Monday, 28 April 2025
TheStatesTimes

‘โอเดสซา’ เป้าหมายสำคัญ!! ทางภูมิรัฐศาสตร์ ที่ส่งผลต่อพลังอำนาจ คุมเมืองนี้ได้!! หมายถึง การปิดล้อมยูเครน จากทะเลโดยสมบูรณ์

(7 เม.ย. 68) เมืองโอเดสซา (Odesa) ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนใต้ของยูเครนริมฝั่งทะเลดำ เป็นหนึ่งในเมืองยุทธศาสตร์ที่สำคัญที่สุดในสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน เนื่องจากบทบาททั้งทางเศรษฐกิจ การทหาร และประวัติศาสตร์ของเมืองนี้ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า หากโอเดสซาถูกยึดครองโดยรัสเซีย ความมั่นคงของยูเครนและโครงสร้างพลังงาน-การค้าของยุโรปจะถูกเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง

เราสามารถเห็นตลอดสงครามที่ผ่านมาโอเดสซาเป็นเป้าหมายสำคัญของการการโจมตีของฝั่งรัสเซียมาโดยตลอด เมื่อวิเคราะห์แล้วพบว่าโอเดสซามีความสำคัญ 5 ด้านด้วยกัน

1) โอเดสซาเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางทะเลและการค้าโลก
โอเดสซา (Odessa หรือ Odesa) ตั้งอยู่ริมฝั่งทะเลดำในตอนใต้ของยูเครน ซึ่งถือเป็นหนึ่งในจุดยุทธศาสตร์สำคัญทางภูมิรัฐศาสตร์และเศรษฐกิจระดับภูมิภาคและระดับโลก ทำเลของโอเดสซาเอื้อให้เมืองนี้ทำหน้าที่เป็น “ประตู” สำคัญของยูเครนในการเชื่อมต่อกับภูมิภาคอื่นๆ ได้แก่ ยุโรปตอนใต้ (ผ่านช่องแคบบอสฟอรัส) ตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ (ผ่านทะเลเมดิเตอร์เรเนียน) รวมถึงเครือรัฐเอกราช (CIS) และตลาดยูเรเซียน ในแง่นี้ โอเดสซาทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ และ จุดผ่านส่งออกสินค้าเกษตร พลังงาน และสินค้าอุตสาหกรรมของยูเครน โดยเฉพาะธัญพืช เช่น ข้าวโพดและข้าวสาลี ซึ่งยูเครนถือเป็นหนึ่งในผู้ส่งออกรายใหญ่ของโลก

ท่าเรือโอเดสซา (Odesa Port) เป็นหนึ่งในท่าเรือเชิงพาณิชย์ที่ใหญ่ที่สุดของทะเลดำ โดยมีโครงสร้างพื้นฐานครบครันทั้งสำหรับการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ สินค้าเหลว สินค้าเทกอง และเรือโดยสารรองรับการขนส่งมากกว่า 40 ล้านตันต่อปี เป็นศูนย์กลางของเครือข่ายรางและถนนที่เชื่อมต่อกับยุโรปตะวันออก มีเขตปลอดภาษีและเขตเศรษฐกิจพิเศษ ที่ดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศ เมื่อเทียบกับท่าเรืออื่น ๆ เช่น มิโคลาอีฟ(Mykolaiv) หรือ โครโนมอรสก์ Chornomorsk โอเดสซามีบทบาทสำคัญกว่าทั้งในแง่ของขนาด ความสามารถในการรองรับเรือขนาดใหญ่และการเป็นศูนย์ควบคุมด้านการค้า

โอเดสซาจึงเป็นท่าเรือใหญ่ที่สุดของยูเครนและมีบทบาทสำคัญในระบบเศรษฐกิจ เป็นท่าเรือส่งออกสินค้าเกษตร เช่น ข้าวสาลี ข้าวโพด และน้ำมันพืช ไปยังตลาดโลก โดยเฉพาะในแอฟริกาและตะวันออกกลางโดยเฉพาะอย่างยิ่งมีบทบาทสำคัญใน "ข้อตกลงธัญพืช" (Black Sea Grain Initiative) ซึ่งเป็นข้อตกลงระหว่างยูเครน–ตุรกี–สหประชาชาติ–รัสเซีย เพื่อให้การส่งออกผ่านทะเลดำดำเนินต่อไปได้แม้ในช่วงสงคราม หากโอเดสซาถูกปิดล้อมหรือยึดโดยรัสเซียจะทำให้ระบบส่งออกของยูเครนล่มสลาย และตลาดอาหารโลกเกิดความปั่นป่วน แสดงให้เห็นว่าโอเดสซาไม่ได้มีความสำคัญเพียงสำหรับยูเครนหรือรัสเซียเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อ เสถียรภาพทางอาหารของโลกโดยตรงอีกด้วย

2) โอเดสซาเป็นจุดเชื่อมสำคัญของ NATO และตะวันตก
โอเดสซาอยู่ใกล้พรมแดนมอลโดวาและอยู่ไม่ไกลจากกลุ่มประเทศ NATO ในยุโรปตะวันออก เช่น โรมาเนียและบัลแกเรีย ดังนั้นโอเดสซาจึงมีบทบาทเป็นแนวหน้าในการต้านการขยายอิทธิพลของรัสเซียทางทะเล การควบคุมโอเดสซาจะทำให้รัสเซียสามารถคุกคามน่านน้ำของ NATO ได้มากขึ้น และอาจกลายเป็นจุดตัดเส้นทางการขนส่งยุทโธปกรณ์และความช่วยเหลือจากตะวันตกผ่านทะเลดำ

3) การเชื่อมโยงยุทธศาสตร์ "Land Bridge" สู่ทรานส์นิสเตรีย
ทรานส์นีสเตรีย (หรือ “ПМР” – Приднестровская Молдавская Республика) เป็นดินแดนที่ประกาศเอกราชจากมอลโดวาในช่วงหลังสหภาพโซเวียตล่มสลาย และยังคงมีทหารรัสเซียประจำการอยู่ตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษ 1990 โดยไม่เป็นที่ยอมรับของนานาชาติ ทรานส์นิสเตรียมีประชากรเชื้อสายรัสเซียและยูเครนจำนวนมาก มีรัฐบาลเฉพาะกิจและนโยบายที่ใกล้ชิดกับเครมลิน มีกองกำลังรัสเซียจำนวน1,500 นายประจำการในนาม “กองกำลังรักษาสันติภาพ” ดังนั้น ทรานส์นีสเตรียจึงเป็น “ด่านหน้าของรัสเซีย” ในยุโรปตะวันออก และอาจกลายเป็นจุดยุทธศาสตร์สำหรับการขยายอิทธิพลไปยังมอลโดวาและคาบสมุทรบอลข่าน

ในบริบทของสงครามรัสเซีย–ยูเครน แนวคิด “Land Bridge” หมายถึงการสร้างแนวต่อเนื่องของพื้นที่ควบคุมทางบกของรัสเซียจากดอนบาส ผ่านแคว้นเคอร์ซอน–ซาปอริซเซีย–ไครเมีย และลงมาทางโอเดสซา จนไปถึง ทรานส์นีสเตรีย (Transnistria) — ดินแดนที่รัสเซียให้การสนับสนุนอย่างไม่เป็นทางการในมอลโดวาตะวันออก หากรัสเซียสามารถควบคุมดินแดนนี้ได้ทั้งหมด จะทำให้เกิด “โค้งอิทธิพล” เชิงพื้นที่ที่เชื่อมรัสเซียกับดินแดนมอลโดวาตะวันออกโดยไม่ขาดตอน สามารถเสริมเส้นทางส่งกำลังทหาร/ข่าวกรอง/ทรัพยากร ระหว่างรัสเซีย–ไครเมีย–ทรานส์นีสเตรีย โดยไม่พึ่งทางอากาศหรือทะเลที่เสี่ยงต่อการถูกโจมตี ซึ่งถือเป็นชัยชนะเชิงภูมิรัฐศาสตร์สำคัญ สามารถเชื่อมอิทธิพลทางทหารจากทะเลดำเข้าสู่ยุโรปตะวันออกตอนล่างและปิดกั้นทางออกทะเลของยูเครนอย่างสมบูรณ์ นี่จึงเป็นหนึ่งใน “Grand Strategy” ของรัสเซีย ที่ไม่ได้หยุดแค่ดอนบาสหรือไครเมีย แต่ครอบคลุมถึงการสร้าง “แนวต่อเนื่องแห่งอิทธิพล” บนแผ่นดินยุโรปตะวันออก

ซึ่งเห็นได้ชัดจากคำกล่าวของ พลโทรุสตัม มินเนคาเยฟ (Rustam Minnekayev) รองผู้บัญชาการกองทัพภาคกลางของรัสเซีย ที่กล่าวต่อสาธารณะในปี 2022 ว่า “เป้าหมายประการหนึ่งของปฏิบัติการทางทหารพิเศษคือการสร้างการควบคุมอย่างเต็มรูปแบบเหนือพื้นที่ทางใต้ของยูเครน ซึ่งจะช่วยให้มีทางออกอื่นสำหรับทรานส์นีสเตรีย” แสดงให้เห็นว่า "Land Bridge" ไม่ใช่แนวคิดสมมุติ แต่เป็น เป้าหมายทางยุทธศาสตร์ที่อยู่ในการพิจารณาของกองทัพรัสเซีย

4) ความหมายเชิงประวัติศาสตร์และสัญลักษณ์
โอเดสซาเป็นเมืองที่มีความสำคัญในสมัยจักรวรรดิรัสเซียและสหภาพโซเวียต มีประชากรรัสเซียจำนวนมากในอดีต แม้ว่ายูเครนจะเป็นรัฐอธิปไตยตั้งแต่ปี 1991 แต่โอเดสซายังคงมีประชากรจำนวนมากที่ใช้ภาษารัสเซียเป็นหลัก และมีประวัติของการสนับสนุนแนวคิดนิยมรัสเซียในบางช่วงเวลา หลังการปฏิวัติยูโรไมดานในปี 2014 และการผนวกไครเมียโดยรัสเซีย มีความตึงเครียดในโอเดสซาระหว่างกลุ่มสนับสนุนยูเครนกับกลุ่มนิยมรัสเซีย เช่นเหตุการณ์ไฟไหม้อาคารสหภาพแรงงานในเดือนพฤษภาคม 2014 ที่มีผู้เสียชีวิตกว่า 40 ราย เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่รัสเซียใช้เพื่อชี้ถึงการ “ปราบปรามชาวรัสเซีย” ในยูเครน

นอกจากนี้เป็นเมืองแห่งศิลปวัฒนธรรม การค้า และการทหารที่เคยเป็นของจักรวรรดิรัสเซียตั้งแต่ศตวรรษที่ 18  โอเดสซาก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1794 โดยคำสั่งของจักรพรรดินีแคเธอรีนมหาราชา หลังจากรัสเซียได้ดินแดนจากอาณาจักรออตโตมันผ่านสงคราม ในช่วงศตวรรษที่ 19 เมืองนี้กลายเป็นท่าเรือสำคัญและเมืองพหุวัฒนธรรมภายใต้จักรวรรดิรัสเซีย มีบทบาทโดดเด่นในระบบเศรษฐกิจของจักรวรรดิและในเวลาต่อมาของสหภาพโซเวียต โดยมีประชากรพูดภาษารัสเซียจำนวนมาก สถาปัตยกรรม วรรณกรรม และชีวิตทางวัฒนธรรมของโอเดสซาสะท้อนอัตลักษณ์รัสเซียอย่างลึกซึ้ง โอเดสซายังเป็นบ้านของนักเขียนชื่อดัง เช่น อิสฮัก บาเบล (Isaac Babel) ซึ่งสะท้อนภาพเมืองในฐานะศูนย์กลางทางวัฒนธรรมของรัสเซียทางตอนใต้

ดังนั้นโอเดสซาจึงเป็นเป้าหมายสำคัญใน “นโยบายรวมชาติชาวรัสเซีย” (русский мир) หรือ “Russian World” ของเครมลินซึ่งเป็นแนวคิดเชิงภูมิรัฐศาสตร์-วัฒนธรรมที่กลายมาเป็นรากฐานสำคัญของนโยบายต่างประเทศของรัสเซียภายใต้ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินตั้งแต่กลางทศวรรษที่ 2000 เป็นต้นมา แนวคิดนี้เสนอว่ารัสเซียมีหน้าที่และสิทธิในการปกป้อง “โลกของชาวรัสเซีย” ซึ่งหมายถึงประชาชนเชื้อสายรัสเซีย ชาวสลาฟอีสเทิร์น-ออร์โธดอกซ์ และผู้ใช้ภาษารัสเซียในประเทศอื่น ๆ ของอดีตสหภาพโซเวียต โดยเฉพาะในยูเครน เบลารุส คาซัคสถาน และประเทศในคอเคซัสและบอลติก ภายใต้นโยบาย (русский мир) โอเดสซาไม่ได้ถูกมองเพียงในมิติภูมิรัฐศาสตร์เท่านั้น แต่ยังเป็นการ “กู้คืน” เมืองประวัติศาสตร์ที่ถูก “แยก” ออกจากโลกของรัสเซียโดยความผิดพลาดของประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะในมุมมองของผู้นำรัสเซียซึ่งเชื่อว่าการล่มสลายของสหภาพโซเวียตเป็น “โศกนาฏกรรม” ทางภูมิรัฐศาสตร์ ในปี 2021 ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินได้เขียนบทความชื่อว่า “On the Historical Unity of Russians and Ukrainians” ซึ่งกล่าวถึงยูเครนว่าเป็นส่วนหนึ่งของ “โลกเดียวกัน” กับรัสเซีย เมืองอย่างโอเดสซาจึงถูกตีความว่าเป็น “เมืองรัสเซียโดยธรรมชาติ” ที่ควรกลับคืนสู่โลกของรัสเซีย

5) สถานการณ์ทางทหารและการโจมตี
ตั้งแต่เริ่มสงครามในปี 2022 โอเดสซาเป็นเป้าหมายของขีปนาวุธจากรัสเซียซ้ำแล้วซ้ำเล่า โครงสร้างพื้นฐานพลังงานและท่าเรือถูกโจมตีหลายครั้งมีความพยายามในการใช้โดรนโจมตีท่าเรือและโกดังธัญพืชอย่างต่อเนื่องเป็นจุดที่ยูเครนพยายามตั้งระบบป้องกันทางอากาศอย่างเข้มข้น 

โดยเหตุการณ์การโจมตีที่สำคัญมีดังนี้

6 มีนาคม 2024: ขีปนาวุธของรัสเซียระเบิดใกล้กับสถานที่ที่ประธานาธิบดียูเครน โวโลดีมีร์ เซเลนสกี และนายกรัฐมนตรีกรีซ คีเรียกอส มิตโซตากิส กำลังประชุมกันในโอเดสซา ทำให้มีผู้เสียชีวิต 5 คน

17 พฤศจิกายน 2024: รัสเซียเปิดฉากการโจมตีทางอากาศครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2024 โดยยิงขีปนาวุธประมาณ 120 ลูกและโดรน 90 ลำ ไปยังเมืองต่าง ๆ ทั่วยูเครน รวมถึงโอเดสซา การโจมตีครั้งนี้ทำให้มีผู้เสียชีวิต 2 คนในโอเดสซา และตัดการจ่ายน้ำและไฟฟ้าในเมือง 

18 พฤศจิกายน 2024: ขีปนาวุธของรัสเซียโจมตีโอเดสซา ทำให้มีผู้เสียชีวิต 10 คน และบาดเจ็บ 44 คน โดยผู้เสียชีวิตรวมถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจ 7 นาย เจ้าหน้าที่การแพทย์ 1 คน และพลเรือน 2 คน 

31 มกราคม 2025: รัสเซียยิงขีปนาวุธใส่ศูนย์กลางประวัติศาสตร์ของโอเดสซา ซึ่งเป็นพื้นที่มรดกโลกของยูเนสโก ทำให้มีผู้บาดเจ็บ 7 คน และสร้างความเสียหายอย่างรุนแรงต่ออาคารประวัติศาสตร์ 

11 มีนาคม 2025: การโจมตีด้วยขีปนาวุธของรัสเซียทำให้เรือบรรทุกสินค้าธัญพืชในท่าเรือโอเดสซาได้รับความเสียหาย ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 4 คน 

21 มีนาคม 2025: รัสเซียเปิดฉากการโจมตีด้วยโดรนครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งต่อโอเดสซา ทำให้เกิดไฟไหม้ขนาดใหญ่และมีผู้บาดเจ็บ 3 คน
การโจมตีต่อเมืองนี้สะท้อนถึงความพยายามของรัสเซียในการควบคุมเส้นทางการค้าและตัดยูเครนออกจากการเข้าถึงทางทะเล

สรุป โอเดสซาไม่ได้เป็นเพียงเมืองสำคัญทางเศรษฐกิจของยูเครนเท่านั้น แต่คือ "จุดยุทธศาสตร์" ทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ส่งผลต่อโครงสร้างพลังอำนาจในทะเลดำและยูเรเซีย เป็นจุดยุทธศาสตร์ที่มีความสำคัญต่อทั้ง การทหาร เศรษฐกิจ วัฒนธรรม และการเมือง ในสงครามรัสเซีย–ยูเครน การควบคุมเมืองนี้จะทำให้รัสเซียได้เปรียบเชิงโครงสร้างทั้งในระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศ การยึดครองโอเดสซาอาจหมายถึงการปิดล้อมยูเครนจากทะเลโดยสมบูรณ์ และการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในสมดุลอำนาจระหว่างรัสเซียกับตะวันตก ขณะที่สำหรับยูเครน การรักษาโอเดสซาไว้ได้ คือการคงไว้ซึ่งเส้นทางสู่ทะเลดำและความอยู่รอดในระดับชาติ

การที่ชาติหนึ่ง จะหวังให้อีกชาติหนึ่ง มาคอยเป็นพี่เลี้ยง หรือคุ้มครอง ไม่ใช่ความคิดที่ถูกต้อง เราต้องพึ่งตนเอง

(7 เม.ย. 68) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รัชดา ธนาดิเรก อดีตรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊ก โดยมีใจความว่า …

ทักทายจากฟิลิปปินส์ค่ะ มาร่วมงานเสวนา “South China Sea disputes under Trump 2.0: Finding a common ground among claimant states.”

ในวงเสวนาพูดกันเยอะว่าการที่ชาติหนึ่งจะหวังให้อีกชาติหนึ่งมาคอยเป็นพี่เลี้ยงหรือคุ้มครองไม่ใช่ความคิดที่ถูกต้อง เราต้องพึ่งตนเองและสร้างพันธมิตรในการต่อสู้เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศโดยที่ไม่ต้องรบกัน…อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งในเรื่องพื้นที่ทางทะเลก็ควรจำกัดวงไว้ ไม่ยกระดับเป็นความขัดแย้งอื่นเพราะมันจะมีผลต่อเศรษฐกิจและความเสียหายอื่นได้

‘พงศ์พรหม’ ชื่นชม!! ‘เอกนัฏ-อรรถวิชญ์-ฐิติภัสร์’ ในการสืบสวน อุตสาหกรรมก่อสร้าง เดินหน้าปราบ!! คอร์รัปชั่น แก้ปัญหาการผูกขาด รบกับอภิสิทธิ์ชนที่โกงชาติ เพื่อปชช.

(7 เม.ย. 68) นายพงศ์พรหม ยามะรัต นักธุรกิจด้านเทคโนโลยี และอดีตรองหัวหน้าพรรคกล้า ได้โพสต์เฟซบุ๊กเกี่ยวกับ การสืบสวนความผิดปกติของอุตสาหกรรมการก่อสร้าง โดยได้ระบุว่า ...

การสืบสวนความผิดปกติของอุตสาหกรรมการก่อสร้างรอบนี้ ต้องยกเครดิตให้คุณเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ คุณโอ๋ และคุณเอ๋ (อรรถวิชญ์)
ผมรู้จักคุณเอ๋ส่วนตัว แต่อีก 2 ท่าน ผมไม่รู้จักอะไรส่วนตัวเลย และเลือกตั้งรอบที่ผ่านมาผมก็ไม่ได้เลือก รทสช.ด้วย

แต่วิกฤติรอบนี้ สร้าง “ตัวจริง” ให้แจ้งเกิดได้อย่างงดงามในฝั่ง “ขวาปฏิรูป”
ขอชื่นชมมากๆ แทนสังคมไทย

และฝากพรรคฝั่งขวา เช่นประชาธิปัตย์ พลังประชารัฐ ภูมิใจไทย (ปี 66 ผมไม่ได้เลือก 3 พรรคนี้เช่นกัน) ศึกษาการทำงานโดยเอาผลประโยชน์ประชาชนเป็นหลักของคน 3 คนนี้ไว้ 
พรรคฝั่งขวาจะโตได้ ต้องมีเป้าหมายเป็นการแก้ปัญหาให้ประชาชนเป็นตัวตั้ง เหมือนที่ในหลวงทุกรัชกาลท่านพูดไว้เสมอ

พรรคก้าวไกลเขาได้รับความนิยมสูงมาก ไม่ใช่เพราะประชาชนอยากล้มเจ้า
แต่พรรคก้าวไกลเขามี 1 อุดมการณ์ที่ผมก็ชื่นชม คือการรบกับการคอร์รัปชั่น รบการผูกขาด รบอภิสิทธิ์ชนที่โกงชาติอย่างเป็นล่ำเป็นสัน

ไม่ใช่สักแต่พูดว่ารักเจ้าไปเรื่อย แต่ผูกตัวเองกับระบบสูบเลือด สูบเนื้อประเทศชาติจนเสียหายแบบพรรคฝ่ายขวาส่วนใหญ่
เราจึงเห็น 2 พรรคฝ่ายขวาที่คนเค้าไม่เอาแล้ว ทั้งที่ประชาชนเคยนิยม ได้แก่พรรคพลังประชารัฐ และพรรคประชาธิปัตย์ ที่รอวันล่มสลาย หากไม่เปลี่ยนวิธีคิดตัวเอง

หากคุณเอกนัฏ คุณโอ๋ คุณเอ๋ ยัง keep pace นี้ได้ ให้ยาวจนจบรัฐบาล
แถม “สลัด” สมาชิกพรรคฝั่ง “โกงยับ” ที่มาเป็นกาฝากในพรรคได้
อนาคตคนกลุ่มนี้จะสดใสมากในการเมืองไทยครับ

มหากาพย์แห่งสงครามอินโดจีน EP#2 สงครามเวียดนาม ที่สหรัฐอเมริกาเข้าร่วม

(12 เม.ย. 68) ตลอดเดือนเมษายน 2568 พบกับเรื่องราวของมหากาพย์แห่งสงครามอินโดจีน 
ในโอกาสครบ 50 ปีแห่งการสิ้นสุดสงคราม วันที่ 30 เมษายน 2518

มหากาพย์แห่งสงครามอินโดจีน EP#2 ‘สงครามเวียดนามที่สหรัฐอเมริกาเข้าร่วม’

“ข้อตกลงเจนีวา (1954)” ได้ยุติสงครามระหว่างขบวนการเรียกร้องเอกราชในเวียตนามซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสหภาพโซเวียตและสาธารณรัฐประชาชนจีนกับกองกำลังยึดครองอาณานิคมของฝรั่งเศสได้สำเร็จ แต่ “ข้อตกลงเจนีวา (1954)” ก็แบ่งเวียดนามออกเป็นสองฝ่ายอีกครั้ง เวียตมินห์ซึ่งนำโดย ‘โฮจิมินห์’ ควบคุมเวียตนามภาคเหนือ และฝรั่งเศสควบคุมภาคใต้ โดยจัดให้มีการเลือกตั้งในปี 1956 เพื่อจัดตั้งรัฐบาลสำหรับทั้งประเทศ ฝรั่งเศสส่งมอบอำนาจให้กับรัฐบาลที่ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกา นำโดย ‘โง ดินห์ เดียม’ ในภาคใต้ แต่ ‘เดียม’ ปฏิเสธที่จะจัดการเลือกตั้งจึงส่งผลให้เกิดสงครามอีกครั้งหนึ่ง ‘เดียม’ ซึ่งเป็นนับถือโรมันคาธอลิก ได้ออกกฎหมายเลือกปฏิบัติต่อชาวพุทธซึ่งเป็นชนกลุ่มใหญ่มากมาย จึงทำให้เขาไม่เป็นที่นิยมในหมู่ประชาชนเวียดนามใต้ส่วนใหญ่

แม้ว่าในข้อตกลงจะระบุว่า “เส้นแบ่งเขตทางทหาร (เส้นขนานที่ 17)” เป็นเพียงการใช้ชั่วคราวและไม่ใช่ขอบเขตทางการเมือง แต่ในทางปฏิบัติสหรัฐอเมริกากลับยอมรับให้เวียดนามใต้เป็นประเทศอิสระ และให้การสนับสนุนทั้งทางการทหารและการเงิน แต่แนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติของเวียดนามใต้ที่สนับสนุนคอมมิวนิสต์ (‘เวียดกง (VC)’ หรือที่ทหารอเมริกันเรียกว่า ‘ชาลี’) ไม่ยอมรับการบริหารของ ‘เดียม’ ซึ่งพวกเขามองว่า ‘เดียม’ เป็นหุ่นเชิดของอเมริกัน ด้วยความช่วยเหลือของกองทัพประชาชนเวียดนามเหนือ พวกเขาเริ่มการต่อสู้เพื่อรวมเวียดนามให้เป็นหนึ่งภายใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์เวียตนามและต่อต้านการเข้าทาแทรกแซงด้วยกำลังทหารของสหรัฐอเมริกา

ในระยะแรกของสงคราม สหรัฐอเมริกาเพียงแต่จัดส่งอาวุธยุทโธปกรณ์และที่ปรึกษาทางการทหารจำนวนหนึ่งให้กับเวียดนามใต้เท่านั้น แต่หลังจาก “เหตุการณ์อ่าวตังเกี๋ย (Gulf of Tonkin incident)*” ในปี 1963 ลินดอน บี. จอห์นสัน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในขณะนั้นได้ตัดสินใจส่ง “กองกำลังภาคพื้นดิน” จำนวนหลายพันนายไปประจำการในเวียตนามใต้ เป็นจุดเริ่มต้นของปฏิบัติการทางทหารของสหรัฐฯ ในเวียตนามใต้ และทำให้ในช่วงสงครามระหว่างปี 1963–1975 มีทหารสหรัฐจำนวนมากกว่า 2.7 ล้านนายถูกส่งไปผลัดเปลี่ยนในการปฏิบัติการรบในเวียตนามใต้ 
*เหตุการณ์อ่าวตังเกี๋ย เป็นเหตุการณ์ปะทะทางเรือในอ่าวตังเกี๋ย นอกชายฝั่งเวียตนามเหนือ ระหว่างวันที่ 2 ถึง 4 สิงหาคม 1964 เหตุการณ์นี้มีการรายงานต่อรัฐสภาสหรัฐเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 1964 โดยระบุว่า เป็นปฏิบัติการโจมตีโดยเรือตอร์ปิโดของเวียดนามเหนือต่อเรือพิฆาตแมดด็อกซ์และเทิร์นเนอร์จอยของสหรัฐฯ 2 ครั้ง นำไปสู่การลง “มติอ่าวตังเกี๋ย” ซึ่งทำให้ประธานาธิบดีลินดอน บี. จอห์นสันมีอำนาจจนสามารถเพิ่มระดับการมีส่วนร่วมของกองทัพสหรัฐในสงครามเวียตนามได้เป็นอย่างมาก

ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ไทยกลายเป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดกับสหรัฐฯ และเป็นที่ตั้งของฐานทัพอากาศที่สำคัญสำหรับปฏิบัติการทางอากาศของกองทัพสหรัฐฯ ในสงครามเวียดนาม นอกจากไทยแล้ว ยังมี ฟิลิปปินส์ อดีตอาณานิคมของสหรัฐฯ ซึ่งได้รับเอกราชในปี 1946 เป็นที่ตั้งฐานทัพสำคัญสำหรับการทำสงครามของสหรัฐฯ เช่นกัน เช่นฐานทัพเรืออ่าวซูบิก และฐานทัพอากาศคลาร์ก สำหรับพันธมิตรระดับภูมิภาคอื่น ๆ ของสหรัฐฯ ได้แก่ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น มาเลเซีย สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ไต้หวัน และฮ่องกงซึ่งในขณะนั้นเป็นอาณานิคมของอังกฤษ พื้นที่เหล่านี้ยังได้เลือกโดยกองทัพสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการให้เป็นจุดหมายปลายทางสำหรับการพักผ่อนและฟื้นฟูของทหารอเมริกันที่เข้าร่วมรบในสงคราม ซึ่งส่งผลให้ภาคการท่องเที่ยวของประเทศเหล่านี้เติบโต (เว้นออสเตรเลีย) และส่งผลให้การท่องเที่ยวด้านอบายมุขและบริการทางเพศในพื้นที่ดังกล่าวเติบโตขึ้นเช่นกัน (โดยเฉพาะไทย)

ด้วยความหวาดกลัวคอมมิวนิสต์ของภูมิภาคนี้ จึงทำให้เกิด “องค์การสนธิสัญญาป้องกันภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (สปอ.) หรือ Southeast Asia Treaty Organization (SEATO)” ตั้งขึ้นในปี 1954 เป็นองค์การความร่วมมือด้านความมั่นคงระหว่างประเทศของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันการขยายตัวของลัทธิคอมมิวนิสต์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงสงครามเย็น เป็นส่วนหนึ่งของลัทธิทรูแมน (Truman Doctrine) ในการสร้างแนวร่วมเพื่อต่อต้านคอมมิวนิสต์ในระดับทวิภาคีและส่วนร่วมในสนธิสัญญาป้องกันระดับภูมิภาค (อ่าน “ตัวตนที่เลือนลาง!! หวนรำลึก SEATO องค์การ ‘เสือกระดาษ’ แห่งภูมิภาคอาเซียน”

หมายเหตุ ผู้เขียนใช้คำว่า “เวียตนาม” ตัว ‘ต’ สะกด เพราะเอกสารสมัยก่อนใช้เช่นนี้ ต่อมาภายหลังจึงเปลี่ยนมาเป็น “เวียดนาม” สะกดด้วยตัว ‘ด’

มหากาพย์แห่งสงครามอินโดจีน EP#3 สงครามกลางเมือง กับ ‘ทฤษฎีโดมิโน’

(13 เม.ย. 68) ตลอดเดือนเมษายน 2568 พบกับเรื่องราวของมหากาพย์แห่งสงครามอินโดจีน 
ในโอกาสครบ 50 ปีแห่งการสิ้นสุดสงคราม วันที่ 30 เมษายน 2518

มหากาพย์แห่งสงครามอินโดจีน EP#3 ‘สงคราม (ลับ) ในลาว’

สงครามกลางเมืองลาวเกิดขึ้นระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์ลาวและรัฐบาลลาวหลวงตั้งแต่วันที่ 23 พฤษภาคม 1959 ถึง 2 ธันวาคม 1975 ราชอาณาจักรลาวเป็นพื้นที่ปฏิบัติการลับในช่วงสงครามเวียดนาม โดยทั้งสองฝ่ายได้รับการสนับสนุนจากภายนอกอย่างหนักในสงครามตัวแทนระหว่างมหาอำนาจสงครามเย็นระดับโลก การสู้รบยังเกี่ยวข้องกับกองทัพเวียตนามเหนือ เวียตนามใต้ สหรัฐอเมริกา และไทย ทั้งโดยตรงและผ่านตัวแทนที่ไม่เปิดเผย สงครามนี้เป็นที่รู้จักในชื่อ “สงครามลับในลาว” ซึ่งรับผิดชอบปฏิบัติการโดย CIA

วันที่ 9 สิงหาคม 1960 รอ.กองแล วีระสาน รองผู้บัญชาการกองกำลังพลร่มที่ 2 ได้ทำการรัฐประหารในราชอาณาจักรลาว รอ.กองแล ผู้ซึ่งแทบจะไม่มีใครรู้จักแม้แต่ในลาวเอง และล้มรัฐบาลฝ่ายขวาของเจ้าสมสนิท ทำให้เจ้าสุวันพูมาได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง นอกจากนั้น รัฐประหารที่เขาทำให้เกิดการเจรจาที่นำไปสู่ “ข้อตกลงเจนีวาว่าด้วยลาว” ในเดือนกรกฎาคม 1963 รัฐประหารครั้งนั้นทำให้สหรัฐฯและชาติอื่น ๆ ต้องประหลาดใจ และนำไปสู่ความขัดแย้งในการแย่งชิงอำนาจในลาว นอกจากนั้นแล้วการรัฐประหารในครั้งนั้นยังทำให้เกิดความกลัวอย่างต่อเนื่องตามแนวคิดทางการเมืองอเมริกันที่ว่า ประเทศใดก็ตามที่กลายเป็นคอมมิวนิสต์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้วจะแพร่ขยายไปสู่ประเทศอื่น ๆ จนกลายเป็นคอมมิวนิสต์ตามไปด้วยตาม “ทฤษฎีโดมิโน”

ดังนั้นประธานาธิบดี Eisenhower และประธานาธิบดี Kennedy ในเวลาต่อมา จึงได้ตัดสินใจเริ่มปฏิบัติการลับในลาว เริ่มต้นจากการฝึกอบรมและติดอาวุธสมาชิกกองกำลังต่อต้านคอมมิวนิสต์จำนวนไม่มาก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชนกลุ่มชาติพันธุ์ม้ง และจากนั้นก็กลายเป็นการปฏิบัติการครั้งใหญ่ที่ดำเนินต่อไปเป็นเวลาหลายปี ก่อนที่สหรัฐฯจะเริ่มทิ้งระเบิด และโจมตีเส้นทางโฮจิมินห์ สงครามในลาวและเวียตนามไม่ได้แยกจากกันโดยสิ้นเชิง มีการทับซ้อนกันในบางส่วน แต่ส่วนใหญ่แล้วเป็นปฏิบัติการที่แยกออกจากกัน สงครามในลาวทำให้ CIA กลายเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในวอชิงตันและกลายเป็นหน่วยงานปฏิบัติการทางทหาร แม้ว่าลาวจะถือว่ามีความสำคัญต่อยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ แต่ก็เป็นเพียงประเทศเล็ก ๆ ที่อยู่ห่างไกลมาก นักข่าวส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงฐานของกองกำลังลาวม้งและกองกำลังของลาวหน่วยอื่น ๆ ได้ เมื่อไม่ปรากฏเป็นข่าว สภาคองเกรสจึงเต็มใจที่จะดำเนินการตามสงครามไปจนถึงปลายทศวรรษที่ 60 และต้นทศวรรษที่ 70 โดยไม่ตั้งกระทู้ถามจนมากเกินไป และประชาชนชาวอเมริกันก็ไม่ค่อยจะรู้อะไรเกี่ยวกับลาวมากนัก และในที่สุดก็มีสถานการณ์ที่ทำให้ CIA กำลังมีอิทธิพลมากขึ้นและเห็นว่าลาวเป็นตั๋วสำหรับอิทธิพลนี้ในกระบวนการนโยบายต่างประเทศ 

โครงการฝึกอบรมทางทหารขนาดเล็กในลาวได้ถูกพัฒนาจนเป็นโครงการการฝึกอบรมทางทหารที่มีขนาดใหญ่ขึ้น และในที่สุดก็เป็นกลายการปฏิบัติการเต็มรูปแบบ โดยในช่วงกลางถึงปลายทศวรรษที่ 1960 เจ้าหน้าที่ CIA ได้สั่งการกองกำลังหรือปฏิบัติการเพื่อสั่งการกองกำลังซึ่งปฏิบัติการในพื้นที่ลาว ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่การฝึกเท่านั้น CIA และสถานทูตสหรัฐฯได้เพิ่มการทิ้งระเบิดครั้งใหญ่เพื่อสนับสนุนปฏิบัติการ และในที่สุดโครงการฝึกอบรมก็มีจำนวนมากขึ้นจนกลายเป็นกองกำลังที่มีกำลังพลหลายหมื่นนาย และอาจมากกว่า 100,000 นายเสียด้วยซ้ำ สิ่งที่มีคือ กลายเป็นว่า CIA และสถานทูตสหรัฐฯทำสงครามกันเป็นภารกิจหลัก ภารกิจของพวกเขาเปลี่ยนไปจากไม่เพียงแต่ทำการรวบรวมข่าวกรอง  แต่เป็นการดูแลและจัดการความขัดแย้งขนาดใหญ่ด้วย แม้จะมีการปฏิรูป CIA ในช่วงทศวรรษที่ 1970 แต่การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนั้นไม่เคยหายไป กลับกลายเป็นยิ่งเพิ่มความเด่นชัดมาก

โดยที่ปฏิบัติการทหารในลาวมีความสอดคล้องกับสงครามของสหรัฐฯในเวียดนาม และการทิ้งระเบิดกัมพูชาอย่างลับ ๆ ด้วยสงครามในภูมิภาคนี้มีความสัมพันธ์กันและเป้าหมายโดยรวมก็มีการแบ่งปันกันในวงกว้าง แต่ CIA และเอกอัครราชทูตสหรัฐฯประจำลาวพยายามอย่างเต็มที่เพื่อให้แน่ใจว่าผู้บัญชาการทหารของสหรัฐฯที่รับผิดชอบปฏิบัติการทางทหารซึ่งบริหารจัดการสงครามในเวียตนามจะไม่สามารถปฏิบัติการในลาวได้ เพราะตัวเอกอัครราชทูตสหรัฐฯประจำลาว Bill Sullivan และ CIA ก้าวไปในเรื่องของสงครามในลาวจนไกลมากแล้ว และที่ปรึกษาทางทหารของสหรัฐฯ ที่ได้รับมอบหมายให้ประจำการในกรุงเทพฯ ไม่สามารถให้คำแนะนำที่สำคัญได้เลย เพราะเอกอัครราชทูตสหรัฐฯประจำลาว และ CIA กันกองทัพสหรัฐฯ ออกไปจากสงครามในลาวอย่างสุดกำลัง

เมื่อสงครามเวียตนามในภาพรวมขยายตัวขึ้น สิ่งที่เกิดขึ้นในลาวเริ่มที่จะสะท้อนให้เห็นถึงจุดมุ่งหมายโดยรวมของสหรัฐฯ สิ่งที่เริ่มต้นจากการที่สหรัฐฯช่วยชาวลาวในท้องถิ่นต่อสู้กับกองกำลังคอมมิวนิสต์ในที่สุดก็เปลี่ยนไป และโดยที่ที่สุดแล้วจุดมุ่งหมายของสหรัฐฯและจุดมุ่งหมายของชาวลาวในท้องถิ่นก็แตกต่างกันอย่างมากมาย และเป็นเรื่องที่น่าเศร้ามาก เพราะชาวอเมริกันไม่ได้มีจุดมุ่งหมายเช่นเดียวกันกับชาวลาวที่พวกเขาให้ความช่วยเหลือ เดิมทีนักรบต่อต้านคอมมิวนิสต์ชาวลาวต้องการให้ทหารอเมริกันต่อสู้เคียงข้างพวกเขา และช่วยรักษาดินแดนของพวกเขาไว้ แต่ในช่วงปลายทศวรรษ 1960 สหรัฐฯ และผู้บัญชาการทหารลาวได้ส่งกองกำลังของลาวเข้าสู่การสู้รบเต็มแบบขนาดใหญ่ แทนที่จะเป็นการรบแบบกองโจร การรบขนาดใหญ่กับกองทัพเวียดนามเหนือซึ่งเป็นกองทัพที่แข็งแกร่งและประสบความสำเร็จมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในศตวรรษที่ 20 ทำให้ทหารลาวจึงถูกสังหารมากมาย และเหตุผลที่สหรัฐฯ เปลี่ยนแปลงนโยบายนี้เป็นเพราะเห็นว่าสงครามในลาวเป็นโอกาสที่จะสังหารทหารเวียตนามเหนือได้มากขึ้น และทำให้สถานการณ์สงครามของสหรัฐฯ ในเวียตนามใต้ดีขึ้น จึงกลายเป็นเหตุให้ราชอาณาจักรลาวต้องพบจุดจบในที่สุด แม้ว่า สหรัฐฯและลาวซึ่งเป็นประเทศเล็ก ๆ ที่มีประชากรน้อยกว่าพลเมืองของนครลอสแองเจลิส และมีความสัมพันธ์ระหว่างกันในแบบที่เรียบง่ายมากในปัจจุบัน แต่ในทศวรรษที่ 1960 สหรัฐอเมริกาได้ตัดสินใจว่า ประเทศเดียวกันนี้ซึ่งขณะนั้นมีประชากรน้อยกว่าปัจจุบันมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความมั่นคงของชาติ ประมาณกันว่า เมื่อ 5-60 ปีก่อน CIA ใช้งบประมาณกว่าเดือนละยี่สิบล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 400 ล้านบาทในขณะนั้น) ซึ่งคำนวณด้วยราคาทองคำจะอยู่ที่เดือนละกว่าสี่หมื่นล้านบาทในปัจจุบันสำหรับการทำสงครามในลาว

หมายเหตุ ผู้เขียนใช้คำว่า “เวียตนาม” ตัว ‘ต’ สะกด เพราะเอกสารสมัยก่อนใช้เช่นนี้ ต่อมาภายหลังจึงเปลี่ยนมาเป็น “เวียดนาม” สะกดด้วยตัว ‘ด’

‘วิโรจน์’ แฉ!! ส่วยสติกเกอร์ตัว T ขนสินค้าจากลาว ไม่ต้องมี ‘พาสปอร์ตรถ’ ชาวเน็ต สวนกลับ!! สติกเกอร์อันนี้ ถูกกฎหมาย ได้คู่กับสมุดประจำรถผ่านแดน

(7 เม.ย. 68) นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร รองหัวหน้าพรรคประชาชน ได้โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า …

ถ้าจ่ายค่าบริการ 1,000 บาท ก็จะได้สติกเกอร์ตัว T มาติดหน้ารถ ทีนี้ก็จะเอารถบรรทุกไปขนสินค้าจากประเทศลาวมายังประเทศไทยได้ โดยไม่จำเป็นต้องมีพาสปอร์ตรถ นี่จริงหรือครับ

ปรากฎว่า ชาวเน็ตสวนกลับทันที สติกเกอร์ตัว T นั้นมันถูกกฎหมาย โดยมีหลายคนได้แสดงความคิดเห็นกันมากมาย ยกตัวอย่างเช่น … 

สติกเกอร์ ตัว T จะติดหรือไม่ติดไม่สำคัญเท่า ตัวเล่มพาสปอร์ต ที่ระบุข้อมูลของรถคันนั้นๆครับ พาสปอร์ตรถก็เหมือนพาสปอร์ตคน ต้องมีการสแตมป์ประทับตรา ขาเข้า ขาออก ส่วนรถที่ไม่มีมันมีวิธีการ แต่ไม่ได้เกี่ยวว่าต้องแปะสติกเกอร์

ตัว T จากขนส่งนะท่าน รถข้ามด่านมีทุกคัน กรมขนส่งให้มา

สติกเกอร์ถูกกฎหมายแต่เอามาปั่นให้คนด่าได้ สุดยอดครับทั้งคนปั่นและคนเชื่อ

มันเป็นสติกเกอร์ผ่านแดนนี่ครับ

เป็นเหมือนพาสปอร์ตรถครับ สำหรับการขนสินค้ายากครับ ศุลกากรที่สะพานเขาคอยจับตาอย่างใกล้ชิดครับ ปรับหนักมาก

สติ๊กเกอร์อันนี้จะได้คู่กับสมุดประจำรถผ่านแดนครับ ปกติรถบรรทุกป้ายสาธารณะจะเป็นสีเขียว

ไปศึกษามาเยอะๆ

ท่านไม่รู้หรือแกล้งครับ

ตัวนี้ติดปกตินะครับ สำหรับรถขับออกต่างประเทศ

ถ้าขับรถไปลาวคือต้องติดค่ะ แต่ต้องใช้พาสปอร์ตรถตอนข้ามแดนอยู่ดี อันนี้สำหรับรถส่วนบุคคลทั่วไปนะคะ เพิ่งขับรถไปลาวมาค่ะ

‘ศุภวุฒิ สายเชื้อ’ แนะ!! ‘ไทย’ ควรสงวนท่าทีเจรจากับ ‘สหรัฐฯ’ หาทางตั้งรับดีกว่า แล้วค่อยพาดบันได รอโอกาส ตอน ‘ทรัมป์’ ถอย

(7 เม.ย. 68) เพจเฟซบุ๊ก ‘Jaroensook Limbanchongkit Pone’ ได้โพสต์ข้อความระบุว่า ...

ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี ในฐานะที่ปรึกษาคณะทำงานนโยบายการค้าสหรัฐฯ แนะไทยสงวนท่าทีเจรจากับสหรัฐฯ หาทางตั้งรับดีกว่า แล้วค่อยพาดบันได รอโอกาส ตอนทรัมป์ถอย ยันมีกองทุน 3 พันล้านดูแลผู้ส่งออก

การรีบเร่งเจรจาเหมือนประเทศอื่นๆ ไม่ได้ผล เนื่องจากทรัมป์มีเป้าหมายชัดเจนที่จะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการค้าโลกและลดการขาดดุลของสหรัฐฯ โดยไม่สนใจแนวทางเดิมๆ 

ทีมงานไทยจึงประเมินสถานการณ์และเสนอแนวทางเชิงรุก คือ แทนที่จะรีบลดภาษีหรือให้สิ่งตอบแทนทันที ควรมุ่งสร้างพันธมิตรกับภาคเกษตรของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นฐานเสียงสำคัญของทรัมป์ โดยเสนอซื้อ วัตถุดิบทางการเกษตรจากสหรัฐฯ มาแปรรูปเป็นอาหารส่งออกทั่วโลก ควบคู่ไปกับการเตรียม "บันได" หรือข้อเสนอผ่อนปรนอื่นๆ ไว้ แต่จะยื่นข้อเสนอเมื่อสหรัฐฯ ส่งสัญญาณพร้อมเจรจา หรือเมื่อนโยบายของทรัมป์เริ่มส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ เอง 

การเจรจาควรดำเนินการตามลำดับขั้น เริ่มจากระดับเจ้าหน้าที่ (USTR) ก่อน ถึงระดับรัฐมนตรี พร้อมกันนี้ ไทยมีมาตรการบรรเทาผลกระทบเฉพาะหน้าสำหรับผู้ประกอบการไทยที่ได้รับผลกระทบด้วย

ศุภวุฒิ อธิบายว่าหลายประเทศที่รีบเจรจากับสหรัฐฯ ในยุคทรัมป์ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะทรัมป์ต้องการเปลี่ยนโครงสร้างการค้าโลกและลดการขาดดุลการค้าอย่างจริงจัง แม้แต่พันธมิตรใกล้ชิดอย่างอังกฤษ ก็ยังถูกขึ้นภาษี 

การตัดสินใจของทรัมป์มีความไม่แน่นอนสูง ทำให้การเจรจาในช่วงแรกเป็นไปได้ยาก 

ทีมยุทธศาสตร์ของไทย นำโดยปลัดกระทรวงพาณิชย์และมี ศุภวุฒิ และ พันศักดิ์ เป็นที่ปรึกษา ประเมินว่าทรัมป์มีเหตุผล 3 ประการในการขึ้นภาษี คือ 1) มองว่าการขาดดุลคือการถูกเอาเปรียบ 2) ต้องการหารายได้ชดเชยการลดภาษีคนรวย 3) ต้องการดึงการผลิตกลับสหรัฐฯ

ดังนั้น แทนที่จะรีบเจรจาและให้สิ่งตอบแทนโดยเปล่าประโยชน์ ไทยควรใช้ยุทธศาสตร์ "รอจังหวะ" และ "สร้างพันธมิตร" โดยเสนอตัวเป็นผู้ซื้อวัตถุดิบทางการเกษตรรายใหญ่จากสหรัฐฯ (เช่น ถั่วเหลือง ข้าวโพด) ซึ่งไทยผลิตไม่พออยู่แล้ว นำมาแปรรูปเป็นอาหารส่งออก แนวทางนี้จะช่วยสร้างสัมพันธ์ที่ดีกับเกษตรกรสหรัฐฯ ซึ่งเป็นฐานเสียงสำคัญของทรัมป์และพรรครีพับลิกัน

พร้อมกันนี้ ไทยเตรียมมาตรการผ่อนปรนอื่นๆ เช่น การลดภาษีสินค้าบางรายการ หรือการร่วมลงทุน/นำเข้า LNG ไว้เป็น "บันได" ให้สหรัฐฯ ลง 

หากนโยบายภาษีเริ่มส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ เอง (เช่น เงินเฟ้อ หุ้นตก) และสหรัฐฯ พร้อมจะเจรจามากขึ้น การเจรจาควรเริ่มจากระดับเจ้าหน้าที่ (USTR ผ่านกรอบ TIFA) ก่อนเพื่อกรุยทางในรายละเอียด แล้วค่อยให้ระดับรัฐมนตรีตัดสินใจในประเด็นที่ตกลงกันไม่ได้ 

การเดินทางไปสหรัฐฯของคณะทำงานจึงเป็นการไป "พบปะหารือ" สร้างแนวร่วม ไม่ใช่การ "เจรจา" ในทันที

‘Mr. S - Miss W’ นร.นอกที่จบจากตะวันตก ปั่นกระแส ทำลายความสัมพันธ์ ‘ไทย - จีน’ ใส่ร้าย!! สร้างวาทกรรม ‘จีนเทา’ ทั้งที่จริงนักลงทุนจีน 99% ดำเนินกิจการ อย่างโปร่งใส

(7 เม.ย. 68) มองให้ลึก ก่อนเหมารวม : เมื่อความเงียบกลายเป็นพลังบ่อนทำลาย

ช่วงนี้ในแวดวงความคิดเห็นและการเมืองระหว่างประเทศ เริ่มมีกระแสบางอย่างที่น่าสนใจและควรค่าแก่การจับตา

มีกระแสหนึ่งที่กำลังค่อย ๆ บ่อนทำลายความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับจีนอย่างเงียบเชียบ มีทิศทางชัดเจน และใช้กลวิธีที่แนบเนียน

เบื้องหลังของกระแสดังกล่าว มีบุคคลกลุ่มเล็ก ๆ โดยเฉพาะสองคนที่รู้จักกันในวงในชื่อย่อว่า Mr. S และ Miss W สองนักเรียนนอกจากโลกตะวันตก ผู้ร่วมกันผลักดันวาทกรรมในเชิง “ป้ายสีจีน” ด้วยการหยิบยกข้อมูลบางด้าน และใช้เทคนิคทางภาษาเพื่อชี้นำสังคมให้เข้าใจผิด เหมารวมว่านักลงทุนจีนทั้งหมดเป็น “ทุนสีเทา”

หลายฝ่ายในวงการเริ่มตั้งข้อสังเกตว่า นี่อาจไม่ใช่แค่ความเห็นส่วนตัว แต่เป็นการ “ปั้นกระแส” อย่างมีทิศทางและเป้าหมายที่ชัดเจน

สิ่งที่สังคมไทยควรตั้งสติและพิจารณาอย่างถี่ถ้วนคือ—เราไม่ควรเหมารวมบริษัทจีนทั้งหมดว่าเป็นกลุ่มทุนสีเทา

ในความเป็นจริงแล้ว นักลงทุนจีนกว่า 99% ที่เข้ามาในประเทศไทย ล้วนเป็นบริษัทระดับโลกที่ดำเนินธุรกิจอย่างถูกต้อง โปร่งใส และสร้างงานให้กับคนไทยอย่างจริงจัง อาทิ :
 • GWM
 • Haier
 • Midea
 • Hisense
 • BYD
 • GAC AION
 • Longi
 • MG
 • ChangAn
 • CATL
 • SVOLT

บริษัทเหล่านี้ปฏิบัติตามกฎหมายไทย และมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในหลายมิติ

แม้จะไม่มีใครกล้ายืนยันว่าเบื้องหลังของกระแสนี้คืออะไรแน่ แต่ในโลกของการทูต “ไม่มีอะไรเกิดขึ้นโดยบังเอิญ”

ทุกกระแสที่ถูกจุดขึ้น ล้วนมีที่มา

และทุกความเคลื่อนไหว ย่อมมี “ราคา” ที่ตามมาเสมอ

สมาคมนักรบนิรนาม 333 จัดประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2568 พร้อมพิธีทำบุญอุทิศส่วนกุศลแด่นักรบผู้ล่วงลับ

(5 เม.ย. 68) สมาคมนักรบนิรนาม 333 ได้จัดประชุมใหญ่สามัญประจำปี พร้อมพิธีทำบุญอุทิศส่วนกุศลแด่นักรบนิรนามผู้ล่วงลับ ณ สำนักงานรักษาความปลอดภัย องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก (อผศ.) เลขที่ 27 ซอยรามอินทรา 25 เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร โดยมีสมาชิกของสมาคมเข้าร่วมอย่างพร้อมเพรียง ท่ามกลางบรรยากาศที่เต็มไปด้วยความเคารพ รำลึก และสามัคคี การจัดงานในครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก พลเอก สายหยุด เกิดผล ที่ปรึกษาอาวุโสกิตติมศักดิ์ พลเอก พิจิตร กุลละวณิชย์ ประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาสมาคมฯ และ พลเอก วิมล วงศ์วานิช ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ ซึ่งให้การสนับสนุนกิจกรรมของสมาคมมาอย่างต่อเนื่อง
กิจกรรมเริ่มต้นในเวลา 08.00 น. โดยเปิดให้สมาชิกลงทะเบียนเข้าร่วมงานและชำระเงิน จากนั้นเวลา 10.00 น. ได้มีการประกอบพิธีสงฆ์เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่นักรบนิรนามผู้เสียสละ ซึ่งสร้างความสงบและความสำนึกในคุณค่าของผู้ที่เคยอุทิศตนเพื่อชาติ ต่อมาในเวลา 11.00 น. ได้มีการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2568 โดยมีการรายงานผลการดำเนินงานของสมาคมในรอบปี 2567 รวมถึงการนำเสนอรายงานงบดุลและบัญชีรายรับ-รายจ่าย ตลอดจนการแต่งตั้งผู้ตรวจสอบบัญชีประจำปี 2568 พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้สมาชิกเสนอความคิดเห็น และหารือในประเด็นต่าง ๆ เพื่อการพัฒนาสมาคมให้ก้าวหน้าต่อไป หลังเสร็จสิ้นภารกิจทางวิชาการในช่วงบ่าย สมาชิกทุกท่านได้ร่วมรับประทานอาหารกลางวันพร้อมกิจกรรมสังสรรค์ในบรรยากาศที่อบอุ่นเป็นกันเอง โดยมีการร้องเพลงคาราโอเกะ สร้างความสนุกสนานและกระชับความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ สมาคมนักรบนิรนาม 333 ยังคงมุ่งมั่นในการสร้างความสามัคคีระหว่างสมาชิก พร้อมทั้งรำลึกถึงผู้ที่ได้เสียสละเพื่อประเทศชาติ อันเป็นหัวใจสำคัญของการดำรงอยู่ของสมาคมอย่างแท้จริง

ภาพ/ข่าว วะจะนะชัย วาจาพารวย / รายงาน


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top