Wednesday, 30 April 2025
TheStudyTimes

วิชาสอนให้คิด: เรื่อง Social Distancing

THE STUDY TIMES X DekThai Online

????วันศุกร์ที่ 4 มิถุนายน

วิชาสอนให้คิด: เรื่อง Social Distancing

โดย ดร.ถาวร ตันหยงมาศกุล (อ.บู้)

การศึกษาดุษฎีบัณฑิต หลักสูตรและการสอนมหาวิทยาลัยบูรพา ปริญญาเอก

#คณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ระดับ ป.5-ม.3

#DekThaiOnline

https://dekthai-online.com/instructor/Galilao

.

.

 

คุณแองจี้ ธนธร ศิระพัฒน์ | THE STUDY TIMES STORY EP.31

บทสัมภาษณ์ คุณแองจี้ ธนธร ศิระพัฒน์ นักศึกษา คณะการแพทย์แผนจีน มหาวิทยาลัย SHANGHAI UNIVERSITY OF TRADITIONAL CHINESE MEDICINE
จากคนที่ไม่ชอบภาษาจีน แต่เพราะสนใจศาสตร์แพทย์จีน จึงก้าวข้ามอุปสรรคได้

ปัจจุบัน คุณแองจี้เป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะการแพทย์แผนจีน มหาวิทยาลัย SHANGHAI UNIVERSITY OF TRADITIONAL CHINESE MEDICINE 

จุดเริ่มต้นจากคนไม่ชอบในภาษาจีน สู่นักศึกษาคณะการแพทย์แผนจีน
ตอนอยู่ชั้นม.ปลาย ด้วยความที่คุณแองจี้เป็นคนหน้าหมวยมาก และที่บ้านชอบพาไปเที่ยวที่ประเทศจีน ทุกคนคิดว่าต้องพูดภาษาจีนได้แน่นอน เกิดความไม่ชอบที่มีคนมาตัดสิน ทำให้ไม่ชอบภาษาจีน ไม่ชอบวัฒนธรรม จนลั่นวาจาไว้กับเพื่อนว่า จะไม่ขอเจอภาษาจีนอีกตลอดชีวิต 

ซึ่งในช่วงนั้นคุณแองจี้มีความสนใจอยากเรียนแพทย์ สมัครทั้งแพทย์แผนปัจจุบันและแพทย์แผนจีนที่ประเทศไทย สอบติดทั้งสองที่ แต่ได้แพทย์แผนจีนก่อน คุณพ่อบอกให้ลองเรียนดูก่อนว่าชอบไหม จึงได้เข้าไปเรียนช่วงซัมเมอร์ระยะเวลาประมาณ 2 เดือน ซึ่งเป็นช่วงที่ได้ออกหน่วยอาสาแพทย์แผนจีนกับรุ่นพี่พอดี รู้สึกสนุก จนเกิดความชอบและประทับใจ

แพทย์แผนจีนจะเรียนในเรื่องของยาจีน ฝังเข็ม ครอบแก้ว ทุยหนา นวดแผนจีน เป็นหลักองค์ความรู้ในศาสตร์การแพทย์แผนจีน ซึ่งศาสตร์การแพทย์แผนจีน มีหลักความรู้ที่แตกต่างออกไปจากแพทย์แผนตะวันตก 
 
ช่วงแรกคุณแองจี้เรียนแพทย์แผนจีนอยู่ที่ประเทศไทย โดยปีแรกจะมีการส่งไปเรียนแลกเปลี่ยนด้านภาษาที่เมืองยู่หลิน玉林  YULIN NORMAL UNIVERSITY ก่อน เมื่อขึ้นชั้นปี 2 จะเรียนเกี่ยวกับเนื้อหา ซึ่งช่วงนั้นมีคนแนะนำให้ลองยื่นสมัครทุนเรียนต่อที่เซียงไฮ้ และคุณพ่อเป็นผู้ผลักดันให้ไป อย่างน้อยก็ได้ในเรื่องของภาษา สุดท้ายคุณแองจี้จึงตัดสินใจซิ่วขอทุนไปเรียนต่อ คณะการแพทย์แผนจีน มหาวิทยาลัย SHANGHAI UNIVERSITY OF TRADITIONAL CHINESE MEDICINE 

วิธีการเรียน SHANGHAI UNIVERSITY OF TRADITIONAL CHINESE MEDICINE มีความแตกต่างกับไทยคือ ที่จีนจะมีโรงพยาบาลที่มีทั้งแพทย์แผนจีนและแพทย์แผนตะวันตกรวมไว้ด้วยกัน และด้วยความที่มหาวิทยาลัยอยู่ติดกับโรงพยาบาล คุณแองจี้จึงมีโอกาสได้ไปฝึกงานที่โรงพยาบาล เจอคนไข้จริงมากกว่าที่ไทย ส่วนของเนื้อหาการเรียน จะเรียนเป็นภาษาจีน 100% 

ในเรื่องของการใช้ชีวิตที่ประเทศจีน คุณแองจี้เล่าว่า บรรยากาศที่เซียงไฮ้ทุกอย่างดูศิวิไลซ์ โทรศัพท์เป็นสิ่งอำนวยความสะดวกที่จำเป็น บ้านเมืองสวยงาม ไม่มีขยะวางเกลื่อนกลาด

ออกจาก Comfort Zone สู่นักกิจกรรมตัวยง
ช่วงเริ่มเข้ามหาวิทยาลัยที่ไทย คุณแองจี้มีความกังวลว่าการทำกิจกรรมจะส่งผลกระทบกับการเรียน จึงพยายามเอาตัวเองออกห่างจากกิจกรรม ทำให้กลายเป็นคนไม่ค่อยพูด ไม่กล้าแสดงออก แม้ในการไปเรียนเซียงไฮ้ปีแรก ยังคงติดอยู่ใน Comfort Zone อยู่แต่กับกลุ่มเพื่อนสังคมคนไทย จนรู้สึกว่าบางครั้งการที่เราอยู่ใน Comfort Zone มากเกินไป ไม่ได้หมายความว่าเราจะมีความสุขกับตรงนั้น ซึ่งคุณแองจี้เจอข้อความหนึ่งในเฟซบุ๊กว่า “อย่าละทิ้งความฝันของตัวเอง เพียงเพราะไม่มีคนไปเป็นเพื่อน” รู้สึกว่าทัชใจ จึงตัดสินใจเปิดตัวเองออกจาก Comfort Zone ไปหากิจกรรมต่างๆ ทำ ได้เปิดประสบการณ์ใหม่ๆ 

กระทั่งเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้คุณแองจี้ต้องเดินทางกลับมาอยู่ที่ประเทศไทย มีรุ่นพี่ที่รู้จักชวนไปออกหน่วยอาสา เป็นจุดเริ่มต้นของการเข้าสู่แวดวงอาสา โดยเหตุผลที่เลือกทำกิจกรรมอาสานั้น เพราะรู้สึกว่าได้รับมามากพอแล้ว หลายคนพูดว่าอย่าทำตัวเป็นน้ำเต็มแก้ว ต้องทำตัวเป็นน้ำครึ่งแก้ว ซึ่งคุณแองจี้มองว่า นอกจากเรียนรู้ที่จะทำตัวเป็นน้ำครึ่งแก้วแล้ว ต้องเรียนรู้ที่จะนำน้ำที่มีเทไปให้คนอื่นต่อ แล้วเราค่อยเปิดรับประสบการณ์ใหม่ๆ เข้ามา 

เป้าหมายของคุณแองจี้ คือ อยากทำให้คนรู้จักในแพทย์แผนจีนมากขึ้น สิ่งที่มีอยู่เป็นประโยชน์กับทุกๆ คนได้ ในส่วนของการทำอาสาอยากให้ทุกคนมีจุดศูนย์กลางที่จะมารวมตัวกัน และอยากทำเป็นจิตอาสาแบบต่อเนื่อง พัฒนาคุณภาพชีวิตคน 

นอกจากนี้ คุณแองจี้ยังทำช่อง YouTube กูรูวัยเก๋า ซึ่งเป็นรายการที่ทำร่วมกับกรมกิจการผู้สูงอายุ จะพาไปพูดคุยกับกูรูที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องต่างๆ อีกทั้งเป็นการลดช่องว่างระหว่างวัย แลกเปลี่ยนความรู้กัน รวมทั้งตีแผ่เรื่องของสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม

คุณแองจี้ฝากทิ้งท้ายสำหรับคนที่อยากเริ่มทำจิตอาสาว่า มันจะง่ายมาก ถ้ามีความรู้สึกว่าอยากทำ แล้วออกไปทำ เริ่มที่อยากจะทำอะไรสักอย่าง อาสาไม่ได้หมายความว่าจะลงแรงเพียงอย่างเดียว อาจจะช่วยได้ในหลายช่องทาง ถ้าใจเรามา อยากทำอะไรเราทำได้เลย 

.

.

.

ศธ. ออกประกาศ ลดค่าเทอม สั่งโรงเรียนยึดหลักคืนเงิน-ผ่อนผัน ลดภาระค่าใช้จ่ายและบรรเทาความเดือดร้อนผู้ปกครอง ปีการศึกษา 2564

นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เปิดเผยว่า ตามที่มีผู้ปกครองร้องเรียนเรื่องการเก็บเงินบำรุงการศึกษา ค่าธรรมเนียมการศึกษา ค่าธรรมเนียมการเรียน และค่าธรรมเนียมอื่น ในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 ของสถานศึกษา เข้ามาที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จำนวนมาก ได้รับทราบปัญหาและมีนโยบายให้ต้นสังกัดของโรงเรียนและสถานศึกษาในสังกัดและในกำกับของ ศธ.ไปดำเนินการแก้ไขปัญหา

“เมื่อวันที่ 27 พ.ค. ที่ผ่านมา ดิฉันได้ลงนามในประกาศ ศธ. เรื่องแนวปฏิบัติการเก็บเงินบำรุงการศึกษา ค่าธรรมเนียมการศึกษา ค่าธรรมเนียมการเรียน และค่าธรรมเนียมอื่นแล้ว โดยในประกาศดังกล่าวระบุว่า อนุสนธิประกาศ ศธ. เรื่องการเลื่อนเวลาเปิดภาคเรียนที่ 1 ประจำปีการศึกษา 2564 ลงวันที่ 19 พ.ค. 2564 เนื่องมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และให้โรงเรียนหรือสถานศึกษาในสังกัดและในกำกับของ ศธ. จัดการเรียนการสอนเฉพาะรูปแบบการจัดการศึกษาทางไกล และหากบางโรงเรียนหรือสถานศึกษาที่มีความพร้อมและประสงค์จะจัดการศึกษาในรูปแบบ On-site (เรียนที่โรงเรียน) สามารถทำได้ แต่จะต้องผ่านเกณฑ์การประเมินความพร้อมของระบบ Thai StopCOVID Plus (TSC+) และได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดก่อน”

ด้วยรูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนดังกล่าว ทำให้มีโรงเรียนหรือสถานศึกษาบางแห่งได้มีการเรียกเก็บเงินบำรุงการศึกษา ค่าธรรมเนียมการศึกษา ค่าธรรมเนียมการเรียน และค่าธรรมเนียมอื่นจากผู้ปกครอง ดังนั้น เพื่อเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายและบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ปกครองในสถานการณ์ปัจจุบัน ศธ.จึงกำหนดแนวปฏิบัติการเก็บเงินบำรุงการศึกษา ค่าธรรมเนียมการศึกษา ค่าธรรมเนียมการเรียน และค่าธรรมเนียมอื่น ให้โรงเรียนหรือสถานศึกษาในสังกัด หรือในกำกับของ ศธ. ถือปฏิบัติ ดังนี้

1.) กรณีที่ได้มีการเรียกเก็บเงินบำรุงการศึกษา ค่าธรรมเนียมการศึกษา ค่าธรรมเนียมการเรียน และค่าธรรมเนียมอื่นไปแล้ว ให้ “คืนเงิน” บำรุงการศึกษาหรือค่าธรรมเนียมในส่วนที่ไม่ได้จัดกิจกรรมการเรียนการสอนในระหว่างที่เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

2.) กรณีที่มีความจำเป็นต้องเรียกเก็บเงินบำรุงการศึกษา ค่าธรรมเนียมการศึกษา ค่าธรรมเนียมการเรียน และค่าธรรมเนียมอื่น เพื่อใช้จ่ายในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน อาจพิจารณา “ผ่อนผันหรือขยายระยะเวลาการเรียกเก็บ” เงินบำรุงการศึกษา หรือค่าธรรมเนียมดังกล่าวตามความเหมาะสมเป็นกรณีไป

3.) พิจารณาให้ความ “ช่วยเหลือ” ในกรณีที่ผู้ปกครองของนักเรียน นักศึกษา ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าวตามความจำเป็นเหมาะสม

4.) ให้หน่วยงานต้นสังกัดหรือที่กำกับโรงเรียนหรือสถานศึกษา แจ้งเวียนไปยังสถานศึกษาในสังกัด หรือในกำกับให้ปฏิบัติตามประกาศนี้

ทั้งนี้ ให้เป็นแนวปฏิบัติตั้งแต่ปีการศึกษา 2564 เป็นต้นไป จนกว่าจะมีประกาศเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น


ที่มา: https://www.prachachat.net/education/news-680490

เก่งหยุดไม่อยู่!! นักเรียนมัธยมเมทนีดล จังหวัดขอนแก่น สร้างผลงานชิ้นที่สอง “โรบอทใบหม่อน” ช่วยบุคลากรทางการแพทย์ปราบโควิด-19

มัธยมเมทนีดลเรียนล้ำหน้าเกินห้องเรียน หลังสร้างนวัตกรรมสุดล้ำ “โรบอทใบหม่อน” ผลงานชิ้นที่สอง หุ่นยนต์เคลื่อนที่ส่งของพร้อมปราบโควิด-19 ด้วยรังสี UVC ที่มีคุณสมบัติพิเศษ เคลื่อนที่เสถียร 360 องศา บังคับด้วยรีโมทผ่านจอทันสมัย ปลอดภัยต่อผู้ใช้ มีประสิทธิภาพฉายรังสี UVC Sterilizer ลดการแพร่กระจายเชื้อด้วย UVC light disinfection robot ทำความสะอาด ฆ่าเชื้อโรค เชื้อจุลชีพ แบคทีเรียในห้องปฏิบัติการ และไวรัสโคโรนา 2019 พร้อมบริการส่งของและดูแลผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ลดความเสี่ยงให้กับบุคลากรทางการแพทย์ ในสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19

โดยผู้อำนวยการโรงเรียนเมทนีดลผู้นำพลังปัญญาเชิงบวก ดร.อรทัย สันติเมทนีดล พร้อมคณะคุณครูต่างชาติ-ไทย นักเรียนและบุคลากร รายงานว่า โรงเรียนเมทนีดลมองการณ์ไกลไปมาก และเรามีวิสัยทัศน์ชัดเจน ต้องการมุ่งสร้างนักเรียนที่ดี เก่ง ทั้งคนและงาน เป็นพลโลกที่สมบูรณ์ทั้งกายใจ

โดยนำวิชา AI : Artificial Intelligence หรือวิชาปัญญาประดิษฐ์ และวิชา Health and Medical Education หรือสุขอาชีวะอนามัยศึกษาและการแพทย์เบื้องต้น เข้าสู่กระบวนการจัดการเรียนการสอนระดับมัธยมศึกษา เพื่อให้นักเรียนได้แสดงศักยภาพและสร้างสรรค์ผลงานร่วมกับความรู้ในศาสตร์อื่นๆ ได้ หรือการช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิต หรือต่อยอดสู่สังคมและโลกของเราได้อย่างยั่งยืน

ซึ่งคงไม่มีใครคาดคิดว่า ไม่นานนักเรียนต้องเรียนรู้ด้านการเเพทย์ เเละยังช่วยเหลือบุคลากรทางการเเพทย์ได้อีก ทั้งวิชาปัญญาประดิษฐ์ที่เมทนีดลดำเนินงานหลายปีก่อนหน้าการเเพร่ระบาดนั้น ทั้งงาน AI สิ่งประดิษฐ์และงานวิจัยที่เผยแพร่เป็นที่ประจักษ์ชัดเจนมาเสมอ และความปลอดภัยคือหัวใจสำคัญของเรา

ในสถานการณ์และวิกฤตการณ์โลกการแพร่ระบาดโคโรน่าไวรัส-19 นี้ จึงเป็นแรงบันดาลใจให้กับนักเรียนได้สร้างสรรค์ผลงานชิ้นนี้อย่างตั้งใจขึ้นอีกครั้ง และโรงเรียนเมทนีดลได้รับการสนับสนุนและความร่วมมือที่เข้มแข็งด้วยดีเสมอมา จากอาจารย์คเณศ ถุงออด ประธานหลักสูตรภาควิชาเมคาทรอนิกส์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และ ผศ.ดร.เกสร วงศ์เกษม อาจารย์ประจำภาควิชาเมคาทรอนิกส์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสารคาม ที่ได้เป็นผู้ทรงคุณวุฒิและสอนการสร้างหุ่นยนต์ แก่นักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 ในวิชา AI : ปัญญาประดิษฐ์

และโรงเรียนเมทนีดลพร้อมแบ่งปันน้ำใจแด่องค์กรที่รักเราและดูแลเราด้วยดีเสมอมา คุณหมอเเละบุคลากรทางการเเพทย์ต้องปลอดภัย เพื่อได้ดูแลพลเมืองของเราต่อไป โรงเรียนเมทนีดลเคียงข้างเสมอ ดร.อรทัย กล่าว

ด้านเด็กชายณัฎฐ์ นาคบรรพต จิตร์โต นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ตัวแทนนักเรียนกล่าว่า สำหรับการสร้างโรบอทใบหม่อน เพื่อช่วยบุคลากรทางการแพทย์ในครั้งนี้ผมภูมิใจมากๆ เพราะว่านอกจากผมได้เรียนรู้และสนุกไปด้วย ผมได้ช่วยคุณหมอที่โรงพยาบาลและช่วยผู้ป่ายโควิดที่ต้องการกำลังใจมากๆ ครับ และผมภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งที่ได้ช่วยเหลือในสถานการณ์วิกฤตโลกนี้ด้วย และผมจะตั้งใจศึกษาเรียนรู้ต่อยอดงานด้าน AI ต่อไป เพื่อได้ช่วยเหลือผู้คนต่อไปครับ

TCAS 64 จุฬาลงกรณ์ รอบที่ 4 (Direct Admission) รับสมัครวันนี้-4 มิ.ย. 64

คุณสมบัติของผู้สมัคร

- กำลังศึกษาอยู่ หรือ สำเร็จการศึกษาชั้น ม. 6 หรือ เทียบเท่า ในไทยหรือต่างประเทศ

- GPAX ตามที่กำหนด

- มีคะแนนสอบวัดความสามารถในการสื่อสารภาษาอังกฤษ หรือ ผลการทดสอบ ตามเกณฑ์ที่กำหนด ใช้ผลคะแนนย้อนหลัง ไม่เกิน 2 ปี

คณะที่เปิดรับ ดังนี้

- คณะรัฐศาสตร์ สาขาวิชาการเมืองและโลกสัมพันธ์ศึกษา (นานาชาติ) จำนวนรับ 25 คน 
https://pgschula.org/new-page-1

- คณะวิทยาศาสตร์ สาขาวิชาเคมีประยุกต์ (นานาชาติ) จำนวนรับ 50 คน 
https://bsac.chemcu.org/wp-content/uploads/2021/05/Admission-announcement-2021_R3.pdf

เกณฑ์การพิจารณา

- สอบสัมภาษณ์ออนไลน์ 

การสมัคร

- สมัครผ่านเว็บไซต์ ตามเว็บไซต์ที่โครงการสมัครกำหนด
.
กำหนดการ

รับสมัคร

27 พ.ค.-04 มิ.ย. 64

รายละเอียดเพิ่มเติม
http://www.atc.chula.ac.th/TCAS/TCAS4.html


ขอบคุณที่มา : https://www.trueplookpanya.com/tcas/quotanews?id=7624&fbclid=IwAR21k8ll7Xcrs7ev1IwBaP6vF_TtEQNkp9y9wkBhD0ioGgW8sMCOLGiMKyw
 

คุณแกม อนัญญา เอกอุรุ | THE STUDY TIMES STORY EP.32

บทสัมภาษณ์ คุณแกม อนัญญา เอกอุรุ นักศึกษาแพทย์ ชั้นปีที่ 3 คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
วินัยและไม่ผัดวันประกันพรุ่ง ทำให้พื้นฐานในการเรียนแน่น โดยไม่ต้องกดดันตัวเองเกินไป

ช่วงมัธยมศึกษาตอนปลาย คุณแกมเป็นนักเรียนโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา รุ่น 79 ห้องคิง คุณแกมเล่าว่า ตอนช่วงม.ต้น ไม่ได้เก่งเลขเลย แต่อยากสอบติดและเป็นคนที่เก่งเลข จึงฝึกฝนโดยการทำโจทย์ข้อเดิมซ้ำๆ จนกว่าจะทำได้ ส่วนวิชาวิทยาศาสตร์ และอังกฤษ จะไปเรียนพิเศษและอ่านทบทวนเอง จนสามารถสอบติดสายวิทย์-คณิต บริหาร ห้องคิง โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา เป็นรุ่นที่ 79 

แรงบันดาลใจเลือกเรียนต่อ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยของคุณแกมมาจากความที่ชอบวิทย์-คณิตมาตั้งแต่เด็ก ไม่ได้ชอบทางด้านภาษา พยายามหาอาชีพที่เกี่ยวข้องกับวิทย์-คณิต จนได้ดูซีรีส์ที่เกี่ยวกับหมอ แล้วรู้สึกอิน มีอารมณ์ร่วม เกิดเป็นแรงบันดาลใจให้อยากเป็นหมอมาตั้งแต่เด็ก 

เทคนิคการเตรียมตัวสอบเข้าคณะแพทยศาสตร์ของคุณแกม คือ พยายามเรียนเนื้อหาม.ปลายให้จบภายใน ม.4-5 พอถึงช่วงเปิดเทอมขึ้นม.6 จะเริ่มเรียนคอร์สเอนท์ ไปจนถึงม.6 เทอม 1 รวมทั้งต้องแบ่งเวลาอ่านหนังสือ เตรียมโจทย์ไปทำที่โรงเรียน  พยายามทำการบ้านคอร์สเอนท์ให้หมด ไม่ค้างไว้ ในช่วงปิดเทอมสั้นม.6 จะเริ่มเรียนคอร์สตะลุยโจทย์ต่างๆ และช่วงม.6 เทอม 2 เริ่มเรียนคอร์สความถนัดแพทย์ ตะลุยโจทย์วิชาที่เหลือ และเน้นอ่านเองเป็นหลัก

สังคมที่เตรียมฯ เพื่อนทุกคนจะพากันเรียน หลังเลิกเรียนแยกย้ายกันไปเรียนพิเศษ มีอะไรสงสัยสามารถถามกันได้ เพื่อนๆ ช่วยกันเรียน คุณแกมเป็นคนมีวินัยในการเรียน พยายามไม่ออกนอกลู่นอกทาง ไม่ผัดวันประกันพรุ่ง อาจไม่ได้เที่ยวเล่นมาก เพราะมีจุดมุ่งหมายคือการสอบติดคณะแพทย์ จึงพยายามเรียนไม่เล่นเยอะ

กิจกรรมในรั้วมหาวิทยลัย 
ครั้งแรกที่คุณแกมเข้าไปเรียนที่จุฬาฯ มีกิจกรรมค่ายรับน้อง เป็นค่ายที่ทำให้รู้จักเพื่อนใหม่ รุ่นพี่ สังคมใหม่ๆ ค้นพบว่าคณะแพทย์จุฬาฯ อบอุ่นมาก ต่อมาคือค่ายเฟรชชี่ และค่ายอยากเป็นหมอ ช่วยแนะแนวทางการศึกษาแพทย์ให้กับน้องม.ปลาย การร่วมกิจกรรมต่างๆ เกิดเป็นแรงบันดาลใจในการทำกิจกรรมในรั้วมหาวิทยาลัยเรื่อยมา

ความชื่นชอบในค่ายเฟรชชี่ตอนตัวเองเป็นรุ่นน้อง คุณแกมจึงสมัครเป็นฝ่ายประสานงานของค่าย พอทำแล้วรู้สึกชอบมาก เนื่องจากตอนเรียนมัธยมไม่ค่อยได้ทำกิจกรรม เพราะมีจุดมุ่งหมายคืออยากเข้าเรียนคณะแพทย์ ทำให้เรียนหนัก แต่เมื่อสอบติดแล้วทำให้รู้สึกว่าไม่มีอะไรต้องเครียด ลองทำกิจกรรมมากขึ้น ทำให้รู้ว่า ชีวิตไม่ได้มีแค่การเรียน การทำกิจกรรมฝึกพัฒนาตัวเองได้เยอะมาก เป็นสิ่งที่ไม่สามารถหาได้จากการเรียน

ติวเตอร์สอนพิเศษ
ช่วงที่สอบมหาวิทยาลัยติดแล้ว คุณแกมมีเวลาว่างจึงเริ่มสอนพิเศษวิชาคณิตศาสตร์และชีววิทยา แต่ต่อมาเน้นสอนคณิตศาสตร์อย่างเดียว ชอบที่ได้ถ่ายทอดความรู้ไปให้น้องๆ รู้สึกแฮปปี้ การสอนบ่อยๆ ทำให้เริ่มผูกพันธ์กับงานสอน เหมือนเป็นความเคยชิน ทำให้สอนเรื่อยมาตั้งแต่ปี 1

คุณแกมฝากทิ้งท้ายเป็นกำลังใจสำหรับคนที่เตรียมตัวสอบไว้ว่า ไม่ต้องเครียดมาก พยายามทำให้ดีที่สุด มีวินัยกับตัวเอง  พยายามเตรียมตัวเรื่อยๆ ไม่จำเป็นต้องกดดันตัวเอง เพราะการกดดันตัวเอง เป็นการเพิ่มความเครียดให้ตัวเอง ทำให้ทำอะไรไม่ได้ดีสักอย่าง


.

.

.

คิดแปลกแหวกแนว! หนุ่มจบการศึกษาแค่ ม.6 ลูกชาวสวนมะนาว ลงทุนปลูกแคคตัสไลฟ์สดขาย ได้เงินล้าน!!

อาชีพปลูกแคคตัสไม้ประดับของคนมีตังค์ที่กำลังเป็นกระแสนิยมมาแรง หนุ่มเมืองชาละวัน จบการศึกษาแค่ ม.6 พ่อแม่เป็นชาวสวนปลูกมะนาว แต่ลูกชายคิดแปลกแหวกแนวปลูกแคคตัสขาย ในขณะที่พ่อ-แม่ คนรุ่นเก่าไม่เห็นด้วย ลูกชายตัดสินใจขายสร้อยคอทองคำของตนเองเพื่อลงทุนใช้เวลา 3 ปี ปัจจุบันนี้มีต้นแคคตัสจำนวนนับหมื่นต้นมูลค่ากว่า 20 ล้านบาท 

เผยวิธีขายไลฟ์สดผ่านโลกออนไลน์ มีผู้ซื้อทั้งในและต่างประเทศ แถมมีแอดมินเพจจากประเทศจีนจับเสือมือเปล่ามานั่งไลฟ์สดขายแคคตัสของตนไปยังตลาดจีน

เส้นทางการทำมาหากินในยุค New Normal วันนี้ผู้สื่อข่าวขอพาไปที่ CP CACTUS ซึ่งเป็นของ นายธนารัตน์ เมืองฤทธิ์ “แชมป์” อายุ 28 ปี อยู่บ้านเลขที่ 140 หมู่ 9 บ้านท่าช้าง ต.ท่าบัว อ.โพทะเล จ.พิจิตร ซึ่งเป็นลูกชายของ นายสมชาย เมืองฤทธิ์ อายุ 51 ปี  อาชีพทำสวนมะนาว 70 ไร่ 

โดย นายธนารัตน์  “แชมป์” เล่าให้ฟังว่า ก่อนที่ตนเองจะก้าวเข้ามาเป็นเจ้าของกิจการ CP CACTUS ตนเองจบการศึกษาแค่ ม.6 จะไปเรียนต่อปริญญาตรี แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จด้านการเรียน จึงกลับมาอยู่บ้านช่วยพ่อทำสวนมะนาวและปลูกกล้วยขาย ทำอยู่ 2-3 ปี จากนั้นก็ลงทุนไปซื้อโดรนมารับจ้างพ่นสารเคมีในนาข้าวของเพื่อนบ้านในแถบนั้นอยู่ระยะหนึ่งก็เซ้งกิจการให้ผู้อื่นทำต่อ เพราะไม่ใช่แนวของตนเองที่ถนัดหรือชื่นชอบ

จึงเริ่มค้นหาความเป็นตัวตนว่าตนเองชอบอาชีพอะไรแน่ จากนั้นเริ่มลองผิดลองถูก จนกระทั่งราว พ.ศ.2560 เริ่มสนใจศึกษาเรื่องการปลูกแคคตัสจากโลกออนไลน์ แม่เห็นว่าตนเองชอบก็เลยไปซื้อต้นแคคตัสมาให้เลี้ยง 10 ต้น ตนเองก็เริ่มขยายพันธุ์เลี้ยงต้นแคคตัสจนโตและขายบนโลกออนไลน์ได้เงินหลักพัน หลักหมื่น จนมั่นใจว่า แคคตัสปลูกแล้วขายได้ จึงอ้อนวอนขอเงินพ่อ-แม่ จะเอามาลงทุนแค่พ่อกับแม่ ซึ่งเป็นคนรุ่นเก่าไม่เห็นด้วยบอกว่าเอาเงินไปลงทุนปลูกกล้วยขายดูจะทำง่ายและได้กำไรดีกว่า

นายธนารัตน์ “แชมป์” จึงตัดสินใจเอาเงินที่สะสมและเอาสร้อยคอทองคำหนัก 1 บาท ไปขายได้เงินรวม 3 หมื่นบาทเศษ มาเป็นทุนตั้งต้นในการลงทุนปลูกแคคตัสขายแบบลองผิดลองถูก ค้นคว้าหาความรู้จากเพื่อนๆ ในกลุ่มเฟซบุ๊ก ใช้เวลาจากวันนั้นถึงวันนี้รวม 3 ปี ปัจจุบันมีโรงเรือนเพาะเลี้ยงแคคตัสอยู่ในเรือนเพาะชำขนาดต่างๆ 4 หลัง ใช้ชื่อ CP CACTUS ซึ่งมีแคคตัสเกือบ 20 สายพันธุ์ โดยตนเองคิดวิธีผสมข้ามสายพันธุ์ จนได้ต้นแคคตัสที่มีสีสันแปลกแหวกแนวและสวยงามไม่เหมือนกับที่อื่น โดยทุกวันนี้มีจำนวนกว่า 1 หมื่นต้น ถ้าคิดเป็นมูลค่าประมาณ 20 ล้านบาท  

นายธนารัตน์  “แชมป์” บอกถึงเรื่องการตลาดว่าตนเองใช้ชื่อเฟซบุ๊ก Champ Tanarat ทำการไลฟ์สดขายต้นแคคตัส ซึ่งก็ได้รับความนิยมมียอดสั่งซื้อทั้งในและต่างประเทศ บางวันเคยมีรายได้หลักแสนก็ยังมี นอกจากนี้ก็ยังมีพ่อค้าคนกลางชาวจีนมาตั้งโต๊ะไลฟ์สดแบบจับเสือมือเปล่าเอาสินค้าจาก CP CACTUS ไลฟ์สดขายสินค้าไปยังกลุ่มชาวจีนที่นิยมชื่นชอบแคคตัสอีกด้วย 

นายธนารัตน์  “แชมป์” กล่าวปิดท้ายว่าทุกวันนี้ประสบความสำเร็จมีรายได้เป็นกอบเป็นกำและยังเชื่อมั่นว่าตลาดของแคคตัสยังคงไปได้ต่ออีกนาน

สำหรับท่านใดที่สนใจอยากแลกเปลี่ยนเรียนรู้ดูงานสามารถติดต่อได้ที่ เฟซบุ๊ก Champ Tanarat หรือโทร 098-6989698 , 064-5644665

สิทธิพจน์  พิจิตร 

คุณเจน ดร. เจนนิเฟอร์ ชวโนวานิช | THE STUDY TIMES STORY EP.33

บทสัมภาษณ์ คุณเจน ดร. เจนนิเฟอร์ ชวโนวานิช ปริญญาโท จิตวิทยาอุตสาหกรรมองค์การ Roosevelt University, สหรัฐอเมริกา และปริญญาเอก จิตวิทยาข้ามวัฒนธรรม Brunel University, สหราชอาณาจักร
เพราะมนุษย์ทุกคนไม่ใช่ขาวและดำ แต่เป็นสีเทา สีที่ทำให้เราเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันอย่างเข้าอกเข้าใจ

ปัจจุบันคุณเจนเป็นอาจารย์ประจำอยู่ที่คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยจุดเริ่มต้น แรงบันดาลใจในการเลือกเรียน ‘จิตวิทยา’ มาจากตอนแรกคุณเจนสนใจเรื่องสืบสวน วิทยาศาสตร์ ร่างกายมนุษย์ ตอนนั้นเรียนอยู่ที่อเมริกา เริ่มจากเรียนคณะ Biology เพราะอยากเป็นหมอ แต่เมื่อเรียนได้ 1 ปีรู้สึกว่าไม่ใช่ทาง มีโอกาสได้เรียนจิตวิทยาตอนไฮสคูล ทำให้รู้สึกชอบความเป็นจิตวิทยาที่ไม่มีคำตอบผิดถูกตายตัว สนใจความเป็นเทาของมนุษย์ ที่บางทีก็มีด้านดี บางทีก็มีด้านลบ เลยเบนสายย้ายคณะมาเรียนจิตวิทยาตอนปี 2

สำหรบคุณเจน มองว่าเสน่ห์ของจิตวิทยา คือการตกหลุมรักการวิเคราะห์สถานการณ์ วิเคราะห์พฤติกรรมของมนุษย์ที่ไม่มีความสิ้นสุด ทำให้ตั้งคำถามต่อไปได้เรื่อยๆ 

คุณเจนเรียนปริญญาตรี จิตวิทยา ที่ DePaul University ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ไปอยู่หอ เรียนรู้ที่จะดูแลตัวเอง อยู่กับเพื่อนที่ไม่คุ้นเคยมาก่อน ปรับตัวค่อนข้างเยอะ แต่รู้สึกสนุกที่ได้ใช้ชีวิตที่นั่น 

การเรียนจิตวิทยาที่ DePaul University เน้นที่การตั้งคำถาม คิดวิเคราะห์ ทำงานวิจัย และเน้นการ Discussion ค่อนข้างเยอะ สิ่งที่ได้เรียนรู้ คือ การไม่อายที่จะตั้งคำถาม ในส่วนของอาจารย์ จะให้ทำกิจกรรมค่อนข้างเยอะ เช่น วิชาการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ ได้เป็นอาสาสมัครทำงานกับคนไร้บ้านทั้งเทอม ต้องคอยอัพเดทให้อาจารย์ฟังตลอด มีการพูดคุยและช่วยให้มองต่างมุม และสรุปว่าเราได้เรียนรู้อะไรบ้าง

หลังจากจบปริญญาตรี คุณเจนตัดสินใจเรียนต่อด้านจิตวิทยาจนจบปริญญาเอก เหตุผลคือ ด้วยสายของจิตวิทยาเป็นอาชีพที่ต้องลงลึก ต้องมีความเชี่ยวชาญมาก จึงเหมือนการบังคับให้ต่อปริญญาโทในสาขาที่สนใจ เพื่อที่จะได้ออกมาทำงานที่ต้องการได้ และด้วยความรู้สึกสนุกในการทำงานวิจัย อยากได้คำตอบของคำถามที่มี หลังจากนั้นจึงเรียนต่อปริญญาเอกที่ประเทศอังกฤษ

คุณเจนเรียนปริญญาโท จิตวิทยาอุตสาหกรรมองค์การ ที่ Roosevelt University ประเทศสหรัฐอเมริกา สนใจเรื่องของบุคลากรในองค์กร ทำอย่างไรให้คนทำงานมีความสุข มีแรงจูงใจในการทำงาน และทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนของปริญญาเอก จิตวิทยาข้ามวัฒนธรรม ที่ Brunel University สหราชอาณาจักร สนใจว่าคนในแต่ละประเทศมีพฤติกรรมที่แตกต่างกันอย่างไร มีวัฒนธรรมอะไรที่มาอธิบายการกระทำของคนได้บ้าง ถ้าเราย้ายประเทศไปทำงานหรือไปเรียนที่อื่นจะมีวิธีการปรับตัวอย่างไร

การได้ไปใช้ชีวิตที่ต่างประเทศ ทำให้คุณเจนเรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตด้วยตัวเอง ทำอะไรจะพยายามด้วยตัวเองก่อน ส่วนตัวคุณเจนชอบสภาพแวดล้อมที่ชิคาโก เพราะมีความหลากหลาย คนเปิดรับวัฒนธรรมที่แตกต่าง มีการผสมผสานทางวัฒนธรรมค่อนข้างเยอะเมื่อเทียบกับแคลิฟอร์เนียร์ อังกฤษก็จะเป็นอีกรูปแบบหนึ่ง ขึ้นอยู่กับบริบทของรัฐในประเทศนั้นๆ 

หลังเรียนจบกลับมาเมืองไทย คุณเจนสอนอยู่ที่ มศว. ก่อนหนึ่งปีครึ่ง ก่อนจะย้ายมาเป็นอาจารย์คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีจุดเริ่มต้นมาจาก หลังกลับมาด้วยความที่เรียนจิตวิทยาในการทำงาน วางแผนอยากทำงานในบริษัท Consult แล้วค่อยทำงานพาร์ทไทม์เป็นอาจารย์ แต่พบว่าอาจารย์พาร์ทไทม์หายากมาก จึงตัดสินใจเป็นอาจารย์ประจำ

การสอนจิตวิทยาในประเทศไทย คุณเจนเล่าว่า สิ่งแรกที่ต้องปรับตัวคือเรื่องของภาษา เพราะเรียนเนื้อหาเป็นภาษาอังกฤษมาทั้งหมด แต่ต้องมาสอนเป็นภาษาไทย ต้องทำการบ้านหนักมากในตอนเริ่ม ในส่วนของเนื้อหา การเรียนที่ต่างประเทศอาจจะลงลึกกว่า แต่ที่ไทยด้วยความที่เรียนจบ 4 ปีสามารถไปทำงานได้เลย จึงอาจจะไม่ลงลึกเท่าของอเมริกา 

คุณเจนกล่าวว่า จิตวิทยามีสองส่วน ส่วนแรกคือศึกษาพฤติกรรมและวิธีคิดของมนุษย์ อีกส่วนหนึ่งคือใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์เข้ามาใช้ในการศึกษาพฤติกรรมและความคิดของมนุษย์ 

คนส่วนใหญ่เมื่อพูดถึงจิตวิทยามักนึกถึงโรคทางจิตก่อน คุณเจนอยากจะสร้างความเข้าใจให้คนส่วนใหญ่ ว่าจิตวิทยาสามารถทำอะไรได้มากมาย อย่างเช่น นักข่าวก็สามารถใช้จิตวิทยาได้ การพัฒนาการมนุษย์ การเลี้ยงดูเด็ก เรียกง่ายๆ ว่าจิตวิทยาอยู่รอบตัวเรา จิตวิทยาอธิบายว่าทำไมคนถึงทำแบบนั้น ถ้าเราเข้าใจว่าทำไม สิ่งที่ตามมาคือ เราสามารถปรับเปลี่ยน พัฒนา หรือลดปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมได้

.

.

.

วันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ตรงกับวันที่ ๓ มิถุนายน ของทุกปี

สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ ๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๒๑ ณ ตำบลบ้านพรุ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา มีพระนามเดิมว่า สุทิดา ติดใจ เป็นธิดาของคำ ติดใจ กับคุณหญิงจั่งเฮียง ติดใจครอบครัวของพระองค์เป็นชาวไทยเชื้อสายจีน ทรงเข้าเรียนระดับมัธยมศึกษาที่โรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัยสมบูรณ์กุลกันยา

จากนั้นจึงทรงเข้าศึกษาหลักสูตรนิเทศศาสตรบัณฑิต ณ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ จนจบการศึกษาเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๓ ต่อมาทรงเข้าเป็นพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน บริษัท แจลเวย์ จำกัด เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๓ - พ.ศ. ๒๕๔๖ และทรงเป็นพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๖ - พ.ศ. ๒๕๕๑

วันที่ ๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๒ ทรงประกอบพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสกับพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต จึงทรงได้รับการสถาปนาเป็น สมเด็จพระราชินีสุทิดา ทรงดำรงตำแหน่งพระอิสริยยศ ฐานันดรศักดิ์แห่งพระราชวงศ์ ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ สถาปนาเฉลิมพระเกียรติยศสมเด็จพระราชินีขึ้นเป็นสมเด็จพระบรมราชินี ทรงพระนามว่า สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี

เมื่อวันที่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๖๒ คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้วันที่ ๓ มิถุนายนของทุกปี เป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี เป็นวันหยุดราชการประจำปี ตามที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเสนอ


ที่มา: https://www.m-culture.go.th/phatthalung/ewt_news.php?nid=2462&filename=index

คุณปิ่น ธัญชนก ปการัตน์ | THE STUDY TIMES STORY EP.34

บทสัมภาษณ์ คุณปิ่น ธัญชนก ปการัตน์ ปริญญาตรี คณะรัฐศาสตร์ (เกียรตินิยมอันดับ 1) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไอดอลและนักแสดงวัยรุ่น

การเรียนรัฐศาสตร์ทำให้การมองโลกเป็นระบบมากขึ้น เอามาใช้กับการทำงานในวงการบันเทิงได้เป็นอย่างดี

คุณปิ่นเรียนจบการศึกษาจากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยแรงบันดาลใจในการเลือกเรียนคณะรัฐศาสตร์ มาจากช่วงม.ปลายเรียนสายวิทย์-คณิต เป็นคนเรียนดีปกติ แต่ยังค้นหาตัวเองไม่เจอ จนได้ไปเข้าค่ายค้นหาตัวตน ในคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล แต่เมื่อไปพบสิ่งที่ได้เรียนกลับรู้สึกว่าไม่ใช่สิ่งที่ชอบ จึงตัดสินใจไม่เลือกคณะวิทยาศาสตร์แน่ๆ จากนั้นได้ไปอ่านวิชาเรียนของรัฐศาสตร์ รู้สึกอยากเข้าไปเรียน อยากรู้มากกว่านี้ จึงตัดสินใจแอดมิดชันเข้าคณะรัฐศาสตร์ สาขาสังคมวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

เพราะคำพูดของอาจารย์ที่กล่าวว่า “คนเรียนแพทย์ จบไปเป็นหมอรักษาคน แต่คนเรียนรัฐศาสตร์ จบไปเป็นหมอรักษาสังคม” เกิดเป็นแรงบันดาลใจให้คุณปิ่นตั้งใจเรียนในสายสังคมวิทยา เพราะรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่อยู่รอบตัวเรา ส่งผลกระทบทั้งกับตนเอง ระดับสังคม ระดับประเทศ ไปจนถึงระดับทวีป สิ่งที่เรียนสามารถนำไปคิดต่อยอดได้เยอะมาก

เทคนิคการเรียนให้ได้เกียรตินิยมอันดับหนึ่งของคุณปิ่น คือ พยายามตั้งใจในหัวข้อที่สำคัญ อ่านชีทล่วงหน้า ตั้งคำถามไว้ก่อนที่อาจารย์จะสอน การบ้านเป็นสิ่งสำคัญ เหมือนการทวนไปในตัว สิ่งไหนที่ไม่รู้สามารถไปหาเพิ่มเติมได้ นอกจากนี้ คุณปิ่นจะมีเช็คลิสต์จัดลำดับสิ่งที่ต้องทำทุกวัน และพยายามทำให้ครบตามที่วางแผนไว้

คุณปิ่นแนะหลักในการทำข้อสอบของรัฐศาสตร์ คือ ต้องมองมุมกว้าง อธิบายถึงสิ่งที่เป็นหลักก่อน แล้วค่อยย่อยหัวข้อออกมา พร้อมทั้งยกตัวอย่างสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในสังคม มาเชื่อมโยงอย่างมีเหตุมีผล

คุณปิ่นกล่าวว่า สิ่งที่ได้จากการเรียนรัฐศาสตร์ คือ การมองโลกเปลี่ยนไป ไม่ตัดสินอะไรง่ายๆ มองทุกอย่างในมุมกว้างมากขึ้น พยายามตั้งคำถามกับทุกอย่างที่เกิดขึ้น มีทักษะ Critical Thinking เพิ่มขึ้น สามารถนำจุดนี้มาใช้ได้กับทุกเรื่อง

นอกจากนี้คุณปิ่นยังได้ทำกิจกรรมมากมายในรั้วมหาวิทยาลัย เช่น กิจกรรมค่ายสอนหนังสือเตรียมเข้ามหาวิทยาลัย ให้กับนักเรียนมัธยมที่ต่างจังหวัด การทำกิจกรรมครั้งนั้นพบว่า โรงเรียนที่ไปมีความกันดารมาก น้องๆ มีความรู้พื้นฐานไม่ตรงตามระดับชั้นที่เรียน ไม่มีความฝัน พี่ๆ ในค่ายจึงต้องพยายามสอนน้อง ปรับ mindset ใหม่ จนจบค่ายน้องมาขอบคุณพี่ๆ และบอกว่าตัวเองมีความฝันแล้วว่าอยากจะเข้าเรียนต่อในคณะอะไร ทำให้คุณปิ่นเกิดความตื้นตันใจมาก

จากความเหลื่อมล้ำที่พบเจอมา ทำให้คุณปิ่นอยากผลักดันด้านการศึกษาในประเทศไทย โดยมองว่า การศึกษาควรเริ่มที่บุคลากร คุณครูผู้สอน นอกจากสอนในเรื่องเนื้อหาแล้ว ควรสอนในเรื่องของการใช้ชีวิต สอนให้เด็กสามารถนำเนื้อหาที่เรียนมาประยุกต์ใช้กับชีวิตจริงได้

คุณปิ่นเคยอยู่ในวงดนตรีไอดอล ตำแหน่งมือกีตาร์ไฟฟ้า เนื่องจากมีความสนใจ อยากมีงานแสดงเป็นของตัวเองมาตั้งแต่เด็ก เมื่อมีคนมาชักชวนจึงตกลง ซึ่งต้องไปฝึกเล่นกีตาร์ไฟฟ้าใหม่ทั้งหมด โดยประสบการณ์ที่ได้ คือ เรื่องของการแบ่งเวลา ต้องแบ่งเวลาซ้อมและเวลาเรียน และอย่าลืมที่จะพักผ่อน คุณปิ่นกล่าวว่า ส่วนใหญ่เวลาที่ทำอะไรหลายๆ อย่าง เราต้องตั้งเป้าหมายที่ต้องการไว้ ว่าเราทำไปเพื่ออะไร นอกจากนี้ การเป็นไอดอลจะมีกลุ่มแฟนคลับที่คอยสนับสนุน สอนให้รู้จักการวางตัว และต้องพัฒนาตัวเองขึ้นไปเรื่อยๆ 

ปัจจุบันคุณปิ่นมุ่งสู่สายอาชีพนักแสดง มีความตั้งใจอยากแสดงซีรีส์ ซึ่งขณะนี้อยู่ในช่วงของการถ่ายทำ รวมทั้งยังเป็นสตรีมเมอร์ เล่นเกมให้คนอื่นเข้ามาดู ซึ่งแต่ละคนจะมีสไตล์การเล่นที่แตกต่างกัน คุณปิ่นมองว่า เกมเป็นตัวเชื่อมที่ทำให้ได้ติดต่อกับคนที่มีความชื่นชอบเหมือนกัน มีคนคอยแนะนำ เหมือนได้เล่นเกมกับเพื่อน ไม่ได้เล่นอยู่คนเดียว

.

.

.


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top