงโดยให้การสนับสนุนทั้งเงินทุน อาวุธรวมถึงการฝึกทางยุทธวิธีให้แก่กองกำลังชาติพันธุ์ที่อยู่บริเวณชายแดนไทยและใช้ไทยเป็นที่มั่นในการนำเงินเข้ามาผ่านตัวแทนนายหน้ากลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยในไทย รวมถึงผ่านองค์กร NGO ต่างๆ รวมทั้งองค์กรที่มีการโฆษณาเปิดเผยว่าฝึกกองกำลังชาติพันธุ์ไว้ต่อต้านกองทัพรัฐบาลกลางของเมียนมาอย่าง Free Burma Ranger เป็นต้น นี่ยังไม่นับรวมพวกท่านทูตหัวทองที่ผลัดกันมาเยี่ยมเยียนเมืองชายแดนไทยติดเมียนมากันอย่างมิได้ขาดสายจนคนย่านนั้นเขารู้กันไปทั่ว

ประเด็นคือโจ ไบเดนจะปั่นให้ฝั่งเมียนมาลุกเป็นไฟอีกไหม เพราะดูจากนโยบายที่ทรัมป์ออกมาน่าจะส่งผลดีต่อเมียนมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ผ่านมาเม็ดเงินที่อเมริกาในยุคของโจ ไบเดน หยอดเข้ามาให้ทำสงครามก็ไม่สามารถพิชิตกองทัพเมียนมาได้อย่างเด็ดขาด จนบางทีไบเดนอาจจะไม่รู้ว่า กองกำลังชาติพันธุ์ในพม่าทำสงครามเป็นธุรกิจเช่นเดียวกัน

หากสถานการณ์ในเมียนมาสงบไปจนถึงวันที่ทรัมป์รับตำแหน่งมีความเป็นไปได้ว่าทรัมป์จะพยายามกลับมารักษาความสัมพันธ์ทางการทูตกับเมียนมาเพื่อเป็นการสกัดกั้นการขยายอำนาจของจีนมาสู่อ่าวเบงกอลมากกว่าเลือกที่จะสนับสนุนสงครามตัวแทนที่เห็นผลอยู่แล้วว่าไม่มีผลดีต่อสหรัฐเลยไม่ว่าด้านใด

เช่นเดียวกันหากปราศจากการอัดฉีดจากอเมริกาอำนาจของพรรคการเมืองในไทยบางพรรคที่ใช้ทุนจากตะวันตก หรือเหล่านายหน้าต่างด้าวที่เคยเป็นนายหน้าตัวกลางไซฟ่อนเงินก็อาจจะตกที่นั่งลำบากเช่นเดียวกัน

ยิ่งคนไทยตื่นรู้จักภัยคุกคามจากคนต่างด้าวกลุ่มนี้แล้วด้วย เราก็จะได้เห็นการแฉออกมาเพิ่มขึ้น แต่สุดท้ายก็ขึ้นกับฝ่ายการเมืองและกองทัพที่จะรักษาเสถียรภาพคนไทยอย่างไร

ซีอีโอ Xiaomi ชี้!! ใช้เวลาแค่ 230 วัน ขายรถไฟฟ้าได้ 1 แสนคัน ขิงใส่!! ‘Tesla’ ใช้เวลานานกว่า ‘7 ปีครึ่ง’ กว่าจะมาถึงจุดนี้

(24 พ.ย. 67) เล่ย จุน (Lei Jun) ซีอีโอของ Xiaomi กล่าวว่า เทสลา (Tesla) ใช้เวลาถึงเจ็ดปีครึ่งในการขายได้ถึง 100,000 คัน แต่ Xiaomi ใช้เวลาเพียงแค่ 230 วันเท่านั้น และเรียกความสำเร็จของบริษัทว่าเป็น ‘ปาฏิหาริย์ที่ไม่มีใครเคยพบเห็นมาก่อน’ ในประวัติศาสตร์อุตสาหกรรมยานยนต์

‘เสียวหมี่’ (Xiaomi ) ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนสัญชาติจีน รายงานผลประกอบการไตรมาสที่ 3 ปี 2567 มีกำไรสุทธิ 5.3 พันล้านหยวน หรือราว 2.5 หมื่นล้านบาทเพิ่มขึ้น 10% จากปีก่อน โดยธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้าของบริษัทเติบโตอย่างแข็งแกร่ง โดยผลิตรถยนต์ไฟฟ้าครบ 100,000 คันเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน เพียงไม่กี่เดือนหลังจากเปิดตัวครั้งแรกในเดือนมีนาคม

คนเขียน ‘พ่อรวยสอนลูก’ ติดหนี้เกือบ 4 หมื่นล้านบาท ถูกฟ้องให้!! ล้มละลาย โกงผู้ร่วมธุรกิจ หลอกลวงนักเรียน

(24 พ.ย. 67) จุดเริ่มต้นของเรื่องราวนี้ เกิดขึ้นเมื่อบริษัท Learning Annex ซึ่งเป็นบริษัทพาร์ทเนอร์แรก ๆ ของเขาที่ช่วยทำการตลาดให้กับหนังสือ ‘พ่อรวย สอนลูก’ ยื่นฟ้องต่อบริษัท Rich Global LLC หลายสิบล้านดอลลาร์ หลังไม่แบ่งเปอร์เซนต์กำไรจากการขายหนังสือตามที่เคยตกลงไว้ก่อนหน้านี้ และเมื่อศาลบังคับให้บริษัทต้องจ่าย เขากลับเลือกยื่นล้มละลายแทน โดยให้เหตุผลว่า บริษัท Rich Global LLC มีทรัพย์สินเพียงไม่กี่ล้านดอลลาร์เท่านั้น 

ทั้งนี้ หลายฝ่ายมองว่า คิโยซากิได้ดำเนินการยักย้าย ถ่ายเททรัพย์สินของบริษัท กระจายไปยังบริษัทอื่น ๆ ในเครือของเขา จนทำให้บริษัทที่เป็นคู่พิพาทกับ Learning Annex เหลือทรัพย์สินเพียงไม่กี่ดอลลาร์ เพราะการฟ้องครั้งนี้ ยื่นฟ้องต่อบริษัท ไม่ใช่บุคคล จึงทำให้การล้มละลายเกิดขึ้นกับบริษัทเท่านั้น ไม่ใช่ตัวคิโยซากิ 

ขณะเดียวกัน ก็มีเสียงวิจารณ์ว่า สัมมนาสอนการลงทุนของเขา ค่อนข้างเข้าข่ายหลอกลวง โดยเริ่มต้นให้ลงเรียนแบบฟรี ก่อนจะโน้มน้าวให้นักเรียนเริ่มลงเรียนในวิชาที่แพงขึ้นเรื่อย ๆ ตั้งแต่ 500 ดอลลาร์ ไปจนถึง 45,000 ดอลลาร์ แต่ประเด็นนี้ ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้อย่างชัดเจนว่า สิ่งนี้ เป็นการหลอกลวงจริงหรือไม่ 

นอกจากนี้ คิโยซากิ ออกมาเปิดเผยว่า ตนเองมีหนี้ราว 1.2 พันล้านดอลลาร์ โดยส่วนใหญ่หนี้ของเขาจะใช้ไปกับการซื้ออสังหาริมทรัพย์ และสินทรัพย์ ซึ่งเขามีความเชื่อว่า การออมเงินสดมีความเสี่ยง หลังประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน ประกาศระงับการแปลงค่าเงินดอลลาร์เป็นทองคำ หรือสินทรัพย์สำรองอื่น ๆ ตั้งแต่ปี 1971 เขาใช้หนี้เป็นเหมือนเงินสด และเลือกที่จะออมเป็นเงินและทองแทน ซึ่งแนวคิดนี้ ทำให้เขามีหนี้สินสะสมทั้งหมด 1.2 พันล้านดอลลาร์ หรือราว 3.99 หมื่นล้านบาท 

‘ถ้าผมล้มละลาย ธนาคารก็จะล้มละลายไปด้วย นั่นไม่ใช่ปัญหาของผม’ คิโยซากิ กล่าว 

‘คิโยซากิ’ นับได้ว่า ยังเป็นนักธุรกิจที่หลายคนมองเขาเป็นคนต้นแบบ และดำเนินตามแนวคิดของเขา แต่สุดท้าย เรื่องการเงิน การลงทุน เป็นเรื่องที่ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล ซึ่งจำเป็นต้องศึกษาหาความรู้หลายด้าน ก่อนตัดสินใจทุ่มเงินลงไปที่ไหน เพื่อจะได้ไม่เผชิญกับความเสี่ยงในระดับที่เราอาจรับมือไม่ไหว หากเชื่อฟังใครมากเกินไป

ทำความรู้จัก Oreshnik มิสไซล์เร็วเหนือเสียงรุ่นใหม่ ปูตินตอบโต้ส่งทะลวงยูเครน 5,500 กม.

(25 พ.ย.67) หลังจากที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน อนุมัติให้ยูเครนใช้อาวุธจรวดนำวิถี ATACMS โจมตีเป้าหมายในรัสเซีย ล่าสุด รัสเซียได้ตอบโต้ทันทีด้วยการอนุมัติการใช้ขีปนาวุธนำวิถีความเร็วเหนือเสียงรุ่นใหม่ 'Oreshnik' ซึ่งมีพิสัยยิงไกลถึง 5,000 กิโลเมตร โดยประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ยืนยันว่าขีปนาวุธดังกล่าวไม่ได้ติดหัวรบนิวเคลียร์  

พาเวล อัคเซนอฟ ผู้เชี่ยวชาญด้านการทหารจาก BBC เปิดเผยว่า ขีปนาวุธ Oreshnik ยังไม่มีข้อมูลในสารบบของนาโต้ โดคาดว่าเป็นอาวุธรุ่นใหม่ที่รัสเซียพัฒนาสำเร็จ ขีปนาวุธนี้สามารถมองเห็นได้ชัดเจนระหว่างการบินผ่านเปลวไฟจากเครื่องยนต์ ซึ่งตรวจจับได้ด้วยดาวเทียมและเครื่องบินลาดตระเวน  

จากคำกล่าวของปูติน เขาระบุว่า "หัวรบที่มีความเร็วเหนือเสียงที่ไม่ใช่แบบนิวเคลียร์" และหัวรบของมัน "โจมตีเป้าหมายด้วยความเร็ว 10 มัค ซึ่งอยู่ระหว่าง 2.5-3 กม./วินาที"

ขณะที่ข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญด้านทหารระบุว่า ขีปนาวุธนี้ติดตั้งหัวรบที่โจมตีด้วยความเร็วสูงถึง 10 มัค หรือ 2.5-3 กม./วินาที ซึ่งทำให้ยากต่อการสกัดกั้น อีกทั้งยังสามารถบรรทุกหัวรบแบบหลายหัวเพื่อโจมตีเป้าหมายได้พร้อมกัน ครอบคลุมพื้นที่ในยุโรปเกือบทั้งหมดและบางส่วนของฝั่งตะวันตกของสหรัฐ  

บีบีซียังเผยว่า มีความเป็นไปได้มากว่า Oreshnik ที่ปูตินกล่าวถึงนั้น ได้รับการพัฒนาโดยสถาบันเทคโนโลยีความร้อนแห่งกรุงมอสโก (MIT) หรือไม่ก็ ศูนย์ขีปนาวุธเมเคเยฟ  เนื่องจากศูนย์ทั้งสามแห่งนี้มีศักยภาพในการพัฒนาขีปนาวุธพิสัยกลาง-ไกล

สำหรับศูนย์ขีปนาวุธเมเคเยฟ  จะมุ่งเน้นไปที่ขีปนาวุธเชื้อเพลิงเหลวซึ่งยิงจากไซโล มีน้ำหนักมากและมีพิสัยการยิงที่ไกลมาก ตัวอย่างเช่น พิสัยของขีปนาวุธซาร์มัตอ้างว่าสามารถไปได้ไกลถึง 18,000 กม. ส่วน

ขณะที่ศูนย์สถาบันเทคโนโลยีความร้อนแห่งกรุงมอสโก ความเชี่ยวชาญในการสร้างขีปนาวุธขนาดเล็กพร้อมเครื่องยนต์เชื้อเพลิงแข็งที่ปล่อยจากฐานยิงเคลื่อนที่ โดยเฉพาะขีปนาวุธเหล่านี้มีน้ำหนักเบากว่า มีหัวรบที่เล็กกว่า และมีพิสัยการบินได้ที่สั้นกว่า ตัวอย่างเช่น ขีปนาวุธยาร์ส (Yars) มีพิสัยการบินได้ 12,000 กม.

การเคลื่อนไหวดังกล่าวสะท้อนถึงความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นในสงครามยูเครน-รัสเซีย ขณะที่ทั้งสองฝ่ายเดินหน้าพัฒนาอาวุธล้ำสมัยเพื่อตอบโต้กันในสมรภูมิระหว่างประเทศ

ส่องคลังแสงปราการป้องมอสโก เทคโนโลยียุคโซเวียต ระบบป้องกันขีปนาวุธที่ปูตินสั่งเตรียมพร้อมสูงสุด

(25 พ.ย.67) ดูเหมือนสถานการณ์ความรุนแรงในยูเครนจะคุกรุ่นมากขึ้น จากการที่เมื่อสัปดาห์ที่แล้วประธานาธิบดีโจ ไบเดน ทิ้งทวนคำสั่งก่อนหมดวาระการดำรงตำแหน่งด้วยการมอบขีปนาวุธแบบ ATACMS  ซึ่งเป็นสุดยอดขีปนาวุธโจมตีพิสัยกลางให้แก่ยูเครน 

ส่งผลให้ล่าสุดประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ออกคำสั่งใช้ขีปนาวุธ Oreshnik ซึ่งมีคุณสมบัติเป็นขีปนาวุธเหนือเสียง เดินทางเร็วกว่าเสียง 10 เท่า พิสัยการยิง 5,000 กิโลเมตร ซึ่งสามารถโจมตียุโรปได้ทั้งหมด และรวมไปถึงบางส่วนของฝั่งตะวันตกของสหรัฐ โดยเป้าหมายแรกที่ปูตินสั่งให้ขีปนาวุธ Oreshnik คือเมือง Dnepropetrovsk ของยูเครนซึ่งเป็นเมืองที่ตั้งของ สถานประกอบการด้านการป้องกันยูเครน

คำสั่งโจมตีดังกล่าวของผู้นำมอสโก ทำให้กระทรวงกลาโหมรัสเซียต้องออกมาเปิดเผยถึงความพร้อมในการรับมือโจมตีระรอกใหม่ หากว่ายูเครนใช้อาวุธที่นาโต้มอบให้ โจมตีแผ่นดินรัสเซียด้วยการออกมาเปิดเผยระบบป้องกันขีปนาวุธที่รัสเซียเตรียมพร้อมรับมือ

พล.ท. Aytech Bizhev อดีตรองผู้บัญชาการระบบป้องกันภัยทางอากาศร่วมของ CIS กองทัพอากาศรัสเซีย กล่าวกับสำนักข่าว Sputnik โดยให้ความเห็นเกี่ยวกับวิธีการที่มอสโกว์มีไว้เพื่อรับมือกับภัยคุกคามจากขีปนาวุธของนาโต้ว่า รัสเซียมีระบบป้องกันขีปนาวุธหลายรูปแบบที่เตรียมพร้อมรับมือ อาทิ 

S-300V ซึ่งถูกนำมาใช้ตั้งแต่ปี 1988 เป็นการอัปเกรดระบบขีปนาวุธพื้นสู่อากาศระยะไกล S-300 ที่เปิดตัวครั้งแรกในปี 1978 มีระยะยิงต่อเป้าหมายขีปนาวุธ 30-40 กิโลเมตร S-400 ขีปนาวุธที่พัฒนาในช่วง1980-1990 เปิดตัวในปี 2007 สามารถตรวจจับเป้าหมายขีปนาวุธได้ไกลถึง 200 กิโลเมตร และทำลายได้ในระยะ 60 กิโลเมตร

S-500 ระบบขีปนาวุธพื้นสู่อากาศรุ่นล่าสุดของรัสเซีย เริ่มใช้งานในปี 2021 สามารถตรวจจับเป้าหมายได้ไกลถึง 600 กิโลเมตร และทำลายได้ในระยะ 200 กิโลเมตร นอกจากนั้นยังมี A-135 Amur และ A-235 Nudol ระบบสกัดกั้นขีปนาวุธแบบฐานยิง ถูกออกแบบมาเพื่อจัดการกับภัยคุกคามจากขีปนาวุธความเร็วสูงและอวกาศ ใช้งานตั้งแต่ปี 1995 และ 2019 ตามลำดับ มีระยะตรวจจับสูงสุด 6,000 กิโลเมตรด้วยเรดาร์ Don-2N และระยะยิงประมาณ 350-900 กิโลเมตร

อีกหนึ่งระบบคือ Tor ระบบขีปนาวุธระยะสั้น เริ่มใช้งานในปี 1986 ถูกออกแบบมาเพื่อจัดการกับเครื่องบิน เฮลิคอปเตอร์ ขีปนาวุธร่อน และโดรน รวมถึงขีปนาวุธระยะสั้น ระยะตรวจจับและติดตาม 25 กิโลเมตร ระยะยิงสูงสุด 16 กิโลเมตร

และสุดท้าย Buk ระบบขีปนาวุธระยะกลาง พัฒนาตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษ 1970 ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ถูกนำมาใช้ในกองทัพตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษ 1990 สามารถโจมตีขีปนาวุธยุทธวิธี ขีปนาวุธร่อน และขีปนาวุธต่อต้านเรือในระยะ 3-20 กิโลเมตร และที่ระดับความสูงสูงสุด 16 กิโลเมตร

Bizhev กล่าวว่า ระบบป้องกันภัยทางอากาศของรัสเซียล้ำหน้ากว่าวิธีการโจมตีที่มันถูกออกแบบมาป้องกันอยู่ประมาณ 5-10 ปี ขาเล่าถึงยุคปลายทศวรรษ 1980 ที่สหภาพโซเวียตเริ่มพัฒนาระบบป้องกันขีปนาวุธเป็นครั้งแรก ในขณะที่ NATO กำลังติดตั้งอาวุธขีปนาวุธยุคใหม่ที่มีความแม่นยำสูง ในยุคนั้น ภารกิจหลักของระบบป้องกันขีปนาวุธของโซเวียต (และรัสเซียหลังปี 1991) คือการป้องกันมอสโกและภูมิภาคอุตสาหกรรมตอนกลาง

'ลูกสาวดูเตร์เต' รองประธานาธิบดี ลั่นกลางวงประชุม ขู่สังหาร 'ประธานาธิบดีมาร์กอส' หากเธอถูกปลิดชีพ

(25 พ.ย.67) สองตระกูลการเมืองฟิลิปปินส์เดือดดาลเมื่อ ซารา ดูเตอร์เต บุตรสาวของอดีตผู้นำ โรดริโก ดูเตอร์เต กล่าวในการแถลงผ่านระบบออนไลน์ว่า เธอได้เตรียมการไว้แล้วสำหรับการลอบสังหารมาร์กอสจูเนียร์, ลิซา ภรรยาของเขา และ มาร์ติน โรมวลเดซ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องของมาร์กอส หากว่าตัวเธอถูกสังหาร

"ไม่ต้องกังวลเรื่องความปลอดภัยของฉัน เพราะฉันได้พูดคุยกับใครบางคนไว้แล้ว ฉันบอกเขาว่า หากฉันถูกฆ่า ก็ให้ไปฆ่า BBM, ลิซา อราเนตา และมาร์ติน โรมวลเดซ” เธอกล่าว โดยใช้ชื่อย่อของประธานาธิบดีที่รู้จักกันในชื่อ บองบอง หรือ BBM นอกจากนี้เธอยังกล่าวว่า “ฉันบอกเขาว่า อย่าหยุดจนกว่าคุณจะฆ่าพวกเขาได้ และเขาก็ได้ตอบตกลง”

นอกจากนั้น ในระหว่างการแถลงทางออนไลน์ รองปธน.ดูเตอร์เตยังได้วิจารณ์ประธานาธิบดีมาร์กอสจูเนียร์และย้ำคำพูดก่อนหน้านี้ที่ว่า นายมาร์กอสไม่รู้วิธีการเป็นประธานาธิบดี

เรื่องดังกล่าวส่งผลให้ ทำเนียบประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ ของฟิลิปปินส์ กล่าวถึงคำพูดของรองประธานาธิบดีว่า “ภัยคุกคามที่ชัดเจน” ต่อชีวิตของปธน.มาร์กอส ซึ่งสมควรต้องถูกดำเนินการอย่างเร่งด่วนและเหมาะสม ท่ามกลางความขัดแย้งที่ทวีความรุนแรงขึ้นระหว่างสองตระกูลการเมืองที่ทรงอิทธิพล

“ภัยคุกคามต่อชีวิตของประธานาธิบดีจะต้องได้รับการพิจารณาอย่างจริงจัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อภัยดังกล่าวถูกเปิดเผยต่อสาธารณะในลักษณะที่ชัดเจนและแน่นอน” ขณะเดียวกัน เลขาธิการบริหารได้ส่งเรื่องนี้ไปยังหน่วยบัญชาการรักษาความปลอดภัยของประธานาธิบดีแล้ว

วิวาทะดังกล่าวสะท้อนความขัดแย้งที่ดำเนินมายาวนานระหว่างตระกูลมาร์กอส และตระกูลดูเตร์เต แม้ทั้งสองจะร่วมรัฐบาลเดียวกัน ประเด็นขัดแย้งเริ่มมาจากการที่ในเดือนมิถุนายน เมื่อดูเตอร์เตลาออกจากตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีของมาร์กอส ขณะเดียวกัน พันธมิตรของมาร์กอสในรัฐสภาได้ตรวจสอบการทำงานของรองประธานาธิบดีในประเด็นการใช้จ่ายงบประมาณของสำนักงานอย่างไม่เหมาะสม ซึ่งด้านลูกสาวดูเตร์เตกล่าวว่า พันธมิตรของมาร์กอสพยายามสร้างคดีเพื่อถอดถอนเธอออกจากตำแหน่งรองประธานาธิบดี


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top