นำร่องแล้ว 29 โรงเรียน โดยเอกชนร่วมพัฒนาเครื่องมือเอไออัจฉริยะ Data and Impact Assessment, Monitoring and Development System วิเคราะห์การเรียนรู้ของนักเรียน ผ่านข้อสอบตามตัวชี้วัด และแบ่งเบาภาระงานของครู
การนำปัญญาประดิษฐ์หรือ AI เข้ามาอยู่ในระบบการเรียนการสอนในห้องเรียนนั้น จะช่วยสร้างการเรียนรู้ของนักเรียนให้ดียิ่งขึ้น โดยการใช้ข้อมูลมาสร้างข้อสอบที่เหมาะสมกับศักยภาพของนักเรียนแต่ละคน ( Personalized Test ) เพื่อประเมินการเรียนรู้ให้ตรงจุดที่สุด
ซึ่งมีการตั้งข้อสังเกตจากนักวิชาการด้านการศึกษา อย่าง ดร.ดาริกา ลัทธิพิพัฒน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวว่า ถ้าห้องเรียนมี AI Video Analytics แบบ Real-Time จะเป็นอย่างไร ?
เพื่อให้เห็นภาพ ขอยกตัวอย่างเช่น ตอนนี้เราอยู่ในสถานการณ์โรคระบาด เทคโนโลยี AI สามารถวัดอุณหภูมิร่างกายได้ตลอดเวลา ใครมีไข้สูงจะแจ้งเตือนทันที หรือระหว่างการสอน AI จะช่วยตรวจดูและแจ้งเตือนว่า มีเด็กคนไหนถอดหรือสวมหน้ากากอนามัยไม่ถูกต้องมั้ย อาจารย์ก็สามารถเข้าไปกำชับเรื่องสวมหน้ากากได้
AI Video Analytics ยังเข้ามาทดแทนระบบเช็กชื่อเข้าเรียนแบบเดิมที่ทั้งเสียเวลา และตัดปัญหาเช็กชื่อแทนเพื่อน รวมทั้งมีระบบวิเคราะห์ Attention & Learning Engagement จากพฤติกรรมของผู้เรียน เช่น ในห้องมีใครหลับมั้ย มีเด็กก้มหน้าเล่นเกม เล่นมือถืออยู่กี่คน ซึ่งไม่ใช่การจับผิดนะคะ แต่เป็นการบอกให้อาจารย์รู้ว่าสอนแบบนี้ไม่เวิร์ก ตอนนี้เด็กเริ่มเบื่อแล้ว ควรปรับวิธีการสอนหรือหากิจกรรมอื่นมาแทรก เพื่อยกระดับผลลัพธ์ของการเรียนรู้ และสร้างแรงจูงใจให้ผู้สอนมีการปรับปรุงกระบวนการจัดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง
การเรียนออนไลน์ก็เช่นกัน อีกไม่นานเราคงได้เห็นการใช้ AI มาวิเคราะห์พฤติกรรมมากขึ้น เช่น สอนอยู่มีเด็กหายไปมั้ย Active อยู่กี่คน หรืออาจจะถึงขั้นตรวจจับทิศทางการมองเพื่อดูว่าเด็กกำลังโฟกัสกับเนื้อหาอยู่หรือไม่
