นิพัทธ์พร เพ็งแก้ว นักเขียนเพื่อสิทธิมนุษยชน โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงความทรงจำเมื่อครั้งทำงานเก็บข้อมูลชีวิตชาวบ้านที่เกาะยอ จังหวัดสงขลา ว่า
กุฏิวัดท้ายยอ เรื่องเล่าจากพ่อหลวง-พระครูมานพ อคฺคธมโม เจ้าอาวาสวัดท้ายยอ ต.เกาะยอ อ.เมือง จ.สงขลา เล่าไว้เมื่อกลางปี พ.ศ. ๒๕๔๒
“หมู่กุฏิที่วัดท้ายยอขึ้นทะเบียนกรมศิลปากรตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๐ กุฏิอายุกว่าสองร้อยปี เจ้าอาวาสองค์ที่ผ่านๆ มาท่านเก่งทางช่าง ทั้งสร้างทั้งซ่อมกันเอาไว้ พ่อหลวงเองได้วิชาช่างปลูกเรือนจากย่า พ่อของย่าเป็นช่าง ย่าจดจำมาถ่ายทอดให้ฟังหมด พอโตขึ้นมาก็มาเป็นลูกมือของพระอธิการเส้า ท่านให้ความรู้เรื่องเรือน ช่วยท่านยกไม้ ส่งไม้ อยู่หลายปี
เรือนคือมงคลวัตถุที่เป็นที่อยู่อาศัย เรือนโบราณจะมีสูตรในการสร้างเรียก “เรือนสูตร” ประกอบด้วย “มาตราสูตร” คือการวัดเป็นคืบเป็นศอกเพื่อออกสัดส่วนระยะเรือน และ “มงคลสูตร” คือศาสนธรรมคำสอน เป็นปริศนาธรรมควบคุมการออกสัดส่วนเรือน
อย่างพวกสัมมาอาชีวะจะปลูกเรือน ต้องตั้งจั่วก่อน คือออกสัดส่วนเรือนจากความสูงของจั่ว แต่ถ้าเป็นพวกนักเลงต้องตั้งเสาขึ้นก่อนให้มั่นคง แล้วชีวิตก็จะรุ่งเรืองไปตามแนวของแต่ละคน
โดยมากขนาดของเรือนจะใช้ร่างกายเจ้าของเรือนเป็นตัวกำหนดสัดส่วน อย่างพวกสัมมาอาชีวะตั้งจั่วก่อนนั้น จะต้องหาดั้ง (ความสูงของจั่ว) ก่อน เพราะดั้งเปรียบได้กับจมูกเป็นลมหายใจ ต้องเอาดั้งเจ้าของเรือน เพราะเจ้าเรือนจะต้องรักบ้านเท่าชีวิตตัว การหาดั้งใช้วิธีเอาไม้วัดตั้งบนหัวแม่โป้งนิ้วเท้าให้สูงขึ้นถึงหัวคิ้ว นั่นคือขนาดของดั้ง จากนั้นเอาดั้งเข้าสูตรทำจั่ว “หักดั้งตั้ง ๒ หนให้ชนกัน จันทันนั้นดั้งบวกคืบสืบสอดใส่”
เรือนคนแต่ละลักษณะก็ไม่เหมือนกัน อย่างเรือนกำนันกระดานพื้นหน้าห้องต้องมีสัญญาณเตือนภัย เหยียบปุ๊บต้องลั่นให้ได้ยิน จะได้รู้ตัว ป้องกันคนมาร้ายเพราะคนมาดีมักจะเรียกก่อน ส่วนเรือนเจ้าอาวาสกระดานหน้าห้องเหยียบแล้วต้องเงียบกริบ เพื่อชาวบ้านจะได้แอบดูได้ว่าพระทำอะไรอยู่ในห้อง
พ่อหลวงเกิดที่นี่ เกาะยอสมัยก่อนผลไม้อุดมสมบูรณ์มาก พวกขนมจากในเมืองขนมเปี๊ยะคนที่นี่ไม่กิน เพราะอาหารสมบูรณ์ กินข้าวกับน้ำผึ้งแล้ว เป็นคำพื้นของคนเฒ่าแก่ที่พูดติดปาก เพราะคนอิ่ม ไม่หิว ของกินบริบูรณ์ ขนาดไม้สร้างบ้านยังเป็นไม้ผล
เกาะยอทำอ่างดินเผามีชื่อ เขาพูดเป็นคำคล้องจองว่า สทิ้งทำหม้อ เกาะยอทำอ่าง หัวเขาค้าโพงพาง บ่อยางขายเคย เกาะยอทำกระเบื้องหลายแบบมีกระเบื้องหางแหลมมุงหลังคา กระเบื้องตีนเชิงชาย กระเบื้องกาบกล้วย กระเบื้องอกไก่สันหลังคา อิฐมีหลายขนาด เรียกอิฐหน้าวัว ของเกาะยอมีเอกลักษณ์ คือมีลายน้ำในเนื้ออิฐ เพราะเอาดินหลายที่มาผสมทำอิฐ เตาเผาอิฐสมัยเด็กๆ เห็นถึง ๘ เตา เด็กเกาะยอเมื่อก่อนไม่เล่นลงเลก็ขึ้นเขา เอาลูกหมากมาเล่นซัดราว
สมัยก่อนเรือโดยสารคือนาฬิกาบอกเวลาของคนเกาะยอ ตี ๕ (๐๕.๐๐ น.) เรือยนต์ติดเครื่องวิ่งเกาะยอ-สงขลา เด็กตื่น พ่อแม่ลุกตั้งข้าวให้ลูกไปโรงเรียน ตี ๖ (๐๖.๐๐ น.) เรือออกจากท่า เด็กนักเรียนชายนั่งบนหลังคา นักเรียนหญิงนั่งในท้องเรือ พร้อมผลไม้จำนวนมาก จนต้องพ่วงเรือ ถึงสงขลาส่งเด็กแล้วก็รับครูมาสอนนักเรียนที่วัดท้ายยอ สองโมงเช้า (๐๘.๐๐ น.) พอดีโรงเรียนขึ้นเรือออกจากเกาะยออีกเที่ยว คราวนี้บรรทุกกุ้งปลาเต็มลำเรือไปส่งสงขลา จะสวนกับเรือที่ออกจากสงขลาตอนตี ๙ (๐๙.๐๐ น.) ถึงเกาะยอตี ๑๐ (๑๐.๐๐ น.) ได้พักเที่ยง บ่ายโมงเรือติดเครื่องไปสงขลา เด็กนักเรียนที่พักเที่ยงแล้ววิ่งเล่นอยู่ตามป่าได้ยินเสียงต้องรีบกลับห้องเรียน จากนั้นมีเรือออกตี ๓ (๑๕.๐๐ น.) จากสงขลามาเกาะยอ รับครูกลับไปสงขลา พอตี ๕ (๑๗.๐๐ น) เรือกลับมา พาเด็กนักเรียนจากสงขลามาส่งบ้าน เด็กเกาะยอต้องรีบขึ้นบ้าน เดิมมีแต่ป่า มืดเร็วกว่าเดี๋ยวนี้