Saturday, 26 April 2025
Tesla

ซีอีโอ Xiaomi ชี้!! ใช้เวลาแค่ 230 วัน ขายรถไฟฟ้าได้ 1 แสนคัน ขิงใส่!! ‘Tesla’ ใช้เวลานานกว่า ‘7 ปีครึ่ง’ กว่าจะมาถึงจุดนี้

(24 พ.ย. 67) เล่ย จุน (Lei Jun) ซีอีโอของ Xiaomi กล่าวว่า เทสลา (Tesla) ใช้เวลาถึงเจ็ดปีครึ่งในการขายได้ถึง 100,000 คัน แต่ Xiaomi ใช้เวลาเพียงแค่ 230 วันเท่านั้น และเรียกความสำเร็จของบริษัทว่าเป็น ‘ปาฏิหาริย์ที่ไม่มีใครเคยพบเห็นมาก่อน’ ในประวัติศาสตร์อุตสาหกรรมยานยนต์

‘เสียวหมี่’ (Xiaomi ) ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนสัญชาติจีน รายงานผลประกอบการไตรมาสที่ 3 ปี 2567 มีกำไรสุทธิ 5.3 พันล้านหยวน หรือราว 2.5 หมื่นล้านบาทเพิ่มขึ้น 10% จากปีก่อน โดยธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้าของบริษัทเติบโตอย่างแข็งแกร่ง โดยผลิตรถยนต์ไฟฟ้าครบ 100,000 คันเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน เพียงไม่กี่เดือนหลังจากเปิดตัวครั้งแรกในเดือนมีนาคม

มัสก์บอกกระบะ 'ไซเบอร์ทรัก' กันระเบิดได้ บึ้มหน้าโรงแรมทรัมป์จึงเสียหายไม่มาก

(2 ม.ค. 67) จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 1 มกราคม ตามเวลาสหรัฐฯ เมื่อรถกระบะไฟฟ้าไซเบอร์ทรักของเทสลาระเบิดบริเวณด้านนอกโรงแรมทรัมป์ อินเตอร์เนชันแนล โฮเทล (Trump International Hotel) ในเมืองลาสเวกัส รัฐเนวาดา ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 1 ราย และได้รับบาดเจ็บหลายคน

เจ้าหน้าที่ตำรวจนครลาสเวกัสเปิดเผยว่า ภาพจากกล้องวงจรปิดระบุว่าแสงจากการระเบิดมีลักษณะคล้ายกับการระเบิดของพลุดอกไม้ไฟที่ใช้ในช่วงเทศกาลปีใหม่ ซึ่งทำให้เชื่อว่าไม่ใช่การระเบิดจากระเบิดแสวงเครื่องที่มักใช้ในเหตุการณ์ก่อการร้าย อีกทั้งยังไม่พบความผิดปกติของตัวรถที่อาจทำให้เกิดการระเบิด

นายอีลอน มัสก์ เจ้าของบริษัทเทสลา ได้กล่าวผ่าน X ว่า "พวกหัวรั้นเลือกยานพาหนะผิดคันในการโจมตี รถกระบะ Cybertruck จริงๆ สามารถกักเก็บการระเบิดจากด้านข้างและส่งแรงระเบิดออกทางด้านบน ทำให้แม้แต่ประตูกระจกของล็อบบี้โรงแรมก็ไม่แตก"

มัสก์ยังกล่าวว่า ทีมระดับสูงของ Tesla กำลังสืบสวนเหตุการณ์นี้ โดยจากการสืบสวนพบว่า การระเบิดเกิดจาก "ดอกไม้ไฟขนาดใหญ่ที่เก็บไว้ในรถคันดังกล่าว ไม่ใช่ความผิดปกติของตัวรถที่ทำให้เกิดการระเบิด"

คำกล่าวของมัสก์สอดคล้องกับรายงานของตำรวจลาสเวกัส ที่พบถังแก๊สและดอกไม้ไฟขนาดใหญ่ในท้ายรถ Tesla Cybertruck ที่ระเบิดใกล้กับโรงแรม Trump International ในลาสเวกัส นายอำเภอเควิน แม็กมาฮิล ได้กล่าวในภายหลังและขอบคุณมัสก์และทีมงานสำหรับข้อมูลที่ให้มา

BYD ยอดขายทั่วโลกใน Q4/67 พุ่ง คาดปี 2025 แซง Tesla ขึ้นแท่นค่ายรถอีวีขายดีสุด

วอลล์สตรีทเจอร์นัล (WSJ) รายงานว่า บีวายดี (BYD) ยังคงครองตำแหน่งผู้นำด้านยอดขายรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ทั่วโลก โดยในไตรมาส 4 ของปี 2024 บีวายดีแซงหน้าเทสลา (Tesla) เป็นครั้งที่สอง

(3 ม.ค.68) จากรายงานระบุว่า บีวายดี ผู้ผลิตรถ EV รายใหญ่ที่สุดของจีน ส่งมอบรถยนต์ไฟฟ้าเต็มรูปแบบ (All-Electric Vehicles) จำนวน 207,734 คันในเดือนธันวาคม 2024 เพิ่มขึ้นประมาณ 9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

ในไตรมาส 4 ปี 2024 บีวายดีส่งมอบรถยนต์ไฟฟ้าเต็มรูปแบบรวมประมาณ 595,000 คัน มากกว่าเทสลาที่ส่งมอบได้ 496,000 คัน แม้ตัวเลขดังกล่าวจะเป็นสถิติใหม่ของเทสลา แต่ยังต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ที่ 507,000 คัน

สำหรับยอดขายทั้งปี 2024 บีวายดีสามารถขายรถยนต์ไฟฟ้าได้รวม 1.768 ล้านคัน เพิ่มขึ้นราว 12% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ขณะที่เทสลามียอดขายรวม 1.79 ล้านคัน ลดลงประมาณ 1% เมื่อเทียบกับปี 2023

รายงานของ WSJ สอดคล้องกับการเปิดเผยของเทสลา ที่ได้รายงานยอดการผลิตและส่งมอบรถยนต์ในไตรมาส 4 และตลอดปี 2024 โดยในไตรมาสสุดท้ายของปี เทสลาส่งมอบรถยนต์รวม 495,570 คัน และมียอดผลิตรวม 459,445 คัน ขณะที่ยอดส่งมอบทั้งปีอยู่ที่ 1,789,226 คัน และยอดผลิตรวม 1,773,443 คัน นี่เป็นครั้งแรกที่ยอดส่งมอบรถยนต์ของเทสลาลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยในปี 2023 เทสลาส่งมอบรถได้ทั้งหมด 1.81 ล้านคัน

ก่อนหน้านี้ เทสลาได้เตือนนักลงทุนถึงความเป็นไปได้ที่การเติบโตอาจลดลงในปี 2024 เนื่องจากบริษัทกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านสำคัญ นอกจากนี้ ในเดือนเมษายน 2024 เทสลาได้ปรับโครงสร้างองค์กรครั้งใหญ่ โดยเลิกจ้างพนักงานกว่า 10% เพื่อลดต้นทุนและเน้นการพัฒนาแท็กซี่ไร้คนขับตามคำมั่นของ อีลอน มัสก์

ในช่วงครึ่งปีหลัง มัสก์กลายเป็นที่จับตามองอีกครั้ง จากบทบาทของเขาในการสนับสนุนแคมเปญหาเสียงเลือกตั้งของ โดนัลด์ ทรัมป์ มัสก์ใช้เงินราว 277 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อสนับสนุนทรัมป์และผู้สมัครจากพรรครีพับลิกัน พร้อมร่วมลงพื้นที่หาเสียงในหลายรัฐสำคัญ

แม้ว่าเทสลาจะยังคงเป็นผู้นำในด้านยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าหากมองจากยอดขายรวมตลอดทั้งปี แต่ช่องว่างในการแข่งขันกำลังลดลงอย่างรวดเร็ว โดย บีวายดี มีศักยภาพสามารถเพิ่มยอดขายรถยนต์ได้มากกว่า 41% ในปี 2024 เมื่อเทียบเป็นรายปี และมีโอกาสสูงที่จะแซงหน้าเทสลาในปี 2025

การเติบโตนี้ได้รับแรงหนุนจากยอดขายรถยนต์ไฮบริดที่แข็งแกร่ง รวมถึงการสนับสนุนจากตลาดในประเทศจีน ซึ่งมีการแข่งขันระหว่างแบรนด์ท้องถิ่นอย่างดุเดือด และยังได้รับแรงจูงใจจากเงินอุดหนุนของรัฐบาลหลายประเทศ ที่ช่วยกระตุ้นให้ผู้บริโภคเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าหรือรถยนต์ที่ประหยัดน้ำมันมากขึ้น

กว่า 90% ของยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าของบีวายดี มาจากตลาดจีน ซึ่งช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้บีวายดีเหนือแบรนด์ต่างชาติอย่างโฟล์คสวาเกน และโตโยต้า

การเติบโตของบีวายดีและผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารายอื่น ๆ ของจีนกำลังสร้างแรงกดดันให้ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ในตะวันตก ฮอนด้า และ นิสสัน ได้ประกาศเมื่อเดือนที่แล้วว่ากำลังเจรจาควบรวมกิจการ เพื่อต่อสู้กับการแข่งขันที่เข้มข้นจากอุตสาหกรรมรถยนต์ของจีน

‘จีน’ ส่ง BYD ตีชนะ!! Tesla ‘เวียดนาม’ เดินหน้า พัฒนาอุตสาหกรรม ‘เซมิคอนดักเตอร์’ ‘รัฐบาลไทย’ มุ่งสร้าง!! ฐานประชานิยม เน้นแค่หาเสียง เพื่อให้ได้กลับมาเป็นรัฐบาล

(5 ม.ค. 68) ข่าวส่งท้ายปี 2567 สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความว่านายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ไม่ผ่านคุณสมบัติที่จะเข้ารับตำแหน่งประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพราะการเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เป็นบุคคลที่ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จากการเปิดเผยของ นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง (24 ธ.ค.2567)

ซึ่งคงต้องมีการสรรหากันใหม่ คาดว่าน่าจะเป็นช่วงเดือนมกราคม 2568

แรงกดดันจากฝ่ายการเมือง ที่จะเข้าไปแทรกแซงการกำหนดนโยบายทางการเงิน การคลัง รวมทั้งเงินสำรองระหว่างประเทศ ก็คงซาไปอีกระยะ จนกว่าจะมีการเสนอชื่อเพื่อเข้ารับการสรรหากันอีกครั้ง

และข่าวเริ่มต้นปีมะเส็ง 2568 กับการเติบโตของรถยนต์ไฟฟ้า วอลล์สตรีทเจอร์นัล (WSJ) รายงานว่า บีวายดี (BYD) ยังคงครองตำแหน่งผู้นำด้านยอดขายรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ทั่วโลก โดยในไตรมาส 4 ของปี 2024 บีวายดีแซงหน้าเทสลา (Tesla) เป็นครั้งที่สอง

จากรายงานระบุว่า บีวายดี ผู้ผลิตรถ EV รายใหญ่ที่สุดของจีน ส่งมอบรถยนต์ไฟฟ้าเต็มรูปแบบ (All-Electric Vehicles) จำนวน 207,734 คันในเดือนธันวาคม 2024 เพิ่มขึ้นประมาณ 9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

ในไตรมาส 4 ปี 2024 บีวายดีส่งมอบรถยนต์ไฟฟ้าเต็มรูปแบบรวมประมาณ 595,000 คัน มากกว่าเทสลาที่ส่งมอบได้ 496,000 คัน แม้ตัวเลขดังกล่าวจะเป็นสถิติใหม่ของเทสลา แต่ยังต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ที่ 507,000 คัน

สำหรับยอดขายทั้งปี 2024 บีวายดีสามารถขายรถยนต์ไฟฟ้าได้รวม 1.768 ล้านคัน เพิ่มขึ้นราว 12% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ขณะที่เทสลามียอดขายรวม 1.79 ล้านคัน ลดลงประมาณ 1% เมื่อเทียบกับปี 2023

ตามด้วยข่าว รัฐบาลเวียดนามเสนอเงินอุดหนุน 50% ของมูลค่าลงทุนให้กับโครงการวิจัยและพัฒนาหลักในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ และปัญญาประดิษฐ์ (AI)

โครงการที่มีสิทธิ์รับเงินอุดหนุนดังกล่าวซึ่งระบุไว้ในพระราชกฤษฎีกาที่ออกเมื่อวันที่ 31 ธ.ค. 2024 จะต้องมีการลงทุนขั้นต่ำ 3 ล้านล้านดอง (4.07 พันล้านบาท), ส่งผลกระทบเชิงบวกต่อระบบนิเวศนวัตกรรม (innovation ecosystem), ส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์ที่ก้าวล้ำ และผู้พัฒนาโครงการจะต้องไม่มีภาษีค้างชำระหรือหนี้กับรัฐบาล โดยผู้พัฒนาโครงการจะต้องชำระทุนจดทะเบียนอย่างน้อย 1 ล้านล้านดอง (1.35 พันล้านบาท) ภายใน 3 ปีนับจากได้รับการอนุมัติการลงทุน

รัฐบาลเวียดนาม ยังคงเดินนโยบายด้านเศรษฐกิจ ดึงนักลงทุน และส่งเสริมการลงทุน ในส่วนโครงการเทคโนโลยีขั้นสูง เพื่อผลักดันการเติบโตของประเทศ ที่มั่นคง ยั่งยืน โดยเฉพาะการพัฒนาบุคลากร การวิจัยและพัฒนา การลงทุนในสินทรัพย์ การผลิต และโครงสร้างพื้นฐาน ที่จะสร้างเม็ดเงินทางเศรษฐกิจได้เป็นจำนวนมาก

หันกลับมาดูการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลไทย กลับเป็นนโยบายประชานิยม ที่แทบจะสร้างฐานสำหรับอนาคตของประเทศไม่ได้ ซ้ำยังส่งผลเสียต่อวินัยทางการเงินของประชาชนไปเรื่อยๆ เน้นแค่หาเสียงเพื่อให้ได้กลับมาเป็นรัฐบาลในสมัยต่อไป 

มารอดูกันต่อว่า ประชาชนผู้เสียภาษีเงินได้ส่วนบุคคล ที่มีอยู่ 4 ล้านกว่าคน ที่เหมือนต้องแบกการใช้จ่ายงบประมาณ ไปกับนโยบายประชานิยม จะทนต่อได้มากน้อยแค่ไหน หากคนกลุ่มนี้เริ่มส่งเสียง เก้าอี้รัฐบาล จะเริ่มสั่นคลอน ... สวัสดีปีใหม่ 2568 ครับ 

รถ Tesla ขับตัวเองออกจากโรงงาน ไปจอดขึ้นเรือรอส่งออก โดยไร้มนุษย์ควบคุม

(29 ม.ค.68) บัญชี X ทางการของ Tesla AI เผยแพร่วิดีโอล่าสุด แสดงให้เห็นขบวนรถยนต์ Tesla ใช้ระบบขับขี่อัตโนมัติเต็มรูปแบบ (Full Self-Driving - FSD) ขับออกจากโรงงานผลิตใน Fremont ไปยังจุดขนถ่ายสินค้า ระยะทาง 1.2 ไมล์ (ประมาณ 1.9 กิโลเมตร) โดยไม่มีมนุษย์ควบคุม

จากวิดีโอ เผยให้เห็นได้ว่ารถ Tesla ขับเคลื่อนเองอย่างสมบูรณ์ ตั้งแต่เร่งเครื่อง ออกตัว เปิดไฟเลี้ยว หยุดเมื่อพบสิ่งกีดขวาง และจอดเรียงกันอย่างเป็นระเบียบที่จุดขนส่งสินค้า เพื่อเตรียมขึ้นเรือส่งออก

ปัจจุบัน ระบบขับขี่อัตโนมัติ FSD ที่เปิดให้ใช้งานยังอยู่ในเวอร์ชันที่ต้องมีมนุษย์ดูแล (Supervised) แต่จากวิดีโอนี้ ชี้ให้เห็นว่า Tesla กำลังก้าวไปสู่ระบบขับขี่อัตโนมัติแบบไร้มนุษย์ดูแล (Unsupervised) ซึ่งถือเป็นอีกก้าวสำคัญของเทคโนโลยียานยนต์ไร้คนขับ

ชมคลิป https://x.com/tesla_ai/status/1884457749226090590

ใครเป็นเจ้าของ ‘TESLA’

เมื่อเอ่ยถึง ‘TESLA’ ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่ของโลก คนส่วนใหญ่ย่อมคิดถึง ‘อีลอน มัสก์’ เป็นอันดับแรก เพราะถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของบริษัทยักษ์ใหญ่แห่งนี้มายาวนาน

แต่รู้หรือไม่ว่า ‘มัสก์’ ไม่ได้เป็นเจ้าของเพียงคนเดียว แต่ยังมีผู้ถือหุ้นรายใหญ่อีกหลายราย ส่วนมีใครบ้างใน 10 อันดับแรก และถือครองในสัดส่วนเท่าใด ไปส่องกันเลย

‘T-Online’ เผยผลสำรวจ!! ชาวเยอรมัน ไม่พอใจ ‘อีลอน มัสก์’ แบนไม่ซื้อ Tesla เหตุ!! แทรกแซงทางการเมือง แสดงความเคารพแบบ ‘นาซี’ ส่งเสริม ‘ฟาสซิส’

(15 มี.ค. 68) การสำรวจชาวเยอรมันบน T-Online กว่า 100,000 คน เผยว่า 94% จะไม่ซื้อรถ Tesla ซึ่งตอกย้ำปัญหายอดขายตกต่ำในยุโรปลงไปอีก

ในปี 2024 Tesla มียอดขายลดลง 41% ในเยอรมนีเมื่อเทียบกับปี 2023 แม้ว่ายอดขายรถยนต์ไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้น 27% ในปี 2024 ก็ตาม

นอกจากนี้ ยอดขายของ Tesla ลดลง 70% ในสองเดือนแรกของปี 2025 ซึ่งรุนแรงกว่ายอดขายที่ตกต่ำอยู่แล้วในปี 2024 เสียอีก

สำหรับสาเหตุที่ยอดขายลดลง นอกจากการแข่งขันในตลาด EV ที่ดุเดือดขึ้นและการปรับโฉม Model Y แล้ว ยังเป็นเพราะชาวเยอรมันที่ไม่พอใจกับการแทรกแซงทางการเมืองของ Elon Musk ซีอีโอของ Tesla ในการเลือกตั้งท้องถิ่น และการสนับสนุนพรรค AfD ฝ่ายขวาจัด

นอกจากนี้ ชื่อเสียงของ Musk ก็พังทลายในเยอรมนีหลังจากแสดงความเคารพแบบนๅซีหลายครั้งในพิธีเปิด และโพสต์ที่น่าสงสัยหลายครั้งที่ส่งเสริมอุดมการณ์ฟาสซิส

อย่างไรก็ตาม แม้แต่ทาง AfD ที่ Musk สนับสนุนก็ยังต่อต้าน Tesla อย่างแข็งขัน และออกโฆษณาที่เชิญชวนให้คนไม่ซื้อรถ Tesla

ทั้งนี้ ยอดขาย Model 3 ของ Tesla ก็กำลังร่วงลงในเยอรมนีเช่นกัน ซึ่งบ่งชี้ว่า Model Y ไม่ใช่ปัญหาเดียว

อีลอน มัสก์ จ่อถอนตัวจากบทบาท ‘พนักงานรัฐบาลพิเศษ’ หลังพบแรงต้านในกลุ่มรัฐบาลสหรัฐฯ และความตึงเครียดทางการเมือง

(3 เม.ย. 68) สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้แจ้งกับบุคคลใกล้ชิด รวมถึงสมาชิกคณะรัฐมนตรีว่า อีลอน มัสก์ มหาเศรษฐีเจ้าของบริษัทเทสลาและเอ็กซ์ (X) เตรียมถอนตัวจากบทบาท “พนักงานรัฐบาลพิเศษ” ภายในไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า

การตัดสินใจดังกล่าวเกิดขึ้นท่ามกลางกระแสความไม่พอใจที่เพิ่มขึ้นในกลุ่มพันธมิตรของรัฐบาล รวมถึงเจ้าหน้าที่บางรายที่เริ่มมองว่ามัสก์เป็น “ภาระทางการเมือง” และเชื่อว่าการที่เขามีบทบาทในรัฐบาลสหรัฐฯ อาจส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์กับกลุ่มพันธมิตรและความเชื่อมั่นในรัฐบาล

มัสก์ที่ได้รับการแต่งตั้งให้ทำหน้าที่พนักงานรัฐบาลพิเศษ หรือบทบาทในกรมประสิทธิภาพของรัฐบาล (DOGE) เพื่อช่วยเสริมสร้างนวัตกรรมและพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ในสหรัฐฯ มีบทบาทที่สำคัญในหลายโครงการรัฐบาล แต่กระแสความไม่พอใจที่เพิ่มขึ้นจากบางส่วนในรัฐบาล ทำให้การตัดสินใจถอนตัวของมัสก์กลายเป็นเรื่องที่ได้รับการจับตามอง

อย่างไรก็ดี เจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลคนหนึ่งกล่าวว่า มัสก์มีแนวโน้มที่จะยังคงมีบทบาทอย่างไม่เป็นทางการในฐานะที่ปรึกษา และยังคงเป็นบุคคลภายนอกที่ปรากฏตัวเป็นครั้งคราวในบริเวณทำเนียบขาว ส่วนอีกคนหนึ่งเตือนว่าใครก็ตามที่คิดว่ามัสก์จะหายไปจากวงโคจรของทรัมป์ เขาคนนั้นกำลังหลอกตัวเอง

แหล่งข่าวระบุว่า มัสก์จะถอนตัวจากบทบาทนี้ภายในไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า แต่ยังไม่ได้มีการประกาศรายละเอียดเกี่ยวกับการดำเนินการในอนาคตของเขา โดยคาดว่าเขาจะมุ่งเน้นที่การพัฒนาธุรกิจส่วนตัวและการลงทุนในเทคโนโลยีต่อไป

“สักวันหนึ่ง อีลอนคงอยากจะกลับไปที่บริษัทของเขา เขาต้องการแบบนั้น ผมจะเก็บเขาไว้ตราบเท่าที่ผมยังเก็บเขาไว้ได้” ทรัมป์กล่าวกับนักข่าว

เบร็ท แบเยอร์ จาก Fox News ถามมัสก์เมื่อวันพฤหัสบดีว่า เขาพร้อมที่จะลาออกหรือไม่เมื่อสถานะพนักงานพิเศษของรัฐบาลของเขาสิ้นสุดลง เขาก็ได้ประกาศว่าภารกิจของเขาสำเร็จลุล่วงแล้ว โดยกล่าวว่า “ผมคิดว่าเราจะบรรลุภารกิจส่วนใหญ่ที่จำเป็นเพื่อลดการขาดดุลลง 1 ล้านล้านดอลลาร์ภายในกรอบเวลาดังกล่าว”

สื่อแฉ ‘มัสก์’ ขอร้อง ‘ทรัมป์’ ไม่สำเร็จ หวังให้ยกเลิกเก็บภาษีนำเข้า ที่ทำหุ้น Tesla ร่วงลงอย่างต่อเนื่อง ดิ่งกว่า 42% นับตั้งแต่ต้นปี

(8 เม.ย. 68) สำนักข่าววอชิงตันโพสต์รายงานว่า อีลอน มัสก์ มหาเศรษฐีเจ้าของบริษัทเทสลาและหนึ่งในบุคคลทรงอิทธิพลแห่งวงการเทคโนโลยีระดับโลก ได้ร้องขอโดยตรงต่อประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ ให้ยกเลิกนโยบายการเก็บภาษีนำเข้าระดับสูง ซึ่งเป็นมาตรการตอบโต้ต่อประเทศคู่ค้าของสหรัฐฯ แต่ไม่เป็นผล

แหล่งข่าวใกล้ชิดระบุว่า บทสนทนาระหว่างสองผู้นำทางธุรกิจและการเมืองในครั้งนี้มีความตึงเครียดอย่างชัดเจน และอาจนับเป็นรอยร้าวสำคัญระหว่างมัสก์ ผู้เคยให้การสนับสนุนแนวคิดเศรษฐกิจเสรี กับทรัมป์ ผู้เดินหน้าดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าอย่างแข็งกร้าว

การเจรจาระหว่างทั้งสองเกิดขึ้นไม่นานหลังจากที่ทรัมป์ประกาศมาตรการภาษีศุลกากรขั้นต่ำ 10% สำหรับสินค้าทุกชนิดที่นำเข้าสหรัฐฯ โดยมีบางประเทศที่อาจถูกรีดภาษีเพิ่มขึ้นในระดับสูงเป็นพิเศษ

โดยก่อนหน้านี้ อีลอน มัสก์ ได้ออกมาเรียกร้องให้สหรัฐฯ และยุโรป ยกเลิกภาษีศุลกากรระหว่างกัน โดยเขาย้ำว่า ภาษีนำเข้า ของสหรัฐฯ กำลังสร้างผลกระทบอย่างรุนแรงต่ออุตสาหกรรม รวมถึงธุรกิจของเขาเอง

คำเรียกร้องของมัสก์เกิดขึ้นในช่วงการปรากฏตัวผ่านวิดีโอคอลในการประชุมของพรรค League ซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาลฝ่ายขวาของอิตาลี ที่จัดขึ้นในเมืองฟลอเรนซ์เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา

มัสก์ ซึ่งทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาด้านการลดการใช้จ่ายฟุ่มเฟือยของรัฐบาลสหรัฐฯ ยังกล่าวอีกว่า การจัดเก็บภาษีศุลกากรระหว่างประเทศที่เป็นพันธมิตร เช่น สหรัฐฯ และยุโรป ถือเป็นอุปสรรคทางเศรษฐกิจที่ไม่จำเป็น และควรมีการ ลดลงเหลือศูนย์ เพื่อช่วยลดต้นทุนและกระตุ้นการเติบโต

การเรียกร้องครั้งนี้เกิดขึ้นท่ามกลางแรงกดดันอย่างหนักในบริษัทของเขาเอง หลังจาก ยอดขายรายไตรมาสของ Tesla ลดลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในตลาดต่างประเทศ ซึ่งได้รับผลกระทบจากนโยบายภาษีของทรัมป์ที่กำหนดอัตราขั้นต่ำ 10% สำหรับสินค้านำเข้าทั้งหมด รวมถึงรถยนต์จากยุโรป

ปีเตอร์ นาวาร์โร ที่ปรึกษาด้านการค้าของทรัมป์ ออกมาปฏิเสธแนวคิดของ มัสก์ ในวันจันทร์ (7 เม.ย.) พร้อมระบุว่าไม่แปลกใจที่ได้ยินข้อเสนอเช่นนี้จาก “เจ้าของโรงงานประกอบรถยนต์” 

เนื่องจากหุ้น Tesla ของอีลอน มัสก์ ปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ที่ราคา 233.29 ดอลลาร์ต่อหุ้น ซึ่งลดลงกว่า 42% นับตั้งแต่ต้นปี สะท้อนความไม่มั่นใจของนักลงทุนต่อทิศทางธุรกิจในอนาคต

ขณะเดียวกัน มัสก์กำลังถูกจับตามองจากบทบาทใหม่ในฐานะผู้ก่อตั้ง “แผนกประสิทธิภาพรัฐบาล” ซึ่งมีเป้าหมายในการลดการใช้จ่ายของภาครัฐอย่างมีประสิทธิภาพ แต่กลับถูกวิจารณ์ว่ากลยุทธ์ของเขาอาจไม่ตอบโจทย์ความท้าทายทางเศรษฐกิจที่ซับซ้อนในปัจจุบัน

นักเศรษฐศาสตร์หลายรายเตือนว่า การขึ้นภาษีนำเข้าอาจทำให้เกิดเงินเฟ้ออีกระลอก เพิ่มภาระค่าครองชีพให้กับครอบครัวชาวอเมริกัน โดยบางครัวเรือนอาจต้องแบกรับต้นทุนเพิ่มหลายพันดอลลาร์ต่อปี พร้อมเตือนว่าหากดำเนินต่อไป นโยบายนี้อาจเป็นหนึ่งในตัวจุดชนวนของภาวะ เศรษฐกิจถดถอย ในสหรัฐฯ

ทั้งนี้ แม้มัสก์จะเคยสนับสนุนทรัมป์ในหลายโอกาส แต่ความเห็นต่างครั้งนี้สะท้อนถึงความตึงเครียดภายในกลุ่มผู้มีอิทธิพลทางเศรษฐกิจและการเมืองของสหรัฐฯ ซึ่งอาจส่งผลต่อการกำหนดนโยบายในอนาคตอย่างมีนัยสำคัญ

‘อีลอน มัสก์’ เดือดจวกที่ปรึกษาการค้าของทรัมป์เป็น ‘คนโง่’ ปมวิจารณ์มัสก์ไม่ใช่ผู้ผลิต Tesla แต่เป็นเพียงผู้ประกอบเท่านั้น

(9 เม.ย. 68) สำนักข่าวบีบีซีรายงานว่า อีลอน มัสก์ มหาเศรษฐีและวิศวกรผู้เป็นเจ้าของบริษัทผลิตรถยนต์ไฟฟ้าสุดล้ำอย่าง Tesla เรียกที่ปรึกษาการค้าของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ อย่าง ปีเตอร์ นาวาร์โร ว่าเป็น “คนโง่” จากความคิดเห็นที่เขาแสดงออกมาเกี่ยวกับบริษัท Tesla

มัสก์ ซึ่งเป็นสมาชิกรัฐบาลทรัมป์ โพสต์บนแพลตฟอร์ม X โซเชียลมีเดียของเขาเองว่า “Tesla มีรถยนต์ที่ผลิตในอเมริกามากที่สุด ส่วนนาวาร์โรนั้น โง่กว่ากระสอบอิฐ” ซึ่งเป็นการตอบรับการให้สัมภาษณ์ของนาวาร์โรที่วิจารณ์มัสก์ว่า “(เขา) ไม่ใช่ผู้ผลิตยานยนต์ เขาเป็นเพียงผู้ประกอบรถยนต์ในหลายๆ กรณี” นาวาร์โรกล่าว

โดยก่อนหน้านี้ นาวาร์โรสัมภาษณ์เกี่ยวกับนโยบายภาษีศุลกากรครั้งใหญ่ของทรัมป์ และกล่าวว่าในอนาคตเขาต้องการเห็นชิ้นส่วนต่างๆ ผลิตในสหรัฐฯ แต่มัสก์ซึ่งเคยแสดงท่าทีคัดค้านนโยบายการค้าของทำเนียบขาว กล่าวว่าคำกล่าวอ้างของนาวาร์โรเกี่ยวกับเทสลานั้น “เป็นเท็จอย่างชัดเจน”

การทะเลาะวิวาทครั้งนี้ถือเป็นสัญญาณความขัดแย้งต่อสาธารณะมากที่สุดระหว่างทีมการค้าของทรัมป์กับมัสก์ ซึ่งเป็นมหาเศรษฐีที่รวยที่สุดในโลกและเป็นหัวหน้าแผนกประสิทธิภาพของรัฐบาล (Doge) ซึ่งมีหน้าที่ในการลดขนาดและการใช้จ่ายของรัฐบาลกลาง

ต่อมาในวันอังคาร แคโรไลน์ ลีวิตต์ โฆษกทำเนียบขาว ถูกถามถึงการโต้เถียงระหว่างมัสก์และนาวาร์โร เธอบอกกับนักข่าวว่า “เห็นได้ชัดว่าทั้งสองคนมีมุมมองที่แตกต่างกันมากในเรื่องการค้าและภาษีศุลกากร”

“เด็กผู้ชายก็คือเด็กผู้ชาย และเราจะปล่อยให้พวกเขาสู้กันต่อในที่สาธารณะต่อไป” ลีวิตต์กล่าว

ทรัมป์ได้ให้เหตุผลบางส่วนในการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากทั่วโลก โดยกล่าวว่าเขาต้องการฟื้นการผลิตในสหรัฐฯ ซึ่งเป็นข้อโต้แย้งที่นาวาร์โรได้หยิบยกขึ้นมาในระหว่างการปรากฏตัวทางสถานีข่าว CNBC เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา 

“หากคุณมองไปที่อุตสาหกรรมรถยนต์ของเรา ถูกต้องแล้ว ตอนนี้เราเป็นสายการประกอบเครื่องยนต์และระบบส่งกำลังของเยอรมัน เรากำลังจะไปถึงจุดที่อเมริกาผลิตสิ่งของต่างๆ อีกครั้ง ค่าจ้างที่แท้จริงจะเพิ่มขึ้น กำไรจะเพิ่มขึ้น” นาวาร์โรกล่าว

แดน ไอฟส์ นักวิเคราะห์อุตสาหกรรมเทคโนโลยีกล่าวว่าบริษัทมีความเสี่ยงต่อภาษีศุลกากรน้อยกว่าผู้ผลิตยานยนต์รายอื่นๆ ในสหรัฐฯ เช่น GM, Ford และ Stellantis พร้อมอ้างว่าบริษัทจัดหาชิ้นส่วนส่วนใหญ่จากนอกสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะจีน

“ภาษีในรูปแบบปัจจุบันจะส่งผลกระทบต่อ Tesla และห่วงโซ่อุปทานโดยรวม สำหรับฐานการดำเนินงานทั่วโลก ซึ่งนับเป็นข้อได้เปรียบที่ชัดเจนเมื่อเทียบกับคู่แข่งที่กำลังเติบโต เช่น BYD ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา” เขากล่าว

ด้าน เจฟฟรีย์ ซอนเนนเฟลด์ คณบดีและศาสตราจารย์ของ Yale School of Management ซึ่งเป็นเจ้าภาพจัดงานพบปะผู้บริหารธุรกิจในกรุงวอชิงตันเมื่อเดือนที่แล้ว กล่าวว่า มัสก์กำลังแสดงออกถึงสิ่งที่ CEO ชาวอเมริกันหลายคนคิดแต่ลังเลที่จะพูดต่อสาธารณะเกี่ยวกับนโยบายการค้าของทรัมป์

“79% คือคนที่บอกว่าพวกเขารู้สึกอายต่อหน้าพันธมิตรระหว่างประเทศ และ 89% บอกว่าเรื่องนี้ทำให้เราเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยโดยไม่จำเป็น และมีนโยบายเศรษฐกิจที่ผิดพลาด” นายซอนเนนเฟลด์กล่าวกับ BBC โดยอ้างถึงการสำรวจที่จัดทำขึ้นในงานที่เขาเป็นเจ้าภาพ

ขณะที่ บิล อัคแมน ผู้จัดการกองทุนมหาเศรษฐี ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนทรัมป์อีกรายหนึ่ง ได้เรียกร้องให้หยุดการจัดเก็บภาษีศุลกากร เพื่อป้องกันไม่ให้เกิด “ผลกระทบร้ายแรงต่อเศรษฐกิจโลก”


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top