ความวุ่นวายในอัฟกานิสถานและการยึดประเทศของกลุ่มกองทัพตอลิบาน กลายเป็นข่าวใหญ่ที่ทั่วโลกกำลังจับตามองมากที่สุดในตอนนี้ และต่างตั้งคำถามว่าเพราะเหตุใดรัฐบาลอัฟกานิสถานถึงได้ล่มสลายอย่างรวดเร็วหลังสหรัฐอเมริกาได้ประกาศถอนทหารทั้งหมดภายในระยะเวลาแค่ 3 เดือน
หากถามความเห็นของทีมรัฐบาลอัฟกานิสถาน ก็ได้กล่าวโทษนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดี โจ ไบเดน ว่าตัดสินใจถอนทหารเร็วเกินไปจนขาดสเถียรภาพ ทำให้ฝ่ายตอลิบานได้โอกาสบุกยึดอย่างรวดเร็วเกินต้านทาน
แต่รัฐบาลสหรัฐฯ ก็ได้ออกแถลงการณ์ตอบโต้ว่า เป็นเพราะกองทัพของรัฐบาลอัฟกานิสถานไม่ยอมต่อสู้กับฝ่ายตอลิบานอย่างกล้าหาญเพื่อปกป้องประเทศ จนทำให้อัฟกานิสถานต้องมีวันนี้อีกครั้งหนึ่ง
ซึ่งหนีไม่พ้นความรับผิดชอบของประธานาธิบดี แอชราฟ กาห์นี ที่สละตำแหน่ง และหลบหนีออกนอกประเทศทันทีที่กองทัพตอลิบานบุกประชิดกรุงคาบูล และยังมีข่าวว่าได้ขนทรัพย์สินติดตัวไปเป็นจำนวนเกือบ 170 ล้านดอลลาร์ จนบางคนตราหน้าเขาว่าเป็นคนทรยศประเทศชาติ
ด้านประธานาธิบดี แอชราฟ กาห์นี ได้ออกมาให้สัมภาษณ์แล้วหลังจากที่เขาหลบหนีออกจากอัฟกานิสถานไปพักพิงชั่วคราวที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้แล้วอย่างปลอดภัยว่า เหตุผลที่เขาต้องออกนอกประเทศเพราะไม่ต้องการให้เกิดการนองเลือดในกรุงคาบูล ที่อาจทำให้อัฟกานิสถานมีชะตากรรมไม่ต่างจากซีเรีย หรือ เยเมน และก็เจ็บปวดเช่นกันที่ต้องหนีออกมา
และปฏิเสธอย่างหนักแน่นว่า ตัวเขาและครอบครัวไม่ได้ขนสมบัติมีค่าติดตัวอะไรมาเลย นอกจากเสื้อผ้าส่วนตัวไม่กี่ชิ้นเท่านั้น สามารถเช็กข้อมูลได้ที่เจ้าหน้าศุลกากรได้เลย
ส่วนกระแสที่พูดถึงในโซเชียลต่างประเทศ ก็แตกเป็น 2 ฝ่าย คือฝ่ายที่มองว่าอดีตประธานาธิบดีกาห์นีเป็นคนขลาดเขลาและทรยศที่ไม่ยืนหยัดปกป้องประชาชนของตนในวันกรุงแตก
แต่ฝ่ายที่เห็นใจผู้นำกาห์นีก็มีไม่น้อย และมองว่าท่านทำดีที่สุดแล้วในสถานการณ์เช่นนี้ และหากแอชราฟ กาห์นี ไม่เดินทางออกนอกประเทศในวันนั้น อาจมีชะตากรรมไม่ต่างจากอดีตประธานาธิบดีคนเก่าของอัฟกานิสถาน ในวันเสียกรุงคาบูลครั้งที่ 1 ให้กับกลุ่มตอลิบานในปี 1996 ก็เป็นได้
อดีตผู้นำอาภัพของอัฟกานิสถานที่มีการหยิบขึ้นมาพูดถึงก็คือ โมฮัมเหม็ด นาจิบูลลาห์ ผู้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีอัฟกานิสถานในช่วงปี 1986 - 1992
ประวัติส่วนตัวของอดีตผู้นำ โมฮัมเหม็ด นาจิบูลลาห์ มีเชื้อสายชาวปัชตุน หรือในปากีสถานเรียกกว่า 'ปาทาน' เกิดในการ์เดซ ทางภาคตะวันออกของอัฟกานิสถาน
ก่อนหน้าที่นาจิบูลลาห์จะเข้ามามีตำแหน่งทางการเมือง เขาเรียนจบด้านศัลยแพทย์ ที่มหาวิทยาลัยคาบูล ที่ต่อมาคนอัฟกันเรียกติดเขาติดปากว่า 'ด็อกเตอร์ นาจิบ' แต่พอจบมา กลับไม่เคยได้ใช้มีดผ่าตัดเลยสักครั้ง แต่มุ่งหน้าเข้าสู่เส้นทางการเมือง และเข้าร่วมกับพรรคประชาธิปไตยประชาชนอัฟกานิสถาน (PDPA) ที่มีแนวคิดตามอุดมการณ์สังคมนิยมมาร์กซิส และได้รับการสนับสนุนจากสหภาพโซเวียต
เบื้องหลังการเมืองในอัฟกานิสถานในยุคนั้นก็มีความร้อนแรงไม่แพ้ยุคปัจจุบันเลยทีเดียว เมื่อมีกระแสการเมืองกดดันให้โค่นอำนาจของ พระเจ้าโมฮัมหมัด ซาเฮียร์ ชาห์ กษัตริย์แห่งอัฟกานิสถาน เพื่อเปลี่ยนระบอบการปกครองให้เป็นสาธารณรัฐ
ต่อมาพรรค PDPA ก็ได้สนับสนุน โมฮัมเหม็ด ดาวูด ข่าน ที่เป็นหนึ่งในเชื้อพระวงศ์เช่นกันให้ยึดอำนาจของ พระเจ้า โมฮัมหมัด ซาเฮียร์ ชาห์ ในปี 1973 และได้สถาปนาเป็นสาธารณรัฐอัฟกานิสถานในปีนั้นเอง โดยได้ โมฮัมเหม็ด ดาวูด ข่าน เป็นประธานาธิบดีคนแรก
แม้จะเป็นการปฏิวัติที่ไม่เสียเลือดเนื้อ แต่การเมืองในอัฟกานิสถานก็ยังไม่สงบลงแม้แต่น้อย เพราะต่อมา ประธานาธิบดี โมฮัมเหม็ด ดาวูด ข่าน ก็เริ่มมีใจออกห่างสหภาพโซเวียต ไปเป็นพันธมิตรกับประเทศที่นิยมเสรีตะวันตกรวยน้ำมัน อย่าง ซาอุดีอาระเบีย และ อิหร่าน (ในสมัยที่ยังอยู่ภายใต้ระบอบราชาธิปไตย)
พรรค PDPA ก็ไม่อาจอยู่เฉยได้ จึงทำการปฏิวัติยึดอำนาจจากประธานาธิบดีดาวูด ข่าน ที่เรียกว่า การปฏิวัติเซาร์ ในปี 1978 ซึ่งครั้งนี้ไม่นุ่มนวลเหมือนครั้งที่ผ่านมา เกิดการปะทะกันระหว่าง 2 ฝ่ายอย่างรุนแรงจนมีผู้เสียชีวิตหลายพันคน รวมถึงตัวประธานาธิบดี โมฮัมเหม็ด ดาวูด ข่าน ก็ถูกสังหารโหดหลังการยึดอำนาจสำเร็จเพียงแค่ข้ามวัน และนำศพไปฝังรวมที่นอกประตูเมืองคาบูลอย่างไร้เกียรติ
ด้านพรรค PDPA ก็เดินหน้าปฏิรูปให้อัฟกานิสถานเป็นประเทศสังคมนิยมเต็มตัว แต่ไม่นานนักก็มีกลุ่มนักรบใต้ดินติดอาวุธกลุ่มใหม่ที่ชื่อว่า มูจาฮีดีน ที่จัดตั้งกองกำลังฝึกรบในปากีสถานและจีน แต่ได้ทุนสนับสนุนมหาศาลจากซาอุดิอารเบีย และสหรัฐอเมริกา มีเป้าหมายเพื่อโค่นล้มรัฐบาลพรรค PDPA และเปลี่ยนอัฟกานิสถานให้เป็นระบอบประชาธิปไตยตามแบบแผนของโลกเสรีตะวันตก
ก็เข้าสูตรสงครามเย็น ที่มีอัฟกานิสถานเป็นตัวแทนสงครามเต็มรูปแบบ โซเวียตได้ส่งกองกำลังเข้าแทรกแซง และหนุนหลังรัฐบาลของ PDPA อย่างเต็มที่ และกลายเป็นสงครามโซเวียต-อัฟกานิสถาน ที่กินเวลาเกือบสิบปี (1979 - 1989)
และช่วงเวลานั้น โซเวียตก็ได้ผลักดันให้ โมฮัมเหม็ด นาจิบูลลาห์ หรือ ด็อกเตอร์ นาจิบ ของเราขึ้นมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีในช่วงเวลาที่บ้านเมืองเต็มไปด้วยไฟสงครามกลางเมืองจนได้
แต่หลังจากที่ลงทุนรบกับกลุ่มมูจาฮิดีนมาเกือบ 10 ปีโดยที่ไม่ได้อะไร โซเวียตก็ยอมรับความจริง ตัดสินใจยุติสงครามและถอนทหารออกในปี 1989 ทิ้งไว้แต่รัฐบาลของด็อกเตอร์ นาจิบ รับมือกับกองทัพมูจาฮิดีน ท่อน้ำเลี้ยงหนาเพียงลำพัง และยิ่งโดดเดี่ยวหนักขึ้นไปอีกเมื่อสหภาพโซเวียตล่มสลายในปี 1991
และสุดท้ายก็ต้านทานไม่ไหว กลุ่มมูจาฮิดีนยึดตีเมืองไปจนเกือบหมด ทำให้รัฐบาลของด็อกเตอร์ นาจิบ แพแตก บีบให้ประธานาธิบดี โมฮัมเหม็ด นาจิบูลลาห์ ประกาศลาออกในวันที่ 16 เมษายน 1992 และนับเป็นประธานาธิบดีฝ่ายคอมมิวนิสต์คนสุดท้ายของอัฟกานิสถาน
หลังจากที่ลาออกจากตำแหน่งแล้ว อดีตประธานาธิบดีนาจิบูลลาห์ ย้ายเข้าไปหลบภัยในอาคารสำนักงาน UN ในคาบูล และพยายามที่จะหลบหนีไปอินเดีย ที่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับ นาจิบูลลาห์ แต่แผนการถูกขัดขวางทุกครั้ง เพราะฝ่ายกองทัพหวังจะใช้เขาเป็นเครื่องมือต่อรองทางการเมือง
และถึงแม้ว่าโซเวียตจะถอยไปแล้ว แต่สถานการณ์ในอัฟกานิสถานก็ยังคงลุกโชนด้วยไฟสงครามราวเป็นดินแดนต้องคำสาป รัฐบาลชุดใหม่ที่จับมือกับกลุ่มมูจาฮีดินก็หันหน้ามารบแย่งอำนาจกันเอง และกลายเป็นสงครามตัวแทนระหว่าง ซาอุดีอาระเบีย และอิหร่าน กลุ่มนักรบมูจาฮิดีนที่เคยเข้มแข็งก็อ่อนแอลงอย่างมาก แต่กลับมีกองกำลังกลุ่มใหม่เข้ามาแทนที่นั่นก็คือ 'ตอลิบาน'
กลุ่มตอลิบานก่อตั้งโดยหมอสอนศาสนาในหมู่บ้านคนหนึ่งชื่อว่า โมฮัมเหม็ด โอมาร์ มีเชื้อสายปัชตุน เช่นกัน เกิดในเมืองกานดาฮาร์ ทางตอนใต้ของประเทศ ครอบครัวของโอมาร์ล้วนเป็นครูสอนศาสนาที่เคร่งมาก ต่อมา โมฮัมเหม็ด โอมาร์ก็เข้าร่วมฝึกรบกับกองกำลังมูจาฮีดีน เพื่อต่อสู้กับโซเวียต
แต่หลังจากที่ล้มรัฐบาลของด็อกเตอร์ นาจิบ ที่ถูกมองว่าเป็นหุ่นเชิดของโซเวียตได้ และกลุ่มมูจาฮิดีน กำลังวุ่นวายกับการแย่งอำนาจกันเองภายใน โมฮัมเหม็ด โอมาร์ ก็แยกวงออกมาตั้งกองกำลังของตัวเอง เรียกว่ากลุ่มตอลิบาน ในปี 1994 โดยเริ่มต้นจากการฝึกนักเรียนศาสนาในหมู่บ้านให้เป็นนักรบ
แล้วก็ขยายกองกำลังไปยังปากีสถาน รวบรวมแนวร่วมนักรบใต้ดินมูจาฮีดีนเดิมมาเป็นพวก จึงเริ่มบุกยึดเมืองต่าง ๆ ในอัฟกานิสถาน และใช้เวลาเพียง 2 ปี กองทัพตอลิบานก็ยาตราสู่กรุงคาบูลในปี 1996
หลังจากที่ตีกรุงคาบูลแตกแล้ว นักรบตอลิบานก็บุกเข้าไปในหน่วยงาน UN ที่อดีตประธานาธิบดี โมฮัมเหม็ด นาจิบูลลาห์ ลี้ภัยอยู่ แล้วก็ลากตัวเขา และน้องชาย ออกมาทุบตีอย่างโหดเหี้ยมจนตาย และนำร่างไร้วิญญาณของพวกเขาผูกติดท้ายรถจี๊ป ลากวนรอบเมือง ก่อนนำศพของทั้งคู่ไปแขวนประจานที่เสาไฟจราจรหน้าทำเนียบรัฐบาล และไม่อนุญาตให้นำศพไปประกอบพิธีทางศาสนาอีกด้วย
ภาพการลงทัณฑ์ประหารอดีตผู้นำอัฟกานิสถานอย่างป่าเถื่อนของกลุ่มตอลิบาน ถูกประณามอย่างหนักจากทั่วโลก และเป็นเหมือนสัญลักษณ์การเริ่มต้นเข้าสู่ยุคมืดของอัฟกานิสถานภายใต้การปกครองของตอลิบาน โดยใช้กฏหมายศาสนาสุดโต่งที่ตีความโดยกลุ่มตอลิบานปกครองบ้านเมือง จนกระทั่งการมาถึงของกองทัพสหรัฐฯ ในปี 2001 หลังเหตุการณ์ 9/11 นั่นเอง
ดังนั้น ชาวอัฟกันจำนวนไม่น้อยที่คิดว่าการหลบหนีออกนอกประเทศของประธานาธิบดี แอชราฟ กาห์นี เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เพราะคงไม่มีใครอยากเจอชะตากรรมสยองอย่างอดีตผู้นำ โมฮัมเหม็ด นาจิบูลลาห์ หรือ ด็อกเตอร์ นาจิบ และไม่มีอะไรรับประกันได้เลยว่าประวัติศาสตร์แห่งยุคมืดในสมัยกลุ่มตอลิบานเรืองอำนาจจะไม่ซ้ำรอยเดิมอีกครั้ง
อ้างอิง : Indian Express / Al jazeera / Wikipedia
ผู้เขียน : ยีนส์ อรุณรัตน์